fbpx
จาก 'ตุลาการภิวัตน์' ถึง 'นิติสงคราม' : สงครามไม่มีวันแล้วเสร็จของปีกขวาไทย

จาก ‘ตุลาการภิวัตน์’ ถึง ‘นิติสงคราม’ : สงครามไม่มีวันแล้วเสร็จของปีกขวาไทย

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

พลันที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยคดีเงินกู้พรรคอนาคตใหม่ บรรยากาศการเมืองไทยก็กลับมาตึงเครียดอีกครั้ง คดีเงินกู้นี้เป็นคดีสุดท้ายในมหากาพย์คดีรัฐธรรมนูญที่พรรคอนาคตใหม่ต้องเผชิญตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง 2562 เป็นต้นมา  น้อยคนคิดว่าพรรคอนาคตใหม่จะรอดไปได้ แต่ถึงโอกาสรอดจะน้อย แม้ทุกคนคิดว่ารู้ตอนจบอยู่แล้ว บรรยากาศก็ยังตึงเครียดอยู่ดี

อันที่จริง การเมืองไทยตึงเครียดเช่นนี้มา 14 ปี นับตั้งแต่วันที่กระบวนการตุลาการภิวัตน์เริ่มต้นขึ้น ในประเทศอื่นๆ ก็มีอำนาจตุลาการเข้ามาตรวจสอบการกระทำของรัฐบาลเหมือนกัน แต่ผลกระทบของคำวินิจฉัยนั้นไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลันในระดับนี้ ไม่สามารถล้มรัฐบาล เปลี่ยนชนะเป็นแพ้ เปลี่ยนแพ้เป็นชนะขึ้นมาได้ นอกจากนี้ ตุลาการภิวัตน์ของไทยยังรุนแรงกว่าปกติอีกด้วย การวินิจฉัยว่าการกระทำใดขัดรัฐธรรมนูญไม่ได้แปลว่าการกระทำนั้นสิ้นผลไปเท่านั้น แต่ยังนำไปสู่การถอดถอน การตัดสิทธิทางการเมือง ไปจนถึงการรับโทษอาญา

การใช้อำนาจตุลาการตรวจสอบฝ่ายการเมืองของไทยเกิดขึ้นถี่มากผิดปกติ เหนือสิ่งอื่นใด การใช้อำนาจตุลาการแบบไทยๆ นั้นมีทิศทางชัดเจน นั่นคือผู้ชมทุกคนคาดคะเนได้เสมอว่า ใครจะรอด-ไม่รอดจากอำนาจตุลาการ ที่น่าเศร้าคือ ผู้ชมทุกคนไม่อาจลุกขึ้นเปลี่ยนบท หรือโวยวายอะไรได้เลย

ปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้ดูเหมือนจะเป็นสัญญาณว่า การเมืองประเทศไทยนั้นไม่ปกติ มีความวิปริตบางอย่างซุกซ่อนไว้ในการใช้อำนาจตุลาการ ปรากฏการณ์ตุลาการภิวัตน์ที่ดำเนินการมากว่าทศวรรษแล้ว บัดนี้กลายมาเป็นนิติสงคราม ดังที่ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ บรรยายไว้อย่างเห็นภาพ

เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

 

ก่อกำเนิดตุลาการภิวัตน์

 

หากมองแค่เพียงเรื่องการใช้อำนาจตรวจสอบฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ (judicial review) รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ก็มีบทบัญญัติในเรื่องนี้ไว้แล้ว โดยมีการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองเพื่อตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางนิติบัญญัติและการกระทำทางปกครองตามลำดับ การออกแบบระบอบรัฐธรรมนูญให้ฝ่ายตุลาการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองในฐานะผู้พิทักษ์ระบอบ (judicialization of politics) เป็นลักษณะของการออกแบบรัฐธรรมนูญในระยะหลังๆ ซึ่งไม่ปล่อยให้นักการเมืองเป็นผู้ตัดสินใจทางการเมืองแต่ฝ่ายเดียว

ในระยะแรกนั้น การใช้อำนาจตุลาการตรวจสอบรัฐบาลเป็นไปอย่างระมัดระวัง จนหลายคนเห็นว่าศาลมีลักษณะอนุรักษนิยมมากเกินไป หรืออ่อนข้อให้กับฝ่ายการเมืองมากเกินไปด้วยซ้ำ โดยเฉพาะในช่วงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่ศาลรัฐธรรมนูญแทบจะปฏิเสธการเข้าไปตรวจสอบรัฐบาลโดยสิ้นเชิง

จุดกำเนิดของตุลาการภิวัตน์มาจากความรู้สึกสิ้นหวังของบรรดากลุ่มผู้ต่อต้านนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรในช่วงปี 2548 นาทีนั้นทุกคนเห็นว่ากลไกการเมืองปกติถูกอดีตนายกรัฐมนตรีคนนี้ครอบงำจนหมดสิ้นแล้ว พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งครั้งที่สองแบบถล่มทลาย จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ วุฒิสภาถูกกล่าวหาว่ามีความสัมพันธ์กับนักการเมืองเลือกตั้ง นอกจากนี้ ทั้งวุฒิสภาและองค์กรอิสระก็ถูกกล่าวหาว่าถูกทักษิณเลี้ยงไว้เป็นรายเดือน ดังนั้น แรงกดดันให้ออกมาช่วยแก้ไขปัญหาบ้านเมืองจึงตกอยู่กับสององค์กร คือ ทหารและศาล

ทางด้านศาลก็ไม่ได้กระตือรือร้นออกมาทันที จนกระทั่งมีพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ความว่า “ต้องขอร้องฝ่ายศาลให้ช่วยกันเถิด เวลานี้ประชาชนทั่วไปเขาหวังในศาล โดยเฉพาะศาลฎีกา และศาลอื่นๆ ประชาชนบอกว่า ศาลดียังมีความซื่อสัตย์สุจริต มีความรู้ เพราะได้เรียนรู้กฎหมายมา และพิจารณากฎหมายที่ต้องศึกษาดีๆ ประเทศชาติจึงจะรอดพ้นได้” มอบให้แก่ผู้พิพากษาประจำศาลและตุลาการศาลปกครองสูงสุด ในวาระถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่ง ต่อมาได้เกิดปรากฏการณ์ประธานสามศาลมาประชุมกัน  จรัญ ภักดีธนากุล ในฐานะตัวแทนสามศาล ออกมาแถลงการณ์สามข้อว่า 1. ศาลจะเร่งพิจารณาพิพากษาคดีให้เร็วที่สุด ทันต่อความจำเป็น 2. ไม่ว่าคดีความจะขึ้นสู่ศาลใด การใช้กฎหมายและตีความกฎหมายจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันไม่ขัดแย้งกัน และ 3. การดำเนินการของแต่ละศาลยึดหลักความเป็นอิสระ ให้ดำเนินการไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายด้วยความสุจริตยุติธรรม

แถลงการณ์นี้สำคัญมาก แม้ไม่ระบุคดีความใด เหมือนกล่าวลอยๆ แต่ในบริบทนั้นเข้าใจได้ว่าหมายถึงคดีความเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ที่ยังคาราคาซังเนื่องจากพรรคฝ่ายค้านไม่ลงแข่ง และพรรคไทยรักไทยถูกกล่าวหาว่าทำผิดกฎหมายเลือกตั้งหลายข้อ คำประกาศดังกล่าวจึงเป็นจุดเปลี่ยนศาล จากองค์กรระงับข้อพิพาทที่ต้องตั้งรับ (passive) กลายเป็นองค์กรเชิงรุก (active) และเปลี่ยนจากองค์กรกฎหมายกลายเป็นองค์กรการเมือง

หลังจากนั้นไม่นาน ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ระงับการเลือกตั้งซ่อมในเก้าจังหวัด และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งเป็นโมฆะด้วยเหตุทุจริตหลายประการ เมื่อถึงตอนนั้นก็เลยกำหนด 60 วันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้จัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ ถึงแม้จะกำหนดวันเลือกตั้งขึ้นจนได้ แต่สุดท้าย สุญญากาศทางการเมืองนี้กลายเป็นเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหารกันยายน 2549 ขึ้นมาเสียก่อน

ถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้เริ่มตุลาการภิวัตน์ แต่คณะรัฐประหารกลับยุบศาลรัฐธรรมนูญลงเสียเพราะระแวงว่าที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญอ่อนข้อให้ทักษิณมากเกินไป ดังนั้น คดียุบไทยรักไทยจึงตัดสินโดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อตัดสินคดีในช่วงเวลารัฐประหารโดยเฉพาะ

กระบวนการตุลาการภิวัตน์ยังไม่เริ่มต้นขึ้นอย่างแท้จริงจนกระทั่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ประกาศใช้ และวุฒิสภาเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าประกอบไปด้วยบุคคลผู้มีความเห็นทางการเมืองตรงข้ามกับอดีตนายกฯ ที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะไม่พ้นจรัญ ภักดีธนากุล ซึ่งหลังจากเป็นโฆษกให้กับสามศาลแล้ว ก็ไปเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ก่อนจะได้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน

นั่นคือจังหวะที่ตุลาการภิวัตน์เดินเครื่องเต็มที่ ต่อจากนั้น ก็เป็นไปตามสำนวนที่ว่า ที่เหลือคือประวัติศาสตร์ สังคมไทยจึงได้เห็นการใช้อำนาจตุลาการยุบพรรคการเมือง ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค ระงับนโยบายรัฐบาลจำนวนมาก ตั้งแต่การเข้าทำหนังสือสัญญากับกัมพูชา การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตลอดจนนโยบายกู้เงินเพื่อทำการขนส่งระบบราง

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความสังคมไทยได้เห็นอำนาจตุลาการอาละวาดตลอดเวลา ช่วงเวลาที่ตุลาการภิวัตน์สงบลงชั่วคราว คือ ช่วงระหว่างปี 2552-2554 ในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ และปี 2557-2561 ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร คสช.

 

สายธารคำอธิบายปรากฏการณ์อำนาจตุลาการขยายตัว

 

เมื่อตุลาการก้าวเข้าไปในการเมือง คนแรกๆ ที่ออกมาอธิบายไม่ใช่นักนิติศาสตร์ แต่คือ ธีรยุทธ บุญมี ซึ่งอธิบายไว้ว่าคือ กระบวนการตุลาการภิวัตน์ของระบบการปกครอง (judicialization of politics) และสหรัฐอเมริกาเรียกว่าการตรวจสอบฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติโดยระบบตุลาการ (power of judicial review) ซึ่งคือการที่อำนาจตุลาการเข้าตรวจสอบการออกกฎหมาย และการใช้อำนาจของนักการเมืองอย่างจริงจัง

ผู้สนับสนุนการขยายอำนาจของตุลาการอธิบายว่า นี่คือกรณีตุลาการตีความก้าวหน้า (judicial activism) ใช้อำนาจตุลาการที่ตนเองมีอยู่ขยายออกไปเพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนและรักษาระบอบการเมืองไว้ บางคำอธิบายไปไกลถึงขั้นเทียบคำวินิจฉัยคดีเลือกตั้ง 2549 กับศาลฎีกาสหรัฐอเมริกาตีความเรื่องสิทธิเสรีภาพในช่วง New Deal และยุค Civil Rights Movement ซึ่งที่จริงไม่น่าจะเปรียบเทียบกันได้เลย

สำหรับผู้วิจารณ์อธิบายว่าการใช้อำนาจของตุลาการในครั้งนี้เป็นความพยายามแทรกแซงกระบวนการทางการเมือง ซึ่งขัดหรือแย้งกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ นี่ไม่ใช่เรื่องสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ไม่ใช่การตีความตัวบทก้าวหน้า แต่เป็นการสร้างความหมายใหม่ให้กับกฎหมายที่มีอยู่เดิม

ทั้งหมดนี้คือปฏิกิริยาเมื่อตุลาการภิวัตน์แรกเกิดขึ้นในการเมืองไทย เหมือนคนโยนก้อนหินลงในบ่อน้ำก็ต้องเกิดคลื่นปั่นป่วนก่อนคลื่นจะสงบลงในที่สุด ความสับสนมึนงง การถกเถียงอันอื้ออึงนี้จึงค่อยลดน้อยถอยลง การแทรกแซงทางการเมืองด้วยอำนาจตุลาการจึงกลายเป็นความปกติใหม่ (new normalcy) ที่ไม่ค่อยปกตินักของการเมืองไทย โดยเรียกทั่วไปว่า ‘ตุลาการภิวัตน์’ และยอมรับว่าคำนี้หมายถึงการแทรกแซงกระบวนการการเมืองโดยศาลในฐานะผู้พิทักษ์ระบอบการเมือง การแทรกแซงนี้กระทำผ่านคำพิพากษา ผ่านการตีความขยายขอบเขตของกฎหมายลายลักษณ์อักษรไปจนเกินกว่าที่ปกติเข้าใจกัน

ส่วนการแทรกแซงนั้น เป็นไปเพื่อพิทักษ์ประชาธิปไตย พิทักษ์ประชาชน หรือพิทักษ์กลุ่มชนชั้นนำ อันนี้แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน

ผ่านมาเกินทศวรรษ นอกจากประชาธิปไตยจะยังไม่แข็งแรงมั่นคงสมดั่งที่ตั้งใจแล้ว ประเทศไทยยังได้รู้จักคำใหม่ๆ นอกเหนือจากตุลาการภิวัตน์เพิ่มอีก คือ ตุลาการธิปไตย (juristocracy) รัฐประหารโดยศาล (judicial coup) และการทำตุลาการให้เป็นการเมือง (politicization of the judiciary)

คำสุดท้ายเป็นด้านกลับของ judicialization of politics เมื่อศาลก้าวเข้าไปในการเมือง หากไม่ระวังจะกลายเป็นเชื้อเชิญให้การเมืองเข้าไปสู่สถาบันตุลาการ การตัดสินคดีไม่ใช่การตีความกฎหมายตามหลักนิติศาสตร์และข้อเท็จจริงอีกต่อไป แต่ศาลกลายเป็นผู้เล่นในสนามการเมือง และใช้สถานะตนเองให้เกิดประโยชน์ทางการเมืองสูงสุด การพิจารณาคดีและการวินิจฉัยคดีอาจจะไม่ใช่เรื่องของกฎหมายแต่เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองที่ชี้นำ

สุดท้ายแล้ว รัฐประหารโดยศาลก็ไม่สำเร็จ ไม่สามารถกุมอำนาจได้อย่างใจนึก เมื่อสบโอกาส จึงเกิดการรัฐประหารขึ้นจริงๆ ในปี 2557 แต่การใช้อำนาจตุลาการทำลายฝ่ายตรงข้ามก็กลับมาอีกครั้งเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ประกาศใช้ และการเลือกตั้งทั่วไปใกล้เข้ามา

คำศัพท์ล่าสุดถูกนำเสนอโดย ปิยบุตร แสงกนกกุล เขาพูดถึง ‘นิติสงคราม’ (lawfare) คือ การนำกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมมาใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมือง มีเป้าประสงค์ในทางการเมือง เพื่อปราบปรามศัตรูทางการเมืองหรือฝ่ายตรงข้าม  ‘นิติสงคราม’ ทำงานโดยอาศัยการผสมผสานกันระหว่าง ‘ศาล’ และ ‘สื่อ’

ถ้าจะขอเสนอให้ลึกลงไปกว่าที่ปิยบุตรพูด นิติสงครามเป็นขั้นกว่าของตุลาการภิวัตน์ และน่าจะอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ได้เห็นภาพยิ่ง ว่านี่ไม่ใช่เรื่องของสถาบันตุลาการอย่างเดียวแล้ว แต่ตุลาการเป็นแค่องคาพยพหนึ่งของเครื่องจักรสงครามขนาดใหญ่ที่กำลังเข้าปะทะกับประชาธิปไตย และไม่ใช่แค่สื่อที่ร่วมมือ แต่ยังมีมวลชนปีกขวา และกลไกตามรัฐธรรมนูญอีกไม่น้อยทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ มีเป้าหมายที่ต้องกำจัดอย่างชัดเจน

คดีความที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่มีการขุดและคุ้ยอย่างจริงจัง มวลชนปีกขวาทำหน้าที่เป็นกองเชียร์ เป็นลูกมือ ช่วยแพร่กระจายข่าว กระพืออารมณ์ร่วม หลายครั้งมีผู้ร้องเรียนก่อนจะส่งเรื่องต่อไปยังองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะสอบสวนและฟ้องศาลรัฐธรรมนูญต่อไป รวมถึงมีกลไกกฎหมายป้องกันไม่ให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ได้

 

เส้นทางสู่นิติสงคราม

 

เครื่องจักรสงครามที่เรียกว่า ‘นิติสงคราม’ ผลิตขึ้นจากสองปัจจัย คือ วัฒนธรรมกฎหมายที่เป็นพิษ และรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ความเหลื่อมล้ำในการใช้บังคับกฎหมายสูงยิ่ง ไม่ปฏิเสธเลยว่าคนไทยสามารถทำนายผลของคดีได้โดยรู้แค่สังกัดการเมืองของจำเลย ถ้าเลือกถูกฝั่งจะได้รับความคุ้มครอง ถึงผิดก็ถูกจับ ถึงจับก็ทำคดีล่าช้าไม่ฟ้อง ถ้าฟ้องก็ได้ประกัน ต่อให้ต้องคำพิพากษาก็รอการลงโทษ นี่ย่อมก่อเกิดอารมณ์ฮึกเหิมในหมู่มวลชน ในขณะที่อีกฝ่าย คดีความดำเนินไปอย่างรวดเร็ว รุนแรง และเด็ดขาดเสมอ การประกันตัว ปลดตรวน หรือรอการลงโทษก็อาจจะไม่ได้รับความเมตตา

ด้วยไม่มีกฎหมายกำกับควบคุมพฤติกรรม การปลุกระดมมวลชนก็สุดโต่งขึ้นเรื่อยๆ อีกด้านหนึ่งก็มุ่งปิดปากอีกฝ่ายจนไม่สามารถโต้เถียงได้ถนัด มวลชนปีกขวาก็ถือกำเนิดและแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ

อีกปัจจัยที่สำคัญ คือ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ซึ่งขยายอำนาจศาลออกไปอย่างกว้างขวางขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการยุบพรรคการเมืองในกรณีที่กรรมการบริหารรู้เห็นการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง พร้อมตัดสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคห้าปี การขยายประเภทหนังสือสัญญาที่คณะรัฐมนตรีต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนเข้าทำกับนานาอารยประเทศ หรือการห้าม ส.ส. ก้าวก่ายราชการประจำ บทบัญญัติเหล่านี้เพิ่มขึ้นมาในรัฐธรรมนูญฉบับปี ​2550 และกลายเป็นคดีความทั้งสิ้น

แต่สิ่งที่รัฐธรรมนูญละเว้นไม่เขียนไว้ก็สำคัญไม่แพ้กัน วิกฤตการเมืองที่นำไปสู่จุดจบของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 นั้นเกิดมาจากองค์กรอิสระและศาลขาดกลไกความรับผิด ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ละเลยที่จะขบคิดปัญหานี้อย่างจริงจัง กลายเป็นว่าเมื่ออำนาจการเมืองอยู่ในมือของพวกตนแล้ว จึงกลับมอบหมายให้องค์กรเหล่านี้มีอำนาจเพิ่มขึ้น โดยออกแบบระบบสรรหาให้ตกอยู่ในเงื้อมมือของพวกตนต่อไป

เมื่อทั้งสามเหตุผลถูกรวมเข้าด้วยกัน นิติสงครามจึงถูกสร้างขึ้น

 

ตุลาการภิวัตน์ ประชาธิปไตยวิบัติ

 

เมื่อผลของอำนาจตุลาการภิวัตน์ไม่ใช่การพิทักษ์รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย แต่เป็นความวิบัติ อำนาจตุลาการแทรกแซงเสียงข้างมาก กระบวนการทางการเมือง และการเลือกตั้ง จนเกิดผลไม่ปกติ ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอเนื่องจากถูกยุบได้ง่าย การขึ้นเป็นรัฐบาลอยู่ที่ศาลส่วนหนึ่ง ไม่ใช่เสียงประชาชน เมื่อเป็นแล้วก็ไม่สามารถนำสัญญาเมื่อตอนหาเสียงมาดำเนินการเป็นนโยบายได้เพราะไม่ผ่านการเห็นชอบจากศาล

ประชาธิปไตยวิบัติเพราะหลักนิติธรรมวิบัติด้วย หลักการแบ่งแยกอำนาจสั่นคลอนอย่างหนักเมื่อตุลาการขยายอำนาจ กฎหมายลายลักษณ์อักษรไม่มีความหมายเพราะตุลาการสามารถตีความเกินเลยตัวอักษรไปไกลไม่มีหลักเกณฑ์ สำคัญที่สุดคือหลักความเป็นอิสระของตุลาการซึ่งมีไว้เพื่อธำรงความน่าเชื่อถือของสถาบัน ตุลาการอาจจะยังเป็นอิสระในทางกฎหมาย แต่ในทางการเมือง ตุลาการไทยดูเหมือนจะเลือกข้างไปแล้ว และไม่ได้ยืนอยู่ข้างประชาชนหรือความยุติธรรม

ผู้แพ้คดีเชื่อว่าตุลาการอคติ แต่ใช่ว่าผู้ชนะคดีจะเชื่อว่าตุลาการนั้นยุติธรรม อาจจะชอบใจเพียงว่าตุลาการนั้นมีประโยชน์กับยุทธศาสตร์การเมืองของตนเพียงเท่านั้นเอง

สุดท้ายแล้ว ‘นิติสงคราม’ จะสิ้นสุดลงที่ไหนไม่มีใครบอกได้ จากภารกิจล้มระบอบทักษิณขยายใหญ่ขึ้นเป็นการล้มประชาธิปไตย แช่แข็งพัฒนาการของการเมืองและสังคมไทย สวนกระแสความต้องการมวลชน ทำให้ฐานสนับสนุนปีกขวาไทยหดเล็กลง สภาพเช่นนี้ยิ่งยึดกุมอำนาจตุลาการไว้ให้แน่นหนาขึ้นไปอีก

แต่ฝันดังกล่าวของปีกขวาไทยจะเป็นจริงได้หรือไม่ เมื่อฝันขัดแย้งกับกระแสมหาชน การยุทธ์ที่ดำเนินอยู่จึงไม่อาจมีวันสิ้นสุด อาจกลายสภาพเป็นการชนะศึก แต่แพ้สงคราม (win the battle but lose the war)

ตุลาการภิวัตน์ ประชาธิปไตยวิบัติ สร้างความอึดอัดคับข้องใจในหมู่มหาชนครั้งแล้วครั้งเล่า จนสุดท้ายระเบิดออกมา

และแน่นอนว่า เมื่อถึงวันนั้น สถาบันตุลาการอาจจะต้องจ่ายหนี้แสนแพง

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Thai Politics

20 Jan 2023

“ฉันนี่แหละรอยัลลิสต์ตัวจริง” ความหวังดีจาก ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงสถาบันกษัตริย์ไทย ในยุคสมัยการเมืองไร้เพดาน

101 คุยกับ ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงภูมิทัศน์การเมืองไทย การเลือกตั้งหลังผ่านปรากฏการณ์ ‘ทะลุเพดาน’ และอนาคตของสถาบันกษัตริย์ไทยในสายตา ‘รอยัลลิสต์ตัวจริง’

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

20 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save