fbpx
Itaewon Class: ห้องเรียนว่าด้วยความแปลกแยก อิสรภาพ และความพันทาง

Itaewon Class: ห้องเรียนว่าด้วยความแปลกแยก อิสรภาพ และความพันทาง

จักรกริช สังขมณี เรื่อง

 

“คำแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวของฉัน พอได้ยินคำว่า ‘อิแทวอน คลาส’ ก็คือคำว่า ‘อิสรภาพ’ สถานที่ที่วัฒนธรรมต่างๆ ผสมผสานกันอย่างเป็นอิสระ ไม่ถูกผูกมัดจากข้อจำกัดใดๆ อิแทวอนเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพ นั่นคือสิ่งที่เราคิดเหมือนกันใช่มั้ย?”

พัคแซรอย — Itaewon Class (2020)

 

พัคแซรอย ชายหนุ่มหัวเกาลัด เจ้าของร้านอาหารทันบัมผับผู้มีความมุ่งมั่น ตัดสินใจจดทะเบียนการค้าเปิดบริษัทแฟรนไชส์ร้านอาหารโดยใช้ชื่อ “อิแทวอน คลาส” (이태원 클라쓰) ตามคำแนะนำของเพื่อน

ในวินาทีที่พัคแซรอยตัดสินใจใช้ชื่อดังกล่าวนั้น เขากำลังเดินอยู่ใน “อิแทวอน” ย่านธุรกิจที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คนและกิจกรรมทางสังคมที่หลากหลาย ในขณะที่เขาหยุดยืนและมองไปรอบๆ ตัว แซรอยของเราก็อดไม่ได้ที่จะหวนนึกถึงวันที่เขาเดินทางมาที่นี่ครั้งแรก เพื่อมาพบกับโอซูอาเพื่อนในวัยเด็กของเขา ในคืนวันนั้น เขาพบว่า “อิแทวอน” เป็นย่านที่ไม่เหมือนกับพื้นที่อื่นๆ ในเกาหลี

ความพิเศษของพื้นที่ ชีวิตผู้คน บรรยากาศ และตำแหน่งแห่งที่ของย่านอิแทวอน ทำให้เขาตัดสินใจว่าจะใช้พื้นที่ดังกล่าวนี้ในการก่อร่างสร้างตัวใหม่ และปลดปล่อยพันธนาการที่สะสมมาอย่างยาวนานในจิตใจให้หมดสิ้นไปเสียที

 

Itaewon Class: ห้องเรียนว่าด้วยความแปลกแยก อิสรภาพ และความพันทาง
ที่มา: JTBC

 

บทความนี้ ผมอยากจะชวนผู้อ่านไปรู้จักกับพื้นที่ที่เรียกว่า “อิแทวอน” และย้อนทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของย่านดังกล่าวนี้ทั้งในเชิงภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจการเมือง และสังคมวัฒนธรรม หากเราจะเข้าใจว่าอิแทวอนมีมนต์เสน่ห์และพลังต่อคนรุ่นใหม่อย่างพัคแซรอยอย่างไร เราคงต้องเข้าใจก่อนว่า อะไรทำให้ย่านดังกล่าวนี้มีความพิเศษและความจำเพาะอย่างที่มันเป็นทุกวันนี้

 

พื้นที่ของความแปลกแยก

 

อิแทวอนเป็นผลผลิตทางประวัติศาสตร์จากกระบวนการทางสังคมการเมืองที่ดำเนินมาร่วมศตวรรษ ตั้งแต่ในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 ที่เกาหลีถูกปกครองอยู่ภายใต้อาณานิคมของญี่ปุ่น อิแทวอนถูกใช้เป็นพื้นที่ตั้งของกองบัญชาการทหารและบ้านเรือนของบุคลากรของญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลให้พื้นที่ของกรุงโซลขยายตัวจากพื้นที่ชั้นในลงมาทางด้านใต้มากขึ้น

เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามแปซิฟิกในปี 1945 กองกำลังทหารของสหรัฐฯ ก็เข้ายึดพื้นที่ดังกล่าวต่อ และใช้พื้นที่ที่ว่านี้ในการตั้งฐานทัพเพื่อจัดการด้านความมั่นคงในช่วงของการจัดการการปกครองระหว่างเขตเหนือใต้ ในช่วงสงครามเกาหลี (1950-1953) กองกำลังทหารของสหรัฐอเมริกาได้เข้ามาตั้งกองทหารรักษาการณ์ชั่วคราวในเกาหลีใต้มากขึ้น และประกาศให้อาณาบริเวณกว้างประมาณเกือบ 3 ตารางกิโลเมตรในเขตยงซาน ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างภูเขานัม (นัมซาน) กับแม่น้ำฮัน (ฮันคัง) เป็นพื้นที่ตั้งของกองกำลังทหารรักษาการณ์ของสหรัฐฯ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ในช่วงทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา “อิแทวอน” อาณาบริเวณซึ่งตั้งอยู่ติดกับกองทหารรักษาการณ์สหรัฐฯ ที่เขตยงซานดังกล่าว ได้กลายมาเป็นพื้นที่เมืองหรือแคมป์ทาวน์ (camp town) ซึ่งเติบโตขึ้นเพื่อรองรับธุรกิจและบริการด้านต่างๆ ให้กับกองกำลังทหารและพลเมืองด้านการฑูตของสหรัฐฯ ธุรกิจที่ว่านี้โดยมากจะเน้นไปที่กิจกรรมเพื่อการพักผ่อนและความบันเทิง (rest and recreational – R&R) ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการทางเพศ ร้านอาหารและผับบาร์ ร้านตัดเย็บเสื้อผ้า ไปจนถึงการขายสินค้าต่างประเทศและการแลกเปลี่ยนเงินตรา

ผู้หญิงเกาหลีจำนวนไม่น้อยเข้ามามีส่วนเกี่ยวพันในอุตสาหกรรมบริการ โดยเฉพาะการให้บริการทางเพศ โดยผ่านการจัดการของรัฐ[1] และจากการถูกบีบบังคับจากสภาพทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในช่วงหลังสงคราม สำหรับผู้หญิงเกาหลีจำนวนไม่น้อย อิแทวอนเป็นเสมือนหนทางของการไปสู่ “อเมริกันดรีม” ด้วยความหวังที่ว่า เสรีนิยมแบบอเมริกันจะนำพาพวกพวกเธอให้หลุดพ้นไปจากอำนาจเผด็จการทหารและความยากจนที่เกาหลีใต้กำลังเผชิญอยู่ในขณะนั้น

แม้ว่าการซื้อขายบริการทางเพศนั้นเป็นสิ่งผิดกฎหมายทั้งในเกาหลีเองและภายใต้กฎหมายของสหรัฐอเมริกา แต่กระนั้นก็ดูเหมือนว่ารัฐบาลทั้งสองจะเพิกเฉยต่อการเติบโตขึ้นของแหล่งค้าประเวณีที่ดำเนินไปอย่างโจ่งแจ้งในย่านนี้ สำหรับเกาหลีใต้แล้ว รายได้จากเพศพาณิชย์ถือเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักของการที่รัฐละเว้นต่อการปราบปรามกิจการดังกล่าว ตั้งแต่ช่วงการขึ้นดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีพัคจองฮีในปี 1961 เกาหลีใต้มีนโยบายในการมองหาแหล่งเงินทุนและรายได้จากต่างประเทศเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศอย่างกว้างขวาง และเพื่อให้ย่านแคมป์ทาวน์กลายมาเป็นหนึ่งในขุมทองของสร้างรายได้จากเพศพาณิชย์ เพื่อดึงเงินดอลล่าร์เข้าสู่ประเทศ จึงมีการประกาศให้อิแทวอนและเขตแคมป์ทาวน์อื่นๆ เป็นเขตควบคุมพิเศษ ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบัญญัติว่าด้วยการต่อต้านการประพฤติมิชอบทางเพศ ปี 1961 ซึ่งระบุให้การค้าบริการทางเพศเป็นกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย[2] ประมาณการกันว่า มีทหารอเมริกันร่วมหกล้านคนเข้ามาประจำการในเกาหลีใต้ในช่วงระหว่างปี 1950-1971 และมีผู้หญิงเกาหลีกว่าหนึ่งล้านคนที่ทำงานให้บริการทางเพศแก่ทหารเหล่านั้น[3]

นอกเหนือจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจแล้ว อิแทวอนและกิจกรรมเพศพาณิชย์ยังเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญต่อประเด็นทางสังคมและการเมืองอีกด้วย รัฐบาลเกาหลีส่งเสริมให้ผู้หญิงจำนวนมากเข้ามามีส่วนในการให้บริการทางเพศ โดยอ้างถึงความเสียสละและการอุทิศตนในฐานะที่เป็นทูตสัมพันธไมตรีกับทหารสหรัฐฯ ผู้หญิงเหล่านี้มักถูกเรียกว่า “ยางกงจู” (양공주)[4] ซึ่งแปลว่า “เจ้าหญิงแห่งดินแดนตะวันตก”

รัฐบาลเกาหลีเองต้องการเอาใจทหารอเมริกัน โดยเฉพาะในช่วงหลัง 1970 ที่อเมริกาประกาศลดความช่วยเหลือและกองกำลังทหารของตนจากประเทศพันธมิตร และคาดหวังให้ประเทศเหล่านั้นจัดการเรื่องความมั่นคงด้วยตนเองมากขึ้น ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม Nixon Doctrine ภายใต้สภาวะของความไม่แน่นอนทางการเมืองดังกล่าว รัฐบาลเกาหลีได้ใช้ยางกงจูในฐานะที่เป็นแรงดึงดูดและสร้างความเริงรมย์ให้กับทหารอเมริกันอย่างไม่เลือกหน้า การผลักดันดังกล่าวเป็นไปถึงขั้นที่ว่า รัฐบาลเกาหลีได้ให้คำแนะนำแก่บรรดาผู้หญิงบริการเหล่านี้ไม่ให้เลือกปฏิบัติต่อทหารผิวสี ซึ่งเป็นประเด็นขัดแย้งสำคัญที่เกิดขึ้นในค่ายทหารอเมริกันขณะนั้น[5]

การให้บริการทางเพศ และความสัมพันธ์ระหว่างทหารอเมริกันและหญิงสาวชาวเกาหลีนั้น ก่อให้เกิดการตั้งครรภ์และการมีบุตรที่มีเชื้อชาติผสม (mixed race) ในช่วงทศวรรษ 1970 มีเด็กนับหมื่นคนที่เกิดจากผู้หญิงเกาหลีใต้และทหารอเมริกัน เด็กลูกครึ่งเหล่านี้มักถูกทอดทิ้งเมื่อทหารเหล่านั้นกลับไปยังสหรัฐอเมริกา และมักตกเป็นเป้าหมายของการเหยียดผิวและการกีดกันทางชนชั้นในสังคมเกาหลี

ผู้หญิงชาวเกาหลีจำนวนไม่น้อยพยายามหนีจากการถูกตีตราจากสังคมดังกล่าว ความหวังเดียวที่ทำได้ของพวกเธอคือย้ายไปที่สหรัฐอเมริกาและแต่งงานกับทหารอเมริกันเท่านั้น ประมาณการกันว่าในช่วงตั้งแต่ทศวรรษ 1950 จนถึงกลางทศวรรษ 1990 มีผู้หญิงเกาหลีที่แต่งงานกับทหารอเมริกันและย้ายถิ่นฐานไปยังสหรัฐอเมริกามากถึงหนึ่งแสนคน[6] จนถึงทุกวันนี้ ผู้หญิงเกาหลีที่แต่งงานกับคนต่างชาติ และลูกที่เกิดจากความสัมพันธ์ข้ามเชื้อชาตินี้ ยังคงไม่ได้รับการยอมรับในสังคมเกาหลี ซึ่งมีที่มาจากฐานคติเรื่องเพศพาณิชย์ และการแต่งงานเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงของสงครามเย็นนี้เอง

 

Itaewon Class: ห้องเรียนว่าด้วยความแปลกแยก อิสรภาพ และความพันทาง
ที่มา: JTBC

 

ใน Itaewon Class ตัวละคร “คิมโทนี่” ชายผิวสีลูกครึ่งเกาหลี-กินี เป็นหนึ่งในความพยายามที่จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นพหุชาติพันธุ์ของผู้คนในย่านอิแทวอน แต่ในขณะเดียวกัน เนื้อหาในซีรีส์ก็แสดงให้เห็นถึงความคิดแบบเหมารวมและการแบ่งแยกทางสังคมที่ยังมีอยู่ในสังคมเกาหลีในวงกว้าง

ในฐานะที่เป็นคนผิวสี โทนี่ถูกคาดหวังว่าเขาจะสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ นั่นก็เพราะว่าคนผิวสีส่วนใหญ่ที่คนเกาหลีใต้รู้จักนั้นมักเป็น (ผู้ชาย) ชาวอเมริกัน ในขณะที่โทนี่ผู้มีพ่อเป็นชาวเกาหลีและแม่เป็นชาวกินีนั้นกลับพูดภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาแม่ และพูดภาษาเกาหลีของพ่อได้เป็นอย่างดี ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ในขณะที่ตัวละครคนอื่นๆ มักมองว่าโทนี่เป็นชาวต่างชาติ (외국 사람) โทนี่กลับพูดย้ำและบอกกับทุกคนด้วยสายตาและน้ำเสียงที่เป็นธรรมชาติที่สุดว่าตนเองนั้นเป็น “คนเกาหลี” (한국 사람)

การฉายภาพตัวละครลูกครึ่งผิวสีที่มีอัตลักษณ์ที่เคลื่อนไปจากภาพเหมารวมของคนเกาหลีโดยทั่วไปนี้ เป็นความตั้งใจที่จะคัดง้างกับมายาคติเดิมๆ และกระตุ้นเตือนให้คนเกาหลีเปิดใจยอมรับความหลากหลายทางเชื้อชาติมากกว่าที่เป็นอยู่นั่นเอง

 

พื้นที่ของอิสรภาพ

 

กิจกรรมที่เกิดขึ้นในย่านอิแทวอนไม่เพียงส่งผลในเชิงเศรษฐกิจและความมั่นคงต่อรัฐเท่านั้น หากแต่ยังนำมาซึ่งการบ่มเพาะค่านิยมทางวัฒนธรรมใหม่ๆ ในสังคมเกาหลีด้วย

แนวความคิดแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย และแนวคิดบริโภคนิยมแบบสหรัฐฯ นั้น เป็นภัยอย่างมากต่อเกาหลีใต้ในยุคของการสร้างชาติภายใต้การนำของรัฐบาลทหาร การพัฒนาอุตสาหกรรมโดยใช้แรงงานแบบเข้มข้นของเกาหลีในช่วงทศวรรษ 1960-1980 นั้น เรียกร้องการเสียสละ ความมัธยัสถ์อดออม การทำงานหนัก และการเชื่อฟังผู้นำ พื้นที่ที่เต็มไปด้วยสีสันความบันเทิงเริงรมย์และสินค้าที่หลากหลายนี้ จึงเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมอย่างมากที่คนเกาหลีจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวและเรียนรู้วิถีชีวิตในแบบดังกล่าว

รัฐบาลเกาหลีพยายามไม่ให้วัฒนธรรมและค่านิยมจากตะวันตกที่ว่านี้แพร่หลายออกไปสู่สังคมเกาหลีในวงกว้าง อิแทวอนถูกทำให้เป็นที่รับรู้ในแง่ของการเป็นพื้นที่ของความแปดเปื้อนและเบี่ยงเบนทางสังคม[7] จนถึงทุกวันนี้ ภาพของอิแทวอนต่อคนทั่วๆ ไปจำนวนไม่น้อย ก็ยังถูกฝังด้วยมายาคติเชิงลบในฐานะของการเป็นพื้นที่ที่อยู่นอกขนบหรือวิถีชีวิตที่ดีงาม

ความผิดแผกของอิแทวอนจากพื้นที่อื่นๆ ในเกาหลี เป็นแรงดึงดูดให้คนหนุ่มสาวที่ต้องการแสวงหาความแปลกใหม่ และไม่พอใจกับระบบสังคมที่ตนเองอาศัยอยู่ เข้าไปใช้เป็นพื้นที่ดังกล่าวในการสร้างสมความรู้ ทัศนคติ ตลอดจนบ่มเพาะอัตลักษณ์และความเข้าใจใหม่ๆ ต่อตนเองและคนอื่นๆ ในสังคม ในช่วงทศวรรษ 1970 ผับบาร์ในอิแทวอนเป็นพื้นที่ของการหลบหนีออกจากโลกของการผลิตในระบบอุตสาหกรรม และเปิดโอกาสให้คนเกาหลีได้ลิ้มรสของเสรีภาพท่ามกลางการควบคุมความคิดและการแสดงออกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับยูชิน

ในช่วงทศวรรษ 1980 ศิลปินและคนหนุ่มสาวได้เรียนรู้เกี่ยวกับโลกของวัฒนธรรมป็อปอเมริกัน ผ่านทางบทเพลง เสื้อผ้า อุปกรณ์กีฬา และของนำเข้าอื่นๆ ที่หาได้ตามท้องถนนในอิแทวอน และในยุค 90’s บรรยากาศของความเปิดกว้างสำหรับผู้คนที่มีความแตกต่างนี้เอง ที่ทำให้พื้นที่แห่งนี้กลายมาเป็นสถานที่พบปะของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และเป็นที่มาของการเติบโตขึ้นของวัฒนธรรมเกย์ในสังคมเกาหลีจนถึงปัจจุบัน

ก่อนการเกิดขึ้นของย่านบาร์เกย์ในอิแทวอนในทศวรรษ 1990 นั้น มีชายรักชายชาวเกาหลีที่แวะเวียนไปยังอิแทวอนอยู่บ้างเพื่อพบปะกับทหารอเมริกัน ตลอดจนชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่อาศัยและท่องเที่ยวตามผับบาร์ในยามค่ำคืน อย่างไรก็ตาม ภายใต้พื้นที่ของการแสดงออกถึงความเป็นชายแบบสุดโต่ง (macho/hyper-masculinity) ที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้อาณาบริเวณของกิจการทหาร (militarism) การพบปะและกิจกรรมต่างๆ ระหว่างกลุ่มชายรักชายนั้นมักเป็นไปในลักษณะที่ซ้อนเร้น

จนกระทั่งในช่วงลดกองกำลังของพลทหารสหรัฐฯ ประกอบกับกระแสต่อต้านทหารอเมริกันที่มีมากขึ้นในเกาหลี[8] ทำให้พื้นที่ดังกล่าวเปิดกว้างมากขึ้นสำหรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ในช่วงตั้งแต่ 1990 เป็นต้นมา กระบวนการพัฒนาของประชาธิปไตยได้ให้เสรีภาพและพื้นที่กับกลุ่มเพศทางเลือก แม้ว่าไม่มากนัก แต่ก็มากกว่าในช่วงของเผด็จการทหาร ในช่วงเวลาดังกล่าว อิแทวอนก็ได้กลายมาเป็นย่านสำคัญที่คนเหล่านี้เลือกจัดวางพื้นที่ทางสังคมที่เกิดขึ้นใหม่ของพวกเขา

 

Itaewon Class: ห้องเรียนว่าด้วยความแปลกแยก อิสรภาพ และความพันทาง
ที่มา: JTBC

 

เส้นทางซอยแคบๆ ซึ่งมีความยาวประมาณ 100 เมตร ไล่ไปตามเนินเขา ไม่ไกลจากสถานีรถไฟใต้ดินอิแทวอน เป็นที่ตั้งของพื้นที่ซึ่งรู้จักกันในชื่อที่ไม่เป็นทางการว่า “Homo Hill” พื้นที่เล็กๆ ในอิแทวอนแห่งนี้เป็นแหล่งรวมของผับ บาร์ ร้านอาหาร และสถานที่พบปะของผู้มีความหลากหลายทางเพศกว่า 20 แห่ง

ในช่วงกลางวัน ซอบแคบๆ แห่งนี้แทบจะไร้ร่องรอยของผู้คนที่แวะเวียนผ่านเข้ามา หากแต่ในยามดึกดื่นของคืนวันสุดสัปดาห์ พื้นที่แห่งนี้จะกลายเป็นพื้นที่ทางสังคมที่มีชีวิตชีวา เป็นฐานเศรษฐกิจที่สำคัญ[9] และเปิดกว้างต้อนรับความหลากหลายทางเพศและเชื้อชาติมากที่สุดแห่งหนึ่งในเกาหลีใต้

ใน Itaewon Class นอกเหนือจาก คิมโทนี่ หนุ่มผิวสีแล้ว เรายังได้เห็นตัวละครสำคัญอีกคนหนึ่งซึ่งมีชีวิตโลดแล่นอยู่ในพื้นที่อิแทวอนแห่งนี้ นั่นก็คือ มาฮยอนอี หญิงข้ามเพศผู้ใช้ชีวิตกลางวันภายใต้รูปลักษณ์ “โกมินัม” (꽃미남) หรือ Flower Boys ซึ่งเป็นลักษณะของผู้ชายเจ้าสำอางค์ที่พบเห็นได้ทั่วไปในเกาหลี อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากเวลางานแล้ว ฮยอนฮีก็มีอัตลักษณ์และเพศวิถีแบบ “ทรานส์” (트랜스) ซึ่งต่างออกไปจากการจัดประเภทที่สังคมและรัฐวางกรอบไว้ให้[10]

แม้ว่า Itaewon Class จะไม่ใช่ละครซีรีส์เรื่องแรกที่นำเอาชีวิตของคนเพศทางเลือกออกมาสื่อสารกับผู้คนในสังคม[11] แต่กระนั้น ในสื่อบันเทิงของเกาหลีจนถึงทุกวันนี้ ข้อจำกัดของนักแสดง การจัดวางตำแหน่งของตัวละคร และการเปิดเผยให้เห็นถึงแง่มุมของชีวิตที่ลึกลงไปยังคงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แม้มันจะเป็นเรื่องยากที่จะปลดแอกอคติเชิงเพศที่ดำรงอยู่มาช้านานในเกาหลี[12] แต่การพูดถึงพื้นที่อิแทวอนเป็นโอกาสที่ดีที่สังคมเกาหลีจะได้สร้างความคุ้นชินมากขึ้นกับเพศทางเลือกเหล่านี้ ด้วยความหวังว่าการผลักดันเชิงประเด็นในรูปแบบที่ไม่สุดโต่งเกินไปนัก จะช่วยลดกระแสต่อต้าน และสร้างสังคมที่ยอมรับความเป็นพหุเชิงเพศมากขึ้นได้ในอนาคต

 

พื้นที่ของพันทาง

 

นอกเหนือจากประเด็นทางเศรษฐกิจและสังคมการเมืองแล้ว ในเชิงภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม พื้นที่ในย่านอิแทวอนนั้นก็มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะมันเป็นอาณาบริเวณที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทั้งในเชิงเพศวิถี ดังที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว และในเชิงของศาสนาและชาติพันธุ์ด้วย นักมานุษยวิทยา Elisabeth Schober เรียกลักษณะจำเพาะที่เกิดขึ้นในพื้นที่เล็กๆ ของย่านอิแทวอนนี้ว่า “ความหลากหลายที่บีบอัดเข้าไว้ด้วยกัน” (compressed heterogeneity)[13] ดังที่เราจะได้เห็นต่อไป

นอกเหนือจาก Homo Hill ซึ่งเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ของคนกลุ่มเพศทางเลือกแล้ว ถนนเส้นเล็กๆ ที่ทอดขนานลงไปตามความลาดชันของเนินเขานั้นเป็นที่ตั้งของ “Hooker Hill” ที่ซึ่งไนท์คลับและธุรกิจขายบริการ อันเป็นมรดกตกทอดจากช่วงสงครามเย็น ตั้งอยู่เรียงรายรอคอยลูกค้าทั้งชาวเกาหลีและต่างชาติเข้ามาใช้บริการ พื้นที่แห่งนี้มีหญิงสาวจากหลากหลายชาติผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาแสวงหาโอกาสและรายได้ ทั้งจากในเกาหลีเอง และจากจีน รัสเซีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยุโรป

ถนนที่ขนานกับ Homo Hill อีกด้านหนึ่งซึ่งอยู่สูงขึ้นไป เป็นที่รู้จักกันในนาม “Muslim Street” ถนนแห่งนี้เป็นที่ตั้งของร้านอาหารฮาลาล แผงขายฮิญาบและเสื้อผ้ามุสลิม ถนนแห่งนี้ทอดยาวไปจนบรรจบกับมัสยิดกลางกรุงโซล (Seoul Central Masjid) อาคารสีขาวเทาหม่นซึ่งตั้งตระหง่านเผชิญหน้ากับหลอดไฟนีออนหลากสีที่ส่องแสงมาจาก Homo และ Hooker Hill

ในช่วงคืนวันศุกร์และเสาร์ ถนนทั้งสามเส้นนี้จะเต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางศาสนา ซึ่งเดินทางมาเพื่อเลือกซื้อสินค้า อาหาร ความบันเทิง พบปะเพื่อนฝูง หรือแม้กระทั่งทำความรู้จักกับคนแปลกหน้า ในความเป็นจริงแล้ว หากเดินตามเนินเขาไม่ไกลออกจากย่านดังกล่าว จะพบว่ามีโบสถ์คาทอลิกอิแทวอนตั้งอยู่อีกด้วย

 

(พื้นที่สีเขียวด้านซ้าย คือ ที่ตั้งของฐานทัพสหรัฐฯ) ที่มา: http://www.itaewon.or.kr/
(พื้นที่สีเขียวด้านซ้าย คือ ที่ตั้งของฐานทัพสหรัฐฯ) ที่มา: http://www.itaewon.or.kr/

 

นอกเหนือจากชาวมุสลิมที่อพยพเข้ามาทำงานในกรุงโซล ซึ่งโดยมากเป็นงานประเภท 3D (dirty, difficult and dangerous) แล้ว อิแทวอนยังเป็นพื้นที่ในการตั้งรกรากของผู้คนจากแอฟริกา โดยเฉพาะจากไนจีเรีย กานา และอียิปต์ ซึ่งอพยพเข้ามายังเกาหลีมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงทศวรรษ 1990 ในฐานะแรงงานนอกระบบ[14] ในที่นี้ ประชากรมากหน้าหลายตาที่เดินอยู่ไปมาในย่านอิแทวอนจึงประกอบด้วยผู้คนจากหลากหลายที่มาทางชาติพันธุ์ ภาษา ความเชื่อ เพศวิถี และชนชั้นทางเศรษฐกิจ

ผู้คนเหล่านี้แม้ว่าจะมีปฏิสัมพันธ์กันอยู่บ้าง แต่ก็ค่อนข้างจำกัดอยู่ในปริมณฑลทางสังคมวัฒนธรรมของตนเอง[15] เช่นนี้แล้ว แม้ว่าอิแทวอนจะเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายของผู้คนสูงมาก แต่ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนที่ยังจำกัดดังกล่าวทำให้นักสังคมวิทยา Kim Ji-youn เรียกพื้นที่แห่งนี้ว่าเป็น “ชุมชนของคนแปลกหน้า” (community of strangers) นั่นเอง[16]

 

อิแทวอนในวันนี้

 

ในวันนี้ แม้ว่าอิแทวอนจะเป็นย่านที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่มันก็ยังคงเป็นพื้นที่ที่ทำหน้าที่ในการบันทึกร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีและชุมชนโลก ระหว่างการครอบงำและการปลดแอก ระหว่างความแปลกแยกและเสรีภาพที่ต่อสู้คัดง้างกันมากว่าครึ่งศตวรรษ

อิแทวอนได้กลายมาเป็นพื้นที่พันทาง ที่อนุญาตให้ผู้คนที่มีความคิดและอัตลักษณ์ทางสังคมที่แตกต่าง เข้ามาแสวงหาโอกาส และสร้างตัวตนจากความไร้ขนบธรรมเนียมที่ตายตัวจากพื้นที่แห่งนี้ได้

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การพัฒนาพื้นที่เมืองของกรุงโซลได้เข้ามามีส่วนอย่างมากในการจัดการพื้นที่ทางสังคมของอิแทวอนให้เปลี่ยนแปลงไป กระบวนการปรับเปลี่ยนพื้นที่เมือง (urban gentrification) ดังกล่าวพยายามลบภาพของการเป็นพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องเพศพาณิชย์และกามารมณ์ และมุ่งสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของพื้นที่ในฐานะที่เป็นย่านของผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม (cultural entrepreneurs)[17] นอกจากนี้ ยังมีแผนการปรับเปลี่ยนฐานทัพของสหรัฐฯ ที่ยงซาน ให้กลายมาเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้อิแทวอนกลายมาเป็นพื้นที่เพื่อการพักผ่อนและกิจกรรมทางสังคมวัฒนธรรมมากขึ้น

 

Itaewon Class
ที่มา: JTBC

 

หากใครมีโอกาสได้ไปเยือนกรุงโซล ควรจะหาเวลาไปเยี่ยมเยียนอิแทวอนแห่งนี้ เพราะนอกจากผู้คน สินค้า อาหาร และสถานที่ที่มีความแตกต่างหลากหลายแล้ว ประวัติศาสตร์และกลิ่นอายของย่านที่มีชีวิตแห่งนี้ ทำให้ “อิแทวอน” เป็นเสมือน “คลาส” หรือห้องเรียน ที่จะช่วยให้เราทำความเข้าใจชีวิตของตนเองท่ามกลางสังคมของคนอื่นได้อีกด้วย

ในขณะที่คุณกำลังเดินอยู่ในอิแทวอนนั้น ลองหยุดยืนและหันไปมองรอบๆ ตัว คุณอาจจะได้แรงบันดาลใจ และเรียนรู้ที่จะเดินหน้าต่อไปอย่างเชื่อมั่น เหมือนกับที่พัคแซรอยประสบมาแล้วก็เป็นได้

 

อ้างอิง

[1] Lee, Na-Young. 2007. “The Construction of Military Prostitution in South Korea during the Military Rule, 1945-1948’ Feminist Studies 33(3): 453-481.

[2] Schober, Elisabeth. 2014. “Itaewon’s Suspense: Masculinities, Place-making and the US Armed Forces in Seoul Entertainment District” Social Anthropology 22(1): 36-51.

[3] Moon, Katharine. 1997. Sex among Allies: Military Prostitution in U.S.-Korea Relations. New York: Columbia University Press.

[4] Cho, Grace. 2008. Haunting the Korean Diaspora: Shame, Secrecy, and the Forgotten War. Minneapolis: University of Minnesota Press.

[5] Kim, Eun-Shil. 2014. “Itaewon as an Alien Space within the Nation-State and a Place in the Globalization Era” in Seoul, Seoul, Seoul, edited by Han Kyung-Koo. Seoul: Hollym.

[6] Yuh, Ji-Yeon. 2002. Beyond the Shadow of Camptown: Korean Military Brides in America. New York: New York University Press.

[7] Walhain, Luc. 2007. “Transcending Minjok: How Redefining Nation Paved the Way to Korean Democratization” Studies on Asia 4(2): 84-101.

[8] Kim, Jinwung. 2001. “From ‘American Gemtlemen’ to ‘Americans’: Changing Perceptions of the United States in South Korea in Recent Years” Korea Journal 41(4): 172-198.

[9] Lee, Bolam, 2018. A Study on Urban Economy and Sub-culture in the Urban Area: A Case Study on Itaewon. MA Thesis, Seoul National University.

[10] ดูเพิ่มเติมใน Ruin, 2020. “Mobile Numbers and Gender Transition: The Resident Registration System, the Nation-State, and Trans/gender identities” in Queer Korea, edited by Todd A. Henry. Durham and London: Duke University Press.

[11] Kim Yeo-jin, 2015. “Toward Homosexuality in Korea

[12] Henry, Todd (ed.). 2020. Queer Korea. Durham and London: Duke University Press.

[13] Schober, Elisabeth. 2014. “Itaewon’s Suspense: Masculinities, Place-making and the US Armed Forces in Seoul Entertainment District” Social Anthropology 22(1): 36-51.

[14] Han, Geon-Soo. 2003. “African Migrant Workers’ Views of Korean People and Culture” Korea Journal 43(1): 154-173.

[15] Yoo, Ka-eul. 2012. “Itaewon, ‘The Global Village’: Diagnosing Korean Multiculturalism through its Dystopian Blueprints” Situations 6: 56-67.

[16] Kim Ji-youn, 2014. Community of Strangers: Itaewon from ‘Americanized’ Ghetto to ‘Multicultural’ Space. PhD Dissertation, National University of Singapore.

[17] Kim, Ji-youn. 2016. “Cultural Entrepreneurs and Urban Regeneration in Itaewon, Seoul” Cities 56: 132-140.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save