fbpx
พันธุ์หมาบ้า Isle of Dogs

พันธุ์หมาบ้า Isle of Dogs

‘นรา’ เรื่อง

ในบทวิจารณ์หรือการแสดงความเห็นถึงหนังทางโซเชียลมีเดียทุกวันนี้ มีศัพท์คำหนึ่งที่นิยมใช้กันมากคือ คำว่า auteur (เป็นคำศัพท์ภาษาฝรั่งเศส อ่อนออกเสียงว่า ออเตอร์)

เป็นเรื่องปกติที่เมื่อใช้บ่อยตามๆ กันหลายทอด เมื่อถึงปลายทางระยะไกล ซึ่งจดจำแบบตกหล่น ย่อมอาจนำไปสู่ความเข้าใจที่ไขว้เขวคลาดเคลื่อนจากความหมายแท้จริงได้เหมือนกัน

เมื่อไม่นานผมเพิ่งอ่านเจอ มีคนพูดถึงคำนี้ ในความหมายว่า เป็นรูปแบบของหนังประเภทหนึ่ง เหมือนหนังแอ็คชัน หนังตลก กลายเป็นหนังแบบ auteur อะไรไปโน่น ซึ่งไม่ใช่นะครับ

auteur ใช้เรียกในแง่มุมกว้างๆ 2 ประการ แรกสุด เป็นการเสนอแนวความคิดว่า ในหนังแต่ละเรื่อง คนที่ควรจะมีบทบาทสำคัญสุด และมีสถานะใกล้เคียงกับการเป็น ‘เจ้าของผลงาน’ อย่างแท้จริง (สำหรับการทำหนัง ซึ่งเป็นการร่วมแรงร่วมความคิดของหลายๆ ฝ่ายเป็นจำนวนมาก) ควรจะได้แก่ ผู้กำกับ

ความคิดนี้ นำไปสู่ทฤษฎีการวิจารณ์หนังที่เรียกกันว่า auteur theory ซึ่งเน้นการศึกษาและประเมินผลงาน โดยคำนึงถึงตัวตน ลักษณะเฉพาะ วิธีการทางศิลปะ เนื้อหาแง่คิดของผู้กำกับที่มักจะปรากฏในผลงานหลายๆ เรื่อง จนกลายเป็นจุดร่วมหรือเอกลักษณ์ของคนทำหนังผู้นั้น

แง่มุมต่อมาเกี่ยวเนื่องกัน คือ ใช้เรียกขานนิยามถึงผู้กำกับบางคนที่ผ่านการพิสูจน์แล้วว่า มีลายเซ็นเด่นชัดในผลงานของตน ว่าเป็นคนทำหนังที่มีความเป็น auteur

ผมควรระบุเพิ่มอีกนิดว่า การเป็นคนทำหนังแบบ auteur หรือไม่เป็นนั้น มิใช่ปัจจัยชี้วัดตัดสินความสามารถ ว่าแบบหนึ่งเก่งกว่าอีกแบบนะครับ (ประเด็นนี้ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาหลักในบทความชิ้นนี้เลยนะครับ แต่เป็นความเข้าใจผิดฝังลึกมาช้านานว่า auteur แปลว่าดีและเก่ง ส่วนคนที่ไม่ใช่ auteur ก็กลายเป็นคนทำหนัง ‘มือปืนรับจ้าง’ หรือ ‘ปรุงอาหารตามสั่ง’ ที่โลกไม่สมควรยกย่อง)

ผู้กำกับที่เป็น auteur ส่วนใหญ่นั้นมักจะเก่ง (เพราะต้องมีความมุ่งมั่นแรงกล้าในการยืนกรานทำหนังแบบที่ตนเองชอบและเห็นสมควร ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ความรู้ความสามารถในทางศิลปะ จนเกิดเป็นลีลาหรือสไตล์เฉพาะตัว) แต่ก็มี auteur จำนวนไม่น้อยที่มีลายเซ็นเด่นชัด ซึ่งเกิดจากข้อจำกัดด้านศักยภาพ เกิดจากการ ‘ติดกับดัก’ ตนเอง จนไปไหนไม่เป็น

ถึงที่สุดแล้ว จะ auteur หรือไม่ auteur ก็ยังคงต้องชี้วัดตัดสินกันที่คุณภาพของเนื้องาน

เวส แอนเดอร์สัน (ตรงนี้เลี้ยวกลับเข้าเรื่องแล้วครับ) เป็นคนทำหนังร่วมสมัยอีกราย ที่เข้าลักษณะเป็น auteur และที่น่าสนใจก็คือ เอกลักษณ์ในงานของเขาชัดเจนมาก ถึงขั้นเพียงแค่ดูจากภาพนิ่ง ก็สามารถพบเครื่องหมายการค้าอันโดดเด่นได้ทันที

เอกลักษณ์ในหนังของเวส แอนเดอร์สัน ปรากฏให้เห็นใน 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ รูปแบบวิธีการนำเสนอและเนื้อหาสาระ

เนื้อหาสาระในหนังของเวส แอนเดอร์สัน มักจะพูดถึงเรื่องปัญหาความสัมพันธ์ (และบ่อยครั้งมากที่เป็นเรื่องระหว่างพี่น้องหรือคนในครอบครัว) นำเสนอในโทนรื่นรมย์หรรษา ทว่าแฝงด้วยด้านมืดหม่นขมขื่น ก่อนจะสรุปลงเอยอย่างมีความหวังมองโลกในแง่ดี

เทียบกับรูปแบบการนำเสนอแล้ว เนื้อหาสาระในหนังของเวส แอนเดอร์สัน จับต้องมองเห็นได้ยากกว่า เนื่องจากความหลากหลายของพล็อตและแก่นเรื่องที่ผิดแผกแตกต่างกันไปในงานแต่ละชิ้น

ความเป็น auteur ของเวส แอนเดอร์สันที่มักจะได้รับการหยิบยกมากล่าวถึง ส่วนใหญ่จึงเน้นไปยังรูปแบบวิธีการนำเสนอ ตั้งแต่งานการจัดองค์ประกอบภาพที่เน้นความสมดุลอย่างประณีตพิถีพิถัน การเล่นกับรูปทรงเรขาคณิต งานกำกับศิลป์และการใช้สีหวานสดใสจนเกิดเป็นบรรยากาศกึ่งๆ เหนือจริง การเคลื่อนกล้องจากซ้ายไปขวา การเปลี่ยนระยะจากไกลสู่ใกล้ จากบนลงล่าง (หรือในทิศทางกลับกัน) การแสดงซึ่งตัวละครทั้งหมดเล่นหนังด้วยสีหน้านิ่งเฉยราบเรียบ ไม่แสดงอารมณ์ การแบ่งเฟรมเล่าเรื่องหลายๆ ส่วนในเวลาเดียวกัน การให้ตัวละครมองกล้องแล้วพูดกับผู้ชมโดยตรง (เทคนิคนี้ให้ความรู้สึกคล้ายๆ ลิเกป้องปาก) การแบ่งเรื่องราวออกเป็นบทๆ แล้วตั้งชื่อตอนขึ้นข้อความคล้ายๆ งานวรรณกรรม อารมณ์ขันในแบบตลกหน้าตาย การใช้เพลงและดนตรีประกอบที่มีจังหวะแม่นยำ และได้ผลเต็มเปี่ยมในแง่ดูเท่ ฯลฯ

งานด้านภาพและการใช้เสียง รวมถึงวิธีการเล่าเรื่อง ทั้งหมดนี้ประกอบรวมเป็น ‘โลกของเวส แอนเดอร์สัน’ ซึ่งมีบุคลิกและบรรยากาศเฉพาะเปี่ยมเสน่ห์โดนใจผู้ชมและบรรดาแฟนๆ จำนวนมาก แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ มันกลายเป็นการสร้างโลกกึ่งจริงกึ่งฝัน สำหรับบอกเล่าเรื่องราวใกล้ตัวสมจริง ด้วยลีลาแปลกประหลาดผิดจากธรรมชาติตามขนบปกติของหนังทั่วไป

พูดอีกแบบหนึ่ง สไตล์และวิธีเล่าเรื่องที่ปรุงแต่งประดิดประดอยจนจัดจ้านในผลงานของเวส แอนเดอร์สัน บ่อยครั้งมักจะเป็นการกระตุ้นเตือนให้ผู้ชมรู้สึกตัวขึ้นมาฉับพลันว่ากำลังดูหนัง

ตรงนี้นี่เองครับ ที่ต่างจากธรรมชาติหรือขนบปกติในการเล่าเรื่องของหนังทั่วไป ซึ่งพยายามใช้ศิลปะและองค์ประกอบต่างๆ ทางภาพยนตร์ เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ชมคล้อยตาม กระทั่งไม่รู้สึกตัวว่ากำลังดูหนังไปชั่วขณะ

ผมไม่แน่ใจและไม่ทราบเจตนาที่แท้จริงของเวส แอนเดอร์สัน ว่าเขาเลือกใช้วิธีการเช่นนี้ด้วยเหตุผลใด แต่ผมนึกไปถึงหลักการและแนวความคิดอย่างหนึ่ง จึงขออนุญาตเล่าสู่กันฟัง เพื่อประกอบการพิจารณานะครับ

สิ่งที่ผมนึกถึงก็คือ หลักการสำคัญของแบร์ทอลท์ เบรคชท์ นักทฤษฎีและนักเขียนบทละครเวทีชาวเยอรมัน ซึ่งเสนอว่า ในละครส่วนใหญ่ มักใช้วิธีการและศิลปะต่างๆ ทำให้ผู้ชมคล้อยตามไปกับอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเนื้อเรื่อง (พูดง่ายๆ คือ ดูแล้วอิน)

อารมณ์ที่โศกสุขทุกข์เศร้าไปตามเรื่องราวนี้เอง อาจส่งผลให้ผู้ชมเผลอไผลมองข้าม ไม่ทันได้ครุ่นคิดถึงเนื้อหาสาระที่ละครเรื่องนั้นๆ ตั้งใจนำเสนอ

เบรคชท์จึงเสนอแนวทางด้วย ‘เทคนิคการทำให้แปลก’ สารพัดสารพัน เพื่อขัดจังหวะ หยุดความต่อเนื่องลื่นไหลในการเล่าเรื่อง ทำให้ผู้ชมรู้ตัวว่ากำลังดูละครอยู่เป็นระยะๆ เพื่อให้มีเวลาสำหรับฉุกคิดถึงแก่นสารสาระของละคร

อ้อมโลกปูพื้นมาไกล ตอนนี้ก็ได้เวลาเข้าเรื่อง Isle of Dogs แล้วนะครับ

Isle of Dogs เป็นงานล่าสุดของเวส แอนเดอร์สัน และเลือกที่จะทำเป็นหนังอนิเมชัน (ก่อนหน้านี้เขาเคยทำหนังเป็นอนิเมชันมาแล้วครั้งหนึ่ง คือเรื่อง Fantastic Mr. Fox ในปี 2009) โดยใช้เทคนิคหลักๆ แบบสต็อปโมชัน หรือการสร้างหุ่นตัวละครต่างๆ และฉากหลัง แล้วค่อยๆ ขยับถ่ายกันทีละเฟรม (ขณะเดียวกันในรายละเอียดจุกจิกปลีกย่อย หนังก็ผสมเทคนิควิธีการของอนิเมชันแบบอื่นๆ เอาไว้ด้วยพอสมควร)

พันธุ์หมาบ้า Isle of Dogs

พล็อตคร่าวๆ ของหนังกล่าวถึง โลกอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า ฉากหลังคือ ญี่ปุ่นในเมืองสมมติชื่อเมงะซากิ เกิดโรคไข้หวัดหมาระบาด นายกเทศมนตรีโคบายาชิ (ผู้สืบเชื้อสายมาจากโชกุน ที่เคยมีเรื่องแค้นเคืองกับหมา จนกลายเป็นอคติเกลียดชังต่อมาหลายชั่วอายุคน) มีคำสั่งเนรเทศหมาทุกตัวไปปล่อยทิ้งที่เกาะร้างซึ่งมีชื่อว่า ‘เกาะขยะ’

หมาตัวแรกที่ถูกเนรเทศคือ สปอตส์ซึ่งทำหน้าที่ระวังภัยคุ้มกันเด็กชายอาตาริ (หลานบุญธรรมของนายกเทศมนตรี)

เรื่องราวหลักๆ ของหนัง คือ อาตาริมีความผูกพันกับสป็อตส์มากเกินกว่าจะนิ่งเฉยดูดาย จึงหลบหนีและเดินทางไปยังเกาะร้าง เพื่อติดตามหาเพื่อนต่างสายพันธุ์ แล้วก็ได้พบกับหมากลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะหมาจรจัดชื่อชีฟ ผู้แปลกแยกโดดเดี่ยวและไม่เป็นมิตรกับมนุษย์ ทั้งหมดออกเดินทางร่วมกัน ผ่านการผจญภัยเผชิญทุกข์สุขต่างๆ นานา จนเกิดการเรียนรู้ทำความเข้าใจในอีกฝ่าย กลายเป็นความผูกพันต่อกันอย่างแน่นแฟ้น

เรื่องราวอีกส่วนเกิดขึ้นในเมือง การหายตัวไปของอาตาริ ลุกลามบานปลายใหญ่โต ส่งผลให้เกิดการออกติดตามค้นหา (หรือใช้คำว่า ‘ไล่ล่า’ น่าจะถูกต้องตรงกว่า) และกลายเป็นข้ออ้างให้หยิบยกขึ้นมาขยายความถึงโทษภัยอันตรายร้ายแรงของหมา จนนำไปสู่มาตรการขั้นเด็ดขาด คือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หมาทุกตัวที่ถูกเนรเทศไปยังเกาะขยะ พร้อมๆ กันนั้นก็มีผู้คนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมเหี้ยมเกรียมฝ่ายทางการ จึงลงมือยับยั้งขัดขวาง

หนังดำเนินเรื่องตัดสลับไปมาระหว่างทั้งสองเหตุการณ์เคียงคู่กัน และค่อยๆ ขยับเคลื่อนจนบรรจบพบกันในตอนท้าย

อาตาริ หมา สุนัข

เนื้อเรื่องคร่าวๆ ของหนังก็มีเพียงเท่านี้ เป็นพล็อตง่ายๆ ที่ติดตามไปได้สักพักก็สามารถคาดเดาบทสรุปได้ไม่ยาก แต่จังหวะลีลาอันเชี่ยวชาญในการเป็นนักเล่าเรื่องชั้นยอดของเวส แอนเดอร์สัน ก็ทำให้ Isle of Dogs เป็นอนิเมชันแนวผจญภัยเน้นความบันเทิงที่เล่าเรื่องได้สนุกสนานชวนติดตามแบบสะกดตรึงทุกขณะ เต็มไปด้วยงานสร้างและภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจ ตามที่หนังแนวทางนี้ควรจะเป็น

แต่ลึกไปกว่านั้น งานชิ้นนี้ก็สะท้อนภาพ ‘โลกของเวส แอนเดอร์สัน’ ในแบบที่แฟนๆ คุ้นเคยอย่างครบครัน แต่จุดใหญ่ใจความที่ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตก็คือ นอกเหนือจากการเล่าเรื่องด้วยกรรมวิธีต่างๆ ที่เคยใช้เสมอมา เพื่อเตือนให้คนดูรู้สึกว่ากำลังดูหนังแล้ว ความเป็นหนังอนิเมชันก็ยิ่งเน้นย้ำลักษณะเช่นนี้ให้เด่นชัดยิ่งขึ้นไปอีก

กล่าวคือ พื้นฐานของอนิเมชันส่วนใหญ่ มุ่งไปที่การสร้างภาพประดิษฐ์ปรุงแต่งในจินตนาการของคนทำ ให้ออกมาสมจริงหรือใกล้เคียงกับความสมจริง ทั้งความเคลื่อนไหวอันนิ่มนวลของตัวละคร ฉากหลังทั้งอาคารบ้านเรือนและต้นไม้ใบหญ้า ลม ฝน หมอก เมฆ ผิวน้ำ แสงเงา สมจริง รวมทั้งเกิดผลในด้านความสวยงามน่าตื่นตา

งานด้านภาพในอนิเมชันแบบเวส แอนเดอร์สันกลับมีเป้าหมายแตกต่าง เบื้องต้นอาจยังตรงกันคือ เน้นความสวยงาม แต่ที่เหลือถัดจากนั้นผิดแผกโดยสิ้นเชิง มีความเคลื่อนไหวแข็งๆ กระตุกและกระโดกกระเดก การออกแบบตัวละคร การใช้สี ฉากหลังต่างๆ ให้ผลรวมไม่เกิดระยะใกล้-ไกลสักเท่าไร ค่อนข้างไปทางแบนๆ ใกล้เคียงงานกราฟิกดีไซน์เสียมากกว่า

พูดง่ายๆ ว่าจงใจทำอนิเมชันให้แลดูเป็นอนิเมชัน

ความพิเศษเฉพาะตัวประการต่อมาที่ทำให้ Isle of Dogs แตกต่างจากหนังส่วนใหญ่ของเวส แอนเดอร์สัน ผมคิดว่า หนังเรื่องนี้เป็น ‘จดหมายรักถึงสุนัขและญี่ปุ่น’ ตัวเรื่องนั้นเน้นแง่มุมความเป็นเพื่อนผู้ซื่อสัตย์ภักดีต่อมนุษย์ของหมาๆ ทั้งหลายอย่างเด่นชัด ขณะที่ฉากหลังและรายละเอียดด้านภาพ ก็ถ่ายทอดความหลงใหลประทับใจของเวส แอนเดอร์สันที่มีต่อศิลปะวัฒนธรรมของญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นภาพเขียนบนฉากกั้น การให้ตัวละครหมามาเล่าเกริ่นหน้าม่าน ภาพพิมพ์อุคิโยเอะ บทกวีไฮกุ ซูโม การทำซูชิ รวมเลยมาถึงศิลปะที่ร่วมสมัยใกล้ตัวยิ่งขึ้น อย่างภาพยนตร์

อย่างหลังสุดนั้น อาจพูดได้ว่า Isle of Dogs เป็นงานบูชาครูต่อหนังญี่ปุ่น (เดิมทีที่ผ่านๆ มางานของเวส แอนเดอร์สัน มักจะได้รับการหยิบยกมาเทียบเคียงกับหนังของยาสึจิโร โอสุ ในแง่ของการจัดองค์ประกอบภาพอย่างประณีตพิถีพิถันและวิจิตรบรรจง ซึ่งมีร่องรอยให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันของ 2 คนทำหนังต่างยุคสมัย

Isle of Dogs

ใน Isle of Dogs ก็ยังมีความพ้องพานเกี่ยวโยงระหว่างเวส แอนเดอร์สันกับยาสึจิโร โอสุอยู่เช่นเดิม แต่เป้าหมายในการแสดงความคารวะอย่างแท้จริง คือ หนังของอากิระ คุโรซาวา (ซึ่งก็เป็นผู้กำกับที่มีความเป็น auteur ที่โดดเด่นมากที่สุดอีกคนหนึ่งของโลกภาพยนตร์)

การแสดงความคารวะต่อคุโรซาวานั้น พบเจอได้ในรายละเอียดหลายๆ อย่าง อาทิ สถานะของตัวเอกอย่างชีพซึ่งเป็นหมาจรจัด ใกล้เคียงกับพวกโรนินในหนังซามูไร (และสอดคล้องกับชื่อหนังยุคแรกๆ ของคุโรซาวาเรื่อง Stray Dog) อาคารที่พักของตัวละครนักศึกษาสาวชาวอเมริกันชื่อเทรซี มีนามว่า Kikuchiyo Residence (คิคุชิโยะเป็นชื่อของตัวละครที่สวมบทบาทโดยโตชิโร มิฟูเน ในหนังเรื่อง Seven Samurai) เกาะร้างที่เต็มไปด้วยขยะและเศษซากหักพัง แลดูคลับคล้ายกับย่านเสื่อมโทรมในเรื่อง Dodes’ka-den (ซึ่งโดดเด่นเรื่องการใช้สีเช่นเดียวกับหนังของเวส แอนเดอร์สัน)

และที่เด่นชัดอย่างสิ้นข้อสงสัยก็คือ การนำเอาดนตรีประกอบจากหนังของคุโรซาวาเรื่อง Drunken Angel และ Seven Samurai มาใช้ใน 3 ฉากสำคัญ

ความพิเศษประการสุดท้าย คือ การใช้ภาษาในหนัง โดยกำหนดให้ตัวละครที่เป็นมนุษย์ (ซึ่งในเรื่องส่วนใหญ่เป็นชาวญี่ปุ่น) พูดจาในภาษาประจำชาติของตนเอง ขณะที่เหล่าหมาทั้งหลายพูดภาษาอังกฤษ

ภาษาญี่ปุ่นที่ตัวละครพูดในหนัง บางครั้งก็แปลผ่านการรายงานข่าวทางโทรทัศน์ ผ่านล่าม หรืออุปกรณ์เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์  ขณะเดียวกันก็มีบางช่วงบางตอนที่หนังจงใจให้ตัวละครพูดภาษาญี่ปุ่นโดยปราศจากการแปล

มันอาจะเป็นแค่ลูกเล่นยียวนในการเล่าเรื่อง หรืออาจจะมีความหมายนัยยะทางลึกอื่นๆ ที่ผมยังจับสังเกตไม่ออกก็ได้นะครับ แต่จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม การใช้ภาษาญี่ปุ่นโดยปราศจากการแปลในหลายๆ ฉาก ส่งผลแน่ชัดอย่างหนึ่ง คือ เป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารทำความเข้าใจกันระหว่างตัวละครสองฝ่าย และสะท้อนถึงความแตกต่างกันของชาติพันธุ์

ตรงนี้เชื่อมโยงสอดประสานไปถึงแก่นเรื่อง ซึ่งพูดถึงความแตกต่าง ความไม่เข้าใจกัน จนนำพาไปสู่อคติ แล้วลุกลามกลายเป็นความเกลียดชัง กระทั่งเบื้องปลายท้ายสุดก็นำมาซึ่งความพยายามจะกำจัดกวาดล้างกันอย่างโหดร้าย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ’โลกของเวส แอนเดอร์สัน’ จะเสนอภาพความเป็นไปของโลกที่โหดร้ายเพียงไรก็ตาม (ใน Isle of Dogs อาจกล่าวได้ว่า เข้าลักษณะของจินตนาการแง่ลบของโลกแบบ distopian) แต่ผลลัพธ์บั้นปลาย มักจะเจือไปด้วยความหวัง การทำความเข้าใจในกันและกัน จนกระทั่งคลี่คลาย ‘จากร้ายกลายเป็นดี’ เสมอ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save