fbpx
How to Dance with Leviathan: เริงระบำกับรัฐ คิดใหม่นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจไทย

How to Dance with Leviathan: เริงระบำกับรัฐ คิดใหม่นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจไทย

สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน

ผมมีเจตนาชัดเจนตั้งแต่แรกเริ่มเขียนบทความให้แก่ 101.world ว่า อยากจะวิเคราะห์ความท้าทายของเศรษฐกิจไทย และพยายามขบคิดถึงข้อเสนอเท่าที่จะสามารถทำได้

เนื่องในโอกาสปีใหม่ ผมจึงถือโอกาสได้ทบทวนข้อเสนอที่เขียนตลอดปี 2021 (และต้นปี 2022) เพื่อเป็นของกำนัลให้กับผู้อ่านที่สนใจเรื่องบทบาทรัฐกับนโยบายเศรษฐกิจได้ขบคิด ถกเถียง และคิดถึง ‘ความหวัง’ ของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยไปพร้อมกัน

3 โจทย์ใหญ่การพัฒนาเศรษฐกิจไทย[1]:
รัฐขีดความสามารถปานกลาง, โครงสร้างเศรษฐกิจแบบช่วงชั้น

และกับดักเทคโนโลยีปานกลาง

ทุกท่านครับ,

ผมคิดว่าประเทศไทยมีโจทย์ใหญ่สำคัญสามด้านที่ฉุดรั้งการพัฒนาของเราเอาไว้ ดังนี้ครับ

โจทย์ข้อแรก ประเทศไทยในปัจจุบันนั้นมักจะถูกนิยามว่าเป็น ‘รัฐขีดความสามารถปานกลาง’ กล่าวคือ ไม่ได้แย่จนกระทั่งทำอะไรไม่ได้ แต่ก็อ่อนแอเกินกว่าจะผลักดันเศรษฐกิจให้เกิดการพัฒนาก้าวกระโดด

มองให้ลึกลงไปในรายละเอียด เราจะเห็น ‘รัฐอกแตก’ กล่าวคือภายในส่วนต่างๆ ของรัฐนั้น มีขีดความสามารถแตกต่างกัน โดยหน่วยงานที่ดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจ เช่น กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย มักมีขีดความสามารถสูง แต่หน่วยงานที่ทำหน้าที่พัฒนาเศรษฐกิจเชิงรุกในแต่ละภาคเศรษฐกิจ กลับมีขีดความสามารถต่ำและพัวพันไปด้วยผลประโยชน์ต่างๆ

สภาวะเช่นนี้เหมือนดาบสองคม เพราะด้านหนึ่งเศรษฐกิจก็ดูจะเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปและทนทานต่อวิกฤติ แต่เพราะเหตุนี้เองจึงทำให้ขาดแรงผลักดันอย่างกระตือรือร้น และทำให้การปรับตัวเป็นไปอย่างล่าช้า นอกจากนี้ ‘การพัฒนาเชิงรุก’ กลับเป็นคำที่กระตุ้นจินตนาการด้านลบ เพราะประชาชนไม่เชื่อมั่นในความสามารถของภาครัฐ และไม่ไว้ใจเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวง

โจทย์ที่สอง คือโครงสร้างเศรษฐกิจแบบช่วงชั้น (hierarchical market)

มิติแรกคือความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มทุนขนาดใหญ่และเล็ก งานศึกษาพบว่ากลุ่มทุนขนาดใหญ่มีจำนวนน้อยกว่า 1% ของบริษัททั้งหมดในไทย ครอบครองส่วนแบ่งมากถึง 43% ของมูลค่า GDP, 80% ของเงินลงทุนภาคเอกชน และ 13% ของการจ้างงานทั้งประเทศ[2]

ในขณะที่ทุนขนาดกลางและย่อม (SME) กลับมีความเปราะบางต่อความเสี่ยงทางธุรกิจ ขยายตัวช้า และตลอดหลายปีที่ผ่านมาเข้าถึงทุนและแรงงานฝีมือได้น้อยลงเรื่อยๆ

มิติที่สองคือความเปราะบางของแรงงาน สถิติชี้ว่าราว 55-65% ของผู้มีงานทำเป็น ‘แรงงานนอกระบบ’ ซึ่งในกลุ่มนี้มีความเปราะบางของสัญญาจ้าง และกว่าครึ่งเป็นผู้มีรายได้น้อยถึงแม้ว่าจะทำงานหนักเกินกว่า 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์แล้วก็ตาม

เมื่อประสานสองมิติเข้าด้วยกัน เราจะเห็นภาพรวมว่า โครงสร้างทุนนิยมไทยมีลักษณะที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้รับส่วนแบ่งสูงสุด โดยมีทุน SME และแรงงานปกขาวได้รับส่วนแบ่งรองลงมา และแรงงานนอกระบบจำนวนมากเป็นฐานที่ถูกขูดรีด ใช้แรงงานหนัก และได้รับผลตอบแทนต่ำ

โครงสร้างเศรษฐกิจเช่นนี้สร้างปัญหา เพราะมันบั่นทอนนวัตกรรม ทำลายศักยภาพที่จะเรียนรู้ของมนุษย์ สร้างความเหลื่อมล้ำทั้งในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น และกระจายความเสี่ยงไม่เท่ากันในช่วงเศรษฐกิจขาลง[3]

โจทย์ข้อที่สาม โครงสร้างการผลิตของไทยมีลักษณะเทคโนโลยีปานกลาง ได้ส่วนแบ่งต่ำจากห่วงโซ่มูลค่าโลก และปรับตัวช้ามาหลายทศวรรษ

สถิติธนาคารโลกชี้ว่า หลังปี 2000 เป็นต้นมาโครงสร้างเศรษฐกิจไทยพัฒนาไปอย่างเชื่องช้า สัดส่วนการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงลดลง นอกจากนี้ หากพิจารณาอุตสาหกรรมสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญ จะพบว่าไทยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าและบริการ ICT ลดลง สวนทางประเทศเสือเศรษฐกิจอื่น เช่น จีน, เกาหลีใต้ และ ไอร์แลนด์ เป็นต้น

ถึงแม้ว่าการยกระดับเทคโนโลยีจะกลายเป็นหัวข้อที่หลายภาคส่วนในสังคมไทยต่างกล่าวถึงและให้ความสำคัญมากขึ้น แต่ปัญหา ‘รัฐขีดความสามารถปานกลาง’ ทำให้มาตรการสนับสนุนภาครัฐไม่ประสบผลเท่าที่ควร ส่วนปัญหา ‘โครงสร้างเศรษฐกิจแบบช่วงชั้น’ ก็ทำให้ความพยายามพัฒนาเทคโนโลยีกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มทุนขนาดใหญ่

กล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือ ปัญหาทั้งสามประการนี้ซ้ำเติมซึ่งกันและกัน และทำให้แต่ละปัญหามีความซับซ้อนและแก้ไขยากยิ่งขึ้น

เรายังมีความหวัง

ที่ผ่านมา คอลัมน์ Dancing with Leviathan พยายามชวนผู้อ่านขบคิดและถกเถียงถึงบทบาทรัฐและนโยบายการพัฒนาที่แก้ปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจไทยทั้ง 3 ข้อข้างต้น และผมคิดว่า ‘เรายังมีความหวัง’ อยู่ เพราะพูดให้ถึงที่สุด สิ่งที่ประเทศไทยเผชิญเป็นปัญหาสากลทั่วไปในโลก

ประเทศที่รัฐมีขีดความสามารถสูงในวันนี้ล้วนพัฒนามาจากรัฐขีดความสามารถต่ำ เช่น ก่อนจะมีเกาหลีใต้วันนี้ก็เคยมีเกาหลีใต้ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 สมัย Rhee Syngman ก็เป็นรัฐที่อ่อนแอและเต็มไปด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวง ส่วนสิงคโปร์ในช่วงเริ่มต้นพัฒนาประเทศก็เคยประสบปัญหาขาดแคลนเงินทุนและเต็มไปด้วยอุตสาหกรรมมูลค่าต่ำมาก่อน เป็นต้น

ประเทศไทยไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพังในดินแดนลี้ลับที่ไม่เคยถูกค้นพบ …เราเรียนรู้จากผู้ที่เคยประสบความสำเร็จได้ และนี่คือ 7 ข้อเสนอของผมที่สกัดได้จากการอ่าน คิด และเขียน ผ่านคอลัมน์นี้ครับ

1# สร้างรัฐพัฒนาแบบเครือข่าย[4]

ทุกท่านครับ,

ประเทศต่างๆ ในโลกที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจมีปัจจัยร่วมที่สำคัญประการหนึ่งคือ ‘รัฐขีดความสามารถสูง’ หรือพูดง่ายๆ คือรัฐต้องเก่ง

ความเก่งมีสี่ด้านสำคัญ ได้แก่ คิดเป็น-คือรู้ว่าต้องทำอะไร, ทำเป็น-คือรู้ว่าต้องขับเคลื่อนอย่างไรให้สำเร็จ, ผิดเป็น-คือรู้ว่าจะวัดความสำเร็จและล้มเหลวอย่างไร และตรวจพบความผิดพลาดของตนเองได้เร็ว, และปรับตัวได้-คือสามารถปรับตัวได้ไวเมื่อทำพลาด

รัฐที่นำความเก่งของตนเองไปขับเคลื่อนการพัฒนา โดยผนวกเอากลุ่มทุนและภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนขับเคลื่อนอย่างแข็งขัน จะถูกเรียกว่า ‘รัฐพัฒนาแบบเครือข่าย

รัฐเช่นนี้ไม่เพียงแต่ปรากฏในกลุ่มเสือเศรษฐกิจแห่งเอเชียอย่างไต้หวันแลtสิงคโปร์ แต่ยังรวมถึงประเทศที่พัฒนาแล้วฝั่งตะวันตก อาทิ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ไอร์แลนด์ และอิสราเอล อีกด้วย

รัฐพัฒนาไม่จำเป็นต้องขนาดใหญ่เทอะทะ (แบบรัฐวางแผนจากส่วนกลาง) หรือไม่จำเป็นต้องเล็กสุดๆ (แบบรัฐเสรีนิยมใหม่) หัวใจคือต้องมีขนาดพอเหมาะจะทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่เราจะสร้างรัฐพัฒนาแบบเครือข่ายขึ้นมาได้อย่างไรเล่า?

มีสักสามเคล็ดลับสำคัญครับ

ข้อแรก รัฐพัฒนาแบบเครือข่ายทั้งหมดเกิดขึ้นในระบอบ ‘ประชาธิปไตยที่ตั้งมั่น’ และ ‘กระจายความรับผิดชอบ’

ประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นทำให้รัฐต้องรับฟังประชาชน และเมื่อรัฐเริ่มฟังเสียงของประชาชนก็จะมีข้อมูลมากพอจะคิดเป็น-ทำเป็น-ผิดเป็น-ปรับตัวได้

แน่นอนครับว่า รัฐเผด็จการอาจจะ (แค่อาจจะนะครับ) คิดเป็นและทำเป็นโดยใช้ผู้เชี่ยวชาญเทคโนแครตทำงานให้ แต่รัฐเผด็จการนั้นมักจะ ‘ผิดไม่เป็นและปรับตัวไม่ได้’ รัฐแบบเผด็จการจึงแข็งตัวและสามารถจะพาประเทศพัฒนาได้ยากมากขึ้นเรื่อยๆ ในบริบทปัจจุบัน

บันไดก้าวแรกสู่การสร้างรัฐที่ดีคือการประคับประคองให้ประชาธิปไตยลงหลักปักฐานได้อย่างมั่นคงในสังคมไทยครับ

อีกด้านหนึ่งที่สำคัญคือการกระจายความรับผิดชอบในการพัฒนาเศรษฐกิจ (ซึ่งรวมถึงการกระจายอำนาจและทรัพยากร) ออกไปจากรัฐส่วนกลาง ให้เป็นบทบาทของหน่วยงานรัฐที่ใกล้ชิดพื้นที่และประเด็น ทำงานร่วมกับกลุ่มทุนและภาคประชาสังคม

โดยการกระจายบทบาทพัฒนาเหล่านั้นจะสอดประสานกันในภาพรวมได้ ต้องเชื่อมต่อกันผ่านแผนยุทธศาสตร์ ฐานข้อมูล และความรับผิดรับชอบ (accountability) ที่ออกแบบมาอย่างดี

ข้อที่สอง เร่งเพิ่มขีดความสามารถภาครัฐผ่านหน่วยงานนำร่อง

การปฏิรูปเพื่อสร้างรัฐพัฒนาแบบเครือข่ายไม่จำเป็นต้องรอช้า หรือรอการปฏิรูประบบราชการแบบรอบด้าน แต่เริ่มต้นได้จากระดับ =’หน่วยงานนำร่อง’ ที่มีความสามารถสูงอยู่เดิมและมีหน้าที่พัฒนาพื้นที่ พัฒนาเศรษฐกิจรายสาขา หรือทำนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมและยกระดับเทคโนโลยีในเชิงรุกอยู่แล้ว

ตัวอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา ไต้หวัน และไอร์แลนด์ เหล่านี้ล้วนเริ่มต้นการปรับเพิ่มขีดความสามารถภาครัฐ จากหน่วยงานนำร่องกลุ่มเล็กๆ ทั้งสิ้น และความสำเร็จของหน่วยงานนำร่องที่ชัดเจน จะเป็นตัวสร้างความชอบธรรมให้แก่การปฏิรูปที่กว้างขวางยิ่งขึ้นต่อไป

เช่น Industrial Technology Research Institute (ITRI) ของไต้หวัน, Industrial Development Agency (IDA) ของไอร์แลนด์, Advanced Research Projects Agency (ARPA) และ Advanced Manufacturing Institute (AMI) ในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น โดยมีธนาคารกลางและกระทรวงการคลังประเทศต่างๆ ทำหน้าที่ระวังเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ข้อสุดท้าย หน่วยงานนำร่องไม่ได้เป็นผู้สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยตรง แต่ต้องไปช่วยให้ผู้ผลิตภาคเอกชนมีมูลค่าการผลิตและเทคโนโลยีสูงขึ้น พร้อมกันนั้นก็ต้องช่วยทำให้ผู้คนในสังคมมีรายได้เพียงพอจะจับจ่ายบริโภค นัยนี้ รัฐพัฒนาแบบเครือข่ายจึงต้อง ‘ร่วมมือ’ กับกลุ่มทุนและประชาสังคมในการพัฒนา

การร่วมมือระหว่างรัฐ ทุน และสังคมนี้มีความซับซ้อนซึ่งต้องขยายความต่อไปเป็นลำดับครับ

2# ปรับสายสัมพันธ์ระหว่างรัฐและทุนให้เหมาะสม[5]

ผู้อ่านทุกท่านครับ,

เราได้กล่าวถึงไปในช่วงต้นแล้วว่า สังคมไทยคือระบบตลาดแบบช่วงชั้น ที่มีทุนขนาดใหญ่ทั้งไทย-เทศเป็นผู้ปกครองสูงสุด การร่วมมือระหว่างรัฐและภาคส่วนต่างๆ ในสังคมจึงมักมีลักษณะที่ ‘ไม่เหมาะสม’

กล่าวคือ รัฐมักร่วมมือกับทุนขนาดใหญ่พร้อมกับกีดกันส่วนอื่นๆ (เช่น ทุนขนาดเล็ก แรงงาน และประชาสังคม) ออกไปจากการพัฒนา ซ้ำร้ายไปกว่านั้น รัฐมักจะถูกจับกุมและเชิดชักให้ทำนโยบายที่เอื้อต่อกลุ่มทุนขนาดใหญ่อีกด้วย

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้เราต้องเร่งปฏิรูป ‘ความร่วมมือ’ ระหว่างรัฐและภาคเอกชนอย่างเร่งด่วน 2 ประการด้วยกัน

ประการแรก รูปแบบของสายสัมพันธ์ระหว่างรัฐ-เอกชนที่เหมาะสมคือ ‘การร่วมมืออย่างมีอิสระต่อกัน’ (embedded autonomy) ฟังดูแล้วมีความขัดกันอยู่ในทีใช่ไหมครับ? แต่ความขัดแย้งนี้เป็นประโยชน์และเกิดขึ้นจริงในญี่ปุ่น และชาติเสือเศรษฐกิจแห่งเอเชีย

ด้านหนึ่ง รัฐในประเทศเหล่านี้สร้างความร่วมมือเชิงรุกกับภาคเอกชนผ่านสมาคมการค้าในรายสาขาเศรษฐกิจ จนกระทั่งมีข้อมูลเทียบเท่าภาคเอกชน และขับเคลื่อนนโยบายได้อย่างตรงเป้าแม่นยำ เท่าทันความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมต่างๆ

ทว่าในอีกด้านหนึ่ง รัฐและเอกชนก็ต่างมีอิสระต่อกัน เพียงพอที่จะไม่ถูกครอบงำชักจูงด้วยอำนาจหรือผลประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

สภาวะที่รัฐร่วมมือกับเอกชน รู้เท่าเอกชน และมีอิสระเพียงพอจะกำกับดูแล อุดหนุนและทำโทษภาคเอกชนได้นี้เอง คือเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ความร่วมมือระหว่างรัฐและทุน “ไม่กลายเป็นพิษ”[6] ตรงนี้เองที่แตกต่างจากรัฐไทย เพราะรัฐไทยถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนอยู่มาก และไม่มีอิสระเพียงพอจะกำกับดูแลได้อย่างยุติธรรมมีประสิทธิภาพ

ประการที่สอง ความร่วมมือต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ตามลักษณะกลุ่มทุน

ผู้อ่านทุกท่านครับ,

การร่วมมือกับกลุ่มทุนนั้นแท้ที่จริงแล้วมีความซับซ้อน เพราะกลุ่มทุนมีหลายขนาด หลายสาขา ประเทศไทยควรจัดวางกลยุทธ์และความสัมพันธ์ให้แตกต่างกันออกไปด้วย

ในภาพรวม ไทยควรส่งเสริมทุนขนาดใหญ่ให้ขยายตัวไปภายนอก/ระดับโลกแบบเกาหลีใต้ เพราะในการแข่งขันระหว่างประเทศ “ขนาดมีผลชี้ขาดสำคัญ” ช่วยให้เกิดความประหยัดทางการผลิต และคุ้มค่าที่จะลงทุนด้านเทคโนโลยีราคาแพง เป็นต้น

นอกจากนี้ ทุนขนาดใหญ่จะถูกการแข่งขันระหว่างประเทศกดดันให้ต้องปรับตัว ว่องไวกว่าการเป็นเสือนอนกินอยู่กับตลาดภายในประเทศ

แต่หากไม่มีมาตรการที่เหมาะสม บริษัทใหญ่ก็จะใช้ความได้เปรียบด้านขนาด มากดขี่ทุนขนาดเล็กและแรงงานในประเทศ ดังนั้น กลไกผลักดันทุนใหญ่ออกไปลงทุนและแข่งขันภายนอกจึงสำคัญอย่างมาก

เมื่อทุนใหญ่ออกไปภายนอก จึงจะเกิด ‘พื้นที่หายใจ’ ของตลาดภายในให้ทุนขนาดกลางและขนาดย่อม ได้เติบโตและถักทอเครือข่ายการผลิตแบบไต้หวัน

ถึงแม้ SME ยังมีส่วนแบ่งจาก GDP ไม่มากนักในปัจจุบัน แต่หากได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสม ก็จะพัฒนากลายเป็นทุนขนาดใหญ่และกลายเป็นผู้บุกเบิกเทคโนโลยีใหม่ๆ ในอนาคต และในหลายกรณีมีความคล่องตัวมากกว่าทุนขนาดใหญ่ดั้งเดิมเสียอีก

สุดท้าย การโอบรับทุนข้ามชาติเข้ามาอย่างมีกลยุทธ์แบบสิงคโปร์ ต้องมาพร้อมกับมาตรการต่างๆ ที่ช่วยการันตีได้ว่า คนไทยจะมีงานทำมากขึ้นและได้รับค่าจ้างสวัสดิการที่ดีจากเงินลงทุนระหว่างประเทศเหล่านั้น

3# เห็นบทบาทของแรงงานและภาคประชาสังคม ในฐานะพลังผลักดันความก้าวหน้า[7]

ทุกท่านครับ,

รัฐและทุนไม่ได้ปรับตัวเองโดยธรรมชาติหรอกนะครับ รัฐและทุนปรับตัวเมื่อมีแรงกดดันทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ เราจะเห็นบทเรียนจากเกาหลีใต้ในช่วงทศวรรษที่ 1970-90 ได้เป็นตัวอย่าง ในช่วงเวลาดังกล่าว เกาหลีใต้ค่อยๆ ปรับตัวจากระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพิงแรงงานราคาถูก เป็นการพึ่งพิงเทคโนโลยี

เขาทำได้อย่างไร?

มีทั้งปัจจัยภายนอกและภายในครับ

ปัจจัยภายนอก คือ การที่สหรัฐอเมริกาประกาศถอนตัวจากเวียดนามในปี 1975 และลดการสนับสนุนรัฐต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกาหลีใต้มีได้รับเงินช่วยเหลือน้อยลง และต้องเผชิญภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือเพียงลำพัง ปัจจัยเหล่านี้กระตุ้นให้รัฐบาลเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมหนักเพื่อพึ่งพิงตนเองมากขึ้น

ปัจจัยภายใน นับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1970s ขบวนการแรงงานในเกาหลีใต้รวมตัวจัดตั้งอย่างแข็งขัน และเรียกร้องส่วนแบ่งจากการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเริ่มจากการเผาตนเองประท้วงของแรงงานหนุ่ม Jeon Tae-il ในปี 1970, การประท้วงขนาด 400 คนจนนำไปสู่การเผาโรงงานในปี 1971, การรวมตัวแรงงานหญิงกว่าพันคนของบริษัท Bando company ในปี 1974 เป็นต้น

ถึงแม้จะมีการปราบปรามอย่างรุนแรงทั้งในสมัยนายพล Park สืบเนื่องถึงเผด็จการคนถัดมาคือนายพล Chun Doo-Hwan ก็ตาม แต่ขบวนการแรงงานไม่ได้หายไป พวกเขาแผ่วงกว้างและสร้างความร่วมมือกับขบวนการนักศึกษา-ขบวนการประชาธิปไตยมากขึ้นอีก

นับจากปี 1983-1987 การนัดหยุดงานและลั่นกลอนโรงงาน เพิ่มจาก 88 ครั้ง เป็น 3,617 ครั้ง จำนวนแรงงานที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์เพิ่มจาก 9,000 คน เป็น 935,000 คน และจำนวนวันที่สูญเสียไปจากการปะทะประท้วง (workdays lost) เพิ่มจาก 11,500 วัน เป็น 6,947,000 วัน

ด้วยการเคลื่อนไหวต่อรองทั้งด้านค่าครองชีพ (ควบคู่ไปกับประชาธิปไตย) ของแรงงานเกาหลีใต้นี้เอง ทำให้ อัตราการเติบโตของค่าจ้างที่แท้จริงเฉลี่ยสูงถึงราว 13.5% ในปี 1976-1980, มากกว่า 5% ในปี 1981-1985, และอยู่ระหว่าง 7.5-9.3% ในปี 1986-1990

แรงกดดันทั้งจากภายนอกและภายในนี้เองทำให้รัฐและทุนเกาหลีใต้ต้องปรับตัว การเคลื่อนไหวแรงงานและปรับตัวสูงขึ้นของค่าจ้าง ทำให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้ไม่สามารถพึ่งพิงอุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้นได้อีกต่อไป และเร่งพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมทุนและเทคโนโลยีเข้มข้นในเวลาอันรวดเร็ว[8]

ประสบการณ์ของเกาหลีใต้ชี้ว่า การปรับตัวของรัฐและทุนไม่ใช่เกิดจากพระเจ้าทอยลูกเต๋าหรือความบังเอิญ แต่เกิดขึ้นได้จากแรงกดดันของแรงงานและภาคประชาสังคม ให้รัฐปรับตัวสู่รัฐพัฒนาและทุนขูดรีดแรงงานน้อยลง และหันไปสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านเทคโนโลยีมากขึ้น

4# ออกจากเสถียรภาพระยะสั้น…ก้าวแรกสู่การพัฒนาระยะยาว

ทุกท่านครับ,

เมื่อหันมาพิจารณาประเทศไทย ขบวนการแรงงานของไทยถูกกดทับมาโดยตลอดระหว่างปี 1958-1970 จำนวนการนัดหยุดงานไม่เคยสูงเกิน 20 ครั้งต่อปี น้อยกว่าในเกาหลีใต้ ไต้หวัน และเมืองอุตสาหกรรมของบราซิลอย่างมาก

การร่วมมือกับขบวนการนักศึกษาเรียกร้องประชาธิปไตยและปากท้องในระหว่าง 1973-1975 ทำให้แรงงานเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก ทว่ารัฐบาลก็ปราบปรามอย่างรุนแรงในวันที่ 6 ตุลาคม 1976 (พ.ศ. 2519) และทำให้ขบวนการแรงงานไม่เคยฟื้นตัวกลับมาทรงพลังเท่าเดิมอีกเลย

โดยเฉพาะในช่วงหลังปี 1980-2000 ประเทศไทยเข้าสู่ยุคมุ่งเน้นผลิตอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก และมีการขยายตัวของ GDP อย่างมาก แรงงานที่ขาดพลังต่อรองจึงถูกกดค่าจ้างและได้ส่วนแบ่งน้อยจากการเติบโตดังกล่าว

งานศึกษาของ Fan และคณะชี้ว่า ระหว่างปี 1977 จนถึง 1993 ค่าจ้างที่แท้จริงของแรงงานนอกภาคเกษตรไทยปรับเพิ่มขึ้นน้อยมากเพียงปีละไม่ถึง 1% เท่านั้น (ในเกาหลีใต้ ต่ำสุดที่ 5% และสูงสุดถึง 16%) ด้วยสภาพเช่นนี้ พันธมิตรรัฐ-ทุนดั้งเดิม จึงมีแรงจูงใจต่ำที่จะปรับตัวให้หลุดไปจากระบบเศรษฐกิจแรงงานเข้มข้นและขูดรีด

และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ…

หลังปี 2000 พลังของแรงงาน นักศึกษา และภาคประชาสังคมไทยก่อตัวและขยับขยายมากขึ้น โดยเฉพาะหลังการรัฐประหารสองครั้งหลังสุดเป็นต้นมา การเรียกร้องประชาธิปไตยและเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน-เท่าทันโลก ได้กลายเป็นแรงกดดันเพื่อการพัฒนา[9]

แน่นอนว่า เมื่อพลังทางสังคมเหล่านี้ปะทะกับพันธมิตรรัฐทุนดั้งเดิม ย่อมเกิดแรงกระเพื่อมทางการเมือง

แต่แทนที่จะมองพลังเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็น ‘ความขาดเสถียรภาพ’ ผมขอเสนอว่า ในระยะยาวความขัดแย้งดังกล่าว คือแรงผลักสำคัญ ที่สร้างสำนึกร้อนรนให้แก่รัฐและทุน และส่งสัญญาณว่าพวกเขาจำเป็น “ที่จะต้องปรับตัวให้ก้าวหน้ามากขึ้น”

นัยนี้ การหลุดจากเสถียรภาพระยะสั้นคือก้าวแรกสู่การพัฒนาและการแสวงหาจุดดุลยภาพใหม่ที่ก้าวหน้ากว่าเดิมในระยะยาว

5# แค่อยากทำไม่เพียงพอ…แต่ต้องทำนโยบายอุตสาหกรรมให้เป็น[10]

ผู้อ่านทุกท่านครับ,

ผมเชื่อว่าสังคมไทยวันนี้มาถึงจุดที่เกิดแรงผลักรุนแรงพอจะให้เราหลุดจากดุลยภาพเดิมแล้ว

ณ ช่วงเวลานี้ การไม่ยอมเปลี่ยนแปลงจะมีต้นทุนสูงขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้แม้แต่คนที่กลัวความเสี่ยงที่สุด ก็ยังต้องยอมเสี่ยงเพื่อจะก้าวไปข้างหน้า จนเกิดเป็นเจตนารมณ์ที่แห่งการพัฒนาขึ้น

แต่ลำพัง ‘เจตนารมณ์ที่จะพัฒนา’ นั้นไม่เพียงพอครับ เราต้องการ ‘วิธีทำ’ ด้วย

นักเศรษฐศาสตร์พัฒนาเรียกนโยบายที่จะช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจว่า ‘นโยบายอุตสาหกรรม’ โดยมีหัวใจอยู่ที่การยกระดับเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมดั้งเดิม (upgrading) การพัฒนาสินค้าใหม่และขยายไปสู่กลุ่มเทคโนโลยีเข้มข้น (diversification) และทำให้การผลิตถักทอเชื่อมต่อมูลค่าให้ไหลเวียนลึกขึ้นไปสู่ชุมชนและทุนขนาดเล็ก (deepening)

วิธีทำนโยบายอุตสาหกรรมนั้นมีรายละเอียดค่อนข้างมาก แต่พื้นฐานที่สำคัญคือ

ข้อแรก ระบุ ‘เป้าหมายที่ชัดเจน’ ทั้งในระดับสินค้าและตำแหน่งในห่วงโซ่การผลิต

ในระดับสินค้า การตั้งเป้าหมายสินค้าที่ชัดเจนจะทำให้บริษัทรู้ว่าอะไรคือเทคโนโลยีที่จำเป็น เห็นใบหน้าของบริษัทที่จะต้องส่งเสริม และรู้ถึงทักษะแรงงานที่ต้องพัฒนาให้เกิดความชำนาญ

กลับกัน การตั้งเป้าหมายเพียงอุตสาหกรรมกว้างๆ หรือการประกาศว่าจะพัฒนาทุกอุตสาหกรรมในกระแส ก็ไม่ต่างอะไรกับการไม่มีเป้าหมายครับ และจะทำให้ทรัพยากรที่มีจำกัดถูกกระจายออกไปจนกระทั่งเบาบาง และไม่ได้ช่วยกระตุ้นให้เกิดประโยชน์มากนัก

อีกประการหนึ่งที่ต้องการเป้าหมายชัดเจนคือ ‘ตำแหน่งในห่วงโซ่มูลค่า’

การวิจัยและพัฒนาในระดับต้นน้ำ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตส่วนกลางน้ำ และการขายสินค้านวัตกรรมเข้มข้นที่ปลายน้ำไปถึงมือผู้บริโภคนั้น ล้วนต้องการนโยบายสนับสนุนแตกต่างกันมาก และการเลือกนโยบายที่เหมาะสมกับแต่ละกิจกรรมก็มีผลต่อความสำเร็จ

ตัวอย่างเช่น Sogo Shosha หรือ General Trading Company ที่ใช้ได้ดีในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ กลับไม่ประสบความสำเร็จนักในไต้หวัน เพราะไต้หวันเน้นค้าขายระหว่างภาคธุรกิจกลางน้ำ อีกตัวอย่างหนึ่งคือการทำ Tech consortium ช่วย SME เรียนรู้เทคโนโลยีใช้ได้ดีในไต้หวันมากกว่าเกาหลีใต้ เป็นต้น[11]

ข้อสอง มุมมองเปรียบเทียบกับ ‘คู่แข่งการค้าระหว่างประเทศ’ และไล่กวด (catch-up)

การพัฒนาอุตสาหกรรมนั้นจะสำเร็จหรือล้มเหลวไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวกลุ่มทุนของประเทศไทยเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นผลลัพธ์ของการพัฒนาของทุนไทย เทียบกับคู่แข่งอื่นๆ ในตลาดโลก

ตัวอย่างเช่น ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีต้นทุนการผลิตลดลงได้ปีละ 1% แต่หากประเทศคู่แข่งในสินค้าเป้าหมายเดียวกันลดต้นทุนได้ 2% ประเทศไทยก็ยังคงมีความเสียเปรียบด้านต้นทุนอยู่นั่นเอง และผู้ซื้อยังคงซื้อสินค้าของประเทศที่เก่งกว่าเรา

นอกจากนี้ การเปรียบเทียบนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมรายสาขาก็มีความสำคัญ เพราะจะทำให้เราเห็นถึงทรัพยากรที่ลงทุนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายจากทั้งฝั่งรัฐและเอกชน

เช่นในสมัยรัฐบาล Barack Obama มีการสนับสนุนเงินกู้เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ และพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าไปอย่างน้อย 750,000 ล้านบาท หากประเทศไทยจะพัฒนาสินค้าในกลุ่มเดียวกัน ต้องทบทวนว่าจะมีกลยุทธ์อย่างไรจึงจะแข่งขันกับเอกชนอเมริกันที่ได้รับการสนับสนุนมากระดับนี้ เป็นต้น

นัยนี้ การเปรียบเทียบกับคู่แข่งในตลาดโลก ทั้งขีดความสามารถของกลุ่มทุนและนโยบายภาครัฐจึงมีความสำคัญ

ข้อสาม มาตรการกระตุ้น ‘การเรียนรู้ของผู้ผลิต’

การที่รัฐเข้ามาสนับสนุนภาคเอกชนให้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่นั้นเป็นเรื่องดี เพราะจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการผลิตและสร้างความแตกต่างให้แก่สินค้า แต่รัฐจะทราบได้อย่างไรว่า เอกชนที่รัฐเข้าไปสนับสนุน ‘กำลังเรียนรู้’?

รัฐพัฒนาแบบเครือข่ายในเอเชียตะวันออกมักใช้มาตรการ ‘แทรกแซงแบบมีการแข่งขัน’ (contest-based interventions) ครับ โดยมีองค์ประกอบคือ

1. รัฐต้องมีเกณฑ์การวัดที่แน่นอนเพื่อประเมินผลของการเรียนรู้ภาคเอกชน เช่น ระดับการส่งออกสินค้าเป้าหมาย (กรณีปลายน้ำ) และการจดทะเบียนอนุสิทธิบัตร-สิทธิบัตรในเทคโนโลยีเป้าหมาย (กรณีต้นน้ำ)

2. สนับสนุนผู้เล่นในจำนวนที่มากเพียงพอ มาแข่งขันกันเพื่อรับการสนับสนุน และ

3. แบ่งช่วงเวลาการประเมิน และการคัดบริษัทที่มีผลงานแย่ที่สุดออกในแต่ละช่วง เพื่อทำให้เอกชนผู้รับการสนับสนุนแต่ละรายต้องแข่งขันที่จะพัฒนาตัวเองตลอดเวลา เป็นต้น

ข้อสี่ มี ‘กลไกที่จะกระจายดอกผลจากการพัฒนา’ ให้เกิดความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ

เมื่อรัฐใช้มาตรการและทรัพยากรสาธารณะเพื่อกระตุ้นให้ผู้ผลิตประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ การยกระดับเทคโนโลยี การขยายตลาด ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์แก่เอกชนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

ทว่า ประโยชน์ดังกล่าวจะกลายเป็นประโยชน์ของชาติ และยุติธรรมต่อการใช้ทรัพยากรสาธารณะ ก็ต่อเมื่อรัฐมีกลไกแบ่งปันความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นให้กระจายออกไปสู่สังคมในวงกว้างเท่านั้น

กลไกนี้มีได้หลากหลายมาก เช่น การทำนโยบายอุตสาหกรรมที่มุ่งเป้าทุนขนาดกลางและขนาดย่อม ก็เป็นมาตรการหนึ่งที่ช่วยกระจายผลลัพธ์แห่งการพัฒนาตั้งแต่ต้น

ช่องทางที่สองคือการส่งผ่านความมั่งคั่งไปสู่แรงงาน โดยการปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้สูงขึ้นในอัตราที่เหมาะสม ได้สัดส่วนกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ค่าจ้างแรงงานยังมีส่วนกระตุ้นให้เกิดการปรับโครงสร้างการผลิตไวมากขึ้น ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในช่วงต้น

และสุดท้ายคือนโยบายภาษีและส่วนแบ่งผลกำไรอื่นๆ[12] ที่เก็บจากภาคธุรกิจซึ่งได้รับการสนับสนุน และการนำภาษีที่ได้กลับมาพัฒนาสวัสดิการสังคมและโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น

6# เชื่อมต่อโลกอย่างมียุทธศาสตร์

ผู้อ่านทุกท่านครับ,

บทบาทของรัฐต่อการพัฒนานั้นไม่ใช่การบริหารจัดการภายในเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการวางยุทธศาสตร์เพื่อเชื่อมต่อประเทศไทยออกไปสู่โลกภายนอกด้วย

มีสามเรื่องที่เราต้องเชื่อมต่อเชิงกลยุทธ์คือ เชื่อมผู้มีความสามารถสูง (talents) เชื่อมห่วงโซ่มูลค่าโลก และยุทธศาสตร์ความร่วมมือระดับภูมิภาคอาเซียน

การเชื่อมต่อผู้มีความสามารถสูงในต่างประเทศ[13] มีความสำคัญเพราะการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด มาพร้อมกับการขาดแคลนกำลังคนและความเชี่ยวชาญเสมอ (หากไม่ขาด แปลว่ายังเปลี่ยนเร็วไม่มากพอครับ)

ตัวอย่างเช่น ไต้หวันในช่วงทศวรรษที่ 1980s ซึ่งปรับตัวเข้าอุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำก็ขาดแคลนวิศวกรและผู้ประกอบการที่เข้าใจอุตสาหกรรมอย่างมาก รัฐบาลจึงต้องเร่งรัดวางนโยบายดึงดูดกำลังคนจากภายนอกในเชิงรุก

สิ่งที่รัฐบาลทำคือเข้าไปสร้างสายสัมพันธ์กับสมาคมการค้าใน Silicon Valley สหรัฐอเมริกา และดึงกลุ่มวิศวกรชาวจีนกลับมาก่อตั้งบริษัท เช่น ดึงห้าเสือผู้ก่อตั้ง Microtek กลับมาไต้หวันจนเกิดเป็นอุตสาหกรรม Scanner และ ดึง Morris Chang กลับมาก่อตั้ง Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) จนเกิดเป็นอุตสาหกรรมผลิตชิป เป็นต้น

การเชื่อมต่อห่วงโซ่มูลค่าโลก[14] เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีความซับซ้อนและไม่ใช่เส้นทางตรงไปตรงมาครับ งานศึกษาของ Keun Lee ชี้ว่า รูปแบบการเชื่อมต่อห่วงโซ่มูลค่าที่เหมาะสมคือวัฏจักรแบบ ‘เพิ่ม-ลด-เพิ่ม’

หมายความว่า ในระยะแรก ประเทศที่กำลังพัฒนาไปสู่ระดับรายได้และเทคโนโลยีขั้นสูง ควรเริ่มจากการเชื่อมต่อตนเองไปในห่วงโซ่มูลค่าโลก โดยการผลิตให้แก่บรรษัทข้ามชาติ เพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีและเครือข่ายการผลิต

เมื่อถึงจุดหนึ่งบริษัทท้องถิ่นมีศักยภาพสูงเพียงพอแล้ว จะเริ่มค่อยๆ ลดการเชื่อมต่อบรรษัทข้ามชาติลง และหันมาลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีจากศักยภาพของบริษัทท้องถิ่นเอง ในระยะนี้ ระดับการเชื่อมต่อห่วงโซ่มูลค่าโลกจะลดลง

แต่เมื่อบริษัทท้องถิ่นสามารถพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองได้แล้ว ก็จะเริ่มค่อยๆ เพิ่มระดับการเชื่อมโยงเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าโลกอีกครั้ง เพียงแต่ในครั้งนี้ บริษัทท้องถิ่นของคนไทยเองจะกลายเป็นบรรษัทข้ามชาติ และกลายเป็นศูนย์กลางของมูลค่าที่สร้างขึ้น

นโยบายของรัฐจึงต้องปรับตัวตามพลวัตที่ซับซ้อนไม่เป็นเส้นตรงนี้ให้ทัน ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายและไม่ง่ายนัก การทำนโยบายเพื่อบริหารห่วงโซ่มูลค่าในระดับโลกจึงต้องการรัฐขีดความสามารถสูง หรือรัฐพัฒนาแบบเครือข่ายดังที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้นครับ

ประการสุดท้ายคือการเชื่อมต่อในภูมิภาคอาเซียน หรือผมเรียกว่า ‘ยุทธศาสตร์ห่านบินโต้ลม’

7# บินเป็นฝูงด้วยยุทธศาสตร์ห่านบินโต้ลม

ผู้อ่านทุกท่านครับ,

ยุทธศาสตร์ห่านบินโต้ลม มีข้อเสนอสี่ประการหลัก ได้แก่

ข้อแรก ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนควรร่วมมือกัน ‘ลึกซึ้ง’ กว่าแค่การลดกำแพงทางการค้าการลงทุน แต่ควรร่วมมือกันเพื่อจัดการเครือข่ายการผลิต และแบ่งชนิดสินค้าทางยุทธศาสตร์ (agreed specialization) ระหว่างกันอย่างเป็นระบบ

ข้อสอง ประเทศไทยควรพิจารณาว่า อุตสาหกรรมใดของไทยมีความสามารถทางการผลิตสูง มีเทคโนโลยีที่ดี แต่เริ่มสูญเสียความได้เปรียบด้านต้นทุน (โดยเฉพาะต้นทุนแรงงานและทรัพยากร) ภายในประเทศ

เมื่อพบแล้วจึงทำแผนการส่งเสริมทุนไทยในอุตสาหกรรมเหล่านั้น ย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศที่มีระดับเทคโนโลยีต่ำกว่าในภูมิภาค เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างงานให้แก่ประเทศพันธมิตร ขณะเดียวกันก็ดำรงความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมเหล่านั้นในระยะยาว

มูลค่าที่เกิดขึ้นจะยังนับเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจของ ‘สัญชาติไทย’ (วัดโดย gross national product – GNP) และขณะเดียวกันก็จะช่วยส่งเสริมถ่ายทอดอุตสาหกรรมดังกล่าวไปสร้างให้เกิดเป็นมูลค่าการผลิตสินค้าภายในประเทศ (วัดจาก gross domestic products – GDP) ของชาติอื่น ๆ ในภูมิภาคด้วย

ตามข้อเสนอนี้ ประเทศไทยจึงมีลักษณะเหมือน ‘ห่านหัวขบวน’ ที่นำห่านตัวอื่นๆ ในภูมิภาคให้พัฒนาอุตสาหกรรมซึ่งไทยมีความชำนาญตามมาเป็นลำดับ และหากมีประเทศอื่นๆ ดำเนินยุทธศาสตร์ทำนองเดียวกัน ก็จะทำให้เกิดขบวนห่านบินในอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย และเกิดการเชื่อมต่อช่วยเหลือกันในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น

ข้อสาม ภาคการผลิตภายในประเทศไทยเองต้องถูกท้าทายให้ปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจค่าจ้างสูง และเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น โดยการใช้นโยบายอุตสาหกรรมและกลยุทธ์การเชื่อมต่อห่วงโซ่มูลค่าโลก (ดังที่กล่าวไปแล้วด้านบน) อย่างเข้มข้น

ข้อสี่ ในกระบวนการทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ย่อมเกิดผู้ได้และเสียประโยชน์จากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และก่อให้เกิดความขัดแย้งทั้งภายในและระหว่างประเทศ การกดทับความขัดแย้งหรือ ไม่ใช่ทางออก ผู้ทำนโยบายต้องโอบรับความขัดแย้ง และหาทางประนีประนอมหรือชดเชยอย่างยุติธรรม เพื่อมุ่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสำเร็จเป็นสำคัญ

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คือการใช้เคล็ดวิชาทวนทิศ ย้อนรอยสิ่งที่ญี่ปุ่นทำกับภูมิภาคอุษาคเนย์ของเรา เพียงแต่เราไม่ใช่ ‘ห่านผู้บินตาม’ ญี่ปุ่นอีกต่อไป แต่อาเซียนจะแบ่งปันตลาด และก้าวขึ้นมาเป็นห่านหัวขบวนในแต่ละอุตสาหกรรมด้วยประเทศสมาชิกอาเซียนเอง

‘ยุทธศาสตร์ห่านบิน’ นี้ยังโต้แรงลมแห่งยุคสมัย ในความหมายว่าไทยและอาเซียนจะไม่ถูกพัดพาไปบนความขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจ ที่พยายามจะแทรกแซงเข้ามาในภูมิภาค

ตั้งหลักใหม่… เศรษฐกิจไทยต้องไม่เหมือนเดิม

ผู้อ่านทุกท่านครับ,

ไม่ใช่เรื่องยากที่จะพิสูจน์ว่า “ประเทศไทยเผชิญความท้าทายจากรอบด้าน และเราจำเป็นต้องเร่งปรับตัว” สิ่งที่ยากคือ เราจะหาทิศทางการพัฒนาที่เห็นพ้องกันได้อย่างไร?

ผมเชื่อสนิทใจว่า ฝ่ายต่างๆ มีสำนึกร้อนรนที่จะปรับตัวแล้ว แต่ที่ยังไม่ลงรอยกันคือ ‘พิมพ์เขียวของการพัฒนา’ ในระยะถัดไปต่างหาก

ชุดบทความ Dancing with Leviathan ในปี 2021 ที่ผ่านมา พยายามเสนอทิศทางหรือประเด็นสำคัญเอาไว้เป็นหลักยึด โดยมีรายละเอียดที่จะต้องทำต่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ในปี 2022 นี้คอลัมน์จะเน้นให้รายละเอียดที่ลึกขึ้นในระดับ ‘เครื่องมือ’ และเติมเต็มประเด็นที่ยังมีน้ำหนักไม่มากพอในปีที่ผ่านมา อาทิ การพัฒนาระดับพื้นที่ การพัฒนาอุตสาหกรรมเฉพาะด้าน หรือการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคม

หากเราตั้งหลักใหม่ให้แก่ประเทศไทยได้ ยังไม่สายเกินไปที่เศรษฐกิจไทยจะโบยบินอีกครั้งหนึ่งครับ

ขอส่งความสุข ความหวัง มาถึงผู้อ่านทุกท่านครับ


[1] https://www.the101.world/middle-tech-trap/

[2] https://www.youtube.com/watch?v=j8u55GA-1mo

[3] https://www.the101.world/one-crisis-multiple-ways/

[4] https://www.the101.world/the-celtic-tiger/ และ https://www.the101.world/us-indus-policy-21st-century/

[5] https://www.the101.world/leviathan-mammon-dancing/

[6] หน่วยงานที่มีอิทธิพลอย่างมากที่จะกำกับดูแลสายสัมพันธ์ตรงนี้ คือคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า, หน่วยงานกำกับดูแลรายสาขา, คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, สื่อสารมวลชนที่ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวน, การตรวจสอบกันเองระหว่างกลุ่มทุน และหน่วยงานภาคประชาสังคม

[7] https://www.the101.world/awaking-sleeping-partner/

[8] ความเคลื่อนไหวของแรงงานและภาคประชาสังคม ที่กดดันให้รัฐและทุนปรับตัวนี้ยังปรากฏในกรณีของไต้หวัน (ด้วยวิธีประนีประนอม และใช้กลไกทางการเมือง) และบราซิล (รูปแบบผสมผสานทั้งการประท้วงต่อต้าน และการประนีประนอมฝ่ายการเมือง) ในช่วง 1970-1980 เช่นกัน

[9] แรงกดดันจากภายนอก เช่นการก้าวขึ้นมามีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้นของจีน (ซึ่งมีเทคโนโลยีสูงกว่า) และเวียดนาม (ซึ่งมีค่าจ้างถูกกว่า) ทำให้ประเทศไทยต้องเร่งปรับตัวเช่นกัน

[10] https://www.the101.world/jumping-tiger/

[11] https://www.the101.world/three-jumping-tigers/

ไต้หวันในยุคไล่กวดเน้นสร้างเทคโนโลยีกลางน้ำ โดยเล่นบทบาทผู้ผลิตและออกแบบสินค้าให้แก่เจ้าของตราสินค้าปลายน้ำทั่วโลก (Original Design Manufacturer – ODM) ทำให้ธรรมชาติของบริษัททำธุรกิจแบบ B2B และมีต้นทุนด้านการตลาดน้อย เหมาะกับทุน SME ที่เน้นพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอย่างสม่ำเสมอ

กลับกัน เกาหลีใต้วางยุทธศาสตร์ที่จะสร้างตราสินค้าเกาหลีใต้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงส่วนปลายน้ำ ทำให้ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต และเพื่อสร้างเครือข่ายกระจายสินค้า-การตลาดในระดับโลกพร้อมกันตั้งแต่ระยะแรก บริษัทที่สอดรับกับรูปแบบการพัฒนาเช่นนี้คือทุนขนาดใหญ่-แชโบล

[12] เช่น รัฐสามารถรับส่วนแบ่งผลกำไรของภาคธุรกิจผ่านการเข้าไปถือหุ้นบางส่วนผ่านกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (แบบสิงคโปร์), ใช้รัฐวิสาหกิจดำเนินกิจการบางด้าน (แบบสิงคโปร์ ไต้หวัน และบราซิล) หรือ การปันส่วนกำไรจากทรัพย์สินทางปัญญาที่รัฐให้การสนับสนุน (ตามข้อเสนอของ Mariana Mazzucato) เป็นต้น

[13] https://www.the101.world/silicon-valley-monte-jade/

[14] https://www.the101.world/empire-invitation-gvc/

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save