fbpx
เติมเต็มความเป็นมนุษย์ ด้วยมานุษยวิทยา ผ่านสายตา นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

เติมเต็มความเป็นมนุษย์ ด้วยมานุษยวิทยา ผ่านสายตา นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

เมื่อต้นปีที่ผ่านมาศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เพิ่งได้ต้อนรับผู้อำนวยการคนใหม่ คือ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ในอีกห้วงเวลาสำคัญของการก้าวเข้าสู่ปีที่ 30 ขององค์กรที่เป็นแหล่งความรู้ทางมานุษยวิทยา

แม้ว่าพื้นที่ของมานุษยวิทยาในสังคมไทยจะยังอยู่เฉพาะในแวดวงวิชาการเป็นส่วนมาก แต่หัวใจของมานุษยวิทยาที่พยายามทำความเข้าใจและมองเห็นความเป็นไปได้ในหลากมิติของมนุษย์ จะเข้ามาช่วยเติมสิ่งที่สังคมยังพร่องอยู่ได้ อันเป็นบทบาทที่ท้าทายของนักมานุษยวิทยา

วิธีการเรียนรู้และมุมมองแบบมานุษยวิทยาเป็นสิ่งที่นพ.โกมาตรนำมาใช้ในชีวิตการทำงานของเขา บนพื้นที่อันเป็นส่วนผสมระหว่างแพทย์ศาสตร์และมานุษยวิทยา

นพ.โกมาตร เรียนจบแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วไปทำงานรักษาคนไข้ในชนบทพร้อมความสนใจใคร่รู้เรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่น จนมีเรื่องเล่าเป็นที่จดจำของผู้คนว่า เขาคือแพทย์ที่ให้ญาติผู้ป่วยเอาผีฟ้ามารำในตึกผู้ป่วยใน

หลังจากนั้น นพ.โกมาตร เข้ามาทำงานในกระทรวงสาธารณสุข และเรียนต่อปริญญาเอกสาขามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา เพื่อแสวงหาคำตอบต่อคำถามที่ไม่มีสิ้นสุด

ส่วนผสมระหว่างแพทย์ศาสตร์และมานุษยวิทยา สร้างพื้นที่ให้เกิดการมองข้ามศาสตร์ อันเป็นพื้นฐานที่เขานำมาใช้ตลอดชีวิตการทำงาน

บทบาทใหม่ของเขาในวันนี้ นอกจากการส่งเสริมความรู้ในโลกมานุษยวิทยาแล้ว สิ่งที่ท้าทายกว่าคือการพามุมมองและความเข้าใจแบบนักมานุษยวิทยาไปให้ถึงหลากพื้นที่ในสังคม เพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง

เติมความ ‘ความเป็นมนุษย์’ ลงไปในวิธีคิดของผู้คน

 

นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

 

หากจะให้นิยาม มานุษยวิทยา ในห้วงเวลานี้คืออะไร

มานุษยวิทยาไม่ใช่สิ่งที่นิ่งตายตัว มันปรับเปลี่ยนตัวเองอยู่เสมอ ทั้งในแง่แนวคิดทฤษฎี เนื้อหาการศึกษาและวิธีวิทยาที่นักมานุษยวิทยาใช้ รวมทั้งบทบาทของนักมานุษยวิทยาในทางสังคมก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย การนิยามความเป็นมานุษยวิทยาจึงแตกต่างกันไปตามยุคสมัย ถ้าจะให้นิยามในปัจจุบัน ผมอาจจะนิยามมานุษยวิทยาว่า เป็นความรู้เกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ที่เกิดจากการเข้าไปคลุกคลีกับปรากฏการณ์และเรื่องราวต่างๆ จนเข้าใจการดำรงอยู่ของความหลากหลายและความเป็นไปได้ที่แตกต่างกันของมนุษย์

เรียกได้ว่าเป็นความรู้เกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ที่กว้างใหญ่ไพศาล เพราะมนุษย์มีหลายมิติ ตั้งแต่มนุษย์ดั้งเดิมก่อนประวัติศาสตร์ ที่เราศึกษาได้ผ่านวัตถุและข้าวของต่างๆ ในทางโบราณคดี (Archaeology) หรือมานุษยวิทยากายภาพ (Biological Anthropology) ที่ศึกษาวิวัฒนาการและการปรับตัวของมนุษย์ในโลกสิ่งแวดล้อม แต่สาขาที่ผมเรียนมาเรียกกันว่า มานุษยวิทยาวัฒนธรรม (Cultural Anthropology) เป็นการศึกษาชีวิตทางสังคมวัฒนธรรมของมนุษย์

จริงๆ แล้วสาขาวิชาต่างๆ ก็อาจศึกษามนุษย์และพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์นะ แต่มานุษยวิทยามีจุดเด่นที่วิธีการศึกษาที่เป็นเอกลักษณ์ของนักมานุษยวิทยา คือ เวลาที่ไปศึกษาสังคมหรือวัฒนธรรมอะไร ก็จะไปคลุกคลี ไปสร้างความคุ้นเคย ใกล้ชิด บางทีมีการทำงานภาคสนามเป็นปีๆ นักมานุษยวิทยาบางคนติดตามศึกษาวัฒนธรรมบางอย่างเป็นเวลา 20-30 ปี หรือตลอดชีวิตก็มี เพื่อที่จะทำความเข้าใจโลกประสบการณ์ของคนเหล่านั้น ที่อาจมีวิธีคิดและวิถีชีวิตที่แตกต่างไปจากโลกที่เราคุ้นเคยกัน

 

ที่บอกว่ามานุษยวิทยาเปลี่ยนแปลงไป แล้วการนิยามมานุษยวิทยาในปัจจุบันแตกต่างไปจากเดิมอย่างไร

อย่างหนึ่งที่เห็นชัดเจนก็คือ นักมานุษยวิทยาในปัจจุบันไม่ได้สนใจจะศึกษาแต่ ‘ชุมชนดั้งเดิม’ ‘สังคมชนเผ่า’ หรือ ‘หมู่บ้านชนบท’ อีกต่อไป แต่หันมาสนใจศึกษาสังคมสมัยใหม่และวัฒนธรรมร่วมสมัยมากขึ้น อย่างเช่น วัฒนธรรมป๊อป (pop culture) หรือแม้แต่ไปศึกษานักบินอวกาศก็ยังมี แต่การเปลี่ยนแปลงที่ผมคิดว่าทำให้การนิยามมานุษยวิทยาในปัจจุบันแตกต่างไปจากสมัยก่อนหน้านี้ก็คือ สมัยก่อนเราอาจบอกว่านักมานุษยวิทยาศึกษา ‘ปรากฏการณ์ทางสังคม’ แต่ผมคิดว่าในปัจจุบันนักมานุษยวิทยาไปศึกษา ‘ปรากฏการณ์’ ไม่ใช่แค่ปรากฏการณ์ทางสังคมอีกต่อไปแล้ว เพราะแต่ก่อนเราอาจแบ่งสังคมศาสตร์ (social science) ออกจากวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (natural science) แต่ระยะหลังมานี้นักมานุษยวิทยาเริ่มสงสัยว่าเราจะสามารถแบ่งโลกออกจากกันเป็นสองส่วนอย่างนี้ได้จริงเหรอ หรือวิธีคิดที่แบ่งโลกแบบนี้ทำให้ความรู้ของเราบิดเบี้ยว ไม่สมบูรณ์หรือแยกส่วนเกินไป ซึ่งมันอาจเป็นรากเหง้าของปัญหาที่เราเจออยู่ทุกวันนี้

หลังๆ นี้จึงมีแนวคิดและมีนักมานุษยวิทยาที่พยายามข้ามเส้นแบ่ง แทนที่จะสนใจศึกษาแต่ ‘วัฒนธรรม’ ก็หันไปสนใจวัตถุ สิ่งของ สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ศึกษาสัตว์ ป่า หรือวัชพืช คือหันไปศึกษา non-human ด้วย เพราะมันอาจช่วยให้เราเข้าใจชีวิตมนุษย์ที่สัมพันธ์อยู่กับสิ่งต่างๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์ได้ดีกว่าหลับหูหลับตาศึกษาแต่มนุษย์ที่แยกออกจากสิ่งอื่น

 

ความสนใจในวิชามานุษยวิทยาของคุณหมอเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไร ได้มาอย่างไร

ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด ที่บ้านเป็นร้านค้าขายของชำอยู่ชานเมืองจังหวัดสุรินทร์ ตอนเด็กๆ ทุกวันจะเห็นชุมชนใกล้ๆ เขามีชีวิตที่แตกต่างไปจากเรา คือชาวบ้านเขาก็ไปทำไร่ไถนา มีประเพณี มีศิลปวัฒนธรรมของเขา แถวบ้านเป็นชุมชนคนเขมร เวลามีงานเทศกาลก็มีการร้องเพลงเจรียง มีดนตรีปี่พาทย์เขมร โดยเฉพาะเสียงซอที่ผมคิดว่าสุดยอดมากๆ เป็นเสียงซอที่หวาน น่าหลงใหล ตอนเด็กๆ ช่วงวันหยุดหรือเลิกเรียน พอมีเวลาก็มักจะไปเดินเล่นในชุมชนที่อยู่ใกล้บ้าน ชอบไปดูข้าวของเครื่องใช้ เครื่องไม้เครืองมือทางเกษตรกรรม อุปกรณ์จับปลาต่างๆ บางทีเวลาเขามีพิธีกรรมอะไรก็จะคอยไปสังเกตดู

ผมคิดว่ามันคงเป็นความอยากรู้อยากเห็นแบบเดียวกับนักเดินทางในสมัยเริ่มแรกของวิชามานุษยวิทยา ที่พ่อค้าหรือนักเดินทางไปพบเห็นวัฒนธรรมในต่างถิ่นต่างแดน แล้วรู้สึกว่ามันแปลกไปจากที่เรารู้จัก ก็เริ่มสนใจ มีการจดบันทึกข้อมูลส่งกลับไปประเทศที่เขาเดินทางมา ผมคิดว่าความอยากรู้จักชีวิตของผู้คนที่แตกต่างแบบนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของวิชามานุษยวิทยา เวลาเราไปอยู่ในสังคมวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากที่เราคุ้นเคยมันมักจะทำให้เราตั้งคำถามต่างๆ ว่าทำไมมันจึงเป็นอย่างนี้ ซึ่งจริงๆ พอเราค้นคว้าเข้าไปก็จะพบว่าความแตกต่างเหล่านั้นมันเป็นเพียงรูปแบบการแสดงออก แต่ในความแตกต่างของการแสดงออกนั้น ความเป็นมนุษย์ของเราอาจไม่ได้แตกต่างกัน อันนี้เองที่มานุษยวิทยาทำให้เราเห็นสิ่งที่มีอยู่ร่วมกันของมนุษย์ มีความเข้าใจและยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย เพราะในความต่างก็มีความเหมือนหรือมีสิ่งที่คล้ายกันอยู่ด้วย

 

 

ตัวคุณหมอที่เรียนแพทย์มา แล้วตอนที่ไปเรียนมานุษยวิทยา คุณหมอมีคำถามอะไรที่อยากแสวงหาคำตอบ

ตอนที่เรียนจบแพทย์มาก็ไม่ได้คิดว่าจะไปเรียนมานุษยวิทยานะ แต่ตอนเรียนมหาวิทยาลัยผมทำกิจกรรมเยอะ ปีสุดท้ายที่เรียนแพทย์ก็เป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ด้วย ช่วงนั้นบรรยากาศการเมืองมีการตั้งคำถามว่าขบวนการนักศึกษาจะทำงานด้วยอุดมการณ์อะไรต่อไป มันเป็นช่วงที่เกิดความสับสนในทิศทางการทำงานทางการเมืองของขบวนการนักศึกษาว่าเป้าหมายในการทำกิจกรรมนั้นมันจะทำไปเพื่ออะไร เราจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างไร พอตั้งคำถามมากๆ เข้าก็ทำให้เราต้องมาทบทวนว่ากิจกรรมนักศึกษาที่เราทำกันอยู่นั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานการมองโลก มองสังคม และมองมนุษย์อย่างไร สิ่งต่างๆ ที่เรากำลังต่อสู้เพื่อนำไปสู่ชีวิตที่ดีกว่านั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วหรือ และถ้าเราคิดว่ามันถูกต้อง เรามีสิทธิไปกำหนดว่าสิ่งนั้นดีสำหรับคนอื่นๆ ด้วยไหม หรือมนุษย์ในฐานะอิสรชนควรจะมีสิทธิ์ที่จะเลือกเอง และเราก็ต้องเคารพในสิ่งที่เขาเลือกมากกว่าที่จะไปกำหนดกะเกณฑ์ว่า ‘ชีวิตนักศึกษา’ ต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ในช่วงนั้นมันเกิดคำถามพวกนี้เยอะ เราก็ทำกิจกรรมไปด้วย แสวงหาคำตอบไปด้วย ซึ่งมันเป็นคำถามที่หาคำตอบไม่ได้ง่ายๆ

พอเรียนจบ ผมไปเป็นแพทย์อยู่ในชนบท ก็เจอปัญหาเดียวกัน เวลาไปทำงานพัฒนาสาธารณสุขชุมชน สมัยนั้นเรียกว่า งานสาธารณสุขมูลฐาน เรามีคำตอบสำเร็จรูปอันหนึ่งไปบอกชาวบ้านว่าให้ทำนู่นทำนี่แล้วมันจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เหมือนกับเราไปตัดสินแทนเขาว่าคุณภาพชีวิตที่ดีคืออะไร และต้องทำอะไรเพื่อมีชีวิตที่ดี แต่พอทำไปก็เริ่มเห็นว่าชุมชนท้องถิ่นเขาก็มีวิธีการจัดการกับเรื่องต่างๆ ที่แตกต่างไปจากเรา ก็เริ่มไปสนใจว่าในสังคมชนบท ชาวบ้านเขาใช้อะไรรักษาโรค ก็เลยไปศึกษาเรื่องสมุนไพร ไปเรียนรู้จากหมอพื้นบ้าน จากที่เคยถูกสอนมาว่าการแพทย์พื้นบ้านเป็นเรื่องงมงาย เป็นเรื่องไสยศาสตร์ เป็นความเชื่อผิดๆ อะไรแบบนั้น พอไปศึกษามากขึ้นก็ทำให้รู้สึกได้ว่าหลายเรื่องเราไปตัดสินเขาโดยเราไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านั้นทำงานอย่างไรในชีวิตของเขา

ตัวอย่างหนึ่ง ตอนเรียนแพทย์เราจะถูกสอนว่าแม่หลังคลอดในชนบทมักจะไปอยู่ไฟ มีข้อห้ามต่างๆ เช่น ไม่ให้ทานอาหารหลายอย่าง เพราะเป็นของต้องห้าม เป็นของแสลงหรือ ขะลำ แต่ในทางการแพทย์นั้นไม่มีสิ่งที่เรียกว่าของแสลง ทานได้ทุกอย่าง ที่สำคัญ การอยู่ไฟยังจะทำให้สารอิเล็กโทรไลต์ในร่างกายผิดปกติ พอเราไปศึกษาในทางมานุษยวิทยาถือว่า ข้อห้ามต่างๆ เป็นเหมือนศีลหรือข้อปฏิบัติที่สังคมกำหนด การห้ามไม่ให้ทำโน่นทำนี่ เป็นการยกสถานะของคนท้องหรือแม่หลังคลอดให้มีสถานะพิเศษ คล้ายพระที่มีสถานะพิเศษก็ต้องถือศีล เรียกว่าการมีข้อห้ามต่างๆ ทำหน้าที่เปลี่ยนสถานะของผู้หญิงหลังคลอดให้ชุมชนและคนรอบข้างต้องใส่ใจ เหมือนกับที่เรามีป้ายติดไว้กับเก้าอี้รถไฟฟ้าว่าเป็นที่สำหรับหญิงท้อง เราก็อยากให้ผู้หญิงท้องมีสถานะพิเศษนะ เพียงแต่มันไม่ค่อยเวิร์ค ถ้ามันเวิร์คก็น่าจะดีใช่ไหม แต่เรื่องแบบนี้ไม่ได้มีอยู่ในตำราเรียนของแพทย์

การได้ไปพบเห็นเรื่องต่างๆ ในวิถีชีวิตชาวบ้านทำให้เริ่มเขียนบทความและถูกเชิญไปบรรยาย มีครั้งหนึ่ง ไปบรรยายที่คณะแพทย์ฯ ม.ขอนแก่น เรื่องวิถีชีวิตกับสุขภาพของชาวบ้าน พอบรรยายจบก็มีอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งนั่งฟังอยู่หลังห้องเดินมาหาแล้วบอกว่า ที่คุณหมอบรรยายเนี่ย มันคือวิชาที่ผมสอนอยู่นะ ผมก็ถามไปว่ามันมีวิชาแบบนี้ด้วยเหรอ อาจารย์คนนั้นก็ตอบว่า มันคือวิชามานุษยวิทยา เราทั้งดีใจและเสียใจ (หัวเราะ) ดีใจที่เราจะสามารถตามไปศึกษาหาความรู้ต่อไปได้ แต่เสียใจ เพราะเราคิดว่าเรื่องที่เราไปค้นคว้ามานี้เป็นเรื่องใหม่ ที่แท้มีคนศึกษาและเขียนไว้เป็นเรื่องเป็นราวอยู่แล้ว อันนี้ทำให้คิดว่า ส่วนหนึ่งที่เราไม่รู้เรื่องทางสังคมเหล่านี้ อาจเป็นเพราะหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนมีการแยกสายวิทย์-สายศิลป์กัน คนเรียนสายวิทย์ก็ไม่รู้เรื่องว่าสายศิลป์เขาเรียนอะไร

พอได้ค้นคว้า ได้อ่านมากขึ้น ก็ได้มารู้จักกับนักมานุษยวิทยา อย่างเช่น อ.อคิน รพีพัฒน์ อ.อานันท์ กาญจนพันธุ์  อ.ชยันต์ วรรธนะภูติ ซึ่งตอนนั้นทำงานเป็นแพทย์ชนบทอยู่ คนทำงานพัฒนาชนบทจะมีเวทีพูดคุยกัน โดยเฉพาะในสมัยที่ อ.อคิน รพีพัฒน์ เป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ม.ขอนแก่น ก็มีโอกาสไปเรียนรู้กัน

จนกระทรวงสาธารณสุขมีโครงการเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยและภูมิปัญญาชาวบ้าน สมัยนั้นยังไม่มีคนสนใจมากนัก แต่เราได้ไปศึกษาเรื่องสมุนไพร พิธีกรรมต่างๆ ตอนนั้นผมเอาผีฟ้าไปรำรักษาคนไข้ในโรงพยาบาล เขาคงรู้สึกว่าหมอคนนี้คงจะเข้าใจเรื่องหมอพื้นบ้านดี ก็เลยชวนให้ผมเข้ามาทำเรื่องนี้ มาส่งเสริมงานด้านวิชาการ ทำนโยบายต่างๆ รวมทั้งสนับสนุนการวิจัยในด้านสังคมศาสตร์การแพทย์ ทำให้มีโอกาสเรียนรู้จากนักสังคมศาสตร์ที่เราไปคลุกคลีด้วย จนกระทั่งองค์การอนามัยโลกมีทุนให้ไปเรียน ผมก็เลยไปสอบและมีโอกาสได้ไปเรียนมานุษยวิทยาจนจบปริญญาเอกมาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา

 

การแพทย์กับมานุษยวิทยาเหมือนโลกวิทยาศาสตร์กับโลกทางสังคมที่คนอาจจะมองแยกขาดออกจากกัน สำหรับคนที่ยืนอยู่ตรงกลางต้องทำอย่างไร

ในสังคมตะวันตก มานุษยวิทยาการแพทย์ถือเป็นสาขาย่อยของวิชามานุษยวิทยาที่เติบโตมากและรวดเร็วที่สุด อาจเป็นเพราะความรู้ทางการแพทย์ขาดอะไรไปบางอย่างแล้วมานุษยวิทยามีส่วนมาเติมเต็ม ทางการแพทย์มักจะเข้าใจว่าเป็นโรคภัยไข้เจ็บเป็นผลมาจากความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ การรักษาจึงมุ่งไปที่อวัยวะ แต่เวลาเราเจ็บป่วย นอกจากความผิดปกติของอวัยวะแล้ว ประสบการณ์ความเจ็บป่วยของเรายังขึ้นกับบริบททางสังคมด้วย เช่น ถ้าเราติดเชื้อ HIV ในปัจจุบัน ถ้าเทียบกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ประสบการณ์ความเจ็บป่วยแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ไม่ใช่เพียงเพราะปัจจุบันเรามียารักษาที่ดีขึ้น แต่ในสมัยก่อนนั้น สังคมเต็มไปด้วยความกลัวและความเกลียดชัง นอกจากผู้ติดเชื้อจะมีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ยังมีความทุกข์แสนสาหัสจากการถูกรังเกียจเดียดฉันท์ ถูกไล่ออกจากงาน ไล่ออกจากบ้านเช่า บางคนถูกเอาไปทิ้งที่วัดพระบาทน้ำพุ หรือถูกไล่ออกจากบ้านก็มี แต่ในปัจจุบัน สังคมเข้าใจมากขึ้น ถ้าเรากินยา รีบรักษาก็แทบจะมีชีวิตเหมือนคนปกติได้

โรคที่เกิดในคนกลุ่มหนึ่งจะแตกต่างจากที่เกิดขึ้นกับคนกลุ่มอื่น แม้จะเป็นโรคเดียวกัน เช่น ความดันสูงในคนจนหรือแรงงานข้ามชาติ ก็จะไม่เหมือนโรคความดันสูงในชนชั้นสูงของสังคม การเข้าใจประสบการณ์ความเจ็บป่วยของคนที่แตกต่างกันต้องมีความเข้าใจในมิติทางสังคมวัฒนธรรม บางทีแม้แต่คำแนะนำง่ายๆ ทางการแพทย์ที่ไม่สอดคล้องกับบริบทของชีวิตของเขาก็อาจไม่ได้ผล เช่น แนะนำว่าคุณลุงป่วยเป็นวัณโรค กลับไปบ้านให้นอนแยกห้องกับคนในบ้าน แต่ถ้าเราไปเยี่ยมบ้านของเขา แล้วบ้านทั้งหลังมีห้องเดียวที่ลูกหลานทุกคนอยู่รวมกันหมดล่ะ ในแง่นี้ การเข้าใจโลกผ่านเลนส์ทางมานุษยวิทยาจึงสามารถนำมาใช้ทางการแพทย์หรือในมิติอื่นๆ ได้

 

นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

 

การเข้าใจโลกแบบนักมานุษยวิทยามันเป็นอย่างไร

ถ้าสรุปง่ายๆ การเข้าใจโลกแบบมานุษยวิทยามีหลักการสำคัญ 3 อย่าง คือ การเน้นมุมมองของคนใน การเข้าใจในบริบท และการมองปรากฏการณ์แบบองค์รวม

อันแรกเลย มุมมองของคนใน คือการไปเข้าใจว่าผู้คนอื่นๆ เขามองโลกอย่างไร จากมุมมองของเขาเอง คืออย่าเอาแนวคิดหรือคำอธิบายของเราไปเหมาว่าเขาต้องคิดเหมือนเรา อย่าด่วนตัดสินใครและอย่าไปทำตัวเป็นคุณพ่อผู้รู้ดี อย่างวัฒนธรรมของวัยรุ่น ถ้าเรายังไม่เคยรู้ว่าโลกของวัยรุ่นเป็นอย่างไร ก็อาจจะไปตัดสินว่าคนสมัยนี้ไม่เอาการเอางาน ไม่ค่อยรับผิดชอบ ขาดสัมมาคารวะ แต่ถ้าเราไปคลุกคลี มีส่วนร่วมในชีวิตของเขา ก็อาจเห็นได้ไม่ยากว่า เรากำลังเอามาตรฐานหรือเกณฑ์การตัดสินของเราไปวัดเขาหรือเปล่า

อันที่ 2 คือ เข้าใจบริบท ถ้าเราไม่มองบริบทแวดล้อมอะไร เราอาจเข้าใจว่าคนเล่นเกมเป็นคนหลีกหนีสังคม แต่มีนักมานุษยวิทยาคนหนึ่งไปศึกษาคนที่ไปใช้ชีวิตอยู่ในเกม Second Life เขากลับพบว่า ในบริบททางสังคมของคนเล่นเกมเหล่านี้การมีชีวิตอยู่ในเกมกลับทำให้เขามีโอกาสมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นๆ ผ่านเกมมากขึ้น การเล่นเกมทำให้ความเป็นมนุษย์ของเขาสมบูรณ์ขึ้น การมีชีวิตออนไลน์ทำให้ชีวิตออฟไลน์ของเขามีชีวิตชีวามากขึ้น ถ้าเราไม่เข้าใจสิ่งแวดล้อมต่างๆ ก็อาจไปตัดสินว่าทำไมเขาถึงทำแบบนี้ แต่ถ้าคุณเอาตัวเองไปอยู่ในบริบทนั้น คุณก็อาจจะตัดสินใจทำแบบเขาหรือคิดแบบเขาก็ได้

อันที่ 3 คือ การมองปรากฏการณ์แบบองค์รวม เข้าใจความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ แบบไม่แยกส่วน อันนี้ชัดเจนว่า เวลาที่หมอตรวจคนไข้มักจะมองความเจ็บป่วยแบบแยกเป็นอวัยวะๆ เช่น ปวดท้องก็ตรวจว่าเกิดจากอวัยวะอะไร มีหมอเฉพาะทางดูแลแต่ละอวัยวะ อย่างผู้ป่วยเบาหวานหนึ่งคนอาจมีหมอเฉพาะทางดูแลอยู่ถึง 4 สาขา เช่น เบาหวานขึ้นตาก็ต้องมีจักษุแพทย์ดูแล มีหมอต่อมไร้ท่อ หมอไตดูแลไต หมอศัลยกรรมดูแลแผลเรื้อรังที่เท้า แม้ว่าหมอเหล่านี้จะรู้เรื่องแต่ละอวัยวะเป็นอย่างดี แต่ก็จะไม่มีใครรู้ว่าคนไข้คนนี้สุขทุกข์อย่างไร ยังมีความหวังในชีวิตของเขาไหม ถูกใครเอารัดเอาเปรียบอยู่หรือเปล่า นี่คือการไม่มองเชื่อมโยงอย่างเป็นองค์รวม ถ้าถามว่าการมองแยกส่วนแบบผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมันผิดหรือเปล่า ก็ต้องบอกว่า มันไม่ผิด แต่ว่ามันไม่พอสำหรับการเยียวยามนุษย์

มุมมองของมานุษยวิทยา 3 แบบนี้จะทำให้แพทย์มีความละเอียดอ่อนต่อการเป็นมนุษย์มากขึ้น อีกอย่างแพทย์เองก็เป็นมนุษย์ แต่หากระบบสาธารณสุขขาดความใส่ใจในมิติความเป็นมนุษย์ก็อาจปฏิบัติต่อผู้คน ทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ราวกับเป็นหุ่นยนต์ พยาบาลต้องควงเวร 40 เวรต่อเดือนอะไรแบบนี้ อาชีพบุคลากรทางการแพทย์ไม่ใช่วิชาชีพที่สุขสบาย แต่มันก็อาจมีความสุขได้ เป็นความสุขจากงานที่เขาทำ เป็นความสุขจากการได้เติบโตงอกงามในงานที่ทำ การบริหารงานในองค์กรก็ต้องหล่อเลี้ยงให้เขาทำงานได้ดีและมีโอกาสเติบโตงอกงามเต็มศักยภาพความเป็นมนุษย์ อันนี้ก็จำเป็นต้องเข้าใจมิติความเป็นมนุษย์ด้วย

 

ฟังดูเป็นอุดมคติหรือเปล่า หากหมอใช้มุมมองมานุษยวิทยามาช่วยก็น่าจะทำให้การรักษาโรคดีขึ้น แต่ในความเป็นจริง การไปศึกษาแต่ละกลุ่มคน บริบท สภาพแวดล้อมต้องใช้เวลา

อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายนะ อย่างเวลาเราเรียนผ่าตัดไส้ติ่ง อวัยวะของมนุษย์ทุกคนมันก็เหมือนๆ กัน ผ่าเข้าไปตรงตำแหน่งที่ถูกต้องยังไงก็เจอไส้ติ่ง แต่พอต้องไปทำงานกับท้องถิ่นที่มีวิธีคิดหรือวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน แล้วเราต้องเข้าใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นซึ่งแตกต่างหลากหลายไปในแต่ละที่ เราก็เลยสอนแบบสำเร็จรูปไม่ได้

แต่ผมคิดว่าเรามีวิธีสร้างการเรียนรู้แบบมานุษยวิทยาได้ ถ้าเราต้องการให้มีการนำความรู้แบบมานุษยวิทยาไปใช้ เราอาจแบ่งการเรียนรู้ได้เป็นสัก 3 เรื่อง

เรื่องแรก เป็นการเรียนรู้เรื่องแนวคิดและทฤษฎีทางมานุษยวิทยา เช่น แนวคิดเรื่องพหุวัฒนธรรมที่เน้นการเคารพในวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทฤษฎีสัมพัทธนิยมทางวัฒนธรรม หรือ Cultural relativism หรือแนวคิดแบบมนุษยนิยม (Humanism) อะไรพวกนี้ แนวคิดนี้ทำหน้าที่เหมือนเลนส์ เวลาเรามองผ่านเลนส์เราก็จะเห็นอะไรแตกต่างออกไปจากการมองแบบเดิมที่เน้นแค่ข้อเท็จจริงทางอวัยวะได้

เรื่องที่สอง เป็นการเรียนรู้เนื้อหา คือ เรียนรู้ว่ากลุ่มวัฒนธรรมต่างๆ มีแบบแผน วิถีชีวิตหรือพฤติกรรมต่างๆ อย่างไร เช่น กลุ่มชาติพันธุ์นี้มีวัฒนธรรมอาหารอย่างไร มีข้อห้ามเรื่องอาหารอย่างไร เลี้ยงลูกอย่างไร แต่งงานอย่างไร อันนี้มันจะเฉพาะเจาะจงกับแต่ละกลุ่ม นี่ก็เป็นเนื้อหาที่เรียนรู้ได้ แม้จะไม่สามารถเรียนรู้ทุกกลุ่มวัฒนธรรมได้ แต่มันก็เป็นตัวอย่างให้เรามีความละเอียดอ่อนและใส่ใจกับความแตกต่าง

เรื่องที่สามคือ เรียนรู้วิธีการเรียนรู้ หรือภาษาวิชาการเรียกว่า เรียนรู้เรื่องระเบียบวิธีหรือวิธีวิทยาในการศึกษาว่าหากเราต้องการเข้าใจมนุษย์ที่มีความซับซ้อนนั้น มานุษยวิทยาใช้วิธีการอย่างไร อันนี้จะเป็นการเรียนรู้เพื่อเอาวิธีการศึกษาแบบนี้ไปใช้ เช่น การเข้าไปคลุกคลีและมีส่วนร่วม ใช้ชีวิตกับเขา ถ้าระบบบริการทางการแพทย์มีการออกแบบให้บุคลากรไปคลุกคลีทำงานใกล้ชิดกับชุมชน ไปใช้วิธีการสังเกตแบบมีส่วนร่วม อันนี้โรงเรียนแพทย์หลายแห่งก็มีการนำเครื่องมือการศึกษาแบบมานุษยวิทยาไปใช้เหมือนกัน

 

นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

 

การใช้ความรู้ทางมานุษยวิทยา ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างไร มีเครื่องมือการเรียนรู้อะไรที่ถูกนำไปใช้บ้าง

อย่างสมัยก่อนเวลานักศึกษาไปทำงานชุมชนก็มักจะใช้แบบสอบถามสำเร็จรูปเป็นเครื่องมือ ไปถามว่าที่บ้านมีโอ่งกี่อัน มีส้วมกี่อัน ไปสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ไปนับว่ามียุงลายกี่ตัว ซึ่งมันก็น่าเบื่อ แต่พอให้ไปทำ ‘แผนที่เดินดิน’ ต้องไปเดินดูพื้นที่ชีวิตที่มันทับซ้อนอยู่กับพื้นที่ทางกายภาพ ไปดูว่าในชุมชนมีอะไรมากกว่าบ้านหลังนี้ตั้งอยู่ที่ไหน แต่ยังมีความสัมพันธ์ของผู้คน มีพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน มีพื้นที่ของผู้หญิง พื้นที่ของเด็กๆ มีอำนาจที่ปฏิบัติการอยู่บนพื้นที่ต่างๆ ไปเห็นว่ามีความสัมพันธ์ของสังคมที่ทับซ้อนอยู่บนพื้นที่ทางกายภาพเหล่านั้น มันก็เปิดโลกความรับรู้ของเราได้

อีกเครื่องมือทางมานุษยวิทยาก็คือผังเครือญาติ แทนที่เราจะดูคนไข้เป็นคนๆ พอเราทำผังเครือญาติก็จะทำให้เวลาตรวจคนไข้เราจะรู้ว่าเขามีลูกกี่คนที่ต้องดูแลหรือมีพ่อแม่ที่ป่วยอยู่ด้วย บางทีไม่รู้บริบทชีวิตของเขาก็จะไปดุด่าว่าทำไมป้าไม่มาตรวจในวันที่นัด แต่เราก็ไม่รู้ว่าป้าเค้ามีหลานอีก 4 คนที่ต้องคอยดูแล ต้องจัดการ กว่าจะมาตรวจที่โรงพยาบาลได้มันก็ยุ่งยากพอสมควร เครื่องมือทางมานุษยวิทยาเหล่านี้จะทำให้การดูแลมีความละเอียดอ่อนขึ้น

 

นอกจากการเป็นตัวช่วยให้การดูแลดีขึ้น บทบาทของมานุษยวิทยาในด้านอื่นๆ มีอะไรอีก

มานุษยวิทยามีบทบาทมากกว่าแค่เป็นตัวช่วย แต่ยังมีบทบาทในการวิพากษ์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างหรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจด้วย เช่น การวิพากษ์การแพทย์หรือระบบสาธารณสุขที่สร้างหรือผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำ นโยบายสาธารณะที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการชี้ให้เห็นว่าความทุกข์ทางสังคมที่ผู้คนต้องเผชิญอยู่นั้นเป็นผลจากความรุนแรงเชิงโครงสร้าง อันนี้จะเป็นการมองปรากฏการณ์ทางการแพทย์เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างหนึ่ง ซึ่งมีปัจจัยเชิงโครงสร้างเป็นตัวกำหนด

อย่างเช่น มีงานศึกษาพฤติกรรมการจ่ายยาของแพทย์ ซึ่งพบว่าหมอจะจ่ายยาให้คนไข้มากเกินความจำเป็น หากระบบการจ่ายค่าตอบแทนของแพทย์ไม่มีค่าตรวจรักษา แต่ให้หมอไปหากำไรจากค่ายา หมอก็จะจ่ายยาให้เกินจำเป็น กลายเป็นว่าการแพทย์มีลักษณะเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยม หรือมีการศึกษาว่า บริษัทยามีการจัดระบบ ‘สินบนปนน้ำใจ’ ให้กับแพทย์ผ่านตัวแทนยาที่มาเสนอผลประโยชน์ให้แพทย์ เพื่อให้แพทย์จ่ายยาของบริษัทตัวเอง การศึกษาทางมานุษยวิทยาแบบนี้เป็นการวิพากษ์ระบบที่พิกลพิการ ท้าทายโครงสร้างที่ผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำ หรืองานวิจัยของผมเรื่องวัฒนธรรมราชการกับการคอร์รัปชันในระบบสาธารณสุขก็เป็นตัวอย่างหนึ่งในการศึกษาแบบนี้

ระยะหลังมานี้ นักมานุษยวิทยาจำนวนไม่น้อยออกมามีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางสังคม ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน การอนุรักษ์ป่าไม้หรือทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการฟื้นฟูวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม รวมไปถึงการละเมิดสิทธิในการจัดการทรัพยากร เช่น กฎหมายที่ดินที่ให้สิทธิบริษัทเอกชนเข้าไปครอบครองพื้นที่ทางจิตวิญญาณที่ชุมชนเคยใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ เมื่อนักมานุษยวิทยาเข้าไปศึกษาเรื่องราวเหล่านี้ ก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะเป็นปากเสียงให้เขา

 

ในการศึกษาเรื่องโครงสร้าง เราสามารถศึกษาผ่านหน่วยย่อยๆ แล้วใช้เป็นคำตอบต่อปัญหาในภาพใหญ่ได้ไหม

นี่เป็นวิธีคิดและวิธีการศึกษาของนักมานุษยวิทยา เรามักไม่เริ่มศึกษาอะไรที่กว้าง แต่จะเริ่มจากกรณีศึกษาที่มีความเฉพาะเจาะจง และศึกษาอย่างละเอียดเจาะลึก ทีนี้ก็จะมีคนจะตั้งคำถามว่าการไปศึกษาคนกลุ่มเดียว หรือชุมชนเดียวแบบนี้ แล้วจะเอามาใช้อธิบายทั่วกันได้อย่างไร อันนี้มันเป็นวิธีคิดที่แตกต่างจากการวิจัยเชิงปริมาณที่เน้น ‘ความเป็นตัวแทน’ ของประชากรที่เราไปศึกษา แต่ทางมานุษยวิทยาถือว่าแม้เราจะ ‘ศึกษาชุมชนเดียว’ แต่เราไม่ได้ ‘ศึกษาแค่ในชุมชน’ คือเราจะตามไปทำความเข้าใจเรื่องราวของชุมชนที่เชื่อมโยงสู่เหตุปัจจัยและบริบทเชิงโครงสร้างอื่นๆ เพื่อให้เห็นว่าสิ่งต่างๆ เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน

ชะตากรรมของคนท้องถิ่นอาจถูกกำหนดจากการตกลงการค้าระหว่างประเทศที่ทำให้เกิดการสร้างทางหลวงเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจ ทำให้เขาต้องอพยพย้ายถิ่นไปอยู่ในที่ที่เขาไม่มีทางจะสร้างชีวิตขึ้นมาได้ ในกรณีแบบนี้ เวลาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะเข้าไปพัฒนาระบบสุขาภิบาลเพื่อการควบคุมป้องกันโรค เช่น ไปชักชวนให้ชุมชนสร้างส้วม แต่พอเขาไม่มีเอกสารสิทธิ์และไม่รู้ว่าจะถูกไล่ที่วันไหน ถ้าเขาลงทุนสร้างส้วมแล้วไม่ทันไรก็ถูกไล่ที่ แบบนี้เขาจะอยากสร้างไหม พอคนเราไม่ได้มีหลักประกันในชีวิต การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีมันเป็นไปไม่ได้เลย ชุมชนก็ต้องเผชิญกับโรคอุจจาระร่วง ไข้เลือดออก โรคติดต่อสารพัด เพราะการปรับปรุงสภาพแวดล้อมต้องลงทุน ลงแรง แต่เขาไม่มีหลักประกันในถิ่นที่อยู่อาศัยเลย ใครจะอยากทำ ในแง่นี้ สุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีจึงมีรากฐานมาจากสังคมที่เคารพในสิทธิและมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เท่าเทียมกันด้วย อันนี้พอเราไปศึกษาชุมชน แม้จะเป็นชุมชนเดียว เราก็อาจเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันของเหตุปัจจัยได้ชัดเจนขึ้น

เหมือนกับบางคนถามว่าศึกษาแค่กรณีเดียวจะได้อะไร ก็ต้องถามว่าเคยอ่านประวัติของมหาตมะ คานธีหรือเปล่า เราอ่านประวัติของคนๆ เดียวก็อาจจะเข้าใจว่าจักรวรรดินิยมอังกฤษกดขี่อินเดียอย่างไร ที่เราศึกษาประวัติของคนคนเดียวแล้วเข้าใจประวัติศาสตร์โลกได้ก็เพราะมันเห็นความเชื่อมโยงของปรากฏการณ์ที่สัมพันธ์กับเรื่องอื่นๆ ที่กว้างขวางออกไป การศึกษาจากภาพเล็กทำให้เราเข้าใจภาพใหญ่ และเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความเชื่อมโยงกัน

 

นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

 

วงการแพทย์ทุกวันนี้มีพื้นที่เปิดรับวิธีการมองแบบนี้แค่ไหน เช่น การทำความเข้าใจความเชื่อหรือชีวิตของคน

ดีขึ้นเยอะเลยครับ ถ้าเทียบกับตอนที่ผมเรียนจบกลับมาในปี 2541 ทุกวันนี้มีหมอและบุคลากรรุ่นใหม่ๆ ที่สนใจเรื่องต่างๆ กว้างขวางขึ้น โรงเรียนแพทย์ก็หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องราวเหล่านี้มากขึ้น กลับกลายเป็นว่าทางฝั่งนักมานุษยวิทยาจะมีความพร้อมที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่า มานุษยวิทยาจะนำเสนออะไรที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ อันนี้เป็นคำถามสำหรับนักมานุษยวิทยาด้วย

ผมเคยคุยกับนักมานุษยวิทยาคนหนึ่ง คือ Margaret Lock ในวงการมานุษยวิทยาก็ถือว่าเป็นคนสำคัญคนหนึ่ง เขาสอนมานุษยวิทยาและสอนที่โรงเรียนแพทย์ด้วย ผมถามว่าทำไมอาจารย์จึงมาสอนแพทย์ เขาบอกว่าทางโรงเรียนแพทย์อยากให้แพทย์มีสำนึกเรื่องปัญหาสังคมด้วย ไม่ใช่หลับหูหลับตาตรวจรักษาอยู่แต่ในห้องตรวจ ซึ่งเป็นการทำงานปลายทาง แต่การสอนก็ยาก เพราะต้องมีกระบวนการเรียนการสอนที่น่าสนใจ ผมถามเขาว่าการประเมินผลเรื่องสำนึกทางสังคมทำอย่างไร เขาบอกว่าเขาไม่ได้ให้สอบข้อเขียน แต่คุณจะสอบผ่านวิชานี้ได้ก็ต่อเมื่อคุณเขียนจดหมายถึงบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ชั้นนำเพื่อนำเสนอประเด็นปัญหาทางสังคมที่คุณเป็นห่วงเป็นใย แล้วบรรณาธิการที่คุณเขียนถึงคัดเลือกบทความของคุณไปตีพิมพ์ อันนี้ต้องเข้าใจว่า วันหนึ่งๆ บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ชั้นนำจะได้รับจดหมายหลายร้อยหลายพันฉบับ ถ้าประเด็นที่คุณเสนอไม่ชัดเจน ไม่มีเหตุผลหรือข้อมูลที่แข็งแรง เขาก็ไม่ลงให้ ที่สำคัญการจะเขียนออกมาได้อย่างมีคุณภาพก็ต้องผ่านกระบวนการคิดที่ถี่ถ้วน มีการค้นคว้าหาข้อมูลหลักฐาน และข้อโต้แย้งต่างๆ มีความชัดเจน

จริงๆ มานุษยวิทยาสามารถนำไปใช้ในแวดวงต่างๆ ได้ คือการนำไปใช้ข้ามศาสตร์ นอกจากมานุษยวิทยาการแพทย์ก็มีมานุษยวิทยาเศรษฐศาสตร์ (Economic anthropology) มานุษยวิทยากฎหมาย (Legal anthropology) มานุษยวิทยาการศึกษา (Educational anthropology) หรือมานุษยวิทยาสิ่งแวดล้อม (Environmental anthropology) เป็นต้น เวลาพูดว่ามานุษยวิทยาสามารถเอาไปใช้ในสาขาต่างๆ ได้ ก็เป็นสิ่งท้าทายนักมานุษยวิทยาเหมือนกันว่าเรามีความรู้ที่มีความหมายที่จะช่วยเสริม ช่วยวิพากษ์ หรือให้ข้อเสนอแนะที่จะเป็นประโยชน์เพื่อจะเอาไปใช้ช่วยสร้างสังคมที่สันติสุขและเป็นธรรมมากขึ้นได้จริงหรือเปล่า

 

การเรียนการสอนมานุษยวิทยาในปัจจุบันมีข้อจำกัดหรือได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของโลกเหมือนในสาขาอื่นๆ ไหม

การเรียนการสอนมานุษยวิทยาดำรงอยู่ในบริบทของระบบการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์น้อยมาก อันนี้เป็นไปตามนโยบายหรือทิศทางของประเทศที่เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรม เน้นการผลิตที่เร่งรัดเพิ่มรายได้แต่ไม่คำนึงถึงความยั่งยืนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สังคมเองก็ให้คุณค่ากับการเรียนในสาขาวิชาที่มีรายได้สูงๆ รัฐเองก็ตัดงบประมาณการศึกษาและวิจัยด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

แต่ในขณะเดียวกัน การเรียนการสอนมานุษยวิทยาในประเทศไทยก็ยังค่อนข้างจำกัด ผมคิดว่าจุดอ่อนประการหนึ่งก็คือ การเรียนการสอนในระดับบัณฑิตวิทยาลัยในด้านมานุษยวิทยาดูจะมุ่งเน้นให้บัณฑิตจบไปเพื่อทำงานในแวดวงวิชาการอย่างเดียว คือถ้าไม่เป็นนักวิจัยก็ไปเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย

แต่ถ้าเราดูบัณฑิตที่จบด้านมานุษยวิทยา เราจะเห็นว่าเขาไปประกอบอาชีพที่หลากหลาย บางคนไปเป็นนักเขียน เป็นบรรณาธิการหนังสือ ไปทำสื่อ ไปทำงานออกแบบต่างๆ หรือแม้แต่ไปทำงานในบริษัท ทั้งที่การเรียนการสอนของเราก็ไม่ได้ช่วยเตรียมให้เขาไปมีอาชีพที่หลากหลายเหล่านี้ ผมคิดว่าเราอาจต้องทำให้การเรียนการสอนมีลักษณะการข้ามศาสตร์มากขึ้น ให้สามารถไปทำงานกับคนอื่นๆ อาชีพอื่นๆ ได้มากขึ้น ในต่างประเทศ มีนักมานุษยวิทยาไปทำงานในแวดวงการออกแบบไม่น้อย เพราะว่าเทคนิคการเก็บข้อมูลแบบ ethnographic observation คือการสังเกตแบบมีส่วนร่วมที่นักมานุษยวิทยาใช้อยู่นั้น มีประโยชน์สำหรับการออกแบบมาก เพราะมันทำให้เข้าใจประสบการณ์ของผู้ใช้ (user experience) ได้เป็นอย่างดี ทำให้เข้าใจว่าผู้ใช้คิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร หรือคาดหวังอะไร มีนักมานุษยวิทยาไปทำงานในแวดวงออกแบบเชิงอุตสาหกรรม (industrial design) โดยเฉพาะสินค้าที่ส่งไปขายข้ามวัฒนธรรม ซึ่งแม้แต่ชื่อของผลิตภัณฑ์แต่ละตัวก็ต้องระวังไม่ให้มีความหมายเชิงลบในทางวัฒนธรรม หรือการนำความรู้ทางมานุษยวิทยาไปทำงานด้าน HR เพื่อให้คนในองค์กรทำงานได้เต็มศักยภาพ มีการเติบโตงอกงาม ทำงานอย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งการทำงานเช่นนี้ต้องมีความเข้าใจความเป็นมนุษย์

คำถามคือเราจะทำยังไงให้เนื้อหาวิชามานุษยวิทยาสามารถข้ามศาสตร์ไปได้มากขึ้นกว่านี้ ผมเชื่อมั่นอย่างหนึ่งว่ามานุษยวิทยาเป็นวิชามีเสน่ห์ คือ มันสามารถทำให้สิ่งต่างๆ ที่ซ่อนเร้นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความคิด ความรู้สึก ความหมาย หรือความสัมพันธ์ที่มองไม่เห็นปรากฏออกมาให้เห็นและเข้าใจได้ ความรู้แบบนี้ของนักมานุษยวิทยามีคุณค่าและมีประโยชน์กับทุกๆ วงการ โจทย์ของเราคือ จะทำอย่างไรที่ให้ความรู้เหล่านี้ถูกนำไปใช้ให้มากและกว้างขวางขึ้น

 

มานุษยวิทยาต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อให้สามารถก้าวออกไปสู่สังคมมากขึ้น

จุดเด่นสำคัญประการหนึ่งของมานุษยวิทยาคือมีการสะท้อนย้อนคิดเพื่อตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอๆ หรือเรียกว่า มี reflexivity ว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้นมันโอเคอยู่ใช่ไหม การทำงานของเรามีอคติอะไรแฝงอยู่หรือเปล่า มันจึงเป็นวิชาที่มีชีวิตที่น่ามหัศจรรย์ จริงๆ ทุกๆ วิชาที่อยู่รอดและสืบทอดกันต่อมาได้ก็ต้องมีชีวิตหรือมีการปรับตัวทั้งนั้น แต่ความมีชีวิตของมานุษยวิทยาเป็นชีวิตที่ผ่านการไตร่ตรอง ตรวจสอบวิธีคิดของตัวเอง อย่างเช่นนิยามของคำว่า ‘วัฒนธรรม’ ที่นักมานุษยวิทยาศึกษาก็มีการเปลี่ยนแปลงไป จากวัฒนธรรมที่มีเฉพาะในชนชั้นสูงของยุโรป ต่อมาความหมายก็ถูกปรับเปลี่ยนเป็นวัฒนธรรมที่เป็นของสังคมดั้งเดิม ชุมชนพื้นบ้านพื้นถิ่นต่างๆ เพราะเห็นว่าแนวคิดเดิมมีอคติที่ถือเอาชนชาติยุโรปเป็นศูนย์กลางเกินไป

ในระยะหลังมานี้ก็มีการเสนอแนวคิดเรื่อง posthuman เป็นแนวคิดที่ต้องการก้าวพ้นการมองแบบมนุษย์เป็นศูนย์กลาง คือการมองว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่มีสติปัญญา มีเหตุผล และสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมขึ้นมาได้ แต่กลายเป็นว่าเรากำลังใช้อคติแบบหนึ่งหรือเปล่า ความเป็นมนุษย์มันเป็นสิ่งที่แยกขาดออกจากสิ่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์ได้จริงหรือ ที่เรามองว่ามนุษย์กับเครื่องจักรเป็นสิ่งตรงข้ามกัน มันจริงหรือ เส้นแบ่งระหว่างมนุษย์ เครื่องมือ และเทคนิคมันสามารถแบ่งได้จริงหรือเปล่า เพราะทุกวันนี้ เราตื่นขึ้นมาก็มีเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน ไม่ต้องพูดถึงคนที่ใส่คอนแทคเลนส์ ใส่กายอุปกรณ์ต่างๆ ใส่ลิ้นหัวใจเทียม หรือแม้แต่การมีชีวิตที่ต้องอาศัยโทรศัพท์มือถืออย่างขาดแทบไม่ได้ในปัจจุบัน พอเป็นแบบนี้ นักมานุษยวิทยาจะยังยึดอยู่กับความคิดว่า เราศึกษาวัฒนธรรมหรือนฤมิตรกรรมของมนุษย์เท่านั้นจะได้เหรอ หรือเราควรจะสนใจโลกทางวัตถุ สิ่งแวดล้อม อาณาจักรสัตว์ อาณาจักรพืช หรือสิ่งที่เรียกว่าอมนุษย์ (non-human) ด้วย

พอเป็นแบบนี้ นักมานุษยวิทยาที่แต่เดิมอาจไม่ได้สนใจเรื่องธรรมชาติวิทยา เชื้อโรค เชื้อรา เห็ด วัชพืช หรือสิงสาราสัตว์ต่างๆ ปัจจุบันก็หันมาสนใจสิ่งเหล่านี้กันมากขึ้น จนกลายเป็นแนวคิดที่เรียกว่า มานุษยวิทยาที่มีมากกว่ามนุษย์ (more-than-human anthropology)

การข้ามศาสตร์หรือการที่เส้นแบ่งระหว่างศาสตร์มันจางลงไปทุกที เป็นปรากฏการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับการปรับตัวของมานุษยวิทยา การรื้อเส้นแบ่งที่เคยเป็นมาอาจเป็นขั้นตอนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม เพราะเส้นแบ่งบางอย่างที่เราใช้กันอยู่โดยไม่ได้คิดนั้นอาจเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ดำรงอยู่ เส้นแบ่งเหล่านี้เป็นผลผลิตของมนุษย์ แต่เรากลับเป็นเบี้ยล่างของชุดความคิดตายตัวที่เคยเป็นผลผลิตของยุคสมัยหนึ่งมากจนเกินไป ถ้าเป็นเช่นนั้นก็อาจถึงเวลาถอดรื้อหรือสลายเส้นแบ่งเหล่านี้เสีย

สำหรับผม มานุษยวิทยาจึงเป็นวิชาที่ตื่นเต้นเร้าใจอยู่ตลอดเวลา ชวนให้เราไม่อยู่นิ่งกับข้อสรุปตายตัว เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป มีโจทย์ใหม่ๆ ท้าทายมนุษย์มากขึ้น นักมานุษยวิทยาก็นิ่งดูดายไม่ได้ อันนี้แหละที่ทำให้มานุษยวิทยามีเสน่ห์สำหรับผม

 

นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

 

การจะเอาความรู้ด้านมานุษยวิทยาไปสู่สังคมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปได้ยากไหม 

คิดว่าจะทำได้ในบางเรื่อง ในเชิงยุทธศาสตร์การทำงานต้องเลือกทำในจุดที่เป็นไปได้และส่งผลได้มาก จะดีกว่าการสุ่มทำทั่วไป ตอนนี้โจทย์ของเรามีเรื่องสำคัญอยู่ 2 เรื่อง คือ การสร้างระบบงานที่มีประสิทธิภาพ เหมือนกับการสร้างเครื่องบินให้บินได้เร็ว พร้อมไปกับต้องตอบให้ได้ว่าเราจะบินไปไหน ในช่วงนี้จึงเป็นกระบวนการสำคัญที่ต้องช่วยกันมองหากลุ่มเป้าหมายและภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่เราจะทำงานด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องมองหาจุดคานงัดใหม่ๆ ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการนำความรู้ทางมานุษยวิทยาไปใช้เปลี่ยนแปลงสังคม ไม่ว่าจะเป็นการทำงานเชิงนโยบาย การผลักดันกฎหมายบางฉบับที่จะช่วยสร้างความเป็นธรรมและเท่าเทียมของกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆ ที่ถูกกระทำจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่

เราอาจต้องทำงานเพื่อสร้างและเปลี่ยนแปลงกระบวนการเรียนรู้ทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน ให้ความรู้ความเข้าใจในทางมานุษยวิทยาเข้าถึงได้ง่ายและสามารถเผยแพร่ให้กว้างขวางเป็นความรู้สาธารณะมากขึ้น ไม่ใช่มีแต่การผลิตงานวิชาการที่มีแต่นักมานุษยวิทยาเท่านั้นที่อ่านกันเอง เราอาจจะต้องมีเครือข่ายคนทำงานด้านวัฒนธรรมที่เข้มแข็งขึ้น โดยเฉพาะในบุคลากรที่เป็นครู ซึ่งในปัจจุบันก็มีความตื่นตัวมากขึ้นเยอะ ความรู้ทางมานุษยวิทยาอาจเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เพื่อสร้างสังคมที่มนุษย์มีความภาคภูมิใจในรากเหง้าและวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเอง

อันนี้ผมคิดว่าสำคัญเพราะสังคมของเรามีการเหยียบย่ำซ้ำเติมคนชายขอบหรือคนไร้อำนาจ เราถูกปลูกฝังให้ดูถูกตัวเอง สมัยเป็นนักศึกษา ผมเคยเดินทางไปทางภาคเหนือ เห็นป้ายหน้าโรงเรียนในหมู่บ้านแห่งหนึ่งติดไว้ว่า “เขตปลอดภาษาถิ่น” อันนี้หมายความว่า ทันทีที่ลูกของชาวบ้านเข้ามาเรียนหนังสือ เขาก็จะถูกปลูกฝังให้ดูถูกภาษาถิ่นที่พ่อแม่พูดใช่ไหม ในเมื่อเขตโรงเรียนห้ามใช้ภาษาท้องถิ่น ถ้าเราอับอายในกำพืดตัวเองแล้วจะเหลืออะไรที่จะใช้เป็นรากฐานสร้างชีวิตของเราต่อไป

 

เมื่อเข้ามาทำงานที่ศูนย์มานุษยวิทยาฯ มีความฝันหรือความคิดว่าจะทำอะไรที่แตกต่างออกไปบ้าง

ผมคิดว่าศูนย์มานุษยวิทยาฯ มีสถานะสำคัญในสังคมปัจจุบันที่ผู้คนมีความเข้าอกเข้าใจกันน้อย เราอยู่ในสังคมที่มีอคติต่อกันได้ง่าย อคติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอคติเชิงชาติพันธุ์ เพศสภาวะ วัย หรือนโยบายสาธารณะที่ขาดความเข้าใจในความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม อคติเหล่านี้เป็นที่มาของความขัดแย้งและนำไปสู่ความรุนแรงในพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในครอบครัว ชุมชน หรือระหว่างรัฐกับชุมชน ผมคิดว่ามานุษยวิทยาเป็นความรู้ที่จำเป็นสำหรับการรื้อถอนอคติที่ถูกสร้างขึ้นพร้อมๆ กับ ‘ความเป็นอื่น’ ที่ตัดสินและด้อยค่าคนอื่นว่าไม่เป็นอย่างเราและมีคุณค่าหรือศักดิ์ศรีน้อยกว่าเรา

ผมอยากให้ศูนย์มานุษยวิทยาฯ มีบทบาทในการสร้างสังคมที่ผู้คนเข้าใจกัน หรือหากไม่เข้าใจกันก็สามารถพูดคุยกันได้อย่างไม่ตัดสินอะไรๆ ด้วยอคติ คือทำให้การดำรงอยู่ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรมีความหมายต่อการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ มันอาจไม่ใช่การอยู่แบบโลกสวยเกินไป เพราะมนุษย์ย่อมมีความแตกต่างและมีความขัดแย้งกันเป็นธรรมดา แต่มันต้องไม่นำไปสู่ความรุนแรง จริงๆ แล้วความขัดแย้งเป็นสิ่งจำเป็น เพราะถ้าทุกคนคิดเหมือนกันหมดก็คงไม่มีความเปลี่ยนแปลง ความขัดแย้งคือที่มาของการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเกิดความขัดแย้งแล้วไม่มีวิธีการที่จะเข้าใจและหาทางออกร่วมกันก็มีโอกาสที่จะกลายเป็นความรุนแรงไป

โลกที่เรากำลังมีชีวิตอยู่ทุกวันนี้มีสภาพที่ล่อแหลม คนตัดสินกันได้ง่ายๆ บนอคติที่แพร่ระบาดไปได้อย่างรวดเร็วไม่ต่างจากไวรัส ในสถานการณ์แบบนี้ แม้แต่เชื้อไวรัสตัวเดียวก็สร้างความเกลียดชังกันที่นำไปสู่ความรุนแรงได้

ในขณะเดียวกันมนุษย์ก็ได้สร้างอาชญากรรมที่เลวร้ายต่อระบบนิเวศ เกิดการทำลายล้างธรรมชาติแบบไม่เคยเป็นมาก่อน ถ้าความเข้าใจในมนุษย์จะมีส่วนช่วยลดผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ที่มีต่อระบบนิเวศได้ ก็จะเป็นเรื่องที่น่ายินดี ผมมีความฝันว่าศูนย์มานุษยวิทยาฯ จะสามารถสร้างวิธีการทำงานที่เชื่อมโยงความรู้ด้านมานุษยวิทยาเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาสังคมหรือปัญหาสิ่งแวดล้อมในอนาคตได้ เป็นอีกหนึ่งภารกิจของ ‘การนำมานุษยวิทยาไทยไปสู่สังคม’ ที่ผมคิดว่ามีความสำคัญ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save