ชีวิต (ไม่) La La ของความเป็นหญิงบน Land จอเงิน

ชีวิต (ไม่) La La ของความเป็นหญิงบน Land จอเงิน

มองแบบผ่านๆ รักแสนหวานของหญิงสาวใน La La Land อาจดูสวยงาม แต่ในดินแดนแลนด์ฮอลลีวู้ด ผู้หญิงในอุตสาหกรรมบันเทิงแห่งนี้อาจอยู่ยากกว่าผู้หญิงในยุควิคตอเรียนเสียด้วยซ้ำ!

 

คำเตือน : อาจมีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนัง

 

ออสการ์ปีนี้สนุก!

เพราะมีหนังหลายเรื่องที่หลายคนลุ้น La La Land หนังรักมิวสิคัลว่าด้วยการตามฝันของคู่พระนาง Losers ในฮอลลีวู้ด เป็นอีกเรื่องที่คนไทยพูดถึงกันเยอะ หนังว่าด้วยเรื่องราวของคนคนหนึ่งที่อยากเป็นนักแสดงจนลาออกจากคณะกฎหมายมาทำงานในร้านกาแฟของโรงถ่ายหนัง ส่วนอีกคนอยากเป็นเจ้าของบาร์แจ๊สแต่ต้องกล้ำกลืนออกทัวร์กับวงป๊อปแจ๊สที่ตัวเองไม่เชื่อว่านี่คือสิ่งที่ดนตรีแจ๊สควรจะเป็น

ถึงพล็อตเรื่องจะดูคลีเช้…คลีเช่ตามแบบฉบับหนังรักล่าท้าฝัน แต่ต้องยอมรับว่าทั้งเนื้อเรื่อง การแสดง และเพลงประกอบของหนังก็ดีเสียจนเราอดเสียบหูฟังเปิดเพลง ออกสเต็ปแดนซ์จิ้นว่าตัวเองเป็น Emma Stone ที่กำลังเต้นแท็ปกับพี่ Ryan Gosling สุดเท่ระหว่างเดินขึ้นรถเมล์ไปทำงานเสียไม่ได้

จบการชมไว้เพียงเท่านี้ เพราะภายใต้ความดีงามจนได้เสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ นักวิจารณ์บางคนกลับมองอีกแง่ว่า Damien Chazelle อดีตผู้กำกับ Whiplash ผู้หมกหมุ่นอยู่กับตัวเอกที่เป็นนักดนตรีในภาพยนตร์เรื่องก่อนๆ ของเขา กำลังทำให้งานล่าสุดของตัวเองเรื่องนี้เป็นหนังที่เหยียดเพศโดยไม่รู้ตัว และที่สำคัญ ความ sexism ในหนังของเขาเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแรก (แหงสิ) เพราะในประวัติศาสตร์ชาติฮอลลีวู้ด ความเป็นชายมันช่างยิ่งใหญ่มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วนะเออ

กระจกสะท้อนความเป็นใหญ่ของเพศชายในฮอลลีวู้ด

แม้ดูเผินๆ อาจจะเห็นว่าเส้นเรื่องหลักของ La La Land เดินอยู่บนความฝันการเป็นนักแสดงของนางเอก แต่เอาเข้าจริง ฝ่ายชายต่างหากที่เป็นผู้ ‘ควบคุม’ ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่แทบทั้งหมด แถมยังเป็นคนที่อินกับดนตรีขั้นสุด ในขณะที่ฝ่ายหญิงกลับกลายเป็นสาวเด๋อด๋าไร้ความรู้ทางด้านศิลปะและดนตรีใดๆ และต้องรอให้พระเอกมา ‘เปิดโลก’ ให้ เพื่อผลักดันให้เธอประสบความสำเร็จในท้ายเรื่อง

และถึงแม้ว่าพระเอกจะนก เพราะเธอได้เป็นดาราอันโด่งดัง แต่เขาก็ได้เป็นเจ้าของบาร์แจ๊สอย่างที่หวัง แถมคิดอีกที มีอาต่างหากที่นั่งน้ำตาตกใน เพราะต้องมานั่งฟังคนรักเก่าเล่นเปียโนให้ฟัง ในขณะที่ตัวเองกุมมือคุณสามีผู้ไร้ตัวตน โถแม่คุณ…

ทั้งสไตล์และเนื้อเรื่องที่พูดถึงความฝันในโลกฮอลลีวู้ดตั้งแต่ต้น หากจะบอกว่าหนังเรื่องนี้ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างสมบูรณ์แบบตามคำโปรยที่แปะอยู่บนโปสเตอร์ว่า ‘Here’s to the fools who dream’ แถมยังพ่วงมาด้วยอุดมคติความเป็นชายที่ถูกสร้างขึ้นในโลกบันเทิงแบบอเมริกันไปพร้อมๆ กัน ก็คงจะไม่ผิดจนเกินไป

บทบาทของผู้หญิงในสายตาอุตสาหกรรมฮอลลีวู้ดถูกกำหนดไว้อย่างตายตัวด้วยตัวละครที่เธอได้รับ Octavia Spencer นักแสดงหญิงผิวสีเปิดเผยในเวทีงานเสวนาเพื่อสิทธิสตรี MAKERS Conference เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า เธอได้รับข้อเสนอให้เล่นบทหญิงโสเภณีเยอะมาก พอๆ กับบทนางพยาบาล ทั้งที่เธอเล่นเป็นพยาบาลมาเกือบ 50 รอบได้แล้ว (“เล่นจนจะวัดความดันได้เองแล้วค่ะ” เธอเล่าติดตลก) จนต้องท่องคำว่า ‘ไม่’ เอาไว้ตอบปฏิเสธเมื่อโดนติดต่อมาให้เล่นบทพวกนี้

สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในสหรัฐฯ มีที่ทางให้กับผู้หญิงน้อยเกินไป ยากที่เราจะเห็นผู้กำกับหญิง หรือเส้นเรื่องในภาพยนตร์ที่มีผู้หญิงเป็นแกนกลางมากกว่าที่จะให้เธอเป็นเพียงตัวประกอบ

ในวงการศึกษาเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในวงการภาพยนตร์ มีการทดสอบที่ชื่อว่า Bechdel test ไว้ใช้จำแนกหนังที่ให้ความสำคัญในบทบาทของผู้หญิง โดยดูจากเกณฑ์ว่า ต้องมีตัวละครผู้หญิงอย่างน้อยสองคนคุยกัน โดยเรื่องที่คุยต้องไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับผู้ชาย จากการรวบรวมข้อมูลภาพยนตร์กว่า 1,615 เรื่อง ตั้งแต่ปี 1990 ถึง 2013 เรื่องที่ผ่านเกณฑ์ (มีผู้หญิงเป็นแกนกลาง) แม้จะได้ทุนสร้างน้อยกว่า แต่ก็ทำกำไรเฉลี่ยให้สตูดิโอได้ไม่น้อยไปกว่าหนังที่เล่าเรื่องผู้ชายเป็นหลักแต่อย่างใด ที่น่าสนใจคือ มีภาพยนตร์แค่ 53% เท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์ Bechdel test แม้ว่าจะขยายกลุ่มตัวอย่างไปไกลถึงหนังที่สร้างในปี 1970 แล้วก็ตาม

อันที่จริงแล้ว La La Land เองก็ไม่ใช่เรื่องแรกที่วาดภาพของตัวละครหญิงในฐานะสาวน้อยไร้เดียงสาที่ต้องรอให้ชายหนุ่มสุดหล่อมาจูงมือพาเข้าเส้นชัยแต่อย่างใด เพราะในมุมมองของเฟมินิสต์และนักทฤษฎีภาพยนตร์อย่าง Laura Mulvey ก็เขียนไว้ในทฤษฎี The Male Gaze (การจ้องมองของเพศชาย) ไว้ว่า ‘ความไม่เท่าเทียมในอำนาจทางเพศบนจอภาพยนตร์ถูกสร้างขึ้นเพื่อความพึงพอใจของผู้ชาย’

เธอเชื่อว่าในภาพยนตร์ ผู้หญิงถูกสร้างให้เป็นผู้สื่อสารเรื่องราว แต่ไม่ใช่ผู้ ‘สร้าง’ เรื่องราวบนจอ พวกเธอไม่ใช่ผู้ควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่อง

ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นวัตถุที่ให้คนดูจ้องมอง ทั้งผู้ชาย รวมไปถึงผู้หญิงที่ถูกบังคับให้มองเพศเดียวกันในสายตาผู้ชาย และส่งผลให้เธอตัดสิน สร้างคุณค่าตัวเองใหม่จากมุมมองของเพศตรงข้ามหลังจากการชมภาพยนตร์เรื่องนั้น

ทั้ง Megan Fox ใน Transformers ที่ออกมาซ่อมรถโชว์เอวโค้งเว้าแบบไม่เห็นจะเกี่ยวอะไรกับเรื่องซักกะนิด หรือ The Wolf of Wall Street ที่ใช้ผู้หญิงเปลือยเป็นว่าเล่น ไปจนถึงเหล่าเจ้าหญิง (ยุคเก่า) ของดิสนีย์ที่นอนสลบรอจุมพิตรักแท้จากเจ้าชาย ที่ทางของผู้หญิงในฮอลลีวู้ดถูกสร้างขึ้นด้วยสายตาผู้ชาย เพื่อผู้ชาย โดยผู้ชายแทบทั้งสิ้น

ผู้ชายมาจากดาวอังคาร ผู้หญิงมาจากดาวศุกร์

ตั้งแต่สมัยที่หนังยุคแรกยังเป็นหนังเงียบสีขาวดำ วิธีการสื่อสารบุคลิกตัวละครที่ง่ายที่สุดสำหรับผู้กำกับคือการถ่ายทอดสเตอริโอไทป์ของความเป็นหญิงชาย – ผู้หญิงเรียบร้อย ทำงานอยู่บ้าน ไร้เดียงสา ส่วนผู้ชายก็ต้องสตรอง ทำงานนอกบ้าน พึ่งพิงได้ – ความนิยมของภาพยนตร์แพร่กระจายออกไปมากจนช่วงทศวรรษ 1930s กรอบศีลธรรมเข้ามากำหนดการทำงานของเหล่าคนทำงาน (ด้วยการควบคุมกันเอง) ไม่ให้สร้างงานที่จะสร้างค่านิยมไม่ดีกับคนดู ห้ามสร้างหนังแนวทวงแค้น ห้ามตัวละครเป็นคนขี้เมา ไม่ถ่ายทอดฉากเซ็กส์บนหน้าจอ อะไรก็ตามที่ผิดศีลธรรมและ ‘ดูไม่ดี’ ในยุคนั้น ไม่สามารถสร้างเป็นภาพยนตร์ได้

ตัวละครชาย (และหญิง) ที่เป็นอุดมคติในมุมมองฮอลลีวู้ดกลายเป็นสิ่งเดียวที่รอดพ้นข้อกำหนดศีลธรรมได้ และส่งผลให้คนดูวาดภาพการใช้ชีวิตว่าบทบาทเหล่านี้คือสิ่งที่ควรจะเป็น กระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สื่อบันเทิงในโทรทัศน์เบ่งบาน อุตสาหกรรมจอเงินในฮอลลีวู้ดต้องปรับตัวเองด้วยการเลิกศีลธรรมอุดมคติเพื่อการอยู่รอด เราจึงเห็นชายชั่ว หญิงแกร่งแทรกตัวเข้ามาจนถึงปัจจุบัน (ก่อนจะกลับมาสร้างอุดมคติฮีโร่สนองความโหยหาของคนดูในตอนนี้อีกครั้งซะอย่างนั้น)

ความเป็นหญิงใต้การควบคุมบทบาทของฮอลลีวู้ดตั้งแต่หนังขาวดำไร้เสียงพูด มาจนถึงหนังสีพูดทั้งเรื่องใน La La Land ดูจะคล้ายกับแนวคิดศีลธรรมในยุควิคตอเรียนที่ให้หญิงมีสถานะเป็น ‘นางฟ้าในเรือน’ มีความเป็นแม่ ที่มาจากภาพของควีนวิกตอเรียที่เป็น ‘พระมารดาของแผ่นดิน’

ผู้หญิงยุควิคตอเรียนและความแก่นเซี้ยวของเธอ

จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่ผู้หญิงยุควิกตอเรียนทุกคนที่จะ ‘ผู้หญิ้งผู้หญิง’ ในแบบที่ถูกมองเสมอไป เพราะบางคนก็ชีวิตแซ่บเหลือร้าย ในช่วงเวลาที่เพศวิถียังไม่ได้มีคำจำกัดความเหมือนบทบาทตามเพศสภาพ ความรักระหว่างหญิงและหญิงไม่ได้ถูกมองเป็นเรื่องผิด (เหมือนชายกับชาย) แต่มันคือการเตรียมพร้อมเพื่อการทำหน้าที่ ‘เมีย’ ที่ดีต่างหาก!

ครอบครัวของ Edward Benson (เอ็ดเวิร์ด เบนสัน) หัวหน้าคริสตจักรแห่งอังกฤษช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 คือหนึ่งในครอบครัวที่มีสตอรี่สุดอื้อฉาว และชวนตั้งคำถามถึงศีลธรรมวิกตอเรียนในเรื่องเพศ เพราะ Minny Benson (มินนี่ เบนสัน) ภรรยาของเขา แม้จะทำหน้าที่เมียในการรองรับอารมณ์สามีที่เป็นตัวแทนของความ ‘เป็นชาย’ แบบสุดๆ (ขี้โมโหและบ้าอำนาจจนลูกๆ กลัว) แต่มินนี่ก็ไปตกหลุมรักผู้หญิงคนอื่นอยู่บ่อยๆ กระทั้งครั้งหนึ่ง มินนี่ถึงกับหายไปจากบ้านถึงครึ่งปี เพราะติดพันกับหญิงอื่นด้วยซ้ำ

ท้ายที่สุด เรื่องรักๆ ของมินนี่ก็จบด้วยความใจกว้างของสามี ด้วยการรับคนรักใหม่ของภรรยา – แน่นอนว่าเป็นหญิง – เข้ามาอยู่ในบ้านเดียวกัน ก่อนที่เอ็ดเวิร์ดจะจบชีวิตไป ปล่อยให้ลูกๆ ของเขาอยู่กับมินนี่และภรรยาใหม่ของเธอ

เส้นเบลอๆ ที่ขีดเส้นแบ่งคำจำกัดความวิถีทางเพศของผู้หญิงในยุควิกตอเรียนดูจะพร่าเลือน ต่างกับ ‘หน้าที่’ ที่ถูกตั้งไว้ให้ปฏิบัติตาม

แต่อย่างน้อยที่สุด ความเบลอๆ นี้น่าจะเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าผู้หญิงในยุควิกตอเรียนยังมีอำนาจในการกำหนดสถานะและการกระทำ (ทางเพศ) ของตัวเองอยู่ ไม่ต้องรอให้ผู้ชายมาจ้องและเขียนบทให้

 

หรือแท้จริงแล้ว อำนาจของผู้หญิงในยุควิกตอเรียนจะยังมีมากกว่าหญิงสาวในโลกฮอลลีวู้ด ที่โปรโมทคุณค่าความเท่าเทียมของหญิงชาย แต่ความสำเร็จของตัวละครหญิงไม่ได้มาจากความพยายามของเธอ
ทว่าอยู่ในมือของชายหนุ่มลุคคูลผู้เล่นเปียโนในบาร์แจ๊สที่เขาสร้างมาด้วยมือตัวเอง (แถมได้ตังค์จากแฟนเก่าอีก!)

 

อ่านเพิ่มเติม

-บทความ Before Straight and Gay : The discreet, disorienting passions of the Victorian era ของ Deborah Cohen จาก The Atlantic, March 2017

-บทความ The Dollar-And-Cents Case Against Hollywood’s Exclusion of Women ของ Walt Hickey จาก Five Thirty Eight, April 1, 2014, 1:52 PM

-บทความ Art in the Age of Masculinist Hollywood: Damien Chazelle’s “La La Land” ของ Morgan Leigh Davies จาก Los Angeles Review of Books, January 2, 2017

-บทความ In defence of La La Land ของ Anna Leszkiewicz จาก NewStatesman February 6, 2017

-บทความ Film Theory 101 – Laura Mulvey: The Male Gaze Theory ของ Rachael Sampson จาก Film Inquiry, October 27, 2015

-บทความ Who’s The Man? Hollywood Heroes Defined Masculinity For Millions ของ Bob Mondello จาก npr, July 30, 2014, 4:00 PM

-บทความ Actors Were Tired Of Patriarchy’s Crap This Week “There’s something wrong with Hollywood.” ของ Ariane Lange จาก BuzzFeed, February 10, 2017, 8:00 a.m.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save