fbpx
In search for exlixir of youth : สตาร์ทอัพค้นหายาอายุวัฒนะในเลือดของหนุ่มสาว

In search for exlixir of youth : สตาร์ทอัพค้นหายาอายุวัฒนะในเลือดของหนุ่มสาว

โสภณ ศุภมั่งมี เรื่อง

 

ในช่วงเริ่มต้นของปี 2000 กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ทำให้สถานที่แห่งนี้ได้รับการจับตามองจากทั่วโลก โดยการเย็บหนูสองตัวเข้าด้วยกัน พวกเขาต้องการพิสูจน์กระบวนการอายุเก่าแก่หลายร้อยปีที่เรียกว่า ‘parabiosis’ ที่เชื่อมต่อระบบหมุนเวียนเลือดของสิ่งมีชีวิตเข้าด้วยกัน ในกรณีนี้เป็นหนูทดลองจำนวนหลายสิบคู่ แต่ละคู่ประกอบด้วยหนูหนุ่มและหนูแก่ เลือดของทั้งสองตัวจะหมุนเวียนถ่ายกันไปมา ฟังดูโหดร้ายทารุณไม่น้อยเลยทีเดียว แต่สิ่งที่พวกเขาพบคือหนูตัวที่แก่กว่ามีร่างกายแข็งแรงขึ้น สุขภาพดีขึ้น จึงเป็นที่มาของการค้นหายาอายุวัฒนะจากเลือดของหนุ่มสาวในศตวรรษที่ 21

 

แน่นอนว่าทุกอย่างไม่ได้ตรงไปตรงมาอย่างนั้น อย่าเพิ่งคิดว่าแค่เอาเลือดของคนหนุ่มสาวมาถ่ายเข้าร่างกายตัวเองแล้วจะแข็งแรงปึ๋งปั๋งในทันที ยังมีอะไรหลายอย่างที่นักวิทยาศาสตร์ต้องทดลอง หาเหตุผลสนับสนุน และทำเข้าใจกระบวนการทั้งหมด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าแนวคิดนี้จะหยุดกลุ่มบริษัทสตาร์ทอัพต่างๆ ที่เห็นโอกาสในการทดลองครั้งนี้ได้ พวกเขาสร้างธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่อยาก ‘stay young’ ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

ล่าสุดบริษัท Elevian เพิ่งได้รับเงินสนับสนุนจำนวน 5.5 ล้านเหรียญ (ประมาณ 180 ล้านบาท) จากนักลงทุนหลายคน หนึ่งในนั้นคือ Peter Diamandis ที่หลายคนรู้จักกันดีใน Silicon Valley ว่าคลุกคลีอยู่กับเรื่องเทคโนโลยีเกี่ยวกับสุขภาพมากที่สุดคนหนึ่ง

ภายใต้คำโฆษณาชวนเชื่อและวิทยาศาสตร์ด้านในที่ลึกล้ำ สิ่งที่เรารู้คือ ‘เลือด’ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นของเหลวสีเหลืองๆ ที่รู้จักกันในนามว่า ‘พลาสมา’ นั้น เต็มไปด้วยโปรตีนและส่วนประกอบต่างๆ ที่ทำหน้าที่แสดงผลว่าเซลล์ต่างๆ ในร่างกายทำงานเป็นอย่างไรบ้าง งานวิจัยพบว่าอัตราส่วนของส่วนประกอบนี้เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามอายุขัยในสัตว์ทุกชนิดรวมทั้งมนุษย์ด้วย เลือดที่อยู่ในร่างกายที่แก่ตัว มีสัญญาณบ่งบอกถึงความเสียหายมากกว่าเลือดของสัตว์ที่มีอายุน้อย ซึ่งมีส่วนประกอบที่ช่วยในการกระตุ้นการเติบโตของและซ่อมแซมเซลล์ต่างๆ

ตอนนี้ Elevian แยกโปรตีนที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตที่เรียกว่า GDF11 ออกมาได้สำเร็จ เท่านั้นยังไม่พอ พวกเขากำลังทำการวิจัยและพัฒนายาต่างๆ ที่ใช้โปรตีน GDF11 เป็นส่วนประกอบเพื่อช่วยรักษาอาการป่วย เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ที่เกิดจากการเสื่อมสภาพตามอายุอีกด้วย

1 ใน 5 ของนักวิทยาศาสตร์ผู้ก่อตั้งบริษัท Elevian นามว่า Lee Rubin นักประสาทวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Harvard บอกว่าโรคทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับอายุ เป็นสิ่งที่พวกเขาให้ความสนใจทั้งนั้น “สิ่งที่ทำให้แตกต่างคือ คุณสามารถช่วยทำให้เซลล์ในร่างกายที่เสียหายแล้ว กลับมาทำงานได้ดีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ไม่ว่าสิ่งที่ทำให้เกิดความเสียหายคืออะไรก็ตาม นั่นทำให้เกิดความเป็นไปได้ในการรักษาโรคต่างๆ อีกมากมาย”

Rubin เริ่มศึกษาเกี่ยวกับเรื่องอายุขัยของมนุษย์ตั้งแต่ปี 2006 โดยตัดสินใจลาออกจากงานด้านเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย Harvard ตอนนั้นเองที่เขาเริ่มสอนวิชาเกี่ยวกับการแก่ตัวของมนุษย์ร่วมกับนักชีววิทยาสเต็มเซลล์ชื่อ Amy Wagers ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการศึกษาทดลอง parabiosis ที่มหาวิทยาลัย Stanford  ตอนนั้น Wagers กำลังมองหาเพื่อนที่จะช่วยสานต่องานของเธออยู่พอดี โดยเฉพาะเรื่องการหาผลกระทบของเลือดหนุ่มสาวกับเนื้อเยื่อชนิดต่างๆ ของมนุษย์ ต่อมาไม่นาน สิ่งที่พวกเขาพบคือมันกระตุ้นการก่อตัวของนิวรอนในสมอง แถมยังสามารถช่วยยับยั้งการหนาตัวขึ้นของผนังหัวใจที่เกิดจากการแก่ตัวได้อีกด้วย

สิ่งที่พวกเขาค้นพบสร้างความตื่นเต้นเป็นอย่างมาก  Wagers และเพื่อนร่วมงานก็เริ่มค้นหาสาเหตุที่เลือดของคนหนุ่มสร้างความกระชุ่มกระชวยและซ่อมแซมเนื้อเยื่อเหล่านี้ สิ่งที่พวกเขาพบเจอคือโมเลกุลที่เป็นโปรตีนชื่อว่า GDF11 นั้นโดดเด่นมากเป็นพิเศษ  จากรายงานวิจัยปี 2014 พบว่าเมื่อฉีด GDF11 แบบเดี่ยวๆ โดยเฉพาะ เข้าไปในหนูตัวที่แก่จะทำให้มันแข็งแรงขึ้น การไหลเวียนของเลือดในสมองดีขึ้น และทำให้ความจำดีขึ้นอีกด้วย แน่นอนว่าหลังจากนั้นเรื่องนี้ก็กลายเป็นเรื่องที่ทุกคนจับตามองและถกเถียงกันเยอะมาก เป็นการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่น่าทึ่ง แต่ก็มีบริษัทผลิตยาอย่าง Novartis ที่ออกมารายงานว่าการให้ GDF11 ที่มากเกินไปสามารถก่อให้เกิดการเสื่อมสภาพของกล้ามเนื้อในหนูได้รวดเร็วเช่นกัน

การโต้แย้งยังคงดำเนินต่อไป แต่บริษัท Elevian ได้ขอใบอนุญาตลิขสิทธิ์การค้นพบ GDF11 และโปรตีนอื่นๆ ที่พบในร่างกายตามธรรมชาติเรียบร้อย  Mark Allen หนึ่งในผู้ก่อตั้งและ CEO บอกว่า ความท้าทายอย่างหนึ่งที่พวกเขาต้องเจอคือ GDF11 เสื่อมสภาพเร็วมาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่พวกเขาต้องทำการทดลองต่อไปคือการผลิตยาที่มีส่วนประกอบของ GDF11 แต่ไม่จำเป็นต้องได้รับทุกวัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ซับซ้อนไม่น้อยเลย

และด้วยความซับซ้อนตรงนี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับอายุขัยมนุษย์นั้นกังขาว่า Elevian จะทำแบบที่โฆษณาไว้ได้จริงๆ รึเปล่า  Ron Kohanski ผู้อำนวยการหน่วย National Institute on Aging ในสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกากล่าวว่า “ผมไม่คิดว่า GDF11 จะกลายเป็นยารักษาสารพัดโรคอย่างที่ทุกคนหวังจะให้มันเป็น” เขายังบอกอีกว่า GDF11 นั้นมีรูปแบบที่หลากหลาย และไม่ใช่ทุกแบบที่จะทำงานได้ดี บางอย่างต้องใช้การผสมผสานกับโมเลกุลอื่นที่ไม่ได้อยู่ในเนื้อเยื่อทุกชนิดและทุกวัย

ในปี 2017 National Institute on Aging ใช้เงินประมาณ 2.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้นักวิทยาศาสตร์ไขปริศนาและทำความเข้าใจกลไกการทำงานของสิ่งที่เกิดขึ้น ทำไมเลือดของหนูหนุ่มถึงทำให้หนูแก่แข็งแรงขึ้นได้  Kohanski บอกว่า “ชัดเจนว่านี่เป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ มีความเป็นไปได้มากมายจากการค้นพบครั้งนี้ แต่คำถามที่สำคัญคือมันเกิดขึ้นได้ยังไง และคำตอบในตอนนี้คือเรายังไม่รู้”

ในพลาสมามีโปรตีนมากกว่า 10,000 ชนิด เพราะฉะนั้นการที่ Elevian โฟกัสความสำคัญไปที่ GDF11 นั้น จึงเป็นเพียงแค่ความเป็นไปได้อย่างหนึ่งเท่านั้น บริษัทสตาร์ทอัพแห่งนี้ยังมีอะไรที่ต้องพิสูจน์และทดลองอีกมากมายกว่าจะหาคำตอบที่แท้จริงได้เจอ

ในปี 2016 อีกบริษัทหนึ่งชื่อ Ambrosia ได้เริ่มต้นการทดลองในมนุษย์เป็นครั้งแรกเพื่อทำการถ่ายเทพลาสมาจากเลือดหนุ่มสาวเข้ากับคนไข้สูงอายุ โดยเก็บเงิน 8,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อการทำหนึ่งครั้ง ใครก็ตามที่อายุมากกว่า 35 ปีถือว่าผ่านเกณฑ์ที่จะเข้าร่วมการทดลองรับพลาสมาปริมาณ 2 ลิตรจากผู้บริจาคที่อยู่ในวัยฉกรรจ์ (ซึ่ง Ambrosia ซื้อเลือดเหล่านี้มาจากธนาคารเลือดอีกทีหนึ่ง)  ด้วยราคาที่แสนแพงและการเข้ารับการรักษาโดยไม่มีการเปรียบเทียบแบบพลาซีโบนั้นทำให้นักวิทยาศาสตร์และนักชีวจริยธรรมนั้นตั้งคำถามกับการทดลองครั้งนี้อย่างมาก แต่เสียงวิจารณ์เหล่านั้นก็ไม่ได้ทำให้ Jesse Karmazin ผู้ก่อตั้งบริษัทหวั่นไหว จากความมั่นใจถึงผลลัพธ์ในด้านบวกที่ประกาศออกมาครั้งแรกที่การประชุม Recode เมื่อปีที่แล้ว แม้ยังไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการออกมาก็ตาม Karmazin บอกว่า

“เราวัดค่าจาก 113 ดัชนีชี้วัดทางชีวภาพ (biomarkers) 30 วันหลังจากการถ่ายเทพลาสมา เราพบผลข้างเคียงที่ค่อนข้างยาวนาน แต่ไม่ได้อยู่ตลอดไป”

เขายังบอกต่อว่า ผู้ที่เข้าร่วมการทดลองรู้สึกแข็งแรงขึ้น ตื่นตัว กระฉับกระเฉง และเหมือนกับว่าจะจำอะไรต่างๆ ได้มากขึ้นด้วย “เราเห็นผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับการทดลองที่เกิดขึ้นในหนูห้องแล็บ”  ก้าวต่อไปของ Ambrosia คือการเปิดคลินิกในที่ต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีประชากรผู้สูงอายุค่อนข้างเยอะเป็นหลัก เช่น นิวยอร์ก ซานฟรานซิสโก ลอสแองเจอลิส ลาสเวกัส และฟลอริดา แต่ก็ยังไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเมื่อไหร่ที่จะเริ่มทยอยเปิดคลินิกเหล่านี้  Karmazin เชื่อว่าพวกเขาจะเป็นเจ้าแรกในตลาดอย่างแน่นอน แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่พวกเขาต้องแก้ไขคือการหาผู้เข้าร่วมโปรแกรม เพราะการทดลองในครั้งแรกนี้ ที่ประเมินว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมาณ 600 คน แต่สุดท้ายแล้วมีแค่ 81 คน ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในอนาคตก็อาจจะปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นอีกด้วย

Ambrosia กับ Elevian เหมือนอยู่คนละขั้วของตราชั่ง เพราะด้านหนึ่งคือการเปลี่ยนถ่ายเลือดโดยตรง ส่วนอีกด้านหนึ่งคือการงมเข็มในมหาสมุทรโมเลกุลที่กว้างใหญ่มหาศาล แต่ก็มีอีกบริษัทหนึ่งชื่อ Alkahest ที่เหมือนอยู่ตรงกึ่งกลาง เป้าหมายของพวกเขาคือการหาสูตรผสมของพลาสมาที่มาพร้อมกับโปรตีนที่ดีและกำจัดตัวไม่ดีออก เพื่อช่วยในการรักษาโรคอัลไซเมอร์

Wyss-Coray ที่ทำงานในแล็บข้างๆ กับ Wager ตอนที่พวกเขาทำการทดลอง parabiosis ในหนู พบว่าเลือดของหนูหนุ่มสามารถเพิ่มความสามารถในความทรงจำและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในหนูแก่ได้อย่างมีนัยสำคัญ ต่อมาเขาก็ทดลองโดยการฉีดพลาสมาของหนูหนุ่มเข้าไปในในหนูที่อยู่ในวัยกลางๆ แล้วก็พบผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกัน งานวิจัยของเขาได้รับความสนใจจากสมาชิกของครอบครัวหนึ่งที่ร่ำรวยหนึ่งจากเกาะฮ่องกง เขาเป็นนักอณูชีววิทยาที่สังเกตเห็นว่าคุณปู่ของเขาที่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ จะมีอาการดีขึ้นชั่วคราวทุกครั้งหลังจากเข้ารับการเปลี่ยนถ่ายพลาสมาที่เป็นทางเลือกในการรักษาโรคมะเร็ง  ในปี 2014 ครอบครัวนี้ได้สนับสนุนเงินทุนแก่ Wyss-Coray เพื่อก่อตั้ง Alkahest และเริ่มต้นการทดลองทางคลินิกสำหรับการเปลี่ยนถ่ายพลาสมาในผู้ป่วยอีก 18 คนที่มหาวิทยาลัย Stanford จากรายงานที่เพิ่งตีพิมพ์พบว่าการเปลี่ยนถ่ายแม้เพียงระยะเวลาสั้นๆ ทุกๆ อาทิตย์จะทำให้อาการป่วยนั้นดีขึ้นบ้าง

Alkahest กำลังเริ่มรับผู้ป่วยเพื่อการทดลองทางคลินิกครั้งต่อไปในระดับที่ใหญ่ขึ้น มีเงินสนับสนุนกว่า 37.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากบริษัท Grifols ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์มากมายที่มาจากเลือดอย่าง แอนติบอดี แอลบูมิน และ แฟคเตอร์ 8 สำหรับโรคฮีโมฟีเลีย (โรคทางพันธุกรรมที่เกิดจากความผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด) และพวกเขาก็มีพลาสมาเหลือใช้มากมาย หลังจากกรองพลาสมาเพื่อให้เหลือแต่โปรตีนที่ทำหน้าที่ได้ดี ดูเหมือนว่าพวกเขาได้เจออะไรบางอย่างที่น่าสนใจมากกว่าคนอื่นๆ ตอนนี้ทางบริษัทกำลังเริ่มต้นทดลองสิ่งที่เข้าใกล้ ‘ยาอายุวัฒนะ’ กับผู้ป่วยอัลไซเมอร์อีกประมาณ 40 คนในรัฐแคลิฟอร์เนีย และฟลอริดา  นอกจากจะดูว่าความทรงจำต่างๆ ของผู้ป่วยดีขึ้นมากแค่ไหน พวกเขายังคอยตรวจสุขภาพของผู้ป่วยว่า โดยรวมแล้วได้รับผลข้างเคียงในทางที่ดีขึ้นบ้างรึเปล่าด้วย  Wyss-Coray บอกว่า

“สุดท้ายแล้วเราต้องการหาว่าส่วนประกอบที่สำคัญคืออะไร เพราะถ้ามันทำงานได้จริงๆ จำนวนพลาสมาจากการบริจาคนั้นไม่เพียงพออย่างแน่นอน”

 

ในอนาคตที่กำลังจะมาถึง สิ่งที่เราขาดแคลนอาจจะไม่ใช่ยาอายุวัฒนะ แต่เป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะนำมาสร้างมันขึ้นอย่าง ‘เลือด’ ต่างหาก

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save