fbpx

ศาสนา การเมือง และเกมความเชื่อ กับ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ประเด็นเรื่อง ‘พส.’ หรือ ‘พระสงฆ์’ ถูกพูดถึงมากในช่วงที่ผ่านมา ทั้งการที่ ‘พระมหาไพรวัลย์-พระมหาสมปอง’ ออกมาพูดเรื่องการเมืองและใช้มุกตลกเพื่อสอนธรรมะผ่านโซเชียลฯ โดยมีผู้เคร่งครัดหลายคนมองว่าเป็นการกระทำไม่เหมาะสม จนมีกระแสกดดันให้จับสึก หรือเรื่องการถอดถอนเจ้าคณะจังหวัด 3 รูป ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติออกมาบอกว่า “ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูล” ก็ทำให้คนหันมาสนใจ ‘เรื่องพระเรื่องเจ้า’ กันมากขึ้น

ที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องศาสนากับการเมือง ถูกหยิบยกมาวิเคราะห์อยู่บ่อยครั้ง ทั้งมีประเด็นทับซ้อนเรื่องวินัยสงฆ์ ที่ทางของศาสนาในสังคมยุคใหม่ รวมถึงความเชื่ออื่นๆ ในสังคมไทยที่หลากหลายไม่ได้มีแค่พุทธ ท่ามกลางประเด็นละเอียดอ่อนเช่นนี้ เราจะมองประเด็นนี้อย่างไร มีเรื่องอะไรที่ต้องทำความเข้าใจ และจะคลายข้อสงสัยในเรื่อง ‘สงฆ์-ไสย’ อย่างไรได้บ้าง

101 ชวน ผศ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำสาขาวิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เขียนหนังสือ ‘ภารตะ-สยาม ศาสนาต้อง (ไม่) ห้ามเรื่องการเมือง’ มาคุยว่าด้วยประเด็นเหล่านี้

:: เล่นตลกผิดไหม? รีวิวสินค้าผิดหรือเปล่า? พระต้องทำผิดแค่ไหนจึงโดนจับสึก ::

ตอนนี้มีประเด็นร้อนแรงเกี่ยวกับพระมากมาย ก่อนหน้าประเด็นการโยกย้ายพระระดับเจ้าคณะจังหวัดและระดับสังฆาธิการ ก็มีประเด็นเรื่องพระมหาไพรวัลย์และพระมหาสมปองที่ถูกพูดถึงมาก ทั้งในแง่ของคนที่สนับสนุนและคนที่ต่อต้าน และถ้าเรานึกย้อนไปอีก ก็มีเรื่องพระกับม็อบซึ่งเป็นที่ถกเถียงในสื่อสังคมออนไลน์อย่างมาก แต่จุดพีกของเหตุการณ์คือการที่พระมหาไพรวัลย์และพระมหาสมปองออกมามีบทบาทมากขึ้น จนภายหลังพระมหาสมปองบอกว่ามีคนพยายามจับท่านสึกโดยใช้อำนาจหน้าที่ของสังฆาธิการระดับผู้บังคับบัญชา

ประเด็นนี้ผู้คนเริ่มให้ความสนใจ เพราะสามารถเห็นได้ว่ากระบวนการสึกพระกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองชนิดหนึ่ง หากพระประพฤติมิชอบจะลงโทษพระอย่างไร มันไม่ได้มีกฎการลงโทษแบบไปโบยพระหรือจับพระขังคุก วิธีการลงโทษที่รุนแรงที่สุดสำหรับพระคือการจับสึก แต่เป็นเรื่องซ้อนทับกันอยู่ เพราะในแง่ของการสึก นอกจากกฎเกณฑ์ในพระวินัยของพระที่ระบุว่าการกระทำความผิดใดทำให้ต้องสึกหรือไม่ต้องสึก ก็ยังมีเรื่องกฎหมายบ้านเมืองเข้าไปซ้อนอีก

ตามพระวินัย โทษระดับการสึกมีเพียงแค่ 4 เรื่อง ได้แก่ หนึ่ง การเสพเมถุนหรือการมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่าจะกับเพศใดหรือกับใคร สอง การฆ่ามนุษย์ สาม การลักทรัพย์ และสี่ การอวดอ้างคุณวิเศษที่ไม่มีในตัวเอง นอกจากนี้มีเรื่องของบ้านเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ตำรวจจับพระสึกบ่อยในข้อหาเมาเหล้า เพราะอ้างว่าโลกติเตียน ซึ่งศัพท์ของพระเรียกว่า โลกวัชชะ (โทษทางโลก) ซึ่งหากพระกระทำผิดบ่อยๆ มีคนติเตียน ก็ให้อำนาจเจ้าคณะหรือผู้บังคับบัญชาในการสึก จะเห็นได้ว่าบ้านเมืองเริ่มเข้ามามีบทบาทในการจับพระสึก

หากถามว่า การเล่นตลกโปกฮาและการรีวิวสินค้าเป็นโทษร้ายแรงขนาดจับสึกไหม คำตอบคือถ้าวินิจฉัยตามพระวินัย การกระทำดังกล่าวไม่ใช่โทษระดับจับสึก แต่เป็นโทษในระดับเล็กน้อยเท่านั้น

:: กรอบในการประพฤติของพระ ::

พระไทยลำบากเพราะต้องอยู่ภายใต้พระวินัย 227 ข้อ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ สายการบังคับบัญชาที่เป็นลำดับเหมือนข้าราชการ และขนบธรรมเนียมประเพณีเกี่ยวกับพระในแต่ละชุมชน จากทั้งหมดที่กล่าวมา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ พระวินัยที่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล แต่ในทางปฏิบัติ ผู้คนให้ความสนใจเรื่องอำนาจการควบคุมทางกฎหมายหรือลำดับชั้นมากกว่า เพราะฉะนั้น เราจึงเห็นได้ว่าพระถูกครอบด้วยอำนาจทางกฎหมายหรือระบบราชการสูงมาก

สำหรับที่มาของการเข้ามาอยู่ในระบบการบังคับบัญชาของพระ เริ่มตั้งแต่ในสมัยพุทธกาล เราอาจเรียกพระว่าเป็นชุมชนฮิปปี้ก็ได้ เพราะพระคือกลุ่มคนที่ไม่อยากมีวิถีชีวิตแบบเดิม แล้วมาอยู่ร่วมกันโดยมีกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกันอย่างหลวมๆ คือพระวินัย แต่ในภายหลังศาสนาเริ่มมีความสัมพันธ์กับรัฐ บรรดากษัตริย์ในอินเดียเริ่มอุปถัมภ์และควบคุมพุทธศาสนาผ่านการให้ยศและการลงโทษ เพราะเป็นเรื่องการมีสิทธิธรรมในการปกครองของกษัตริย์ตามศาสนา

เมื่อเมืองไทยรับแนวคิดเช่นนี้เข้ามาเลยเกิดระบบที่เรียกว่า ‘สมณศักดิ์’ หลังจากมีการปฏิรูปศาสนา การปกครองในทางสงฆ์ก็เลียนแบบระบอบการปกครองในทางโลก ใช้ตำแหน่งตามระดับบังคับบัญชาเป็นตำแหน่งในการปกครองสงฆ์ด้วย เช่น พระสังฆราชเป็นประมุขของสงฆ์ ซึ่งเลียนแบบมาจากการมีพระราชาในทางโลก

:: ว่าด้วยเรื่องการจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและศาสนา ::

การเมืองมีอยู่ในทุกสังคม หากเรามองว่าการเมืองเป็นเรื่องการจัดสรรทรัพยากรหรือการจัดสรรอำนาจ การมีการเมืองในศาสนาเป็นเรื่องไม่แปลก เพียงแต่การเมืองในสังคมพระทุกวันนี้ไม่สร้างสรรค์ เพราะเป็นการเมืองในระบบอำนาจนิยม ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของศาสนา ซึ่งมันสามารถเปลี่ยนได้

ในขณะเดียวกัน ถ้าเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนา ผมคิดว่าสองสิ่งนี้ต้องแยกจากกัน เราเห็นแล้วว่าในขณะที่เกิดการเมืองในสังคมสงฆ์เอง การเมืองทางโลกและการเมืองทางศาสนาก็เข้ามานัวเนีย ไม่แยกขาดจากกัน โดยรัฐใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการพูดถึงสิทธิอำนาจอันชอบธรรมหรือในการขจัดผู้เห็นต่าง กลับกัน ศาสนาก็ใช้รัฐในการขจัดศัตรูหรือให้รัฐอุปถัมภ์ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นก็เพราะว่าการเมืองสองระบบนี้ไปนัวเนียกัน วิธีการแก้ไขจึงต้องจัดสรรความสัมพันธ์นี้ใหม่ การแยกรัฐออกจากศาสนาเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง แต่ถ้าถามว่าจะปฏิเสธการเมืองในศาสนาได้ไหม เป็นไปไม่ได้ เพราะทุกๆ สังคมมนุษย์ล้วนมีการเมือง เพียงแต่จะทำอย่างไรให้สร้างสรรค์

จากกระแสกดดันให้พระมหาไพรวัลย์และพระมหาสมปองสึก จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องการเมืองภายในสังคมพระ เพราะพระทั้งสองรูปไม่มีความผิดถึงขั้นสึกตามพระวินัย แต่ถ้าต้องสึกจริงๆ ด้วยการใช้อำนาจตามกฎหมาย อันนี้แสดงว่าเป็นเรื่องทางการเมืองแล้ว

หากเรายึดพระวินัยตามตัวอักษรโดยไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ จะมีหลายเรื่องที่หลุดไป เช่น สมัยก่อนพระไม่มีโทรศัพท์ แล้วเราจะต้องควบคุมการใช้โทรศัพท์ของพระไหม ถ้าจะให้พระวินัยสมสมัย สิ่งแรกที่ต้องทำคือการเปิดโอกาสให้มีการตีความพระวินัยอย่างกว้างขวาง

แต่ประเด็นคือการตีความพระวินัยอย่างกว้างขวางไม่เคยเกิดขึ้น เพราะมีผู้ผูกขาดอำนาจในการตีความ รวมถึงใช้อำนาจรัฐในการควบคุม ตัวอย่างการตีความเข้าข้างเพื่อให้ได้ประโยชน์ฝ่ายเดียวคือกรณีสมณศักดิ์ของพระ ในพระวินัยห้ามพระรับราชการ แต่ทุกวันนี้ตำแหน่งพระที่เป็นสังฆาธิการจัดเป็นข้าราชการที่มีเงินเดือน ดังนั้นถ้าจะใช้พระวินัยจริงๆ ต้องเลิกระบบสมณศักดิ์

ในขณะเดียวกันก็ต้องกระจายอำนาจในการตีความพระวินัยให้ทุกคนมีสิทธิในการตีความ แล้วเราต้องไม่ลืมว่าการตีความมาพร้อมกับการโต้เถียงเพื่อให้การตีความงอกงามได้ จากนั้นต้องผลักดันให้การตีความนั้นถูกนำไปใช้ในที่สุด

:: พระกับการเมือง ::

การบอกว่า “ศาสนาหรือพระต้องไม่ยุ่งเรื่องการเมือง” เป็นการเมืองในตัวมันเอง เพราะเป็นการห้ามไม่ให้พระกระทำในสิ่งที่ผู้มีอำนาจไม่ต้องการ พระยุ่งกับการเมืองได้แน่นอน ถ้าเป็นการเมืองแบบสร้างสรรค์ แม้แต่พระพุทธเจ้าเองยังเคยเข้าไปอยู่ในความขัดแย้งหลายครั้ง

การมองว่าสิ่งใดเป็นการเมืองแบบสร้างสรรค์ต้องมองบนจุดยืนของศาสนาที่เขาสังกัด แล้วดูว่าอะไรคือแก่นกลางของศาสนาและคำสอนอะไรที่ใช้ได้ในสถานการณ์นั้นๆ ตัวอย่างแก่นกลางของพุทธศาสนา เช่น การไม่ปล่อยให้ผู้อื่นทุกข์ การเห็นความทุกข์ของคนอื่นเป็นเหมือนความทุกข์ของตนเอง และความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ พอเรามีท่าทีแบบนี้ เราก็ต้องดูว่า เราจะเคลื่อนไหวอะไรเพื่อให้เกิดประโยชน์เหล่านี้ได้บ้าง นี่ก็เป็นการเมืองที่สร้างสรรค์สำหรับพระได้

ด้วยเหตุนี้ หากพระสนับสนุนกลุ่มผู้มีอำนาจที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนจึงเป็นการผิดหลักศาสนา ไม่ว่าจะพูดโดยตรงหรือโดยอ้อม กรณีนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ในการรองรับความดีที่เหนือกว่า (higher good) หลักศาสนาเคยถูกตีความบิดเบือนมาแล้ว เช่น พระเทพกิตติปัญญาคุณ หรือ กิตติวุฑโฒ ภิกขุ เคยกล่าวว่า “การฆ่าคอมมิวนิสต์เป็นบาป แต่บาปเหมือนการฆ่าปลาใส่แกงแล้วถวายพระ” เพราะฉะนั้น การบิดพลิ้วหลักคำสอนเพื่อส่งเสริมความดีที่เหนือกว่าจึงเป็นสิ่งอันตราย

:: ศาสนาในสังคมสมัยใหม่ ::

ในตอนนี้มีกระแสเรื่องศาสนาที่มีความเป็นโลกวิสัย (secular religion) ที่เราสามารถเอาแนวปฏิบัติหรือคุณค่าทางศาสนาไปใช้ โดยไม่ต้องแปะฉลากว่าเป็นศาสนิกชน รวมถึงมีการตีความศาสนธรรมให้สอดคล้องกับคุณค่าของโลกสมัยใหม่ เช่น ประเด็นเรื่องชายหญิงเท่าเทียม เป็นต้น

เมื่อมองจากสังคมไทย มีภาพของความพยายามที่จะรื้อทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อไปสู่สังคมใหม่ แต่เราไม่ค่อยถามกันว่า ถ้าเราจะมีสังคมใหม่ที่ห้ามมีศาสนา กลุ่มคนที่ยังนับถือศาสนาจะมีที่ทางอย่างไร แน่นอนว่า เราต้องเปิดพื้นที่ให้พวกเขา ต้องเป็นสังคมที่คนนับถือศาสนาและไม่นับถือศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันและวิพากษ์วิจารณ์กันได้ แต่แนวโน้มรัฐไทยเป็นรัฐที่สนับสนุนศาสนา แต่ไม่ถึงกับเป็นรัฐศาสนา (religious state)

อย่างไรก็ตาม การที่รัฐไทยจะเป็นผู้ใหญ่ได้ ศาสนาต้องสามารถดูแลตัวเองได้ ไม่ใช่ว่ารัฐสนับสนุนพุทธศาสนามากกว่าศาสนาอื่นเพียงเพราะประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save