fbpx
ชาตินิยมลาตินอเมริกาในบริบทของโลกาภิวัตน์ (1)

ชาตินิยมลาตินอเมริกาในบริบทของโลกาภิวัตน์ (1)

เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

ในปัจจุบัน ข้อสงสัยที่ว่าโลกาภิวัตน์มีผลกระทบอย่างไรต่อแนวคิดชาตินิยม ทำให้ชาตินิยมเข้มแข็งขึ้นหรืออ่อนแรงลง เป็นสิ่งที่นักวิชาการจำนวนไม่น้อยมีข้อกังขา ซึ่งคำตอบที่ดูจะเหมือนเป็นการไม่ตอบคือโลกาภิวัตน์มีอิทธิพลทั้งสองทางต่อแนวความคิดเรื่องชาตินิยม บทความนี้จึงพยายามจะศึกษาถึงความสัมพันธ์ของโลกาภิวัตน์กับชาตินิยมในบริบทของลาตินอเมริกา

Michael Billig ชี้ให้เห็นว่า ความเป็นชาติมีความสำคัญเพราะได้รับการปลูกฝังมาโดยตลอดว่า ชาติสำคัญกว่าชีวิตของแต่ละบุคคล อย่างไรก็ตาม แทบทุกช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ ประเด็นเรื่องชาตินิยมยังคงไม่ชัดเจนและคลุมเครือต่อความเข้าใจและการตีความหมายมาโดยตลอด ยกเว้นแต่เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ปลุกเร้าให้เกิดความรักชาติโดยเฉพาะจากการปฏิวัติ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติเม็กซิโกปี ค.ศ.1910 หรือการปฏิวัติคิวบาในปี ค.ศ.1959 รวมถึงสงครามระหว่างประเทศ เช่น สงครามหมู่เกาะฟอร์กแลนด์ระหว่างอาร์เจนตินาร์กับอังกฤษในปี ค.ศ.1982 ที่ปลุกเร้าให้สำนึกและการรับรู้ของชาตินิยมแจ่มชัดและทรงพลังขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เช่นเดียวกับโลกาภิวัตน์ที่ก็มีความไม่แน่นอนในความหมาย การพยายามให้คำนิยามกับโลกาภิวัตน์ในความหมายอย่างกว้างเหมือนกับเป็นการสูญเปล่าเพราะไม่รู้จะอธิบายว่าเช่นไร เมื่อลองตีความให้เจาะจงลง ก็ไม่สามารถที่จะประยุกต์ใช้ได้กับความเป็นจริงของโลกในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ความพยายามที่จะศึกษาชาตินิยมในลาตินอเมริกาผ่านทางบริบทโลกาภิวัตน์ดูเหมือนจะไม่อับจนซักทีเดียวนัก เนื่องจากโลกาภิวัตน์มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการเมืองในระดับชาติ ในทางหนึ่ง โลกาภิวัตน์เหมือนจะเป็นขั้วตรงกันข้ามกับชาตินิยม อาทิ โลกาภิวัตน์ส่งเสริมให้เกิดการไร้รัฐ ไร้พรมแดน ไม่ว่าจะในความเป็นจริงหรือในจินตนาการ ขณะที่นักชาตินิยมต้องการที่จะให้ชาติเป็นสิ่งที่เหนือกว่าสิ่งอื่นใดทั้งหมดทั้งปวง

อย่างไรก็ตาม เราอาจจะมองได้ว่าการเคลื่อนไหวไม่ว่าจะเป็นสายโลกาภิวัตน์หรือชาตินิยมต่างก็มีความคล้ายคลึงกัน โลกาภิวัตน์ต้องการชาตินิยมเพราะจะได้ระบุว่าอะไรคือระดับท้องถิ่น ดังนั้นชาติจึงเป็นสิ่งสำคัญ ในบทความนี้จะศึกษาสองลักษณะของโลกาภิวัตน์ ลักษณะแรกคือมิติโดยทั่วไปที่เป็นการเชื่อมโยงกันของสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมตามกาลเวลา ลักษณะที่สองเป็นการมองเน้นไปที่ว่าเป็นการขยายอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในการขจัดกำแพงทางด้านการค้าการลงทุน เพื่อผลประโยชน์หลักของสหรัฐอเมริกาเอง

การศึกษาในประเด็นเรื่องโลกาภิวัตน์ส่วนมากจะเน้นไปที่กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้วหรือไม่ก็ประเทศในทวีปแอฟริกา เอเชีย และตะวันออกกลาง เหตุผลสำคัญที่เน้นไปที่ทวีปดังกล่าวเพราะทั้งสามภูมิภาคนี้เพิ่งได้รับเอกราชจากเจ้าอาณานิคมในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ดังนั้น ความสนใจของนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องการเป็นเอกราชจึงมุ่งเน้นไปที่ว่า การที่ประเทศเกิดใหม่เหล่านี้จะพัฒนาไปในทิศทางใดขณะที่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของระบอบการเมืองโลก จะว่าไปแล้วการศึกษาเรื่อง Postcolonial ได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ดังกล่าวโดยเฉพาะ ภูมิภาคลาตินอเมริกาซึ่งต่างก็ได้รับเอกราชในครึ่งแรกของคริสต์ทศวรรษที่ 19 จึงไม่อยู่ในความสนใจศึกษาของนักวิชาการทางด้าน Postcolonial สักเท่าใดนัก

ถึงแม้ว่าลาตินอเมริกาจะไม่ได้รับความสนใจเท่าใดนักในประเด็นการศึกษาเรื่อง Postcolonial แต่กลับเป็นภูมิภาคที่อยู่ในความสนใจของนักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ อันเป็นผลมาจากการที่ลาตินอเมริกาถูกชาติมหาอำนาจในยุโรปเข้ายึดครองในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและระดับโลก กล่าวคือ การที่ลาตินอเมริกาต้องส่งออกแร่เงินให้กับสเปนในฐานะเมืองแม่ ส่งผลต่อการก่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมขึ้นในยุโรป อันเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินที่หมุนเวียนในระบบการค้าผ่านทางสเปน อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจดังกล่าวจะไม่ถือว่าเป็นฟันเฟืองหลักของกระแสโลกาภิวัตน์ในขณะนั้น แต่ก็ถือว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นของโลกาภิวัตน์สมัยใหม่นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา และแน่นอนว่า ลาตินอเมริกานับได้ว่าเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

นอกจากนั้น การศึกษาเรื่องชาตินิยมในลาตินอเมริกายังไม่ได้อยู่ในกระแสความสนใจของนักวิชาการ ถึงแม้ว่าวงวิชาการโลกจะเริ่มหันมาให้ความสนใจกับประเด็นชาตินิยมอีกครั้งนับตั้งแต่ต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา อันเป็นผลมาจากการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก รวมทั้งการที่นักวิชาการให้ความสนใจศึกษาในประเด็น Postcolonial โดยที่มุ่งเน้นไปยังชาตินิยมในประเทศกำลังพัฒนา แต่เป็นที่น่าประหลาดใจยิ่งนักว่า น้อยคนนักที่จะหันมาศึกษาชาตินิยมในลาตินอเมริกาอย่างจริงจัง

ในเบื้องต้น บทความนี้จะนำเสนอแนวความคิดเรื่องของความเป็นชาติ และต่อด้วยการศึกษาการพัฒนาบทบาทของชาติในฐานะส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์ คำถามคือ ในนิยามทางกฎหมาย ควรหรือไม่ที่ชาติจะเป็นผู้กำหนดว่า ใครจะมีสิทธิในการเป็นพลเมือง ถ้าผ่านคุณสมบัติตามที่ชาติกำหนด หรือชาติควรจะได้รับการนิยามในเชิงชาติพันธุ์ในแง่ที่ว่า คนบางกลุ่มเท่านั้นจึงจะมีสิทธิเป็นส่วนหนึ่งของชาติ

สำหรับคำถามดังกล่าว คงต้องบอกว่า ไม่มีคำตอบไหนที่จะถูกต้องไปเสียทั้งหมด แต่ขึ้นอยู่กับบริบทที่แตกต่างกันออกไป แต่ในลาตินอเมริกา ชาติมักจะใช้นิยามทางกฎหมายเป็นหลักสำคัญในทางปฏิบัติ แตกต่างจากในอดีตสมัยที่ลาตินอเมริกายังเป็นอาณานิคม ที่ลาตินอเมริกาถูกมองว่าประกอบไปด้วยชาติที่แตกต่างไปตามชาติพันธุ์ กล่าวคือเป็นชาติของพวกชนพื้นเมือง หรือไม่ก็เป็นชาติของพวกคนผิวขาวหรือพวกเลือดผสมที่สืบทอดมาทางคนยุโรป อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา เป็นที่รับรู้กันว่าชาติในความหมายทางกฎหมายกลายเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง

ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาในการศึกษาชาตินิยมในลาตินอเมริกาในมิติต่าง ๆ แต่การศึกษาส่วนใหญ่มุ่งไปที่การทำความเข้าใจชาตินิยมของกลุ่มคนที่เป็นโครงสร้างส่วนล่างของสังคม เป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจหรืออิทธิพลน้อยกว่าชนชั้นกลางหรือชนชั้นนำ แต่บทความนี้พยายามจะศึกษาครอบคลุมชาตินิยมจากทุกภาคส่วนของสังคมในบริบทของกระแสโลกาภิวัตน์ และด้วยความที่การสำรวจครั้งล่าสุดในประเด็นเรื่องชาตินิยมในลาตินอเมริกาที่สำคัญได้รับการตีพิมพ์เมื่อกว่า 50 ปีมาแล้ว ดังนั้น บทความนี้จึงถือเป็นความพยายามศึกษาชาตินิยมของคนจากหลากหลายชนชั้น ไม่ว่าจะเป็นของพวกชนชั้นนำ ชาตินิยมของคนพื้นเมือง รวมถึงชาตินิยมของชนชั้นกลางและคนที่อาศัยอยู่ในเมืองก็ตาม

การให้ความหมายเรื่องชาตินิยมเป็นสิ่งที่ไม่ง่าย ในระดับพื้นฐานที่เข้าใจได้ง่ายที่สุด ชาตินิยมหมายถึงความระลึกถึงของความทรงจำร่วมกันที่คนทั้งหลายมีต่อพื้นที่ หรืออำนาจอธิปไตยของมาตุภูมิ แล้วอะไรล่ะคือความทรงจำร่วมกัน คนที่ยียวนอาจบอกว่าความทรงจำคือสิ่งที่เรา ‘เลือก’ จะจำ แต่คำตอบนี้ก็จะนำไปสู่คำถามต่อมาว่า แล้วใครที่เป็นบ่อเกิดของสิ่งที่เราเลือกจะจำร่วมกัน และเขาคนนั้นมีวัตถุประสงค์เช่นไรจึง ‘เลือก’ สิ่งนี้ และ ‘ไม่เลือก’ สิ่งนั้น คำตอบของคำถามนี้ไม่ใช่สิ่งที่ง่าย เพราะเราล้วนตระหนักดีว่า คนแต่ละคนหรือกลุุ่มแต่ละกลุ่มต่างเลือกที่จะจำไม่เหมือนกัน จึงเป็นไปได้ยากที่ทุกคนในสังคมจะมีฉันทามติร่วมกันในการเลือกจำเหมือนๆ กัน เพราะในสังคมต่างมีเรื่องที่เล่าขานต่างกันไป หรือแม้แต่เรื่องเดียวกัน ความทรงจำของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน

แน่นอนว่า ความทรงจำร่วมกันของคนในชาติไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ จากการที่มีคนคิดเห็นหรือยอมรับมากกว่า แล้วสิ่งนั้นจะกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับว่า นี่แหละคือความทรงจำของชาตินั้นๆ ในทางกลับกัน แม้ผู้ที่มีอำนาจและทรงพลังเหนือกว่าในสังคมจะมีจำนวนไม่มาก แต่ก็มักจะเป็นผู้กำหนดหรือเป็นผู้ที่มีเสียงดังกว่าใครๆ ในการบอกว่า อะไรคือสิ่งที่เป็นเรื่องเล่าหรือความทรงจำร่วมกันของคนในสังคม มากกว่าคนในระดับรากหญ้าหรือผู้ที่อ่อนแอกว่า โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญของความทรงจำร่วมกันคือ การให้สัญญะแก่คนและต้องการให้ความทรงจำนั้นกลายเป็นสิ่งที่สืบเนื่องต่อไปในภายภาคหน้า

โดยทั่วไปแล้ว ความหมายของชาตินิยมแบ่งออกได้เป็นสองประเภท ประเภทแรก หรือชาตินิยมในเชิงวัตถุวิสัย ชาตินิยมจะหมายถึงดินแดนหรือภาษาที่ใช้ เป็นต้น ประเภทต่อมาเป็นชาตินิยมในเชิงอัตวิสัย ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงจิตสำนึกและความทรงจำ ยกตัวอย่างเช่น อัตลักษณ์ของชาติ ซึ่งอัตลักษณ์ของแต่ละคนมีหลากหลาย ทั้งอัตลักษณ์ในระดับครอบครัว ชุมชน หรือระดับชาติ อัตลักษณ์ของชาติมักจะเกิดขึ้นมาจากสิ่งที่ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจ เช่น การที่ชาตินั้นๆ ชนะในการแข่งขันกีฬา หรือการที่ทหารเสี่ยงตายเข้าไปรบในสมรภูมิต่างๆ นอกจากนี้ ความภูมิใจในความเป็นชาติยังเป็นกลไกของประชาชนที่ไม่ใช่ชนชั้นนำในการลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจนำของชนชั้นนำด้วย อาทิ เมื่อประชาชนรบชนะและกลับมายังบ้านเกิดเมืองนอน เขาไม่ได้เรียกร้องให้ต้องมีการเพิ่มค่าจ้างเงินเดือน ไม่ได้เรียกร้องว่าจะต้องมีงานทำที่ดีขึ้น หรือได้รับการปฏิบัติที่ดีขึ้น แต่พวกเขากลับเรียกร้องความเท่าเทียมทางสังคม เพื่อจะได้ไม่ต้องตกเป็นเบี้ยล่างของคนชนชั้นนำอีกต่อไป และถ้าการเรียกร้องดังกล่าวหมายถึงการปฏิวัติล้มผู้ปกครองเดิม พวกเขาเหล่านั้นก็พร้อมที่จะเดินหน้า เช่น เมื่อบรรดาทหารผ่านศึกในโบลิเวียเรียกร้องความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม หลังกลับจากสงครามถ่านหินกับปารากวัยระหว่างปี ค.ศ.1932-1936 โดยพวกเขาได้ปฎิเสธยศถาบรรดาศักดิ์ตามที่ชนชั้นนำในโบลิเวียเสนอให้ แต่กลับเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมเพื่อให้เกิดความเสมอภาคที่แท้จริง จนท้ายที่สุดนำไปสู่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงในปี ค.ศ.1952

 

อัตลักษณ์: ฉันคือใคร

 

การศึกษาเรื่องชาตินิยมจะต้องทำความเข้าใจประเด็นความผูกพันระหว่างพลเมืองกับชาติของตัวเองเสียก่อน นั้นคือความเป็นอัตลักษณ์ของชาติ ความแตกต่างของชาตินิยมสามารถแบ่งออกได้เป็นสองลักษณะเพื่อความเข้าใจที่ถ่องแท้ในชาตินิยมลาตินอเมริกา ลักษณะแรกคือ ชาตินิยมทางดินแดนและกฎหมาย ชาติตามกฎหมายหมายถึงดินแดนที่มีลักษณะร่วมกันทางเศรษฐกิจ กฎหมาย การศึกษา สถาบันทางการทหารและการบริหาร รวมถึงอุดมการณ์ของพลเมืองร่วมกัน อาทิ ธงชาติ เพลงชาติ วันหยุด ในทางกลับกัน ระบบกฎหมายของชาติจะเป็นผู้กำหนดว่า องค์ประกอบใดบ้างที่จะอนุญาตให้ ‘ผู้อื่น’ กลายเป็นพลเมืองชาติ รวมถึงเป็นผู้ตัดสินว่าอาชญากรรมใดเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนของตัวเองเป็นผู้ทรยศ

ลักษณะที่สองเป็นชาตินิยมทางวัฒนธรรมซึ่งมีพื้นฐานมาจากวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ กำพืด กล่าวคือ พลเมืองของชาติมีความรู้สึกร่วมกันถึง ‘ความเป็นเรา’ อันเป็นผลจากการสืบทอดต่อกันมาทางบรรพบุรุษ ความทรงจำหรือประวัติศาสตร์ร่วมกัน หรือวัฒนธรรมร่วมกันที่ยึดถือปฏิบัติต่อกันมา นิยามของชาตินิยมทางวัฒนธรรมจึงก่อให้เกิดความแตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างชาติกับมุมมองดั้งเดิมของชาตินิยม ซึ่งเป็นการยากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่พลเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่งจะยกเลิกสัญชาติของตัวเองแล้วไปถือสัญชาติอื่น คำว่าอัตลักษณ์ของชาติโดยทั่วไปทำให้เราตระหนักได้ชาตินิยมทางวัฒนธรรมนั้นแตกต่างไปจากชาตินิยมทางดินแดนและกฎหมาย

นอกจากนั้น เรายังสามารถถกเถียงถึงอัตลักษณ์ของภูมิภาค ซึ่งมีความเกี่ยวข้องแต่แตกต่างจากนิยามเรื่องอัตลักษณ์ของชาติ อัตลักษณ์ของลาตินอเมริกาก่อกำเนิดขึ้นอย่างช้าๆ เนื่องจากความแตกต่างทางประวัติศาสตร์ของแต่ละชาติในลาตินอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประสบการณ์ในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพจากเจ้าอาณานิคม นอกจากนี้ สภาพทางภูมิศาสตร์และเชื้อชาติที่หลากหลายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศก่อให้ความแตกต่างในอัตลักษณ์ เช่น กรณีของบราซิล ที่การเป็นเอกราชไม่ได้มาจากการทำสงครามกับเมืองแม่อย่างโปรตุเกส แต่มาจากการที่ราชวงศ์ของโปรตุเกสหนีภัยสงครามนโปเลียนจากยุโรปในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 สถาบันกษัตริย์แทบไม่มีทางเลือกอื่นเลย นอกจากยอมรับข้อเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบมีกษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขซึ่งมีอำนาจอย่างจำกัด

เมื่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกาเริ่มมีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกาที่เริ่มมองเห็นว่า ตัวเองกำลังเป็นเหยื่อของการขูดรีดจากมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ จึงตอบโต้บริษัทลงทุนข้ามชาติขนาดใหญ่ด้วยการสร้างมาตรการข้อจำกัดทางด้านการลงทุน เกิดเป็นลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจที่ดึงให้ชาติต่างๆ ในลาตินอเมริกามารวมตัวกัน กลายเป็นอัตลักษณ์สำคัญร่วมกันของลาตินอเมริกาในขณะนั้น ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ความก้าวหน้าในการค้นพบทางโบราณคดีในช่วงต้นศตวรรษ ก่อให้เกิดความคิดที่ว่า ลาตินอเมริกาก่อนการก้าวเข้ามาของพวกตะวันตกมีอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่เป็นของตัวเองไม่น้อยไปกว่าภูมิภาคอื่นของโลก ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของความเป็นลาตินอเมริกา

นักวิชาการลาตินอเมริกาจำนวนไม่น้อยพยายามทำความเข้าใจกับอัตลักษณ์ของลาตินอเมริกา อย่างไรก็ตาม ไม่น่าแปลกใจเลยที่นักวิชาการเหล่านี้ซึ่งหันมาสนใจในประเด็นดังกล่าวตามกระแสของประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยจะมีแนวคิดที่เปรียบเทียบอัตลักษณ์ของลาตินอเมริกากับประเทศในยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังชี้ให้เห็นว่า โดยพื้นฐานแล้ว ลาตินอเมริกาเหนือกว่าสหรัฐอเมริกา

ในปี ค.ศ.1900 นักวิชาการชาวอุรุกวัย José Enrique Rodó เป็นผู้ที่บุกเบิกแนวความคิดที่ว่า อัตลักษณ์ของลาตินอเมริกาแตกต่างไปจากอัตลักษณ์ของยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา โดยเขาชี้ให้เห็นว่า คนลาตินอเมริกันมีเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นในทางวิทยาศาสตร์ ทางวัฒนธรรม หรือทางการเมือง ที่แตกต่างไปจากคนอเมริกันหรือคนยุโรป และสิ่งที่ทำให้ลาตินอเมริกาแตกต่างคือเรื่องศีลธรรมอันดี ขณะที่คนในยุโรปหรือสหรัฐอเมริกาเป็นพวกอรรถนิยม แสวงหารายได้โดยไม่คำนึงถึงคุณธรรมอันใด รวมถึงการขูดรีดคนในลาตินอเมริกา โดย Rodó อาศัยตำนานและผลงานอันเลื่องชื่อของเชคสเปียร์ The Tempest ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างลาตินอเมริกากับสหรัฐอเมริกา เขาเปรียบลาตินอเมริกาเหมือนกับ Ariel ตัวละครใน The Tempest ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ขณะที่สหรัฐอเมริกาเปรียบได้กับ Calaban ผู้โหดร้ายหน้าเนื้อใจเสือ

นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่เห็นสอดคล้องกับ Rodó ว่า ลาตินอเมริกามีวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากสหรัฐอเมริกา มีตำนานว่าการที่นักแผนที่ชาวฝรั่งเศสได้ตั้งชื่อภูมิภาคนี้ว่าลาตินอเมริกาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เพราะเขาเห็นว่าควรจะตั้งชื่อที่แสดงให้เห็นวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากสหรัฐอเมริกา เพราะดินแดนแถบนี้มีวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับฝรั่งเศสหรือเมดิเตอร์เรเนียนมากกว่าดินแดนทางตอนเหนือของทวีปอเมริกา ซึ่งเป็นสหรัฐอเมริกาและแคนาดาในปัจจุบัน

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น เราพอสรุปถึงนิยามของอัตลักษณ์ของชาติในลาตินอเมริกาได้ว่า โดยทั่วไปแล้วอัตลักษณ์ของชาติประกอบด้วยความเหมือนกันทางสังคม วัฒนธรรม การเมือง ขณะเดียวกัน ก็ส่งผลให้พวกเขาแตกต่างจากผู้อื่น เชื้อชาติเป็นศูนย์กลางของบ่อกำเนิดอัตลักษณ์ของชาติ นักคิดชาวเม็กซิกันอย่าง Jose Vasconcelos เสนอว่า ลาตินอเมริกา ซึ่งประกอบไปด้วยลูกผสมเมสติโซเป็นส่วนใหญ่ มีความเหนือกว่าชาติต่างๆ ที่มีเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่งเป็นหลักแต่เพียงอย่างเดียว การผสมผสานของชาติพันธุ์ทำให้เกิดความลงตัวของขั้วตรงข้ามและก่อให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ที่เหนือกว่า เป็นเชื้อชาติแห่งจักรวาล

ความเห็นของ Jose ยังตรงกับความเห็นของ Gilberto Freyre ในหนังสือ Casa Grande e Favela ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1933 ว่า ในบราซิลก็มีลักษณะเฉกเช่นเดียวกัน โดย Gilberto พูดถึงพหุวัฒนธรรมของคาบสมุทรไอบีเรีย ย้อนไปถึงการเข้ามายึดครองของพวกแขกมัวร์ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8 จนก่อให้เกิดการผสมผสานทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมบนคาบสมุทรไอบีเรีย ขณะที่นักคิดสำคัญของเปรูอย่าง Jose Carlos Mariátegui เสนอความเห็นว่า ทำไมชนพื้นเมืองเชื้อสายอินเดียนในเปรูจึงประสบชะตากรรมอันโหดร้าย และพวกเขาเหล่านั้นจะหลุดพ้นอย่างไร โดยเขาไม่ได้เห็นว่าการผสมผสานชาติพันธ์คือทางออกของปัญหา แต่การก่อเกิดเป็นชาติอย่างเช่นเปรูหรือลาตินอเมริกาในความหมายกว้างจะช่วยให้การกดขี่พวกชนพื้นเมืองอินเดียนหมดไป เพราะพวกอินเดียนเหล่านั้นจะกลายเป็นพลเมืองที่สมบูรณ์ของชาติอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นชนเผ่าที่ไร้สังกัดอีกต่อไป

ดังนั้น อัตลักษณ์ของชาติขึ้นอยู่กับทัศนคติเรื่องเชื้อชาติและความสัมพันธ์กับเชื้อชาติอื่น แน่นอนว่า ชาติในลาตินอเมริกาประกอบไปด้วยเชื้อชาติและชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ซึ่งนักวิชาการมีความเห็นร่วมกันในประเด็นเรื่องเชื้อชาติว่า เชื้อชาติเป็นการสร้างขึ้นทางสังคม ที่แบ่งแยกคนแต่ละกลุ่มตามการผสมผสานระหว่างสีผิวและศีลธรรมทางสังคม ส่วนชาติพันธุ์เป็นสิ่งที่คลุมเครือมากกว่า ซึ่งในหมู่นักวิชาการมองว่าเป็นภาพลวงตา แต่ก็อาจกล่าวได้ว่าภาษา อาหารการกิน บทเพลง ศาสนา และวงศ์ตระกูล เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างชาติพันธุ์หนึ่งกับอีกชาติพันธุ์หนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนักเสียทีเดียว พวก Latino ในสหรัฐอเมริกาซึ่งสืบเชื้อสายจากคนในลาตินอเมริกาเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายและความคลุมเครือของชาติพันธุ์ ถึงแม้จะมีคนจำนวนไม่น้อยยอมรับว่า ตัวเองเป็นหนึ่งในชาติพันธุ์ที่แตกต่างไปจากคนอื่นในสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าอัตลักษณ์ของชาติเป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้น แต่ที่มันดำรงอยู่ได้เพราะอัตลักษณ์ของชาติเป็นสิ่งที่สำคัญต่อสังคม เมื่อกาลเวลาผ่านไป สังคมต่างสร้างอัตลักษณ์ของชาติผ่านเรื่องเล่า ความทรงจำ ขนบธรรมเนียมประเพณี พัฒนาจนกลายเป็นสัญญะที่มีความหมายและทรงพลัง อาทิ พระแม่มารีแห่งกัวดาลูเป้ ในเม็กซิโก อัตลักษณ์ของชาติที่เกิดขึ้นในสังคมเป็นอำนาจครอบงำที่แสดงให้เห็นว่า มันเป็นสิ่งเดียวที่สามารถส่อให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของประชาชน เฉกเช่นเดียวกับการยกย่องเชิดชูความหลังของชาติในอดีต ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการสร้างสัญญะนี้ ความเห็นพ้องต้องกันของสังคมในบ่อกำเนิดของชาติถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างอัตลักษณ์ของชาติ อัตลักษณ์ของชาติเช่นนี้จะไม่มีความหมายถ้าไม่ได้รับการยอมรับกันในวงกว้าง

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า อัตลักษณ์ของชาติจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ถ้าเกิดจากการบังคับของกลุ่มชนชั้นนำแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่สังคมส่วนใหญ่ถือเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินที่จะ ‘ยอมรับ’ อัตลักษณ์ของชาติ ถ้าต้องการให้อัตลักษณ์นั้นอยู่อย่างยั่งยืน และอัตลักษณ์ของชาติจะทรงพลังอำนาจมากยิ่งขึ้นและมีชีวิตที่ยืนยาว หากสามารถปรับรูปแบบให้เข้ากับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา ความสำเร็จดังกล่าวจะส่งผลให้อัตลักษณ์ของชาติกลายเป็นกรอบที่ประสบความสำเร็จของประชาชนในการรวมเป็นหนึ่งเดียว ทั้งของอดีต ปัจจุบันและอนาคต กลายเป็นความต่อเนื่องที่ยั่งยืนสถาพร

นอกจากนี้ อัตลักษณ์ของชาติยังถือเป็นหลักการที่ธรรมดาสามัญและเปลี่ยนแปลงได้อยู่เสมอ โดยอาจจะอยู่ในรูปทั้งความเป็นหนึ่งเดียวกัน ความก้าวหน้า หรือพลังของความทันสมัย แต่อัตลักษณ์ของชาติก็สามารถนำไปสู่ความรุนแรงได้ ถ้านำไปสู่ความเชื่อที่ว่า ชาติของตัวเองนั้นเหนือกว่าชาติอื่นๆ หรือเกิดความดูแคลนในชาติพันธุ์ที่ต่างออกไป กลายเป็นการกดขี่แบบเผด็จการต่อผู้ที่มีความแตกต่างในสังคม ส่วนเรื่องที่ว่าอัตลักษณ์ของแต่ละชาติจะมีลักษณะเช่นใด ก็ขึ้นอยู่กับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของแต่ละประเทศที่จะเป็นผู้กำหนด

กล่าวโดยภาพรวม การแสดงออกถึงอัตลักษณ์ของชาติเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ตัวเองมีที่ทางในบริบทของชาติใดชาติหนึ่ง ผู้นำชาตินิยมบางคนเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของ ‘ชุมชมจินตกรรม’ ตามแนวคิดของ Benedict Anderson แต่ไม่ได้อาศัยอยู่จริงในชาตินั้นๆ อย่างไรก็ตาม ผู้นำชาตินิยมส่วนมากมักจะมีมาตุภูมิเป็นหลักแหล่งชัดเจน มีจำนวนไม่น้อยที่สร้างจิตสำนึกฝังรากลึกในที่ใดที่หนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง การกระทำในลักษณะดังกล่าวทำให้ผู้นำชาตินิยมเหล่านั้นได้รับการยอมรับโดยปราศจากข้อสงสัยจากผู้ที่นิยมชมชอบในตัวเขา จึงอาจจะกล่าวได้ว่า ในบางกรณี อัตลักษณ์ของชาติก่อให้เกิดอัตลักษณ์ที่มีลักษณะยึดติดและฝังรากลึกก็เป็นได้ และเรื่องที่ว่า โลกาภิวัตน์จะส่งผลเช่นไรต่อการฝังรากลึกถือเป็นสิ่งที่ท้าทายในการศึกษาเป็นอย่างมาก

ความสัมพันธ์ระหว่างชาตินิยมและโลกาภิวัตน์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าปราศจากระบบของรัฐชาติในการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โลกาภิวัตน์ย่อมมีหน้าตาและลักษณะที่แตกต่างไปจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม มีการถกเถียงกันอย่างเข้มข้นว่า โลกาภิวัตน์มีประโยชน์หรือโทษกันแน่ ผู้ที่สนับสนุนกระบวนการโลกาภิวัตน์เห็นว่า โลกาภิวัตน์จะช่วยให้อัตลักษณ์ส่วนบุคคลกลายเป็นเรื่องสากลในระยะยาว ขณะที่ผู้ที่ต่อต้านเห็นว่า กระบวนการโลกาภิวัตน์ที่เกิดจากการออกแบบหรือการนำของคนกลุ่มเล็กๆ ที่ร่ำรวยหรือชาติมหาอำนาจเพื่อสร้างวัฒนธรรมที่เป็นแบบแผนร่วมกัน ทำให้จิตสำนึกส่วนบุคคลของแต่ละคนนั้นสาบสูญไป ยิ่งไปกว่านั้น พวกที่คัดค้านยังโจมตีว่าถ้าประชาชนเห็นดีเห็นงามแต่กับวัฒนธรรมที่มีโลกเป็นศูนย์กลาง ประชาชนเหล่านั้นจะสูญเสียวัฒนธรรมความเป็นรากเหง้าของตัวเอง และตกอยู่ภายใต้การครอบงำของวัตถุนิยมที่เป็นสากลทางวัฒนธรรม จากเหตุผลดังกล่าวส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวต่ออำนาจของวัฒนธรรมโลกาภิวัตน์ ซึ่งนักวิชาการบางท่านเห็นว่า คนเหล่านี้อาจกลับไปเคร่งครัดต่อวัฒนธรรมท้องถิ่นของตัวเอง ความหวาดกลัวต่อการสูญเสียความเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่โหมกระหน่ำและความพยายามทำให้ทุกอย่างเสมอเหมือนของโลกาภิวัตน์ สามารถส่งผลให้เกิดแรงต่อต้านวัฒนธรรมรวมศูนย์และย้อนกลับไปสู่วัฒนธรรมรากเหง้า ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นมากมายให้เห็นในปัจจุบัน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save