ขบวนการนักศึกษากับการเคลื่อนไหวในระบอบประชาธิปไตยของอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

หากใครที่ติดตามข่าวสารในอินเดียเดือนนี้ คงไม่พลาดที่จะอ่านข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ประท้วงการผ่านร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายสัญชาติ (Citizenship Amendment Act) ของรัฐสภาอินเดีย ซึ่งขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ กระจายไปตามเมืองใหญ่ของประเทศ

การประท้วงครั้งนี้อาจไม่ขยายวงกว้างมากนักหากไม่ปรากฏภาพการสลายการชุมนุมของตำรวจที่มีต่อกลุ่มนักศึกษา Jamia islamia university และ Aligarh Muslim University ซึ่งการปราบปรามดังกล่าวเป็นไปอย่างรุนแรงโดยเฉพาะการบุกเข้าไปทำร้ายนักศึกษาถึงภายในมหาวิทยาลัย จนเกิดเป็นคลิปวิดิโอที่สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลกออนไลน์ นั่นคือการเข้าทำลายห้องสมุดของเจ้าหน้าที่ในขณะที่นักศึกษาจำนวนหนึ่งกำลังอ่านหนังสือ น่าสนใจว่าการกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้รับการอนุญาตจากทางมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด ความเสียหายจากการล้อมปราบนักศึกษาทั้งสองมหาวิทยาลัยส่งผลอย่างมากต่อภาพรวมการเคลื่อนไหวต่อต้านกฎหมายฉบับนี้ เพราะมันทำให้คนอินเดียหันมาให้ความสนใจรายละเอียดของกฎหมายฉบับนี้มากยิ่งขึ้น และเรียกร้องความรับผิดชอบของรัฐบาลต่อการกระทำดังกล่าวต่อนักศึกษา

เหตุการณ์ประท้วงนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ขบวนการนักศึกษาในอินเดียเป็นแกนนำสำคัญในการกระตุ้นเตือนสังคมและวิพากษ์วิจารณ์ ขบวนการนักศึกษาอินเดียถือว่ามีบทบาทอย่างมากในประวัติศาสตร์ และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคมอินเดีย แม้ว่าหลายคนอาจมองว่าขบวนการนักศึกษาทั่วโลกอ่อนกำลังลงจากความท้าทายในหลายเรื่อง แต่สำหรับอินเดียขบวนการนักศึกษาไม่ได้อ่อนแรงลงแต่อย่างใด หากแต่กำลังปรับตัวเพื่อสู้กับความเข้มแข็งของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น

ในครั้งนี้จึงขอพาทุกคนไปทำความรู้จักขบวนการนักศึกษาอินเดียผ่านมุมมองทางประวัติศาสตร์ รวมถึงทำความเข้าใจประเด็นที่ขบวนการนักศึกษาอินเดียกำลังประท้วงอยู่ในปัจจุบัน

ประวัติศาสตร์ความเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาอินเดีย

หากจะย้อนประวัติศาสตร์ขบวนการนักศึกษาของอินเดียในการประท้วงและต่อต้านรัฐบาล อาจย้อนเวลาไปได้ไกลกว่า 200 ปี ในช่วงที่อังกฤษยังคงปกครองอินเดีย ขบวนการนักศึกษาถือเป็นหัวหอกสำคัญในการต่อต้านนโยบายและการปกครองของอังกฤษ โดยรวมตัวกันในชื่อ ‘All India Students’ Federation (AISF)’

ขบวนการนักศึกษาในอินเดียมีการก่อตัวที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นภายหลังจากอินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ เพราะพรรคการเมืองต่างๆ ในอินเดียเริ่มก่อตั้งและสร้างปีกเยาวชนเพื่อเป็นศูนย์รวมนักเรียนและนักศึกษาที่มีความศรัทธาในอุดมการณ์ของพรรคการเมืองนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น  National Students Union of India (NSUI) ปีกเยาวชนของพรรคคองเกรส Akhil Bharatiya Vidyarthi Parishad (ABVP) ปีกเยาวชนของกลุ่ม RSS ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในความดูแลของพรรคบีเจพี นอกจากนี้ยังมี All India Students’ Association (AISA) และ  Students’ Federation of India (SFI) ปีกเยาวชนของพรรคการเมืองฝ่ายคอมมิวนิสต์อินเดีย

ตราสัญลักษณ์ของปีกเยาวชนของพรรคการเมืองในอินเดีย
ตราสัญลักษณ์ของปีกเยาวชนของพรรคการเมืองในอินเดีย

ถึงแม้ว่าขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในอินเดียส่วนใหญ่จะสังกัดพรรคการเมือง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าอิสระเสรีของขบวนการนักศึกษาในการเคลื่อนไหวจะสูญหายไป ในทางตรงกันข้าม หลายครั้งเราพบว่าการเคลื่อนไหวของนักศึกษาเพื่อประท้วงรัฐบาลกลับมีทิศทางที่แตกต่างจากพรรคแม่เสียด้วย ยิ่งไปกว่านั้นปีกเยาวชนก็คือแกนนำหลักในการประท้วงพรรคของตัวเองด้วย แม้ว่าขบวนการนักศึกษาจะสังกัดปีกเยาวชนของพรรคการเมืองที่แตกต่างกัน แต่ในหลายครั้งการเคลื่อนไหวในประเด็นทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมต่างๆ นักศึกษาจากทุกสังกัดพรรคจะร่วมหัวจมท้ายกันในการประท้วงและชูประเด็นปัญหาดังกล่าวสู่สังคมหากเล็งเห็นแล้วว่าประเด็นปัญหาเหล่านั้นสร้างผลกระทบต่อภาพรวมของทั้งประเทศ

ตัวอย่างสำคัญคือการเคลื่อนไหวประท้วงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของนายกรัฐมนตรีอินทิรา คานธีในช่วงปี 1975 หรือในบางครั้งอาจเรียกว่าเป็นการยึดอำนาจตัวเองนายกรัฐมนตรี เมื่อรัฐบาลประกาศงดเว้นรัฐธรรมนูญบางมาตรา มีการปราบปรามผู้ประท้วงและผู้นำฝ่ายค้านซึ่งอยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้นักศึกษาจากทั่วประเทศโดยเฉพาะจากมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ลงเดินถนนเพื่อประท้วงการกระทำของรัฐบาลและหลายคนถูกจับกุมคุมขังจากการกระทำดังกล่าวด้วย แกนนำนักศึกษาในช่วงเวลานั้นหลายคนในเวลาต่อมาได้เดินเข้าสู่ถนนสายการเมืองระดับชาติและประสบความสำเร็จอย่างมาก เช่น Arun Jaitley อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยรัฐบาลโมดี 1 เป็นต้น

อีกตัวอย่างหนึ่งในปี 1990 เกิดการประท้วงใหญ่ทั่วประเทศเมื่อรัฐบาลประกาศนโยบายสำรองที่นั่งในการทำงานสำหรับกลุ่ม Other Backward Classes ในสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 27 ซึ่งชนวนสำคัญในการเดินประท้วงเริ่มขึ้นภายในมหาวิทยาลัยเดลี และขยายตัวไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ นักศึกษาจำนวนมากเลือกที่จะไม่เข้าสอบ จากความเคลื่อนไหวเล็กๆ ของนักศึกษา การประท้วงขยายวงกว้างไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เมื่อประชาชนทั่วไปหันมาให้ความสนใจกับประเด็นดังกล่าวและร่วมประท้วงไปกับนักศึกษา การเคลื่อนไหวจบลงเมื่อรัฐบาลสูญเสียเสียงสนับสนุนจากการถอนตัวของพรรคร่วมรัฐบาล

การประท้วงการปฏิรูปการศึกษาของนักศึกษา JNU ภาพโดย ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก
การประท้วงการปฏิรูปการศึกษาของนักศึกษา JNU ภาพโดย ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

และครั้งหลังสุดนี้ เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนปี 2019 ที่ผ่านมา ขบวนการนักศึกษาทั่วทั้งอินเดียกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลเริ่มดำเนินนโยบายปฏิรูปการศึกษาโดยพยายามผลักมหาวิทยาลัยของรัฐบาลกลางทั่วประเทศให้กลายสภาพเป็นมหาวิทยาลัยจัดการตนเอง ส่งผลให้หลายมหาวิทยาลัยไม่สามารถบริหารจัดการทรัพยากรทางการเงินที่มีอยู่อย่างจำกัดได้ เกิดการปรับตัวสูงขึ้นของค่าเล่าเรียน และค่าที่พักของนักศึกษา การประท้วงนี้เริ่มขึ้นเมื่อนโยบายดังกล่าวถูกปรับใช้กับ Jawaharlal Nehru University (JNU) มหาวิทยาลัยทางสังคมศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ และเป็นหัวหอกสำคัญในการต่อต้านรัฐบาลตลอดมา การเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาในครั้งนี้ส่งผลให้ประชาชนทั่วไปของอินเดียเห็นถึงปัญหาค่าเล่าเรียนที่เพิ่มขึ้น เกิดการเดินขบวนประท้วงในมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ทั่วประเทศอินเดีย จนนักศึกษาประสบความสำเร็จเมื่อกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ของอินเดียตัดสินใจทบทวนนโยบายดังกล่าว

การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจเดลี ภาพโดย ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก
การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจเดลี ภาพโดย ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

ฉะนั้นเรียกได้ว่าขบวนการนักศึกษาของอินเดียนับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันยังคงทรงพลังและมีส่วนสำคัญต่อการจูงใจประชาชนทั่วไปให้เล็งเห็นถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมอินเดียภายใต้การบริหารจัดการของรัฐบาล แม้ว่าการประท้วงและการเคลื่อนไหวของนักศึกษาอินเดียจะไม่ประสบความสำเร็จทุกครั้ง หรือจบลงด้วยการปราบปรามจนมีนักศึกษาเสียชีวิต อย่างไรก็ตามนักศึกษาอินเดียส่วนใหญ่ยังมองว่าการสร้างความตระหนักรู้ให้สังคมถือเป็นหนึ่งในหน้าที่ของพวกเขาที่รับเงินภาษีของประชาชนมาร่ำเรียน และสิ่งนี้เองที่ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาอินเดียยังคงมีชีวิตชีวา

นักศึกษาอินเดียกำลังประท้วงอะไรและทำไมต้องประท้วง

น่าสนใจว่าระหว่างที่ขบวนการนักศึกษาอินเดียกำลังประท้วงปัญหาการปฏิรูประบบการศึกษาของรัฐบาลอยู่นั้น ในช่วงต้นเดือนธันวาคมเกิดประเด็นร้อนขึ้นในสังคมอินเดีย เมื่อรัฐบาลผ่านร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายสัญชาติ (Citizenship Amendment Act) โดยรัฐบาลระบุว่าเพื่ออำนวยความสะดวกในการให้สัญชาติกับกลุ่มผู้อพยพชนกลุ่มน้อยในศาสนาซิกข์ ฮินดู พุทธ เชน ปาสี และคริสต์จาก 3 ประเทศคือบังกลาเทศ ปากีสถาน และอัฟกานิสถาน ทั้งนี้กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ระบุเกี่ยวกับผู้อพยพซึ่งนับถือศาสนาอื่นนอกเหนือจาก 6 ศาสนาข้างต้น ส่งผลให้ถูกมองว่าเลือกปฏิบัติทางศาสนาโดยเฉพาะกับกลุ่มคนมุสลิม และชนกลุ่มน้อยซึ่งไม่ได้นับถือศาสนาดังกล่าว

ยิ่งเมื่อรัฐบาลนำโดยนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีซึ่งสังกัดพรรคบีเจพีที่เพิ่งได้รับชัยชนะไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมามีพื้นหลังเป็นพรรคการเมืองที่ชูความเป็นชาตินิยมฮินดูด้วยแล้ว กฎหมายฉบับนี้ยิ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากทั้งในกลุ่มนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญการเมืองอินเดียว่าเป็นกฎหมายที่พยายามกีดกันทางศาสนาโดยเฉพาะการเลือกปฏิบัติกับชาวมุสลิมในอินเดีย ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มประชากรที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศอินเดีย

ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ ก่อนหน้านี้รัฐบาลพรรคบีเจพีได้ดำเนินนโยบายลงทะเบียนประชาชาติอินเดีย (National Register of Citizens: NRC) ซึ่งไม่ได้ดำเนินการมานานมากแล้ว โดยเริ่มที่รัฐอัสสัมทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่แรก เพราะรัฐดังกล่าวเป็นพื้นที่รับผู้อพยพจากประเทศบังกลาเทศเป็นจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลต้องการแยกประชากรที่แท้จริงและผู้อพยพออกจากกัน แต่ด้วยปัญหาทางด้านระบบเอกสาร รวมถึงการทุจริตในกระบวนการขึ้นทะเบียนส่งผลให้ประชาชนชาวอินเดียจำนวนมากที่ไม่สามารถแสดงเอกสารยืนยันตัวตนในกระบวนการดังกล่าวถูกผลักเข้าสู่ค่ายผู้อพยพ ความล้มเหลวในการดำเนินนโยบายนี้กลายเป็นปัญหาสำคัญภายหลังการผ่านกฎหมายสัญชาติใหม่ เนื่องจากรัฐบาลนำโดยนายอมิต ชาห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ย้ำว่าจะนำเอาระบบลงทะเบียนประชาชาติอินเดียมาปรับใช้ทั่วประเทศ

คำกล่าวนี้กลายเป็นเชื้อไฟสำคัญที่คนอินเดียจำนวนมากเดินออกจากบ้านมายังท้องถนนเพื่อประท้วง โดยเฉพาะในรัฐอัสสัมซึ่งถือว่าได้รับผลกระทบทางตรงจากกฎหมายนี้ แม้ว่าช่วงแรกการประท้วงจะจำกัดวงเพียงในรัฐอัสสัมเท่านั้น แต่สุดท้ายแล้วเมื่อขบวนการนักศึกษาของอินเดียเข้ามาจับเรื่องนี้โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ของอินเดีย ก่อนที่จะถูกล้อมปราบโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจนเกิดภาพเหตุการณ์ความรุนแรงซึ่งดำเนินการโดยรัฐ ส่งผลให้ประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ขยายไปยังคนทุกชั้นของสังคม โดยเฉพาะในหมู่นักการเมือง นักธุรกิจ และดารานักแสดง เป็นต้น

หลายคนสงสัยว่าทำไมนักศึกษาต้องประท้วงกฎหมายนี้ เป็นความจริงที่กฎหมายฉบับนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกต่อการให้สัญชาติผู้อพยพหนีภัยสงคราม แต่ปัญหาสำคัญคือกระบวนการในการให้สัญชาตินั่นเอง ซึ่งรัฐบาลต้องนำเอาระบบ NRC มาใช้ โดยอาศัยเอกสารของภาครัฐซึ่งออกให้ก่อนปี 1971 เป็นเกณฑ์สำคัญ ตรงส่วนนี้เองที่สร้างความกังวลใจอย่างมากต่อประชาชนอินเดีย เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวระบบเอกสารของอินเดียไม่ได้มีประสิทธิภาพมากนัก ยิ่งไปกว่านั้นคือระบบการดำเนินการขึ้นทะเบียนประชากรเองก็ดำเนินงานโดยระบบราชการซึ่งอาจมีการทุจริตได้

ฉะนั้นไม่ว่าคนอินเดียที่เข้ากระบวนการขึ้นทะเบียนนี้จะนับถือศาสนาอะไรก็ตาม หากไม่สามารถหาเอกสารมายืนยันตัวเองได้ อาจต้องกลายเป็นผู้อพยพโดยไม่รู้ตัว ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นในรัฐอัสสัมที่มีการตกหล่นของรายชื่อบุคคลสำคัญหลายคนของประเทศจากปัญหาข้างต้น ฉะนั้นกฎหมายฉบับนี้จึงไม่ใช่เพียงการเลือกปฏิบัติทางศาสนาเท่านั้น แต่กำลังบอกว่าใครคือประชากรที่แท้จริงของอินเดียด้วย ทำให้นักวิเคราะห์หลายคนมองว่ากฎหมายฉบับนี้ลิดรอนสิทธิมนุษยชนของประชาชน ที่สำคัญกว่านั้นคือคนที่ออกมาประท้วงส่วนใหญ่กลายเป็นคนฮินดูเสียด้วยซ้ำ

รายชื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วทั้งอินเดียที่ร่วมประท้วงกฎหมาย
รายชื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วทั้งอินเดียที่ร่วมประท้วงกฎหมายฉบับนี้ ภาพจาก NDTV

ความไม่เป็นธรรมนี้เป็นแรงส่งให้นักศึกษาจากทั่วทั้งประเทศอินเดียไม่ว่าจะสังกัดพรรคการเมืองใดต่างงดการสอบเพื่อออกมาเรียกร้องกับรัฐบาลให้ยุติกระบวนการดังกล่าวซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาอนาคต ทั้งยังเป็นการท้าทายระบอบคิดว่าด้วยรัฐฆราวาสนิยมของอินเดียอีกด้วย นอกจากการเรียกร้องทางการเมืองผ่านการประท้วงแล้ว กระบวนการทางการศาลก็ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่กลุ่มนักศึกษาเลือกใช้โดยยื่นเรื่องไปยังศาลสูงสุดของอินเดียเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับความขัดกันของกฎหมายฉบับดังกล่าวกับรัฐธรรมนูญอินเดีย

ณ จนถึงตอนที่ผู้เขียนกำลังพิมพ์บทความชิ้นนี้อยู่ เพื่อนหลายคนของผู้เขียนก็ยังคงหลับตานอนอยู่ท่ามกลางพื้นที่ชุมนุม ที่สุ่มเสี่ยงจะถูกสลายเมื่อใดก็ได้ เพราะดูเหมือนว่ารัฐบาลอินเดียจะไม่ยอมง่ายๆ และความรุนแรงในการชุมนุมก็เพิ่มมากยิ่งขึ้น เมื่อในหลายพื้นที่มีการปราบปรามผู้ประท้วงถึงขั้นเสียชีวิต มีการตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ทและโทรศัพท์ในหลายเมืองใหญ่ของอินเดียรวมถึงเมืองหลวงอย่างกรุงนิวเดลี มหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วทั้งอินเดียกลายเป็นพื้นที่ปะทะระหว่างประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

แม้ว่าผลของการประท้วงครั้งนี้จะไม่มีความชัดเจนเท่าใดนัก แต่เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นว่าขบวนการนักศึกษาในอินเดียยังคงทรงพลัง และการเดินประท้วงบนท้องถนนยังคงเกิดขึ้นได้จริงจากแรงขับเคลื่อนของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ลักษณะเช่นนี้เองส่งผลให้ขบวนการนักศึกษาของอินเดียมีความพิเศษที่แตกต่างจากประเทศอื่น

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save