fbpx
แคชเมียร์ปัญหาสามเส้า อินเดีย ปากีสถาน และจีน

แคชเมียร์ปัญหาสามเส้า อินเดีย ปากีสถาน และจีน

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

หลังจากคราวก่อนชวนทุกท่านไปเจาะประเด็นการผนวกกลืนรัฐจัมมูและแคชเมียร์ของอินเดียเมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผ่านการยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 35A และมาตรา 370 ซึ่งส่งผลอย่างสำคัญต่อสถานะความเป็นรัฐรูปแบบพิเศษของดินแดนแห่งนี้ การกระทำดังกล่าวของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากฝ่ายค้าน และกลุ่มเคลื่อนไหวประเด็นสันติภาพในแคชเมียร์ จนมีการกล่าวหารัฐบาลว่ากระทำการรัฐประหารรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์อินเดีย

นอกจากความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในประเทศแล้ว รัฐบาลอินเดียยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากภายนอกด้วย โดยเฉพาะการรายงานปัญหาสิทธิมนุษยชนจากสำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนัก ยิ่งไปกว่านั้นยังเกิดการประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียเลิกปิดบังความจริงที่กำลังเกิดขึ้นในแคชเมียร์ หลังมีการตัดสัญญาณโทรศัพท์ และอินเตอร์เน็ต มีการจับกุมและคุมตัวประชาชนจำนวนหลายหมื่นคนที่รัฐบาลมองว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ที่สำคัญคือรัฐบาลออกมาตรการห้ามสื่อท้องถิ่นรายงานเรื่องที่เกิดขึ้นในแคชเมียร์

แต่นอกเหนือจากประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนแล้ว ดังที่เคยเขียนไปก่อนหน้านี้ว่าดินแดนแคชเมียร์เปรียบเสมือนสมรภูมิที่ยังคงมีชีวิต เพราะอยู่กึ่งกลางระหว่าง 3 ประเทศสำคัญของเอเชีย คือ อินเดีย ปากีสถาน และจีน ซึ่งล้วนเป็นชาติที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง เป็นที่ทราบกันดีว่าทั้ง 3 ประเทศต่างอ้างสิทธิของตนเหนือดินแดนแคชเมียร์ ฉะนั้นเมื่ออินเดียดำเนินการบางอย่างในแคชเมียร์จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่อีก 2 ประเทศจะยื่นมือเข้ามายุ่ง

ในครั้งนี้จึงถือโอกาสมาตอบคำถามหลายเรื่องที่คงเป็นประเด็นคาใจใครหลายคน อย่างเรื่องสถานการณ์ในดินแดนแคชเมียร์ปัจจุบันเป็นอย่างไร ความสำคัญของแคชเมียร์ต่อทั้ง 3 ประเทศ ทำไมอินเดียไม่อยากให้เรื่องแคชเมียร์กลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือจะเกิดการปะทะกันไหมระหว่าง 3 ชาติจากปัญหาที่เกิดขึ้นนี้

 

สัญญาณที่ขาดหายเหนือดินแดนแคชเมียร์

 

หากจะบอกว่าแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเหตุการณ์ในแคชเมียร์ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเลยคงจะเป็นเรื่องไม่ผิดนัก เพราะไม่ใช่เพียงคนนอกเท่านั้นที่ไม่สามารถอัพเดทสถานการณ์ใดๆ ในดินแดนแห่งนี้ แม้แต่คนอินเดียเองก็ไม่สามารถติดต่อใดๆ กับคนในพื้นที่ได้ เพราะนับตั้งแต่ก่อนวันประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญบางมาตราตามที่กล่าวไว้ข้างต้น แคชเมียร์ก็เรียกได้ว่าถูกปิดตายจากโลกภายนอกจากการตัดสัญญาณโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตแทบจะเป็นการถาวร บุคคลภายนอกที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่สามารถเข้าไปยังพื้นที่ได้ หรือแม้แต่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง มีญาติ หรือครอบครัวอยู่ที่นั่น ก็จำเป็นต้องทำเรื่องหลายขั้นตอนเพื่อขอเข้าพื้นที่ ซึ่งดุลยพินิจในการอนุญาตอยู่กับรัฐบาล

สำนักข่าวท้องถิ่นของแคชเมียร์ทั้งหมดถูกปิดกั้นไม่ให้มีการนำเสนอข่าวใดๆ รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวเพื่อป้องกันปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงภายในพื้นที่ รวมถึงการเป็นชนวนในการปลุกระดมประชาชนให้ลุกขึ้นมาต่อต้านการกระทำของรัฐบาล แม้ว่าจะมีภาพข่าว คลิปวิดีโอ หรือรายงานบทวิเคราะห์การละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายฉบับที่ออกโดยสำนักข่าวต่างประเทศอย่าง Aljazeera New York Times Reuters และอื่นๆ ออกมามากมาย แต่รัฐบาลอินเดียปฏิเสธรายงานข่าวทั้งหมดเหล่านั้นว่าไม่เป็นความจริง และได้ส่งหนังสือทางการไปยังสำนักข่าวเหล่านั้นเพื่อเตือนเรื่องการรายงานข่าวที่ผิดพลาดด้วย รัฐบาลอินเดียย้ำว่าสถานการณ์ในแคชเมียร์มีความสงบ มีการประท้วง แต่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมตามขอบเขตของกฎหมาย

นอกจากนี้เมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมาฝ่ายค้านนำโดยนายราหุล คานธี ได้ขอให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้เกิดการเข้าไปสำรวจพื้นที่เพื่อยืนยันสถานการณ์ความเป็นจริง ในช่วงแรกรัฐบาลตอบรับเรื่องดังกล่าวโดยผู้ว่าการรัฐจัมมูและแคชเมียร์จะทำหน้าที่ในการอำนวยความสะดวก แต่เมื่อถึงเวลาจริง กลุ่มผู้นำฝ่ายค้านกลับถูกกักตัวที่สนามบินศรีนาการ์ และถูกส่งตัวกลับในเวลาต่อมา โดยรัฐบาลและผู้ว่าการรัฐให้เหตุผลว่ากลัวฝ่ายค้านจะนำเรื่องนี้สร้างเป็นประเด็นทางการเมืองมากกว่าการพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริง

เท่ากับว่า ณ จนถึงเวลานี้ ตอนที่กำลังเขียนบทความชิ้นนี้อยู่ มีคนจำนวนน้อยมากเหลือเกินที่ทราบว่าสถานการณ์ที่แท้จริงในแคชเมียร์กำลังเกิดอะไรขึ้น เกิดการประท้วงใหญ่โต มีการปราบปรามกันอย่างรุนแรง และกองทัพละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนแคชเมียร์จริงตามรายงานข่าวต่างประเทศ หรือดินแดนแคชเมียร์สงบสุข รัฐบาลควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ และการดำเนินชีวิตของประชาชนยังเป็นไปอย่างปกติตามที่รัฐบาลให้ข้อมูล

 

จุดไม่รู้จบในประเด็นปัญหาสามเส้า

 

ตลอดช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาแม้ข่าวคราวภายในแคชเมียร์จะเงียบหายไปจากประเด็นปัญหาที่กล่าวไว้เบื้องต้น แต่สำหรับภายนอกประเทศ ประเด็นปัญหาแคชเมียร์กลายเป็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างอินเดีย-ปากีสถาน อินเดีย-จีน และอินเดีย-โลกมุสลิม เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นถูกยกขึ้นไปพูดในหลากหลายเวที โดยเฉพาะในระหว่างการเยือนจีนของรัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย จีนใช้เวทีนี้ในการขอความชัดเจนจากอินเดียในประเด็นเรื่องเส้นควบคุมที่แท้จริง (Line of Actual Control: LAC) ซึ่งจีนและอินเดียได้ทำข้อตกลงร่วมกันไว้ว่าจะไม่มีการทำกิจกรรมใดๆ เกินเลยไปจากเส้นนี้ ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศอินเดียให้คำยืนยันว่าข้อตกลงดังกล่าวยังคงเดิม ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารจัดการภายในประเทศซึ่งไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อข้อตกลงระหว่างประเทศที่อินเดียเคยทำไว้ และอินเดียจะพยายามประสานรายละเอียดเท่าที่เป็นไปได้ให้กับจีนได้รับรู้ อย่างไรก็ตามจีนกลับยังคงมีความกังวลต่อเรื่องที่เกิดขึ้นเนื่องจากคำพูดของรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยอินเดียที่กล่าวว่าดินแดนอักไซชินที่จีนปกครองก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียด้วย

ในเวลาต่อมาจีนจึงเลือกสนับสนุนปากีสถานในการนำเรื่องปัญหาแคชเมียร์เข้าสู่เวทีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ทั้งที่ในตอนแรกจะไม่มีการพิจารณาเรื่องนี้ แต่จีนขอให้มีการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการเพื่อหาข้อเสนอแนะในการแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้น แม้ว่าอินเดียจะพยายามอย่างหนักในการบอกว่าแคชเมียร์เป็นปัญหาภายในประเทศ สิ่งที่เกิดขึ้นจึงถือเป็นความเสียหน้าทางการทูตของอินเดีย เพราะเกือบ 40 ปีที่ผ่านมาประเด็นปัญหาแคชเมียร์ไม่เคยถูกหยิบขึ้นมาพูดในเวทีระหว่างประเทศเลยนับตั้งแต่ปี 1971

แม้ว่าการประชุมที่เกิดขึ้นจะไม่มีข้อสรุปใดๆ ออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ก็ถือว่าปากีสถานประสบความสำเร็จในการนำประเด็นเรื่องแคชเมียร์เข้าสู่เวทีระหว่างประเทศ และเป็นการบอกอินเดียว่าแคชเมียร์อาจไม่ใช่เรื่องภายในประเทศอีกต่อไปแล้ว

ท่าทีของจีนดูจะไม่ขึงขังกับอินเดียมากนักต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ต่างออกไปจากประเทศเพื่อนบ้านอีกฟากอย่างปากีสถาน ที่นำเอาปัญหานี้ไปพูดในหลายเวที โดยเฉพาะในการประชุมองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation: OIC) เพื่อเรียกร้องในชาติมุสลิมหันมาให้ความสนใจและกดดันรัฐบาลอินเดียมากยิ่งขึ้นในเรื่องสิทธิมนุษยชน

นอกจากการใช้เวทีระหว่างประเทศกดดันอินเดียแล้ว ปากีสถานยังใช้วิธีการทางการทูตที่ค่อนข้างรุนแรงอย่างการประกาศยกเลิกการค้ากับอินเดีย ปิดพรมแดนงดการนำเข้าสินค้าทั้งหมด ประกาศลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต เรียกทูตตัวเองกลับประเทศ และขับเอกอัครราชทูตอินเดียออกนอกประเทศภายใน 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังเพิ่มมาตรการตรึงกำลังในบริเวณพื้นที่ชายแดนมากยิ่งขึ้น และให้ความช่วยเหลือชาวแคชเมียร์ที่หลบหนีมาจากอินเดีย

ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นรอบนี้ส่งผลให้เกิดการปะทะกันตามแนวพรมแดนระหว่างอินเดียและปากีสถานจนมีทหารเสียชีวิต นับเป็นเหตุการณ์ปะทะที่ไม่ได้เกิดขึ้นมานานในรอบหลายปี จนมีการวิเคราะห์กันว่าประเด็นเรื่องแคชเมียร์อาจกลายเป็นชนวนสงครามระหว่างสองประเทศได้ แต่โชคดีที่ในเวลาต่อมาทางการอินเดียได้ส่งสัญญาณว่าพร้อมที่จะเจรจากับปากีสถาน หลังจากที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลปากีสถานเป็นฝ่ายพูดตลอดเวลาว่าต้องการเจรจากับอินเดียเกี่ยวกับเรื่องที่กำลังเกิดขึ้น

จนถึงตอนนี้ปัญหาสามเส้าระหว่างอินเดีย ปากีสถาน และจีน เหนือดินแดนแคชเมียร์ ดูเหมือนจะไม่จบง่ายๆ เพราะต่างงอนกันไปงอนกันมา มีการใช้กำลังกันบ้าง แต่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมคุยกันแบบเปิดอก ทำให้ไม่เกิดข้อยุติ กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่รู้วันจบสิ้น และหาทางลงไม่ได้ว่าจะกลับมารักกันหวานชื่นแบบเดิม หรือจะงัดอาวุธนิวเคลียร์ที่ทั้ง 3 ประเทศมีอยู่ในมือออกมาตะลุมบอนกัน

 

ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจและการเมืองเหนือเทือกเขาคาราโครัม

 

ปัญหาเรื่องแคชเมียร์นอกจากจะมองจากมุมประวัติศาสตร์ ความมั่นคง และการเมืองระหว่างประเทศได้แล้ว อีกหนึ่งมุมที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือการมองผ่านแว่นตาทางด้านภูมิศาสตร์ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องภูมิศาสตร์เศรษฐกิจและภูมิศาสตร์การเมือง เพราะหากเราพินิจพิจารณาแผนที่ของแคชเมียร์จะเห็นว่าเป็นพื้นที่สำคัญที่มีปราการทางธรรมชาติใหญ่ โดยเป็นจุดประสานกันระหว่างเทือกเขาฮินดูกูชที่พาดจากปากีสถานมายังประเทศอินเดีย และเทือกเขาหิมาลัยที่ทอดตัวยาวจากเมียนมาร์ ผ่านภูฏาน เนปาล อินเดีย จีน และปากีสถาน โดยทั้งสองเทือกเขานี้มีเทือกเขาอีกหนึ่งลูกคั่นกลางนั่นคือเทือกเขาคาราโครัมที่พาดตัวยาวตลอดแดนแคชเมียร์

 

เทือกเขาโคราโครัม และยอดเขาเคาทู ภาพโดย ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

 

เทือกเขานี้มีความสำคัญอย่างมากเพราะเป็นเขตติดต่อกันของ 3 ชาติ คือ อินเดีย ปากีสถาน และจีน และยังมีจุดสูงสุดที่สามารถมองเห็นแผ่นดินของทั้ง 3 ประเทศได้คือยอดเขาเคาทู การยึดครองพื้นที่บริเวณแถบนี้ได้จึงเป็นความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์การทหารในการป้องกันประเทศ ลักษณะเช่นนี้ส่งผลให้ดินแดนแคชเมียร์ซึ่งเทือกเขานี้พาดผ่านกลายเป็นพื้นที่พิพาทที่ไม่มีใครยอมใครตลอดมาเพื่อชิงความได้เปรียบดังกล่าว

หากนับจำนวนทหารประจำการของทั้งกองทัพอินเดีย ปากีสถาน และจีน ในพื้นที่ที่ทั้ง 3 ประเทศดูแล อาจเรียกได้ว่าดินแดนแห่งนี้คงเป็นพื้นที่ที่มีกองกำลังทหารหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเลยก็ว่าได้ เพราะเพียงแค่อินเดียเพียงชาติเดียวก็มีทหารประจำการอยู่ในแคชเมียร์หลายแสนคนแล้ว

นอกจากประเด็นเรื่องความสำคัญทางยุทธศาสตร์การทหารของแคชเมียร์แล้ว ดินแดนแห่งนี้ยังถือเป็นต้นธารสำคัญของทรัพยากรที่ล้ำค่าและมีความสำคัญยิ่งต่อชีวิตมนุษย์อย่างทรัพยากรน้ำ เพราะเทือกเขาโคราโครัมและเทือกเขาหิมาลัย เป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำสายสำคัญของทั้ง 3 ประเทศ และหนี่งในจำนวนนั้นคือแม่น้ำสินธุ ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจปากีสถาน โดยแม่น้ำนี้มีต้นกำเนิดในบริเวณดินแดนครอบครองของจีนไหลย้อนเข้าสู่ดินแดนแคชเมียร์ของอินเดีย ก่อนที่จะไหลผ่านประเทศปากีสถานเป็นแนวยาวเพื่อลงสู่ทะเลอาหรับ

ถึงแม้ว่าอินเดียและปากีสถานจะมีข้อตกลงในการแบ่งปันการใช้แม่น้ำนี้อย่างเท่าเทียมตามสนธิสัญญาแม่น้ำสินธุปี 1960 ซึ่งใช้เวลาเจรจาตกลงกันร่วม 10 ปี แต่ในมุมมองของปากีสถานนั้น สนธิสัญญานี้ไม่มีความยั่งยืนใดๆ ยิ่งในช่วงการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลอินเดียเริ่มลงทุนในการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าในแม่น้ำสินธุมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้น้ำที่ต้องไหลมายังปากีสถานมีจำนวนน้อยลง

 

จุดบรรจบระหว่างแม่น้ำสินธุ ( Indus) และแม่น้ำซันสการ์ ( Zanskar ) ในดินแดนแคชเมียร์ของอินเดีย ภาพโดย ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

 

ฉะนั้นความได้เปรียบของอินเดียในการควบคุมแม่น้ำสำคัญของปากีสถาน กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นน่าสนใจทางด้านภูมิศาสตร์เศรษฐกิจเพราะน้ำถือเป็นวัตถุดิบสำคัญในการเพาะปลูกและทำเกษตร ยิ่งโดยเฉพาะสำหรับปากีสถานที่การเพาะปลูกทำได้ยาก มีพื้นที่ราบลุ่มน้อย การถูกควบคุมการไหลของน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่ค่อยจะรักกันนั้นจึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ นอกจากนี้แคชเมียร์ยังสำคัญต่อปากีสถานในฐานะประตูทางการค้าสำคัญที่จะเปิดเข้าสู่จีนแผ่นดินใหญ่ด้วย ส่งผลให้ตลอดมาปากีสถานต้องการให้แคชเมียร์เป็นส่วนหนึ่งของประเทศตน

ไม่เฉพาะกับปากีสถานที่แคชเมียร์มีความสำคัญ สำหรับจีนเองนอกจากจะเป็นต้นน้ำแล้ว แคชเมียร์ถือเป็นประตูการค้าของจีนในการเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันตก ซึ่งมีทรัพยากรสำคัญที่จีนต้องการอย่างน้ำมัน เห็นได้ว่านับตั้งแต่การประกาศนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง รัฐบาลจีนได้พยายามทำข้อตกลงกับรัฐบาลปากีสถานในการสร้างเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China–Pakistan Economic Corridor: CPEC) ซึ่งพาดผ่านพื้นที่สำคัญอย่างแคชเมียร์ และนี่เองเป็นชนวนเหตุให้อินเดียไม่เห็นด้วยอย่างมากต่อโครงการ BRI ของจีน

ความสำคัญของแคชเมียร์ในทางภูมิศาสตร์ใช่ว่าจะมีแต่สำหรับสองประเทศ แต่สำหรับอินเดียเองแคชเมียร์ก็มีความสำคัญในฐานะประตูสู่เอเชียกลาง และยูเรเชีย ประเทศพันธมิตรสำคัญของอินเดียในตลอดช่วงสงครามเย็น คู่ค้าสำคัญทางเศรษฐกิจ และถือเป็นแหล่งพลังงานที่อินเดียต้องการเข้าถึงตลอดมา เพราะหากดินแดนแคชเมียร์เป็นของอินเดีย จะทำให้อินเดียมีเขตติดต่อกับอัฟกานิสถานโดยตรง การทำการค้าทั้งหมดของอินเดียในภูมิภาคเอเชียกลางและยูเรเชียจึงไม่จำเป็นต้องทำผ่านปากีสถาน หรือใช้การขนส่งทางอากาศ เช่นเดียวกันโครงการท่อก๊าซจากเติร์กเมนิสถานมายังอินเดีย (The Turkmenistan–Afghanistan–Pakistan–India Pipeline: TAPI) คงไม่หยุดชะงักเพราะมีปากีสถานเป็นก้างขวางคออยู่

ฉะนั้นแคชเมียร์จึงไม่ใช่เรื่องทางการเมือง หรือเรื่องศักดิ์ศรีของทั้ง 3 ประเทศเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญทางด้านภูมิศาสตร์เศรษฐกิจและการเมืองซ้อนทับอยู่ด้วย การแก้ไขปัญหาหรือการหาข้อยุติเหนือดินแดนแห่งนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะยอมเลิกราหรือยกธงขาว ดังนั้นการกระทำของอินเดียที่ผ่านมาจึงกลายเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้อีก 2 ประเทศอยู่เฉยไม่ได้ และเลือกเดินเกมที่เสี่ยงมากยิ่งขึ้น ในการบีบบังคับให้อินเดียถอยไปอยู่ในจุดเดิมที่ให้แคชเมียร์มีอิสระภายใต้อินเดีย หรืออยู่ในสภาพที่มีความคลุมเครือไม่มีความชัดเจนว่าเส้นแบ่งดินแดนของแคชเมียร์อยู่ตรงไหน และแคชเมียร์เป็นของใคร

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save