fbpx

James Nachtwey : ‘ไม่ใช่แค่ช่างภาพสงคราม แต่เป็นผู้สังเกตการณ์โลก’

“ในฐานะของพยานที่เหตุการณ์ ผมจำต้องเรียนรู้ที่จะควบคุมความโกรธ เรียนรู้ที่จะปล่อยมันออกมาเป็นพลัง และเปลี่ยนมันให้กลายเป็นสิ่งที่ทำให้วิสัยทัศน์ของผมชัดเจนขึ้น ไม่ใช่ขุ่นมัวลง … ภาพถ่ายมีพลังที่สามารถก้าวข้ามวาทกรรมการเมืองและนำเสนอประเด็นปัญหาสำคัญของสังคมด้วยมุมมองจากประสบการณ์ตรงของคนได้ ภาพความอยุติธรรมอาจกลายเป็นการเปิดโปงเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้” – James Nachtwey 

ในบรรดาช่างภาพสงครามอาชีพตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ที่ตระเวนถ่ายภาพไปทุกสมรภูมิรบทั่วโลก ช่างภาพเหล่านี้ต้องอาศัยทักษะในการเอาตัวรอด ยอมเสี่ยงตาย เพื่อจะบันทึกภาพเหตุการณ์สำคัญ มีช่างภาพจำนวนมากเสียชีวิตระหว่างการทำหน้าที่ แต่ James Nachtwey น่าจะเป็นช่างภาพสงครามอันดับแถวหน้าผู้ยังมีชีวิตรอดอยู่ เป็นหนึ่งในช่างภาพสงครามที่มีความสามารถและผลงานอัน ‘ยิ่งใหญ่’ และ ‘ยอดเยี่ยม’ ที่สุดคนหนึ่งเท่าที่โลกเคยมีมา

ปี 2000 ชาวปาเลสไตน์ขว้างก้อนหินและระเบิดขวดใส่ทหารอิสราเอล
ปี 2010 เด็กหญิงในเฮติป่วยล้มทรุดหน้ากำแพง

เป็นเวลาสี่สิบกว่าปีที่ช่างภาพชาวแมสซาชูเซตส์วัย 75 ปี ได้ไปปรากฏตัวอยู่แทบทุกแห่งที่มีสงคราม การสู้รบเกือบทุกรูปแบบในโลก หลังจากจบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและรัฐศาสตร์จาก Dartmouth College และเริ่มทำงานเป็นช่างภาพอิสระ ในปี 1981 เขาเป็นช่างภาพสงครามในไอร์แลนด์เหนือที่มีความขัดแย้งอย่างรุนแรง ต่อมาในปี 1984-2018 เขาเป็นช่างภาพให้กับนิตยสาร TIME เดินทางไปทั่วโลกที่มีสงคราม ตั้งแต่ในแอฟริกาใต้ ลาตินอเมริกา รัสเซีย ยุโรปตะวันออก เวียดนาม อัฟกานิสถาน เพื่อบันทึกภาพประวัติศาสตร์

ในปี 2003 เขาได้รับบาดเจ็บสาหัสในกรุงแบกแดด เมื่อมีการขว้างระเบิดใส่ยานพาหนะของทหารที่เขาโดยสารอยู่ขณะร่วมลาดตระเวนในพื้นที่ ช่วงเวลานั้นเกิดการโจมตีคือทหารสหรัฐฯ จากกองพลยานเกราะที่ 1 ในกรุงแบกแดด แต่เขายังสามารถถ่ายภาพการช่วยชีวิตโดยแพทย์สนามได้หลายภาพก่อนที่จะหมดสติ  ก่อนหน้านี้เขาเคยบาดเจ็บจากระเบิดในเอลซัลวาดอร์ จากกระสุนปืนครกในเบรุตด้วย

หลังจากนั้นได้เดินทางมาบันทึกภาพโศกนาฏกรรมจากคลื่นยักษ์สึนามิ ที่ถล่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2004 และ บันทึกภาพเรืออพยพที่หนีตายจากสงครามในอิรักมาสู่ยุโรป กรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์รวันดา สงครามกลางเมืองในซูดาน ในปี 2014 เขาถูกยิงเข้าที่ขา ระหว่างบันทึกภาพการชุมนุมประท้วงของกลุ่ม กปปส. ในประเทศไทย และล่าสุดในวัยเจ็ดสิบกว่า เขายังทำหน้าที่ช่างภาพสงครามในยูเครน หลังจากกองทัพรัสเซียข้ามพรมแดนบุกยูเครน

ปี 1992 พิธีกรรมเข้าสู่วัยหนุ่มของชนเผ่า Xhosa ด้วยการขลิบอวัยวะเพศ พอกร่างกายด้วยดินขาว

ครั้งหนึ่งเขาเคยกล่าวว่า

“สำหรับฉัน การถ่ายภาพไม่ใช่วิธีแอบอ้างความเป็นจริงในสิ่งที่ฉันคิดว่าฉันรู้อยู่แล้ว มันคือการสำรวจ ดวงตาคู่เดียว ความคิดเดียว หัวใจเดียว เคลื่อนผ่านโลกแห่งความเป็นจริงแบบเรียลไทม์ พยายามบอกเล่าเรื่องราวของสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้คนทีละคน ณ จุดสิ้นสุดประวัติศาสตร์อันคมชัด เรื่องราวที่สังคมต้องการเพื่อให้ทำงานได้อย่างเหมาะสม เพื่อประเมินเหตุการณ์ร่วมสมัย เพื่อตัดสินใจอย่างมีข้อมูลครบถ้วน และเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเราเองอย่างต่อเนื่อง”

เป็นโชคดีของชาวไทย ที่ผลงานภาพถ่ายอันยอดเยี่ยมของเขาจำนวน 126 ภาพ ได้นำมาจัดแสดงในชื่อ James Nachtwey: Memoria Exhibition นิทรรศการรวบรวมเอาภาพถ่ายสงครามและภัยพิบัติตลอดชีวิตการทำงานเป็นช่างภาพสงครามและช่างภาพข่าวกว่า 42 ปีของเขา รวมถึงผลงานล่าสุดจากสงครามและโศกนาฏกรรมในยูเครนที่นำมาเผยแพร่สู่สายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรกของโลก จัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 

ปี 2001 เหตุการณ์ 9/11 อาคารฝั่งใต้ของตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ถล่มลง

คำพูดที่ว่า “ภาพๆ เดียวก็มีค่ามากกว่าคำพูดพันคำ” ได้ปรากฏขึ้นในภาพชีวิตท่ามกลางสงครามทั่วโลกของเจมส์ ระหว่างการเดินดูนิทรรศการนี้ หลายภาพต้องหยุดดูนิ่งๆ  เรื่องราวของโลกทั้งใบ ภาพชีวิตของผู้คนผู้ทุกข์ยากจากสงคราม ปรากฏขึ้นในภาพเหล่านี้อย่างแจ่มชัด แม้หลายภาพจะเป็นภาพงดงาม แต่แฝงไว้ด้วยความรู้สึกอันหดหู่ใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับโลกใบนี้

“ภาพถ่ายได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์นั้น และเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำร่วมกันของผู้คน  สงครามสร้างโลกแห่งความเป็นจริงขึ้นใหม่ สิ่งที่เคยเลวร้ายจนยอมรับไม่ได้กลับกลายมาเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ไปเสีย และกลายเป็นเรื่องปกติในที่สุด หัวใจของสงครามคือการฆ่าและการถูกฆ่า และสงครามทั้งปวง–ไม่ว่าจะเกิดจากสัญชาติ ศาสนา วัฒนธรรม หรือด้วยจุดประสงค์ใด–ล้วนแต่นำไปสู่การกระทำที่ไร้มนุษยธรรมทั้งสิ้น ผลที่ตามมาของสงครามนั้นส่งผลกระทบต่ออารยธรรรมอย่างลึกซึ้งและอย่างน่าสะเทือนใจ และเป็นตัวกำหนดวิวัฒนาการของประวัติศาสตร์ต่อมาอีกหลายชั่วคน”

ปี 2004 ความอดอยากและโรคร้ายในซูดา

เมื่อมีคนถามเขาถึงจุดประสงค์ในการเสี่ยงชีวิตเพื่อถ่ายภาพสงครามทั่วโลกว่าเพื่ออะไร เขาพูดสั้นๆ ในงานเปิดนิทรรศการภาพถ่ายครั้งหนึ่งว่า 

“การถ่ายภาพไม่ใช่การยัดเยียดสิ่งที่ผมคิดว่าผมรู้ให้เป็นความจริง มันคือการสำรวจด้วยตาหนึ่งคู่ หนึ่งความคิด หนึ่งหัวใจ เคลื่อนผ่านโลกแห่งความเป็นจริง ตามเวลาจริง พยายามบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับผู้คนทีละคน ณ จุดที่เกิดสถานการณ์ความขัดแย้ง เรื่องราวที่สังคมต้องการเพื่อดำเนินไปอย่างถูกต้อง เพื่อประเมินเหตุการณ์ ตัดสินใจอย่างรอบรู้ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเราอย่างต่อเนื่อง และในที่สุดภาพถ่ายงานของผมก็ขยายออกไปนอกสงคราม รวมไปถึงสถานการณ์อื่นๆ ที่มีความอยุติธรรม นำไปสู่การเรียกร้องให้มีการแก้ไข ทั้งด้านมนุษยธรรมและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ตลอดจนปัญหาสุขภาพที่ต้องได้รับความสนใจมากขึ้น

สำหรับผม จุดแข็งของการถ่ายภาพอยู่ที่ความสามารถในการปลุกความเป็นมนุษย์ หากสงครามเป็นความพยายามที่จะลบล้างมนุษยชาติ การถ่ายภาพก็อาจถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสงคราม”

หากมีเวลา อย่าได้พลาดด้วยประการทั้งปวงในนิทรรศการ James Nachtwey: Memoria Exhibition จัดแสดงถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 เวลา 10.00-20.00 น. ชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เข้าชมฟรี

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save