fbpx

ยุทธศาสตร์ป้องกันความเสี่ยงด้านความมั่นคง: จะไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดหรือฝักใฝ่ไปเสียทุกฝ่ายดี?

กระแสต่อต้านสหรัฐฯ และค่านิยมตะวันตกที่ถูกสร้างขึ้นแทบจะในทันทีทันใดที่เมื่อพรรคฝ่ายค้านเดิมได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งของไทยเมื่อ 14 พฤษภาคม 2566 สะท้อนให้เห็นสภาวะของความรู้สึกที่ไม่มั่นคง (insecure) ของกลุ่มอำนาจเดิมที่อ้างว่าพวกเขาต้องพบกับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งเพราะรัฐบาลในกรุงวอชิงตันดำเนินนโยบายแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย สนับสนุนฝ่ายค้านให้ได้รับชัยชนะเพื่อปูทางไปสู่การตั้งฐานทัพในประเทศไทยต้านทานอำนาจและอิทธิพลของจีนที่นับวันมีแต่จะขยายตัวมากขึ้นในภูมิภาคและในโลก บางรายมโนไปไกลสุดขอบฟ้าระดับที่ว่าสหรัฐฯ สมคบคิดกับพรรคฝ่ายค้านในอันที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยให้เป็นระบอบสาธารณรัฐและเปลี่ยนแปลงคุณค่าทางสังคมของไทยให้เป็นแบบตะวันตกทั้งหมด

กระแสดังกล่าวดูเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาเมื่อพรรคก้าวไกลที่ได้ที่นั่งมากที่สุดจากการเลือกตั้งประกาศว่าจะต้องมีการทบทวนนโยบายต่างประเทศเสียใหม่ เพื่อชุบชีวิตใหม่ให้สถานะของไทยในชุมชนนานาชาติให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งด้วยการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานทางความคิดในการกำหนดนโยบายเสียใหม่และจะต้อง ‘ปรับดุลยภาพใหม่’ (rebalance) ของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมหาอำนาจของโลก กล่าวอีกนัยหนึ่งคือรัฐบาลใหม่จะต้องสร้างสมดุลทางอำนาจระหว่างสหรัฐฯ และจีนเป็นสำคัญ เนื่องจากรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นับแต่การรัฐประหารในปี 2557 เป็นต้นมามีความโน้มเอียงเข้าหาจีนอย่างมากทั้งในทางการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจ

การสร้างสมดุลทางอำนาจเพื่อประโยชน์ของความมั่นคงนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2566-2570) ที่จัดทำโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติระบุเอาไว้อย่างชัดเจนแล้วในนโยบายและแผนความมั่นคงที่ 12 ซึ่งกำหนดเป้าหมายว่า ‘ประเทศไทยสามารถรักษาความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจและประเทศที่มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ต่อความมั่นคงของไทยอย่างมีดุลยภาพ’ โดยมีตัวชี้วัดสำคัญคือประเทศไทยจะต้องมีปฏิสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอกับสี่กลุ่มประเทศเหล่านี้อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ได้แก่กลุ่มที่หนึ่ง ประเทศเพื่อนบ้าน กลุ่มที่สอง สหรัฐฯ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย กลุ่มที่สาม จีนและรัสเซีย กลุ่มที่สี่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย แอฟริกาใต้ บราซิล ตุรกี ซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน และอิสราเอล” [1]

ในนโยบายและแผนการทางด้านความมั่นคงดังกล่าวนั้นได้กำหนดกลยุทธในการรักษาดุลยภาพระหว่างประเทศที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์เอาไว้แล้วว่าจะต้องมีการ ‘ทบทวน’ และ ‘กำหนดแนวทางท่าที’ ของไทยต่อประเทศมหาอำนาจหรือกลุ่มประเทศที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์และประเทศที่มีบทบาทด้านการเมือง ความมั่นคง การทหารและเศรษฐกิจที่สำคัญในภูมิภาค เพื่อปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติของไทยและรักษาดุลยภาพความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงระหว่างประเทศได้อย่างเหมาะสม

ปัญหาคือรัฐบาลประยุทธ์ไม่ได้กระตือรือร้นดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายตามแผนที่สภาความมั่นคงแห่งชาติซึ่งนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธานด้วยตัวเองแต่อย่างใด แนวทางด้านการต่างประเทศแบบตั้งรับ (defensive mode) อย่างเฉื่อยเนือยนั้นทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในสภาวะที่โดนมหาอำนาจทุกฝ่ายฉุดกระชากลากดึงไปในทิศทางที่จะเอื้ออำนวยผลประโยชน์ของพวกเขามากกว่า

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งต้องการจะเน้นย้ำในที่นี้คือ คำว่าการสร้างดุลยภาพในด้านความมั่นคงโดยตัวของมันเองก็มีปัญหาอยู่ไม่น้อยว่าหมายถึงอะไรและเป็นดุลยภาพระหว่างอะไรกับอะไร ในเมื่อประเทศมหาอำนาจและประเทศที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์กับไทยต่างก็มีพลวัตและเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง และคงเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดกันอย่างมหันต์ถ้าหากจะพูดแค่เพียงว่า การสร้างสมดุลคือตีตัวออกห่างจากจีนและเข้าหาสหรัฐฯ ให้มากขึ้นหรือในทางกลับกัน  

ในที่นี้ต้องการนำเสนอแนวทางที่แม้ว่าจะไม่ใหม่มากแต่ไม่ค่อยคุ้นเคยกันมากนักในวงการด้านความมั่นคงของไทยคือแนวคิดที่ว่าด้วยยุทธศาสตร์การป้องกันความเสี่ยง (hedging strategy) เพื่อกำหนดแนวนโยบายต่างประเทศ อันเป็นแนวคิดที่พัฒนามาจากยุทธศาสตร์ป้องกันความเสี่ยงในการลงทุนทางการเงินในกรณีที่ตลาดผันผวน ซึ่งมีหลักการสำคัญคือจะต้องมีการวินิจฉัยความเสี่ยง กำหนดเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยง กำหนดจุดยืนในการป้องกันความเสี่ยงนั้นๆ ติดตามและปรับตัวตามสถานการณ์ และสุดท้ายประเมินต้นทุน-กำไรของยุทธศาสตร์นั้น

ยุทธศาสตร์ความมั่นคงระหว่างประเทศก็ในทำนองเดียวกัน แต่ในที่นี้จะทดลองประยุกต์แนวคิดนี้ตามแบบของ Alfred Gerstl[2] เพื่อวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ป้องกันความเสี่ยงของไทยในกรณีความสัมพันธ์กับจีน โดยเริ่มต้นจากการมองว่าความเสี่ยงของไทยในปัจจุบันเกิดจากความขัดแย้งแข่งขันในเชิงภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐกิจระหว่างมหาอำนาจหลายฝ่ายและสภาพแวดล้อมในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีความผันผวนอย่างมาก ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนเมื่อปีที่แล้วเตือนให้รู้ว่าสงครามอาจจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ แต่จบยาก วิกฤตการณ์ในพม่าไม่ได้แค่เปลี่ยนประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดของไทยให้กลายเป็นสมรภูมิของกลุ่มต่างๆ ภายในพม่าและภูมิภาคนี้เท่านั้น หากแต่ยังได้เชื้อเชิญมหาอำนาจหลายฝ่ายซึ่งมีจีนและสหรัฐฯ เป็นหัวขบวนเข้ามามีบทบาทมากขึ้นด้วย และนั่นส่งผลกระทบในหลายมิติต่อความมั่นคงของไทย

วิเคราะห์ความเสี่ยงทางด้านความมั่นคง

สถานการณ์ที่ปรากฏชัดในปัจจุบันคือการแผ่ขยายอำนาจและอิทธิพลของจีนในทุกด้านทั้งการเมือง ความมั่นคง (ทั้งในแบบและนอกแบบ) การทหารและเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำให้ประเทศไทยต้องตกอยู่ในความเสี่ยง อย่างไรก็ตามโอกาสที่จีนจะใช้กำลังทหารบุกยึดประเทศไทยโดยตรงนั้นคงจะมีน้อยหรือแทบเป็นไปไม่ได้เลยก็ว่าได้ แต่ความเสี่ยงทางด้านความมั่นคงอันเกิดจากภัยคุกคามนอกแบบ เช่น ทุนจีนสีเทา อาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ ยาเสพติด ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการสร้างเขื่อนในลำน้ำโขงทั้งที่อยู่ในเขตอำนาจอธิปไตยของจีนและส่วนที่อยู่ภายใต้การลงทุนของบริษัทหรือรัฐวิสาหกิจจีนในไทยและประเทศเพื่อนบ้านของไทยนั้นมีอยู่แน่นอน

นอกจากนี้จีนยังได้ขยายกำลังทางทหารและการปฏิบัติการทางทหาร รวมตลอดถึงกิจกรรมทางทหารกับประเทศเพื่อนบ้านของไทยในภูมิภาค เช่น การยึดครองพื้นที่หมู่เกาะต่างๆ ในทะเลจีนใต้ การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่บริเวณนั้นซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ในทางทหารได้ การสร้างฐานทัพเรือเรียมบริเวณชายฝั่งภาคใต้ของกัมพูชาซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งของไทยไปเพียง 200 กิโลเมตร การขายยุทโธปกรณ์และให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทยคือพม่าซึ่งกำลังมีความขัดแย้งภายใต้กับฝ่ายค้านและกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์

ความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งที่จะต้องนำมาวิเคราะห์ในที่นี้คือ ภาวะพึ่งพิง (ถึงแม้ไม่อาจจะเรียกได้ว่าครอบงำ) ทางเศรษฐกิจ เพราะสิ่งที่เป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยคือการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว นั้นผูกพันอยู่กับจีน เริ่มจากการค้าซึ่งจีนกลายเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยแทนญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 2556 โดยมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศเพิ่มขึ้นจาก 1.97 ล้านล้านบาทในปีนั้นมาอยู่ที่ 3.6 ล้านล้านบาทในปีที่แล้วและจีนเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า สินค้าเกษตรของไทยหลายรายการเช่นยางพาราและผลไม้อย่างทุเรียนที่พึ่งพิงตลาดจีนเพียงแห่งเดียวเป็นสำคัญ ทำให้จีนอยู่ในสถานะที่จะกำหนดราคาได้โดยที่ไทยไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ

ในทำนองเดียวกันปัจจุบัน จีนลงทุนมากเป็นอันดับหนึ่งในประเทศไทย ข้อมูลจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนระบุว่าปีที่แล้วมีนักลงทุนจากจีนขอรับการการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 158 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 77,381 ล้านบาท หรือคิดเป็น 18 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด การลงทุนโดยตรงนั้นเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจแน่นอน แต่ความเสี่ยงและความท้าทายก็มีอยู่ไม่น้อย คือนักลงทุนและผู้ประกอบการของไทยเองจะต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันกับจีนมากขึ้น ในบางภาคส่วนเช่นอสังหาริมทรัพย์นั้น การลงทุนของจีนฉุดให้ราคาพุ่งขึ้นสูงจนอาจเกินกำลังของผู้บริโภคในประเทศ และนอกจากนี้เศรษฐกิจไทยจะต้องพึ่งพิงเงินทุนและเทคโนโลยีจากจีนมากขึ้น เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง แม้ว่าไทยจะใช้เงินทุนของตัวเองแต่เทคโนโลยีของระบบรถไฟ การก่อสร้าง และการปฏิบัติการเดินรถเป็นของจีน

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยเป็นอีกหนึ่งภาคส่วนที่พึ่งพิงจีนอย่างมาก ก่อนวิกฤตการณ์โรคระบาดใหญ่โควิด จำนวนนักท่องเที่ยวของจีนมีจำนวนมากถึง 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งหมดที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทยในแต่ละปี สภาพเช่นนี้ทำให้ไทยตกอยู่ในความเสี่ยงได้ง่ายเมื่อทางการจีนประกาศล็อกดาวน์ ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวของไทยหดหายไปอย่างมีนัยสำคัญ

ปัจจัยของความเสี่ยงอันสำคัญอย่างหนึ่งที่จะต้องนำมาพิจารณาด้วยคือ การเมืองภายในโดยมุ่งเพ่งเล็งว่าอำนาจและอิทธิพลของจีนนั้นส่งผลต่ออำนาจการตัดสินใจในการดำเนินโยบายของไทยมากน้อยเพียงใด ในอดีตที่ผ่านมาอาจกล่าวได้ว่าจีนมีอิทธิพลต่ออำนาจในการตัดสินใจของรัฐบาลประยุทธ์ไม่น้อย เฉพาะอย่างยิ่งในการแสดงท่าทีต่างๆ ในเวทีระหว่างประเทศ ประจักษ์พยานที่ชัดเจนที่สุดคือกรณีการตัดสินใจส่งผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ประมาณ 109 คนกลับไปเผชิญชะตากรรมและการลงโทษในจีน[3] โดยไม่ฟังเสียงทัดทานจากฝ่ายต่างๆ ทั้งภายในและนอกประเทศเลย การเลือกใช้วัคซีนซิโนแวคเพื่อป้องกันโควิดในระยะแรกๆ สะท้อนอำนาจการตัดสินใจของรัฐบาลประยุทธ์ที่ผูกพันกับจีน  

อิทธิพลของจีนไม่ได้มีอยู่เหนือภาครัฐเท่านั้น หากแต่มีการสร้างความรู้สึกที่นิยมจีนให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนและสื่อมวลชนไทยด้วย รัฐบาล พรรคคอมมิวนิสต์ และสื่อของจีนทำงานอย่างหนักเพื่อส่งเสริมคุณค่าของจีนและแนวคิดตะวันออกในหมู่ปัญญาชนและสื่อสารมวลชนของไทยอย่างช้าๆ มาหลายปีก่อนหน้าการยึดอำนาจของประยุทธ์ เฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่จีนเริ่มโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางและกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านซ้าง โครงการต่างๆ เริ่มหลั่งไหลเข้ามาสู่ภาคส่วนต่างๆ ของไทยทั้งภาครัฐและเอกชน รวมตลอดถึงวงการศึกษาและเยาวชน คณะนักการเมือง นักธุรกิจ สื่อมวลชน นักการศึกษา เดินทางไปเยือนจีนเพื่อทัศนศึกษา ภายใต้โครงการต่างๆ ไม่เว้นแต่ละเดือน จีนไม่เคยปิดบังความประสงค์ที่จะสร้างอิทธิพลทางแนวคิด อุดมการณ์และวัฒนธรรมในประเทศไทย การตั้งสถาบันขงจื่อ ทุนการศึกษาแก่นักเรียนและนักวิชาการไทยเพื่อไปศึกษาในประเทศจีน เป็นประจักษ์พยานอันสำคัญของความพยายามในการสร้างอิทธิพลเหนืออำนาจการตัดสินใจของไทย[4]

ในศาสตร์ทางการเงินนั้น เมื่อมีความเสี่ยงก็มีโอกาสได้ผลประโยชน์เท่ากัน ความเสี่ยงจากจีนก็สร้างโอกาสให้ไทยด้วยเช่นกัน การแผ่ขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารก็เป็นโอกาสให้ไทยมีโอกาสมีทางเลือกในการพัฒนาหรือแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกัน เช่น การฝึกซ้อมร่วมภายใต้รหัส Falcon Strike ก็เป็นการเปิดโอกาสให้กองทัพอากาศของไทยได้เรียนรู้หลักนิยม ยุทธวิธี และเทคโนโลยีในการป้องกันประเทศของจีนได้เช่นกัน

การซื้อยุทโธปกรณ์ของจีนก็อาจมีประโยชน์ในแง่ที่ทำให้กองทัพไทยมีอาวุธไว้ประจำการได้ในราคาที่เข้าถึงได้และเหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจของไทย โครงการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ย่อมมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอนและประโยชน์ในทางเศรษฐกิจเหล่านี้สามารถคำนวณได้ในเชิงปริมาณซึ่งนำมาใช้กำหนดหรือเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและท่าทีกับจีนได้ แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือมีการให้น้ำหนักกับผลประโยชน์แต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้นำเอาความเสี่ยงเข้ามาเป็นปัจจัยในการพิจารณาด้วยเลย

ทางเลือก: มหาอำนาจอื่นและองค์กรระหว่างประเทศ

แนวคิดในการป้องกันความเสี่ยงทางด้านความมั่นคงนั้นได้นำเสนอมหาอำนาจอื่นๆ และองค์กรระหว่างประเทศขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือก นโยบายและแผนความมั่นคงแห่งชาติฉบับปัจจุบันได้จัดกลุ่มแต่ไม่ได้จัดลำดับความสำคัญพลังอำนาจและประเทศต่างๆ แต่ในที่นี้ต้องการให้พิจารณาว่าในบรรดาประเทศทั้งสี่กลุ่มนั้นมีบุคลิกลักษณะแตกต่างกัน อำนาจและขีดความสามารถทางการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ ไม่เหมือนและไม่เท่ากัน ในการใช้ประเทศเหล่านี้มาเป็นตัวเลือกในการป้องกันความเสี่ยงทางด้านความมั่นคงนั้นจะต้องพิจารณาจุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละประเทศแตกต่างกันออกไป

สหรัฐฯ นั้นมีความเข้มแข็งทางการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจ อันดับหนึ่งของโลก และประเทศไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐฯ มายาวนาน ไทยเป็นหนึ่งในพันธมิตรทางทหาร (Treaty ally) ของสหรัฐฯ ในเอเชียเหมือนญี่ปุ่น เกาหลีใต้และฟิลิปปินส์ และไทยยังมีฐานะเป็นพันธมิตรหลักนอกนาโต้ (major non-NATO ally) สหรัฐฯ เน้นย้ำเสมอว่าทั้งสองประเทศมีคุณค่าทางการเมืองและอุดมการณ์แบบประชาธิปไตยเหมือนกัน แม้ว่าหลายรัฐบาลที่ผ่านมาของไทยจะปฏิเสธค่านิยมประชาธิปไตยแบบอเมริกันก็ตาม

อังกฤษ สหภาพยุโรป และออสเตรเลีย ควรได้รับการพิจารณาให้อยู่กลุ่มที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ เพราะเป็นพันธมิตรกันทั้งในทางการเมือง การทูต และการทหาร และดำเนินนโยบายในแนวทางเดียวกับสหรัฐฯ ที่เน้นค่านิยมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

ญี่ปุ่น มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยมานานเช่นกัน แต่ความสัมพันธ์ที่โดดเด่นที่สุดคือความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจทั้งในแบบทวิภาคีและพหุภาคี ญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและห่วงโซ่อุปทานมาหลายทศวรรษก่อนที่จะโดนจีนแซงหน้าไปเมื่อไม่นานมานี่เอง แต่เงินทุนและเทคโนโลยีของญี่ปุ่นไม่ใช่สิ่งที่สมควรจะมองข้าม ที่สำคัญญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมากและเป็นเวลายาวนาน เป็นผู้ริเริ่มโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง อีกทั้งมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดของไทยไม่ว่าจะเป็นพม่าหรือเวียดนาม

เกาหลีใต้นั้นมีบุคลิกคล้ายกับญี่ปุ่นแต่ก็แข่งขันกันอยู่ในที เกาหลีใต้มีความโดดเด่นทางด้านซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากในประเทศไทยปัจจุบัน ในทางยุทธศาสตร์ความมั่นคงนั้น เกาหลีใต้คล้ายกับญี่ปุ่นตรงที่เป็นพันธมิตรหลักของสหรัฐฯ นั่นหมายถึงการพึ่งพิงความคุ้มครองทางทหารจากสหรัฐฯ

อินเดีย มีความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมกับไทยมานาน แต่ไม่ได้รับความสนใจจากไทยมากนัก ข้อเท็จจริงบางประการเกี่ยวกับอินเดียที่ควรจะพิจารณาคือ การเป็นมหาอำนาจระดับภูมิภาคที่กำลังเติบโตและมีอิสระในการดำเนินนโยบายและการกำหนดยุทธศาสตร์ความมั่นคงอย่างมาก ในขณะที่ก็เป็นพันธมิตรในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ ร่วมกับออสเตรเลียและญี่ปุ่น อีกทั้งยังดำเนินนโยบายทางด้านความมั่นคงและการต่างประเทศแข่งขันและคานกับจีน เฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณเอเชียใต้และพม่า

รัสเซียนั้นแม้ว่าจะเคยยิ่งใหญ่ในอดีต แต่ผลประโยชน์และความสนใจของรัสเซียในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีไม่มากนักหากจะเปรียบเทียบกับในยุโรปซึ่งเคยผูกพันกันทั้งในประวัติศาสตร์และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ ในปัจจุบันแม้ว่ารัสเซียจะเปลี่ยนอุดมการณ์ทางการเมืองไปต่างจากจีนและเพื่อนบ้านในกลุ่มอินโดจีนของไทย แต่ยังมีความสัมพันธ์และความร่วมมือทางด้านการทหารและความมั่นคงกันอยู่ รัสเซียเป็นแหล่งใหญ่ที่ขายยุทโธปกรณ์ให้กับเวียดนามและพม่า ซึ่งทำให้รัสเซียเป็นคู่แข่งสำคัญของจีนในตลาดอาวุธในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่สำคัญที่สุดคือกลุ่มอาเซียน องค์กรระดับภูมิภาคซึ่งไทยเป็นสมาชิกรุ่นก่อตั้งและเป็นแกนกลางของนโยบายต่างประเทศไทยมาช้านาน อาจจะกล่าวได้ว่านโยบายการสร้างสมดุลของเวทีการเมืองระหว่างประเทศนั้นเป็นดีเอ็นเอของอาเซียนและได้ถ่ายทอดสู่สมาชิก อาเซียนเป็นเสมือนเวทีในการแก้ปัญหา (clearing house) ทั้งระหว่างสมาชิกและกับโลกภายนอก จีนและมหาอำนาจอีกหลายประเทศในโลกนี้เป็นประเทศคู่เจรจาของอาเซียน มีความตกลงนานาชนิดรวมอยู่ในนั้นทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ถ้าหากองค์กรระหว่างประเทศเป็นทางเลือกสำหรับการดำเนินนโยบายเพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยง อาเซียนจะต้องเป็นที่แรกที่รัฐบาลไทยต้องนึกถึง

นอกจากนี้องค์กรระดับอนุภูมิภาค เช่น คณะกรรมการแม่น้ำโขงและกรอบความร่วมมือพหุภาคีต่างๆ ที่มีอยู่กับประเทศมหาอำนาจทุกฝ่าย ตั้งแต่ความร่วมมือแม่โขง-ล้านซ้างกับจีน US-Mekong Partnership กับสหรัฐฯ Japan-Mekong Cooperation กับญี่ปุ่น Korea-Mekong Cooperation กับเกาหลีใต้ และ Mekong-Ganga Cooperation กับอินเดีย ก็มีให้เลือกใช้ตามความจำเป็นและความต้องการในหลายประเด็นที่หลากหลาย

แนวทางในการป้องกันความเสี่ยง

ความจริงแล้วในนโยบายและแผนด้านความมั่นคงแห่งชาติฉบับปัจจุบันได้วางแนวทางเอาไว้เหมาะสมแล้ว กล่าวคือ ประเทศไทยจะต้องมีความสัมพันธ์อันดีกับทุกประเทศ หมายความว่าประเทศไทยจะไม่หรือไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้อง ‘เลือกข้าง’ อยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แนวทางแบบนี้อาจจะดูคล้ายๆ กับการดำเนินนโยบายแบบไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (non-aligned) ในอดีตในยุคหลังสงครามเย็นที่ประเทศกำลังพัฒนาหรือในสมัยนั้นเรียกประเทศโลกที่สาม ซึ่ง(พยายาม)เลือกที่จะยืนอยู่อย่างอิสระในสถานการณ์ที่โลกแบ่งขั้วเป็นฝ่ายเสรีประชาธิปไตยและสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งประเทศต่างๆ ในโลกเคยมีประสบการณ์ในการเปิดเข้าหากัน เชื่อมโยงกัน ร่วมมือกันเพื่อประสานผลประโยชน์ภายใต้อิทธิพลของกระบวนการโลกาภิวัตน์ ความเป็นจริงของโลกในสมัยปัจจุบันคือในขณะที่มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีนขัดแย้งแข่งขันกันในหลายด้าน ก็ปรากฏว่าทั้งสองประเทศก็มีความร่วมมือกัน มีความสัมพันธ์กันในระดับปกติ บริษัทอเมริกันไปลงทุนในจีน บริษัทจีนก็ไปลงทุนในสหรัฐฯ เครื่องอุปโภคบริโภคทั้งหลายที่ชาวอเมริกันใช้สอยอยู่จำนวนไม่น้อยผลิตในจีน และจีนลงทุนในพันธบัตรของสหรัฐฯ เป็นจำนวนมากมายมหาศาล (ถึงเดือนสิงหาคมปีที่แล้วมีมูลค่า 971 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 13 เปอร์เซ็นต์ของหนี้สหรัฐฯ)

ความสัมพันธ์ทางการเมือง-การทูตระหว่างไทยกับจีนนั้นปัจจุบันอยู่ในสถานะ ‘หุ้นส่วนความร่วมมือทางยุทธศาสตร์รอบด้าน’ (Comprehensive Strategic Cooperative Partnership) ซึ่งเป็นถ้อยคำทางการทูตที่แสดงออกให้เห็นถึงความใกล้ชิดในระดับที่เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กันหมายความว่ามียุทธศาสตร์ในหลายๆ ด้านเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ปักกิ่งพยายามจะทำให้สายสัมพันธ์ของสองประเทศมีลักษณะพิเศษด้วยเรื่องเล่า ‘จีนไทยใช่อื่นไกลพี่น้องกัน’ โดยอ้างเอาเชื้อชาติของชาวไทยที่มีรากเหง้ามาจากจีนอพยพเพื่อเชื่อมโยงกับการปรากฏตัวของจีนในยุคปัจจุบันที่ข้ามพ้นอุดมการณ์ที่แตกต่างเมื่อยุคแรกเริ่มที่สร้างความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2518 ในยุคสงครามเย็นที่ความขัดแย้งทางอุดมการณ์กำลังครุกรุ่น

ความสัมพันธ์ในยุคปัจจุบันจึงเน้นที่ลักษณะร่วมของความเป็น ‘ตะวันออก’ ที่ยึดแนวเผด็จการอำนาจนิยมในทางการเมืองเป็นคุณค่าสำคัญ ซึ่งดูเหมือนจะสอดคล้องกับทัศนะของชนชั้นนำของไทยภายใต้การนำของรัฐบาลประยุทธ์ในช่วงที่ผ่านมา ประเด็นปัญหาที่จะต้องพิจารณาในเวลานี้คือผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดกำลังท้าทายคุณค่าแบบอเสรีนิยม (illiberalism) และกำลังจะท้ายทายความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศไปพร้อมกัน ดูเหมือนรัฐบาลในปักกิ่งกำลังเฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยหลังการเลือกตั้งอย่างไม่ละสายตาและกังวลว่ารัฐบาลใหม่ที่นิยมคุณค่าแบบเสรีนิยมอาจจะตีตัวออกห่างหรือจัดวางตำแหน่งของความสัมพันธ์กับจีนเสียใหม่ให้สอดคล้องกับแนวทางใหม่ด้วย

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและจีนนั้นอาจจะเรียกว่าอยู่ในสภาวะ ‘อสมมาตร’ เนื่องจากจีนครองตำแหน่งคู่ค้าและนักลงทุนอันดับหนี่งของไทยมาค่อนข้างจะยาวนาน เศรษฐกิจไทยมีลักษณะพึ่งพิงเศรษฐกิจจีนมาก โดยมีข้อผูกมัดด้วยสัญญาและความตกลงทางเศรษฐกิจทั้งแบบทวิและพหุภาคี ความจริงไทยมีความสามารถที่จะปรับสมดุลของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจได้ แต่รัฐบาลประยุทธ์ไม่ได้ให้ความสนใจ หากแต่มุ่งที่จะอาศัยโมเมนตัมของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนเพื่อสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยไปด้วย จึงไม่ได้พยายามมองหาทางเลือกทางเศรษฐกิจหรือตลาดใหม่ๆแต่อย่างใด สถานการณ์ในช่วงโควิดไม่ได้ให้บทเรียนอะไรกับไทย การท่องเที่ยวของไทยยังคงฝากความหวังว่านักท่องเที่ยวจากจีนจะหลั่งไหลเข้าไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อทางการจีนประกาศให้คนจีนเดินทางออกนอกประเทศได้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ปรับเป้าหมายรับนักท่องเที่ยวจีนสู่ไทยเพิ่มจาก 5 เป็น 7-8 ล้านคนในปี 2566 และจะนำรายได้จำนวนมหาศาลเข้าสู่ไทยอีกครั้ง

แนวทางการดำเนินนโยบายเพื่อป้องกันความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งคือการถ่วงดุลอันจำกัด (limited balancing) โดยอาศัยความเข้มแข็งจากภายใน ในทางหลักการอาจจะพูดได้ง่ายๆ ว่าไทยสามารถดำเนินนโยบายถ่วงดุลกับจีน แต่ในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยากที่ประเทศขนาดเล็กหรือระดับกลางอย่างไทยจะถ่วงดุลอำนาจกับจีน แต่ทางที่เป็นไปได้มากกว่าคือ การเสริมสร้างสมรรถนะทางทหารและความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่พึ่งพิงตนเองได้ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากสำหรับประเทศไทยที่จะมีกองทัพใหญ่เท่ากับหรือใกล้เคียงกับจีน แต่เป็นไปได้มากที่จะสามารถทำให้เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งลดการพึ่งพิงจีนได้ แม้ว่าจะมีขนาดไม่เท่ากันก็ตาม

แนวทางสุดท้าย ซึ่งมีการพูดถึงกันมากคือเข้าไปเป็นพันธมิตรกับแหล่งที่มาของความเสี่ยงนั้นๆ เลยดีกว่า ในกรณีของความสัมพันธ์กับจีนนั้นไทยต้องพิจารณาว่า การต้านทานหรือการถ่วงดุลกับจีนตรงๆ นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่การเข้าไปเป็นพันธมิตรอย่างเต็มตัวก็อาจเป็นเรื่องยากลำบากและจะกลายเป็นการเลือกข้าง ซึ่งไม่น่าจะก่อให้เกิดผลดีต่อสถานะของประเทศไทยแต่อย่างใดเลย ดังนั้นแนวทางที่เป็นไปได้คือการเลือกเป็นพันธมิตรกันในเชิงประเด็นหรือเลือกแต่เพียงบางส่วน เช่น การร่วมมือกับกองทัพจีนในการรักษาความมั่นคงและป้องกันภัยนอกแบบบางประการ อย่างยาเสพติด การค้ามนุษย์ในพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำโขงในส่วนที่เกี่ยวข้องกันเป็นเรื่องที่เป็นไปได้และสมควรทำ

บทสรุปและข้อเสนอแนะ

แม้ว่ากระแสต่อต้านสหรัฐฯ อาจไม่ได้มุ่งหวังต่อต้านสหรัฐจริงๆ หากแต่น่าจะมีเป้าประสงค์ในการสกัดกั้นไม่ให้พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลมากกว่า แต่กระแสทำนองนี้อาจทำให้ต้องตระหนักถึงความไม่สมดุลและอิทธิพลของจีนในประเทศไทยว่ามีมากเพียงใด ต่อให้พรรคการเมืองใดได้โอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลก็จะต้องเร่งทบทวนว่าการดำเนินนโยบายที่ผ่านมานั้นที่มีความโน้มเอียงเข้าหาจีนอาจจะไม่มีความเหมาะสมมากนัก และพาประเทศชาติตกอยู่ในความเสี่ยงทางด้านความมั่นคง พร้อมทั้งปรับยุทธศาสตร์ป้องกันความเสี่ยงทางด้านความมั่นคงดังนี้

ประการแรกที่สุดเลยควรพิจารณาว่าการร่วมคุณค่าทางการเมืองแบบอำนาจนิยมกับจีนในระยะที่ผ่านมานั้นเป็นปัญหาต่อระบบการเมืองของไทยเอง ฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยภายในประเทศมีแนวโน้มที่จะกดดันให้ไทยดำเนินนโยบายเข้าหาจีนมากขึ้น นั่นทำให้สถานะและชื่อเสียงของไทยในเวทีระหว่างประเทศตกต่ำ รัฐบาลใหม่มีความจำเป็นจะต้องเร่งปรับปรุงท่าทีและยืนยันค่านิยมเสรีให้หนักแน่น

ประการที่สอง ความมั่นคงทางทหารของไทยนั้นผูกอยู่กับสหรัฐฯ มานาน แต่ก็ไม่อาจย้ายค่ายไปหาจีนได้ง่ายๆ เช่นกันเพราะจะทำให้สหรัฐฯ รู้สึกได้ถึงความไม่มั่นคง แต่ทางเลือกทางทหารก็ไม่ได้จำกัดอยู่ที่สองค่ายนี้เท่านั้น รัฐบาลไทยอาจต้องพิจารณาอย่างจริงจังถึงการปรากฏตัวของอินเดีย เทคโนโลยีการทหารของอินเดียและค่ายอื่นอาจจะเป็นทางเลือกในกรณีที่กองทัพไทยจะต้องมีความสัมพันธ์ทางทหารกับจีนมากขึ้น ตัวอย่างเป็นรูปธรรม กองทัพไทยไม่อาจนำเครื่องบินรบ F16 ที่ซื้อจากสหรัฐฯ ไปฝึกร่วม Falcon Strike กับจีนได้ เครื่องบินรบ Gripen จากสวีเดนจึงมีบทบาท เมื่อสถานการณ์ทางความร่วมทางทหารเปลี่ยนแปลงไป ทำไมกองทัพอากาศไทยไม่พิจารณาซื้อเครื่องบินรบจากค่ายอื่นดูบ้าง หรือหากการซื้อเรือดำน้ำจากจีนเป็นเรื่องที่กำลังจะเป็นไปไม่ได้แล้ว ทำไมไม่ลองพิจารณาเรือดำน้ำจาก เกาหลีใต้ หรือ ที่อื่น

ประการที่สาม ต้องเร่งพิจารณาอย่างจริงจังว่า เศรษฐกิจไทยนั้นผูกพันและพึ่งพิงจีนมากขึ้นทุกทีและอาจจะเริ่มมากเกินไป ควรจะต้องเร่งหาทางเลือกในการพัฒนาเศรษฐกิจให้หลากหลายมากกว่าเดิม ความจริงแล้วประเทศไทยก็ได้สร้างเครื่องมือและความตกลงทางเศรษฐกิจทั้งทวิภาคีและพหุภาคีกับประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ยุโรป และภายในกลุ่มอาเซียนเอง สมควรที่จะพิจารณาหาทางลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงตลาดจีนมากเกินไปได้แล้ว


[1] สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2566-2570) หน้า 78-9

[2] Alfred Gerstl. Hedging Strategies in Southeast Asia: ASEAN, Malaysia, the Philippines and Vietnam and their relations with China. (New York: Routledge, 2022)

[3] Mark S. Cogan. “Thailand’s Troubling History With the Uyghurs” The Diplomat November 2, 2022 (https://thediplomat.com/2022/11/thailands-troubling-history-with-the-uyghurs/)

[4] Sivarin Lertpusit “From Laissez Faire to Restriction to Cooperation: A History of Thai Response to China’s Influence on Thai Chinese Education” Perspective Issue 2023 No.21 (March 2023) (https://www.iseas.edu.sg/wp-content/uploads/2023/03/ISEAS_Perspective_2023_21.pdf)

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save