fbpx

การปรับคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่น: นัยทางการเมืองหลังการลอบสังหารอาเบะ

นายฟุมิโอะ คิชิดะ(岸田文雄)นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ประกาศปรับคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา หลังจากเข้ารับตำแหน่งเป็นสมัยที่สอง เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 เป็นต้นมา

การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้เกิดขึ้นหนึ่งเดือนพอดี หลังจากนายคิชิดะสามารถนำพรรคแอลดีพี(自民党)ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาได้อย่างลอยลำเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2565 เป็นการปรับคณะรัฐมนตรีที่เร็วกว่าเดิมที่คาดว่าจะเป็นเดือนกันยายนที่จะถึงนี้

ชัยชนะในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 31ตุลาคม ปีที่แล้ว (2564) พรรคแอลดีพีสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และชัยชนะในการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกที่ออกตามวาระเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นก้าวสำคัญที่สร้างความมั่นใจเต็มที่ให้แก่พรรครัฐบาลในการดำเนินนโยบายหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 9 ว่าด้วยเรื่องกองกำลังป้องกันประเทศที่จำเป็นต้องมีเสียงเห็นด้วย 2 ใน 3 ในวุฒิสภา

แต่มีสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนเกิดขึ้น… 

เมื่อเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่ช็อกคนญี่ปุ่นและคนทั้งโลก ก่อนวันเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเพียงสองวัน ในวันที่ 8 กรกฎาคม 2022 เมื่อนายชินโซ อาเบะ(安倍晋三)อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกลอบยิงจากด้านหลังในระยะใกล้จนเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเย็นวันเดียวกัน ขณะกำลังปราศรัยหาเสียงให้แก่ผู้สมัครวุฒิสมาชิกของพรรค ที่วงเวียนหน้าสถานีรถไฟ เมืองนาระ แม้ว่าจากการสอบสวนในภายหลังได้ทราบว่าไม่ได้มีสาเหตุจากความคิดเห็นต่างทางการเมือง แต่คำให้การของมือปืน นายเท็ตสึยะ ยามากามิ ว่าเขาโกรธแค้นนายอาเบะ ผู้มีความเกี่ยวข้องกับ ‘โบสถ์แห่งความเป็นเอกภาพ’ (ชื่อเดิม)(旧統一教会)ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น ‘สมาพันธ์ครอบครัวเพื่อสันติภาพโลกและความเป็นเอกภาพ’ (世界平和統一家庭連合)ที่แม่ของเขาเป็นสมาชิกและมีความเชื่ออย่างงมงาย จนบริจาคเงินจำนวนมากเพื่อจะได้เป็นเจ้าของคัมภีร์ ตราประทับของโบสถ์ หรือสิ่งของอีกหลายอย่างตามความเชื่อ ทำให้ต้องเผชิญปัญหาทางการเงิน ครอบครัวแตกแยก เขาและพี่น้องต้องลำบากและดิ้นรนช่วยตัวเองมาตั้งแต่เป็นนักเรียนมัธยมต้น ความจริงนี้ทำให้ทุกคนตกใจมากและเป็นแรงกระเพื่อมไปทั่วประเทศ

มีการขุดคุ้ยหาความจริงโดยสื่อหลายสำนักเกี่ยวกับความเกี่ยวข้องขององค์กรทางศาสนานี้กับกิจกรรมทางการเมือง พบว่าองค์กรดังกล่าวมีส่วนช่วยในการหาเสียงและเป็นหัวคะแนนให้ผู้สมัครในการเลือกตั้งทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด จนถึงระดับประเทศ และนักการเมืองจำนวนไม่น้อยในพรรครัฐบาลอยู่ในข่ายที่เกี่ยวข้อง เคยร่วมกิจกรรมขององค์กร ส่งคำอวยพร แสดงปาฐกถา และสนับสนุนด้านการเงิน เช่น ช่วยซื้อบัตรเข้างานเลี้ยง เป็นต้น รวมถึงนักการเมืองของพรรคฝ่ายค้านอีกหลายคนที่ก็ไม่มียกเว้นเช่นกัน ความจริงค่อยๆ เผยออกมาว่ามีอีกหลายครอบครัวที่คนในครอบครัวตกเป็นเหยื่อความเชื่องมงายและหลงบริจาคเงินจนเกินกำลัง บางคนล้มละลาย บางคนฆ่าตัวตาย หย่าร้าง ครอบครัวแตกแยก ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือลูกๆ

ข่าวเกี่ยวกับนักการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนในการหาเสียงหรือได้รับเงินอุดหนุนจากองค์กรดังกล่าว ทำให้ประชาชนเกิดความคลางแคลงใจ หวาดหวั่น และไม่เชื่อมั่น จากการสำรวจความนิยมรัฐบาลนายคิชิดะของหลายสำนักข่าว อาทิ เกียวโด เอ็นเอชเค และโยมิอุริ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ระหว่างปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม มีผลออกมาในทางเดียวกันว่าคะแนนความนิยมและเสียงสนับสนุนรัฐบาลลดต่ำลง 12.2%  13%  และ 8%  ตามลำดับ แต่กระนั้นก็ยังอยู่ในระดับ 46-57%  ซึ่งนับว่ายังไม่เลวร้าย สาเหตุหลักที่ทำให้เสื่อมความนิยมคือนักการเมืองไม่วางตัวเป็นกลาง ได้รับประโยชน์จากองค์กรที่ให้คุณให้โทษได้ นอกจากนี้ การที่รัฐบาลจะจัดรัฐพิธีศพ(国葬)นายอาเบะในเดือนกันยายน โดยใช้งบประมาณของรัฐนั้น ก็มีเสียงคัดค้านเพิ่มขึ้นด้วย

นายคิชิดะจึงจำเป็นต้องเร่งฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาลกลับคืนมาโดยเร็วที่สุด ในการให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวอย่างเป็นทางการหลังจากประกาศแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ นายคิชิดะกล่าวว่าได้สั่งการอย่างเด็ดขาดให้ตรวจสอบบุคคลในคณะรัฐมนตรีในเรื่องความสัมพันธ์กับองค์กรที่เกี่ยวข้อง ได้พิจารณาคัดเลือกตัวบุคคลอย่างเที่ยงธรรม เลือกผู้ไม่มีประวัติด่างพร้อย

เป็นที่รู้กันว่าภายในพรรคแอลดีพี自民党)มีอยู่หลาย ‘มุ้ง’ (กลุ่ม)(派閥)มุ้งที่ใหญ่ที่สุดคือมุ้งของนายอาเบะ มีสมาชิกสภาผู้แทนและวุฒิสมาชิกรวมกันถึง 99 คน แม้ว่าจะขาดหัวหน้าไปแล้ว แต่สมาชิกก็ยังคงเรียกชื่อเดิม คือ ‘มุ้งนายอาเบะ’(安倍派)   ในการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ นายคิชิดะจึงต้องให้ความสำคัญและมีการ ‘เกลี่ย’ จำนวนรัฐมนตรีตามสัดส่วนของมุ้งใหญ่อื่นๆ ด้วย

คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยนายคิชิดะ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีก 19 คน ในจำนวนนี้มีรัฐมนตรีจากมุ้งนายชินโซ อาเบะ(安倍晋三)มุ้งนายทาโร อาโสะ(麻生太郎 ) (อดีตนายกรัฐมนตรี) รองหัวหน้าพรรค มุ้งละ 4 คน ส่วนมุ้งของนายคิชิดะ และนายโทชิมิทสึ โมเตงิ(茂木敏充 )เลขาธิการพรรค  มุ้งละ 3 คน  และมุ้งของนายโทชิฮิโร นิไค(二階俊博)อดีตเลขาธิการพรรค มี 2 คน กับผู้ไม่สังกัดมุ้งอีก 2 คน และจากพรรคโคเม(公明党)ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล 1 คน

ในจำนวนรัฐมนตรี 19 คน  ประกอบด้วยผู้ที่ยังคงตำแหน่งเดิมในกระทรวงสำคัญ 5 คน อาทิ รัฐมนตรีต่างประเทศ รัฐมนตรีคลัง เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และมีอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลก่อนๆ ที่มีความสามารถ 5 คน รับหน้าที่ในงานสำคัญ อาทิ รัฐมนตรีป้องกันประเทศ รัฐมนตรีสาธารณสุข รัฐมนตรีเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เป็นต้น มีรัฐมนตรีหน้าใหม่ถึง 9 คน ที่น่าสนใจคือมีรัฐมนตรีหญิง 2 คน หนึ่งในนั้นคือนางซานาเอะ ทาคาอิชิ(高市早苗)วัย 61 ปี รัฐมนตรีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ(経済安保)ซึ่งเป็นกระทรวงที่มีความสำคัญมาก เธอเป็นผู้หญิงเก่งที่เคยเป็นหนึ่งในผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแอลดีพี แต่ต้องพ่ายแพ้นายคิชิดะ อีกหนึ่งรัฐมนตรีหญิงคือรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาและวิทยาศาสตร์

นายคิชิดะให้สัมภาษณ์ว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่นี้ทุกคนถึงพร้อมด้วยประสบการณ์และความสามารถที่จะรับมือกับหลายงานเร่งด่วน เป็น ‘คณะรัฐมนตรีที่พร้อมจะขับเคลื่อนนโยบาย’ มีงานสำคัญเร่งด่วน 5 ประการคือ การเสริมกำลังการป้องกันตนเองอย่างเป็นจริงเป็นจัง การเดินหน้านโยบายความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การขับเคลื่อน ‘ลัทธิทุนนิยมใหม่’(新しい資本主義)เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ นโยบายเกี่ยวกับโควิด-19 และนโยบายเกี่ยวกับเด็กและเด็กเกิดน้อย

อันที่จริงแล้วมีหลายเรื่องที่รัฐบาลนายคิชิดะจำเป็นต้องเร่งรับมือ หากจะพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็ล้วนเป็นเรื่องใกล้ตัวของประชาชนที่ต้องเผชิญอยู่ คือราคาสินค้าและค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น การปรับค่าแรงขั้นต่ำ ความมั่นคงทางพลังงาน ความมั่นคงทางการเงินและการใช้ชีวิต การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 7 และความวิตกกังวลเกี่ยวกับการถูกคุกคามและข่มขวัญจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เกาหลีเหนือ จีน การซ้อมรบของจีนบริเวณรอบเกาะไต้หวัน และการรุกรานยูเครนของรัสเซียจนนำไปสู่การคว่ำบาตร เป็นต้น

ปฏิกริยาของพรรคฝ่ายค้านต่อการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ นายเคนตะ อิสุมิ(泉健太)หัวหน้าพรรครัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตย(立憲民主党)ที่เป็นพรรคฝ่ายค้านใหญ่ วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น ‘คณะรัฐมนตรีที่หมกเม็ดเกี่ยวกับโบสถ์แห่งความเป็นเอกภาพ’ (ชื่อเดิม) แม้จะบอกว่าได้ตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว แต่ยังไม่อาจเรียกความเชื่อมั่นได้ อีกทั้งการมีรัฐมนตรีหญิงเพียง 2 คน ก็ไม่สมกับเป็นยุคสมัยที่จะขับเคลื่อนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และนโยบาย ‘ลัทธิทุนนิยมใหม่’ ก็ยังไม่เห็นผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ขอให้เร่งเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญโดยเร็ว

นายอิชิโร มัทสึอิ(松井一郎)หัวหน้าพรรคอิชิน(維新の会)ให้ความเห็นว่าหัวหน้าพรรคต้องรับฟังความเห็นของมุ้งเล็กมุ้งน้อยในพรรค ให้ความสำคัญอย่างเท่าเทียมกัน เป็น ‘คณะรัฐมนตรีแบบให้ความสำคัญกับคนในพรรค’ เพื่อสืบทอดอำนาจได้ต่อเนื่อง นายคิชิดะนำพรรคแอลดีพีชนะการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกแล้ว และมุ่งมั่นที่จะสืบทอดเจตนารมณ์ของนายอาเบะ ฉะนั้นจึงอยากให้เสริมความแข็งแกร่งในการป้องกันประเทศอย่างจริงจังภายใต้สถานการณ์การต่างประเทศที่ตึงเครียด ทั้งนี้พรรคอิชินเป็นพรรคที่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 9 และการเพิ่มงบประมาณการป้องกันประเทศ  เป็นหนึ่งในพรรคที่จะช่วยให้รัฐบาลได้เสียง 2 ใน 3 ในวุฒิสภาได้นั่นเอง

นายยูอิชิโร ทามาคิ(玉木雄一郎)หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยเพื่อประชาชน(国民民主党)ฝ่ายค้าน ให้ความเห็นว่า คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ต้องเร่งให้ความกระจ่างแก่ประชาชนโดยเร็ว ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเกี่ยวกับโบสถ์แห่งความเป็นเอกภาพ (ชื่อเดิม) และเรื่องการจัดรัฐพิธีศพนายชินโซ อาเบะเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องนโยบายการแก้ปัญหาค่าครองชีพสูง ปัญหาการซ้อมรบของจีนที่ช่องแคบไต้หวัน ปัญหาทั้งภายในและภายนอกประเทศอีกหลายเรื่อง เรียกร้องให้เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญโดยเร็ว

ส่วนภาคธุรกิจเอกชน นายมาสะคาสึ โทคุระ(十倉雅和)ประธานสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (เคดันเร็น) ให้ความเห็นว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ รวมทั้งกรรมการบริหารพรรครัฐบาลล้วนแล้วแต่เป็นผู้มากประสบการณ์และความสามารถ จึงคาดหวังได้ว่ารัฐบาลมีพลังเต็มที่ในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อรับมือกับปัญหาต่างๆ ได้อย่างสำเร็จเป็นรูปธรรม กล่าวได้ว่ายังเคียงข้างและสนับสนุนพรรครัฐบาลนั่นเอง

นายโยชิโร มูราตะ(村田善郎)ประธานสมาคมห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่น คาดหวังการรับมือกับปัญหาทั้งการต่างประเทศ และภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ขอให้รัฐบาลเร่งป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้ได้ และมีนโยบายเร่งกระตุ้นอารมณ์การใช้จ่ายของผู้คน อย่าให้ตกอยู่ในภาวะซบเซาเหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากฤดูใบไม้ร่วงที่จะถึงนี้จนถึงสิ้นปี ธุรกิจค้าปลีกต่างก็คาดหวังการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้นของผู้คน 

คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ภายใต้การนำของนายคิชิดะ นายกรัฐมนตรี จะสามารถทำงานบรรลุเป้าหมายเป็นที่พอใจและฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชนกลับคืนมาได้หรือไม่  

คงต้องให้เวลาและติดตามต่อไป

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save