ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก เรื่อง
กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ
หากจะพูดถึงหนังสือทรงคุณค่าที่ว่าด้วยความฝันของอินเดียคงหนีไม่พ้นหนังสือ ‘India 2020: A Vision for the New Millennium’ หรือในชื่อภาษาไทยที่ว่า ‘อินเดีย 2020 : วิสัยทัศน์สู่สหัสวรรษใหม่’ ซึ่งเขียนโดย A.P.J. Abdul Kalam อดีตประธานาธิบดีอินเดีย กับ Y.S. Rajan นักวิทยาศาสตร์อวกาศคนสำคัญของอินเดีย
น่าสนใจว่าหนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นในปี 1998 หรือกว่า 20 ปีก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ที่ไปที่มาของหนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นระหว่างที่ Abdul Kalam สนทนากับเหล่านักเรียนในโรงเรียนแห่งหนึ่ง เด็กหญิงวัย 10 ขวบถามท่านขึ้นว่า “อะไรคือความฝันสูงสุดของคุณ” ท่านตอบอย่างไม่ได้คิดว่า “ฉันอยากอาศัยอยู่ในประเทศอินเดียที่พัฒนาแล้ว” และคำตอบนี้เองก็เป็นที่มาของหนังสืออินเดีย 2020 ซึ่งเป็นการเขียนวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ว่าเหตุใดประเทศอินเดียจะกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปี 2020 ทั้งในมุมมองทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง สังคม รวมถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
แต่ช่างน่าเสียดายที่ A.P.J. Abdul Kalam ได้เสียชีวิตในปี 2015 และไม่มีโอกาสเห็นความฝันของเขาเป็นจริง เพราะในวันนี้ที่อินเดียเข้าสู่ปี 2020 ก็ยังไม่ก้าวเข้าสู่สังคมที่พัฒนาแล้วตามคำทำนายของท่าน ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือความฝันของหนังสือนี้ที่อยากเห็นสังคมอินเดียปราศจากความยากจนและความเหลื่อมล้ำก็มีสภาพย่ำแย่กว่าเดิม เมื่อข้อมูลความเหลื่อมล้ำของอินเดียสะท้อนว่าช่องว่างดังกล่าวกำลังถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ
น่าสนใจว่าอินเดีย 2020 นั้นไม่ได้เป็นไปอย่างที่หวังแต่กลับกำลังเผชิญมรสุมใหญ่ที่ต้องก้าวข้าม ครั้งนี้จึงถือโอกาสทำความเข้าใจปัญหาและอุปสรรคทางด้านการพัฒนาของอินเดียในปี 2020 ที่รัฐบาลโมดี 2.0 ต้องเผชิญ และชวนมองความเป็นไปของอินเดียในปีนี้ว่าจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไรบ้าง
คลื่นลมการเมืองที่ไม่สงบนิ่ง
แม้ปี 2019 จะเป็นปีหนึ่งที่ยากลำบากสำหรับอินเดีย โดยเฉพาะการเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถานจากปัญหาการก่อการร้ายในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนที่ ‘บีเจพี’ พรรคฮินดูชาตินิยมซึ่งเป็นรัฐบาลอยู่เดิมจะสามารถกวาดชัยชนะถล่มทลายในการเลือกตั้งระดับชาติ เหนือความคาดหมายของใครหลายคนที่พยากรณ์ว่าตัวเลขที่นั่งในโลกสภาของพรรครัฐบาลอาจลดลง
ชัยชนะดังกล่าวกลายเป็นสิ่งที่พรรคบีเจพีมองว่านี่เป็นฉันทามติที่สังคมอินเดียมอบให้รัฐบาลในการผลักดันนโยบายซึ่งใช้หาเสียงเลือกตั้ง ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว รัฐบาลอินเดียประกาศยกเลิกสถานะพิเศษของรัฐจัมมูและแคชเมียร์ แล้วยุบรัฐดังกล่าวเป็น 2 ดินแดนสหภาพภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล แม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนในพื้นที่ แต่เรื่องนี้ได้รับแรงสนับสนุนอย่างมากจากฐานเสียงของพรรค ทำให้แรงต้านไม่เพียงพอที่จะสั่นคลอนรัฐบาลได้ ลักษณะเช่นนี้ส่งผลให้พรรคบีเจพีและรัฐบาลมีความฮึกเหิมในความแข็งแกร่งทางการเมืองของตนเองมากยิ่งขึ้น
ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้รัฐบาลตัดสินใจผ่านการแก้ไขกฎหมายสัญชาติ (Citizenship Amendment Bill) เพื่อมอบสัญชาติให้กับผู้อพยพจากประเทศเพื่อนบ้านดังที่ได้เขียนไปแล้วในบทความก่อนหน้านี้ (ขบวนการนักศึกษากับการเคลื่อนไหวในระบอบประชาธิปไตยของอินเดีย) จนถึงตอนนี้การประท้วงกฎหมายฉบับนี้ยังคงไม่มีทีท่าว่าจะจบสิ้นและฝ่ายผู้ประท้วงนับวันจะเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากผู้คนทั่วไปมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะปัญญาชนคนสำคัญหลายคน ไม่ว่าจะเป็น อมรรตยะ เสน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลคนสำคัญของอินเดีย หรือแม้กระทั่งอภิจิต บาเนอร์จี ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์คนล่าสุดในปีที่ผ่านมา
แน่นอนว่ารัฐบาลระดับรัฐต่างๆ ที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับรัฐบาล ต่างประสานเสียงว่าจะไม่นำกฎหมายฉบับดังกล่าวมาปฏิบัติใช้ภายในรัฐของตัวเอง และมองว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นการเลือกปฏิบัติทางศาสนาอย่างน่ารังเกียจ ทั้งยังสร้างความไม่มั่นใจต่อสถานะความเป็นพลเมืองของประชาชนชาวอินเดียจำนวนมากอีกด้วย บางรัฐมีการออกกฎหมายผ่านสภาของรัฐเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอย่างในกรณีของรัฐปัญจาบ หรืออย่างรัฐเกรละที่ตัดสินใจยื่นเรื่องต่อศาลสูงสุดเกี่ยวกับปัญหาของกฎหมายดังกล่าว การไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลกลางยังขยายขอบเขตไปถึงขั้นหลายรัฐตัดสินใจไม่ร่วมงานเฉลิมฉลองวันสาธารณรัฐ (Republic Day) ซึ่งจัดขึ้นในทุกวันที่ 26 มกราคมของทุกปีอีกด้วย น่าสนใจว่าหากพิจารณาตามตัวเลขจะพบว่าจำนวนรัฐต่างๆ ที่ต่อต้านกฎหมายนี้คิดเป็นจำนวนเกินครึ่งของประชากรอินเดียทั้งหมด
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือสมาชิกพรรคบีเจพีเองก็มีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับกฎหมายฉบับดังกล่าว หลายคนเริ่มแสดงความเห็นชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาสาระของกฎหมายฉบับดังกล่าวโดยเฉพาะการเลือกปฏิบัติต่อคนมุสลิม และกระบวนการขึ้นทะเบียนประชากรที่ยังคงมีช่องว่างจำนวนมากที่อาจส่งผลให้คนอินเดียอาจเสียสถานะความเป็นพลเมือง หนึ่งในนั้นคือ จันทรา โภส รองประธานพรรคบีเจพีประจำรัฐเบงกอลตะวันตก
ไม่เฉพาะแรงกดดันจากภายในประเทศเท่านั้น แรงต้านยังกระจายไปไกลทั่วโลก หลายประเทศกดดันรัฐบาลอินเดียเรื่องกฎหมายฉบับดังกล่าว มีการยกเลิกการเดินทางเยือนอินเดียของผู้นำระดับสูงของหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น รัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีมหาดไทยของบังกลาเทศ ยิ่งไปกว่านั้นคือปัญหาดังกล่าวยังส่งผลให้รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดียตัดสินใจยกเลิกการหารือกับนักการเมืองหลายคนในสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกาด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงคำถามเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว
นอกเหนือจากปัญหากฎหมายสัญชาติใหม่จะส่งสัญญาณลบทางการเมืองให้รัฐบาลในปี 2020 แล้ว การเลือกตั้งระดับรัฐเองก็สั่นคลอนเสถียรภาพการเมืองของรัฐบาลเช่นกัน กรณีสำคัญคือการเลือกตั้งในรัฐมหาราษฏระซึ่งพรรคบีเจพีฉีกสัญญาที่เคยต่อรองไว้กับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคชีพ เสนา (Shiv Sena) ยังผลให้พรรคดังกล่าวหันหน้าไปจับมือกับพรรคฝ่ายตรงข้ามตั้งรัฐบาลโดยที่ไม่สนใจพรรคบีเจพี แน่นอนว่ารัฐนี้มีความสำคัญอย่างมากเพราะมีเมืองเศรษฐกิจอย่างเมืองมุมไบซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเงินของอินเดียอยู่ ในขณะเดียวกันการเลือกตั้งภายในรัฐฌารขัณฑ์ในช่วงปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมาก็ปรากฏว่าพรรคบีเจพีซึ่งเป็นรัฐบาลอยู่เดิมพ่ายแพ้ให้กับพรรคท้องถิ่น โดยประเด็นสำคัญที่ถูกนำมาใช้รณรงค์หาเสียงก็คือการต่อต้านกฎหมายสัญชาติฉบับใหม่นั่นเอง เป็นเรื่องน่าสนใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดูจะสวนทางกับชัยชนะในการเลือกตั้งระดับชาติที่เกิดขึ้นเมื่อกลางปีที่พรรคบีเจพีคว้าชัยได้ในทั้งสองรัฐ
สำหรับในปี 2020 จะมีอีกหลายรัฐที่จะมีการเลือกตั้งโดยเฉพาะในเมืองหลวงอย่างนิวเดลีที่จะมีการเลือกตั้งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่งจะเป็นอีกสนามพิสูจน์ความเชื่อมั่นของพรรคบีเจพี เช่นเดียวกับรัฐพิหาร รัฐสำคัญที่จะมีการจัดการเลือกตั้งในปีนี้เช่นเดียวกัน เรียกได้ว่าคลื่นลมทางการเมืองที่ไม่มีทีท่าว่าจะสงบเช่นนี้กลายเป็นอุปสรรคใหญ่ของรัฐบาลอินเดียในการบริหารงานในปี 2020 นี้ ยิ่งหากรัฐบาลพ่ายแพ้ต่อเนื่องในการเลือกตั้งระดับรัฐด้วยแล้ว สถานการณ์ในการบริหารประเทศของรัฐบาลโมดี 2.0 จะยุ่งยากเพิ่มมากยิ่งขึ้น เพราะในท้ายที่สุดแล้วการปฏิบัติใช้และขับเคลื่อนนโยบายทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมต่างๆ ยังคงอยู่ในมือของการทำงานของรัฐบาลระดับรัฐ ซึ่งรัฐบาลโมดี 1.0 ประสบความสำเร็จได้ เป็นผลมาจากชัยชนะในการเลือกตั้งระดับรัฐต่างๆ นั่นเอง

มรสุมเศรษฐกิจที่กำลังสั่นคลอนรัฐนาวาโมดี 2.0
นอกจากเรื่องทางการเมืองที่เป็นเหมือนฝันร้ายของรัฐบาลแล้ว ประเด็นเศรษฐกิจเองก็สร้างความหนักอกหนักใจให้กับรัฐบาลอินเดียชุดปัจจุบันอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว กล่าวได้ว่าปี 2020 เศรษฐกิจอินเดียอาจจะย่ำแย่ลงไปอีก อันเนื่องมาจากความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองที่เกิดขึ้นข้างต้นและปัจจัยทางเศรษฐกิจเดิมที่มีปัญหา
หากเราพิจารณาตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจนับตั้งแต่ปลายปี 2019 ที่ผ่านมา มีตัวเลขหลายตัวที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์อินเดียต้องออกโรงเตือนรัฐบาลให้ทำอะไรบางอย่างเพื่อกู้วิกฤตที่กำลังเกิดขึ้น โดยเฉพาะตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าเป้าที่วางเอาไว้มาก ซึ่งจากการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศอินเดียในเบื้องต้นตั้งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ที่ร้อยละ 6.1 แต่ล่าสุดได้หั่นลงเหลือเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น
ที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ มองว่าตัวเลข GDP ของอินเดียอาจเติบโตเพียงร้อยละ 4.8 เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าที่ทางการอินเดียคาดการณ์เอาไว้ด้วย การเติบโตที่ลดลงของอินเดียถูกไอเอ็มเอฟนิยามว่าเป็น ‘การติดลบที่น่าตกใจ’ และปรับลดตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งโลกลงเหลือเพียงร้อยละ 2.9 เท่านั้น
ปัจจัยสำคัญของปัญหาเศรษฐกิจดังกล่าวคืออัตราการบริโภคภายในประเทศที่ลดลง รวมถึงอัตราการผลิตสินค้าภายในประเทศที่มีแนวโน้มต่ำลงซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี เช่นเดียวกับตัวเลขการส่งออกและการลงทุนจากภายนอกประเทศซึ่งเคยคาดการณ์กันว่าจะเพิ่มสูงขึ้น กลับมีตัวเลขไม่เป็นดังที่คาดหวังไว้ โดยประเด็นดังกล่าวเป็นผลสำคัญมาจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศคู่ค้าต่างๆ หลายคนอาจมองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเพียงความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง สหรัฐอเมริกาเปิดสงครามลักษณะดังกล่าวกับอินเดียด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการงดเว้นสิทธิพิเศษทางด้านภาษีในสินค้าหลายรายการที่นำเข้ามาจากอินเดีย ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกของอินเดียประสบปัญหาจากเหตุการณ์ดังกล่าว
ในขณะเดียวกันตัวเลขการว่างงานของอินเดียยังเพิ่มขึ้นจากในช่วงก่อนอีกด้วยโดยในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาอยู่ที่ร้อยละ 7.48 ในขณะที่ในปี 2017 ตัวเลขอัตราการว่างงานของอินเดียอยู่ที่ร้อยละ 3.37 เท่านั้น โดยส่วนใหญ่อัตราการว่างงานกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองและเมืองใหญ่ เช่นเมืองหลวงอย่างกรุงนิวเดลีมีอัตราการว่างงานสูงถึงร้อยละ 16 สิ่งเหล่านี้เป็นแนวโน้มปัญหาที่จะหนักหนาสาหัสมากยิ่งขึ้นหากเศรษฐกิจของอินเดียยังเป็นในทิศทางเช่นนี้
การชะลอตัวของเศรษฐกิจย่อมส่งผลอย่างสำคัญต่อตัวเลขการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล Chandra Garg อดีตปลัดกระทรวงการคลังของอินเดีย มองว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นนี้อาจทำให้ประมาณการตัวเลขการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลปรับลดลงถึง 2.5 ล้านล้านรูปี หรือคิดเป็นร้อยละ 1.2 ของ GDP ซึ่งหากสถานการณ์เป็นไปตามที่คาดการณ์จริง อาจส่งผลให้ตัวเลขการลงทุนของรัฐบาลซึ่งเป็นกำลังหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศอินเดียลดลงตามไปด้วย
กล่าวได้ว่ามรสุมทางเศรษฐกิจของอินเดียในปี 2020 นี้ ถือเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่หนักหน่วงเอาการสำหรับรัฐนาวาโมดี 2.0 โดยเฉพาะในห้วงที่สถานการณ์ทางการเมืองไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลคาดหวัง ทำให้รัฐบาลถึงกับต้องตั้งโต๊ะหารือเต็มขั้นกับเหล่าผู้ประกอบการและนักธุรกิจรายใหญ่ของประเทศ โดยที่มีนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี นั่งหัวโต๊ะรับฟังความคิดเห็นถึงแนวทางในการอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือเหล่าผู้ประกอบการด้วยตัวเอง แต่ที่เป็นปัญหาคือในวงประชุมดังกล่าวกลับไม่มีรัฐมนตรีกระทรวงการคลังอย่าง Nirmala Sitharaman มือเศรษฐกิจคนสำคัญของรัฐบาลนั่งอยู่ด้วย ทำเอาผู้ประกอบการหรือแม้กระทั่งพรรคฝ่ายค้านงงไปตามๆ กัน ทั้งนำมาสู่คำถามว่ารัฐบาลจริงจังแค่ไหนกับการรับฟังปัญหาของผู้ประกอบการ
อินเดีย 2020 การขึ้นทศวรรษใหม่ด้วยเรื่องหนักหนาสาหัส
โดยรวมแล้วหากเราพิจารณาและวิเคราะห์จากสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นไล่เรียงมานับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2019 คงพอจะเห็นกลุ่มเมฆหมอกและคลื่นลมมรสุมที่อินเดียจะต้องเผชิญตลอดทั้งปี 2020 ซึ่งดูแล้วอาจเป็นเรื่องที่น่าหนักใจสำหรับรัฐบาลอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะการต้องจัดการกับปัญหาการเมืองภายในประเทศ ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนที่นับวันจะยุ่งยากขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งสถานการณ์การประท้วงยืดเยื้อออกไปมากเท่าไหร่ นั่นก็หมายถึงตัวเลขการลงทุนที่อาจชะลอตัวจากความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีให้กับรัฐบาล ซึ่งเป็นปกติที่เสถียรภาพทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงทุน ยิ่งไปกว่านั้นคือการที่อินเดียได้รับผลกระทบทางตรงจากสงครามการค้าสหรัฐที่ทำให้สิทธิประโยชน์และข้อได้เปรียบที่อินเดียใช้จูงใจนักลงทุนจากภายนอกค่อยๆ เสื่อมมนต์ขลัง เช่นเดียวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกาะกินสังคมอินเดียมาอย่างยาวนาน จนล่าสุดงานศึกษาของ Oxfam ระบุว่าคนอินเดียที่ร่ำรวยที่สุดจำนวนร้อยละ 1 มีความมั่งคั่งมากกว่า 4 เท่าของคนอินเดียที่ยากจนที่สุดที่มีมากถึงร้อยละ 70 ของประชากรทั้งประเทศ นั่นหมายความว่าตัวเลขจำนวนประชากรที่อินเดียมักป่าวประกาศว่าเป็นตลาดขนาดใหญ่ จะไม่มีความหมายเท่าใดนักหากประชากรที่มีมากมายเหล่านี้ไม่มีกำลังซื้อเพียงพอ
ท้ายที่สุดปี 2020 นี้ สำหรับอินเดียแล้วเป็นการขึ้นทศวรรษใหม่ที่นอกจากจะไกลความฝันสูงสุดของ A.P.J. Abdul Kalam ตามหนังสือ India 2020 ที่มุ่งหวังให้อินเดียเป็นประเทศพัฒนาแล้วนั้น สถานการณ์ในภาพรวมยังสวนทางในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเมืองที่ขาดเสถียรภาพ เศรษฐกิจที่ยังมองหาทางออกไม่เจอ ความเหลื่อมล้ำของคนรวย-คนจนที่นับวันจะขยายกว้างมากยิ่งขึ้น และสุดท้ายคือสังคมพหุศาสนาที่กำลังถูกท้าทายจากแนวคิดชาตินิยมฮินดูของรัฐบาล