fbpx
คำราชาศัพท์เรียก ‘รก’ ว่าอะไร?: ปัญหาคาใจใน สาส์นสมเด็จ

คำราชาศัพท์เรียก ‘รก’ ว่าอะไร?: ปัญหาคาใจใน สาส์นสมเด็จ

กษิดิศ อนันทนาธร เรื่อง

รัตนากร หัวเวียง ภาพประกอบ

 

หนังสือชุด สาส์นสมเด็จ เป็นลายพระหัตถ์โต้ตอบไปมาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ที่รวบรวมความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี การปกครอง ศิลปะ วัฒนธรรม ศาสนา อักษรศาสตร์ ฯลฯ ไว้อย่างกว้างขวาง

สิ่งที่น่าสนใจไม่ได้มีเพียงแต่ความรู้ที่ปรากฏในหนังสือนี้เท่านั้น  แต่ยังรวมถึงวิธีการแสวงหาความรู้ของเจ้านายในอดีต เพราะใช่ว่าเจ้านายยอดนักปราชญ์ 2 พระองค์นี้ จะเป็น ‘อับดุล’ ที่รู้ทุกเรื่อง ถามได้-ตอบได้  โดยบางเรื่องที่ท่านทั้งสองไม่ทราบคำตอบ ก็ใช้วิธีถามจากบุคคลอื่นซึ่งคิดว่าน่าจะทราบ

ปัญหาหนึ่งซึ่งต้องอาศัยการถามต่อหลายทอดทีเดียวถึงจะสามารถไขคำตอบ คือ คำราชาศัพท์ของ ‘รก’ นั้นเรียกว่าอะไร

บทความนี้จะพาท่านผู้อ่านไปค้นหาคำตอบว่า ใครคือบุคคลที่สามารถเฉลยคำถามสุดหินที่ดูเหมือนง่ายนี้ได้

 

สาส์นสมเด็จ 10 เล่มชุด ฉบับรวมพิมพ์จากอนุสรณ์ผู้วายชนม์เป็นครั้งแรก โดยสำนักพิมพ์ต้นฉบับ พ.ศ.2563

 

สมเด็จกรมพระยานริศฯ สงสัย

 

ในลายพระหัตถ์วันที่ 13 มีนาคม 2479 สมเด็จกรมพระยานริศฯ (เวลานั้น ทรงเป็น ‘กรมพระ’) ทรงถามไปยังสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ถึงเรื่องรกว่า “ฝ่าพระบาททรงทราบหรือไม่ รกเจ้านาย ซึ่งเขาใส่หม้อไว้ แล้วเอาไปฝังเมื่อเสร็จงานสมโภชเดือนนั้น ราชาศัพท์เรียกว่าอะไร จนด้วยเกล้า ไม่เคยได้ยิน คงไม่เรียกว่า รก เป็นแน่”

ข้างสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ซึ่งเวลานั้นประทับในปีนัง ก็ไม่ทรงทราบ ดังที่มีลายพระหัตถ์ตอบในวันที่ 18 เดือนเดียวกันนั้นว่า “หม่อมฉันยอมจำนน จะเป็นด้วยไม่เคยรู้หรือลืมได้ทั้ง ๒ สถาน นึกเท่าไหร่ก็นึกไม่ออก เห็นอย่างพระดำริห์ว่าคงไม่เรียกว่า ‘พระรก’ เป็นแน่  แต่มีทางที่จะสืบอยู่ ด้วยการพิธีสมโภชเดือนครั้งหลังทำเมื่อเจ้าฟ้าเพชรรัตนประสูติ ให้พระยาเทวาเข้าค้นบัตรหมาย หรือถามเจ้าพระยาธรรมา บางทีจะได้ความ”

 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ มหามกุฎพงศนฤบดินทร์ ปรมินทรานุชาธิเบนทร์ อัฐเมนทรราชอัยยกา สวามิภักดิ์สยามวิชิต สรรพศิลปสิทธิวิทยาธร สุรจิตรกรศุภโกศล ประพนธปรีชาชาญโบราณคดี สังคีตวาทิตวิธิวิจารณ์ มโหฬารสีตลัธยาศรัย พุทธาทิไตรรัตนสรณานุวัตน์ ขัตติยเดชานุภาพบพิตร (ภาพจาก: เพจสมเด็จครู)

 

ความพยายามของสมเด็จกรมพระยานริศฯ

 

ในลายพระหัตถ์โต้ตอบ ไม่ปรากฏว่า สมเด็จกรมพระยานริศฯ ทรงถามไปยังพระยาเทวาธิราชหรือไม่ อย่างไร  แต่ปรากฏภายหลังว่า “ได้ถามแล้ว” เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี “จำนน บอกไม่ทราบ” (ในลายพระหัตถ์ ฉบับวันที่ 24 เมษายน 2480 [เวลานั้นเปลี่ยนพุทธศักราชในวันที่ 1 เมษายน])

ที่สนุกคือ ในลายพระหัตถ์ลงวันที่ 3 เมษายน 2480  ทรงเล่าถึงเรื่องการแสวงหาคำตอบของพระองค์ ดังนี้

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2479 เสด็จไปเผาศพคุณหญิงนิ่ม ไกรเพชรรัตน ที่วัดประยุรวงศาวาส ได้พบคุณท้าวหลายคนในงานนั้น เมื่อเห็นท้าวภัณฑสารนุรักษ์ (เจ้าจอมเพิ่ม รัชกาลที่ 5) ผู้ช่วยราชการพระคลังข้างใน “ทำให้นึกขึ้นมาได้ถึงรกเจ้า หวังว่าลางทีท่าจะรู้ เพราะท่านเป็นผู้ใหญ่มาก จึงลองถามดู

คำตอบที่ได้คือ ‘สายพระอุทร’

สมเด็จกรมพระยานริศฯ ค้านว่าคำนี้หมายถึง ‘สายสะดือ’ ต่างหาก ท้าวภัณฑสารฯ “ก็ยอมรับว่าจริงแล้ว รกนั้นไม่ทราบ”

ที่นั้นเอง ท้าวทรงกันดาล (เจ้าจอม ม.ร.ว.แป้ม รัชกาลที่ 5) ซึ่งว่าการพระคลังฝ่ายในได้ยินเข้า จึงบอกว่าเรียก ‘พระรก’ ทำให้ยังไม่ได้ข้อยุติ

 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อิสสริยลาภบดินทร สยามวิชิตินทรวโรปการ มโหฬารรัฐประศาสน์ ปิยมหาราชนรานุศิษย์ ไพศาลราชกฤตยการี โบราณคดีปวัติศาสตรโกศล คัมภีรพนธ์นิรุกติปฏิภาน ราชบัณฑิตวิธานนิติธรรมสมรรถ ศึกษาภิวัธปิยวาที ขันติสัตยตรีสุจริตธาดา วิมลรัตนปัญญาอาชวาศรัย พุทธาทิไตรสรณาทร พิเศษคุณาภรณ์ธรรมิกนาถบพิตร ถ่ายเมื่อ ค.ศ. 1930 โดย Atelier Jacobi (ภาพจาก เพจ 77PPP)

 

กรมหมื่นพิทยลาภฯ ช่วยหาคำตอบ

 

นอกจากสมเด็จกรมพระยานริศฯ จะทรงถามด้วยพระองค์เองดังที่กล่าวมาแล้ว ยังปรากฏว่า ได้ให้พระองค์เจ้าธานีนิวัต (ต่อมาเป็น กรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิยากร) ถามท้าววรจันทร์ (เจ้าจอมมารดาวาด รัชกาลที่ 4) หัวหน้าท้าวนางทั้งปวง ซึ่งเป็นคุณย่าของเธอด้วย แต่ “ท้าววรจันทร์ก็ลา ไม่รู้

เมื่อคุณย่าของพระองค์ไม่ทราบ พระองค์เจ้าธานีนิวัตจึงช่วยสืบให้ต่อไป โดยถาม ท้าววรคณานันท์ (เจ้าจอม ม.ร.ว.ปั้ม รัชกาลที่ 5) ซึ่งมีหน้าที่บริหารพระราชกิจในวังหลวง แต่คำตอบที่ได้กลับเป็น ‘พระรก’ เช่นเคย

ดังปรากฏในลายพระหัตถ์ วันที่ 3 เมษายน 2480 เช่นเดียวกันว่า “มาเมื่อวานซืนนี้ หญิงอามเอาหนังสือหญิงสิบพันมาให้ดู มีความว่า พี่ธานีสั่งให้มาบอกว่ารกเจ้านั้น ท้าววรคณานันท์บอกว่าเรียก พระรก” ‘หญิงอาม’ คือ พระธิดา ม.จ.ดวงจิตร จิตรพงศ์  ส่วน ‘หญิงสิบพัน’ คือ ม.จ.สิบพันพารเสนอ โสณกุล พระธิดาในกรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา

 

พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (ภาพจาก ชุมนุมพระนิพนธ์ของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (2517))

 

ไม่ใช่ ‘พระรก’

 

ในลายพระหัตถ์ฉบับเดียวกันนั้น สมเด็จกรมพระยานริศฯ แสดงทัศนะว่า “คำ พระรก เห็นจะเรียกกันครั้งเจ้าฟ้าเพชรรัตนประสูติ ด้วยไม่รู้ว่าจะเรียกอะไรกันเสียแล้ว เห็นด้วยเกล้าว่าเท่ากับพระมือพระตีน เป็นคำที่ใช้ไม่ได้

 

พระสงฆ์องค์เจ้าก็ไม่ทราบ

 

ไม่เพียงแต่บุคคลในราชสำนักเท่านั้น สมเด็จกรมพระยานริศฯ ยังทรงถามไปยังสมเด็จพระราชาคณะถึง 3 ท่าน เกี่ยวกับคำภาษาบาลีที่ใช้เรียกรก เพื่อหาแนวทางของคำราชาศัพท์ พระภิกษุเหล่านั้น ได้แก่ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น สุจิตฺโต – ที่สุดเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์)  สมเด็จพระวันรัต (แพ ติสฺสเทโว – ที่สุดเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช)  และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร)

“หมดทั้งนั้นไม่มีองค์ใดทราบ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ท่านกล่าวว่า บาลีก็มีแต่ธรรมเท่านั้น”

เมื่อบาลีไม่พบ สมเด็จกรมพระยานริศฯ ก็ทรงหาไปในทางสันสกฤต “แต่ก็จนแต้ม

ต่อมาจึงหาในคำภาษาฝรั่ง ทรงบรรยายว่า “คำฝรั่งว่า Placenta เห็นเป็นคำลาติน … ให้คำสํสกฤตไว้ว่า ครรภปริเวษฎ์ ดูก็ไพเราะดี แต่เราจะเรียกกันอย่างนั้นหรือมิใช่ ก็หาทราบไม่”

 

ท้าววรจันทร์ (เจ้าจอมมารดาวาด รัชกาลที่ 4) ถ่ายเมื่ออายุ 80 ปี พ.ศ. 2463 (ภาพจาก ประวัติท้าววรจันทร และวิจารณเรื่องเค้ามูลนิทานอิเหนาของไทย (2484))

 

คำตอบสุดท้ายจากสมเด็จพระบรมราชเทวี

 

8 เมษายน 2480 กรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิยากรมารดน้ำสงกรานต์สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้กราบทูลว่า เมื่อ “สมเด็จพระพันวัสสาเด็จไปประทานน้ำสงกรานต์แก่คุณย่า” คือ ท้าววรจันทร์ กรมหมื่นพิทยาลาภฯ “กราบทูลว่า รกเจ้า เรียกอะไร ตรัสบอกว่าเรียก พระสกุล(ลายพระหัตถ์ วันที่ 10 เมษายน 2480) จึงเป็นอันได้คำตอบที่น่าพอใจสำหรับสมเด็จกรมพระยาพระองค์นั้น

สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเห็นด้วยกับ ‘พระสกุล’ ทันที ความว่า “ถูกเป็นแน่แล้ว คิดดูก็ดีหนักหนาที่ท่านทรงโวยวาย สืบสวนขึ้น และพระองค์ธานีถามถูกแหล่ง หาไม่คำนั้นคงสูญ นอกจากสมเด็จพระพันวัสสาเห็นจะไม่มีผู้อื่นรู้แล้ว” (ลายพระหัตถ์ ฉบับวันที่ 14 เมษายน 2480 จากบ้านซินนามอน ปีนัง)

โดยบุคคลซึ่งให้คำตอบได้ว่า ‘รก’ คือ ‘พระสกุล’ นั้น คือ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระอัยยิกาในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช นั่นเอง

ท้ายที่สุด เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เฝ้ารับเสด็จสมเด็จพระพันวัสสาฯ ที่ปีนัง ในเดือนเมษายน ศกนั้น สมเด็จกรมพระยาพระองค์นั้นได้เล่าถวายถึงเรื่องการหาคำที่เรียกราชาศัพท์ ‘รก’ ว่า ‘พระสกุล’ ดังที่ทรงบันทึกว่า  “ได้ทรงฟัง ทรงพระสรวล ตรัสว่าอะไรสืบสวนยากถึงเพียงนั้น  หม่อมฉันทูลว่าเห็นจะมีแต่พระองค์เดียวที่เป็นผู้รู้” (ลายพระหัตถ์ ฉบับวันที่ 29 เมษายน 2480)

 

ส่งท้าย

 

การรักษาคำเก่าอย่าง ‘พระสกุล’ นี้ ถ้าสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ไม่ทรงสงสัย “โวยวาย สืบสวนขึ้น”  ถ้าไม่มีเจ้านายผู้ใฝ่รู้อย่างกรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิยากร ซึ่งเพียรถามหาคำตอบจากผู้รู้ “ถามถูกแหล่ง”  และถ้าไร้ซึ่งสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ผู้ทรงพระปรีชาสามารถเช่นนี้แล้ว  บางทีในวัฒนธรรมของเราอาจไม่ปรากฏคำว่า ‘พระสกุล’ แล้วก็เป็นได้

 

บรรณานุกรม

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์, สาส์นสมเด็จ เล่ม 4 (นนทบุรี: ต้นฉบับ, 2563), น. 545, 551, 587, 597, 604, 619, 624.

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save