fbpx

ราษฎรตื่นแล้ว: จดหมายถึงคณะราษฎรหลังการปฏิวัติสยาม 2475

บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 89 ปี การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 โดยกลุ่มผู้ก่อการที่เรียกตนเองว่า ‘คณะราษฎร’ ทำการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองสำเร็จในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ผู้ก่อการจำนวน 100 กว่าคน ประกอบไปด้วยทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน

แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะล่วงเลยเข้าสู่ปีที่ 89 แต่ก็ยังมีการกล่าวถึง ถกเถียง และให้ความหมายแก่เหตุการณ์ดังกล่าวอย่างหลากหลาย ผู้เขียนเห็นว่าแนวทางหนึ่งที่มีปัญหาในการให้ความหมายของเหตุการณ์นี้คือ การอธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นเพียงแค่เรื่องของชนชั้นนำ ผลของเหตุการณ์เป็นเพียงการเร่งเวลาของการมีรัฐธรรมนูญและรัฐสภาเพียงเท่านั้น กลุ่มผู้ก่อการเป็นเพียงแค่กลุ่ม พลเรือน และข้าราชการ ที่เป็นชนชั้นกลางในเมืองหลวง และขาดพลังมวลชนสนับสนุน นำไปสู่ความขัดแย้งที่จำกัดวงระหว่างชนชั้นนำในอำนาจเก่าและชนชั้นนำในอำนาจใหม่ โดยที่ประชาชนไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองนอกจากการเลือกตั้ง[1] คำอธิบายดังกล่าวนี้ยังทรงอิทธิพลถึงปัจจุบันและเป็นการละเลยการศึกษาเรื่องราวของประชาชนไปไม่น้อย จนถึงเป็นการรีบด่วนสรุปว่าการปฏิวัติดังกล่าวนั้นปราศจากราษฎรและขณะเดียวกันราษฎรเองก็ขาดการตื่นตัวทางการเมือง

บทความนี้จะทำหน้าที่พาผู้อ่านย้อนรอยอดีตไปค้นหาข้อเท็จจริงว่า อันที่จริงแล้วราษฎรสยามหลังการปฏิวัตินั้นกระตือรือร้นทางการเมืองกันเพียงใด ผ่านจดหมายบางฉบับท่ามกลางจดหมายจำนวนหลายร้อยฉบับที่เขียนถึงกลุ่มผู้นำในระบบใหม่ในห้วงเวลาที่การเมืองเปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงความเห็น แม้ว่าจะเป็นจำนวนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรจำนวน 12 ล้านคนในขณะนั้น แต่ก็ชี้ให้เห็นว่าราษฎรบางส่วนได้ตื่นแล้วหาได้หลับใหลไม่รู้เรื่องการเมือง

กระแสการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ทั้งในกลุ่มข้าราชการ ขุนนาง และปัญญาชน ขณะเดียวกันการเมืองโลกหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดกระแสการล้มล้างระบอบกษัตริย์ไม่ว่าจะเป็น การล้มล้างจักรพรรดิออสเตรีย ฮังการี และเยอรมัน พ.ศ. 2461 การปฏิวัติของเคมาลปาซาเพื่อล้มสุลต่านตุรกี พ.ศ. 2464 และการปฏิวัติล้มราชวงศ์ชิงในจีนที่เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2454 และการปฏิวัตินี้ส่งอิทธิพลต่อกลุ่มทหารหนุ่มในยุครัชกาลที่ 6 กระทั่งมีการวางแผนขอพระราชทานรัฐธรรมนูญจากพระมหากษัตริย์ หากแต่ก่อการไม่สำเร็จ[2] ขณะเดียวกันท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองโลกนี้ หนังสือพิมพ์ไทยก็มีบทบาทอย่างมากในการเผยแพร่แนวคิดทางการเมือง และคัดค้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เช่น ในรัชกาลที่ 5 เทียนวรรณได้ออกหนังสือชื่อ ตุลภาคพจนกิจ และ ศิริพจนภาค เสนอบทความจำนวนมาก เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสังคม แก้ไขวิธีการปกครองให้ทันสมัยโดยให้มีระบบรัฐสภา เป็นต้น

เมื่อขึ้นสู่รัชกาลที่ 7 กระแสการเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทวีความเข้มข้นขึ้น คำว่า ‘ปาลิเมนต์และคอนสติวติวชัน’ กลายเป็นคำคุ้นเคยในหมู่ปัญญาชน ดังที่ปรีดี พนมยงค์ ได้เล่าไว้เมื่อกลับมายังสยามว่าใน พ.ศ. 2470 ว่า  “…ปรากฏว่าชนรุ่นใหม่สมัยนั้นชนิดที่ไม่เคยเห็นระบอบประชาธิปไตยในต่างประเทศ แต่ก็มีความตื่นตัวที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์…”[3] เห็นได้ว่าก่อนเกิดการปฏิวัติใน พ.ศ. 2475 มีกระแสความคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแพร่กระจายในหมู่ปัญญาชนคนชั้นกลางกันมาบ้างแล้ว ดังที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นบริบทสำคัญอย่างยิ่งที่ไม่ควรจะมองข้าม

กระทั่งเกิดการปฏิวัติในย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นำไปสู่การได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่ใช้ในการปกครองประเทศ และเปิดพื้นที่ให้ราษฎรสามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองที่ไม่เพียงแต่การเลือกตั้ง แต่ยังมีพื้นที่อื่นๆ ให้ราษฎรแสดงออกทางความคิด ในบทความนี้จะพาผู้อ่านไปเปิดจดหมายของราษฎรในอดีตที่เคยแสดงความเห็นและความฝันของตนในโมงยามของความเปลี่ยนแปลงแก่กลุ่มผู้นำใหม่ จากแต่เดิมในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นราษฎรมีช่องทางสื่อสารกับรัฐบาลผ่านรูปแบบจารีต นั่นก็คือการถวายฎีกา แต่หลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ราษฎรได้เปลี่ยนเป้าหมายจากการถวายฎีกามาเป็นเขียนจดหมายถึงเหล่าผู้นำในระบอบใหม่แทนที่พระมหากษัตริย์[4] ภายหลังการปฏิวัติผู้เขียนค้นพบจดหมายแสดงความยินดีกับการกระทำดังกล่าว จดหมายเสนอตัวเข้าช่วยเหลือพร้อมทั้งบริจาคสิ่งของให้แก่คณะราษฎร เช่น นายอำเภอท่าเรือที่ประสงค์จะมอบเงินให้คณะราษฎรทุกเดือนเดือนละ 20 บาท ในขณะที่เขาได้รับเงินเดือนเดือนละ 150 บาท[5]

นอกจากนี้แล้วยังมีจดหมายที่ปัจจุบันยังคงเก็บรักษาไว้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ในจดหมายเหล่านั้นเป็นเรื่องราวบรรจุไว้ซึ่งบรรยากาศบ้านเมืองและสภาพสังคมเมื่อเกือบ 90 ปีที่แล้ว จดหมายบางฉบับอยู่ในรูปแบบของบัตรสนเท่ห์ หรือฟ้องเกี่ยวกับการประพฤติตัวของข้าราชการ ที่น่าสนใจคือมีข้อเสนอจากประชาชนที่เกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา เป็นต้น ซึ่งเรื่องราวหรือข้อเสนอต่างๆ ก็น่าจะมาจากประสบการณ์ของราษฎรที่เผชิญกับตัวเองและต้องการให้ผู้นำในระบอบใหม่เข้ามาช่วยแก้ไข ผู้เขียนจดหมายส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางที่อ่านออกเขียนได้ มีทั้งชาวนา พระสงฆ์ ข้าราชการ และคนชั้นกลางที่คาดว่าบางส่วนประกอบอาชีพอิสระ

มีข้อสังเกตว่าการเปิดรับความเห็นของราษฎรอย่างเต็มที่ของผู้นำใหม่นี้อาจจะพิจารณาได้สองสาเหตุ คือ ประการแรกเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าระบอบการเมืองใหม่นั้นมีพื้นที่เปิดกว้างสำหรับประชาชน และประการที่สองเพื่อให้ประชาชาชนยอมรับและสนับสนุนคณะราษฎร

เรื่องราวในจดหมายที่เขียนและส่งตรงไปยังคณะราษฎรนั้น ทำให้เห็นถึงบรรยากาศความคาดหวังของราษฎรที่มีต่อระบอบการเมืองใหม่ ที่สำคัญคือปัญหาทางเศรษฐกิจดูจะเป็นปัญหาใหญ่และเป็นปัญหาหลักในบรรดาจดหมายของประชาชนที่ส่งถึงคณะราษฎร เนื่องจากมีจดหมายหลายฉบับกล่าวถึงปัญหาเรื่องการจัดเก็บภาษี การถูกยึดที่นา และต้องการให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนเรื่องเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่น จดหมายของนายบุญเลิศ ณ นกแก้ว เรื่องความเห็นทั่วไป 6 ประการ ที่ส่งตรงมาจากจังหวัดภูเก็ต ความในจดหมายนั้นต้องการให้ “..บำรุงกสิกรรมชาติไทยให้เต็มที่เพราะเป็นสินค้าที่สำคัญของประเทศ…อย่าทำเหมือนครั้งรัฐบาลเก่าที่ได้ดำเนินมา เห็นแก่ชนต่างด้าวท้าวต่างแดน เท่ากับล้างอำนาจและสิทธิ์ของชาติไทย…  รัฐบาลใหม่ควรบำรุง และจัดทำโรงงานน้ำประปา โรงงานไฟฟ้า จังหวัดมณฑลที่เจริญบ้างแล้วให้มีความเจริญยิ่งขึ้น..”[6]  

นอกจากปัญหาเรื่องปากท้องที่ประชาชนต่างฝากความหวังไว้กับผู้นำในระบอบใหม่แล้วนั้นยังมีจดหมายอีกประเภทที่แสดงให้เห็นความกระตือรือร้นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ประเทศเจริญหลังการปฏิวัติ และแฝงไว้ด้วยจินตนาการและความใฝ่ฝันของคนในยุคปฏิวัติ ในที่นี้ผู้เขียนขอยกจดหมายของนายเพ่ง บุนนาค ขอตั้งโรงเรียนธรรมนูญนิยมและรัฐวิทยาศาสตร์ โดยจดหมายฉบับดังกล่าวนี้ถูกส่งต่อไปยังกระทรวงธรรมการเพื่อพิจารณา ความตอนหนึ่งในจดหมายมีความว่า

“…ข้าพเจ้าราษฎรคนหนึ่งขออนุญาตจะช่วยจนสุดกำลังความสามารถของข้าพเจ้าโดยจักตั้งโรงเรียนขึ้นสำหรับฝึกสอนเฉพาะการดังนี้ โรงเรียนที่จะจัดตั้งขึ้นนั้น จะขนานนามว่าโรงเรียนธรรมนูญนิยมและรัฐวิทยาศาสตร์ โดยจะแนะนำฝึกสอนด้วยหลักวิชชาการดังต่อไปนี้

จะสอนความรู้เบ็ตเร็ต เพื่อประกอบเข้าหาการที่จะสอบไล่วิชชาการเมือง ตามหลักสูตรที่สภาราษฎรจะได้จัดตั้งขึ้น ตามพระธรรมนูญมาตรา 11 สมัยที่สอง และกฎหมายที่จะบัญญัติขึ้นใช้ต่อไป ในสมัยที่สามตามพระธรรมนูญนั้น

จะแนะนำให้บังเกิดความเข้าใจต่อหลักพระธรรมนูญตามเหตุและผลให้แจ่มแจ้งชัด

อธิบายข้อความให้มีความรู้ตามเหตุและผล ดังได้บังเกิดขึ้นแล้วในประเทศต่างๆ เช่น ปวัติการเปลี่ยนรูปการปกครองเข้าหาธรรมนูญนิยม ตามที่ประเทศต่างๆ ได้ประพฤติเหตุลุล่วงตลอดมาแล้ว ด้วยธรรมนูญนิยม

อธิบายให้รู้จักสิทธิสภาพ อิศรภาพ กับน่าที่ของตนที่เปนพลเมือง… และให้รู้จักเสรีภาพแห่งความเจรจา, การเขียนหนังสือ การลงหนังสือพิมพ์ การเปนคหบดีครองบ้านเรือนตาม “liberty of speech, of writing, of the press, …..  

จะสอนให้รู้จักวิธีและระเบียบอันเปนหลัก ที่จะเลือกผู้แทนตนเข้าในสภาที่ประชุมหรือตนเองจะรับเลือกจากพลเมือง เข้าเปนสมาชิกที่ประชุม

กฎหมายสามัญที่ต้องประพฤติตนตามปกติ common laws

วิชชาเบ็ตเร็ต อันจะเปนต้นเหตุประกอบความอุดหนุนผู้ปกครองประเทศตามพระธรรมนูญ “หัวข้อวิชชาเบ็ตเร็ต” ในข้อนี้จะไม่คิดขึ้นสอนเอาเองตามอัตโนมัติ จะขออนุญาตและสอนตามกำหนดของเจ้าน่าที่…”[7]

วิธีการสอนของโรงเรียนดังกล่าวได้กำหนดให้มีการสอนโดย “เจรจาอธิบายข้อความตามเหตุและผลให้เข้าใจจนแจ่มแจ้ง ตามข้อความของเรื่องนั้นๆ”[8] และสอนโดยการโฆษณาในหนังสือพิมพ์ และมีการส่งข้อสอบทางไปรษณีย์ และจะมีการผลิตตำราออกจำหน่าย และได้แจ้งความประสงค์ต่อกระทรวงธรรมการว่าต้องการสถานที่ในการสอน และต้องการจัดทำหนังสือพิมพ์ที่ชื่อว่า ‘หนังสือพิมพ์ธรรมนูญนิยม’ เพื่อใช้เป็นสื่อในการสอน และขอยืมตำราของต่างประเทศจากกระทรวงธรรมการ และจะทำการชักชวนผู้มีความรู้ทางนิติศาสตร์และการประพันธ์มาเป็นผู้สอน[9] ในปีถัดมา นายเพ่ง บุนนาค ยังส่งจดหมายอีกฉบับในห้วงเวลาที่พระยาพหลพลพยุหเสนาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในคราวนี้ นายเพ่ง บุนนาค ได้ขอตั้ง ‘อีเล็กชั่นเนียริ่งเอเยนซีย์’ ความตอนหนึ่งว่า

“…ในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร จักเปนเวลาในไม่สู้ช้านักแล้ว น่าจักตั้งให้มีอีเล็กชั่นเนียร์ริ่งเอเยนซีย์ ขึ้นประกอบการเป็นสำนักงานแห่งหนึ่ง เพื่อเปนสาธารณประโยชน์ ด้วยทำการติดต่อช่วยเหลือ ชักจูง แนะนำในระวางประชาชนกับผู้สมัคร์รับเลือกตั้งและเจ้าน่าที่ไดมีความติดต่อถึงกันด้วยความเข้าใจดีต่อกัน เพื่อเปนความสะดวกต่อการเลือกตั้ง ถ้าไม่เปนการขัดข้องต่อนโยบายของรัฐบาลด้วยประการใดแล้ว กระผมอยากจักใคร่ขออนุญาต ได้ตั้งสำนักงานอิเล็กชั่นเนียร์ริ่งเอเยนซีย์ให้มีขึ้น ให้ทันเวลาสำหรับทำประโยชน์ช่วยเหลือในการเลือกตั้ง….”[10]

แม้จดหมายที่ยกขึ้นมาเหล่านี้จะเป็นจดหมายของราษฎรเพียงไม่กี่ฉบับ แต่ทำเห็นว่าราษฎรในยุคปฏิวัตินั้นหาได้เป็นเพียงราษฎรผู้หลับใหลและไม่ตื่นตัวทางการเมืองไปเสียหมด คำอธิบายในแนวทางที่ละเลยการให้พื้นที่ของราษฎรและเน้นการช่วงชิงอำนาจหรือเน้นไปที่ชนชั้นนำในประวัติศาสตร์ช่วงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เคยครอบครองชุดคำอธิบายของเหตุการณ์ปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 มาอย่างยาวนานและยังส่งอิทธิพลถึงปัจจุบัน ควรจะได้รับทบทวนดูอีกครั้งว่าจุดเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้นมีพลังความต้องการเปลี่ยนแปลงของราษฎรในสยามก็มีอยู่ไม่น้อย เพราะแค่พิจารณาจากฝีไม้ลายมือและความใฝ่ฝันของ นายเพ่ง บุนนาค เพียงคนเดียวก็เห็นได้ว่าราษฎรในยุคดังกล่าวตื่นและพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง และยังมีจดหมายของราษฎรอีกจำนวนมากที่เผยให้เห็นพลังของความต้องการเปลี่ยนแปลงและพร้อมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบอบการเมืองใหม่  


[1] ชัยอนันต์ สมุทวณิช, การเมืองการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง 2411-2475, (กรุงเทพฯ: คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2523), หน้า 164.

[2]  สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, “60 ปี ประชาธิปไตยไทย ประวัติแห่งสิทธิเสรีภาพของประชาชน” ใน 60 ปี ประชาธิปไตยไทย, (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการ 60 ปี ประชาธิปไตย, 2536), หน้า 15.

[3] ปรีดี พนมยงค์, “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบอบประชาธิปไตย” ใน แนวคิดประชาธิปไตยของ ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ โครงการ 60 ปี ประชาธิปไตย, 2535), หน้า 10.

[4] โปรดดู นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475, พิมพ์ครั้งที่ 3. (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2560).

[5] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, สำนักนายกรัฐมนตรี สร. 0201.16/20 เรื่อง ผู้มีชื่อให้สิ่งของแก่คณะราษฎร.

[6] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, เอกสารสำนักนายกรัฐมนตรี สร.0201.25/81 เรื่อง ความเห็นทั่วไป 6 ประการ.

[7] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ,  เอกสารสำนักนายกรัฐมนตรี สร.0201.40/36 เรื่องนายเพ่ง บุนนาค ขอตั้งโรงเรียนธรรมนูญนิยมและรัฐวิทยาศาสตร์.

[8] เรื่องเดียวกัน.

[9] เรื่องเดียวกัน.

[10] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ,  เอกสารสำนักนายกรัฐมนตรี สร.0201.8/17 เรื่องนายเพ่ง บุนนาค เสนอความเห็นรวมหลายเรื่อง ด้านกฎหมาย พระราชบัญญัติ และการปกครองฯ (พ.ศ. 2575-2476).

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save