fbpx
ผู้มีบุตรยาก-โสภณ ศุภมั่งมี

ปล่อยแล้วก็ยังไม่มี พยายามแล้วก็ยังไม่มา : เมื่อนักวิทยาศาสตร์หาทางแก้ภาวะมีบุตรยากด้วยมดลูกจากห้องแล็บ

โสภณ ศุภมั่งมี เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

Mat Hellström ด็อกเตอร์ด้านวิศวกรรมชีวภาพใช้เวลาส่วนใหญ่ของวันทำงานกับหนูและจานทดลอง แม้ว่าแต่ละวันเขาจะไม่ได้เจอคนไข้ แต่งานของเขาในตอนนี้มีโอกาสช่วยให้ความฝันหรือความต้องการของคนที่ต้องการมีลูกหลายหมื่นหลายล้านคนบนโลกใบนี้เป็นจริงขึ้นมา โดยการสร้างมดลูกขึ้นมาภายในห้องแล็บเลย

ตามสถิติแล้วพบว่าคู่สมรสกว่า​ 15% ประสบปัญหาภาวะมีบุตรยาก โดยภาวะมีบุตรยาก คือการที่ผู้หญิงไม่สามารถตั้งครรภ์ได้หลังจากพยายามมีบุตรโดยการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกันอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะเวลา 1 ปี หรือถ้ามีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไปแล้วจะถือว่าอยู่ในภาวะมีบุตรยากเมื่อพยายามแล้วอย่างน้อย 6 เดือน

Hellström ทำงานอยู่ในส่วนของการสร้างอวัยวะทดแทน (organ regeneration) ที่ University of Gothenburg ในประเทศสวีเดน โดยเขาจบด้านการสร้างระบบประสาท แต่วันหนึ่งหลังจากที่เขามีโอกาสได้พบกับ Mats Brännström ด็อกเตอร์และนายแพทย์ที่เป็นผู้บุกเบิกในด้านการปลูกถ่ายมดลูก เขาก็เริ่มสนใจเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ของมนุษย์ โดยพวกเขาวางเป้าหมายสร้างอวัยวะที่ทำงานได้จริงๆ ขึ้นมาในห้องแล็บ เพื่อลดการพึ่งพาหรือรออวัยวะจากผู้บริจาคซึ่งมีจำกัดและไม่สามารถกำหนดได้ว่าเมื่อไหร่จะถึงคิวรับของตัวเอง

“ผมอยู่ในช่วงอายุที่การมีลูกกลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจ มันกลายเป็นสิ่งที่น่าหลงใหลมาก”

ปัจจัยการมีบุตรยากเกิดขึ้นได้ทั้งจากฝั่งชายและฝั่งหญิง เช่น สุขภาพร่างกาย โรคประจำตัว สุขภาพจิต ความเครียด วิตกกังวล ติดสุรา บุหรี่ ยาเสพติด ทำให้การมีเพศสัมพันธ์ห่างและการสร้างตัวอสุจิน้อยลง ไปจนถึงความผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์ ทางฝั่งชายก็อาจจะ อวัยวะไม่แข็งตัว (impotent) หรือภาวะมีการหลั่งอสุจิเร็วเกินไป (premature ejaculation) การสร้างอสุจิหรือการผ่านออกของน้ำอสุจิผิดปกติ ส่วนของฝ่ายหญิงก็เป็นความผิดปกติในช่องเชิงกราน เช่น มีเยื่อพังผืด เนื้องอก ซึ่งยึดเบียดทำให้ท่อนำไข่ทำงานได้ไม่ปกติ ไปจนถึงความผิดปกติของการทำงานของต่อมไร้ท่ออื่นๆ เช่น ไฮโปธาลามัส ต่อมใต้สมอง ต่อมไทรอยด์ และต่อมหมวกไต เป็นต้น

สิ่งที่ Hellström กำลังพยายามทำอยู่นั้นอาจจะไม่เป็นทางแก้ปัญหาทั้งหมด แต่มันจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้หญิงที่มีความผิดปกติของมดลูก ส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่เกิดจากโครงสร้างหรือการทำงานของมดลูกที่ไม่สมบูรณ์ แม้จะไม่ใช่ต้นเหตุของภาวะการมีบุตรยากทั้งหมด แต่ก็เป็นปัญหาที่พบบ่อยในระดับ 1 ใน 500 คนเลยทีเดียว ในบางกรณี การผ่าตัดแก้ไขปัญหานี้ได้แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือเมื่อผู้หญิงเผชิญภาวะมีบุตรยากด้วยสาเหตุนี้ ทางแก้ที่มีในปัจจุบันนั้นค่อนข้างน้อยมากสำหรับการจะมีบุตร

ภาวะการมีบุตรยากอาจจะเกิดจากสภาวะทางร่างกายก็จริง แต่คนมักหลงลืมถึงผลกระทบทางจิตใจในทางลบที่ตามมาด้วย จากรายงานของ Alice Domar ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาสุขภาพที่ Beth Israel Deaconess Medical Center ในเมืองบอสตัน ที่ตีพิมพ์ในปี 1993 บอกว่าผู้หญิงที่ประสบสภาวะมีบุตรยากนั้นอาจจะมีความวิตกกังวล ความเครียด และซึมเศร้าเทียบเท่ากับผู้หญิงที่ป่วยเป็นมะเร็ง โรคเอดส์ หรือโรคหัวใจเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นผู้หญิงที่ตกอยู่ในภาวะมีบุตรยากจึงได้รับผลกระทบในแทบทุกด้านของชีวิต

ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ความกดดันของหน้าที่การงาน การก่อร่างสร้างความมั่นคงให้ฐานะของตัวเองและครอบครัว เป้าหมายของชีวิตและความต้องการที่เปิดกว้างมากขึ้นสำหรับผู้หญิงยุคใหม่ ความสำคัญของการแต่งงานหรือมีลูกนั้นถูกวางไว้ในลำดับท้ายๆ จึงทำให้ภาวะการมีบุตรยากกลายเป็นเรื่องที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นมากกว่าเดิม การผ่าตัดปลูกถ่ายมดลูกไม่เพียงแต่จะสร้างโอกาสให้ผู้หญิงที่ประสบภาวะนี้เท่านั้น แต่ยังเปิดประตูความเป็นไปได้ให้หญิงข้ามเพศที่ต้องการมีบุตรแต่ไม่สามารถมีได้เพราะข้อจำกัดของร่างกายด้วย

การปลูกถ่ายมดลูกจากผู้บริจาคเป็นทางเลือกหนึ่งที่มีในปัจจุบัน แต่ก็มีปัญหาเรื่องของเวลาและจำนวนที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ แถมยังมีเรื่องทางชีวภาพที่ร่างกายจะปฏิเสธมดลูก ทำให้ไม่ทำงานเหมือนที่ต้องการ แม้ว่าการผ่าตัดจะผ่านไปอย่างสมบูรณ์ก็ตามที ผู้เข้ารับการผ่าตัดต้องได้รับยาที่ใช้กดภูมิคุ้มกัน (immunosuppressant drugs) เพื่อป้องกันไม่ให้ระบบภูมิคุ้มกันเข้าจู่โจมอวัยวะที่ผ่าตัดใส่เข้ามา แต่นั่นก็เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคไตและเกิดภาวะติดเชื้อต่อจากนั้นด้วย

การสร้างมดลูกจากเซลล์ร่างกายของผู้รับการผ่าตัดเองจะทำให้การพึ่งพามดลูกที่ได้รับบริจาคลดลง และไม่ต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกันด้วย

แต่การสร้างอวัยวะชิ้นหนึ่งที่ซับซ้อนและทำงานได้เต็มประสิทธิภาพอย่างมดลูกไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะมดลูกต้องทำงานที่สำคัญและแข็งแรงมากพอที่จะทนต่อการเปลี่ยนแปลงระหว่างที่ตั้งครรภ์ มันต้องการเซลล์เริ่มต้นที่หลากหลายและการสร้างเครือข่ายของเส้นเลือดที่ยุ่งเหยิง ซึ่งการจะได้เซลล์นี้มาต้องเอามาจากร่างกายหรือสเต็มเซลล์ของผู้เข้ารับการรักษา หลังจากได้มาก็เอามาเริ่มเลี้ยงให้เติบโตขึ้นในโครงสร้างที่มีชื่อเรียกว่า scaffold

ในการตรวจสอบการทำงานของเนื้อเยื่อที่สร้างขึ้นมา Hellström นำชิ้นเนื้อเยื่อเล็กๆ ไปแปะกับอวัยวะที่เสียหาย กล่าวคือพวกเขาสร้างเนื้อเยื่อบางส่วนของมดลูกขึ้นมาเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วก็เอาชิ้นส่วนเหล่านั้นไปแปะกับมดลูกที่เสียหายว่าทำงานได้จริงรึเปล่า โดยในปี 2016 นั้น Hellström ได้นำเนื้อเยื่อที่สร้างขึ้นไปซ่อมแซมมดลูกของหนูทดลองที่เสียหายได้สำเร็จ ในปีที่แล้วมีความก้าวหน้าที่ขยับขึ้นมาใกล้ความจริงอีกนิดหนึ่ง ในเนื้อเยื่อชิ้นใหญ่ขึ้นเพื่อซ่อมแซมส่วนที่เสียหายของมดลูกกระต่าย แถมต่อมากระต่ายตัวนั้นก็สามารถคลอดลูกที่สุขภาพแข็งแรงปกติได้อีกด้วย

ด้วยความที่เทคโนโลยีและความรู้เหล่านี้ยังเป็นเรื่องใหม่ ทุกแล็บก็มีเทคนิคที่แตกต่างกันออกไป เซลล์ที่นำมาเป็นเซลล์เริ่มต้นก็ต่างกัน วิธีการสร้างก็ต่างกัน แต่ทุกที่มีเป้าหมายเหมือนกันคือสร้างเนื้อเยื่อที่ชิ้นใหญ่ขึ้นและทดสอบกับสัตว์ที่ตัวใหญ่ขึ้นด้วย (ตอนนี้เริ่มมีการทดลองในแกะแล้ว) โดยปลายทางคือมดลูกที่แข็งแรงสำหรับการปลูกถ่ายในมนุษย์ให้ได้ในอนาคต

แม้ว่านี่อาจจะยังห่างไกลจากการสร้างมดลูกทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบในห้องแล็บ แต่มันก็เป็นก้าวแรกที่น่าสนใจและมีความหวัง มีคำถามมากมายที่ยังตอบไม่ได้ ขีดจำกัดทางเทคโนโลยีและความเข้าใจเกี่ยวกับสเต็มเซลล์ แถมเมื่อต้องปลูกถ่ายในมนุษย์จริงๆ เรื่องความปลอดภัยก็ยังต้องมาเป็นอันดับแรกด้วย Hellström คาดการณ์ว่าอย่างน้อยๆ น่าจะใช้เวลาอีกร่วมสิบปีกว่าวันนั้นจะมาถึง

แน่นอนว่านี่เป็นเรื่องที่น่ายินดี การแพทย์ยังมีการพัฒนาอยู่ตลอด การสร้างมดลูกและปลูกถ่ายมันเข้ากับมนุษย์เหมือนเป็นเรื่องในนิยายวิทยาศาสตร์ แต่อย่าลืมว่าครั้งหนึ่งการทำเด็กหลอดแก้วก็ดูเหมือนความเพ้อฝัน และต้องใช้เวลาพัฒนาเกือบ 50 ปีถึงจะสำเร็จได้ (แถมยังมีกระแสต่อต้านจากสังคมเรื่องศีลธรรมต่างๆ ด้วย)​ สำหรับภาวะมีบุตรยากเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก แต่ถ้าทำได้จริงๆ มันจะนำรอยยิ้ม ความสุข และความสมหวังกลับคืนสู่คนหลายล้านคนบนโลกใบนี้

 

 

 

——————————————–

อ้างอิง

ภาวะมีบุตรยาก. โอภาส เศรษฐบุตร

Uterine Factor Infertility: A Clinical Review

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save