ภาพปกจาก Richard A. Brooks/AFP
วันที่ 27 กันยายน 2022 นี้ รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดจัดงานรัฐพิธีศพ(国葬)อดีตนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ(安倍晋三) หลังจากนายอาเบะถูกลอบยิงเสียชีวิตขณะกำลังปราศรัยช่วยหาเสียงให้ผู้สมัครวุฒิสมาชิกของพรรค เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงคัดค้านทั้งจากประชาชนจำนวนมากที่ร่วมกันลงชื่อทางอินเทอร์เน็ตและออกมาชูป้ายประท้วงหน้ารัฐสภา รวมทั้งนักการเมืองฝ่ายค้านที่พากันวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการจัดรัฐพิธีศพด้วย
กล่าวได้ว่าขณะนี้เสียงคัดค้านดังกว่าเสียงเห็นด้วยไปเสียแล้ว จากความคลางแคลงใจที่นายอาเบะและนักการเมืองจำนวนมากในพรรคแอลดีพีของรัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้องกับ ‘โบลถ์แห่งความเป็นเอกภาพ’ (ชื่อเดิม)(旧統一教会)และการนำเงินภาษีประชาชนจำนวนมากมาจัด ‘รัฐพิธีศพ’ [1]
งบประมาณในการจัดรัฐพิธีศพจากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 250 ล้านเยนที่ไม่รวมค่ารักษาความปลอดภัยผู้นำประเทศต่างๆ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในเวลาต่อมาได้รับการเปิดเผยอย่างเป็นทางการว่าต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้นถึง 1,660 ล้านเยน กล่าวคือ เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 6.6 เท่า จึงทำให้เกิดกระแสคัดค้านในวงกว้างยิ่งขึ้นกว่าเดิม คะแนนนิยมรัฐบาลที่ลดลงในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา ยิ่งลดฮวบลงอีกอย่างน่าใจหาย เท่ากับว่าการที่นายคิชิดะปรับคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมาเพื่อหวังเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมานั้นไม่เป็นผลเลย
ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนเตรียมงาน มีการออกจดหมายเชิญและรวบรวมจำนวนผู้เข้าร่วมงาน ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและอดีตบุคคลสำคัญตำแหน่งต่างๆในประเทศ มีทั้งผู้ตอบรับและผู้ตอบปฏิเสธไม่เข้าร่วมพิธี ผู้ว่าราชการจังหวัดก็เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในฐานะตัวแทนของจังหวัด เป็นส่วนหนึ่งของผู้ได้รับเชิญและพากันตอบรับเข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง
ผู้ว่าฯ จังหวัดมิยางิ นายโยชิฮิโร มุราอิ(村井嘉浩)พื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติสึนามิเมื่อ 11 ปีก่อนตอบเข้าร่วม โดยให้เหตุผลว่า นายอาเบะทำงานทุ่มเทอย่างมากเพื่อฟื้นฟูจังหวัดมิยางิให้ประชาชนได้กลับมาอยู่อาศัยได้ดังเดิม จึงเห็นสมควรเป็นตัวแทนของชาวจังหวัดมิยางิเข้าร่วมแสดงความอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย
ผู้ว่าฯ จังหวัดเฮียวโกะ นายไซโต โมโตฮิโกะ(齋藤元彦)ตอบว่าพิจารณาแล้วเห็นสมควรเข้าร่วมพิธีในฐานะเป็นผู้แทนของจังหวัดไปปฏิบัติราชการ
ส่วนผู้ว่าฯ ที่ตอบเข้าร่วมพิธีแต่ก็ไม่วายแสดงความเห็นเหน็บแนม เช่น ผู้ว่าฯ จังหวัดมิยาซากิ นายชุนจิ โคโน(河野俊嗣)บอกว่าควรกำหนดมาตรฐานกรอบความคิดเบื้องต้นของการจัดรัฐพิธีเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง และไม่เห็นด้วยอย่างครั้งนี้ ส่วนผู้ว่าฯ จังหวัดโอซากา นายโยชิมุระ ฮิโรฟุมิ(吉村洋文) ซึ่งมาจากพรรคอิชิน(日本維新の会)พรรคฝ่ายค้านที่มีฐานเสียงแข็งแกร่งในภูมิภาคคันไซก็ตอบเข้าร่วมงาน แต่วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนว่าต้องกำหนดให้ชัดเจนลงไปว่ากรณีใดเข้าข่ายจัดหรือไม่จัดรัฐพิธีศพ การพิจารณาตามอำเภอใจโดยรัฐบาลผู้มีอำนาจในขณะนั้นไม่สมควรอย่างยิ่ง
แต่ก็มีบางคนที่ตอบชัดเจนว่าไม่เข้าร่วมพิธี คือผู้ว่าฯ จังหวัดโอกินาวา (ผู้ที่เพิ่งชนะเลือกตั้งให้อยู่ในตำแหน่งต่อ) นายเดนนี ทามากิ(玉城デニー)ให้เหตุผลว่าไม่เห็นด้วยที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดงานจำนวนมากขึ้นหลายเท่า เสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนว่าการที่หน่วยราชการต่างๆ จะลดธงครึ่งเสาในวันที่จัดรัฐพิธีศพเป็นการกึ่งบังคับให้ไว้อาลัย ยิ่งไปกว่านั้น ตนเองยังมีเรื่องค้างคาใจหลายอย่างเกี่ยวกับนายอาเบะในฐานะนักการเมือง ประชาชน และผู้นำของญี่ปุ่น
อีกคนหนึ่งคือผู้ว่าฯ จังหวัดชิสุโอกะ นายเฮตะ คาวาคัทสึ(川勝平太)บอกว่าตนได้แสดงความอาลัยต่อนายอาเบะในพิธีไว้อาลัยที่จัดขึ้นที่จังหวัดนาระ ภายหลังเกิดเหตุการณ์ไม่นาน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศมาร่วมพิธีแล้วจึงไม่จำเป็นต้องร่วมพิธีอีก ซึ่งมีนัยไม่เห็นด้วยกับรัฐพิธีนั่นเอง
หนึ่งในประเด็นใหญ่ที่ผู้คนคัดค้านการจัดรัฐพิธีคือการนำเงินภาษีจำนวนมากมาใช้ รัฐบาลไม่อาจนิ่งเฉยอยู่ได้ จำเป็นต้องออกมาชี้แจงรายละเอียดค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 250 ล้านเยนเป็น 1,660 ล้านเยน ประกอบด้วย ค่ารักษาความปลอดภัย 800 ล้านเยน แน่นอนว่าเพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากผู้นำต่างประเทศ จำเป็นต้องรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้นอีกจากการที่นายอาเบะถูกลอบสังหาร ค่ารับรองผู้นำต่างประเทศและผู้ติดตาม การรับ-ส่งที่สนามบินประมาณ 600 ล้านเยน ค่าพาหนะพิเศษในงานพิธีสำหรับผู้นำสำคัญที่ต้องขอยืมจากกองกำลังป้องกันตนเองราว 100 ล้านเยน ประมาณการค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 1,660 ล้านเยน ทั้งนี้อาจเปลี่ยนแปลงตามจำนวนบุคคลสำคัญต่างประเทศที่มาร่วมงานด้วย ขณะนี้ คาดว่าจะมีผู้แทนจากต่างประเทศองค์กรต่างๆ กว่า 190 คน และมีผู้นำระดับประเทศราว 50 คน
ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นมีการจัดรัฐพิธีศพสำหรับบุคคลสำคัญระดับชาติเพียง 3 คนเท่านั้น
ครั้งแรกในปี 1951 รัฐพิธีพระศพพระจักรพรรดินีเทเมอิ(貞明皇后)(1884-1951) ซึ่งเป็นพระปัยยิกา (ย่าทวด) ของพระจักรพรรดินารุฮิโตะ(徳仁天皇)พระจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน
ครั้งที่ 2 ปี 1967 รัฐพิธีศพอดีตนายกรัฐมนตรี นาย ชิเงรุ โยชิดะ(吉田茂)
ครั้งที่ 3 ปี 1989 รัฐพิธีพระศพสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ(裕仁天皇)หรือเรียกกันว่าพระจักรพรรดิสมัยโชวะ(昭和天皇)(1901-1989) พระอัยกา (ปู่) ของพระจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน
ครั้งที่ 4 คือครั้งนี้ เป็นรัฐพิธีศพอดีตนายกรัฐมนตรี นาย ชินโซ อาเบะ(安倍晋三)เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งนับเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ที่ได้รับเกียรตินี้
นับเป็นเวลา 55 ปีแล้วที่ไม่เคยมีการจัดรัฐพิธีศพบุคคลธรรมดาอีกเลย
การจัดรัฐพิธีศพนั้น รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดโดยใช้งบประมาณแผ่นดิน เมื่อย้อนดูการจัดพิธีศพของอดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นการจัดโดยมีเจ้าภาพร่วม(合同葬)ระหว่างคณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับพรรคต้นสังกัดของผู้นั้น ซึ่งส่วนใหญ่คือพรรคแอลดีพี(自民党)นั่นเอง มีน้อยมากที่จัดเป็นรัฐพิธี (หลังสงครามโลก มีเพียงหนึ่งรายเท่านั้น) ค่าใช้จ่ายจึงรับผิดชอบฝ่ายละกึ่งหนึ่งเท่านั้น
อดีตนายกรัฐมนตรีคนล่าสุดที่ถึงแก่อสัญกรรม มีการจัดพิธีศพในปี 2020 คือนาย ยาสุฮิโร นากาโซเน(中曾根康弘)คณะรัฐมนตรีและพรรคแอลดีพีรับผิดชอบค่าใช้จ่าย 99.4 ล้านเยน และใช้งบประมาณแผ่นดิน (เงินภาษี เป็นต้น) 93.6 ล้านเยน รวมทั้งสิ้น 193 ล้านเยน (ประมาณ 52 ล้านบาท) การใช้งบประมาณแผ่นดินประมาณไม่เกิน 100 ล้านเยนนี้เป็นจำนวนที่สมควรแก่เหตุที่ทุกคนยอมรับได้
แต่การจัดรัฐพิธีศพนายอาเบะใช้งบประมาณแผ่นดินเต็มจำนวน 1,660 ล้านเยน ลงรายละเอียดได้ว่าประชาชนญี่ปุ่น 1 คน ต้องเสียสละประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากเงินภาษีของตัวเองเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในงานนี้ประมาณ 13 เยน จึงเป็นที่มาของการคัดค้าน ไม่เห็นด้วยที่จะนำเงินภาษีของประชาชนมาใช้จ่าย ในยามที่ทุกคนต้องเผชิญกับราคาสินค้าในชีวิตประจำวันเกือบทุกชนิดแพงขึ้น ภาวะค่าครองชีพสูงขึ้นมาก และยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กันถ้วนหน้า เรียกได้ว่ายังไม่ฟื้นไข้กันเลย
นายคิชิดะ จับกระแสความรู้สึกเสียใจและโศกเศร้าอาลัยกับการจากไปอย่างกะทันหันของนายอาเบะ จึงประกาศให้จัดพิธีศพนายอาเบะเป็น ‘รัฐพิธี’ หลังวันที่นายอาเบะเสียชีวิตเพียง 6 วัน คือวันที่ 14 กรกฎาคม 2565 โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบด้วยเหตุผล 4 ประการคือ นายอาเบะเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุด 8 ปี 8 เดือน (นับรวมเวลา แม้ไม่ต่อเนื่องกัน) นายอาเบะมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ และได้ทุ่มเทฟื้นฟูภูมิภาคโทโฮคุที่เกิดภัยพิบัติสึนามิ นายอาเบะสร้างความสัมพันธ์อันดีทางการต่างประเทศและได้รับความชื่นชมในความสามารถจากนานาชาติ นอกจากนี้นายอาเบะเสียชีวิตลงขณะกำลังทำหน้าที่ช่วยหาเสียงเพื่อการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลได้รับสารแสดงความอาลัยจากคนทั่วโลกจำนวนมาก
แม้ว่านายอาเบะจะมีคุณูปการมากมาย มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ แต่ผู้คนก็คลางแคลงใจเมื่อมีการขุดคุ้ยเรื่องนักการเมืองกับองค์กรทางศาสนา นายคิชิดะยังไม่อาจให้ความกระจ่างแก่ประชาชนในประเด็นที่มีนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลจำนวนมากมีความเกี่ยวพันกับ ‘โบสถ์แห่งความเป็นเอกภาพ’ (ชื่อเดิม) และนายคิชิดะก็เลี่ยงที่จะเปิดเผยข้อมูลความเกี่ยวข้องของนายอาเบะกับองค์กรศาสนานี้ด้วย โดยอ้างว่ามีข้อจำกัดในการหาข้อมูลของผู้ล่วงลับไปแล้ว
“จำเป็นต้องจัดเป็นรัฐพิธีศพด้วยหรือ” “ทำไมเอาเงินภาษีของเราไปใช้” จึงเป็นคำถามที่ดังก้องขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับรัฐบาลนายคิชิดะ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการจัดรัฐพิธีศพนายอาเบะในครั้งนี้โดยที่ไม่มีกฎหมายใดรองรับการจัดรัฐพิธีศพอย่างชัดเจน เหตุใดจึงไม่เสนอเข้าที่ประชุมรัฐสภาให้เห็นชอบก่อนแล้วจึงประกาศอย่างเป็นทางการ และเมื่อจำเป็นต้องใช้งบประมาณแผ่นดินเพิ่มมากขึ้นจากประมาณการเดิมถึง 6.6 เท่า รัฐบาลใช้จ่ายเงินอย่างสมเหตุสมผลแล้วหรือ
คงไม่มีใครคาดคิดว่าคะแนนนิยมที่รัฐบาลนายคิชิดะได้รับมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา จะดิ่งลงอย่างรวดเร็วจากสาเหตุภายในพรรคเอง แน่นอนว่ากว่าจะเรียกคะแนนกลับคืนมาได้เท่าเดิมย่อมต้องใช้เวลา แต่จะต้องใช้อีกนานเท่าใด…
↑1 | สุภา ปัทมานันท์ “กระแสโต้กลับรัฐบาลคิชิดะ” มติชนสุดสัปดาห์ 9-15 กันยายน 2565 |
---|