fbpx
จากตุลาการสู่องคมนตรี สมชาย ปรีชาศิลปกุล

จากตุลาการสู่องคมนตรี

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ระหว่างสถาบันตุลาการและองคมนตรี

 

ตุลาการเป็นหนึ่งในสามขององค์กรที่ใช้อำนาจสำคัญของการปกครองสมัยใหม่ อันประกอบด้วยฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ

ฝ่ายตุลาการถูกคาดหมายว่าจะทำหน้าที่ชี้ขาดและยุติข้อขัดแย้งต่างๆ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ดังนั้น บุคคลที่เข้ามาดำรงตำแหน่งในฝ่ายตุลาการจึงถูกกำหนดให้มีทั้งความรู้และความเป็นกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของความเป็นกลางที่มีความสำคัญอย่างมาก

คุณลักษณะทั้งสองประการถือเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการออกแบบโครงสร้างในฝ่ายตุลาการ นับตั้งแต่การคัดเลือกบุคลากร การกำหนดมาตรฐานทางวิชาชีพ การสร้างความเป็นอิสระจากการครอบงำของฝ่ายอื่นเฉพาะอย่างยิ่งจากฝ่ายการเมือง หากปราศจากความเป็นกลางอันเป็นที่วางใจของสังคมก็ย่อมทำให้เกิดความคลางแคลงใจได้ว่าการวินิจฉัยในประเด็นต่างๆ นั้นได้เกิดขึ้นจากการใช้ความรู้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการตอบสนองต่อประโยชน์ของบุคคลบางกลุ่มบางฝ่าย

สำหรับองคมนตรี เป็นสถาบันการเมืองที่ถูกตั้งขึ้นพร้อมกับการปฏิรูปแผ่นดินในรัชกาลที่ 5 มีชื่อ ‘สภาที่ปรึกษาในพระองค์’ เป็นองค์กรที่พระมหากษัตริย์มีไว้เพื่อปรึกษาหรือมอบหมายภารกิจเฉพาะให้กระทำ การแต่งตั้งเป็นไปตามพระราชอัธยาศัยโดยไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่ชัด แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงชื่อไปบ้างในแต่ละรัชกาลแต่ก็ยังคงมีความสืบเนื่องต่อมา ในภาพรวม องคมนตรีก็ยังเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ค่อนข้างจำกัด และขึ้นอยู่กับพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์เป็นสำคัญ ทั้งนี้ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ได้มีการยกเลิกตำแหน่งดังกล่าว

องคมนตรีได้ ‘กำเนิดใหม่’ ในระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 (อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2490 ได้กำหนดให้มี ‘อภิรัฐมนตรี’ ซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นความพยายามที่เกิดขึ้นก่อนหน้า) ได้มีการเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับองคมนตรีไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก แม้ว่าในการเพิ่มเติมนี้จะได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางจนสามารถกล่าวได้ว่าเป็นการอภิปรายที่ ‘ดุเดือด’ มากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การจัดทำรัฐธรรมนูญของไทย[1] แต่รัฐสภาก็ได้ให้ความเห็นชอบกับบทบัญญัติดังกล่าวในท้ายที่สุด

นับจากนั้นเป็นต้นมา องคมนตรีได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญมาอย่างต่อเนื่อง และมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับองค์กรดังกล่าวไม่น้อย ทั้งในด้านของอำนาจหน้าที่ จำนวน และความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีการขยายตัวออกอย่างกว้างขวาง แต่หากกล่าวโดยรวมแล้ว ภารกิจขององคมนตรีคือการแบ่งเบาพระราชภาระของพระมหากษัตริย์ ด้วยการทำหน้าที่

“เป็นการกลั่นกรองการทรงงานด้านต่างๆ ในเบื้องต้นถวายประกอบพระบรมราชวินิจฉัย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมูลนิธิและโครงการต่างๆ เป็นงานบริหารจัดการหรือดูแลกิจการต่างพระเนตรพระกรรณ สำหรับในการปฏิบัติงานผู้แทนพระองค์หรือสนองพระราชกระแสเฉพาะเรื่องนั้น เป็นการแบ่งเบาพระราชภาระน้อยใหญ่ของพระองค์ลงส่วนหนึ่ง”[2]

สถานะขององคมนตรีในรัฐธรรมนูญไทยจึงถูกจัดให้เป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ดังนั้น บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับจึงได้กำหนดให้ “การเลือกและแต่งตั้งองคมนตรี หรือการให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย”

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างตุลาการและองคมนตรีแล้ว จะพบว่าองค์กรทั้งสองมีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างมาก ทั้งในด้านของภารกิจ อำนาจหน้าที่ กระบวนการเข้าสู่ตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากความเป็นจริงในสังคมไทยแล้ว ตุลาการและองคมนตรีกลับมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างมีนัยสำคัญ

 

ประธานศาลและองคมนตรี

 

ภาพลักษณ์สำคัญประการหนึ่งของฝ่ายตุลาการในสังคมไทยก็คือ การทำหน้าที่แทนพระมหากษัตริย์ในการตัดสินข้อพิพาทต่างๆ ดังมักมีการกล่าวอ้างอยู่เสมอว่าบทบาทหน้าที่ของศาลในการพิพากษาคือ ‘การตัดสินในปรมาภิไธย’

แม้ว่าความข้อนี้อาจมีข้อถกเถียงได้ในทางทฤษฎี แต่หากพิจารณาในทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ ฝ่ายตุลาการนับเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ข้าราชการสายวัง’[3] อันมีความหมายถึงกลุ่มข้าราชการที่มีความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์และทำหน้าที่ดูแลกิจการด้านต่างๆ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งหลังพ้นจากตำแหน่งประธานศาลฎีกา เมื่อ พ.ศ. 2510 ก็ได้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี (พ.ศ. 2511) รวมทั้งได้กลายเป็น ‘นายกฯ พระราชทาน’ ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทั้งนี้ สัญญา เป็นนักกฎหมายที่ได้รับการยกย่องจากสาธารณะว่ามีความซื่อสัตย์และได้ถวายงานใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ตราบจนกระทั่งบั้นปลายของชีวิต หรือนายประกอบ หุตะสิงห์ ประธานศาลฎีกาถัดจากนายสัญญา ก็ได้มีเส้นทางชีวิตในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน

แม้การดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาอาจมีผลสืบเนื่องต่อตำแหน่งองคมนตรีในภาคหน้า แต่ถ้าพิจารณาการเมืองไทยตั้งแต่ ‘หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ’ มาจนกระทั่งถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มีประธานศาลฎีกาเพียง 2 คนจาก 11 คนเท่านั้นที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรีภายหลังจากพ้นจากตำแหน่ง กล่าวคือ นายจินดา บุณยอาคม (ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา 2516 – 2517) และนายจำรัส เขมจารุ (2529 – 2532) ดังนั้น สถานะของการดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาจึงไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะนำไปสู่การเป็นองคมนตรี

แต่ภายหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 จนถึงการยึดอำนาจของคณะรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2549 กลับมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างมาก ดังจะพบว่ามีประธานศาลฎีกา 5 ใน 8 คน ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี คือ นายศักดา โมกขมรรคกุล (2539 – 2541), นายสันติ ทักราล (2544 – 2545), นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (2545 – 2547), นายศุภชัย ภู่งาม (2547 – 2548), นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ (2548 – 2549) และหากพิจารณาเฉพาะประธานศาลฎีกานับตั้งแต่ พ.ศ. 2544 จนถึง 2549 ต่างได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีทุกคนเมื่อพ้นจากตำแหน่งประธานศาลฎีกา

ขณะที่มีความแตกต่างอย่างมากกับประธานศาลฎีกาที่ดำรงตำแหน่งภายหลังจากการยึดอำนาจเมื่อ พ.ศ. 2549 สืบเนื่องมาจนถึง พ.ศ. 2562 จะพบว่าไม่มีแม้แต่คนเดียวที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีภายหลังพ้นจากตำแหน่งประธานศาลฎีกา (ดูรายละเอียดในตารางประกอบ)

 

ประธานศาลฎีกา

รายชื่อและระยะเวลาของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาและตำแหน่งองคมนตรี ตั้งแต่ พ.ศ. 2516 – 2562

 

กรณีที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าหากพิจารณาให้สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็อาจช่วยให้เราสามารถเข้าใจปรากฏการณ์นี้ได้รอบด้านมากขึ้น

ภายหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ และช่วงระยะเวลาอันแสนสั้นของ ‘ฟ้าสีทองผ่องอำไพ’ สังคมไทยต้องตกอยู่ในห้วงเวลาของ ‘ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ’ อันเป็นการประนีประนอมระหว่างชนชั้นนำและกลุ่มพลังอำนาจใหม่ โดยที่ชนชั้นนำยังสามารถกำกับและควบคุมความเปลี่ยนแปลงเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเมืองที่แม้จะมีระบบการเลือกตั้งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทศวรรษ 2520 แต่ชนชั้นนำยังคงมีอำนาจเหนือระบบรัฐสภา ฝ่ายตุลาการอาจยังไม่มีความสำคัญต่อการควบคุมความผันแปรทางการเมืองแต่อย่างใด

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสำคัญบังเกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ ‘ฉบับประชาชน’ พ.ศ. 2540 ซึ่งทำให้พรรคการเมืองจากการเลือกตั้งกลายมาเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความสำคัญขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน รวมถึงการท้าทายต่ออำนาจและความชอบธรรมของชนชั้นนำและสถาบันจารีต ชัยชนะของพรรคไทยรักไทยและความพ่ายแพ้ของระบบราชการส่งผลกระทบอย่างมากต่อสถานะของชนชั้นนำ

หากพิจารณาตามแนวคิดของ Ran Hirschl ซึ่งได้ตั้งข้อสังเกตไว้ในงาน Toward Juristocracy ว่าความพ่ายแพ้ในการเมืองของการเลือกตั้งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชนชั้นนำหันมาให้ความสำคัญกับฝ่ายตุลาการเพิ่มขึ้น[4] รวมทั้งการใช้อำนาจตุลาการเข้ามากำกับการเมืองแทนกลไกแบบดั้งเดิม แนวทางการวิเคราะห์ดังกล่าวอาจให้คำตอบได้ว่าเพราะเหตุใดประธานศาลฎีกานับตั้งแต่ พ.ศ. 2544 สืบเนื่องมาจนกระทั่งเกิดการยึดอำนาจเมื่อ พ.ศ. 2549 จึงมีบทบาททางการเมืองที่เห็นได้ชัดเจนขึ้น

 

ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลการเมือง

 

การถือกำเนิดขึ้นของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ภายใต้กระแส ‘การปฏิรูปการเมือง’ อันนำมาซึ่งความพยายามออกแบบโครงสร้างการเมืองให้แตกต่างไปจากเดิม มีการจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นเป็นจำนวนมากพร้อมกับการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญ ภายใต้คำอธิบายว่าจำเป็นต้องมีองค์กรมาทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เป็นข้อโต้แย้งเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญจึงได้กลายเป็นสถาบันทางการเมืองซึ่งถูกคาดหมายว่าจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาการเมืองไทยให้มีประสิทธิภาพและความโปร่งใสมากขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญมีความแตกต่างอย่างสำคัญกับศาลยุติธรรม ทั้งในด้านองค์ประกอบ คุณสมบัติ และการให้ความเห็นชอบกับบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่ง อันเน้นการให้ความสำคัญกับความรู้ทางด้านรัฐธรรมนูญและความสัมพันธ์กับองค์กรที่มาจากประชาชนในการให้ความเห็นชอบ สัดส่วนของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งก็มาจากผู้ทรงคุณวุฒิมากกว่าผู้พิพากษาอาชีพ

ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองในทศวรรษ 2540 พรรคไทยรักไทยภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) ได้ก้าวเข้าสู่อำนาจและขยายอำนาจอย่างกว้างขวางท่ามกลางกระการต่อต้านที่เริ่มขยายตัว เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้ยกฟ้องคดีการ ‘ซุกหุ้น’ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ คำวินิจฉัยดังกล่าวได้นำมาซึ่งการกล่าวหาว่ามีการแทรกแซงองค์กรอิสระโดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ อันหมายความถึงการทำหน้าที่ที่ไม่ได้ดำเนินไปอย่างตรงไปตรงมาแต่อยู่ภายใต้การครอบงำของนักการเมือง จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่ภายหลังการยึดอำนาจเมื่อ พ.ศ. 2549 จะได้มีการยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ไป

(มีการแต่งตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาทำหน้าที่ชั่วคราว โดย นายนุรักษ์ มาประณีต คือหนึ่งในคณะตุลาการรัฐธรรมนูญชุดนั้น)

ศาลรัฐธรรมนูญที่จัดตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างสำคัญ มีการเพิ่มสัดส่วนของผู้พิพากษาอาชีพให้มากขึ้นกว่าผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านรัฐธรรมนูญ ในด้านของการให้ความเห็นชอบบุคคลที่เข้าดำรงตำแหน่ง วุฒิสภาก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเหมือนกับที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 พิจารณาจากแง่มุมนี้ ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ภายใต้อำนาจของผู้พิพากษาอาชีพและชนชั้นนำในระบบราชการมากขึ้น (นายนุรักษ์ ก็ได้ดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสืบเนื่องต่อมา ตราบจนกระทั่งพ้นจากตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2562)

ยิ่งหากพิจารณาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จะเห็นได้ว่าภายใต้กระแสตุลาการภิวัตน์ที่เข้มข้นขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญได้เข้ามาทำหน้าที่ชี้ขาดในประเด็นปัญหาต่างๆ อย่างกว้างขวาง ด้วยการทำหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งอย่างมาก ซึ่งก็หมายถึงพรรคการเมืองและการเข้าไปทำหน้าที่ในฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ อันมีความแตกต่างไปจากบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เช่น การยุบพรรคพลังประชาชน การตัดสิทธิทางการเมืองของนักการเมือง การวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เป็นต้น

(ท่ามกลางการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญอย่างเข้มแข็ง ในอีกด้านหนึ่ง ศาลฎีกาก็ไม่ต้องแบกรับภาระดังกล่าวแต่เพียงองค์กรเดียว ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้จึงได้เข้ามาทำหน้าที่และทวีความสำคัญขึ้นต่อการจัดการปัญหาทางการเมือง)

การขยายบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในห้วงเวลาดังกล่าวนี้มีการใช้เทคนิคทั้งในด้านของการตีความ แปลความบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการขยายอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญออกไปอย่างมาก คำวินิจฉัยหลายกรณีก็ได้ถูกโต้แย้งอย่างรุนแรงว่าเป็นการ ‘สร้างอำนาจ’ ให้เหนือกว่าสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง หรือเป็นการทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสูงกว่าอำนาจของฝ่ายอื่นๆ หรืออาจกล่าวได้ว่าฝ่ายตุลาการได้แสดงบทบาทในฐานะของ ‘ตุลาการธิปไตย’

ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างใด แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้ถูกพิจารณาว่ามีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างใกล้ชิด อันนำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางและรุนแรงในแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในสังคมไทย

นับตั้งแต่เมื่อเริ่มการก่อตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 จวบจนกระทั่งถึงการรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2557 ไม่มีประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใดหรือกล่าวให้ชัดเจนก็คือไม่มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใดได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี เหตุผลหนึ่งอาจมาจากการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญได้ถูกตีตราให้เกี่ยวข้องทางการเมืองไม่ว่ากับฝ่ายใดหรือฝ่ายหนึ่ง ‘การฝักใฝ่ในทางการเมือง’ ถือเป็นข้อห้ามสำคัญสำหรับการแต่งตั้งผู้ที่จะมาเป็นองคมนตรี ศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ถูกมองว่าฝักใฝ่นักการเมือง ส่วนศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย

ระหว่างประธานศาลรัฐธรรมนูญจึงมี ‘ระยะห่าง’ กับสถาบันองคมนตรีอย่างมีนัยสำคัญ ระยะห่างดังกล่าวเป็นสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9

 

องคมนตรีคนแรกจากศาลรัฐธรรมนูญ

 

4 พฤษภาคม 2563 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระบรมราชโองการแต่งตั้งนายนุรักษ์ มาประณีต ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี การมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งในครั้งนี้ต้องนับว่าเป็นหลักหมายสำคัญอีกครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในสมัยแห่งรัชกาลที่ 10

 


[1] สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับการอภิปรายดังกล่าว สามารถดูได้ใน สมชาย ปรีชาศิลปกุล, นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง: ข้อถกเถียงว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ในองค์กรจัดทำรัฐธรรมนูญของไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 – 2550 (นนทบุรี: สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, 2561) บทที่ 6 จากองคมนตรีสู่สภาที่ปรึกษาในพระองค์จำแลง

[2] พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับองคมนตรี (กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับบลิชชิ่ จำกัด, 2556) หน้า 82

[3] นอกจากฝ่ายตุลาการแล้วก็ยังมีทหาร ตำรวจ ซึ่งถูกนับว่าเป็น ‘ข้าราชการสายวัง’ ด้วยเช่นกัน อาสา คำพา เป็นผู้ที่เสนอแนวความคิดดังกล่าวเอาไว้ในดุษฎีนิพนธ์ สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2562 โดยเฉพาะในบทที่ 4 เรื่อง การก่อรูปของสถาบันพระมหากษัตริย์เชิงเครือข่าย ช่วงทศวรรษ 2500 ถึงต้นทศวรรษ 2510

[4] Ran Hirshcl, Towards Juristocracy: The origins and consequences of the new constitutionalism (Cambridge, Massachusetts, and London: Harvard University Press, 2007)

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save