fbpx
สื่อสารความรู้อย่างเข้าใจ กับครูลูกกอล์ฟ - คณาธิป สุนทรรักษ์

สื่อสารความรู้อย่างเข้าใจ กับครูลูกกอล์ฟ – คณาธิป สุนทรรักษ์

1.

สิ้นเสียงปรบมือจากผู้ชมด้านล่าง ลูกกอล์ฟ คณาธิป สุนทรรักษ์ ก้าวขึ้นมาบนเวทีพร้อมไฟสปอตไลต์ที่สาดส่องลงมาหาเธอ – บุคคลที่เราเรียกได้อย่างเต็มปากว่าเธอคือหนึ่งใน ‘เซเล็บบริตี้’ ของวงการบันเทิงที่เอ่ยชื่อไปใครๆ ก็รู้จัก

แต่ในอีกด้าน เธอคือคนที่เราเรียกว่าเป็น ‘ครู’ ได้เต็มปากอย่างไม่ต้องสงสัย

“ปกติลูกกอล์ฟจะใช้ชีวิตอยู่กับเด็กๆ มัธยมซึ่งชีวิตมันสวยงาม Life is like… beautiful! เข้าใจมั้ยคะ จะไม่ค่อยได้มางานที่ผู้ใหญ่เยอะๆ เพราะเวลาผู้ใหญ่อยู่ด้วยกันเยอะๆ เราจะหัวเราะกันแบบเกร็งๆ หัวเราะแบบคนข้างๆ หาว่า ‘กูไม่คูล’ หัวเราะกันแบบถากถาง เพราะฉะนั้นวันนี้ Just have fun! OK?” เธอบอกกับเราและอีกหลายคนบนเวทีก่อนจะเริ่มต้นส่งต่อเรื่องราวในฐานะ ‘นักสื่อสาร’ ที่เฝ้าสังเกตการสื่อสารความรู้ในห้องเรียนมายาวนาน

ตั้งแต่ครั้งที่เธอเองเคยเป็นนักเรียน จนกระทั่งมาเป็นคนที่ต้องสื่อสารกับเด็กๆ ด้วยตัวเอง

 

 

2.

“Angkriz เป็นโรงเรียนที่ลูกกอล์ฟอยากทำตอนที่อยู่ปีสาม นิเทศจุฬาฯ ตอนนั้นตัดสินใจว่าโอเค อยากมีโรงเรียน ก็เลยคุยกับนักเรียนตอนสอนอยู่ตามร้านกาแฟว่า เฮ้ย จะชื่ออะไรดีวะ หานานมาก

“น้องนักเรียนคนนึงก็บอกว่าพี่ก็เอาชื่อนี้เลย ‘แองกริซซซ’ ออกเสียงตัว z ชัดมาก เราก็ ว้าว.. ชอบมาก เพราะมันเป็นชื่อที่มันทำให้คนถามว่า ‘ทำไมต้อง Angkriz’… and that’s good. โลกเราดี เกิดอะไรใหม่ๆ เมื่อมีการถาม มันเป็นสิ่งที่ดี ก็เลยโอเค เอาชื่อนี้ล่ะ”

ภาพลักษณ์ของ Angkriz ที่สื่อสารกับคนนอกคือความจี๊ดจ๊าด เปรี้ยว ตามบุคลิกคนแฟชั่นของลูกกอล์ฟ ทั้งห้องเรียนที่มีรันเวย์ตรงกลาง หนังสือเรียนที่มองเผินๆ เหมือนนิตยสารแฟชั่นที่มีดาราชื่อดังมาถ่ายแฟชั่นเซ็ตลงหน้าปก และที่สำคัญ สโลแกนที่ปรากฎอยู่ทั้งที่โรงเรียนและบนหน้าปกหนังสือ คือ ‘Don’t judge a book by its cover’

“สโลแกนนี้มันส่งผลกับชีวิตมากๆ เลย มันคือเปลือกแค่ 5% ของ Angkriz ที่เราทุ่มเทกับมันมาก จริงๆ แล้วเปลือกไม่ได้เป็นสิ่งที่ควรต้องแคร์ นึกออกไหมคะ ในเมื่อเปลือกไม่ได้สำคัญ แล้วทำไมโรงเรียนเราถึงเล่นกับ ‘เปลือก’ ขนาดนี้

“ก็เพราะว่าเราอยากจะให้คนจัดจ์ แล้วก็อยากจะกันคนที่จัดจ์เราออกไป ก็ไม่ต้องมารู้จักกันไง เพราะเราไม่ต้องการคนที่มาอยู่ในห้องแล้วเป็นคนที่ไม่ได้อยากมาเพราะเขาตัดสินเราแค่ 5% สมมติว่าวันนี้คุณมาดูลูกกอล์ฟแล้วคิดว่าไม่ชอบ 5% ตรงนี้เลย… Fine, you don’t have to like me. Okay? You don’t have to like everyone. คนเราไม่ได้ชอบทุกคน ลูกกอล์ฟก็ไม่ได้ชอบทุกคน ดังนั้นวันนี้ เปลือกจะไม่ค่อยถูกคุย แต่เราจะมาทำความรู้จักกับ 95% ของลูกกอล์ฟค่ะ” ลูกกอล์ฟอธิบายย้ำให้เราและผู้ชมในโรงละครฟัง

 

3.

“เนื้อหาวันนี้แบ่งเป็นสามส่วนง่ายๆ เอาความรู้จากนิเทศจุฬาฯ มาค่ะ เป็นเรื่องของ ‘การสื่อสาร’”

ตัวอักษร S, M และ R ถูกเขียนลงบนแท็บเล็ตที่ต่อขึ้นบนโปรเจ็กต์เตอร์บนเวที ทั้งสามตัวนี้คือองค์ประกอบสามอย่างที่จะเป็นกับการสื่อสาร นั่นคือ Sender (ผู้ส่งสาร) Message (สารที่จะสื่อ) และ Reciever (ผู้รับสาร) และในฐานะครู สามสิ่งคือปัจจัยที่ลูกกอล์ฟมองว่าเราควรให้ความสำคัญ

ไม่ใช่แค่ในเชิงการศึกษาเท่านั้น แต่หมายถึงการใช้ชีวิตด้วย

“ในชีวิตของคุณอาจมีครูค่อนข้างเยอะ ครูบางคนอยู่กับเรามาทั้งชีวิต แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไรเราเลย แต่ครูบางคนเข้ามาแค่คาบเดียว กลับเปลี่ยนมุมมองเราไปทั้งชีวิต

“ทุกวันนี้คนบอกว่าพี่ลูกกอล์ฟเป็นครู เป็นติวเตอร์ จริงๆ เราไม่ค่อยแคร์อะไรเรื่อง title เลยค่ะ I’m no one ไม่ได้เป็นอะไรทั้งนั้น ตอนเด็กๆ ลูกกอล์ฟเป็นเด็กตัวเล็กๆ ที่นั่งหน้าห้อง แล้วมองครูว่าเขายิ่งใหญ่มากๆ ยิ่งสมัยก่อนด้วย เราไม่กล้าที่จะ… ครูคะ (เสียงเล็กๆ) แต่พอเราเริ่มโตขึ้น เราก็เห็นว่าครูเป็น ‘มนุษย์’ ทุกวันไหว้ครู ขอโทษนะคะ เราก็รู้สึกว่าครูเป็นมนุษย์

“มีครูที่เปลี่ยนโลกเราไปในทางที่ดีขึ้น และมีครูที่เปลี่ยนโลกเราไปในทางที่มืดมน” เธอเริ่มเล่าเรื่องของครูผู้เปลี่ยนชีวิตให้เราฟัง

ที่เราเห็นว่าเธอเก่งภาษาอังกฤษอย่างทุกวันนี้ จริงๆ แล้วการเรียนภาษาของลูกกอล์ฟไม่ใช่คลาสในโรงเรียนอินเตอร์ แต่เป็นโรงเรียนระบบไทยที่เต็มไปด้วยครูที่สร้างความสับสนในการเรียนภาษาอังกฤษกับเด็กตัวเล็กๆ อย่างเธออยู่ไม่น้อย

“มันสับสนน่ะ บางคาบครูบอกว่า โอเค เราเป็นคนไทยลูก ไม่ต้องพยายามมาก บางคาบได้ครูจากยูเค เขาก็จะ ‘เชื่อผมๆ ภาษาอังกฤษเกิดขึ้นที่ผม’ บางคาบก็เป็นครูอเมริกัน ‘เชื่อผมๆ ภาษาอังกฤษแบบอเมริกันมันเท่กว่านะ’ แล้วบางคาบก็มีครูเข้ามาแล้วพูด ‘รีปรี๊ตอ๊าบเต้อหมิ’ เราไม่ได้ล้อเล่น นี่คาบนี้กูต้องฝึกการรัวริ้นใช่มั้ย ตอนเด็กมันแบบ เฮ้ย เหมือนเพลงทาทายังเลย ขาดเธอก็เหงา ขาดครูคนนี้ไปก็ไม่ได้

“แต่เราเริ่มมาจับจุดที่ครู ที่มอบ ‘ทางเลือก’ ให้กับเรา ลูกกอล์ฟเป็นครูทุกวันนี้ คนถามว่าใครเป็นต้นแบบ ส่วนเล็กๆ ในตัวตนทุกวันนี้ มาจากครูที่ยิ่งใหญ่หลายคน รวมไปถึงพ่อแม่ ครู ติวเตอร์ แล้วก็นักเรียน เราเริ่มจับหลักว่ามีครูจำนวนนึงที่ตั้งใจสอนและมอบทางเลือกให้กับนักเรียน”

ทางเลือกที่ว่า คือการไม่บังคับให้เด็กนักเรียนทำตาม หรือพูดตามสำเนียงภาษาอังกฤษแบบที่ครูเห็นว่าถูก แต่เป็นการไม่ตัดสินว่าการพูดไม่เหมือนเจ้าของภาษาคือ ‘ผิด’ หรือการพูดแบบถูกแอคเซนต์คือการ ‘กระแดะ’

“เราได้เจอครูที่ดีที่ตอนนี้ก็ยังนึกถึง ครูคนนี้มอบทางเลือกให้ว่า อย่าไปล้อเพื่อนได้มั้ยคะ can you just stop? มันไม่ตลกเลยกับการที่มีคนออกเสียง Juice ว่า จูซ แล้วไปทำเสียง เหยดดดดดด! ใส่

“สมมติอยากพูด Option ว่า ‘อ๊อปชั่น’ ฝรั่งรู้เรื่อง 70% แต่ถ้าอยากให้เขารู้เรื่องซัก 90% ลองออกเสียงเป็น ‘ออพเชิ่น’ ลูกกอล์ฟก็รู้สึกว่า เออ ก็แค่นี้ไง นี่คือสิ่งที่ลูกกอล์ฟถามตัวเองตลอดว่า เด็กๆ จะต้องเชื่อเราเหรอ มันไม่จำเป็น เพราะความรู้มันมหาศาลมาก แล้วสิ่งที่เรารู้ในวันนี้ มันอาจจะไม่ใช่เลย สิ่งที่เราเชื่อว่าถูกต้อง มันอาจจะไม่ใช่ ชีวิตมันเริ่มเปลี่ยนไปเมื่อเราเจอครูที่ไม่จัดจ์ เด็กพูดว่า ออพเชิ่น โอเค correct อ๊อปชั่น fine ไม่เป็นไร ทำไม่ได้วันนี้ไม่เป็นไร”

“ตอนนี้ลูกกอล์ฟก็เป็นหนึ่งในผู้ส่งสารคนนั้นที่จะบอกว่า นักเรียน ลองดู ถ้าอยากพูด Movie ว่า ‘มู้วี่’ ไม่เป็นไร แต่พี่จะให้อันที่เช็คตามพจนานุกรมนะ ‘มูฟหวิ’ แต่ถ้ายังไม่อยาก ไม่เป็นไรๆ โอเคมั้ย” เธอย้ำการให้ทางเลือกกับผู้เรียนให้เราเห็นภาพ

 

 

4.

นอกจากการ ‘ให้ทางเลือก’ กับผู้เรียนจะเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้สอน (หรือใครก็ตาม) ในฐานะของ Sender ควรให้ความสำคัญ เรื่องของทักษะในการสื่อสาร และความพร้อมของผู้รับเองก็สำคัญในการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพไม่แพ้กัน

“ทุกคนคิดว่าการสื่อสารในเมืองไทยมันสมบูรณ์ในหลายๆ กรณีมั้ยคะ ลองนึกตาม เคยเห็นห้องประชุมที่ ผอ. มาพูดแล้วนักเรียนทุกคนคุย แต่ ผอ. ก็ยังพูดๆๆ หรือเคยเห็นบางคาบมั้ยคะว่าครูสอนแบบไม่โฟกัสอะไรเลย

“วันนี้ถ้าใครเป็นครู ลูกกอล์ฟว่าเด็กๆ เขาอยากเรียนกับครูที่พูดรู้เรื่อง เสียงน่าฟัง ดูมีจังหวะจะโคน การพูดเป็นเรื่องที่ฝึกได้นะคะ ลูกกอล์ฟเคยมีปัญหาเรื่อง ร เรือ เราก็ฝึก ดังนั้นวันนี้ใครก็ตามที่กำลังจะไปเป็นครู จะไปสอนใครก็มาฝึกทักษะในการพูดนิดนึง ในฐานะที่เรากำลังจะไปเป็นผู้ส่งสาร มันเป็นทักษะที่ฝึกได้แน่นอน” เธอย้ำ

จากเรื่องของครู หรือ Sender ลูกกอล์ฟข้ามมาอธิบายต่อว่าเราควรส่ง M อย่างไร และปัญหาของ R ในยุคสมัยนี้ในสายตาของเธอคืออะไร

“ก่อนจะสอน จะพูดอะไร เราต้องเข้าใจในสิ่งที่กำลังจะพูดก่อน และวิธีในการจะส่งสารอกไป บางคนอาจจะพูดว่า ‘ผมรักคุณ’ บางคนอาจจะ ‘รักนะ’ บางคนอาจจะ ‘ผม รัก คุณ นะ ครับ!’ ในเมสเสจที่เราจะส่งไป มันมีวิธีมากมาย

“สุดท้าย ในฐานะผู้รับสาร ลูกกอล์ฟเป็นคนชอบใช้เทคโนโลยีนะคะ แต่หลังๆ สังเกตว่ามันกำลังทำลายเด็กของเรา และมันตลกมากเลยค่ะ ลูกกอล์ฟเป็นคนที่ไม่เคยบอกให้เด็กเก็บมือถือเลยนะคะ เพราะเราถือว่าเด็กต้องมีอิสระเสรีภาพ

“จนกระทั่งวันนึงสอนๆ อยู่ ด้วยความที่ห้องเรามันเล็ก สอนๆ อยู่ ตอนนั้น Snapchat กำลังดัง เรากำลังสอนในเรื่องที่จริงจังมาก แล้วก็มีเด็กที่ตั้งใจมาก อีเด็กคนนี้ นั่งแลบลิ้นใส่จอค่ะ เราเริ่มแบบ เฮ้ย นักเรียน stop! this is ridiculous! คือกูกำลังสอนเรื่อง tense อยู่! มึงมา (แลบลิ้น) อันนี้เข้าใจหัวอกครูที่ควบคุมเด็กไม่ได้ เพราะเด็กบางคนก็จะเข้าไปในโลกของเขาได้ตลอดเวลาที่เราสอน” ลูกกอล์ฟเล่าเรื่องขำทั้งน้ำตาในฐานะครูสอนหนังสือให้เราฟังพร้อมเสียงหัวเราะ

 

 

5.

“ตอนนี้เรากำลังอยู่ในโลกที่ Sender งงๆ Message ก็ไม่เคลียร์ Reciever ก็ไม่พร้อม จะทำยังไงล่ะ?” เธอตั้งคำถาม

“ทุกคนเริ่มเลยค่ะ ก่อนจะคุยกับใคร วางมือถือ มองตาเขา ถามเขาว่าพร้อมไหม ไม่ต้องตะโกน เวลาลูกกอล์ฟจะให้เด็กฟัง เราจะเงียบ จริงๆ คนบอกว่าเสียงมีพลัง แต่จริงๆ ความเงียบมีพลังมากกว่านะคะ”

ความเงียบเป็นสิ่งที่สำคัญเวลาที่เราจะเริ่มสื่อสารอะไรบางที่สำคัญออกไป แต่ที่สำคัญกว่า คือทั้งผู้ส่งและผู้รับสาร ที่ควรอยู่ในความพร้อมด้วยกันทั้งคู่ ผ่านอวัยวะที่ชื่อว่า ‘หู’ และ ‘ดวงตา’

“สายตามนุษย์สำคัญที่สุด มันไม่โกหก ต่อให้เราเป็นนักแสดงที่เก่งแค่ไหน จะตอแหลเก่งแค่ไหน สายตามันโกหกยากมาก มองเขา มองให้เข้าใจสาร บางครั้งพ่อแม่หรือครูหวังดี แต่สารที่ส่งออกไป ‘ทำไมโง่อย่างนี้! อีควายสอนแล้วไม่จำ!’ แต่จริงๆ อยากจะบอกเขาว่า ‘เฮ้ย ตั้งใจเรียนหน่อย ทำไมไม่พยายาม’ แต่ดันเลือกวิธีที่จะส่งสารแบบนี้”

“ในส่วนของเด็กนักเรียน วันนี้พี่อยากให้เริ่มสร้างคือผู้ฟังที่ดี สิ่งที่เราขาดไปในประเทศตอนนี้ไม่ใช่ผู้พูดที่ดี แต่เป็นผู้ฟังที่ดี เวลามีใครจะพูด ไม่ต้องเป็นลูกกอล์ฟก็ได้ จะเป็นแม่ เพื่อน หรือกระทั่งพนักงานร้านอาหาร มองตาเขานิดนึง มันมีจริงๆ นะที่เขาพยายามอยากส่งสาร แต่เราไม่พร้อมรับฟัง

“ดังนั้นวันนี้ ก่อนที่เราจะไปสู่องค์ความรู้มากมาย เอาง่ายๆ เลย ลองเป็น Sender ที่ดี เข้าใจในตัว Message ที่จะพูด ถ้ายังไม่เข้าใจ ถ้าไม่พร้อม อย่าเพิ่งส่งสาร”

 

6.

สิ้นเสียงบรรยายของลูกกอล์ฟบนเวที ไปสปอตไลต์สาดส่องไปที่เธอบนเวทีดับลงพร้อมเสียงปรบมือจากผู้ชมเบื้องล่าง

ในฐานะผู้บรรยายของวันนี้ เราคงไม่ต้องสงสัยว่าเนื้อหาที่ลูกกอล์ฟเลือกมาพูด ได้ทำงานผ่านปัจจัยการสื่อสารทั้งสามประการที่เธอเขียนบนจอหรือเปล่า และในฐานะของครูในโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษเล็กๆ เราคงไม่ต้องสงสัยว่าเด็กๆ ที่มาเรียนกับเธอ จะได้รับ ‘ความรู้’ จากเธอไปอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากการสื่อสารที่ดี โดยนักสื่อสารที่ดีอย่างเธอหรือเปล่า

คำถามที่ตามมาคือ แล้วเราพร้อมจะเป็น นักสื่อสารที่ดีที่จะสื่อสารความรู้ไปสู่ผู้คนในแบบ ครูลูกกอล์ฟกันหรือยัง

 

ดูคลิปฉบับเต็มได้ที่นี่

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save