fbpx
เด็กชายที่ไม่มีใครต้องการ Loveless

เด็กชายที่ไม่มีใครต้องการ Loveless

‘นรา’ เรื่อง

 

ขณะที่ข้อเขียนชิ้นนี้ปรากฎสู่สายตาท่านผู้อ่าน หนังเรื่อง Loveless (ซึ่งผมเพิ่งได้ดู) น่าจะอยู่ในช่วงท้ายโปรแกรมการเข้าฉายตามโรงแล้ว แต่ผมเข้าใจว่าน่าจะยังพอหาดูได้ตามช่องทางออนไลน์นะครับ

Loveless เป็นหนังรัสเซียปี 2017 กำกับโดยอังเดร ซวายินเซฟ ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งในด้านคำวิจารณ์ ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงและคว้ารางวัลตามเทศกาลหนังต่างๆ มากมาย รวมถึงได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาหนังต่างประเทศยอดเยี่ยม

 

 

พล็อตคร่าวๆ เป็นเรื่องว่าด้วยความสัมพันธ์ร้าวฉานภายในครอบครัวของคู่สามีภรรยาบอริสกับเชนยา ซึ่งเลยจุดแตกหักมานานพอสมควร ถึงขั้นต่างฝ่ายต่างมี ‘คนใหม่’ ไปเรียบร้อยแล้ว (ภรรยาใหม่ของบอริสกำลังตั้งท้องใกล้คลอด) กระนั้นทั้งสองก็ยังคงอยู่บ้านเดียวกัน เนื่องจากกระบวนการหย่าร้างยังไม่ลุล่วงด้วยปัจจัยหลักๆ 2 ประการ คือยังขายห้องชุดในอพาร์ตเมนต์ไม่ได้ และไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องเกี่ยวกับลูกชายวัย 12 ปีชื่ออโลชา

ข้อขัดแย้งไม่ได้อยู่ที่การแย่งชิงสิทธิในการเลี้ยงดูบุตร ตรงกันข้าม คู่กรณีทั้งสองกลับพยายามผลักไสให้ลูกไปอยู่กับอีกฝ่าย เพื่อให้พ้นตัวและไม่เป็นภาระ

เหตุการณ์ถัดมาไปจนถึงประมาณครึ่งเรื่องของหนัง ค่อยๆ แจกแจงให้ผู้ชมทราบถึงต้นตอสาเหตุทั้งหมดของความพังพินาศในครอบครัว ผ่านความเป็นไปในปัจจุบันขณะต่างฝ่ายต่างคบหากับคู่รักคนใหม่ และค่อยๆ เปิดเผยบอกเล่าเรื่องราวความหลัง

บอริสกับเชนยาเริ่มต้นมีความสัมพันธ์กันโดยปราศจากความรัก และพลั้งเผลอถึงขั้นตั้งท้อง จึงลงเอยด้วยการแต่งงานแบบตกกระไดพลอยโจน

แรกเริ่มเดิมที เชนยาคาดหวังว่าการแต่งงานน่าจะเป็นหนทางที่ดี ช่วยให้เธอหลุดพ้นจากการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับแม่ (ซึ่งแลดูร้ายกาจและทะเลาะเบาะแว้งกันหนักหน่วงตลอดเวลา) แต่แล้วก็ได้พบความจริงว่า ชีวิตสมรสไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาใดๆ เลย ตรงกันข้ามกลับนำไปสู่ปัญหาใหม่ๆ ทับซ้อนเพิ่มขึ้นอีกชั้น

ยิ่งไปกว่านั้น เชนยายังทุกข์ทรมานสาหัสแทบเอาชีวิตไม่รอดขณะคลอด ส่งผลให้เธอไม่มีความรักใดๆ ให้กับลูกเลยสักนิด (และดูเหมือนจะมีแนวโน้มไปในทางเกลียดชังลูกเสียด้วยซ้ำ)

ชีวิตการแต่งงานถัดจากนั้นตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีจึงดำเนินไปอย่างกล้ำกลืนฝืนทน ทุกข์ทรมานด้วยกันทั้งสองฝ่าย (จริงๆ แล้วควรจะเป็นสามฝ่าย ถ้านับอโลชาด้วย แต่จังหวะลีลาการเล่าของหนัง ก็ดูจะตั้งใจมองข้ามลูกชาย จนเกือบๆ จะไร้ตัวตน) จนถึงจุดที่ไม่มีใครแบกรับมันได้อีกต่อไป

มีเหตุผลปลีกย่อยอย่างหนึ่งที่ทำให้ ‘การหย่าร้าง’ ซึ่งควรจะเกิดขึ้นก่อนหน้านานแล้ว กลับกลายเป็นเรื่องที่ทำได้ยากในความเป็นจริง นั่นก็คือ ปัญหาเรื่องใครจะเป็นคนเลี้ยงดูลูกที่ไม่ได้เป็น ‘โซ่ทองคล้องใจ’ มิหนำซ้ำยังกลายเป็นหลักฐานตอกย้ำถึงความผิดพลาดของพ่อแม่อยู่ตลอดเวลา

ถัดมาคือนายจ้างของบอริสนั้นเป็นคนเคร่งศาสนา และรับไม่ได้โดยสิ้นเชิงกับเรื่องการหย่าร้าง ความคิดที่จะ ‘แยกทาง’ ซึ่งอาจมีอยู่ในใจของบอริสจึงกลายเป็นเรื่องที่ชวนให้ลังเลใจ เกิดความรู้สึกกล้าๆ กลัวๆ ไม่อาจตัดสินใจลงมือทำให้เด็ดขาด

เงื่อนไขข้างต้นส่งผลให้บอริสกับเชนยาต้องทุกข์ทนกับการมีชีวิตคู่โดยปราศจากความรัก กระทั่งค่อยๆ แปรเปลี่ยนเป็นการอยู่ร่วมกันด้วยความเกลียดชังถึงขีดสุด และต้องหาทางชดเชย ‘นรกในครัวเรือน’ ด้วยการมีคนอื่นนอกบ้าน จนเงื่อนไขทุกอย่างสุกงอม ไม่เหลือทางออกใดๆ ที่ดีไปกว่าการตัดสินใจหย่าร้าง

หลังจากลำดับที่มาสาเหตุทั้งหลายทั้งปวงเสร็จสรรพ หนังก็เปิดประเด็นปัญหาใหม่ คืออโลชาหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ตรงนี้หนังนำเสนอได้เจ็บปวดรวดร้าวมาก เมื่อบอริสกับเชนยาต่างใช้ชีวิตอยู่กับคู่ควงคนใหม่นอกบ้าน ไม่รู้ว่าลูกหายไป จนกระทั่งได้รับโทรศัพท์แจ้งจากครูที่โรงเรียนหลังจากเหตุการณ์หายตัวผ่านไปหลายวันแล้ว

 

เด็กชายที่ไม่มีใครต้องการ Loveless

 

เหตุการณ์ในช่วงครึ่งเรื่องหลัง เป็นเรื่องของการออกติดตามหาเด็กชายที่หายไป โดยพล็อตเค้าโครงกว้างๆ มีกลิ่นอายเชิงสืบสวนสอบสวน และถ้าหากผู้ชมลองคาดเดาเล่นๆ ตามสูตรสำเร็จของหนังเพื่อการค้าทั่วๆ ไป การสืบหาลูกชายที่หายตัวไปอย่างลึกลับควรจะขับเคลื่อนมุ่งสู่การเรียนรู้ของฝ่ายพ่อแม่ เกิดการเติบโตทางความคิดไปอีกขั้น และคลี่คลายความขัดแย้งที่มีต่อกัน (อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง ซึ่งอาจจะแยกทางกันด้วยดี)

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในหนังเรื่อง Loveless กลับปลอดพ้นจากความเป็นสูตรสำเร็จในทุกวิถีทาง

อย่างแรกคือการติดตามค้นหาตัวอโลชา เริ่มต้นแบบที่ผู้ชมพอจะมีความหวังทางบวกอยู่บ้างพอประมาณ แต่ยิ่งเรื่องราวดำเนินไปมากเท่าไร ความหวังก็ค่อยๆ ริบหรี่ลงตามลำดับ

ถัดมา ขณะร่วมกันออกติดตามค้นหาลูกชาย ความสัมพันธ์อันเลวร้ายระหว่างบอริสกับเชนยา ซึ่งเข้าขั้นเลวร้ายเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว ยังสามารถยกระดับเลวร้ายรุนแรงมากขึ้นได้อีกอักโขทีเดียว

ท้ายสุด หลังจากเหตุการณ์ ‘เด็กหาย’ ผ่านพ้นไป บอริสกับเชนยา ต่างแยกทางใช้ชีวิตของตนเองร่วมกับคู่รักคนใหม่ และเป็นชีวิตที่หนังแสดงร่องรอยเอาไว้ค่อนข้างชัด โดยแทบไม่ต้องมีคำพูดหรือคำอธิบายใดๆ ว่า เป็นการเดินหน้าต่อไปที่ปราศจากความสุข

Loveless ไม่ใช่หนังที่ดูสนุก การดำเนินเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ กำหนดจังหวะเอาไว้เนิบช้า ค่อยเป็นค่อยไป เป็นหนังที่มีฉากพูดคุยกันเยอะ (ส่วนใหญ่คือการทะเลาะเบาะแว้งที่ชวนอึดอัดตึงเครียด และการพูดคุยบอกเล่าในเชิงปรับทุกข์ที่หม่นทึม) เหตุการณ์เกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวน ซึ่งเอื้อให้ทำออกมาเป็นหนังตื่นเต้นเร้าใจได้ไม่ยาก กลับนำเสนอออกมาอย่างราบเรียบและมีการเร้าอารมณ์เพียงน้อยนิด

พูดง่ายๆ ขณะที่หนังเล่าถึงตัวละครที่ไม่มีความรักให้แก่กันและกัน อารมณ์โดยรวมของหนังก็แห้งแล้ง โหดร้าย และเลือดเย็นไม่แพ้กัน

 

Loveless

 

อย่างไรก็ตาม ในความไม่บันเทิงเสมอต้นเสมอปลาย หนังเรื่องนี้ก็ไม่ได้น่าเบื่อชวนหลับแต่อย่างไร ตรงข้ามกลับเข้มข้นชวนติดตาม และสร้างความสะเทือนใจได้หนักหน่วงรุนแรงกว่าการตั้งใจเร้าอารมณ์มากมายหลายเท่า

แม้จะยังไม่ถึงสิ้นปี แต่ผมเลือก Loveless ติดกลุ่ม 1 ใน 10 หนังยอดเยี่ยมที่ได้ดูประจำปี 2020 ไปเรียบร้อยแล้วนะครับ

จุดเด่นเบื้องต้นคือความสมจริง ตั้งแต่พล็อตเรื่อง บุคลิกนิสัยของตัวละครทั้งหมด บทสนทนา ลำดับขั้นตอนการดำเนินเรื่อง รวมไปถึงงานสร้าง

ความสมจริงของหนังนั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่จุดเด่นต่อมา คือ ความลึกและมีมิติ สิ่งที่เด่นชัดมาก ได้แก่ พฤติกรรมของบอริสและเชนยา ในด้านหนึ่งหนังก็แสดงให้เห็นถึงแง่ลบของทั้งคู่ ทั้งการหมกมุ่นคำนึงถึงแต่ปัญหาของตนเอง การทำทุกสิ่งเพื่อแสวงหาความสุขให้กับตนเอง และไม่เคยใส่ใจไยดีต่อสภาพจิตใจของลูกชาย

แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง หนังก็ให้เหตุผลรองรับการกระทำต่างๆ ของบอริสกับเชนยาเอาไว้หนาแน่น รวมถึงปฏิกิริยาของทั้งคู่ เมื่อเผชิญกับเหตุวิกฤตลูกชายหายตัว ไม่ว่าจะเป็นการย้อนคิดทบทวนถึงความรู้สึกของตนเองต่อ ‘ลูกที่ไม่เคยรัก’ อีกครั้ง และการเผชิญหน้ากับความรู้สึกผิดในใจ ตลอดจนการใช้ชีวิตเดินหน้าต่อไป โดยมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและผ่านพ้นคอยย้ำเตือนหลอกหลอนไม่รู้ลืม

พูดง่ายๆ ก็คือ ทั้งบอริสและเชนยาต่างเป็นตัวละครที่มีพฤติกรรมไม่ชวนให้ผู้ชมรู้สึกเห็นอกเห็นใจ แต่เมื่อหนังจบลง ทั้งคู่กลับเป็นตัวละครที่คนดูเกลียดไม่ลง มีความเป็นมนุษย์ปุถุชนทั้งด้านดีและด้านลบ มีความอ่อนแอ มีข้อจำกัดในการใช้ชีวิต มีความน่าสงสารและชะตากรรมรันทดไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอโลชา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ทั้งคู่ต้องใช้ชีวิตร่วมกันเป็นเวลาเนิ่นนานโดยปราศจากความรัก ซึ่งอีกตัวละครหนึ่งได้ยินเข้าถึงกับเปรยออกมาว่า ชีวิตที่ไร้รัก ก็คือการดำรงอยู่อย่างไม่มีชีวิต

ในทางเนื้อหาสาระ Loveless สะท้อน 2 แง่มุมใหญ่ๆ อย่างแรกคือการใช้เรื่องราวของปัจเจกบุคคลเพื่อสะท้อนภาพกว้างของสังคมรัสเซีย (ตามท้องเรื่องคือปี 2012) ไม่ว่าจะเป็นระบบขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการรับมือกรณีเด็กหาย, เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวัน (ตัวละครส่วนหนึ่งในหนังหมกมุ่นอยู่กับสมาร์ตโฟนและโซเชียลมีเดียแบบติดงอมแงม), ความไม่เชื่อมั่นต่อกลไกและอำนาจรัฐ ฯลฯ

ประเด็นข้างต้นเหล่านี้ ผมขออนุญาตไม่ลงรายละเอียด เนื่องจากขาดความรู้และยังคิดอ่านได้ไม่ชัดเจนเพียงพอ จะว่ากันเฉพาะแง่มุมถัดมา คือเรื่องของครอบครัวไร้รัก และการ ‘ละเลย’ ลูกชายของคู่สามีภรรยา เรื่องของครอบครัวที่ไม่ได้มีความเป็นครอบครัวมาตั้งแต่เบื้องต้น และการหายตัวไปของลูกชายก็ทำลายนิยามของความเป็นครอบครัวจนหมดสิ้นสมบูรณ์แบบ

อันที่จริง หนังเสนอแง่มุมความไร้รักและการละเลยอย่างชัดเจนและละเอียดยิบผ่านบทหนัง ทั้งการกระทำ คำพูดคำจาของตัวละคร และเรื่องราวเหตุการณ์ เป็นความชัดเจนจนแทบไม่ต้องเสียเวลาตีความใดๆ เลย แต่สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าผู้กำกับเก่งมาก คือการบอกเล่ารายละเอียดทั้งหมดโดยไม่ชี้นำความคิดเห็นของผู้ชม ไม่ตัดสินถูกผิดใดๆ ให้กับตัวละคร แต่เสนอข้อมูลชุดใหญ่ และปล่อยให้ผู้ชมครุ่นคิดทำความเข้าใจตามอัธยาศัย

ถ้าจะพูดโดยรวบรัดก็คือ Loveless สาธยายพรรณนาถึง ‘ความไร้รักและการละเลย’ ออกมาได้อย่างถี่ถ้วนเป็นรูปธรรม และไปไกลถึงขั้นสุด จนกลายเป็นหนังที่เย็นชา โหดร้าย เจ็บปวด และไม่หลงเหลือด้านรื่นรมย์ใดๆ เลย

 

เด็กชายที่ไม่มีใครต้องการ Loveless

 

นอกจากเป็นเพราะบท การดำเนินเรื่อง ฝีมือการแสดงแล้ว ปัจจัยสำคัญมากๆ อีกอย่างก็คือการสร้างบรรยากาศของหนัง ทั้งการใช้ฤดูหนาวเป็นฉากหลังของหนัง, การเล่นกับแสงเงามืดทึมในห้องพัก, การคุมโทนสีน้ำตาล เทา ดำตลอดทั้งเรื่อง

กล่าวโดยรวม บรรยากาศห้อมล้อมในหนังขับเน้นหนุนเสริม ทำให้ผู้ชมรู้สึกตลอดเวลาถึงความแห้งแล้งไร้สีสัน ปราศจากชีวิตชีวา

การสร้างบรรยากาศในหนังยังเกี่ยวโยงไปถึงฉากเปิดและฉากจบ ซึ่งทำได้ทรงพลัง เปี่ยมความหมายเชิงลึกและสะเทือนใจมาก

ฉากเปิด-ปิดเรื่อง เป็นภาพสถานที่เดียวกันต่างช่วงเวลา เป็นภาพหิมะตกหนักขาวโพลนในพื้นที่กว้างขวางคล้ายๆ สวนสาธารณะ ต้นไม้ใบไม้เหลือแต่กิ่งก้าน ตอนเริ่มเรื่องผู้ชมเห็นอโลชาเดินออกมาจากโรงเรียน ผ่านบริเวณดังกล่าว เจอแถบพลาสติกเส้นยาวอยู่บนพื้น จึงหยิบและโยนไปค้างอยู่บนกิ่งไม้ ในฉากสุดท้าย หลังจากเหตุการณ์ทุกอย่างผ่านพ้นไป หนังตัดภาพกลับมาบริเวณเดิม บรรยากาศคล้ายๆ เดิม และปิดฉากด้วยภาพแถบพลาสติกค้างบนกิ่งไม้

แต่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างคือ ในฉากจบผู้ชมไม่ได้เห็นอโลชา สิ่งเดียวที่เห็นคือร่องรอยสุดท้ายที่ยังคงเหลืออยู่ ซึ่งเชื่อมโยงชวนให้นึกไปถึงเด็กชายคนนั้น

นอกเหนือจากความเข้มข้นของเรื่องราว ซึ่งดีงามด้วยความพอเหมาะพอควรระหว่างการเล่าอย่างกระจ่างชัดมากเท่าๆ กับการทิ้งความนัยเอาไว้ให้ผู้ชมครุ่นคิดต่ออย่างมีชั้นเชิงจนกลายเป็นหนังที่ดูไม่ยากเข้าใจไม่ยาก พร้อมๆ กับที่สามารถรักษาความลุ่มลึกเอาไว้ได้ ภาษาภาพและการใช้เสียงก็เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่ยอดเยี่ยมพอๆ กัน

ในด้านหนึ่ง งานโปรดักชันของหนังก็ทำหน้าที่หนุนเสริมสร้างความสมจริง แต่ในอีกด้านหนึ่ง มันก็เต็มไปด้วยการประดิดประดอยปรุงแต่งด้วยลีลาทางศิลปะจนเกิดเป็นความงาม

มีฉากที่ดูเผินๆ เหมือนเรียบง่าย แต่แอบสร้างความตื่นตาตื่นใจลึกๆ อยู่ตลอดทั่วทั้งเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น ฉากเปิดตัวอโลชา ซึ่งเริ่มจากภาพอาคารหลังหนึ่ง ปราศจากผู้คน พลันมีเสียงกริ่งสัญญาณ ก็เห็นเด็กนักเรียนจำนวนมากเฮกันออกมาจนเนืองแน่น

ตลอดเวลานั้นกล้องตั้งนิ่ง จนกระทั่งกลุ่มเด็กนักเรียนเดินเข้ามาจากไกลถึงระยะใกล้ แล้วกล้องก็ค่อยๆ เคลื่อนจากขวาไปซ้าย เป็นการใช้ดอลลีเพื่อถ่ายลองเทค

ความน่าทึ่งอยู่ที่ว่า เมื่อกล้องดอลลีไปชั่วขณะหนึ่ง โดยที่ผู้ชมไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว จู่ๆ ภาพก็เปลี่ยนจากการถ่ายกลุ่มคน กลายเป็นการจับภาพติดตามตัวละครอโลชาเพียงลำพังไปเรียบร้อยแล้ว

มีการใช้ภาพที่ให้ผลลัพธ์ทำนองนี้ (ด้วยวิธีลีลาที่แตกต่างกันไปสารพัดสารพัน) อยู่เยอะแยะมากมายเต็มไปหมดนะครับ ตรงนี้แล้วแต่ความสนใจ การจับสังเกตของผู้ชมแต่ละท่านนะครับ ไม่ใช่สิ่งสลักสำคัญที่มีผลต่อภาพรวมหรืออรรถรสในการดู (ยกเว้นผู้ชมที่อยากดูด้วยสายตาของคนทำหนัง หรือคนที่เรียนทางด้านภาพยนตร์ ผมคิดว่า Loveless ถือเป็นบทเรียนตำราชั้นดีของการใช้ภาพในเชิงสร้างสรรค์)

ควบคู่กับงานด้านภาพ จังหวะใส่ดนตรีประกอบของหนังรับ-ส่งเข้าขากันดีมาก Loveless เป็นหนังที่ใส่ดนตรีประกอบเข้ามาไม่บ่อยครั้ง ท่วงทำนองไม่ได้ไพเราะ แต่เป็นเสียงกระแทกกระทั้นที่คุกคามความรู้สึกของผู้ชม ชวนให้รู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากล และบางครั้งก็ส่งสัญญาณไม่ปกติ

บทบาทต่อมาของจังหวะใส่ดนตรีประกอบก็คือ มันทำหน้าที่คล้ายๆ การจบบทจบฉากหนึ่ง แล้วเชื่อมโยงไปสู่การขึ้นบทใหม่ฉากใหม่

มีประเด็นทางเนื้อหาอีกแง่มุมหนึ่ง ซึ่งผมเจตนาเก็บไว้พูดทิ้งท้าย นั่นคือ อารมณ์ความรู้สึกเบื้องลึกภายในใจของบอริสกับเชนยา ระหว่างการติดตามค้นหาอโลชา นอกเหนือจากความคิดตำหนิซัดทอดว่าเป็นความผิดบกพร่องของอีกฝ่าย การขัดแย้งไม่ลงรอยที่ทวีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งความรู้สึกผิดในใจตนเองที่ค่อยๆ เพิ่มทวีมากขึ้นตามลำดับแล้ว

อีกแง่มุมสำคัญ ซึ่งหนังสะท้อนออกมาได้ลึกและดีเหลือเกินก็คือ การที่ตัวละครทั้งคู่พบว่า นรกที่แท้จริงนั้นคือตนเอง มิใช่ใครอื่นหรือเหตุการณ์ภายนอกใดๆ เลย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save