fbpx
Journalism of Data : โลกออนไลน์ต้อนรับแต่บทความที่สร้างจากข้อมูล?

Journalism of Data : โลกออนไลน์ต้อนรับแต่บทความที่สร้างจากข้อมูล?

ผมคุยกับน้องๆ นักเขียนในระยะหลังบ่อยๆ ว่า – ตอนหลังมานี้ รูปแบบของ ‘บทความ’ ที่ลงตามสื่อออนไลน์ทั้งหลาย มันชักจะมีแค่ ‘รูปแบบ’ เดียวยังไงชอบกล

 

[ขึ้นต้นเรื่องด้วยคำว่า ‘ผม’ ผมทำนั่น ผมทำนี่ ผมว่าอย่างนั้น ผมว่าอย่างนี้ ผมอยากจะบอกว่า ผมไม่อยากจะบอกว่า – เหล่านี้คือวิธีการแบบ Traditional Columnist ยุคก่อน 2540s หรือคอลัมนิสต์โบราณชัดๆ – ซึ่งเราจะอภิปรายกันต่อไปในบทความนี้อีกที]

รูปแบบไหนเหรอพี่”

[เอาบทสนทนามาใช้ในบทความ Non-Fiction คือกระบวนการ Fictionalization คือทำเรื่องซีเรียสๆ ให้ดูเล่นๆ ขึ้น มีความเป็นมนุษย์แทรกปนเข้ามากขึ้น อันนี้ก็เป็น Traditional Columnist เหมือนกัน แต่เป็นราวๆ ยุคหลัง 2540s มาแล้ว – ซึ่งเดี๋ยวจะอภิปรายกันต่อไปบทความนี้อีกที]

ก็รูปแบบที่ใช้ ‘ข้อมูล’ จากที่ต่างๆ มา ‘ประกอบร่าง’ กระทั่งกลายเป็นบทความหนึ่งช้ินน่ะสิ

อ้าว! แล้วบทความที่ดีไม่ควรเป็นแบบนั้นอยู่แล้วเหรอพี่” รุ่นน้องถาม ทำให้เราต้องนั่งคุยกันต่ออีกนาน

 

คุณเคยได้ยินคำว่า Data Journalism ไหมครับ

แล้วรู้ไหมครับว่า Data Journalism, Database Journalism กับ Data-Driven Journalism มันต่างกันยังไง

[เอาแล้วเว้ยเฮ้ย! – นี่ไง วิธีเขียนงานแบบ ‘สมัยนี้’ – รุ่นน้องเอ่ยแซว / แหม่ – ก็ไม่เชิงหรอก, ผมบอก แต่ก็พอมีกลิ่นอายอยู่เหมือนกันนะ ว่าคนสมัยนี้เขียนบทความแบบไหน]

เราคงคุ้นเคยกับคำว่า Data Journalism กันเป็นอย่างดี คำนี้หมายถึง Journalism (จะเรียกเป็นไทยว่าอะไรดี เพราะเรียกว่า ‘วารสารศาสตร์’ ก็ดูเร่อร่าพ้นสมัย ใครเขาทำ ‘วารสาร’ กันบ้างล่ะยุคนี้!) ที่ใช้ข้อมูลแบบ data ที่เป็นตัวเลขเยอะๆ มหาศาลตามแบบ Big Data มาสร้างเป็นข้อมูลแบบ information (คือทำให้เข้าใจง่ายขึ้น) แล้วค่อยกระจายแพร่หลายออกไปอีกที ดังนั้น Data Journalism จึงครอบคลุมไปถึงประมาณรายงานต่างๆ ที่ใช้คอมพิวเตอร์ประมวลผล, การทำอินโฟกราฟิก, การทำ Data Visualization หรือการทำ Interactive Visualization อะไรทำนองนั้น

Data Journalism ไม่ได้เพิ่งเกิดนะครับ แต่ฟิลิป มีเยอร์ (Philip Meyer) แห่ง Detroit Free Press เคยใช้คอมพิวเตอร์เมนเฟรมทำรายงานข่าวการจลาจลในเมืองดีทรอยท์ในปี 1952 โน่นแล้ว รวมไปถึงเคยใช้คอมพิวเตอร์ในการหารูปแบบ (Pattern) ของการพิพากษานักโทษในฟิลาเดลเฟียยุคเจ็ดศูนย์ด้วย

แบบนี้แหละครับ ที่เป็น Data Journalism

แต่ถ้าเป็น Database Journalism ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นการใช้ ‘ฐานข้อมูล’ มาทำงาน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เอาข้อมูลมาทำเป็น ‘โครงสร้างหลัก’ ในการทำข่าว โดยให้ความสำคัญกับตัวฐานข้อมูลมากกว่าวิธีทำข่าว

นักวิชาการสื่ออย่าง Wiebke Loosen ให้นิยาม Database Journalism ว่าเป็นวิธีเขียนหรือพัฒนาข่าวโดยมี ‘ข้อมูล’ (Data) ชุดหนึ่งอยู่ตรงใจกลาง แล้วจัดการกับเนื้อหาต่างๆ ที่อยู่รายรอบข้อมูลนี้ให้ออกมาเป็นงานข่าว โดยข่าวที่ว่า สามารถกระจายไปตาม ‘เครื่องมือ’ ที่แตกต่างกันได้ เช่น เอาไปลงหนังสือพิมพ์ก็ได้ เอาไปทำพ็อดแคสต์ก็ได้ ฯลฯ โดยตัวอย่างของ Database Journalism ก็คือโครงการอย่าง mySociety ของอังกฤษ ที่เป็นโครงการประชาธิปไตยออนไลน์ (e-Democracy) ซึ่งเป็นโครงการสร้างเครื่องมือประชาธิปไตยออนไลน์ในอังกฤษ โดยการให้ผู้คนมาให้ข้อมูลต่างๆ เยอะแยะไปหมด หรือที่น่าจะเข้าใจง่ายกว่าก็อย่างเช่นเว็บ chicagocrime.org ที่เอาข้อมูลอาชญากรรมมาทำตำแหน่งลงไปบนแผนที่กูเกิ้ล เป็นต้นแบบให้เว็บอย่าง EveryBlock ที่รวบรวมข้อมูลเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ แล้วหนังสือพิมพ์หรือสื่อต่างๆ หยิบเอาไปใช้ได้อีกต่อหนึ่ง

เพราะฉะนั้น ถึงจะฟังดูคล้ายๆ กัน แต่ Data Journalism เป็นเรื่องการจัดการข้อมูลที่ ‘ปลายทาง’ มากกว่า ในขณะที่ Database Journalism จะเป็นการจัดการข้อมูลที่ ‘ต้นทาง’ หรือคิดหาแพล็ตฟอร์มในการนำข้อมูลที่มีอยู่มารวมกัน (เรียกว่า Mashup ข้อมูลหลากแบบเข้าด้วยกัน)

อ้าวพี่ – แล้วบทความออนไลน์ที่พี่ว่าน่ะ มันแบบไหนล่ะ”

[เฮ้ย! นี่กำลังเขียนบทความออนไลน์แบบใหม่อยู่ เอาวิธีเขียนแบบเก่าแทรกเข้ามาทำไมวะ ไปก่อนไป ไปเล่นตรงโน้น!]

บทความออนไลน์ที่เราเห็นกันตามสื่อออนไลน์ปัจจุบันนี้ มักเป็นบทความที่มีลักษณะโดดเด่นอย่างหน่ึงที่แตกต่างไปจากบทความสมัยก่อน

สิ่งที่แตกต่างก็คือ ‘ข้อมูล’ ที่ถูก ‘คัดเลือก’ (Curated) มาแล้วเป็นอย่างดีโดยตัวคนเขียนนั่นเอง

เราจะเห็นว่า วิธีเขียนบทความออนไลน์สมัยใหม่ที่มีลักษณะ ‘กระแสหลัก’ คือการเขียนงานโดยอิงกับงานวิจัยหรือบทความจากต่างประเทศ (ที่ก็อิงกับงานวิจัยอีกนั่นแหละ) อาทิเช่น,

เริ่มต้นด้วยการบอกว่า คุณรู้ไหมว่า นักพฤติกรรมศาสตร์ A บอกไว้ว่าอย่างนี้ / แล้วนักประสาทวิทยา B ก็มาศึกษาสมองของอาสาสมัครตามที่ A ว่าไว้ ยืนยันได้ผลออกมาเหมือนกันเลย / จากนั้นก็มีนักสังคมวิทยา C เอาผลการทดลองที่ได้ทั้งหมด มาอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมแบบนั้นแบบนี้ว่าอย่างนี้ แล้วก็ได้ผลลัพธ์ออกมาอย่างนี้ ซึ่งก็จะสอดคล้องกับปรากฏการณ์นี้นั้นโน้นในสังคมไทยของเราอย่างไรบ้าง / จบ

 

วิธีเขียนงานแบบนี้เรียกว่า Data-Driven Journalism หรือเป็นการเขียนงานโดยเอา ‘ข้อมูล’ มาเป็นแรงขับเคลื่อน โดยมีกระบวนการทำงานสี่ขั้นตอน คือ

1. เริ่มต้นจากการ ‘เข้าให้ถึง’ ข้อมูล (Data) ต่างๆ เสียก่อน (Data must be found) ซึ่งก็อาจต้องใช้ทักษะพิเศษต่างๆ ซึ่งทักษะพิเศษของนักเขียนไทยโดยทั่วไปก็คือการอ่าน ตามข่าว หรือเรียนรู้บทความทั้งในและต่างประเทศที่เป็น ‘แนวหน้า’ ให้ได้เยอะๆ กว้างขวางที่สุด อ่านลึกไปถึงงานวิจัยต้นทางได้ยิ่งดี อ่านกันตาหูแฉะเป็นร้อยหน้าสามสิบบทความเพื่อเอามาเขียนบทความเดียวได้ยิ่งเจ๋ง ยิ่งอ่านแล้วสืบสาวราวเรื่องต่อไปให้ลึกขึ้นเรื่อยๆ (แบบที่เรียกว่า Interrogation) ได้ก็ยิ่งดี

พี่ๆ พี่กัดตัวเองอยู่หรือเปล่าเนี่ย”     

[แสส บอกแล้วไงให้ไปเล่นไกลๆ โน่น ไปก่อนไป เดี๋ยวค่อยมาอ่าน!]

2. ขั้นตอนที่สำคัญกว่าการ ‘เข้าถึง’ ข้อมูล ก็คือการ ‘กรอง’ (Filter) ข้อมูลพวกนั้น ว่าจะเอาอะไรมาใช้ไม่เอาอะไรมาใช้บ้าง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นการ Curate ข้อมูลก็ได้ ตรงนี้แหละครับสำคัญ เพราะมันจะทำให้นักเขียนแต่ละคนมีผลงานที่แตกต่างกัน แต่จะ ‘เลือก’ ข้อมูลพวกนี้ได้เป็น ก็ต้องมีทักษะ เช่น เข้าใจศัพท์เฉพาะ (Jargons) ต่างๆ อ่านกราฟเป็น รู้ว่างานต้นทางที่เขียนด้วยภาษาวิชาการมากๆ นั้น มันหมายความว่าอะไร

3. ขั้นตอน ‘นึกภาพ’ (คือ Visualization) คือต้องเห็นให้หมด ว่าข้อมูลที่เราจะเอามาทำนี่ มันควรจะเรียงร้อยยังไง ผู้อ่านถึงจะเข้าใจเรื่องยากๆ เหล่านี้ได้ง่ายที่สุด พูดแบบการเขียนก็คือต้องวาง ‘โครงเรื่อง’ เอาไว้ให้ชัดให้แน่น แล้วค่อยมานั่งเขียน

4. ขั้นตอนการเขียน (หรือที่จริงคือการ ‘เล่าเรื่อง’ ซึ่งอาจไม่ใช่แค่การเขียนก็ได้) เป็นขั้นตอนที่อาจจะง่ายที่สุดในสี่ขั้นตอนที่ว่ามา เพราะถ้าวางโครงเอาไว้แน่นหนาจริงๆ สิ่งที่ทำก็คือแค่ ‘เติมคำในช่องว่าง’ ให้เสร็จสมบูรณ์เท่านั้น ซึ่งตรงนี้ต่างจากนักเขียนรุ่นก่อนๆ ที่อาจจะไม่วางโครงเรื่องเลยก็ได้ มาถึงก็เขียนปุ๊บติดปั๊บไปเลย เนื่องจากไม่ต้องเอาข้อมูลใหม่ (Input) มาประมวลอีกรอบ แต่เขียนจากข้อมูลเก่าที่มีในตัวอยู่แล้ว

นักกลยุทธ์เว็บ (Web Strategist) อย่าง Henk van Ess เคยบอกว่า การเขียนงานแบบ Data-Driven Journalism นี่ มีวิธีเล่าเรื่องสำคัญแบบหนึ่งคือเล่าไปตามสิ่งที่ตัวเองค้นพบ (คือเล่าไปตาม workflow ในการทำงานของตัวเอง) และไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามกฎของการเล่าเรื่องที่ดีตามขนบเดิมๆ ดังนั้น วิธีเล่าเรื่องแบบ Data-Driven Journalism จึงไม่ค่อยมีหลากหลายรูปแบบนัก ส่วนใหญ่ก็คือการ ‘บอก’ ว่าผู้เขียนได้ค้นพบอะไรจากกองข้อมูลบ้าง เพราะฉะนั้น การเขียนหนังสือแบบนี้ ตัว ‘คุณภาพ’ ของข้อมูล จึงเป็นเรื่องสำคัญมากพอๆ กับการกรอง

 

 

สมัยก่อนนักเขียนรุ่นพี่เขาเขียนงานยังไงกันอ่ะ เอาพวก non-fiction นะ”

สมัยก่อนเหรอ – ผมนิ่งไปครู่หนึ่ง

ในปางบรรพ์ เมื่อแสงเรื่อแห่งดิจิทัลยังหาได้ทาบทาขอบฟ้าไม่ ผู้คนเขียนถึงประกายวามของน้ำค้างยามเช้าซึ่งสะท้อนเงากลีบดอกไอริสแฝงปรัชญาลึกเร้นของเพลโตซ่อนอยู่ในนั้น หอยทากเดินไปช้าๆ ไม่รับรู้ว่าแสงตะวันที่ทำให้ร่างของอบอุ่นนั้นต้องเดินทางไกลถึง 149.6 ล้านกิโลเมตร ก่อนตกกระทบเปลือกมันเลื่อมภายนอก

แบบนั้นเขาก็เขียนกันนะ – ผมบอก คือพยายามใช้ลีลาภาษาสวยๆ ทำให้บทความออกไปในแนว ‘ความเรียง’ (Essay) มากกว่า กับอีกแบบคือเป็นคอลัมนิสต์อย่างที่บอกไว้ตอนต้น คือชอบเขียนว่า ‘ผมว่า’ ‘ผมคิดว่า’ อะไรทำนองนั้น (ซึ่งทำให้นักเขียนชายได้เปรียบนักเขียนหญิงมากเพราะใช้สรรพนามได้สะดวกกว่า และทำให้หลายคนวิจารณ์ว่าพวกนักเขียน non fiction ชอบเอาตัวเองเป็นใหญ่)

แต่ผมว่านักเขียนสมัยก่อนน่ะ ไม่ค่อยมีข้อมูลเท่าไหร่ เขียนกันไปเรื่อย ชอบโม้ แล้วก็บอกว่าตัวเองคิดแบบนั้นแบบนี้”

[ก็ใช่น่ะสิ (เว้ย) เพิ่งบอกไปว่าหลายคนวิจารณ์ว่าพวกนักเขียนชอบเอาตัวเองเป็นใหญ่ – ผมนึกในใจ]

จำได้ว่า สมัยก่อนโน้น เวลาจะเขียนบทความสักเรื่อง สิ่งที่ต้องทำก็คือไป ‘หาข้อมูล’ ที่ห้องสมุด อย่างเช่นห้องสมุดธรรมศาสตร์ (แถวๆ ชั้นหนังสือสังคมวิทยา ประวัติศาสตร์ หรือรัฐศาสตร์ นี่ ผมเป็นขาประจำเลย) แล้วข้อมูลต่างๆ ก็หายากมาก หลายครั้งจึงต้องใช้วิธี ‘อนุมาน’ หรือปะติดปะต่อข้อมูลที่ขาดวิ่นให้ออกมาเป็นภาพใหญ่ (ซึ่งถ้าทำในปัจจุบัน จะถูกเรียกว่าเป็นพวก ‘มโนข้อมูล’)

แม้แต่ข้อมูลที่เดี๋ยวนี้แค่คลิกทีเดียวก็เจอแล้ว อย่าง – ทำไมสะพานกรุงธนฯ ถึงต้องชื่อว่า ‘ซังฮี้’ ผมก็ต้องทำถึงขั้นไปสัมภาษณ์ผู้รู้ เพราะข้อมูลที่ได้จากสองแหล่ง (หา – แค่สองแหล่งเองเหรอพี่ โอ๊ย! มันจะเชื่อถือได้ยังไงกัน!) มันไม่ตรงกัน มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่แตกต่าง ทำให้ต้องไปหาความเห็นที่สามมายืนยัน

ดังนั้น ‘ข้อมูล’ ในสมัยนั้นจึงเป็นสิ่งที่ ‘หายาก’ (มี Scarcity สูงลิบลิ่ว) กว่าจะได้อะไรมาสักอย่างก็ยากเย็นแสนเข็ญ ผมจึงนับถือคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์รายวันที่ต้องเขียน ‘ทุกวัน’ โดยไม่ได้มีกองข้อมูลในอินเทอร์เน็ตมากมายก่ายกองให้ค้นคว้าอย่างในทุกวันนี้ เพราะคนเหล่านี้ต้อง ‘ผลิตความคิดเห็น’ ทุกวัน เมื่อต้องทำแบบนั้นโดยไม่สามารถตรวจสอบยืนยันข้อมูลให้ถ่องแท้ได้ เราจึงเห็นอาการบกพร่องผิดพลาดได้บ่อยๆ และหลายคนก็ต้องตกหล่นสูญหายไปจากบรรณพิภพเพราะความผิดพลาดพวกนี้

แล้วลักษณะงานเขียนล่ะพี่”

โอ๊ย – ถามเยอะจริงเว้ย, เคยเห็นงานเขียนของนักหนังสือพิมพ์รุ่นเก่าไหมล่ะ ประเภทที่เขียนแล้วก็ย่อหน้าเยอะๆ น่ะ

เคยพี่ อ่านแล้วเบื่อ ไม่รู้จะย่อหน้าเยอะไปไหน”

ที่จริง การย่อหน้าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะ มันสร้างบุคลิก น้ำเสียง ตัวตน และจังหวะการรับรู้ข่าวต่างๆ ออกมาได้เลย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยบอกเลยว่าวิธีย่อหน้าของบทความในหนังสือพิมพ์จะมีลักษณะแบบหนึ่ง ในนิยายก็อีกแบบหนึ่ง นักหนังสือพิมพ์เก๋าๆ นี่ บางข้อมูลอาจเปิดเผยไม่ได้ ก็ใช้ ‘จังหวะ’ ของการย่อหน้าพวกนี้นี่แหละสร้างความกำกวม ล้อเล่น แทรกอารมณ์ขัน ทำให้งานของพวกเขามี ‘ลีลา’ ที่มีลักษณะเฉพาะ และเปิดเผยข้อมูลระหว่างบรรทัดอย่างมีศิลปะ

พูดก็พูดเถอะ ยังไงเราก็ต้องยอมรับว่า งานเขียนของคนสมัยก่อนไม่มีทางมีข้อมูลมารองรับเท่าคนสมัยนี้ได้เลย ดังนั้น เวลาคนจะติดตามงานเขียนของคนสมัยก่อน เลยติดตามที่สองส่วนที่สำคัญ ได้แก่ ‘ลีลา’ ที่ว่ามานี่ กับ ‘ความคิดเห็น’ ที่ผุดขึ้นมาจากตัวตนของคนคนนั้น ไม่ใช่การเอาข้อมูลมาตัดแปะให้เห็นว่า ‘คนอื่น’ เขาคิดยังไงกันบ้าง คอลัมนิสต์อย่างคุณวาณิช จรุงกิจอนันต์ เลยเขียนถึงนกหนูปลาแรดรถมือสอง ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องจิปาถะในชีวิตประจำวันในคอลัมน์ ‘สนทนาพาที’ ของนิตยสารสตรีสารได้ยืนยาวหลายสิบปี และผู้อ่านก็ติดกันมากด้วย เพราะลีลาการเขียนสนุก และใช้ ‘ข้อมูล’ ที่ได้จากชีวิตรอบตัวรวมถึงความคิดเห็นของตัวเอง ไม่ต้องไปนั่งทำวิจัยถามความคิดเห็นของคนอื่น

แต่การใช้แค่ลีลากับความคิดเห็นนี่ ในอีกด้านก็เป็นเรื่องอันตรายเอามากๆ นะครับ เพราะว่ามันอาจจะผิดเมื่อไหร่ก็ได้ ความอัตคัตข้อมูลในสมัยก่อนทำให้เราสามารถสถาปนาใครบางคนขึ้นมาเป็น ‘ผู้รู้’ ในบางด้านได้แบบสัมบูรณ์ เช่นถ้าอยากรู้เรื่องนี้ ก็ต้องไปสัมภาษณ์คนนี้ ความรู้ที่ได้มาจากคนนี้ ถือเป็นเรื่องที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ เถียงไม่ได้ ในด้านหนึ่ง วิธีการแบบนี้เลยสร้างสังคมอำนาจนิยมทางความรู้ขึ้นมาด้วย ไม่เหมือนสมัยนี้ที่เด็กรุ่นใหม่อาจมีข้อมูลในมือเหนือกว่าผู้ใหญ่

 

ลักษณะสำคัญที่เกิดต่อเนื่องจากวิธีเขียนสมัยก่อนก็คือ

1. พอเขียนไปแล้ว ตีพิมพ์แล้ว จะแก้ไขอะไรไม่ได้ งานออกมาอย่างไรก็ต้องออกไปอย่างนั้น ทำให้คาถา ‘นักเขียนตายแล้ว’ แพร่หลาย คือผู้คนสามารถวิจารณ์ต่อยอดตีความไปได้ตามต้นทุนของตัวเอง

2. นอกจากงานจะมีฐานมาจาก ‘ความคิดเห็น’ แล้ว การตีความหรือวิพากษ์วิจารณ์ก็มักจะมาจากฐานของ ‘ความคิดเห็น’ ด้วย (เพราะทั้งสองฝ่ายอัตคัตข้อมูลพอๆ กัน) ที่น่าสนใจก็คือ มักมีการวิจารณ์ ‘ลีลา’ ซึ่งเป็นเรื่องของรสนิยมและการวิจารณ์ในแง่ศิลปะการเขียนมากกว่าการวิจารณ์ข้อมูล ถ้ายังจำกันได้ เคยมีผู้เสนอให้มี ‘ซีไรต์สารคดี’ ซึ่งในที่สุดก็ทำไม่ได้ เพราะสารคดีไม่ได้มีแค่ศิลปะ แต่ต้องมีการตรวจทานความถูกต้องของข้อมูลด้วย ลำพังกรรมการซีไรต์ที่มีจำนวน ทุนรอน และวงความรู้จำกัด ไม่น่าจะสามารถตัดสินงานสารคดีได้ เว้นแต่ต้อง ‘ลงทุน’ กับกรรมการมากกว่าที่เป็นอยู่ – ซึ่งคงเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้

3. งานคอลัมนิสต์ยุคก่อน 2540s มักจะได้รับอิทธิพลมาจากงานเขียนในหนังสือพิมพ์ จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นแบบ ‘ผมคิดว่า…’ เยอะมาก แต่หลังยุค 2540s มาแล้ว ได้รับอิทธิพลมาจากสองแนวทาง แนวหนึ่งคือแนว Fiction ทำให้เกิดวิธีเล่าเรื่องที่คล้ายเรื่องสั้น มีตัวละคร น้ำเสียง อารมณ์ความรู้สึก กับอีกแนวหนึ่งคือการใช้ทฤษฎีวิชาการเข้ามาวิเคราะห์ แต่ทั้งสองแนวทางยังมีแกนกลางอยู่ตรงการแสดงความคิดเห็น ‘ของตัวเอง’ ออกมา

 

ส่วนงานสมัยใหม่นั้น จะมีลักษณะ

1. คนเขียนตายไม่ได้ เพราะสามารถกลับไปแก้ไข edit งานที่ปรากฏอยู่ในโลกออนไลน์ได้ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าตีพิมพ์แล้วก็แข็งตัวอยู่บนกระดาษอย่างนั้นตลอดไป ต้องรอจนกว่าพิมพ์ใหม่ถึงจะแก้ไขได้ ดังนั้นการ update บทความเก่า (โดยการบอกผู้อ่านให้รู้ด้วยนะครับ) จึงเป็นสิ่งที่พบเห็นเสมอ

2. เมื่องานเขียนมีฐานจากข้อมูลมากกว่าลีลาและความคิดเห็น วิธีเขียนจึงไม่จำเป็นต้องอาศัยลีลา คลังคำ หรือศิลปะในการเขียนมากเท่ากับวิธีเขียนแบบเดิมๆ แต่พุ่งเป้าไปที่การประสานข้อมูล ทำให้ข้อมูลมันสอดรับสนับสนุนกัน ที่สำคัญที่สุดก็คือการให้น้ำหนักกับคำว่า ‘ความรัดกุม’ เหนือสิ่งอื่นใด จนกระทั่งบางครั้งกลายเป็นงานที่แข็งกระด้าง เต็มไปด้วยข้อมูลสนับสนุนแบบไม่ยอมให้พลาด ดังนั้น วิธีโต้แย้งวิจารณ์จึงมักกลับไปให้ความสำคัญที่ฐานของข้อมูล ทั้งความถูกต้องของข้อมูล ความรอบด้านของข้อมูล และการคัดเลือกหรือ ‘กรอง’ เอาข้อมูลมารับใช้บทสรุปของตัวเอง

3. ด้วยความที่ข้อมูลมีเยอะแยะตาแป๊ะไก๋ ดังนั้นเวลาเขียนจึงอยาก ‘นำเสนอ’ ให้หมดครบถ้วน สุดท้ายเลยมักได้แต่นำเสนอความคิดเห็น ‘ของคนอื่น’ (ที่มีที่มาจากฐานข้อมูลที่หามา) และลืมเลือนหรือทอดทิ้งการนำเสนอความคิดเห็น ‘ของตัวเอง’ ไป หรือไม่ก็นำเสนอออกมาไม่ชัดเจนแจ่มแจ้งนัก

4. ส่วนการวิจารณ์ในโลกออนไลน์อีกแบบหนึ่ง พอคนเขียนตายไม่ได้หรือไม่เข้าใจวิธีวิจารณ์แบบคนเขียนตายแล้ว เลยพุ่งเป้าวิพากษ์วิจารณ์ไปโจมตีที่ ‘ตัว’ ของคนเขียนแทน ซึ่งหลายครั้งก็กลายเป็นตรรกะวิบัติแบบ Ad Hominem ไปเลย

 

การเขียนเป็นข้อๆ โดยแต่ละข้อไม่ได้สัมพันธ์อะไรกันเล้ย – นี่ก็วิธีเขียนแบบออนไลน์นะพี่”

เออ รู้

พี่รู้ป่ะ พี่เขียนแบบนี้ พี่วอนโดนคนรุ่นใหม่ด่า โดยเฉพาะคนที่อ่านเว็บ 101 นี่แหละ”

รู้สิเว้ย

อ้าว แล้วพี่ไม่กลัวเหรอ”

เรื่องนึง – ผมบอก, ที่คนสมัยก่อนฝึกกันมาโดยไม่รู้ตัวก็คือคาถา ‘ช่างแม่ง’ นี่แหละ

ที่ช่างแม่งได้นี่ ไม่ใช่เพราะปลงได้จริงๆ หรอกนะครับ แต่เพราะสมัยก่อนการให้ฟีดแบ็คมันยาก ต้องเขียนจดหมาย ต้องไปซื้อสแตมป์ เขียนแล้วใส่ซอง เอาไปส่งไปรษณีย์อีก ดังนั้นฟีดแบ็คเลยน้อย เขียนอะไรไปก็นึกว่าขว้างก้อนหินลงมหาสมุทร คนสมัยก่อนเขียนอะไรไปก็เลยเหมือน ‘ถูกฝึก’ จาก ‘ระบบ’ ทั้งหมด ให้ไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ว่าฟีดแบ็คเป็นอย่างไร หลายคนจึง ‘จิตแข็ง’ ต่อฟีดแบ็คมากกว่า แต่ก็มีหลายคนเช่นเดียวกันที่ตื่นเต้นกับฟีดแบ็คออนไลน์ยุคใหม่จนทำอะไรไม่ถูกเวลาเจอฟีดแบ็คเยอะๆ

แล้วพี่เขียนบทความนี้ขึ้นมาทำไม”

ไม่ทำไมหรอก – แค่ถึงกำหนดต้องส่งต้นฉบับ ตื่นมานึกว่าจะเขียนอะไรก็เขียน ซึ่งเป็นวิธีแบบคอลัมนิสต์ยุคออฟไลน์ แต่พอเขียนแล้วก็ต้องเสิร์ชหาข้อมูล ซึ่งหาได้ง่ายมาก อย่างหนึ่งเพราะเคยอ่านมานานแล้วเรื่อง Data Journalism, Database Journalism กับ Data-Driven Journalism นี่ ก็เลยมีจุดเริ่มต้นการเขียนแบบคอลัมนิสต์ยุคออฟไลน์ แต่มีวิธีหาข้อมูลแบบคอลัมนิสต์ยุคออนไลน์ สุดท้ายก็เลยออกมาเป็นบทความหัวมังกุท้ายมังกรนี้

ที่เขียนบทความนี้ขึ้นมา อีกอย่างหนึ่งก็คืออยากโยนคำถามทิ้งท้ายไว้ว่า ทำไมในขณะที่คนรุ่นใหม่สมาทานความหลากหลาย แต่ทุกวันนี้เรากลับมี ‘ความหลากหลาย’ ของ ‘รูปแบบ’ หรือ ‘ลักษณะ’ ของบทความน้อยลงมาก

เอาเข้าจริง โดยส่วนตัวแล้วมีคำตอบในใจหลายคำตอบ ล้วนแล้วแต่เป็นคำตอบที่ปราศจากงานวิจัยหรือบทความจากต่างประเทศมารองรับ – พูดง่ายๆ ว่า ‘นั่งเทียนนึกเอาเอง’, ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น เมื่อได้อธิบายความมาจนถึงคำถามสั้นๆ แค่ที่อยากจะถามนี้แล้ว ก็คิดว่าคงต้องจบการอภิปรายอันยาวยืดนี้เสียที พร้อมกับตระหนักรู้แน่แก่ใจว่า จะมีคอมเมนต์ว่า – เขียน (เหี้ย) อะไรวะ มีแต่น้ำ มีแต่ลีลา มีแต่เปลือก สาระมีนิดเดียวเอง พร้อมกับขอจบไปด้วยเสียงหัวเราะแบบนักเขียนออฟไลน์ผสมออนไลน์ว่า,

อิอิ (ถ้าเป็นออฟไลน์) และ 555 (ถ้าเป็นออนไลน์)

สวัสดี

.

.

.

เฮ้ยพี่ อย่าเพิ่งไป!”

[ไม่ทันละ]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save