fbpx

แด่มัลคอล์ม เพื่อนผู้เป็นทั้งฝ่ายซ้ายและคนเวร

ในชีวิตของเราอาจมีบางคนที่เรารู้สึกไม่ถูกชะตาด้วย แต่ก็ไม่สามารถหาเหตุผลที่ชัดเจนมาตัดสินความรู้สึกนั้นได้ บางครั้งคนที่เรารู้สึกเหม็นขี้หน้าอาจเป็นคนไม่ที่เราไม่จำเป็นต้องเจอบ่อยๆ ในกรณีนี้เราอาจจะเลือกที่จะไม่ใส่ใจบุคคลผู้เป็นต้นตอของความหงุดหงิดอันหาสาเหตุอันสมควรไม่ได้นี้อย่างไม่ยากลำบากนัก อย่างไรก็ตาม หากบุคคลดังกล่าวบังเอิญเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเพื่อนที่คุณใช้ชีวิตทางสังคมส่วนใหญ่ด้วย การทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้อาจไม่ช่วยอะไรมากนัก ยิ่งไปกว่านั้น หากคุณเป็นคนที่เชื่อว่าตัวเองเป็นสิ่งมีชีวิตที่ค่อนข้างมีเหตุผลอย่างที่ผู้เขียนเชื่อ ความรำคาญใจอันไร้เหตุผลต่อบุคคลดังกล่าวนั้นจะยิ่งทวีคูณ เนื่องจากเขาหรือเธอนั้นเป็นความจริงอันทิ่มแทงใจว่าแท้จริงแล้วคนเราก็อาจจะไม่ถูกชะตากันโดยไม่ต้องมีเหตุผลใดๆ มารับรองเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นเวลาเห็นหน้ามัลคอล์มแล้ว นอกจากผู้เขียนจะรู้สึกไม่สบอารมณ์กับคนตรงหน้าแล้ว ยังรู้สึกไม่ชอบตัวเองที่ตั้งแง่กับเพื่อนคนดังกล่าวอย่างไม่ยุติธรรมอีกด้วย เรียกว่ายิ่งพากันหงุดหงิดเข้าไปใหญ่

มัลคอล์มเป็นบุคคลที่คุณไม่อาจหลีกเลี่ยงจากปริมณฑลการรับรู้ได้ เนื่องจากเขาสูงเกิน 180 เซนติเมตร มีผมและเคราสีจินเจอร์ ยิ่งไปกว่านั้น เกือบทุกตารางนิ้วบนร่างกายของเขายังปกคลุมไปด้วยรอยสักที่หน้าตาดูโฮมเมด เขามีวิธีพูดที่ทำให้คนที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรกฟังลำบาก ตอนแรกผู้เขียนคิดว่าคิดไปเองคนเดียว แต่ปรากฏว่าเพื่อนเม็กซิกันอีกสองคนก็คิดเหมือนกัน หลังจากเข้าวิชาสัมมนาครั้งแรกที่เน้นการถกเถียงกับเพื่อนร่วมชั้น เราเห็นตรงกันว่า “เขาพูดเบามากแถมเคราก็บังปากหมด จะอ่านปากช่วยเพื่อเดาว่าเขาพูดอะไรก็ไม่ได้” ตอนแรกพวกเราสันนิษฐานว่าเพราะเขาเป็นคนขี้อายจึงมีนิสัยพูดจางึมงำ แต่เมื่อรู้จักกันไปนานๆ ก็พบว่าที่มัลคอล์มพูดเบาขนาดนั้น น่าจะเป็นเพราะเขามั่นใจในความถูกต้องของความเห็นตัวเองเสมอจนไม่เห็นความจำเป็นในการพูดดังๆ ต่างหาก

ครั้งแรกที่เพื่อนๆ ในชั้นเรียนไปทานอาหารกลางวันด้วยกัน ผู้เขียนสังเกตเห็นรอยสักรูปตะหลิวอันเบ้อเริ่มบนแขนซ้ายของมัลคอล์ม “หมายถึงความมั่นคงทางอาหารน่ะ” เขาอธิบาย “ฉันกับเพื่อนเคยทำโปรเจ็กต์เอาของสดที่ใกล้หมดอายุจากร้านใหญ่ๆ ในลอนดอนไปทำอาหารแจกจ่ายคนไร้บ้าน” แน่นอนว่าไม่มีใครมองว่าโปรเจ็คของมัลคอล์มไม่มีประโยชน์ แต่การสักรูปตะหลิวขนาดครึ่งฟุตบนแขนซ้ายของเขาด้วยเหตุผลนั้นทำให้ผู้เขียนรู้สึกแปลกๆ นิดหน่อย ถ้าเป็นเพื่อนสนิทที่เป็นคนไทยคงโดนผู้เขียนแซวว่า “เยอะจังมึง” แต่ด้วยความที่ภาษาอังกฤษอาจจะไม่ได้มีคำใกล้เคียงให้เลือกใช้ (หลายคนอาจนึกถึงคำว่า extra แต่ผู้เขียนรู้สึกว่าควรเก็บไว้ใช้กับสไตล์การแต่งหน้าที่เน้นกลิตเตอร์มากกว่า) จึงได้แต่ยิ้มๆ

มัลคอล์มเล่าต่ออย่างกระตือรือร้นว่าเขาเป็นมังสวิรัติและคิดว่าอาหารและการเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่สำคัญมากๆ อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และการบริโภควัตถุดิบที่มาจากอีกซีกโลกเป็นอาหารหลักไม่ใช่วิถีการบริโภคที่ยั่งยืน ในไบรท์ตันมีร้านอาหารทางเลือกจำนวนมากที่ใส่ใจที่มาของวัตถุดิบและมีตัวเลือกมากมายให้ผู้ที่อยากลองลดปริมาณเนื้อสัตว์เลือกชิม หลายปีในไบรท์ตันทำให้ผู้เขียนรู้สึกจริงๆ ว่ากระแสการมองว่าวัตถุดิบนำเข้า (ซึ่งต้องขึ้นเครื่องบินข้ามน้ำข้ามทะเลมา) เหนือกว่าวัตถุดิบท้องถิ่นในไทยนั้นทำร้ายทั้งสิ่งแวดล้อมและโอกาสทางเศรษฐกิจของเกษตรกรไทยไปพร้อมๆ กัน นี่อาจจะเป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่ผู้เขียนเห็นตรงกับมัลคอล์ม

นอกเหนือจากเรื่องการเมืองเรื่องอาหาร มัลคอ์มยังจริงจังกับการสักอีกด้วยโดยให้เหตุผลว่าการสักเป็นการแสดงถึงความธรรมดาสามัญของผิวหนังและเนื้อตัวซึ่งไม่ควรไปผูกยึดกับความชาตินิยมใดๆ (“นายแค่บอกว่ามันเป็นงานอดิเรกก็ได้นะ” เพื่อนคนหนึ่งพูดขึ้นอย่างขำๆ) เขาหัวเราะก่อนจะบอกพวกเราอย่างกระตือรื้อร้นว่าเขายินดีที่จะสักให้ทุกคนที่สนใจโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทุกคนกล่าวขอบคุณแต่ยังไม่มีใครเสนอตัวไปเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกฝนฝีเข็มของมัลคอล์ม จนกระทั่งเข้าปีที่สามของการเรียนปริญญาเอก วันหนึ่งออเนอร์ เพื่อนอีกคนที่ประสบภัยความหดหู่จากการทำธีสิสไปดื่มที่บ้านมัลคอล์มและกลับมาพร้อมรอยสักรอยเบ้อเริ่มบนแขนซ้ายที่เขียนว่า Omnia Sunt Communia ด้วยฟอนต์โรมันโบราณ ประโยคดังกล่าวเป็นการอ้างอิงถึงกบฏชาวนาที่นำโดย Thomas Münzter ช่วงการปฏิรูปศาสนา

ผู้เขียนกับเพื่อนบางคนรู้สึกว่ารอยสักดังกล่าวอาจทำให้ออเนอร์มีปัญหาในการหางานและกลับบ้านเกิดที่อังคาร่า (ตอนนี้รัฐบาลตุรกีค่อนข้างขวาจัดและองคร์กรฝ่ายซ้ายต่างๆ ก็ถูกกวาดล้างอย่างหนัก) แต่มัลคอล์มบอกว่า “ไม่เอาน่า ผิวหนังมันก็แค่ผิวหนัง พวกแกอย่าซีเรียสไปหน่อยเลย” ซึ่งก็จริงแท้แน่นอน แต่ผู้เขียนก็อดขำไม่ได้อยู่ดีเพราะคนที่คิดว่าผิวหนังมันก็แค่อวัยวะๆ หนึ่งนั้น ดูจะทุ่มเทชั่วโมงแล้วชั่วโมงในชีวิตให้กับการสัก (มัลคอล์มทั้งรับจ้างสักและรับสอนสักด้วย)

มัลคอล์มอธิบายตัวเองกว่ามาจากครอบครัวชนชั้นกลาง แม่ของเขาเป็นนักเทศน์และพี่สาวทำอาชีพศัลยแพทย์ มัลคอล์มบอกว่าหลังพ่อกับแม่แยกทางกัน บ่อยครั้งเขาและพี่สาวต้องติดสอยห้อยตามแม่ไปตามโบสถ์ต่างๆ เขาจึงมีวัยเด็กที่ ‘ใกล้ชิดกับพระเจ้า’ เขาพูดพร้อมกลั้วหัวเราะในคอพร้อมกวาดสายตาไปรอบๆ โต๊ะเหมือนคาดหวังให้มีใครสักคนถามต่อว่าใกล้ชิดกับพระเจ้าในแบบไหนกัน แต่น่าเสียดายที่ดูเหมือนไม่มีใครรับมุกของเขาเลย

หลังจากเรียนจบปริญญาโท หลายคนในกลุ่มเพื่อนต้องเดินทางกลับประเทศของตัวเอง พวกที่เหลือซึ่งเลือกหาทุนเรียนปริญญาเอกนั้นเป็นส่วนน้อย ด้วยความที่ทั้งผู้เขียนและมัลคอล์มเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มดังกล่าว สถาการณ์จึงบังคับให้เราต้องคุยกันมากขึ้นโดยปริยาย มัลคอล์มได้ทุนเรียนต่อด้านสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลับวอร์ริกและวิจัยเกี่ยวกับการเรียนการสอนด้านปรัชญาให้ประชากรนักโทษในสหราชอาณาจักร “ปกตินักโทษไม่ค่อยคุยกับคนที่เขารู้สึกว่าไม่ใช่พวกเดียวกันหรอก แต่ฉันมีเพื่อนหลายกลุ่มในลอนดอนมากพอที่จะรู้จักวิธีการพูดหลายๆ แบบ อีกอย่าง รอยสักของฉันก็ยิ่งทำให้ฉันดูกลมกลืนไปกับพวกเขาด้วย” มัลคอล์มอธิบายต่อว่าเขาไม่มีความตั้งใจจะอยู่ในโลกวิชาการหลังเรียนจบปริญญาเอก “พวกเด็กปริญญาตรีไม่ได้ต้องการปรัชญามาเท่ากับนักโทษแน่ๆ”

แน่นอนว่าการเรียนปรัชญามีคุณูปการในการขยายพรมแดนของการรับรู้และทำให้เรากลับมาตั้งคำถามกับความรู้ความเข้าใจตลอดจนความเป็นตัวของตัวเอง แต่ผู้เขียนตั้งคำถามในใจว่าถ้าเราเป็นนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ (ซึ่งเป็นกลุ่มที่มัลคอล์มทำงานด้วย) เราจะอยากใช้เวลาแต่ละวันในคุกทำอะไรกันแน่ ผู้เขียนไม่เคยถามมัลคอล์มตรงๆ ซึ่งน่าเสียดายเพราะเขาเป็นคนประเภทที่มีคำตอบที่ชัดเจนให้กับทุกสิ่งที่ตัวเองทำเสมอ เราอาจจะได้ถกเถียงกันอย่างสนุกสนานก็ได้ แต่ผู้เขียนไม่เคยรู้สึกสนิทกับเพื่อนคนนี้มากพอที่จะถามคำถามที่ ‘ใกล้กับหัวใจ’ เช่นเหตุผลในการเลือกหัวข้อวิจัยปริญญาเอก

อย่างไรก็ตาม มีเรื่องที่มัลคอล์มแสดงอย่างชัดเจนว่าเขาไม่เคอะเขินที่จะแบ่งปันและถกเถียง ราวกับมันเป็นเรื่องสามัญราวกับรสนิยมในการเลือกกาแฟ เรื่องนั้นก็คือชีวิตทางเพศของเขา ในกลุ่มของพวกเรามีบางคนที่อยู่ในความสัมพันธ์แบบเปิด (open relationship) แต่มัลคอล์มบอกว่าความสัมพันธ์ของเขาและบรรดาคนรักนั้นเป็นแบบ polyamory ซึ่งต่างจากความสัมพันธ์แบบ open relationship ที่หมายถึงการที่คู่รักหนึ่งคู่สามารถไปมีอะไรกับคนอื่นนอกความสันพันธ์ได้แต่ไม่ได้เป็นความสันพันธ์แบบโรแมนติกเหมือนที่มีกับพาร์ทเนอร์ของตัวเอง ในขณะที่คนที่เป็น polyamorous นั้นมีความสัมพันธ์แบบโรแมนติกกับคนมากกว่าหนึ่งคนและทุกคนในเครือข่ายความสัมพันธ์นี้รับรู้สถานการณ์ (แน่นอนว่าทั้งสองแบบถ้าเราเป็น polyamorous หรืออยู่ใน open relationship โดยไม่บอกพาร์ทเนอร์นั้นก็ย่อมไม่ต่างอะไรกับการนอกใจ) หนึ่งในพาร์ทเนอร์ของมัลคอล์มมาร่วมวงกินข้าวและดื่มเบียร์กับพวกเราบ่อยๆ

“พวกเธอไม่เคยหึงกันบ้างเหรอ” มัลคอล์มบอกว่าแน่นอนมันเป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีการหึงหวงกันบ้าง แต่ตราบใดที่มีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ปัญหานี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร “ฉันไม่ได้มีปัญหาอะไรกับความสัมพันธ์แบบนี้เลย แต่ถ้าให้ต้องมาทำเองนี้ไม่น่าจะรอด” นีลผู้ขึ้นชื่อว่ามีตารางเวลาสำหรับทุกกิจกรรมของทุกๆ วันทำท่าขนลุก แน่นอนว่าการมีคนรักอย่างจริงจังมากกว่าหนึ่งคนย่อมหมายถึงการบริหารจัดการทรัพยากรและเวลาที่มากขึ้นเท่าตัว มัลคอล์มยักไหล่ “สำหรับพวกเรา สุดท้ายแล้วมันเป็นเหตุเป็นผลมากกว่าการหลับหูหลับตาบอกกว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเราสองคนจะไม่มีวันไปลองเดทคนอื่นๆ”

เขาอธิบายต่อไปว่าหน้าที่การงานและการศึกษาของเขาและพาร์ทเนอร์ทั้งคนนี้และคนที่อยู่อีกเมืองหนึ่งทำให้พวกเขาต้องเดินทางบ่อยและตัวมัลคอล์มเองก็วางแผนจะขอ fellowship ไปทำวิจัยที่บาเซโลนาเป็นเวลาหนึ่งปีอีกด้วย นอกจากนี้ ทั้งคู่ไม่มีใครรู้ว่าชีวิตในอีกหนึ่งหรือสองปีข้างหน้าจะพาพวกเขาไปไหน “โมเดลความสัมพันธ์แบบเดิมมันไม่เหมาะกับยุคทุนนิยมตอนปลายอีกต่อไปแล้ว เมื่อก่อนเราต้องรีบแต่งงาน หาเงิน ดาวน์บ้าน ตอนนี้ในอังกฤษถ้าไม่ได้เกิดมามีพ่อแม่ที่มีบ้านอยู่แล้วก็เป็นไปได้ยากมากที่ first jobber สองคนจะคิดเรื่องซื้อบ้านโดยเฉพาะในลอนดอน” รูปแบบความสัมพันธ์แบบปิดในมุมมองของมัลคอล์มเป็นเพียงสถาบันทางสังคมอันเป็นผลผลิตมาจากโครงสร้างเศรษฐกิจในอดีตที่กำลังจำเป็นจะต้องเปลี่ยนไปในอนาคต เพราะลักษณะงานที่มีความเปราะบาง (precarious) มากขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น สัญญาจ้างชั่วคราวกลายเป็นบรรทัดฐานและแนวโน้มการลดบำนาญของทุนนิยมโลกตอนปลาย

“บอกเหตุผลดีๆ มาข้อหนึ่งว่าทำไมเราสองคนควรทนเหงาและเสียเวลาทะเลาะกันเพราะอยู่กันคนละที่เพียงเพื่อจะมานั่งวิดีโอคอลกันแบบภาพกระตุกๆ เวลาที่ไม่ได้อยู่ด้วยกันด้วย มันไม่มีเหตุผลเลยสักนิด” ทุกคนพยักหน้าแบบเข้าใจ “ฉันรู้ว่าฉันไม่ใจกว้างพอจะทำแบบพวกแกแน่ๆ ถ้ามันเวิร์กก็ดีแล้ว บางทีฉันอาจจะหัวโบราณเรื่องนี้เกินไปน่ะ ฮ่าๆ” เพื่อนคนหนึ่งสรุปบทสนทนา

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนมัลคอล์มจะเป็นคนอธิบายเงื่อนไขและข้อดีต่างๆ ของการอยู่ในความสัมพันธ์แบบ polyamory เสียส่วนใหญ่ ขณะที่พาร์ทเนอร์ของเขาดูจะจดจ่ออยู่กับการคีบเส้นก๋วยเตี๋ยวจนผู้เขียนต้องแนะนำให้เธอเอาตะเกียบมาม้วนเส้นแทบที่จะลองคีบดู บางทีเธออาจอึดอัดที่มัลคอล์มเอาเรื่องส่วนตัวมาพูดกลางโต๊ะอาหาร หรือเธออาจจะชอบก๋วยเตี๋ยวมากจริงๆ ก็เป็นได้ ปรากฏว่าผู้เขียนไม่ใช่คนเดียวที่รู้สึกถึงอณูแปลกๆ ในอากาศบนโต๊ะอาหาร เพราะทันทีที่ออกจากร้านเพื่อนคนหนึ่งก็เดินมาชวนคุยว่า “มัลคอล์มมันทำตัวเวรนิดๆ นะวันนี้ (was a bit of a wanker today)”

หลังจากวันนั้น มัลคอล์มเหมือนจะเข้าใจว่าพวกเราสนใจชีวิตทางเพศของเขา (แน่นอนว่าไม่รวมผู้เขียน) วันศุกร์วันหนึ่ง พวกเรานัดเจอกันที่บ้านเพื่อนเพื่อทานอาหารเย็นและดื่มคุยกันตามปกติ ทุกคนเมาในระดับที่ต่างกัน แต่มัลคอล์มดูจะนำหน้าคนอื่นไปไกล เขาโพล่งขึ้นว่า “รู้มั้ยทำไมฉันถึงบอกว่าวัยเด็กฉันใกล้ชิดกับพระเจ้า” ไม่มีใครตอบ แต่เขาเมาเกินกว่าจะสนใจ “แม่ฉันเป็นนักเทศน์และทำให้ฉันเอือมการไปโบสถ์มากๆ ฉันเลยต้องหากิจกรรมมาเอ็นเตอร์เทนตัวเอง” เขาพูดพร้อมยกมือทั้งสองข้างขึ้นมา ทำหน้าภูมิใจ “ชั้นลอยหลังรูปปั้นพระเยซูนี้เวิร์กมากๆ”

ทุกคนทำหน้าสะอิดสะเอียน “มัลคอล์ม แกมันเวรตามตัวอักษรจริงๆ (you are literally a wanker)” ผู้เขียนพยายามเบรกเพราะเขาทำท่าจะเล่าต่ออีกยาว “ไม่อยากเล่าต่อก็ไม่เป็นไรนะ แกไปซื้อเบียร์เพิ่มไหม เบียร์จะหมดแล้ว” แต่มัลคอล์มดูเหมือนจะภูมิอกภูมิใจกับความท้าทายการมีอยู่ของพระเจ้าของตัวเองมากเกินกว่าจะหยุดเล่าเพียงเพราะมีคนไม่อยากฟัง

วันรุ่งขึ้นหลังจากมัลคอล์มกลับไป เพื่อนอีกคนก็เข้ามาขอบคุณที่ผู้เขียนพยายามจะให้บอกให้มัลคอล์มหยุดเล่าประสบการณ์ ‘ใกล้ชิดพระเจ้า’ นีลหัวเราะร่วนและบอกว่า “ถ้าจะให้พลอยแสดงออกชัดกว่าเมือคืนว่าไม่อยากฟังแล้ว คงต้องให้พลอยยืนบนโต๊ะพร้อมชูป้ายไฟเขียนว่า ‘มัลคอล์ม มึงโปรดหุบปาก’” อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนรู้สึกดีใจยิ่งกว่าอะไรเพราะในที่สุดก็พบความสงบในชีวิตเนื่องจากพบว่าตัวเองดูคนไม่ผิดมาตั้งแต่ต้น

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save