fbpx
ความรักของเวลา

ความรักของเวลา

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

 

ตอนที่แม่ของ “เวลา” กำลังล้างหมึกกล้วยกว่า 10 กิโลฯ เพื่อเตรียมเปิดร้านขายอาหารเวียดนามในช่วงสายของวัน ลูกอยู่ในท้องแม่มา 7 เดือนเศษแล้ว ส่วนพ่อกำลังปั้นหมูแหนมเนืองย่างอยู่หน้าเตา

มันเป็นช่วงเวลาที่หน่วงหนัก เราทำงานกินนอนอยู่ในร้านทั้งวันทั้งคืน ขณะที่ลูกค้าของเราค่อยๆ น้อยลงเรื่อยๆ เพราะสภาพโดยรวมของเศรษฐกิจประเทศอยู่ในขั้นตกต่ำ รัฐบาลเผด็จการขยันสร้างอารมณ์ผู้คนให้ทนทุกข์เหนื่อยหน่ายอยู่เสมอ และความจริงก็คือเรามองเห็นอนาคตว่าไม่สามารถแบกต้นทุนค่าเช่าร้านที่แสนแพงได้อีกต่อไป

เราปรับห้องเก็บของในร้านเป็นที่นอน เอาผ้านวมปูกับพื้น พร้อมกับวางไม้ตียุงไฟฟ้าไว้ใกล้ๆ มือเสมอ แม่ของลูกบอกว่าพอมองย้อนกลับไป มันเป็นโชคชะตาที่เราร่วมแบกรับกันมา ไม่ว่าจะอยากเลือกหรือไม่ เราก็ผ่านมาได้

แน่นอน, หนึ่งในพาหนะที่โอบอุ้มประคับประคองเราไว้อย่างเหลือเชื่อคือเพลง ตอนนั้นพ่อเพิ่งเคยฟังเพลงแจ๊สไม่นาน โดยผ่านคำแนะนำจากน้าปอ เราเปิดเพลง Acknowledgement อัลบั้ม A Love Supreme (1964) ของ John Coltrane ฟังกันในห้องเล็กๆ และมันช่างตื่นตาตื่นใจมาก

แม้ว่าเราแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับชีวิตของโคลเทรนเลย แต่เสียงเพลงของเขาก็ติดหู ราวกับว่ามันฝังไว้ในโสตเราตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ยิน

หลายครั้งที่พ่อเรียกชื่อลูกผ่านผิวหนังหน้าท้องของแม่เข้าไป ยังเผลอเรียกตามสำเนียงดับเบิลเบสของ Jimmy Garrison ที่อยู่ในท่อนอินโทรเพลง Acknowledgement ว่า “เวล้า เวลา เวล้า เวลา”

 

เราเคยเข้าใจว่าเพลงแจ๊สเข้าถึงยาก และความที่ส่วนใหญ่แล้วมันไม่มีเนื้อร้อง เราเลยมักไม่เข้าใจว่าเพลงกำลังพูดถึงอะไร

แต่อย่างน้อยชีวิตและผลงานของ‘โคลเทรน’ ก็เป็นประจักษ์พยานกับเราว่า ‘แจ๊ส’ ไม่ได้เป็นอย่างที่เราเคยเข้าใจ

ในสารคดี Chasing Trane เล่าถึงชีวิตของโคลเทรนไว้ว่าเขาเกิดวันที่ 23 กันยายน1926 ที่เมืองแฮมเล็ต รัฐแคโรไลนา เขาถูกเลี้ยงในครอบครัวตามขนมของคริสตชน ไปโบสถ์ทุกวันอาทิตย์

ปู่กับตาของเขาเป็นนักเทศน์ และนั่นคงทำให้เขาซึมซับเรื่องราวทางศาสนาและจิตวิญญาณมาตั้งแต่เด็ก และความที่เกิดในรัฐทางใต้ของอเมริกา ทำให้เขารับเอาความคิดเรื่องโบสถ์ของคนดำคือพลังสำคัญในการปกปักรักษาครอบครัว

ท่ามกลางยุคสมัยของอเมริกาที่ยังแบ่งแยกคนตามสีผิว ทั้งย่านบ้านเรือน โรงหนัง ประตูทางเข้าโรงแรม รถเมล์ ทั้งหมดถูกแบ่งที่ทางไว้สำหรับคนดำโดยเฉพาะ ราวกับทาสก็อยู่ส่วนทาส

ประเด็นคือสิ่งเหล่านี้มันเป็นสะพานแรกที่พาเขาข้ามไปพบประสบการณ์ทางด้านดนตรี

ถ้าการอ่านหรือเขียนหนังสือเป็นเรื่องขัดกฎหมาย แล้วจะเหลืออะไรให้คนดำปลดปล่อยแสดงออก ถ้าไม่ใช้ดนตรีแทนการร่ำร้องบอกเล่าอย่างสร้างสรรค์

คอร์เนล เวสต์ (Cornel West) นักปรัชญาผิวสีอเมริกันที่ศึกษาชีวิตโคลเทรนเล่าไว้ในสารคดีว่า “ดนตรีของคนดำคือคำตอบจากคนดำต่อการถูกคุกคามและทำร้าย เราจะแบ่งปันและเผยแพร่การปลอบประโลมอันอ่อนหวานท่ามกลางความหายนะ”

เด็กชายโคลเทรน อายุ 12 ปี เริ่มฝึกเล่นแคริเน็ท และอัลโต แซ็กโซโฟน หลังจากที่เขาต้องสูญเสียครอบครัวไปเกือบหมดในระยะเวลาเพียง 2-3 ปี

มันยากเกินจินตนาการถึงการรับมือของโคลเทรนในการมีชีวิตอยู่ต่อไปในวันและวัยขณะนั้น เป็นไปได้ว่าความจริงที่ห้อมล้อมเขาไว้ราวกับนักเลงเถื่อน ยังมีดนตรีคอยคุ้มภัยให้

ปี 1943 เขาย้ายตามแม่ไปที่ฟิลาเดเฟีย และสมัครเข้าเรียนดนตรีต่อที่นั่น แต่หลังเรียนจบ โคลเทรนสมัครเข้ารับราชการกับกองทัพเรือ สหรัฐอเมริกา ไปประจำการอยู่ที่เพิร์ล ฮาร์เบอร์ สังกัดวงดุริยางค์ทหารเรือจนถึงปี 1946

หลังปลดประจำการ เขากลับบ้านและออกเดินทางเพื่อเล่นดนตรีหาเลี้ยงชีพ กระทั่งได้ร่วมวงกับ Dizzy Gillespie มือทรัมเป็ตชื่อดังในขณะนั้น

การร่วมวงกับดิซซี่ ในช่วงปี 1949-1951 เสมือนการเป็นนักศึกษาฝึกงาน เพราะโคลเทรนไม่ได้เก่งกาจอัจฉริยะมาตั้งแต่แรก เขาอาศัยการฝึกซ้อมอย่างหนัก

แม้กระทั้งตอนที่นักดนตรีรุ่นพี่สั่งให้เขาหยุดซ้อมเป่า เพราะหนวกหู เขายังไล่นิ้วไปบนแซ็กโซโฟนเปล่าๆ ราวกับมันเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย

โคลเทรนผ่านจุดพลิกผันแรกในเส้นทางดนตรีคือการถูกไล่ออกจากวง เนื่องจากวง Dizzy Gillespie มีกฎที่เข้มงวดว่าไม่ให้นักดนตรีใช้ยาเสพติด ซึ่งขณะนั้นเขากำลังมัวเมาอยู่กับเฮโรอีนอย่างหนัก

ความพยายามยกระดับชีวิตทางด้านดนตรีของเขาเริ่มต้นหลังจากได้ร่วมวงกับ Miles Davis มือทรัมเป็ตเจ้าพ่อวงการแจ๊สในขณะนั้น แต่ฤทธิ์เดชของยาเสพติดก็กลับฉุดเขาไว้ แม้ว่าช่วงเวลานั้นความสามารถของเขากำลังเปล่งประกายแล้วก็ตาม

ในที่สุดความพลิกผันครั้งที่สองก็มาถึงตัว ไมล์ส เดวิส ไล่เขาออกจากวง และมันทำให้เขาคิดว่าต้องลุกขึ้นยืนให้ได้ ไม่เช่นนั้นก็จะตกต่ำไปเรื่อยๆ โคลเทรนตัดสินใจหักดิบเฮโรอีนอย่างสิ้นเชิงโดยไม่เข้ารับการบำบัดใดๆ

ความสว่างไสวในชีวิตของเขาค่อยๆ กลับมา เขาได้ร่วมเล่นกับ เธโลเนียส มังค์ (Thelonious Monk) มือเปียโนผู้อัจฉริยะ ทั้งคู่ร่วมซ้อมกันในบ้านทั้งวันทั้งคืน

จนกระทั่งโคลเทรนรู้สึกว่าเขาน่าจะยืนได้ด้วยตัวเองแล้วจริงๆ นั่นทำให้เขามีอัลบั้มแรกเป็นของตัวเองในชื่ออัลบั้มว่า Coltrane และนักวิจารณ์ก็เห็นว่าเขาเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ในวงการแจ๊ส

โคลเทรนได้โอกาสจากไมล์ส เดวิส ให้กลับเข้าไปร่วมวงด้วยอีกครั้ง และในปี 1959 โลกก็ได้รู้จักอัลบั้ม Kind of Blue ที่เขามีส่วนร่วมในการโซโล่แซ็กฯ ในเพลง So What

 

Kind of Blue ยังกลายเป็นอัลบั้มที่นักวิจารณ์ดนตรีต่างยกให้เป็นหนึ่งในอัลบั้มที่ดี่ที่สุดในโลกด้วย

ความพุ่งพล่านและเก่งกาจในตัวโคลเทรนทำให้เขาต้องหาที่ยืนเป็นของตัวเอง และนั่นทำให้เขาไม่จำเป็นต้องอยู่ในบังคับบัญชาของไมล์สอีกต่อไป

อัลบั้มของโคลเทรนที่เขาประพันธ์ด้วยตัวเองออกมาหลังจากนั้นจึงเสมือนการบิ๊กแบงพลังชีวิตครั้งใหญ่

ครั้งหนึ่งเมื่อปี 2016 ในงานคุยเรื่อง Jazz Murakami ของ ‘สิเหร่’ นักเขียนที่พ่อนับถือ หลังจากมีการทำความเข้าใจ Jazz 101 และ Murakami 101 แล้ว ช่วงท้ายๆ ลุงสุชาติ สวัสดิ์ศรี ได้ถามถึงว่าขณะนี้ภายใต้รัฐทหาร ที่เราถูกหลอกว่ามีเสรีภาพ แต่แท้จริงแล้วว่างเปล่านั้น หากจะฟัง jazz แล้วนึกถึงเพลงไหนของใครที่ให้ความรู้สึกนั้น

อย่างไรไม่แน่ใจ พ่อกลับนึกถึงเพลง Alabama ของโคลเทรน มันอยู่ในอัลบั้ม Coltrane Live at Birdland วงบันทึกเพลงนี้ในเดือนพฤศจิกายน 1963 หลังเกิดเหตุวางระเบิดโบสถ์ที่เมืองอลาบาม่า (16th Street Baptist Church) โดยพวกคนขาว Ku Klux Klan (KKK) 2 เดือนก่อนหน้า ทำให้มีเด็กสาวผิวดำตายไป 4 คน

 

เรามารู้ทีหลังว่าโคลเทรนประพันธ์เพลงนี้จากสุนทรพจน์ของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ที่กล่าวไว้อาลัยให้ผู้ตายจากเหตุการณ์ครั้งนั้น เรารู้สึกว่าซาวด์เพลงนี้เหมือนปีศาจกำลังร้องไห้ ท่ามกลางบริบท Civil Rights Movement ในขณะนั้น

ทั้ง John Coltrane – tenor saxophone, soprano saxophone, McCoy Tyner – piano, Jimmy Garrison – double bass, Elvin Jones – drums

ปีศาจสี่ตนนี้คือผู้ไม่จำนน ไม่หยุดอยู่กับที่ พวกเขาพยายามสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้ดนตรีของพวกเขาอยู่เสมอ

John Densmore มือกลองวง The Doors เคยพูดถึงโคลเทรนว่าการได้ดูการเล่นของโคลเทรน เหมือนการพบกับเวทย์มนตร์ และเขาก็สารภาพตรงๆ ว่าเขาได้แรงบันดาลใจในการตีกลองมาจาก Elvin Jones

“โคลเทรนคืออัจฉริยะ และผมคิดว่าเราไม่ควรกลัวที่จะวางโคลเทรนไว้ข้างๆ บีโธเฟน” Sonny Rollins มือแซ็กโซโฟนผู้มีชื่อเสียงอีกคนที่อยู่ร่วมสมัยกับโคลเทรนกล่าว

แม้แต่ Bill Clinton อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็เคยพูดถึงโคลเทรนไว้ว่า “ผมคิดว่าถ้าคุณมีความรักใดๆ ในดนตรี และใส่ใจกับฝีมือ เมื่อคุณได้ยินโน้ตสามหรือสี่ตัว ก็จะพูดว่าชายคนนี้กำลังถือเครื่องเป่าชิ้นนี้ และเป็นเจ้าของเพลงนี้ และเวลาที่เขากำลังเล่นดนตรี เขาเป็นเจ้าเหนือวิญญาณของตนเอง”

ไม่ว่าสารพัดคำเปรียบเปรยยกย่องถึงโคลเทรนจะว่าอย่างไร แต่ดนตรีในทัศนะของเขาเองเป็นอย่างไร เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องหลักๆ ที่นักดนตรีอยากจะทำคือการให้ผู้ฟังนึกถึงภาพของสิ่งดีงามต่างๆ ที่ผ่านมาในชีวิต

เขาไม่กลัวว่าคนจะเข้าถึงเพลงของเขายากเกินไป เป้าหมายของเขายังเป็นเช่นเดิม คือการยกระดับจิตใจผู้ฟังให้มากที่สุด เพื่อให้เขาตระหนักมากขึ้นถึงความสามารถในการใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย

ในปี 1966 โคลเทรนและวงของเขาไปถึงเมืองนางาซากิ ทุกคนลงจากรถไฟหมดแล้ว แต่เขายังนั่งอยู่และกำลังเป่าฟรุต ชาวญี่ปุ่นที่ทำหน้าที่ไปรับถามเขาว่า “คุณเป่าฟรุตทำไม” โคลเทรนตอบว่าเขากำลังหาเสียงของนางาซากิ ก่อนจะยิ้มให้และขอให้พาไปจุดที่ระเบิดลง เพื่อรำลึกดวงวิญญาณผู้ตายก่อนเข้าพักในโรงแรม

Live in Japan เป็นทัวร์สุดท้ายของเขาก่อนที่จะเสียชีวิตด้วยมะเร็งตับในปี 1967 ด้วยวัยเพียง 40 ปี

ทุกวันนี้เสียงแซ็กโซโฟนของโคลเทรนยังตราตึงเราอยู่เสมอ พ่อยังเรียกลูกตามทำนองเบสในเพลง Acknowledgement อยู่เช่นเคย

ลูกกำลังเติบโตขึ้นทุกวัน และกำลังหาจังหวะเป็นของตัวเอง เราตระหนักเสมอว่าเวลาของลูกไม่ได้มีแค่เรา

ความรักของ ‘เวลา’ อาจเป็นเช่นท่วงทำนองในบทเพลงแจ๊สของโคลเทรนที่ทั้งอ่อนหวาน ดุดัน และศรัทธาในตัวเอง รวมถึงศรัทธาในคนเสมอกันด้วย

 

_______________________________
อ่านเรื่องอื่นๆ ต่อในคอลัมน์ เมื่อเวลามาถึง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save