fbpx

บทบาทองค์กรมวลชนในการเมืองอินโดนีเซีย: กรณีศึกษา LBH และ KontraS

หลังการล่มสลายของยุคระเบียบใหม่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสังคมการเมืองอินโดนีเซียโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพัฒนาประชาธิปไตย เกิดการปฏิรูปทางการเมือง แก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมายการเลือกตั้ง กฎหมายการตั้งพรรคการเมือง กฎหมายเกี่ยวกับเสรีภาพของสื่อ และอื่นๆ อีกมากมาย พัฒนาการทางการเมืองดังกล่าวองค์กรมวลชนหรือองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าไปเป็นหนึ่งในตัวแสดงที่มีบทบาทสำคัญ แต่ไม่เพียงเท่านั้นองค์กรมวลชนมีบทบาททางการเมืองในสังคมของอินโดนีเซียมาโดยตลอดตั้งแต่ก่อการก่อกำเนิดประเทศอินโดนีเซีย     

ชาวอินโดนีเซียส่วนหนึ่งถือว่าองค์กรเช่นนี้มีกำเนิดมาตั้งแต่ยุคอาณานิคมและมีบทบาทในการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติ สร้างชาติ และพัฒนาชาติจวบจบกระทั่งปัจจุบัน ในภาษาอินโดนีเซียคำว่าองค์กรพัฒนาเอกชน คือ Lembaga Swadaya Masyarakat หากแปลตรงตัวจะหมายความว่า ‘องค์กรพึ่งพาตนเองของประชาชน’ และมีอีกคำที่ใช้ในความหมายใกล้เคียงกันคือคำว่า Organisasi Masyarakat แปลว่า ‘องค์กรประชาชน’ หรือ ‘องค์กรมวลชน’ ที่ก่อตั้งโดยประชาชนแบบอาสาสมัครโดยมีพื้นฐานจากแรงบันดาลใจ ความปรารถนา ความต้องการ ผลประโยชน์ กิจกรรม และจุดมุ่งหมายเพื่อมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ

สำหรับผู้ที่ตีความองค์กรมวลชนในความหมายแบบกว้างก็จะรวมเอาองค์กรที่มีกำเนิดตั้งแต่ในยุคอาณานิคมว่าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรมวลชนด้วย เช่น องค์กร Boedi Oetomo (องค์กรชาวชวา), Sarekat Islam (องค์กรศาสนาอิสลาม), Taman Siswa (โรงเรียนของคนพื้นเมือง), Muhammadiyah (องค์กรศาสนาอิสลาม), Nahdlatul Ulama (องค์กรศาสนาอิสลาม) และ Wanita Katolik Republik Indonesia (องค์กรผู้หญิงศาสนาคริสต์คาทอลิค) เป็นต้น

กระทรวงกฎหมายและสิทธิมนุษยชนเผยว่าองค์กรพัฒนาเอกชนในอินโดนีเซียมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี จนปัจจุบันมีองค์กรพัฒนาเอกชนว่า 390,000 องค์กร การผุดขึ้นเป็นดอกเห็นขององค์กร LSM ในอินโดนีเซียเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มยุคปฏิรูป (ยุคปฏิรูปเริ่มหลังการลาออกของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตในปี 1998) หลังมีการปลดล็อคการควบคุมทางสังคมและการเมืองหลายอย่าง แต่ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าองค์กรมวลชนอินโดนีเซียมีมาก่อนหน้ายุคปฏิรูป ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงสององค์กรที่มีบทบาทสำคัญและโดดเด่นในช่วงยุคระเบียบใหม่และหลังยุคระเบียบใหม่ได้แก่ องค์กรช่วยเหลือกฎหมาย และคณะกรรมการเพื่อผู้สูญหายและเหยื่อความรุนแรง

องค์กรช่วยเหลือกฎหมาย (LBH): องค์กรหัวหอกในการต่อต้านยุคระเบียบใหม่

องค์กรช่วยเหลือกฎหมาย (Lembaga Bantuan Hukum / Legal Aid Institute) หรือ LBH ที่จาการ์ตาก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 1970 โดยการริเริ่มของ ดร.อัดนัน บูยุง นาซูเตียน (Dr. Adnan Buyung Nasution) ทนายความและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่เป็นที่รู้จักของอินโดนีเซีย และได้รับการสนับสนุนจากอาลี ซาดีกิน (Ali Sadikin) ผู้ว่าการจาการ์ตาในขณะนั้น หลังจากการก่อตั้งที่จาการ์ตา ได้มีการก่อตั้งสาขาของ LBH ในพื้นที่ต่างๆ เช่น บันดา อาเจะห์, เมดาน, ปาเล็มบัง, ปาดัง, บันดาร์ ลัมปุง, บันดุง, เซอมารัง, สุราบายา, ยอกยาการ์ตา, บาหลี, มากัสซาร์, มานาโด, ปาปัว และ เปอกันบารู หลังจากดำเนินการมาได้หนึ่งทศวรรษ LBH ได้ยกระดับสถานะทางกฎหมายเป็นมูลนิธิองค์กรช่วยเหลือกฎหมาย (Yayasan Lembaga Bantuan Hukum / Legal Aid Foundation) หรือ YLBH เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 1980

LBH ถูกก่อตั้งขึ้นมาด้วยจุดมุ่งหมายหลักเพื่อให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายแก่ประชาชน ที่เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมอันเนื่องมาจากความยากจนเชิงโครงสร้าง ซึ่งเกิดจากนโยบายการพัฒนาของรัฐบาลยุคระเบียบใหม่ (ค.ศ. 1966-1998) LBH ช่วยประชาชนในการต่อสู้เพื่อสิทธิของพวกเขา โดยเฉพาะประชาชนที่ไม่รู้กฎหมาย และตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตัวอย่างเช่นการเน้นการพัฒนาของรัฐบาลนำไปสู่การเวนคืนที่ดินของชาวบ้านเพื่อนำไปสร้างสนามกอล์ฟหรือห้างสรรพสินค้า โดยที่ชาวบ้านไม่ได้รับเงินชดเชยอย่างเป็นธรรม LBH ก็จะเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนและได้รับผลกระทบดังกล่าวในการต่อสู้ทางกฎหมาย เรียกร้องเงินชดเชย และอื่นๆ การเข้าไปให้ความช่วยเหลือชาวบ้านในประเด็นเรื่องกฎหมาย สิทธิมนุษยชน และการถูกกดขี่ ทำให้ LBH ใกล้ชิดกับชาวบ้านมากยิ่งขึ้นและยิ่งได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้าน กลายเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่โดดเด่นมากที่สุดองค์กรหนึ่งในยุคระเบียบใหม่ และกลายเป็นองค์กรมวลชนที่ต่อต้านระบอบอำนาจนิยมของยุคระเบียบใหม่อย่างเด่นชัดที่สุดและได้กลายเป็นตัวอย่างของขบวนการสนับสนุนประชาธิปไตยทั้งในและนอกประเทศอินโดนีเซีย นอกจากนี้ LBH ยังเป็นที่แหล่งก่อกำเนิดองค์กรพัฒนาเอกชนอื่นๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันและพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการเมือง ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน

จากองค์กรช่วยเหลือด้านกฎหมายที่ได้รับการสนับสนุนในตอนแรกเริ่มก่อตั้งกลายเป็นองค์กรที่รัฐบาลแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ชอบใจเท่าไหร่นัก ในช่วงเกิดเหตุการณ์การประท้วงญี่ปุ่นโดยนักศึกษาและประชาชนเมื่อวันที่ 15 มกราคม ค.ศ. 1975 เป็นเหตุการณ์ที่รู้จักกันในชื่อ Malari (Malapetaka Lima Belas Januari) แปลเป็นไทยว่า ‘หายนะวันที่ 15 มกราคม’ จากการที่บรรดานักศึกษาเริ่มตระหนักว่าญี่ปุ่นเข้าไปมีอิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจในประเทศอินโดนีเซียมากเกินไป ทำให้เกิดความหวั่นเกรงว่าอินโดนีเซียจะตกอยู่ภายใต้อำนาจจักรวรรดินิยมทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น และยังเกิดการคอรัปชั่นมากมายในการทำงานของรัฐบาล ดร.อัดนัน บูยุง นาซูเตียนถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์การเดินประท้วงรัฐบาลญี่ปุ่นดังกล่าว เขาถูกจำคุกเป็นเวลาสองปีโดยปราศจากการดำเนินคดี และทนายความของ LBH ทั้งหมดถูกบันทึกชื่อเข้าบัญชีดำของรัฐบาลซูฮาร์โต สำนักงาน บ้านพัก และยานพาหนะของพวกเขามักจะถูกโจมตีโดยกลุ่มที่ไม่ทราบฝ่าย แต่สันนิษฐานกันว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ

LBH ยังคงดำเนินบทบาทในด้านการให้ความช่วยเหลือกฎหมายแก่ประชาชน ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และยืนข้างประชาชนจวบจนปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น ช่วงปลายปีค.ศ. 2022 ที่นักศึกษาและประชาชนออกมาประท้วงประมวลกฎหมายอาญาที่ผ่านร่างโดยสภาของประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากเห็นว่าเป็นกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิของประชาชน มีผู้นำทางการเมืองออกมาปรามผู้ชุมนุมว่าอย่าทำการประท้วง ซึ่ง LBH ได้ออกมาตอบโต้ทันทีว่าการกระทำของผู้นำทางการเมืองนั้นเป็นการไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ผู้ชุมนุมมีสิทธิชุมนุมประท้วงและแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยต่อกฎหมายดังกล่าว

คณะกรรมการเพื่อผู้สูญหายและเหยื่อความรุนแรง (KontraS) ที่ผู้ก่อตั้งถูกวางยาบนเครื่องบิน

ในช่วงปลายยุคระเบียบใหม่คงไม่มีองค์กรไหนโดดเด่นเท่ากับคณะกรรมการเพื่อผู้สูญหายและเหยื่อความรุนแรง (Komisi Untuk Orang Hilang dan Korban Tindak Kekerasan / The Commission for Disappeared and Victims of Violence) หรือ KontraS ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1998 จากความร่วมมือขององค์กรภาคประชาสังคมที่สนับสนุนประชาธิปไตย 12 องค์กร เช่น KIPP (Independent Committee for Election Watch), AJI (the Alliance Independent Journalist), YLBHI (Indonesia Legal Aid Foundation) และองค์กรนักศึกษา PMII (Indonesian Islamic Student Movement), นักกิจกรรมและผู้นำประชาชนจำนวนหนึ่งโดยมี มูนีร์ ซาอิด ธาลิบ (Munir Said Thalib) นักสิทธิมนุษยชนอินโดนีเซียผู้มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นผู้นำ

ในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดความปั่นป่วนทางการเมืองในอินโดนีเซียอย่างรุนแรง หลังจากเกิดวิกฤตค่าเงินและเศรษฐกิจในปี 1997 ผลของวิกฤตเศรษฐกิจนำไปสู่ความเดือดร้อนของประชาชนโดยเฉพาะชนชั้นรากหญ้า เกิดการชุมนุมประท้วงของนักศึกษาและประชาชนขึ้นในหลายพื้นที่ พร้อมๆ กับการตอบโต้และปราบปรามอย่างรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐ อันที่จริงแล้วการใช้ความรุนแรง การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นช่วงปี 1997-1998 แต่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องภายใต้ระบอบการปกครองของประธานาธิบดีซูฮาร์โต เมื่อเกิดการต่อต้านหรือแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ซูฮาร์โตหรือปกครองที่บิดเบี้ยว ผู้ที่หาญกล้าออกมากระทำเช่นนั้นก็มักจะถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรง ทั้งข่มขู่ ทรมาน ทำร้ายร่างกาย บังคับลักพาตัว และในบางรายถูกสังหารเสียชีวิต นอกจากนี้ในบางพื้นที่ที่เกิดขบวนการที่ต้องการแยกประเทศ รัฐบาลก็ใช้วิธีปราบปรามด้วยความรุนแรง การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะทหารเป็นที่โจษจันในหมู่ประชาชน KontraS ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับรัฐบาลที่นิ่งเฉยต่อกรณีมีบุคคลถูกบังคับสูญหายและเหยื่อความรุนแรงและถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในอินโดนีเซีย ชื่อองค์กร KontraS ที่ S ข้างหลังตัวใหญ่เพราะต้องการจะหมายถึง Kontra Suharto (Contra Suharto)

มูนีร์แข็งขันในการเปิดเผยข้อมูลเรื่องการคอรัปชั่นโดยเจ้าหน้าที่รัฐและการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะที่อาเจะห์ ด้วยการทำงานอย่างจริงจังนี้นำไปสู่การที่มูนีร์ถูกวางยาพิษสารหนูในอาหารและเสียชีวิตในเครื่องบินการูด้า ในขณะที่กำลังเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 2004 เขาได้รับสารพิษในขณะที่ต่อเครื่องที่สิงค์โปร์ เขามีอาการท้องเสียฉับพลันและอาเจียนอย่างรุนแรงหลังจากเครื่องออกจากสิงคโปร์มุ่งหน้าไปอัมสเตอร์ดัม แม้จะมีนายแพทย์เดินทางมาในเที่ยวบินลำดังกล่าวด้วย และได้พยายามช่วยเหลือมูนีร์แต่ก็ไม่เป็นผล เขาเสียชีวิตสองชั่วโมงก่อนเครื่องบินจะถึงสนามบินที่อัมสเตอร์ดัม

ประธานาธิบดี ซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน (Susilo Bambang Yudhoyono) ประกาศว่าจะหาผู้กระทำผิดมาลงโทษและได้ตั้งทีมสืบสวนขึ้น แต่ก็ไม่มีผลการสืบสวนเผยแพร่ออกสู่สาธารณชน นักบินของสายการบินการูด้าที่ไม่ได้เป็นผู้มีหน้าที่ในเที่ยวบินนั้นตกเป็นผู้ต้องหา นักบินคนนี้ใช้เอกสารปลอมเดินทางออกนอกประเทศ และหลังจากวางยามูนีร์ก็เดินทางกลับอินโดนีเซีย เขาถูกตัดสินจำคุก 14 ปี นักสิทธิมนุษยชนสหายของมูนีร์เห็นว่านักบินคนนี้เป็นเพียงผู้ที่ทำตามคำสั่ง แต่ตัวการจริงๆ ยังไม่ได้ถูกลงโทษ และต่อมานักบินพ้นโทษจากคุกในปี 2014 ในปี 2008 อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองระดับสูงถูกจับด้วยข้อหาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการวางแผนสังหารมูนีร์ แต่ในที่สุดก็ถูกยกฟ้อง ซึ่งได้สร้างความกังขาและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากสังคม

ทั้ง LBH และ KontraS ได้สะท้อนการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนอินโดนีเซียที่จริงจัง มุ่งมั่น และเต็มที่กับการทำงาน การกัดไม่ปล่อยต่อเรื่องการคอรัปชั่น อำนาจเผด็จการ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นลักษณะเด่นขององค์กรดังกล่าว การเคลื่อนไหวของสององค์กรนี้ภายใต้การปกครองแบบอำนาจนิยมของรัฐบาลซูฮาร์โตถือเป็นเรื่องที่กล้าหาญมาก และงานของพวกเขาก็ยังสานต่อจนถึงปัจจุบัน เพราะความยุติธรรมยังไม่บังเกิด การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เคยเกิดขึ้นหลายครั้งหลายคราวยังไม่ได้รับการชำระสะสาง การคอรัปชั่น ความไม่โปร่งใส และการใช้อำนาจของรัฐอย่างไม่เป็นธรรมยังคงเกิดขึ้นอยู่เสมอ จึงไม่เป็นที่แปลกใจว่าทำไมขบวนการภาคประชาชนหรือประชาสังคมของอินโดนีเซียจึงค่อนข้างเข้มแข็ง และองค์กรพัฒนาเอกชนก็ได้รับการยอมรับจากประชาชนอย่างมาก แม้ว่าในบางครั้งผู้ทำงานต้องแลกมากับการถูกข่มขู่ คุกคาม ทำร้ายร่างกาย ไปจนกระทั่งถูกสังหาร


ข้อมูลประกอบการเขียน

Janti, Nur. “Jalan Berliku Lembaga Bantuan Hukum.” Historia, 19 September 2017. https://historia.id/politik/articles/jalan-berliku-lembaga-bantuan-hukum-vZ5dB

Kontras. https://kontras.org/

“Mahfud MD: LSM dan Akademisi Berperan Penting Kawal Reformasi.” Mahkamah Konstitusi Republik Indonesia, 4 October 2010.

Ramadhan. “Sejarah 20 Tahun KontraS: Konsisten Menyebar Keberanian.” Asumsi, 4 March 2021. https://www.asumsi.co/post/55678/sejarah-20-tahun-kontras-konsisten-menyebar-keberanian/

Sanjaya, Rendra. “Jalan Berliku Mengungkap Pembunuhan Munir.” Kompaspedia, 16 September 2022, https://kompaspedia.kompas.id/baca/infografik/kronologi/jalan-berliku-mengungkap-pembunuhan-munir

“Sejarah Yayasan Lembaga Bantuan Hukum Indonesia.” YLBHI, https://ylbhi.or.id/sejarah/

Sirengga, Renoto. “Peran PERS dan LSM Bagi Masyarakat di Era Reformasi Demokrasi.” DimensiNews, 7 Juli 2019, https://www.dimensinews.co.id/15433/peran-pers-dan-lsm-bagi-masyarakat-di-era-reformasi-demokrasi.html  

“Tentang Kami.” LBH Jakarta, https://bantuanhukum.or.id/tentang-kami/ 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save