fbpx
ความรักเอย...ก็เลยกลายเป็นน้ำตา Marriage Story

ความรักเอย…ก็เลยกลายเป็นน้ำตา Marriage Story

‘นรา’ เรื่อง

 

Marriage story

 

Marriage Story เป็นหนังในแบบที่ผมคิดว่า สามารถเล่าพล็อตคร่าวๆ ตั้งแต่ต้นจนจบให้คนที่ยังไม่เคยดูมาก่อนรับทราบล่วงหน้า โดยไม่เข้าข่ายทำลายอรรถรส

พูดอีกอย่างหนึ่ง มันเป็นหนังที่ไม่มีอะไรให้สปอยล์ หรือหากจะมีอยู่ ก็ไม่อาจทำได้ด้วยการเฉลยข้อสอบ ผ่านทางคำพูดหรือข้อเขียนกันได้ง่ายๆ (กล่าวคือ ทำได้ครับ แต่ต้องเล่ากันอย่างละเอียดถี่ถ้วนยืดยาว และต้องอาศัยทักษะฝีมือเอามากๆ ซึ่งเป็นเรื่องยากมหาหิน) แค่เริ่มติดตามช่วง ‘เปิดเรื่อง’ ไปได้ประมาณ 10 นาที ผู้ชมก็คาดเดาได้ไม่ยาก ว่าเหตุการณ์ที่เหลือถัดจากนั้น จะมุ่งหน้าไปสู่ทิศทางใด และไม่มีการพลิกผันหักมุม สร้างความประหลาดใจเลยสักนิด

สิ่งสำคัญลำดับถัดมา พล็อตหรือเนื้อเรื่อง ไม่ใช่จุดใหญ่ใจความหลักที่ดึงดูดตรึงความสนใจของผู้ชม แต่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย การถ่ายทอดความรู้สึกอันละเอียดอ่อนเปราะบางเบื้องลึกในใจที่ระคนปนกันหลากหลายอารมณ์ของตัวละครหลักๆ และเหนือสิ่งอื่นใดคือ ความยอดเยี่ยมทางด้านการแสดง ซึ่งปรากฎอยู่ในทุกฉากทุกตอน

เป็นหนังที่ตลอดเส้นทางการเล่าเรื่อง การนำพาผู้ชมไปสัมผัสและทำความเข้าใจตัวละคร มีความสำคัญยิ่งกว่าความเป็นไปของเหตุการณ์ ซึ่งเต็มไปด้วยความเรียบง่ายสมจริง ไม่มีสิ่งใดหวือหวาโลดโผน

พูดให้ฟังดูน่าปวดหัวยิ่งขึ้นคือ หนังใช้เหตุการณ์ซึ่งคืบหน้าไปเรื่อยๆ ในแบบที่ผู้ชมรู้ตลอดเวลาว่าจะลงเอยเช่นไร เป็นเครื่องมือในการสำรวจตรวจสอบตัวละคร สิ่งที่เขากับเธอ คิด รู้สึก และกระทำ (ต่อกัน) อย่างละเอียดลงลึก

ด้วยพล็อตกว้างๆ คร่าวๆ เกี่ยวกับชีวิตคู่และการหย่าร้าง, เงื่อนปมความขัดแย้งของตัวละคร รูปแบบวิธีการเล่าที่ขับเคลื่อนด้วยบทสนทนาเป็นส่วนใหญ่, ความชาญฉลาดในการเขียนบทที่ดำเนินเรื่องอย่างลื่นไหลและกระชับฉับไว, การสร้างความสะเทือนใจแบบเร้าอารมณ์แต่เพียงน้อย รวมถึงความเป็นหนังในแบบที่เปิดโอกาสเอื้อให้นักแสดงปล่อยของกันสุดฝีมือ

ทั้งหมดนี้ทำให้ Marriage Story มีความละม้ายใกล้เคียงกับหนังคลาสสิกปี 1979 เรื่อง Kramer vs Kramer (ซึ่งเพิ่งจะเข้าฉายแบบจำกัดจำนวนรอบในบ้านเราเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา) เป็นอย่างยิ่ง และคุณภาพความยอดเยี่ยมของทั้งสองเรื่องก็อยู่ในระดับทัดเทียมกัน

Marriage Story เล่าเรื่องของคู่สามีภรรยา ชาร์ลีกับนิโคล ซึ่งความสัมพันธ์ดำเนินมาสู่จุดที่ทั้งสองฝ่ายตัดสินใจแน่ชัดตรงกันว่าจะหย่าร้าง แต่ปัญหาที่ยังสะสางไม่ลงตัวก็คือ จะจัดการอย่างไรกับชีวิตถัดจากนั้น เมื่อฝ่ายหญิงต้องโยกย้ายกลับไปใช้ชีวิตและทำงานในแอลเอ ขณะที่ฝ่ายชายยังคงปักหลักอยู่ที่นิวยอร์ก คนกลางอย่าง เฮนรี ลูกชายวัย 8 ขวบ จะอยู่กับใคร และแบ่งสันปันส่วนเวลาในการอยู่กับพ่อหรือแม่มากน้อยเพียงไร?

 

ความรักเอย...ก็เลยกลายเป็นน้ำตา Marriage Story

 

จากจุดเริ่มต้นที่ชาร์ลีกับนิโคลคิดว่าการเลิกราน่าจะพูดคุยหาข้อสรุปได้ง่ายๆ กันเอง ด้วยวิธีที่เป็นมิตรและยังคงความรู้สึกที่ดีต่อกัน ไม่ต้องเลยเถิดไปไกลถึงขั้นต้องมีทนายความเข้ามาข้องเกี่ยว แต่แล้วข้อเรียกร้องว่าลูกจะอยู่กับใคร และอยู่ที่ไหน (ระหว่างแอลเอกับนิวยอร์ก) ซึ่งต่างฝ่ายต่างยืนกรานตามความปรารถนาของตนเอง กลายเป็นปมขัดแย้งที่ไม่อาจยุติ จึงผลักดันไปสู่สถานการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น นั่นคือ กระบวนการตามกฎหมาย จนนำไปสู่การ ‘เปิดแผล’ ทำร้ายจิตใจกันและกัน จนยิ่งบาดเจ็บปวดร้าวมากขึ้นตามลำดับ

เนื้อเรื่องคร่าวๆ มีเพียงเท่านี้ แต่หัวใจสำคัญของหนังคือ การใช้เค้าโครงกว้างๆ ข้างต้น ขยายความไปสู่รายละเอียดรอบด้านสารพัดสารพัน

Marriage Story ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งล่าสุด 6 สาขา ประกอบไปด้วย หนังยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชาย, นักแสดงนำหญิง, นักแสดงสมทบหญิง, ดนตรีประกอบ และบทภาพยนตร์

ทั้งหมดนี้มีเพียงลอรา เดิร์นที่ได้รับรางวัลนักแสดงสมทบหญิง แต่สาขาอื่นๆ ที่พลาดไป ก็ดีงามสมศักดิ์ศรีผู้เข้าชิงทุกประการ

ความเห็นส่วนตัวนะครับ สมมติว่าผมเป็นกรรมการออสการ์ อย่างน้อยที่สุด ผมคิดว่าโนอาห์ บอมบาคสมควรเป็นที่สุดที่จะได้เข้าชิงในสาขาผู้กำกับภาพยนตร์

พอจะนึกออกและเข้าใจได้เช่นกันว่า เหตุที่โนอาห์ บอมบาคไม่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงสาขาผู้กำกับ อาจจะเพราะความที่เป็นหนังดรามาฟอร์มเล็กและเรียบง่าย ไม่ได้มีฉากโชว์ความยากในทางโปรดักชัน

เล็กและเรียบง่าย จนกรรมการมองไม่เห็นความโดดเด่นในงานกำกับ ว่าอย่างนั้นเถิดนะครับ

ผมคิดว่าสิ่งที่งานกำกับเรื่องนี้โดดเด่นมาก คือ การดึงศักยภาพความสามารถของนักแสดง ทั้งในบทหลักๆ และตัวละครปลีกย่อยออกมาได้เต็มเปี่ยม ชนิดพูดได้ว่าทุกฉากทุกตอน รวมถึงการกำกับอารมณ์คนดู ในแบบที่ไม่บีบคั้นฟูมฟาย แต่กรีดเฉือนทำร้ายจิตใจชนิดบาดลึก

ผมมีศัพท์แสงส่วนตัว ใช้เรียกการเร้าอารมณ์สะเทือนใจแบบเน้นชั้นเชิงการนำเสนอ ไม่แสดงออกเยอะ แต่หมัดหนักถึงน็อกทำนองนี้ว่า เป็นอารมณ์อันวิเศษ

Marriage Story มีอารมณ์อันวิเศษดังว่า อยู่คับคั่งเนืองแน่น และเป็นปัจจัยสำคัญเบื้องต้นที่ทำให้หนังพล็อตเรื่องง่ายๆ ราบเรียบ กลับกลายออกฤทธิ์เป็นตรงกันข้าม ดึงดูดสะกดตรึงทุกขณะ สั่นคลอนเบื้องลึกตลอดเวลา และชวนให้รู้สึกร่วมคล้อยตามเอาใจช่วยตัวละคร (ทั้งสองฝ่าย) แบบหายใจไม่ทั่วท้อง จนกระทั่งเจ็บจุกทุกข์เศร้าไปกับสถานการณ์หัวใจแตกสลายของตัวละคร

ความยอดเยี่ยมเบื้องต้นสุดของหนัง ปรากฎให้เห็นตั้งแต่ช่วง 10 นาทีแรก ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งของฝีมือการเขียนบทที่ยอดเยี่ยมมาก

หนังเริ่มเรื่องด้วยเสียงบรรยายของชาร์ลี แจกแจงไล่เรียงถึงสิ่งที่เขารักในตัวของนิโคล ผู้เป็นภรรยา จากนั้นก็เป็นเสียงบรรยายของนิโคล พูดถึงสิ่งที่เธอรักในตัวสามี

ภาพที่ประกอบกับเสียงบรรยายของตัวละครทั้งสอง ทำหน้าที่สรุปภาพรวมกว้างๆ อย่างรวบรัดของการใช้ชีวิตคู่และการแต่งงานตลอดระยะ 10 ปี ผู้ชมได้เห็นถึงช่วงเวลาที่มีความสุข รู้จักพื้นเพนิสัยใจคอของตัวละคร เข้าใจมุมมองที่เขามีต่อเธอ และเธอมีต่อเขา ความเหมือนความต่างของบุคลิกนิสัย รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ชวนขบขัน (ซึ่งบ่งชี้เป็นนัยๆ ว่า มีแนวโน้มบานปลายไปสู่ความขัดแย้งระหองระแหงที่หนักหนาสาหัสในอนาคต)

ที่สำคัญ มันแสดงให้เห็นว่า ชาร์ลีกับนิโคลรักกัน (หรือเคยรักกัน) ลึกซึ้งมากเพียงไร?

พูดง่ายๆ คือ ภายในระยะเวลาสั้นๆ ไม่กี่นาที หนังปูพื้นให้ข้อมูลเบื้องต้นมากมายแก่ผู้ชมแบบครอบคลุมครบครัน

ตรงนี้หนังยังแสดงชั้นเชิงความแยบยล เชื่อมต่อคำบอกเล่าในฉากเปิดเรื่อง มาสู่เหตุการณ์ปัจจุบัน เมื่อปรากฎว่า เสียงบรรยายคำบอกเล่าทั้งหมดที่เราได้ยินได้เห็น เป็นเพียงหัวข้อที่ทั้งสองเขียนขึ้นตามคำแนะนำของที่ปรึกษาปัญหาชีวิตสมรส ผู้ชมก็ทราบได้ทันทีว่าความสัมพันธ์ของเขากับเธอ กำลังเปราะบางใกล้พังทลาย

รวมทั้งรู้อีกเช่นกัน ว่าบทสรุปบั้นปลายท้ายสุดจะลงเอยอย่างไร?

เหตุการณ์ในหนังถัดจากนี้ไปจนจบ ด้านหนึ่งเป็นการเล่าสถานการณ์ปัจจุบัน ว่าความสัมพันธ์ร้าวฉานเกินประสาน จะคืบหน้าสู่จุดแตกหัก (โดยที่ต่างฝ่ายต่างยังรักกันอยู่) ด้วยเงื่อนไขรายละเอียดเช่นไร พร้อมๆ กันนั้น ตัวเหตุการณ์ปัจจุบันก็ทำหน้าที่ค่อยๆ ขยายความวันเวลาในอดีต เพื่อนำพาคนดูไปสัมผัสกับต้นตอสาเหตุของปัญหา ว่าสืบเนื่องมีที่มาจากสิ่งใด? และเกิดขึ้นตอนไหน?

เป็นความยอดเยี่ยมในการเขียนบทอีกเช่นกัน ที่หนังสร้างช่องทาง ‘บอกเล่า’ ประเด็นสำคัญ เกี่ยวกับที่มาสาเหตุทั้งหมดของปัญหาชีวิตคู่ ผ่านการพูดคุยระหว่างนิโคลกับทนายความของเธอ

ยอดเยี่ยมอย่างไรหรือครับ? คำอธิบายก็คือ ธรรมชาติปกติของการเล่าเรื่องในสื่อภาพยนตร์ เชื่อและเห็นพ้องกันว่า ศิลปะการเล่าเรื่องที่ดีมีชั้นเชิง ควรเป็นการเล่าด้วย ‘ภาษาภาพ’ มากกว่า ‘ภาษาพูด’

บทพูดควรทำหน้าที่บอกเล่าเฉพาะใจความสำคัญเท่าที่จำเป็น (ต่อเมื่อไม่อาจสื่อสารด้วยวิธีอื่น) หนังเรื่องใดก็ตามที่ตั้งหน้าตั้งตาเล่าเรื่องสะท้อนทุกอย่างผ่าน ‘บทพูด’ มักโดนติเตียนว่า จงใจ ยัดเยียด ทื่อและตรงจนปราศจากชั้นเชิง รวมทั้งมีท่าทีเทศนาสั่งสอน (ตรงนี้ผมนึกถึงนิทานอีสป ซึ่งมักจะจบทิ้งท้ายด้วยถ้อยคำ ‘นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…’)

แต่กฎเกณฑ์ทุกอย่างในงานศิลปะไม่ใช่สิ่งที่แข็งนิ่งตายตัว มันละเมิดฝ่าฝืนได้เสมอ ถ้าคนทำมีความคิดสร้างสรรค์และมือถึง

วิธีการทางศิลปะที่ Marriage Story ใช้บ่อยและใช้เยอะ คือ การเล่าแง่มุมสำคัญส่วนใหญ่ผ่านบทพูด (ซึ่งเป็นสิ่งที่บทหนังโดยรวมทั่วไป พยายามหลีกเลี่ยง) แต่ความดีงามของบทหนังเรื่องนี้ นอกจากจะเขียนบทสนทนาออกมาได้อย่างมีชีวิตชีวาและสมจริง มีความเพลิดเพลินชวนติดตามแล้ว ผมคิดว่าการสร้างความเป็นเหตุเป็นผลรองรับ ‘ฉากพูดคุยแบบเปิดใจ’ ที่มีอยู่มากมายหลายๆ ครั้ง แทบจะตลอดเวลา (ด้วยการสร้างเงื่อนไขสารพัดแบบไม่ซ้ำกันเลย) ก็เป็นลีลาทางศิลปะที่น่าประทับใจมาก

ในฉากบอกเล่าถึงต้นเหตุแห่งปัญหาของนิโคล ยังนำไปสู่ความน่าประทับใจอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ การแสดงอันยอดเยี่ยมของสการ์เล็ตต์ โยแฮนส์สัน

 

ความรักเอย...ก็เลยกลายเป็นน้ำตา Marriage Story

 

พูดเช่นนี้อาจไม่ค่อยตรงกับความเป็นจริงมากนัก เพราะตลอดทั้งเรื่อง เธอเล่นดีทุกฉาก และมีช่วงตอนที่เป็น ‘ฉากโชว์’ อยู่เยอะแยะเต็มไปหมด

แต่ฉากที่นิโคลบอกเล่าต่อหน้าทนายความ เป็นฉาก monologue พูดคนเดียวอย่างยืดยาว ที่โดดเด่น  ปนเปกันหลากหลายอารมณ์ความรู้สึก ที่ทรงพลังมาก และแน่นอนว่าเป็นหนึ่งใน ‘ภาพจำ’ ที่ผู้ชมจะมีต่อหนังเรื่องนี้ไปอีกนาน

สรุปเนื้อหาจากบทพูดในฉากดังกล่าว นิโคลในช่วงอายุวัยรุ่น ใช้ชีวิตเติบโตอยู่ที่แอลเอ ได้เป็นนางเอกหนัง และมีทีท่าว่าจะประสบความสำเร็จในระยะยาว แต่เธอก็เดินทางมานิวยอร์ก ได้พบและรู้จักกับชาร์ลี  ตกหลุมรักและแต่งงานกันในเวลาอันรวดเร็ว และปักหลักอยู่ที่นิวยอร์กเป็นการถาวร หันหลังให้กับอาชีพดาราหนัง มารับงานแสดงในละครเวทีที่ชาร์ลีเป็นผู้กำกับ รวมทั้งทำหน้าที่เป็นภรรยาและแม่ของลูกชาย

และแล้วความรู้สึกหนึ่งที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นและขยายใหญ่ตามลำดับเวลาที่ผันผ่าน คือ นิโคลเริ่มรู้สึกว่าไม่ได้มีชีวิตเป็นของตนเอง แต่กลายเป็นแค่ ‘ส่วนหนึ่งในชีวิต’ ของสามี ไม่ว่าจะเป็นการหันหลังให้กับอาชีพดาราหนังที่กำลังรุ่งโรจน์ การจากครอบครัวที่แอลเอมาอยู่นิวยอร์ก กระทั่งลุกลามไปสู่เรื่องจุกจิกหยุมหยิม อย่างเช่น การเลือกซื้อของแต่งบ้าน ซึ่งกลายเป็นว่า ชาร์ลีเป็นฝ่ายตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียว ฯลฯ

มีบทพูดอยู่หลายตอนผ่านปากหลายตัวละคร เมื่อกล่าวถึงแอลเอ ว่า ‘มีพื้นที่กว้างขวาง’ (คำในภาษาอังกฤษ คือ ‘space’) ผมคิดว่า นอกจากจะเป็นบทพูดปกติตามสถานการณ์ท้องเรื่องและเป็นอารมณ์ขันบางๆ แล้ว คำว่า ‘พื้นที่’ ดังกล่าว ยังสามารถเชื่อมโยงไปถึงภาวะที่เป็นอยู่ของนิโคลกับชาร์ลีได้เช่นกัน

ในฝั่งของนิโคลนั้น สรุปความง่ายๆ ก็คือ ชีวิตในนิวยอร์กหรือชีวิตแต่งงาน ไม่มี ‘พื้นที่’ สำหรับเธอ ส่วนชาร์ลี การมาอยู่แอลเอ เป็นความเชื่อว่าที่นั่น ไม่ใช่ ‘พื้นที่’ ของเขา

ความต่างอันเป็นเงื่อนปมสำคัญของข้อขัดแย้งคือ นิโคลผ่านวันเวลาและการใช้ชีวิตทุกข์ระทมซึ่งไม่มี ‘พื้นที่’ สำหรับเธอมาจนเกินกว่าจะทนต่อไปได้อีก ขณะที่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ชาร์ลีกลับยืนกรานจะใช้ชีวิตในที่เดิม และไม่เคยยอมทดลองเปลี่ยนแปลงมาพิสูจน์ว่า แอลเอมี ‘พื้นที่’ สำหรับเขาหรือไม่?

รายละเอียดในครึ่งเรื่องแรกของหนัง ทำให้ผู้ชมอยู่ฝั่งเอาใจช่วยและเชียร์นิโคลเต็มๆ ไม่มีข้อกังขาเคลือบแคลงว่าชาร์ลีเป็นต้นตอแห่งปัญหาและเป็นฝ่ายผิด แต่บทหนังก็เก่งมากในการสร้างความเท่าเทียม เมื่อเหตุการณ์คืบหน้าไปสู่ขั้นตอนการฟ้องหย่า มีทนายความและขั้นตอนข้อบังคับทางกฎหมายเข้ามาแทรกแซง

ถึงจุดนี้น้ำหนักความเห็นใจของผู้ชม ข้ามฟากมาเอาใจช่วยและสงสารชาร์ลี ทั้งจากสถานการณ์เสียเปรียบเพลี่ยงพล้ำ ความพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อประคับประคองความสัมพันธ์ ตลอดจนเหตุผลคำอธิบายต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากมุมมองทัศนะของเขา

 

ความรักเอย...ก็เลยกลายเป็นน้ำตา Marriage Story

 

ประเด็นเนื้อหาหลักๆ ใน Marriage Story มีอยู่ 2 แง่มุมสำคัญ อย่างแรกสะท้อนถึงเรื่องของความรักเมื่อถึงคราเลิกร้าง จนต้องอาศัยกระบวนการทางกฎหมายกลายเป็นเครื่องมือแก้ไขตัดสินปัญหา มันกลายเป็นการต่อสู้ที่ทุกฝ่ายล้วนพ่ายแพ้ เจ็บปวด มีรายจ่ายที่นอกเหนือจากตัวเงินเป็นราคาแพงมหาศาล

และที่น่าสะเทือนใจสุด คือ มันนำไปสู่เหตุการณ์ที่คู่สามีภรรยา ไม่สามารถพูดและกระทำอย่างที่ใจปรารถนา และกฎหมายก็บังคับควบคุม จนคู่กรณีทำได้เพียงแค่เป็น ‘ผู้ชม’ วงนอก เฝ้ามองการทำร้ายซึ่งกันและกันอย่างโหดร้ายเลือดเย็นที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา โดยไม่อาจทัดทานต้านขวาง

แง่มุมต่อมาคือ เรื่องราวรักขมระทมเศร้าทั้งหมดในหนัง นำพาไปสู่การเรียนรู้แบบ ‘เจ็บแล้วเติบโต’ ของตัวเอกทั้งสอง ประเด็นนี้ หนังไม่ได้เน้นที่นิโคลมากนัก ผู้ชมได้เห็นแต่เพียงว่า หลังการหย่าร้าง เธอมีอิสระในการใช้ชีวิตอย่างที่เธอต้องการ ประสบความสำเร็จกับอาชีพนักแสดง (และผู้กำกับ) มีร่องรอยความเจ็บปวดจากเรื่องที่เกิดขึ้น และลึกๆ แล้วยังรักชาร์ลีไม่เปลี่ยนแปลง แต่ก็ต้องเดินหน้าต่อ และมีคนรักใหม่

น้ำหนักสำคัญในส่วนของตัวละครที่ผ่านการเรียนรู้ตกอยู่ที่ฝ่ายชาร์ลี จากคนอัตตาสูงที่ยืนกรานทุกสิ่งตามความคิดความเชื่อของตนเอง บทสรุปในฉากจบทิ้งท้าย สะท้อนถึงการคลี่คลายและความเปลี่ยนแปลงทางบวกหลายๆ ด้านของตัวละครนี้ และทำให้หนังที่ดำเนินมาบนเส้นทาง ‘ใจสลาย’ ตลอดทั้งเรื่อง จบลงอย่างมีความหวังด้านบวก

มีฉากหนึ่งที่ดีมาก ๆ และเป็นหนึ่งใน ‘ภาพจำ’ เกี่ยวกับการแสดงของอดัม ไดร์ฟเวอร์ในบทชาร์ลี นั่นคือ ตอนที่เขาอยู่ในสภาพสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง และมากินดื่มย้อมใจกับพรรคพวกชาวคณะละครเวทีในคลับแห่งหนึ่ง นักดนตรีกำลังบรรเลงเพลง Being Alive

พลันเมื่อได้ยินเสียงท่อนอินโทร ชาร์ลีเดินโซเซมีอาการเมานิดๆ ไปที่ไมโครโฟน และร้องเพลงนี้จนจบ

Being Alive เป็นเพลงจากละครเพลงแนว comedy ปี 1970 เรื่อง Company แต่งทำนองและเขียนเนื้อร้องโดยสตีเฟน ซอนด์ไฮม์ เขียนบทละครโดยจอร์จ เฟิร์ธ

ความยอดเยี่ยมของฉากนี้ อยู่ที่การแสดงอารมณ์เจ็บปวดสูญเสียของชาร์ลีผ่านสีหน้าแววตาท่าทาง พร้อมๆ กันนั้น เนื้อเพลงก็เทียบเคียงเปรียบเปรยได้กับความสัมพันธ์ของชาร์ลีกับนิโคล ตั้งแต่ต้นจนจบ และความรู้สึกหลังจากนั้นที่ต่างมีต่อกัน

เนื้อเพลงบางส่วนเขียนไว้อย่างนี้ครับ

 

Someone to hold me too close.

Someone to hurt me too deep.

Someone to sit in my chair,

And ruin my sleep,

And make me aware,

Of being alive.

Being alive.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save