fbpx

ไทย-มาเลเซีย: จากพื้นที่พิพาทสู่พื้นที่พัฒนาร่วมในทะเล

“คนรุ่นต่อไปคงจะฉลาดกว่าเราแน่นอน พวกเขาคงสามารถหาทางออกซึ่งเป็นที่ยอมรับได้ของทุกฝ่าย”

เติ้ง เสี่ยวผิง กล่าวในปี 1978 เมื่อจีนกับญี่ปุ่นมีปัญหาพิพาทเรื่องเกาะเซ็งกากุ/เตียวหยู

บ่อยครั้งที่มีการนำเรื่องข้อพิพาทเหนือพื้นที่ซึ่งอ้างสิทธิทับซ้อนกันขึ้นมาสู่การถกเถียงในสาธารณะหรือในเวทีระหว่างประเทศ ต้นแบบความสำเร็จในการทำความร่วมมือในการพัฒนาเขตไหล่ทวีปทับซ้อนกันในอ่าวไทย (Joint Development Area) ระหว่างไทยและมาเลเซียมักจะถูกนำเสนอขึ้นมาพิจารณาในทำนองว่า ถ้าหากประเทศเพื่อนบ้านสามารถมองเห็นผลประโยชน์ร่วมกันและยอมประนีประนอม จะสามารถแสวงหาประโยชน์จากพื้นที่พิพาทได้เสมอ แม้ว่าจะยังไม่สามารถหาข้อยุติกันได้ว่าเขตของใครอยู่ตรงไหนก็ตาม

ทำนองเดียวกัน ระยะนี้มีการหยิบพื้นที่พัฒนาร่วมของไทยและมาเลเซียมาเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจในการรื้อฟื้นการเจรจาหาข้อยุติเรื่องพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันในอ่าวไทยระหว่างประเทศไทยและเพื่อนบ้านกัมพูชาที่ค้างคากันมานานกว่าสองทศวรรษ เพื่อที่จะได้มีโอกาสนำทรัพยากรปิโตรเลียมที่เชื่อว่ามีอยู่อย่างมหาศาลใต้ท้องทะเลขึ้นมาใช้ เพื่อลดแรงกดดันทางด้านพลังงานที่กำลังเผชิญกันอยู่ในปัจจุบัน

เป็นเรื่องจริงที่ว่าไทยและมาเลเซียประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนพื้นที่พิพาททางทะเลให้มาเป็นพื้นที่ซึ่งพัฒนาหาประโยชน์ร่วมกัน จนสามารถนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ได้จนถึงปัจจุบัน แต่หนทางแห่งความสำเร็จเช่นว่านั้นก็ใช้เวลานานโขและใช้ความอดทนในการเจรจาต่อรองกันไม่น้อย นับแต่ไทยและมาเลเซียเริ่มเปิดการเจรจาเรื่องเขตแดนทางทะเลครั้งแรกในปี 1972 จนกระทั่งถึงวันที่สามารถขุดเจาะก๊าซธรรมชาติขึ้นมาได้จริงในปี 2005 ก็เป็นเวลาถึง 33 ปีเลยทีเดียว

แต่นั่นก็นับว่ารวดเร็ว เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีของพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา ซึ่งถ้านับจากวันที่เปิดการเจรจาเรื่องเขตแดนและการอ้างสิทธิทับซ้อนกันครั้งแรกในปี 1970 จนถึงปัจจุบันก็เป็นเวลาถึง 53 ปีแล้ว ยังไปไม่ถึงไหน จึงฟังดูเป็นเรื่องที่ชอบด้วยเหตุผลอยู่ไม่น้อยที่จะนำกรณีของไทย-มาเลเซียมาเป็นต้นแบบแห่งความสำเร็จและบทเรียนสำหรับการดำเนินการกับกัมพูชา โดยคำนึงถึงว่า ปัญหาเรื่องความมั่นคง เขตแดน และผลประโยชน์แห่งชาติ เป็นสิ่งที่สามารถพิจารณาให้สอดคล้องกันได้ ไม่จำเป็นต้องขัดแย้งกันเสมอไป

โลซิน: โขดหินหรือหลักเขต

ปฐมบทแห่งข้อพิพาทเรื่องดินแดนระหว่างไทยและมาเลเซียก็ไม่ต่างจากกรณีของไทยและกัมพูชามากนัก นั่นคือการอาศัยหลักเกณฑ์และพื้นที่ฐานที่แตกต่างกันในการประกาศเขตแดนทางทะเลและกำหนดไหล่ทวีป ประเทศไทยประกาศเขตไหล่ทวีปโดยอาศัยเส้นขอบของเกาะโลซินเป็นเส้นมัธยฐานในการวัดระยะความกว้างของไหล่ทวีป ส่วนมาเลเซียไม่เห็นด้วยกับแนวนี้ ด้วยเหตุผลว่าการกำหนดพื้นที่ไหลทวีปควรจะใช้ฝั่งเป็นเส้นมัธยฐาน

ที่สุดเมื่อไม่สามารถตกลงกันได้ จึงเกิดพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันคิดเป็นพื้นที่ประมาณ 7,250 ตารางกิโลเมตร ซึ่งบริเวณนี้จะอยู่ห่างจากปัตตานี 180 กิโลเมตร จากสงขลา 260 กิโลเมตรและห่างจากโกตาบารูในรัฐกลันตันของมาเลเซีย 150 กิโลเมตร ที่สำคัญมันมาพร้อมด้วยแนวคิดใหม่ที่ว่าควรจะพัฒนาพื้นที่ตรงนั้นร่วมกันเพื่อนำทรัพยากรปิโตรเลียมขึ้นมาใช้เป็นเวลา 50 ปีจนทรัพยากรบริเวณนั้นหมดไปแล้ว จึงค่อยมาพิจารณาเรื่องพื้นที่ไหล่ทวีปและเขตแดนทางทะเลกันอีกที

ประเด็นสำคัญที่ทิ้งค้างเอาไว้สำหรับอนาคตข้างหน้าอยู่ตรงที่ว่าประเทศไทยสามารถใช้เส้นขอบเกาะโลซินเป็นเส้นมัธยฐานในการกำหนดพื้นที่ไหล่ทวีปได้หรือไม่ ความจริงในหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยทะเลทั้งหลายอนุญาตให้ใช้ขอบเกาะเป็นเส้นมัธยฐานในการกำหนดทะเลอาณาเขตและไหล่ทวีปได้ แต่ปัญหาคือโลซินนั้นไม่ได้มีลักษณะเหมือนเกาะที่คนทั่วไปเข้าใจ หากแต่เป็นโขดหินขนาดเล็ก (บางครั้งอาจจะเรียกว่ากองหิน) โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำประมาณ 10 เมตรและฐานที่อยู่ใต้น้ำมีขนาดเพียง 50 ตารางเมตรเท่านั้น ไม่มีหาดทราย ไม่มีต้นไม้ ไม่มีคนอาศัยอยู่ กองทัพเรือไทยได้สร้างประภาคารเล็กๆ เอาไว้เพื่อให้เป็นจุดสังเกตุสำหรับการเดินเรือ ป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุเรือไปชนโขดหินนั้นเท่านั้น

ผู้สันทัดกรณีเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยทะเลให้ความเห็นว่า ถ้าถือตามอนุสัญญาเจนีว่าด้วยกฎหมายทะเลปี 1958 ซึ่งไทยเข้าเป็นภาคีและให้สัตยาบันตั้งแต่ปี 1968 ถือว่าโลซินเป็นเกาะ แต่อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลที่ออกมาในปี 1982 ซึ่งไทยเข้าเป็นภาคีในปีเดียวกัน มาให้สัตยาบันในปี 2011 ไม่ถือว่าโลซินเป็นเกาะเนื่องจากไม่มีคนอาศัยอยู่และไม่สามารถใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้

แผนภูมิแสดง พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนระหว่างไทย-มาเลเซีย และเกาะโลซิน ที่เป็นปัญหา

Source: Jianwei Li and Pingping Chen. “Joint Development in the South China Sea: Is the Time Ripe. Asian Yearbook of International Law Vol.22 (2016)

อย่างไรก็ตามในระยะที่ผ่านมามีการใช้โลซินเป็นพื้นฐานในการสร้างวาทกรรมทางการเมืองอยู่บ้าง เช่นว่าพื้นที่ใต้น้ำบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ สำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเลที่นักดำน้ำนิยมไปเที่ยวดูปะการังกัน และเป็นสมบัติของชาติควรค่าแก่การหวงแหน เพราะถ้าไทยเสียไปให้มาเลเซียจะทำให้ไม่สามารถอ้างพื้นที่ไหล่ทวีปที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรทางด้านปิโตรเลียมมาเป็นของไทยได้เลย แท่นขุดเจาะก๊าซและน้ำมันในบริเวณนั้นจะเสียไปให้มาเลเซีย

ดูเหมือนความเห็นตามสื่อสังคมออนไลน์จะใช้โลซินเป็นเหตุผลในการสนับสนุนให้กองทัพเรือซื้อเรือดำน้ำด้วย ตัวอย่างข้อความที่คลุมเครือเกี่ยวกับโลซิน พื้นที่พิพาทกับมาเลเซียและปัญหาการแบ่งแยกดินแดน ดังต่อไปนี้…

“คนที่ไม่ใช่คนแถบสามชายแดนภาคใต้ สงสัยว่าทำไมอยากแบ่งแยกดินแดนกันนักหนา สงสัยว่าต้องการอะไรกันแน่ นี่แค่บางส่วน และยังมีอีกขุมทรัพย์มหาศาลประเมินค่ามิได้ แอบซ่อนอะไรเอาไว้…เกาะโลซิน จ.ปัตตานี กองหินที่ทำให้ไทยมีอาณาเขตเพิ่มขึ้น 200 ไมล์ทะเล หรือ ประมาณ 370 กม. สาเหตุที่ทำไม มีบางคนถึงไม่อยากให้ไทยมีเรือดำน้ำ”[1]

พื้นที่และองค์กรพัฒนาร่วม

เมื่อเห็นพ้องกันว่ายังคงไม่สามารถหาทางออกเรื่องเขตแดนทางทะเลได้ในเร็ววัน รัฐบาลไทยและมาเลเซียจึงเบี่ยงเบนความสนใจ (ความจริงดูเหมือนจะเป็นจุดประสงค์หลักตั้งแต่ต้น) ไปที่การพัฒนาพื้นที่พิพาทดังกล่าวให้เกิดประโยชน์ร่วมกันจนสามารถบรรลุความตกลงในบันทึกความเข้าใจ หลังการประชุมร่วมระหว่างนายกรัฐมนตรีเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ของไทยและนายกรัฐมนตรี ดาโต๊ะ ฮุสเซน ออนน์ แห่งมาเลเซีย ที่เชียงใหม่ระหว่างวันที่ 19-21 กุมภาพันธ์ 1979 โดยสาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจดังกล่าวมีดังนี้คือ

  1. กำหนดพื้นอ้างสิทธิทับซ้อนกัน พร้อมทั้งแผนที่แนบท้าย
  2. คู่ภาคีจะแก้ไขปัญหาเรื่องการแบ่งเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทยโดยการเจรจาและโดยสันติวิธีอื่นๆ
  3. ให้มีการจัดตั้งองค์กรร่วมในชื่อว่า องค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจและแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เป็นเวลา 50 ปี ค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์ที่ได้จากองค์กรร่วมนี้จะแบ่งปันโดยเท่าเทียมกัน
  4. ทั้งสองฝ่ายยังคงมีสิทธิในการประมง การเดินเรือ การสำรวจทางอุทกศาสตร์และสมุทรศาสตร์ต่อไป
  5. ถ้าสามารถหาข้อยุติเรื่องการแบ่งเขตไหล่ทวีปได้ภายใน 50 ปีให้ยุบองค์กรร่วมนี้ แต่ถ้าเกิน 50 ปีแล้วยังไม่สามารถหาข้อยุติที่พอใจกันทั้งสองฝ่ายให้ข้อตกลงนี้มีผลบังคับใช้ต่อไป

หลังจากนั้นทั้งสองฝ่ายใช้เวลาอีกถึง 12 ปีเต็มเพื่อเจรจาจนบรรลุข้อตกลงเรื่องธรรมนูญขององค์กรร่วมให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 มกราคม 1991 โดยธรรมนูญกล่าวได้กำหนดอำนาจหน้าที่ โครงสร้างขององค์กรร่วม จากนั้นก็มีความเห็นที่แตกต่างอันเป็นเหตุให้ต้องหาข้อยุติในเรื่องสถานที่ตั้งของสำนักงานใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (Chief Executive Officer -CEO) เดิมนั้นฝ่ายไทยอยากให้จัดตั้งสำนักงานในจังหวัดสงขลาของไทย แต่มาเลเซียก็ยื่นเงื่อนไขว่า ถ้าสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศใด ต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นซีอีโอและให้คนแรกอยู่ควบสองสมัย คือแปดปีไปเลย

เมื่อเจอเข้าแบบนี้ฝ่ายไทยก็ต้องมาทบทวนข้อดีข้อเสียระหว่างการมีสำนักงานในไทยซึ่งอาจจะดูดีในเชิงสัญลักษณ์ แต่อำนาจในการบริหารและดำเนินการจะถูกควบคุมโดยคนมาเลเซีย จึงยอมเจรจาให้สำนักงานใหญ่ไปตั้งที่กัวลาลัมเปอร์แต่ ซีอีโอคนแรกเป็นคนไทย ในที่สุดตกลงตามนั้น นายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุนของไทย เดินทางไปร่วมเปิดสำนักงานใหญ่ขององค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ที่กัวลาลัมเปอร์วันที่ 21 เมษายน 1994 และผู้รับตำแหน่งซีอีโอคนแรกคือจารุอุดม เรืองสุวรรณ อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

จากนั้นมีการจัดตั้งบริษัททรานส์ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) และ ทรานส์ไทย-มาเลเซีย (ประเทศมาเลเซีย) ขึ้นพร้อมกันทั้งสองประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ 2000 เพื่อบริหารจัดการและดำเนินงานโครงการท่อส่งก๊าซและโรงงานแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย โดยมีบริษัทการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) และ บริษัทน้ำมันแห่งชาติมาเลเซียหรือ Petronas ถือหุ้นในสัดส่วน 50:50 ดำเนินการสำรวจและขุดเจาะและสามารถนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้จริงในปี 2005 ถ้าเอาปีที่ลงนามกันในบันทึกความเข้าใจคือ 1979 เป็นจุดตั้งต้นทั้งสองฝ่ายก็ใช้เวลาถึง 26 ปีกว่าจะนำก๊าซขึ้นมาใช้ได้

ความสำเร็จและบทเรียน

ปัจจัยที่ทำให้ไทยและมาเลเซียสามารถบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทร่วมกันได้มีดังต่อไปนี้

ประการแรก วิกฤตการณ์พลังงานในช่วงทศวรรษ 1970 อันเนื่องมาจากการขาดแคลนพลังงานในประเทศสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกอื่นๆ อย่างแคนาดา ยุโรป และออสเตรเลีย ในช่วงต้นของทศวรรษนั้นและวิกฤตการณ์ในตะวันออกกลางที่เกิดจากการปฏิวัติในอิหร่านในช่วงปลายทศวรรษ ทำให้หลายประเทศทั่วโลก ซึ่งก็รวมถึงมาเลเซียและไทย มองเห็นความจำเป็นที่จะต้องแสวงหาแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมเป็นของตนเอง อยู่ใกล้และมีความมั่นคงทางการผลิต ประกอบกับการสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทยและทะเลจีนใต้ในเวลานั้นบ่งชี้ให้รู้ว่าพื้นที่ในบริเวณนี้มีศักยภาพสูง ความขัดแย้งเรื่องการแบ่งเขตแดนซึ่งยากที่จะหาทางออกได้ง่ายๆ นั้นรังแต่จะทำให้เสียประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ดังนั้นผู้นำและเจ้าหน้าที่ของไทยและมาเลเซียจึงเจรจากันด้วยความอะลุ่มอล่วยและประนีประนอมโดยมุ่งหวังผลประโยชน์ร่วมกันมากว่าจะคิดว่าฝ่ายใดจะเสียเปรียบหรือได้เปรียบทั้งหมด

ประการที่สองซึ่งมีส่วนสำคัญคือ ไทยและมาเลเซียนั้นต้องพึ่งพาอาศัยและต่างตอบแทนกันในเรื่องความมั่นคง เฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ทางด้านเหนือของมาเลเซียและทางใต้ของไทย กล่าวคือมาเลเซียนั้นมีปัญหากับพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ชายแดนด้านที่ติดกับไทย ส่วนไทยนั้นมีปัญหากับขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ในเขตจังหวัดชายแดนที่ติดกับมาเลเซีย ทั้งสองขบวนการที่มีกองกำลังอาวุธและเคลื่อนไหวข้ามไปมาในพื้นที่บริเวณนั้น ไทยต้องการความร่วมมือจากมาเลเซียในการควบคุมขบวนการแบ่งแยกดินแดน ในขณะที่มาเลเซียก็ต้องอาศัยไทยในการควบคุมความเคลื่อนไหวของขบวนการคอมมิวนิสต์มาลายา ความร่วมมือและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างภาครัฐของสองประเทศจะช่วยให้สมประโยชน์สมประสงค์ด้วยกันทั้งคู่ นั่นจึงเป็นที่มาของการมองผลประโยชน์ร่วมแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยระหว่างสองฝ่ายที่เป็นประโยชน์ต่อการเจรจาความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนไปด้วยในตัว   

แต่สิ่งที่ต้องจดจำเป็นบทเรียนก็มีอยู่เช่นกัน เริ่มต้นจากความสามารถในการจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมของไทยก่อนเป็นปฐม เพราะรัฐบาลไทยไม่มีความสามารถในการสำรวจและขุดเจาะเอง จึงได้ให้สัมปทานกับบริษัทต่างชาติคือ Triton Oil และ Texas Pacific ในพื้นที่ทับซ้อนเอาไว้ก่อนที่จะมีการเจรจาเรื่องการพัฒนาพื้นที่ร่วมกับมาเลเซีย ทำให้ต้องเสียเวลาในการเจรจาเพื่อหาทางออกให้กับบริษัทด้วยการยอมให้บริษัททั้งสองมีส่วนร่วมและส่วนแบ่งในการขุดเจาะร่วมกับฝ่ายมาเลเซีย จึงกลายเป็นว่ารัฐบาลไทยเจรจาร่วมพัฒนาก๊าซธรรมชาติกับมาเลเซียให้บริษัทต่างชาติ ต่อมาภายหลังบริษัท Texas Pacific ยอมขายหุ้นให้ ปตท. ทาง ปตท. ซึ่งแรกทีเดียวเป็นรัฐวิสาหกิจจึงได้ตั้งบริษัทร่วมกับ Petronas ทำการสำรวจแปลง B-17 และ C-19 ส่วน Triton Oil ไม่ยอมจึงได้ถือสิทธิส่วนนั้นตั้งบริษัทร่วมกับ Petronas ทำการสำรวจแปลง A-18 จึงทำให้ประเทศไทยต้องยอมแบ่งผลประโยชน์ส่วนนั้นให้กับบริษัทต่างประเทศไป

อีกอย่างหนึ่งที่เป็นบทเรียนสำคัญในโครงการความร่วมมือไทย-มาเลเซียคือ ท่อส่งก๊าซจากอ่าวไทยที่ดำเนินการโดยบริษัททรานส์ไทย-มาเลเซียนั้นถูกต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่หลายอำเภอจังหวัดสงขลา เช่น สะเดา หาดใหญ่ นาหม่อม และจะนะ เพราะเป็นห่วงเรื่องผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและสังคม เกิดเป็นเรื่องราวใหญ่โตเมื่อประชาชนจำนวนมากเดินทางไปร่วมการรับฟังความเห็นสาธารณะจนเป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายปะทะกับเจ้าหน้าที่อยู่หลายครั้งหลายคราในช่วงปี 2543-45 จากยุครัฐบาลชวน หลีกภัย จนถึง ทักษิณ ชินวัตร เจ้าหน้าที่ของรัฐแจ้งความจับผู้ประท้วงด้วยข้อกล่าวว่าทำลายทรัพย์สินทางราชการ และขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ทางฝ่ายผู้ประท้วงฟ้องร้องให้ดำเนินคดีเจ้าหน้าที่รัฐบาลเช่นกันพร้อมทั้งเรียกค่าเยียวยาความเสียหาย ความขัดแย้งดำเนินอยู่หลายปี ศาลปกครองประนีประนอมให้ทั้งฝ่าย เจ้าหน้าที่ซึ่งทำตามหน้าที่จึงไม่มีความผิดอะไร ส่วนประชาชนก็มีสิทธิที่จะคัดค้านโครงการและได้รับการชดเชยเยียวยาความเสียหาย จนในที่สุดโครงการสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งในส่วนของท่อส่งก๊าซ และโรงแยกก๊าซ แต่เรื่องราวก็กลายเป็นบาดแผลทางสังคมที่เล่าต่อๆ มาจนถึงปัจจุบัน

บทสรุปแห่งอนาคต

ถึงแม้ว่าจะใช้เวลาค่อนข้างนาน มีปัญหาระหว่างการเจรจาและการดำเนินโครงการอยู่บ้าง แต่ก็สามารถกล่าวได้ว่าไทยและมาเลเซียสามารถเปลี่ยนพื้นที่พิพาทมาทำประโยชน์ร่วมกันได้เป็นอย่างดี สมควรที่จะใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการกับเพื่อนบ้านอื่นๆ ที่มีปัญหาคล้ายกัน มาถึงวันนี้ตัวโครงการยังอำนวยประโยชน์ให้กับทั้งสองประเทศอยู่ คณะรัฐมนตรีของไทยและมาเลเซียจึงมีมติเมื่อปี 2022 อนุมัติให้มีการขยายสัญญาแบ่งปันผลผลิตที่ได้จากพื้นที่พัฒนาร่วมออกไปอีก 10 ปีหลังจากที่โครงการหมดอายุลงในปี 2028 ก็จะทำให้ทั้งสองประเทศมีก๊าซธรรมชาติใช้ไปได้อีกระยะหนึ่ง และดูเหมือนว่าการขยายสัญญาในครั้งนี้จะช่วยผ่อนคลายแรงกดดันทางด้านพลังงานให้กับรัฐบาลด้วย ผู้บริหาร ปตท. บอกกับสื่อมวลชนว่า มีการเปลี่ยนแปลงการจัดส่งก๊าซธรรมชาติจากแปลง B-17 จำนวน 30 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเข้ามาในประเทศไทยจนถึงปี 2025 เพื่อชดเชยกับแหล่งเอราวัณที่ขาดหายไปด้วย

การต่อสัญญาโครงการพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียนี้ยังมีผลดีอีกประหนึ่งในแง่ของความมั่นคง กล่าวคือสามารถช่วยยืดเวลาที่สองประเทศจะต้องกลับมาเจรจาเรื่องการแบ่งเขตแดนทางทะเลและไหล่ทวีปออกไปอีกด้วย สามารถลดความขัดแย้งระหว่างประเทศไปได้อีกระยะหนึ่งเช่นกัน การลดความขัดแย้งระหว่างประเทศลงได้ ย่อมหมายความว่าสร้างความมั่นคงให้กับประเทศได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่าความจำเป็นในการเพิ่มความเข้มแข็งทางทหารก็หมดลงไปด้วย เพราะปัญหาความขัดแย้งสามารถแก้ไขได้ด้วยการเจรจาตกลงแบ่งปันผลประโยชน์กัน


References
1 “เกาะโลซิน พื้นที่มูลค่ามหาศาล สุดอ่าวไทยที่อยากให้คนไทยรู้” MToday 12 มิถุนายน 2023

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save