fbpx
การผนวกรัฐจัมมูและแคชเมียร์ของอินเดีย

การผนวกรัฐจัมมูและแคชเมียร์ของอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ข่าวใหญ่ของอินเดียประจำเดือนนี้คงหนีไม่พ้นการประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 370 ซึ่งมีผลสำคัญให้รัฐจัมมูและแคชเมียร์ของอินเดียสูญเสียสถานะพิเศษที่เคยได้รับนับตั้งแต่ปี 1950 ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นประเด็นร้อนของสังคมอินเดีย ไม่เฉพาะแต่ในแวดวงการเมืองเท่านั้น แต่ทั่วทุกหัวระแหงของประเทศต่างพูดคุยและถกเถียงกันอย่างดุเดือดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา เพราะนี่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองครั้งสำคัญนับตั้งแต่อินเดียได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ

เรื่องนี้เกี่ยวโยงโดยตรงกับพื้นที่พิพาทระหว่างประเทศของอินเดีย ปากีสถาน และจีน ซึ่งทุกวันนี้ยังคงไม่มีข้อยุติอย่างเป็นทางการ ทุกฝ่ายต่างอ้างสิทธิของตนเองในการครอบครองดินแดนแห่งนี้ ดินแดนที่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม แต่เหมือนต้องคำสาป นั่นคือจัมมูและแคชเมียร์

ที่ว่าเป็นดินแดนต้องคำสาปเพราะว่าแคชเมียร์ถือเป็นไม่กี่พื้นที่ในอินเดียที่ยังคงไม่มีเสถียรภาพ และมีการเรียกร้องเอกราชจากอินเดีย พร้อมทั้งมีเหตุการณ์ก่อการร้ายและวินาศกรรมอยู่ต่อเนื่อง จนกองกำลังทหารอินเดียมากกว่าครึ่งประเทศต้องไปประจำการที่นั่น หลายคนคงมีคำถามในใจว่าจัมมูและแคชเมียร์สำคัญยังไงกับอินเดีย รัฐนี้ต่างจากรัฐอื่นๆ อย่างไร การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่กำลังเกิดขึ้นจะส่งผลอย่างไรต่ออินเดียและแคชเมียร์บ้าง แต่เหนือสิ่งอื่นใด ทุกคนคงอยากทราบว่าดินแดนแห่งนี้มีที่มาอย่างไร คำถามหลายข้อคาใจเหล่านี้จะค่อยๆ ถูกเฉลยให้ทุกคนได้รับรู้กัน

 

ทางเดินที่ไม่สามารถเลือกเองได้กับอิสรภาพที่ไม่มีอยู่จริง

 

หากจะย้อนรอยปัญหาพิพาทเหนือดินแดนแคชเมียร์ สามารถย้อนไปไกลได้ถึงปี 1947 ช่วงเวลาที่มีความสำคัญอย่างมากต่อประเทศอินเดียและปากีสถาน เพราะในเดือนสิงหาคม รัฐบาลอังกฤษได้ตัดสินใจปลดปล่อยดินแดนอาณานิคมแห่งนี้ให้เป็นเอกราช โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเทศคือ อินเดียและปากีสถาน แต่สิ่งที่เป็นปัญหาและกลายเป็นระเบิดเวลาที่อังกฤษทิ้งไว้ให้ทั้ง 2 ประเทศคือดินแดนรัฐมหาราชา (Princely States) ซึ่งมีมากถึง 562 รัฐ ดินแดนเหล่านี้ไม่เคยถูกปกครองโดยตรงจากอังกฤษมีอิสระเสรีในการดำเนินนโยบายภายในรัฐ

อย่างไรก็ตามแทนที่อังกฤษจะให้รัฐมหาราชาเหล่านี้เป็นอิสระ กลับยื่นข้อเสนอเพียง 2 ข้อคือ จะอยู่กับอินเดีย หรือปากีสถาน โดยที่กระบวนการผนวกรวมและการเจรจากับเจ้ามหาราชาทั้งหลายนั้น ให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ อังกฤษจะไม่ก้าวก่ายเรื่องดังกล่าว สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลให้ในเวลาต่อมาอินเดียและปากีสถานมีความบาดหมางกันในการแย่งชิงเจ้ามหาราชาให้เข้าร่วมกับตน ยิ่งไปกว่านั้นคือการสร้างความบาดหมางระหว่างประชาชนและเจ้ามหาราชากับทั้งอินเดียและปากีสถานด้วย

หลายรัฐมหาราชาจะมีศักยภาพและมีความต้องการอยากเป็นเอกราชมากกว่าที่จะยอมยกดินแดนของตนให้อินเดียหรือปากีสถานปกครอง หนึ่งในนั้นคือรัฐจัมมูและแคชเมียร์ (ประกอบไปด้วย 3 พื้นที่สำคัญคือ1.แคชเมียร์ 2.จัมมู และ 3.ลาดักห์) ซึ่งถูกปกครองโดยมหาราชาฮาริ สิงห์ (Maharaja Hari Singh) ณ ห้วงเวลานั้นมหาราชามีความต้องการอย่างมากที่จะประกาศเอกราชไม่ขึ้นตรงกับใคร แต่ด้วยสถานการณ์ทางการทหารที่เข้มข้นระหว่างอินเดียและปากีสถาน ส่งผลให้ปากีสถานตัดสินใจส่งทหารเข้าไปในแคชเมียร์เพื่อยึดครองดินแดนดังกล่าวในปลายปี 1947

สภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ ส่งผลให้มหาราชาแห่งแคชเมียร์หันหน้าไปพึ่งอินเดียเพื่อขอความช่วยเหลือ รัฐบาลอินเดียยื่นข้อเสนอทางการทหารบนเงื่อนไขที่ว่ามหาราชาต้องยอมยกดินแดนภายใต้การปกครองของตนให้อยู่ในอำนาจของอินเดีย ทั้งนี้มหาราชาได้ยื่นขอเสนอเพิ่มเติมโดยขอสถานะพิเศษบางอย่างให้จัมมูและแคชเมียร์ นี่จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นชนวนระเบิดลูกที่สองเหนือดินแดนแห่งนี้ เมื่อมหาราชายอมยกดินแดนซึ่งปัจจุบันคือดินแดนที่ปากีสถานยึดครอง ดินแดนที่อินเดียยึดครอง และดินแดนที่จีนยึดครอง ให้เป็นของอินเดีย ภายใต้มาตรา 370 ของรัฐธรรมนูญอินเดีย ที่ให้สิทธิพิเศษแก่รัฐนี้ในลักษณะที่แตกต่างจากรัฐอื่นๆ

 

ชาตินิยม นโยบาย กับการแตกสลายของรัฐจัมมูและแคชเมียร์

 

อาจกล่าวได้ว่าแม้จัมมูและแคชเมียร์จะเปลี่ยนสถานะจากรัฐมหาราชามาเป็นรัฐปกติภายใต้การปกครองของประเทศอินเดีย แต่ความต้องการเอกราชและอิสรภาพในหมู่ชาวแคชเมียร์ยังคงมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมนับตั้งแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปี 1950 ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาจึงมีความพยายามเรียกร้องเอกราชอย่างสม่ำเสมอทั้งที่ใช้แนวทางสันติวิธีและการใช้ความรุนแรง เรื่องนี้กลายเป็นต้นเหตุสำคัญให้หน่วยงานความมั่นคงของอินเดียให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อดินแดนแห่งนี้ และสร้างความบาดหมางระหว่างชาวอินเดีย และชาวแคชเมียร์ด้วย

หากพิจารณาองค์ประกอบของรัฐจัมมูและแคชเมียร์อย่างถี่ถ้วน จะพบว่าเอาเข้าจริงแล้วมีไม่กี่พื้นที่เท่านั้นที่ต้องการเอกราชจากอินเดีย แน่นอนว่าส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่แคชเมียร์ซึ่งเป็นประชากรหลักของรัฐ แตกต่างจากพื้นที่จัมมู และลาดักห์ ซึ่งค่อนข้างยินดีกับการเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย เรียกได้ว่าภายในรัฐจัมมูและแคชเมียร์เองก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไปเกี่ยวกับประเด็นเรื่องเอกราช

หลายคนคงอยากทราบว่าแล้วมาตรา 370 ของรัฐธรรมนูญอินเดียสำคัญอย่างไรกับจัมมูและแคชเมียร์ ต้องบอกว่ามาตรานี้เป็นเครื่องการันตีเดียวถึงความต่างของรัฐนี้ต่อรัฐอื่นๆ โดยเฉพาะความเป็นอิสระจากรัฐบาลกลาง

รัฐบาลจัมมูและแคชเมียร์มอบเพียงอำนาจเรื่องการทหาร การต่างประเทศ และเรื่องสกุลเงินให้รัฐบาลอินเดียเท่านั้น ในส่วนของกิจการภายในทั้งหมดรัฐบาลอินเดียไม่สามารถแทรกแซงได้ คนอินเดียทั่วไปไม่สามารถถือครองที่ดินในดินแดนแห่งนี้ได้ พลเมืองแคชเมียร์สามารถถือสองสัญชาติได้ มีธงชาติและเพลงชาติเป็นของตัวเอง รัฐบาลอินเดียไม่มีอำนาจในการตรวจสอบการทุจริตของรัฐนี้ เป็นต้น

ลักษณะเช่นนี้ส่งผลให้อินเดียมีลักษณะคล้าย 1 ประเทศ 2 ระบบ ซึ่งแน่นอนว่าพรรคบีเจพี พรรคขวาชาตินิยม ไม่ค่อยยินดีกับการมีอยู่ของมาตรานี้เท่าไหร่นัก ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาพรรคนี้จึงชูนโยบายยกเลิกมาตราดังกล่าว และผนวกรัฐจัมมูและแคชเมียร์ให้เป็นส่วนหนึ่งของอินเดียอย่างแท้จริง และในที่สุดพวกเขาก็ผลักดันมันสำเร็จ หลังจากที่พรรคบีเจพีถือครองเสียงข้างมากทั้งโลกสภาและราชสภา จากชัยชนะการเลือกตั้งถล่มทลายเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นายอมิท ชาร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศต่อราชสภาในวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า รัฐบาลนำโดยประธานาธิบดีรามนาท โควิน ตัดสินใจใช้อำนาจตามมาตรา 370 ของรัฐธรรมนูญ ในการยกเลิกมาตรา 370 (ในมาตรา 370 ระบุว่าประธานาธิบดีสามารถประกาศยกเลิกมาตรานี้ได้หากสถานการณ์มีความเปลี่ยนแปลง)

แต่เหนือกว่าการยกเลิกมาตราดังกล่าวซึ่งเป็นการยกเลิกสิทธิพิเศษของรัฐจัมมูและแคชเมียร์แล้ว รัฐบาลพรรคบีเจพียังเดินไปไกลกว่านั้น คือการยุบรัฐจัมมูและแคชเมียร์ และแตกออกเป็น 2 ดินแดนสหภาพ (Union Territory) คือดินแดนสหภาพจัมมูและแคชเมียร์ กับดินแดนสหภาพลาดักห์ (ดินแดนสหภาพคือพื้นที่ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจโดยตรงของรัฐบาลกลางอินเดีย) เรียกได้ว่าเป็นการลดทอนเขี้ยวเล็บของรัฐนี้ลงไปอีกชั้นหนึ่ง

แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักโดยเฉพาะจากฝ่ายค้านในรัฐสภาว่านี่เป็นการกระทำที่ขาดความเป็นประชาธิปไตย เพราะไม่มีแม้กระทั่งการถกเถียงในรัฐสภาก่อนจะมีการดำเนินการดังกล่าว และเป็นการยึดอำนาจโดยปราศจากความตกลงปรงใจของคนในพื้นที่ แต่ใช่ว่าเรื่องนี้จะมีแต่คนต่อต้านเพราะดูเหมือนว่าหลังจากเรื่องดังกล่าวเป็นข่าวไปทั่วประเทศ คนอินเดียในหลายพื้นที่ออกมาเฉลิมฉลองต่อการกระทำของรัฐบาล โดยเฉพาะในพื้นที่จัมมูและลาดักห์ ที่มองว่านี่เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของพวกเขา คงมีเพียงคนแคชเมียร์เท่านั้น ที่ดูจะไม่ปลื้มกับเรื่องนี้เสียเลย

 

อนาคตที่ยังไม่แน่นอนกับความท้าทายของรัฐบาลอินเดียเหนือดินแดนแคชเมียร์

 

หากจะบอกว่าเรื่องนี้ไม่มีการเตรียมการใด ๆ เลยก็คงไม่ใช่ เพราะก่อนหน้านี้ราว 2 สัปดาห์รัฐบาลอินเดียได้ยกเลิกการแสวงบุญของชาวฮินดูในเขตแคชเมียร์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ อมาร์นาท ยาตรา (Amarnath Yatra) ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการเสริมทหารเพิ่มเติมเข้าไปในรัฐดังกล่าวอีกกว่า 4 หมื่นนายเพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ความไม่สงบ โดยก่อนวันประกาศยกเลิกมาตรา 370 รัฐบาลได้จับกุมและคุมตัวผู้นำทางการเมืองคนสำคัญของแคชเมียร์ โดยเฉพาะอดีตมุขมนตรีอย่างนายโอมาร์ อับดุลลาห์ (Omar Abdullah) และนางเมห์บูบา มูฟี (Mehbooba Mufti)

หลังจากการแถลงในราชสภาและโลกสภา รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเหนือดินแดนแคชเมียร์ ตัดการติดต่อสื่อสารทุกระบบทั้งอินเตอร์เน็ต และโทรศัพท์ เรียกได้ว่าเป็นการควบคุมดินแดนแห่งนี้แบบเต็มรูปแบบเพื่อป้องกันปัญหาการก่อวินาศกรรม และการก่อความไม่สงบของกลุ่มผู้เรียกร้องเอกราชและผู้ไม่พอใจต่อการกระทำดังกล่าวของรัฐบาลอินเดีย แน่นอนว่าเรื่องเหล่านี้รัฐบาลอินเดียย่อมรู้ดีถึงผลที่จะตามมาอยู่แล้วจึงได้มีการเสริมกำลังทหารเพิ่มเติม

จนถึงเวลานี้รัฐบาลอินเดียเองก็ยังไม่มีความแน่ใจต่อสถานะใหม่ของจัมมูและแคชเมียร์ โดยเฉพาะการยกสถานะความเป็นรัฐกลับคืนให้ดินแดนดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลยังต้องเผชิญความท้าทายจากฝ่ายค้านที่กำลังยื่นเรื่องให้ศาลสูงสุดวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งคำตัดสินของศาลอาจออกมาในแนวทางใดก็ได้ โดยที่รัฐบาลไม่สามารถคาดการณ์ใดๆ ได้เลย

แต่เหนือสิ่งอื่นใด รัฐบาลอินเดียอาจต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองและความสงบภายในประเทศ เพราะนอกจากรัฐจัมมูและแคชเมียร์ที่ได้รับสิทธิพิเศษแล้ว ในช่วงเวลาที่อินเดียเจรจากับมหาราชารัฐต่างๆ นั้น อินเดียก็ให้สิทธิบางเรื่องกับรัฐอื่นๆ ด้วยเช่นกัน โดยจะเห็นได้จากมาตรา 371 ของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในรัฐมิโซรัม และนากาแลนด์

รัฐเหล่านี้ยังมีกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ยังคงเคลื่อนไหวอยู่เช่นเดียวกับในแคชเมียร์ การกระทำดังกล่าวของรัฐบาลส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อความเป็นอิสระของรัฐเหล่านี้ลดลง ส่งผลให้ประชาชนอาจหันหน้าไปหากลุ่มแบ่งแยกดินแดนเหล่านี้มากยิ่งขึ้น กลายเป็นการเติมเชื้อไฟให้กลุ่มกบฏที่กำลังอ่อนแอไปโดยปริยาย

อีกประเด็นคือแม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นการจัดการภายในของอินเดีย แต่ด้วยความพิเศษของพื้นที่ซึ่งเป็นกรณีพิพาทกับทั้งปากีสถานและจีน มีความเป็นไปได้ว่าการกระทำนี้อาจนำไปสู่ความตึงเครียดอีกครั้งระหว่างอินเดีย-ปากีสถาน เพราะกองทัพปากีสถานเองได้ประกาศชัดว่าการกระทำของอินเดียถือว่าละเมิดกฎหมายอย่างร้ายแรง และกองทัพปากีสถานพร้อมสนับสนุนการเคลื่อนไหวของประชาชนชาวแคชเมียร์

โดยสรุป ณ เวลานี้รัฐบาลอินเดียยังไม่ทราบผลที่จะตามมาหลังจากการยกเลิกมาตรา 370 ของรัฐธรรมนูญอย่างแน่ชัด ยังสรุปไม่ได้แม้กระทั่งว่าการตัดสินใจครั้งนี้จะส่งผลดีหรือผลเสียต่อประเทศ แต่ที่แน่ๆ สำหรับคนไทยที่กำลังวางแผนไปแคชเมียร์ ถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง ถ้าเลี่ยงไม่ได้คงต้องติดตามข่าวกันอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น บทสรุปของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร คงต้องรอดูกันต่อไป

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save