fbpx

พระยาเทพอรชุน (เจ๊ก จารุจินดา) ผู้ฉลอง ‘พระราชจินตนาการ’ รัชกาลที่ 5

ในห้วงเวลาสำคัญของสังคมไทยที่กำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคการบริหารงานของคนรุ่นใหม่ ย่อมมีความขัดแย้งของคนต่างรุ่น ทั้งโดยวิธีคิดและวิถีชีวิตเป็นธรรมดา เรื่องนี้มิใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดในปัจจุบัน ย้อนกลับไป 120 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงต้องเผชิญกับปัญหาในลักษณะนี้ เมื่อทรงมอบหมายให้พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์หนึ่ง (23 พรรษา) เข้าไปจัดการปัญหาในกองทัพเรือ จนสะสางลุล่วงและวางระบบการทำงานได้เป็นกิจจะลักษณะ

สมเด็จพระปิยมหาราชพระองค์นั้นมีพระราชดำรัสกับพระราชโอรสของพระองค์ว่า “พ่อเชื่อว่าเจ้าจะทำได้ พ่อจะให้พระยาเทพอรชุน (เจ๊ก จารุจินดา) ไปทำงานกับลูกด้วย เพื่อจะได้ช่วยไกล่เกลี่ยพวกหัวเก่าซึ่งเป็นผู้ใหญ่ด้วยกัน พอจะเข้าใจกันได้ง่าย


พระยาเทพอรชุน (เจ๊ก จารุจินดา)
ภาพจาก http://www.stabundamrong.go.th/web/moibook/130y%20moi/index.html#p=178


ปัญหาในกองทัพเรือ

           
เมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ สำเร็จการศึกษาจากประเทศเยอรมนีกลับมาถึงสยามต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2446 (ปฏิทินเก่า) ทรงเริ่มงานที่กรมยุทธนาธิการทหารบก ครั้นถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ศกนั้น ระหว่างการซ้อมรบที่ราชบุรี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มีพระบรมราชโองการเรียกให้กลับ แล้วแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ ขณะพระชนมายุเพียง 23 พรรษา

ขณะนั้นงานกองทัพเรือเต็มไปด้วยปัญหา กองทัพเรือเป็นลูกหนี้ห้างอีสต์เอเชียติ๊กถึง 200,000 บาทและข้าราชการกำลังแตกแยกกัน แบ่งเป็นพวกหัวใหม่กับพวกหัวเก่า พวกหัวใหม่มีกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และพระยามหาโยธา (ฉ่าง แสงชูโต) เป็นอาทิ ส่วนพวกหัวเก่า เช่น พระยาราชสงคราม (กร หงษกุล) พระยานาวาพลพยุหรักษ์ (ชม ภูมิรัตน์) และพระศรสำแดง เป็นต้น

ในหลวงรัชกาลที่ 5 มีพระราชดำรัสกับพระราชโอรสผู้ประสูติแต่พระราชเทวีของพระองค์ว่า “พ่อเชื่อว่าเจ้าจะทำได้ พ่อจะให้พระยาเทพอรชุน (เจ๊ก จารุจินดา) ไปทำงานกับลูกด้วย เพื่อจะได้ช่วยไกล่เกลี่ยพวกหัวเก่าซึ่งเป็นผู้ใหญ่ด้วยกัน พอจะเข้าใจกันได้ง่าย


จอมพลเรือ สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
ภาพจาก http://www.stabundamrong.go.th/web/moibook/130y%20moi/index.html#p=173


แม้สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นั้นจะสำเร็จการศึกษาขั้นสูงมาจากต่างประเทศ แต่ก็เป็นวิชาทหารบก และถึงจะมีความรู้ทางกิจการพลเรือนมาบ้าง ก็นับเป็นเรื่องยากในการบริหารราชการแผ่นดินที่ต้องใช้วิจารณญาณปกครอง พระยาเทพอรชุนผู้นี้จึงย้ายจากตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม มาเป็นปลัดทัพเรือ “เพื่อคอยประคับประคองถวายพระสติในเหตุการณ์ที่อาจจะพลาดพลั้งได้ตามวิสัยปุถุชน

เนื่องจากเวลานั้น พระยาเทพอรชุนมีอายุกว่า 50 ปีแล้ว เป็นผู้ใหญ่ซึ่ง “ได้ฉลองพระราชจินตนาการพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างดี แต่ก็มิได้ทัดทานสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ จนเป็นที่ขุ่นเคืองพระหฤทัย สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นั้นก็ได้แสดงความเคารพเชื่อถือพระยาเทพอรชุนในกิจการบางอย่างเป็นการสมพระราชจินตนาการของสมเด็จพระชนกาธิราชด้วย


นายพลเรือตรี พระยาเทพอรชุน (เจ๊ก จารุจินดา)
ภาพจาก http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5149.120


คนแก่ผู้เหนี่ยวรั้งคนหนุ่ม


‘พระประวัติจอมพลเรือ สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต’ ฉบับกองทัพเรือ ซึ่งมีนาวาเอก พระยาศราภัยพิพัฒ (เลื่อน ศราภัยวานิช) นายเวนวิเศษ (เลขานุการประจำพระองค์) เป็นผู้รวบรวมนั้น บรรยายถึงความสำคัญของพระยาเทพอรชุนผู้นี้ไว้ว่า

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงปล่อยให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ซึ่งอันความจริงมีพระวิชาคุณดีกว่าพระยาเทพอรชุน ทรงปฏิบัติราชการแผ่นดินโดยลำพังเด็ดขาด ต้องมีคนแก่คอยเหนี่ยวรั้งไว้บ้าง ข้างสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอก็ได้ทรงปฏิบัติคล้อยตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระชนกาธิราชทุกประการ ส่วนพระยาเทพอรชุนนั้นเล่าก็มิได้แสดงลักษณาการวางตัวว่าเป็นพระพี่เลี้ยง งานปกครองราชการทหารเรือจึงดำเนินมาโดยราบรื่นด้วยความสมัครสมานจิตต์ใจด้วยกันทุกฝ่าย

หม่อมเจ้าประสงค์สม บริพัตร ชายาในสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นั้น บันทึกไว้ว่า “เมื่อทรงทำราชการทหารเรือมาได้ประมาณ 10 ปี พระยาเทพอรชุน ปลัดทูลฉลองก็ถึงแก่กรรม พระยาเทพอรชุนมีความจงรักภักดีต่อทูนหม่อม[1]เป็นที่สุด ยึดมั่นในพระบรมราชโองการสั่งให้มาช่วยทูนหม่อมทำงาน ถึงแม้จะป่วยไข้อย่างใด ถ้าพอทำงานได้ก็มาทำงานเสมอ ทูนหม่อมรับสั่งให้ลาพักเสียบ้าง ก็ไม่ยอมพัก

ต่อมา “จนวันหนึ่งมาเป็นลมล้มลงที่ห้องปลัดทัพเรือ ตอนนี้เอะอะกันใหญ่ ทูนหม่อมต้องบังคับให้พักราชการ และวิงวอนให้เห็นแก่สังขาร ต่อจากนั้นมาก็เจ็บมาก เมื่อถึงแก่กรรม ทูนหม่อมทรงรับภาระในเรื่องการพระราชทานเพลิงศพ และทรงพิมพ์หนังสือแจกในงานศพด้วย

หนังสือดังกล่าวนั้น คือ ‘ชุมนุมตำรากลอน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ’ (2457) ดังปรากฏในคำนำ โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความตอนหนึ่งว่า “นายพลเรือเอก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ มีพระประสงค์จะทรงพิมพ์หนังสือแจกในงานศพนายพลเรือตรี พระยาเทพอรชุน (เจ๊ก) ม.ช, ม.ส.ม, ท.จ.ว, ร.ร.ห, ๓ ร.จ.พ. ร.จ.ม, ซึ่งได้สนองพระเดชพระคุณมาในตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงทหารเรือ มีรับสั่งให้กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณเลือดเรื่องหนังสือถวาย…ได้ทรงแนะนำให้พิมพ์หนังสือตำรากลอน ก็ทรงพระดำริห์เห็นชอบด้วย จึ่งได้พิมพ์หนังสือนี้



พระยาเทพอรชุน (เจ๊ก)


พระยาเทพอรชุน (เจ๊ก) ผู้นี้เกิดในต้นรัชกาลที่ 4 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2395 ในสกุล ‘จารุจินดา’ เป็นบุตรของพระยาเพชรพิไชย (ทองจีน) กับคุณหญิงเย็น

พระยาเทพอรชุน (เจ๊ก) มีปู่เป็นจมื่นราชนาคา (พิณ) ปลัดกรมพระคลังสินค้า มีทวดคือพระยาเทพอรชุน (อ้น)[2] ปลัดทูลฉลองกลาโหม มีพ่อของทวดเป็นพระยามหาอำมาตย์ (จุ้ย) ทำงานด้านมหาดไทย มีปู่ของทวดคือเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (ทองดี) เสนาบดีวัง และมีทวดของทวดเป็นเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (หม้อ) เสนาดีวังในรัชกาลที่ 1


พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามสกุล “จารุจินดา” เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2456


พระยาเทพอรชุน (เจ๊ก) ได้รับการศึกษาอย่างเก่า คือเล่าเรียนในสำนักช่างทองของบิดา และมีครูมาสอนหนังสือไทยที่บ้าน จนอายุ 15 ปี ถวายตัวเป็นมหาดเล็กวิเศษในรัชกาลพระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช

จากนั้นได้หัดทวนหัดง้าวหลังม้าที่สำนักพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิงหนารถ ในปี 2412 และปีต่อมาฝึกวิชาทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในสำนักนายพันตรี หลวงรัตนรณยุพธ์ และมิสเตอร์เบิค รวมถึงได้ตามเสด็จพระปิยมหาราชประพาสสิงคโปร์ ชวา ปีนัง พม่า และอินเดีย ในปี 2414-2415

ครั้นถึงปี 2423 เป็นทหารสำหรับสำนักทูตซึ่งมีเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ออกไปราชการประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษ และในปี 2431 ซึ่งท่านเจ้าพระยาผู้นั้นออกไปราชการที่ประเทศญี่ปุ่น


คณะราชทูตที่เดินทางไปอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2423
ผู้ที่นั่ง คือ เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี
และคนซ้ายสุด คือ พระยาเทพอรชุน
ภาพจาก https://www.facebook.com/SiamRenaissancePublishing/photos/a.1750494838609019/2509078909417271/?type=3


ในหน้าที่ราชการทหาร ได้รับตำแหน่งต่างๆ เช่น ผู้บังคับการกองทหารม้า  (2431) ยกกระบัตรใหญ่ในกรมทหารบก (2433) เจ้ากรมยุทธภัณฑ์ (2435) ทั้งยังได้เป็นองคมนตรี (2435) ในองคมนตรีสภา และรัฐมนตรี (2437) ในรัฐมนตรีสภาอีกด้วย จากนั้นจึงย้ายไปรับราชการกระทรวงมหาดไทยเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการ มณฑลปราจีนบุรี (2440) และมณฑลราชบุรี (2442)


การประชุมเทศาภิบาลกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2442
พระยาเทพอรชุนอยู่ที่ 4 จากซ้ายของแถวยืนแถวหลังผู้ที่นั่งเก้าอี้
ภาพจาก http://www.stabundamrong.go.th/web/moibook/130y%20moi2/index.html#p=18


จนถึงปี 2445 จึงย้ายกลับมาเป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม และย้ายไปเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือในปี 2447 ก่อนเปลี่ยนตำแหน่งเป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงทหารเรือเมื่อปี 2453 แล้วออกจากราชการในต้นรัชกาลสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า

พระยาเทพอรชุน (เจ๊ก) ป่วยเป็นวัณโรคและถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2456

สำหรับบรรดาศักดิ์และราชทินนาม ได้รับการพระราชทานดังนี้ หลวงสรจักรานุกิจ (2414) จมื่นวิชิตไชยศักดาวุธ (2416) พระวรเดชศักดาวุธ (2428) พระยาวรเดชศักดาวุธ (2435) และพระยาเทพอรชุน (2445)

ด้านชีวิตส่วนตัว พระยาเทพอรชุน (เจ๊ก) มีบุตร-ธิดา 3 คน เกิดกับคุณหญิงสาย ได้แก่ คุณหญิงสอาด สุเรนทรราชเสนา, พันตรี พระจำเริญพลรบ (แฐม) และสอิ้ง จารุจินดา นอกจากนี้ยังมีบุตรีอีก 1 คน ที่เกิดจาก ม.ล.จวง ปาลกะวงศ์ และยังมีอบเชยกับชื่นเป็นภรรยาอีก 2 คน แต่ไม่มีลูกด้วยกัน 


ปริศนา


น่าเสียดายที่ยังไม่พบเรื่องเล่าหรือรายละเอียดอื่นที่แสดงถึงวิธีการทำงานของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์กับพระยาเทพอรชุนผู้นี้ มิฉะนั้นจะได้เป็นตัวอย่างที่งานปกครองราชการ “ราบรื่นด้วยความสมัครสมานจิตต์ใจด้วยกันทุกฝ่าย” หลังจากที่มีปัญหาระหว่างพวกหัวเก่ากับพวกหัวใหม่ในกองทัพเรือ โดยที่เจ้าคุณคนนี้ “ช่วยไกล่เกลี่ยพวกหัวเก่าซึ่งเป็นผู้ใหญ่ด้วยกัน พอจะเข้าใจกันได้ง่าย” สมดังพระราชจินตนาการของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น

ปริศนามีว่า ในการสมานจิตใจของคนหัวเก่ากับหัวใหม่ในปัจจุบันภายใต้การเมืองระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น เรายังหาคนแบบพระยาเทพอรชุน (เจ๊ก) ได้อีกไหม?


บรรณานุกรม

  • ชุมนุมตำรากลอนฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ (พิมพ์แจกในงานศพ นายพลเรือตรี พระยาเทพอรชุน (เจ๊ก) พ.ศ. 2457), http://eresource.car.chula.ac.th/chula-ebooks/redirect.php?name=clra56_0070
  • บันทึกความทรงจำบางเรื่องของหม่อมเจ้าหญิงประสงค์สม บริพัตร ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต (พิมพ์ในงานเมรุ ณ สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499), https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:48335
  • ประวัติพระยาเทพอรชุน, http://www.charuchinda.com/index.php/history/94-2018-04-07-04-55-53/148-2018-04-07-05-01-58
  • พระประวัติและจริยาวัตรของจอมพลเรือ สมเด็จเจ้าฟ้า บริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และเอกสารที่ได้ทรงปฏิบัติราชการ (กองทัพเรือ พิมพ์สนองพระเดชพระคุณแสดงกตเวทีเป็นที่ระลึก ในการพระราชทานเพลิงพระศพพระองค์ท่าน จอมพลเรือ สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ณ พระเมรุท้องสนามหลวง วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2493), https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:170222



[1] สำหรับชาววังบางขุนพรหม “ทูนหม่อม” หมายถึงสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

[2] เดิมว่าเป็นหลานและบุตรเขยพระยาเทพวรชุน (อ้น) แต่คำบอกเล่าของคุณหญิงชอุ่ม สุรบดินทรสุรินทรฦาชัย ว่า มีผู้รู้สกุลขุนนางยืนยันว่า จมื่นราชนาคา (พิณ) เป็นบุตรพระยาเทพวรชุน (อ้น) ดู http://www.charuchinda.com/index.php/history

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save