fbpx

บทเรียนการ (ไม่) เปลี่ยนใจ: เมื่อนักเศรษฐศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ก็ตัดสินใจพลาดได้

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ทั้งจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) และเออร์วิง ฟิชเชอร์ (Irving Fisher) จัดเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จทั้งในเรื่องของงานวิชาการ การลงทุน และมีชื่อเสียงโด่งดังในสังคม ทุกวันนี้ผู้ศึกษาเศรษฐศาสตร์ก็ยังได้รู้จักเคนส์และฟิชเชอร์ผ่านตำราเรียน เคนส์ได้รับการยกย่องโดยนิตยสารไทมส์ ว่าเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในศตวรรษที่ 20 ส่วนฟิชเชอร์ เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่สหรัฐเคยมีมา[1]

ทั้งเคนส์และฟิชเชอร์เสียชีวิตในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ขณะที่เคนส์เสียชีวิตพร้อมกับทรัพย์สินมั่งคั่ง และความเสียใจที่ไม่ได้เมามายแชมเปญมากพอในชีวิต ฟิชเชอร์กลับเสียชีวิตพร้อมกับหนี้สินที่รุงรัง

ทำไมชีวิตของทั้งคู่จึงจบต่างกันได้มากนัก แล้วเราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากชีวประวัติของทั้งคู่? 

เคนส์และฟิชเชอร์คือใคร

ชื่อของเคนส์เป็นสิ่งที่คุ้นเคยสำหรับผู้เรียนเศรษฐศาสตร์ผ่านแนวคิดและทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มหภาคซึ่งมีอิทธิพลสำคัญต่อเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่จวบจนทุกวันนี้ แนวคิดของเคนส์มีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อแนวทางการใช้จ่ายภาครัฐกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ในด้านการทำงาน เคนส์เป็นข้าราชการพลเรือนที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่วัยไม่ถึง 30 ปี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เคนส์เป็นผู้จัดการหนี้และอัตราแลกเปลี่ยนของจักรวรรดิบริติช ได้เป็นถึงผู้อำนวยการของธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ (Bank of England) และเป็นผู้ให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรีหลายคน

นอกจากนี้ เคนส์ยังเป็นนักลงทุนที่เก่งกาจ เขาเป็นผู้จัดการสินทรัพย์ของ King’s College ให้ได้รับผลตอบแทนมากกว่าตลาดกว่า 6% โดยเฉลี่ย ในช่วงเวลากว่า 25 ปีที่เศรษฐกิจผันผวนแบบรถไฟเหาะ ผ่านทั้งภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) สงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 นอกจากนั้น เคนส์ยังประสบความสำเร็จในการลงทุนของตัวเอง เมื่อเคนส์เสียชีวิตในปี 1946 เขามีทรัพย์สินมากกว่า 5 แสนปอนด์ (หรือ 20.5 ล้านปอนด์ เมื่อเทียบกับมูลค่าปัจจุบัน)

เออร์วิง ฟิชเชอร์ เองก็เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งแห่งยุค พอล แซมมวลสัน (Paul Samuelson) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เคยกล่าวยกย่องวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของฟิชเชอร์ ไว้ว่า “เป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่เกรียงไกรที่สุดที่ถูกเขียนขึ้น” กระทั่งทุกวันนี้ผู้เรียนเศรษฐศาสตร์ก็ยังได้รู้จักฟิชเชอร์ ผ่าน Fisher’s Equation ที่อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างดอกเบี้ยกับอัตราเงินเฟ้อ 

ฟิชเชอร์เป็นนักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งที่สามารถประยุกต์งานวิชาการมาสู่การทำธุรกิจได้ โดยการจัดตั้ง Index Number Institute ซึ่งเป็นธุรกิจที่จัดทำข้อมูล ดัชนี บทวิเคราะห์ และพยากรณ์ตัวเลขต่างๆ ให้กับหนังสือพิมพ์ ก่อนที่รัฐบาลจะจัดทำดัชนีต่างๆ เสียอีก และนอกจากจะทำธุรกิจเกี่ยวกับการวิเคราะห์ตัวเลขแล้ว ฟิชเชอร์ยังเป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องช่วยจัดการนามบัตรธุรกิจซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่นำไปสู่ Rolodex และขายสิ่งประดิษฐ์ของเขาได้เงินเทียบเท่าหลายล้านดอลลาร์เมื่อเทียบกับมูลค่าปัจจุบัน

ไม่เพียงเท่านี้ ฟิชเชอร์ยังเป็นผู้คลั่งไคล้ด้านสุขภาพ ถึงขนาดก่อตั้งสถาบันด้านสุขภาพและสามารถให้ประธานาธิบดีมาเป็นประธานให้สถาบันได้ และเขียนหนังสือ How to Live หนังสือด้านสุขภาพที่ขายดีอย่างยิ่งในช่วงเวลานั้น โดยมีการใช้ตัวเลขทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ มาอธิบายเกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งถือเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ในยุค 1910s’ ทั้งหมดนี้ได้สร้างความมั่งคั่งให้กับฟิชเชอร์เป็นอย่างมาก 

อย่างไรก็ดี ในขณะที่เคนส์ถูกจดจำในฐานะนักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนผู้ประสบความสำเร็จ ฟิชเชอร์กลับถูกจดจำในฐานะนิทานสอนใจในเรื่องการลงทุนแทน เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? 

เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ จุดผกผันสำคัญ

ทั้งเคนส์และฟิชเชอร์เป็นผู้คลั่งไคล้ในตัวเลขและนักวิเคราะห์ที่เก่งกาจ แต่ทั้งคู่ก็มองไม่ออกว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในเดือนตุลาคม ปี 1929 ฟิชเชอร์ถึงขนาดบอกว่า “หุ้นได้มาถึงจุดสูงสุดใหม่อย่างถาวรแล้ว” (Stocks have reached a new and permanently high plateau.) แต่ในความเป็นจริง ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลงกว่า 20% ภายในเวลาเพียง 2 วัน และปรับตัวแตะระดับต่ำสุดในศตวรรษที่ 20 ที่ 41.22 จุด ในช่วงฤดูร้อนปี 1932 หรือปรับตัวลดลงถึง 89% จากจุดสูงสุด และไม่กลับมาระดับเดิมอีกเลยจนถึงปี 1954 หรือราว 25 ปี ทั้งเคนส์และฟิชเชอร์ต่างสูญเงินจำนวนมากในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ แต่ทำไมเคนส์กลับมาร่ำรวยได้ ขณะที่ฟิชเชอร์หมดตัวจนไม่สามารถกลับมาได้อีกเลย? 

จริงอยู่ที่ตลาดหุ้นในช่วงเวลานั้นปรับตัวลดลงอย่างมาก แต่หากทำการตัดขาดทุน (cut loss หมายถึง การตัดสินใจขายหุ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองขาดทุนมากขึ้นไปอีก) ก็ถือได้ว่าเป็นเพียงแค่การขาดทุน (ก้อนใหญ่) เท่านั้น การจะทำให้ฟิชเชอร์ถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัวต้องการอะไรมากกว่านั้น สิ่งนั้นก็คือ ‘ความดื้อรั้น’ ฟิชเชอร์เชื่อเป็นอย่างมากว่าการที่ตลาดหุ้นร่วงอย่างหนักครั้งนั้นเป็นปรากฎการณ์แพนิก และตลาดจะกลับมาสู่ระดับเดิมในเวลาอันรวดเร็ว ด้วยการวิเคราะห์เช่นนี้ ฟิชเชอร์จึงเลือกกู้เงินเพื่อนำมาลงทุนเพิ่มในหุ้นของบริษัทที่ฟิชเชอร์ขายสิทธิบัตรให้ ซึ่งขณะนั้นมีราคาเหลือเพียง 28 เหรียญหลังจากตลาดหุ้นล่มได้ 3 เดือน (ก่อนหน้านั้นมีราคาอยู่ที่ 58 เหรียญ) และมีราคาเหลือเพียง 1 เหรียญหลังจากตลาดหุ้นล่มได้ 4 เดือน นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนฟิชเชอร์จากเศรษฐีสู่ผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจนวาระสุดท้ายของชีวิต

ในทางตรงกันข้าม เคนส์กลับมาทบทวนกลยุทธ์ทางการลงทุนเสียใหม่ เคนส์ยอมรับว่ามันยาก และมีปัจจัยไม่แน่นอนมากเกินไปที่จะพยากรณ์เศรษฐกิจมหภาคได้อย่างแม่นยำ เคนส์จึงเลือกที่จะมุ่งเน้นในการเลือกบริษัทที่มีการบริหารจัดการที่ดี และลงทุนในบริษัทนั้นแทน ซึ่งเป็นแนวคิดที่คล้ายคลึงกับนักลงทุนเชิงคุณค่าระดับตำนานที่ยังมีชีวิตอยู่อย่างวอเรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) ผู้ซึ่งชื่นชอบการกล่าวอ้างคำพูดของเคนส์เช่นกัน[2]

‘เปลี่ยนใจ’ พูดเหมือนง่าย แต่ทำไมทำยาก?

เมื่อเราหวนกลับมาดูบทเรียนทางประวัติศาสตร์ ก็ชวนสงสัยว่าทำไมฟิชเชอร์ถึงถลำลึกได้ขนาดนั้น ทั้งๆ ที่ฟิชเชอร์แทบจะเป็นคนที่ฉลาดที่สุดในทุกห้องที่เดินไปอยู่แล้ว ทำไมการเปลี่ยนใจถึงทำได้ยากนัก?

งานวิจัยด้านจิตวิทยาสังคม (social psychology) ในช่วงหลัง พบว่า บ่อยครั้งที่เราคิดว่าเราคิดถูก และมีเหตุผลสนับสนุนเต็มที่ อาจเริ่มมาจากความเชื่ออะไรสักอย่าง ที่ไม่ได้มีความถูกต้องเลย แล้วก็ไปเลือกข้อเท็จจริงหลายๆ อย่างมาปะติดปะต่อและสนับสนุนความคิดแรกของตน พอเราสร้างเหตุผลมาสนับสนุนความเชื่อของเรา ก็เริ่มยากขึ้นที่จะเปลี่ยนใจแล้ว

การเปลี่ยนใจอาจทำได้ยากขึ้น หากเราแสดงทัศนคติต่อสาธารณชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นสำคัญๆ อาจเป็นเพราะต้นทุนในการกลับคำพูดสูง คนอื่นอาจมองเราว่าเป็นคนเชื่อถือไม่ได้ อย่างเช่น การเปลี่ยนใจต่อการโหวตประเด็นสำคัญบางเรื่อง ถูกนำมาใช้เล่นงานความน่าเชื่อถือของ จอห์น เคร์รี (John Kerry) ในช่วงที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2004 ที่สุดท้าย จอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) ก็เป็นผู้ชนะไป[3]

หรือเมื่อเรายิ่งพูดออกสื่อ ก็ยิ่งทำให้เราเชื่ออย่างนั้นจริงๆ นักจิตวิทยาสังเกตเห็นเรื่องนี้ตั้งแต่ทศวรรษ 1930 ว่า เมื่อเราพูดหรือให้คำมั่นต่อหน้าคนไปแล้ว เราจะเปลี่ยนทัศนคติของเราได้ยาก โดยงานศึกษาด้านจิตวิทยาให้หลังในปี 1955 พบว่า เมื่อทำการทดลองโดยให้นักศึกษาลองประเมินความยาวของสิ่งของ แม้ว่าเวลาจะผ่านไปหลายเดือน และมีข้อมูลใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา กลุ่มที่ทำการจดผลประเมินด้วยปากกา เป็นกลุ่มที่เปลี่ยนใจจากผลการประเมินเบื้องต้นน้อยที่สุด[4]

ดังนั้นความเชื่อและการประกาศว่าตลาดหุ้นจะคงอยู่ในระดับที่สูงอย่างถาวรของฟิชเชอร์ จึงกลายเป็นการสร้างความมั่นใจมากเกินไปจนฟิชเชอร์ไม่สามารถกลับมาเปลี่ยนใจได้ สิ่งนี้ทำให้เราเห็นว่า การที่เคนสฺ์ทำได้อย่างที่ตัวเคนส์ (อาจจะไม่เคย) พูดว่า “When the facts change, I change my mind” จึงเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่และทำได้ยากกว่าที่คิดไว้ 

ปัจจัยที่ช่วยให้เปลี่ยนใจได้ง่ายขึ้น

การใช้ค่าเฉลี่ยมาเป็นอัตราฐาน (base rate) อย่างที่แดเนียล คาฮ์นะแมน (Daniel Kahneman) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมแนะนำ ช่วยให้เราพบว่า บางครั้งเราอาจมีความเชื่อแปลกๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว เช่น หากเราเป็นโรคร้ายชนิดหนึ่ง เราอาจเริ่มวิตกว่าเราอาจรักษาไม่หายแน่ๆ แต่หากข้อมูลสถิติพบว่าผู้ป่วยเป็นโรคดังกล่าวมีโอกาสหายขาดถึง 90% เราก็อาจลดความกังวลใจลงได้ ในทำนองเดียวกัน การสำรวจฉันทามติจากผู้เชี่ยวชาญ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยได้ มีงานศึกษาจำนวนมากที่พบว่าผลการทำนายแบบกลุ่ม (group forecast) มีความแม่นยำกว่าการคาดการณ์ของการทำนายแบบเดี่ยวถึง 15-20 % การใช้มุมมองจากภายนอก ประกอบข้อมูลเพิ่มเติมจากประสบการณ์ของเราเอง ก็อาจช่วยให้เรามองโลกได้ชัดเจนขึ้น[5]

การจดบันทึกผลสิ่งที่เราเคยคิด ก็เป็นอีกเทคนิคที่ช่วยได้ ในหลายๆ ครั้งคนเรามักจะลืมเรื่องที่เคยพูดไว้ แม้ผลลัพธ์จะออกมาขัดแย้งกับสิ่งที่เคยคิด ก็กลับคิดแทนว่าตัวเองเคยพูดอีกอย่างไว้ และคาดการณ์ไว้ถูกแล้ว หรือจำได้แต่สิ่งที่ตัวเองคิดถูก และลืมสิ่งตัวเองคิดผิด การบันทึกผลจะช่วยลดมายาคติหรือความมั่นใจในตัวเองเกินไปได้ 

อีกสิ่งหนึ่งที่พอจะช่วยผ่านมุมมองของสโลว์แมน ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยบราวน์ ก็คือการลองอธิบายเรื่องที่เราเชื่อในมุมมองของคนนอก โดยไม่สนว่าเราคิดหรือมีส่วนได้ส่วนเสียในประเด็นนั้นอย่างไร วิธีนี้จะเป็นเหมือนเสียงกระดิ่งที่พอช่วยเตือนสติเราได้ หรืออาจลองอธิบายความเชื่อของเราเป็นขั้นตอนโดยละเอียดว่าสิ่งใดเป็นผลของสิ่งใด เราอาจพบว่าเราไม่สามารถอธิบายสิ่งที่เราเชื่อได้เป็นขั้นเป็นตอนนัก เหมือนกับงานวิจัยที่พบว่า คนเรามักมีสิ่งที่เรียกว่า ช่องว่างระหว่างสิ่งที่เราคิดกับสิ่งที่เรารู้อยู่แล้ว (The Illusion of Explanatory Depth) เมื่อต้องอธิบายการทำงานของสิ่งของใกล้ตัวอย่าง ปากกาลูกลื่น หรือโถส้วม เป็นต้น[6]

สุดท้ายนี้ การเปิดใจรับข้อมูลใหม่ๆ ดูจะเป็นเรื่องที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดในการทำให้เราปรับตัวได้ทันสถานการณ์เสมอ ทัศนคติที่ดูจะถูกต้องสำหรับการเป็นนักวิเคราะห์ที่แม่นยำคือวิเคราะห์เรื่องวันนี้ให้แม่นที่สุดจากข้อมูลใหม่ๆ ที่เข้ามา โดยไม่สำคัญว่าเราจะเคยพูดอะไรไปในอดีต และพึงระลึกไว้ว่าความเชื่อของเรานั้นเป็นเพียงสมมติฐานที่ต้องถูกทดสอบ มิใช่ทรัพย์สมบัติที่ต้องถูกปกป้อง[7]

References
1 กล่าวโดยนักเศรษฐศาสตร์ระดับตำนานอย่าง โจเซฟ ชุมปีเตอร์ และมิลตัน ฟรีดแมน Schumpeter, Joseph (1951). Ten Great Economists from Marx to Keynes. New York: Oxford University Press. p. 223. และ Milton Friedman, Money Mischief: Episodes in Monetary History, Houghton Mifflin Harcourt (1994) p. 37. ISBN 0-15-661930-X
2 Tim Harford, The Data Detective, Chapter 10
3 บทสัมภาษณ์ของ Francis Fukuyama นักรัฐศาสตร์ชื่อดัง ในรายการ Freakonomics Episode 379
4 Tim Harford, The Data Detective, Chapter 10
5 Tim Harford, The Data Detective, Chapter 10
6 Freakonomics Radio Episode 379: How to Change Your Mind
7 กล่าวโดย Philip Tetlock จากหนังสือ Superforcasting

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save