fbpx
เมื่อแนวคิด ‘ทำทุกที่ให้ Instagrammable’ กำลังพังวงการออกแบบ

เมื่อแนวคิด ‘ทำทุกที่ให้ Instagrammable’ กำลังพังวงการออกแบบ

บทความชวนดูงานศิลปะและนวัตกรรมจากโลกที่หนึ่ง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคน ผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill

 

Eyedropper Fill เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

คำว่า ‘Instagrammable’ มาจากชื่อแอปฯ ‘Instagram’ ชนกับคำกริยา ‘able’ แปลตรงๆ ก็คือสามารถถ่ายลงอินสตาแกรมได้หลายครั้งคำนี้ (หรือบางทีอาจเป็นคำว่า Instagram-worthy) หมายความถึงสถานที่หรือสิ่งดึงดูดใจที่ควรค่าแก่การถ่ายอวดลงโซเชียลมีเดีย

ใครเป็นคนบัญญัติขึ้นนั้นไม่ทราบได้ แต่ Instagrammable กลายเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญสำหรับธุรกิจในช่วงหลายปีมานี้ ร้านอาหารที่อร่อยอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แต่ต้องออกแบบร้านให้มีมุมสวยๆ เท่ๆ ให้ลูกค้าเลือกนั่งเพื่อถ่ายรูปได้ โรงแรมไม่สามารถขายแค่ความสะดวกสบายและบริการที่ดี แต่ต้องสวยและแปลกตาจนแขกที่มาอยากถ่ายรูปไปอวดชาวบ้าน แม้แต่เมืองหรือย่านเล็กๆ ก็แข่งกันออกแบบพื้นที่ของตัวเองให้มีธีมโดดเด่นจากที่อื่น เราจึงไม่ค่อยเห็นคอนเทนต์ท่องเที่ยวในยุคนี้จั่วหัวถึงร้านอาหารที่อร่อยที่สุดหรือสถานที่ท่องเที่ยวที่เงียบสงบที่สุด แต่กลายเป็นจัดอันดับกันว่าร้านไหน ‘Most Instagrammable’ ที่สุด

 

 

เหตุที่ความ Instagrammable กลายเป็นเรื่องสำคัญขึ้นมา เพราะการอยู่บนอินสตาแกรมได้กลายเป็นมูลค่าทางธุรกิจ ยิ่งมีคนถ่ายมาก แชร์มาก คนก็ยิ่งเห็นเยอะ คนที่กำลังเลื่อนฟีดผ่านภาพสถานที่สวยๆ ก็อยากจะไปถ่ายบ้าง ยิ่งคนไปเยอะ สินค้าหรือบริการก็ยิ่งขายดี อย่างนี้ใครมันจะไม่อยากให้ตัวเอง Instagrammable ล่ะ

ดูเหมือนวิถีนี้จะเป็นโอกาสสำหรับคนทำธุรกิจ เพราะทำให้ทุกอย่างเติบโตไปในทางที่ดีและดูไม่มีข้อเสียอะไร แต่ในบทความ Should architects design provocatively ugly architecture that does not conform to Instagram’s aesthetic conventions? บนเว็บ Dezeen ผู้เขียน Will Jennings พูดถึงวิถีของ Instagrammable ว่ามันกำลังเปลี่ยนเมืองอย่างไม่มีใครรู้ตัว

Jennings บอกว่า ตั้งแต่ instagram culture เกิดขึ้น และการถ่ายอินสตาแกรมกลายเป็นคำกริยาติดปากแทนคำว่าถ่ายรูป อินสตาแกรมก็เปลี่ยนจากแอปฯ ถ่ายและแชร์ภาพธรรมดา กลายเป็นพื้นที่โฆษณาขนาดใหญ่ ที่หลายธุรกิจ หลายผลิตภัณฑ์อยากจะพาตัวเองเข้าไปปรากฏตัวอยู่ในนั้น ไม่เว้นแม้แต่สถาปัตยกรรมและเมือง

หลายคนฟังแล้วอาจจะงงว่าทำไมสถาปัตยกรรมหรือเมืองจึงต้องอยากอยู่ในอินสตาแกรม Jennings อธิบายว่า ในยุคที่ธุรกิจจำเป็นต้องแข่งกันทำให้ตัวเอง ‘Instagrammable’ เพื่อช่วงชิงพื้นที่โฆษณา ธุรกิจการท่องเที่ยวก็เช่นกัน การออกแบบสถาปัตยกรรม ตึกรามบ้านช่องและเมืองที่สวยน่าถ่ายลงอินสตาแกรม จึงเป็นอีกเครื่องมือที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในเมืองหรือย่านนั้นได้ คีย์เวิร์ด Instagrammable จึงกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญของสถาปนิกและนักออกแบบเมืองอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยง

แล้วมันพังการออกแบบเมืองยังไง? ต้องย้อนกลับไปว่า โดยปกติการออกแบบตึกหรือ urban design ของเมืองหรือย่านหนึ่ง สถาปนิกและนักออกแบบจะต้องใช้เวลาเนิ่นนานเพื่อศึกษาความต้องการของผู้อยู่อาศัยหรือคนที่เข้ามาใช้งาน พัฒนาแบบเพื่อแก้ไขปัญหาว่า ทำอย่างไรพื้นที่นี้จึงจะตอบโจทย์การใช้งาน มอบประสบการณ์ที่ดีและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กับผู้คน และมากกว่านั้นอาจสามารถแสดงอัตลักษณ์ของเมืองหรือย่านนั้นออกไปสู่คนภายนอกได้ด้วย

ทว่าภายใต้วิถี Instagrammable สถาปนิกและนักออกแบบแทบต้องล้างกระดานกระบวนการคิดที่ว่ามา กลายเป็นต้องขบคิดว่า ทำอย่างไรให้สถาปัตยกรรมสวยเตะตา มีมุมดึงดูดให้นักท่องเที่ยวยกมือถือขึ้นถ่าย หรือเหลี่ยมไหนของอาคารน่าจะเรียกยอดไลก์ เพื่อเรียกนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ๆ เข้ามาได้มากที่สุด เพื่อให้เมืองหรือย่านนั้นขายดีในเชิงธุรกิจ

พอเมืองถูกบอกต่อในฐานะ Instagrammable spot มากเข้า ผู้คนที่แห่เดินทางมา แทนที่จะได้ใช้เวลากับเมือง ดื่มด่ำกับรายละเอียด ซึมซับชีวิตของผู้คน กลับกลายเป็นใช้เวลาไม่ถึงนาทีกับการยกมือถือขึ้นถ่ายรูปให้ได้มุมสวยตามต้องการแล้วจากไป วิถี Instagrammable จึงเปลี่ยนให้สถาปัตยกรรมและเมืองจากเคยเป็นพื้นที่ของประสบการณ์และการใช้ชีวิตของคนในพื้นที่ กลายเป็นแค่ฉากถ่ายรูปสวยๆ ชั่วคราว

สิ่งที่น่ากลัวที่ Jennings บอกก็คือ อินสตาแกรมเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมในยุคนี้ก็จริง แต่ในอนาคตทุกอย่างอาจเปลี่ยน ทว่าสถาปัตยกรรมและเมืองที่ถูกสร้างขึ้นแล้วต้องอยู่กับคนตลอดไป แม้ผลกระทบจากการออกแบบเมืองด้วยวิถี Instagrammable จะยังไม่เกิดให้เห็นเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ในอนาคต คนที่ดูเหมือนจะซวยที่สุดในเกมนี้ เห็นจะเป็นคนท้องถิ่นที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับเมืองและสถาปัตยกรรมที่ถ่ายสวยน่าอวดแต่อาจไม่ได้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตไปอีกชั่วอายุคน

จากประสบการณ์ตรงของเราเองที่ทำงานในสายออกแบบนิทรรศการและอีเว้นต์ ก็ได้ผลกระทบจากวิถีแบบ Instagrammable เช่นกัน บรีฟ (เอกสารสรุปความต้องการและโจทย์จากลูกค้า ก่อนเริ่มทำงาน) ที่เราได้รับกว่า 90 % ลูกค้าแบรนด์ต่างๆ คาดหวังให้งานของตัวเองถูกถ่ายไปอยู่ในนิวส์ฟีดเพื่อคนที่กำลังปัดหน้าจอผ่าน จนบางครั้งลืมจุดประสงค์ที่แท้จริงคือ การสื่อสารและสร้างประสบการณ์ให้กับคนที่อยู่ตรงนี้

บนโต๊ะประชุมระหว่างนักออกแบบและลูกค้า หลายครั้งนิทรรศการที่น่ายกมือถือขึ้นถ่าย จึงถูกเลือกมากกว่านิทรรศการที่เล่าข้อมูลได้สนุก เข้าใจง่าย และสร้างประโยชน์ให้คน

 

 

กลับไปที่หัวข้อของบทความหรือสถาปนิกควรออกแบบตึกหน้าตาอุบาทว์แบบที่ถ่ายลงอินสตาแกรมไม่ได้ให้สะใจเล่นดีนะ?” คงเป็นแค่คำถามเชิงประชดประชันของ Will Jennings และเขาเองเองไม่ได้มีข้อสรุปให้ว่านักออกแบบควรทำตัวยังไง เพราะท้ายที่สุด ความ Instragrammable ก็ยังเป็นเงื่อนไขจำเป็นในโลกยุคที่ธุรกิจขนาดใหญ่ยังคงหมุนรอบโซเชียลมีเดีย และไม่ได้แปลว่างานออกแบบที่ Instagrammable จะเป็นงานออกแบบที่ไม่ดีเสมอไป ความท้าทายที่เลี่ยงไม่ได้ของนักออกแบบยุคนี้คือ ทำอย่างไรที่เราจะบาลานซ์ให้งานออกแบบเป็นฉากที่ถ่ายรูปที่สวย แต่ในขณะเดียวกันก็ยังสร้างประสบการณ์ที่ดี และชวนให้คนเห็นความงามของการอยู่กับปัจจุบัน มากกว่าอยู่แค่ในจอ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save