fbpx
เนื้อไม่สัตว์

เนื้อไม่สัตว์

ผมชอบคำขวัญเทศกาลกินเจ “หนึ่งชีวิตกินเจ หมื่นชีวิตรอดตาย” มันดูมีพลังและสร้างแรงกระทบต่อจิตใจของผู้อ่านได้เป็นอย่างดี สำหรับคนที่ไม่ทานเจมันช่วยทำให้รู้สึกอยากทานขึ้นมาทันที เพราะใครกันจะไม่อยากรู้สึกดีที่ได้ช่วยให้หมื่นชีวิตรอดตาย แต่ขณะเดียวกันอีกใจหนึ่งก็หวนคิดถึงรสชาติของเนื้อสเต๊กโกเบหวานหอมนุ่มลิ้นเจ้าโปรดที่ไม่ได้ทานมานาน มันช่างเป็นสิ่งที่ทำใจยากลำบากเหลือเกิน แต่ถ้าเกิดว่ามันเป็นเนื้อที่ไม่ได้มาจากสัตว์ล่ะ?

 

เปล่านะครับ ไม่ได้หมายถึงเนื้อเทียมที่ทำจากเต้าหู้รสชาติแปลกๆ นั้น แต่เป็นเนื้อสัตว์ที่รสชาติเหมือนเนื้อสัตว์ที่เรารู้จักกันดี แค่เป็นเนื้อสัตว์ที่เติบโตบนถาดแก้วในห้องแลปไม่ใช่ทุ่งหญ้าเขียวที่เราคุ้นเคยกันแบบทุกวันนี้ เนื้อสัตว์แบบไม่ต้องฆ่าสัตว์ฟังคล้ายนวนิยายไซไฟโลกอนาคต แต่มันกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว และแรงกระเพื่อมของเทคโนโลยีนี้จะส่งผลกระทบต่อทุกอย่างที่เกี่ยวกับเนื้อสัตว์ ไม่ได้หยุดแค่คนกินเจหรือหมื่นชีวิตที่รอดตายเท่านั้น

Uma Valeti นายแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจ ผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัป Memphis Meats ในรัฐซานฟรานซิสโก เป็นหนึ่งคนที่กำลังพยายามศึกษาและพัฒนาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เขาให้สัมภาษณ์ว่ารู้สึกค่อนข้างขยะแขยงในขั้นตอนของการผลิตเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเรื่องความสะอาดและเชื้อโรคที่โรงเชือดซึ่งควบคุมได้ยาก ไหนจะโรคติดต่อที่มาจากการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ไม่สะอาดต่างๆ เขาบอกว่า

“ผมเคยรักในการกินเนื้อสัตว์นะ แต่ไม่ชอบขั้นตอนต่างๆ ในการผลิตเลย มันต้องมีหนทางที่ดีกว่านี้สิ”

ในปี 2016 เขาเลยก่อตั้งบริษัทนี้ขึ้นมาเพื่อทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ โดนขั้นตอนของมันคือการนำเซลล์จากสิ่งมีชีวิต (เช่น หมู วัว ไก่ เป็ด) มาเพาะเลี้ยงบนจานแก้วในห้องแลป โดยรูปร่างเริ่มต้นของมันคล้ายกับเส้นสปาเกตตีใสๆ โดยมีจุดตามที่ต่างๆ ที่เป็นนิวเคลียส พอมันเริ่มโตขึ้นรูปร่างของมันก็จะเริ่มเหมือนหนอนตัวอ้วนๆ หลังจากนั้นก็เริ่มมาเชื่อมตัวกันที่บริเวณหัวท้าย แล้วก็เริ่มมารวมตัวกันเป็นเกลียว (ลองนึกภาพน้ำวนในทะเล) และเมื่อถึงจุดหนึ่งมันก็จะเริ่ม “ยืดหดตัว” คล้ายกับเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิตทั่วไป

มันเป็นเรื่องที่ชวนขมวดคิ้วสงสัยไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะสิ่งที่เราคิดคือกล้ามเนื้อ (หรือส่วนต่างๆ ในร่างกาย) จะขยับได้ก็ต้องมีสมองสั่งงาน แต่ที่จริงแล้วมันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้น ก่อนอื่นเราต้องพยายามลบล้างความคิดที่ฝังหัวว่า “เนื้อ” มาคู่กับ “สัตว์” ที่คุ้นเคยกันก่อน แล้วคิดถึงว่าเซลล์ของสิ่งมีชีวิตก็สามารถเติบโตและกลายเป็นเนื้อสัตว์ส่วนต่างๆ ได้เช่นเดียวกัน

ที่จริงแล้วไอเดียนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรนัก Winston Churchill เคยเขียนเอาไว้ในปี 1932 ว่า

“เราควรจะหลีกเลี่ยงการเลี้ยงไก่ทั้งตัว เพียงเพื่อจะเอาแค่เนื้อส่วนอกมาหรือปีกมาเป็นอาหาร โดยเพาะเลี้ยงเนื้อส่วนต่างๆ ในสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวย”

ซึ่งที่จริงตามหลักการทางวิทยาศาสตร์แล้ว มนุษย์สามารถสร้างเนื้อสัตว์ในห้องแลปได้ตั้งแต่สองทศวรรษก่อน แต่ไม่มีใครที่สามารถทำได้ในราคาที่ถูกมากพอจะนำสู่ท้องตลาด แถมไม่พอรสชาติยังเทียบเท่าของจริงไม่ได้เลยแม้แต่น้อย แต่ในตอนนี้หลายบริษัทอย่าง Finless Foods, Mosa Meat, Super Meat, Impossible Foods และที่กำลังโดดเด่นที่สุดในเวลานี้อย่าง Memphis Meats กำลังเข้าใกล้เป้าหมายนี้ภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และพวกเขากำลังจะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในตลาดเนื้อสัตว์ที่มีมูลค่าทั่วโลกหลักร้อยล้านล้านบาท (ไม่ได้อ่านผิดครับ ร้อยล้านล้านบาท เขียนเลขศูนย์กันไม่หวาดไม่ไหว) และคาดว่าจะเติบโตเป็นสองเท่าภายในเวลาสามสิบปีข้างหน้า โดยทางบริษัทของ Uma Valeti เพิ่งได้รับเงินสนับสนุนก้อนโตจากนักลงทุนอย่าง Bill Gates, Richard Branson, Jack Welch และ Steve Jurvetson โดยพวกเขาเหล่านี้เชื่อว่า “เนื้อไม่สัตว์” ของ Memphis Meats นั้นเป็นบริษัทที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุดในเรื่องรสชาติและราคา นั้นนำมาซึ่งเงินทุนสำหรับบริษัทสตาร์ทอัปขนาดสิบคนที่มากถึง 17 ล้านเหรียญเลยทีเดียว

อันที่จริงแล้วเหตุผลที่ Bill Gates และนักลงทุนต่างๆ ตื่นเต้นไม่ใช่เพียงแค่เม็ดเงินมหาศาลของธุรกิจเนื้อสัตว์เท่านั้น แต่เป็นเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้บริโภคซะมากกว่า เพราะการทำฟาร์มปศุสัตว์ใช้พื้นที่บนพื้นผิวโลกประมาณ 25% และเป็นต้นกำเนิดของก๊าซเรือนกระจกถึง 14.5% ซึ่งมากกว่าเครื่องยนต์ในระบบขนส่งทุกอย่างในโลกรวมกันซะอีก ยิ่งเราต้องการเนื้อสัตว์มากขึ้นเท่าไหร่ ป่าไม้ก็ต้องถูกโค่นล้มลงไปมากเท่านั้นเพื่อสร้างพื้นที่ฟาร์มใหม่ เพราะถ้าไม่สร้างพื้นที่ให้มากขึ้น การเลี้ยงสัตว์จำนวนมากขึ้นในพื้นที่แคบ สัตว์มีโอกาสติดเชื้อและแพร่กระจายได้รวดเร็ว ยิ่งต้องมีการฉีดยาฆ่าเชื้อที่รุนแรง และนั้นคงไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการเอาเข้าสู่ร่างกายสักเท่าไหร่

จากสถิติที่ถูกเก็บโดย Food and Agriculture Organisation of the United States บอกว่าในช่วงเวลา 15 ปี (2001 – 2014) ปริมาณเนื้อสัตว์ถูกผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี นำโดยเนื้อไก่ที่เพิ่มขึ้นถึง 71% ตามด้วยเนื้อหมู 34% และเนื้อวัว 15% ในช่วงเวลาเดียวกัน แน่นอนว่านี่เป็นผลพวงมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก ความต้องการของเนื้อสัตว์เพื่อมาเป็นอาหารก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่ในขณะเดียวกันก็เริ่มเห็นปัญหาเกี่ยวกับเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมาในอาหาร โรคติดต่อรุนแรงอย่างอย่างไข้หวัดนก วัณโรค หรือ แอนแทรกซ์ ต่างก็เป็นการติดเชื้อจากสัตว์ที่ถูกเลี้ยงในฟาร์มมาสู่มนุษย์ทั้งสิ้น

“Clean Meat” หรือ “เนื้อสะอาด” เป็นอีกชื่อเรียกหนึ่งที่ถูกเรียกโดยกลุ่มคนที่เริ่มต้นธุรกิจเหล่านี้ เหตุผลอย่างแรกเลยคือเรื่องความสะอาดของในขั้นตอนการผลิตที่ควบคุมได้ มันเป็นเรื่องยากที่เชื้อโรคหรือไวรัสต่างๆ จะหลุดรอดเข้าไปในห้องผลิตเนื้อของบริษัท ต่างจากการทำฟาร์มปศุสัตว์ในที่โล่งแจ้ง อีกเหตุผลหนึ่งคือเรื่องของการบริโภคที่เกินพอดีของมนุษย์ที่นับวันเริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งในขณะที่ประชาชนในประเทศที่มีจำนวนประชากรสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอย่างจีนและอินเดียมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าแต่ก่อน สามารถซื้อเนื้อเป็นอาหารได้มากขึ้น ความต้องการของเนื้อสัตว์ในตลาดเติบโตอย่างฉุดไม่อยู่ จำนวนสัตว์ที่ต้องตายนั้นมากมายจนนับไม่ถ้วน รวมไปถึงการทำประมงที่มักง่าย ผิดกฎหมาย และมากจนเกินไป ใช้อวนลากตาถี่ ซึ่ง 2 ใน 3 ของสัตว์ที่ติดร่างแหมาด้วยไม่ใช่สัตว์กลุ่มเป้าหมาย ยังไม่โตเต็มวัย เป็นสัตว์หายากเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ และยังทำลายระบบนิเวศของพื้นทะเลไปอีกด้วย

นอกจากเรื่องความสะอาด การไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่น และเรื่องของสภาวะแวดล้อม ยังมีความเป็นไปได้อีกมากมายสำหรับการเพาะสร้างเนื้อในห้องแลป ในเมื่อเซลล์ของสัตว์สามารถเติบโตเป็นเนื้อได้ การสร้างเนื้อที่มีสารอาหารสูงครบถ้วนก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ หรือแม้แต่การสร้างหนังวัวเพื่อใช้ทำเครื่องหนังต่างๆ ก็ไม่ไกลเกินเอื้อมเท่าไหร่นัก (บริษัท Modern Meadow กำลังมุ่งหน้าไปทางนั้น) มลภาวะจากการขนส่งเนื้อก็ถูกลดลงเพราะสามารถสร้างได้ทุกที่ที่มีห้องแลปและอุปกรณ์ที่พร้อม ในประเทศยากจนก็สามารถมีเนื้อคุณภาพสำหรับประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายขึ้น การจ้างแรงงานอย่างไม่ยุติธรรมของโรงเชือดต่างๆ ก็ถูกลดลง ของเหลือและของเน่าเสียจากการผลิตเนื้อแบบเดิมๆ ก็ลดลงเพราะเราจะสร้างแต่ส่วนที่ต้องการใช้เท่านั้น

ในบทสัมภาษณ์ตอนหนึ่งของ Valeti เขาบอกว่า

“ถ้าผมยังเป็นหมอเฉพาะทางด้านโรคหัวใจ ผมอาจจะช่วยชีวิตคนได้สัก 2,000-3,000 คน ใน 30 ปีข้างหน้า แต่ถ้าผมมุ่งมั่นพัฒนาตรงนี้ ผมมีโอกาสที่จะช่วยชีวิตคนหลายพันล้านคนและช่วยชีวิตสัตว์อีกล้านล้านชีวิต”

จากจุดนี้คงจินตนาการได้ไม่ยากแล้วว่าอนาคตอันใกล้ เราคงจะได้เห็นป้ายติดบนเนื้อในซุปเปอร์มาเก็ตใกล้บ้านว่า “เนื้อนี้ไม่ได้มาจากสัตว์” ในราคาและรสชาติที่ใกล้เคียงกับเนื้อจริงๆ ถึงตอนนั้นการฆ่าสัตว์เพื่อเอาเนื้อคงเป็นเรื่องแปลกและทารุณ คนที่อยากทานเจแต่ยังโหยหารสชาติเนื้อสัตว์ก็ไม่ต้องลำบากใจอีกต่อไป (แต่ก็คงมีการถกเถียงกันอีกถึงเรื่องปรัชญาและหลักคิดของการกินเจให้จิตใจสะอาด อันนั้นเป็นอีกเรื่องที่ไม่เกี่ยวกัน)

 

ตอนนี้คำถามเดียวที่ผมยังหาคำตอบไม่ได้คือ ถ้าอยากกินซุปกระดูกหมูที่มีเนื้อติดมาด้วย Memphis Meats ของ Uma Valeti จะเพาะขึ้นมาเพื่อตอบสนองตลาดเล้งแซ่บในไทยได้ไหม อันนี้ไม่แน่ใจจริงๆ ครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save