กษิดิศ อนันทนาธร เรื่อง
ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ
ในอดีตเมื่อนานมาแล้ว มฆมาณพเป็นจิตอาสาผู้ทำความดีด้วยหัวใจ นอกจากทำหมู่บ้านของเขาให้เป็นรมณียสถาน คือ เป็นที่น่ารื่นรมย์ น้ำอุดม ร่มรื่นด้วยพฤกษา แล้ว เขายังรณรงค์ให้ชาวบ้านรักษาศีล เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปันกัน อันยังมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวประชา
การทำงานจิตอาสาของมฆมาณพทำให้เกิดอานิสงส์แรงกล้า ส่งให้ภายหลังเขาคือ ท้าวสักกะ ผู้เป็นพระอินทร์ เทพเจ้าที่ใครๆ ล้วนเคยได้ยินชื่อมาแล้วทั้งสิ้น เพราะพระอินทร์เกี่ยวข้องกับเรื่องราวบ้านเมืองของเราอย่างสำคัญ เช่น รัตนโกสินทร์ ชื่อของราชธานีแห่งนี้ แปลว่า แก้วของพระอินทร์ หรือหมายถึง พระแก้วมรกต นั่นเอง ส่วนสร้อยท้ายชื่อ “กรุงเทพฯ” ที่ว่า “สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” ก็แปลได้ว่า “ท้าวสักกะ (พระอินทร์) ประทานให้พระวิษณุกรรมเทพบุตรมาสร้างให้”
ชวนอ่านเรื่องราวของมฆมาณพว่า ใครคือเขา เขาคือใคร และมีชะตากรรมอย่างไร
ใครคือมฆมาณพ
มฆมาณพ คือ หนุ่มน้อยคนหนึ่งแห่งหมู่บ้านอจลคาม เมื่อนานมาแล้ว มฆมาณพผู้นี้รักความสะอาด รักในระเบียบวินัย กล่าวคือ เมื่อมาทำงานส่วนรวมของหมู่บ้านแล้ว เขามีฉันทะที่จะจัดให้ที่ทำงานนั้นสะอาดเรียบร้อย ชำระสะสางให้เกิดบรรยากาศดีในเขตที่ทำงาน จนเป็นรมณีย์ ที่น่าสดชื่นรื่นรมย์
เมื่อคนอื่นเห็นบริเวณของมฆมาณพเป็นรมณีย์ ก็ขับให้เขาพ้นไปจากที่ เพื่อตนจะได้ใช้แทนโดยสะดวก ฝ่ายมฆมาณพก็ออกไปโดยไม่โกรธ แต่มุ่งไปจัดการสถานที่อื่นให้เป็นรมณีย์ เหมาะแก่การทำงานต่อไป
เกิดเหตุการณ์แบบนี้อยู่หลายครั้ง นายมฆะก็ไม่โกรธ แต่ปีติสุขว่า คนเหล่านี้เป็นสุขก็ดีแล้ว เพราะพวกเขามีความสุขจากการกระทำของมฆะนี่เอง การกระทำของมฆะนั้นจึงนับเป็นกรรมที่เป็น “บุญ” ซึ่งย่อมยังความสุขแก่มฆะด้วย หรืออีกนัยหนึ่ง มฆมาณพเป็นผู้ทำความดีด้วยหัวใจนั่นเอง
นอกจากนี้ มฆมาณพยังทำถนนหนทางให้ราบเรียบ ออกจากบ้านแต่เช้าตรู่ แบกถือมีดขวานจอบเสียมไปจัดแต่งถนนหนทาง ตัดกิ่งไม้ที่เกะกะกีดขวางทางต่างๆ งานที่ทำก็มีมาก จนหลายครั้งต้องกลับบ้านมืดค่ำ คราวหนึ่ง มีหนุ่มใกล้บ้านมาเจอเข้าจึงถามว่า มฆะไปทำอะไรมา เขาตอบว่า “ไปทำบุญ ชำระทางสวรรค์” หนุ่มนั้นก็เห็นดีด้วย จึงขอร่วมเป็นคณะ “จิตอาสา” และต่อมก็ขยายวงเพิ่มขึ้นถึง 33 คน
เมื่อมีคณะจิตอาสาทำความดีด้วยหัวใจมากขึ้น กิจกรรมจิตอาสาก็ขยายกว้างขวางขึ้น นอกจากงานพัฒนาหมู่บ้านแล้ว ยังมีการสร้างศาลา ขุดสระน้ำ ลอกคูคลอง ทำสะพาน ปลูกป่าให้เป็นรมณีย์ รวมถึงไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ร่วมช่วยงานการ ร่วมสุขร่วมทุกข์กัน มีความสามัคคีพร้อมเพรียงกันในหมู่คณะ จนเรียกได้ว่าเป็น “บุญขั้นพื้นฐาน”
ไม่เพียงแต่ในด้านกายภาพเท่านั้น ในแง่ของจิตใจ เมื่อมีคนนับถือเชื่อฟังมากขึ้น มฆมาณพผู้เป็นหัวหน้าคณะจิตอาสายังแนะนำชักชวนให้ชาวบ้านเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ถือศีล 5 เว้นการเบียดเบียน เลิกสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง เช่น สุรายาเสพติด การพนัน ฯลฯ จนชาวบ้านร่วมกันอวยทานรักษาศีล
อีกนัยหนึ่ง บุญพื้นฐานที่ว่านี้ ก็คือ คุณภาพชีวิตที่ดีขั้นพื้นฐานนั่นเอง
ชะตากรรมของมฆมาณพ
แม้การทำความดีด้วยหัวใจจะก่อให้เกิดประโยชน์สุขมากมาย หากฝ่ายนายบ้านกลับเห็นว่า คณะจิตอาสากลุ่มนี้ต้องถูกกำจัด เพราะขัดขวางผลประโยชน์ของนายบ้านที่มีรายได้จากค่าสุรา ค่าส่วยที่ชาวบ้านต้องเสียให้จากการดื่มสุรา การยิงนกตกปลา ฯลฯ
นายบ้านจึงกราบทูลพระราชาว่า คณะจิตอาสานี้เป็นโจร ผู้ก่อการร้าย พระราชาซึ่งฟังความข้างเดียว ไม่ทันได้พิจารณาให้ถ้วนถี่ ก็สั่งลงโทษให้ช้างเหยียบ แต่ด้วยอำนาจแห่งความเมตตาของคณะบุญกรนี้ ช้างกลับไม่ยอมเหยียบ ไม่ว่าพระราชาจะกระทำด้วยวิธีการใดๆ
พระราชาทรงเอะพระทัย แล้วมาสอบสวนจนได้ความตามที่เป็นจริง จึงชื่นชมยินดีและสนับสนุนคณะจิตอาสานี้ อาทิ มอบช้างให้เป็นพาหนะไว้ใช้ทำงาน
ต่อมาเมื่องานของคณะจิตอาสานี้มากขึ้น ฝ่ายสตรีแม่บ้าน ภรรยาของมฆมาณพและคณะ ก็มาร่วมทำบุญกันด้วย เช่น สุธรรมามาเป็นเจ้าภาพสร้างศาลา สุจิตราทำสวนดอกไม้ให้เป็นที่รมณีย์ และสุนันทาปลูกผลไม้ไว้รายล้อมศาลาเพื่อแบ่งปันให้ผู้สัญจรไปมาสามารถเก็บกินได้ เป็นต้น
ข้อคิดเรื่องจิตอาสา
เรื่องราวของมฆมาณพหรือคณะบุญกร – นักทำบุญนี้ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ชี้ว่า มีมาในราว 4 คัมภีร์ แม้รายละเอียดแตกต่างกันบ้าง แต่แสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ น่าเสียดายว่า ปัจจุบันเรื่องดีงามทางวัฒนธรรมไทยถูกลืมเลือนไป ทั้งนี้ ถ้าสามารถสืบสาน รักษา และต่อยอด คติเรื่องมฆมาณพนี้ได้ ก็จะช่วยให้เข้าใจความหมายของ “บุญ” แจ่มชัดขึ้น
ดังเรื่องราวที่กล่าวมาโดยย่อข้างต้นนี้ ให้คติว่า “ชาวพุทธผู้นำทำบุญแรก คือ ทำถิ่นให้เป็นรมณีย์, บุญใหญ่อันสำคัญ คือ ช่วยกันทำชุมชนให้อยู่กันดี”

มฆมาณพคือใคร
พระอินทร์ อันเป็นชื่อตำแหน่งของหัวหน้าเทวดาแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น ปัจจุบันมีพระนามว่า ท้าวสักกะ โดยในสมัยเมื่อท่านเป็นมนุษย์ เคยมีชื่อว่า “มฆมาณพ” หรือ “มัฆวาน” นั่นเอง
เรื่องมฆมาณพนี้ เป็นแหล่งของเรื่อง “วัตรบท” ของพระอินทร์ อันเป็นที่มาของสวนสวรรค์ทั้ง 4 คือ จิตรลดาวัน ปารุสกวัน มิสสกวัน และนันทนวัน ตลอดจนเวชยันตมหาปราสาท และหอประชุมในดาวดึงส์ที่ชื่อ สุธรรมาสภา
ทั้งนี้เพราะ มฆมาณพมีภรรยา 4 คน คือ นางสุธรรมา นางสุจิตรา นางสุนันทา และนางสุชาดา
นางสุธรรมา ร่วมสร้างช่อฟ้าแก่ศาลาของมฆะ อานิสงส์จึงส่งผลให้เกิดศาลาสุธรรมา ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้จัดประชุมสุธรรมาสภา นางสุจิตราทำสวนดอกไม้ จนอานิสงส์ทำให้มีสวนจิตรลดาขึ้นบนดาวดึงส์ นางสุนันทาทำสวนผลไม้ จนเกิดเป็นสวนสุนันทาในดาวดึงส์ สำหรับมิสสกวัน คือ สระบัว หรือสระโบกขรณี และสวนปารุสกวัน คือ สวนมะปราง

น่าสนใจ คือ จิตรกรรมฝาผนังหอไตร วัดระฆังโฆสิตาราม อันเป็นนิวาสสถานเดิมของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2328 เมื่อคราวดำรงตำแหน่งพระราชวรินทร์ กรมพระตำรวจหลวงฝ่ายขวาในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น ในหอนอน มีนิทานธรรมเรื่องท้าวสักกะปรากฏอยู่ด้วย
ชาตรี ประกิตนนทการ เคยตั้งข้อสังเกตว่า การเน้นเรื่องพระอินทร์เป็นหลักในงานศิลปะยุคของรัชกาลที่ 1 แทนที่พระราม (นารายณ์) สะท้อนว่า พระองค์ทรงเลือกสถาปนา “คติพระอินทร์” ขึ้นมาแทนที่ “คติพระราม” ในสมัยอยุธยา เนื่องมาจากว่า เรื่องราวของพระอินทร์สอดคล้องกับพระราชประวัติของพระองค์เอง กล่าวคือ มีพื้นเพเป็นสามัญชนที่รับราชการ เปรียบดังพระอินทร์ซึ่งในหลายตำนานระบุว่า เป็นคนธรรมดาที่บำเพ็ญบุญกุศลมามากในชีวิต จึงได้เป็นพระอินทร์ ต่างจากพระรามซึ่งเป็นอวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์ เทพเจ้าสูงสุดองค์หนึ่ง ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า สถานะของพระอินทร์ตามประวัติในพุทธศาสนา เป็นเพียงตำแหน่งที่มีการหมุนเวียนได้ มิได้เป็นโดยชาติกำเนิดศักดิ์สิทธิ์แบบเทพองค์อื่น
ด้วยเหตุนี้ เรื่องราวของมฆมาณพ หรือพระอินทร์ จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความชอบธรรมทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนั่นเอง

บรรณานุกรม
- ชาตรี ประกิตนนทการ. การเมืองในสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 1. กรุงเทพฯ: มติชน,
- สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต). ทำบุญพื้นฐาน คือทำหมู่บ้านให้เป็นรมณีย์. กรุงเทพฯ: ผลิธัมม์, 2562.
- เอกชัย สถาพรธนพัฒน์. เทวตำนานในอริยวิถี. กรุงเทพฯ: วิภาษา, 2561.