fbpx
Heart of gold เสียงที่เรามักไม่ได้ยิน

Heart of gold เสียงที่เรามักไม่ได้ยิน

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

 

“แมแม่ลุก แมแม่ลุก”

เสียงเล็กๆ หวานๆ ของลูกที่พยายามปลุกแม่ ค่อยๆ ไล่ระดับจากเบาไปดัง แม่ไม่ได้ยินเพราะหลับสนิทด้วยฤทธิ์ยาแก้แพ้ บวกกับซมไข้มาตั้งแต่ฤดูร้อนเปลี่ยนเข้าฤดูฝน

พ่อซักผ้าอยู่หลังบ้าน ได้ยินเสียงลูกร้องแว่วๆ เลยวิ่งเข้าไปหา ปรากฏว่าแม่ตื่นพอดี แต่ลูกร้องไห้หนักกว่าเดิม ส่วนแม่พยายามสวมกอด-ปลอบโยน อีกราว 20 นาที ลูกก็หมดแรงและหลับไปพร้อมกับขวดนมคาปาก

จริงๆ ไม่ใช่เรื่องน่าตกอกตกใจอะไร หลายครั้งที่เรามักเผลอปล่อยให้ลูกร้องเรียกโดยไม่ได้ยินบ้าง มัวแต่ติดพันงานอื่นอยู่บ้าง เราคิดว่าอาจเพราะลูกรู้จักและร้องเรียกได้เฉพาะกับพ่อแม่เท่านั้น ถ้าวันหนึ่งลูกสามารถช่วยเหลือตัวเองและรู้จักสิ่งมีชีวิตอื่นนอกจากเรา ความกังวลนั้นก็คงหายไป

แต่นั่นแปลว่าลูกต้องมีชีวิตเติบโตผ่านพ้นช่วงวัยที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ไปก่อน แต่เด็กบางคนหรือหลายคนไม่มีโอกาสมีชีวิตนานพอถึงวันนั้น

เมื่อต้นเดือนเมษายน 2019 เราพบข่าวชิ้นเล็กๆ ที่เกิดขึ้นและผ่านไปอย่างรวดเร็ว แทบไม่มีใครสนใจหรือจำได้ว่าเกิดอะไร เด็กสาววัย 1 ขวบ 9 เดือนคนหนึ่งตายไปอย่างโดดเดี่ยวในห้องเช่าซอยอ่อนนุช 17 เขตคลองตัน วัยของเธอไล่เลี่ยกับลูกพอดี

ตามข่าว เจ้าของห้องเช่าที่เป็นผู้พบศพบอกว่าเด็กเสียชีวิตโดยที่จุกนมยังคาอยู่ที่ปาก และสภาพร่างกายเด็กก็ผอมเหมือนเด็กขาดอาหาร ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามตัวแม่ของเด็กมาได้ เธอมีชื่อว่าขนิษฐา อายุ 27 ปี และสารภาพว่า เธอมีอาชีพขายประกัน ได้ตั้งครรภ์กับแฟนที่ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แต่พอแฟนทิ้งไปก็ไม่อยากบอกครอบครัวว่ากำลังจะมีลูก เลยตัดสินใจมาเช่าห้องอยู่ในกรุงเทพฯ กระทั่งวันคลอดก็คลอดเองเพียงลำพังและเลี้ยงดูเองเพียงลำพัง

เธอบอกอีกว่า ลูกสาวเกิดมาร่างกายไม่แข็งแรง มีแขน-ขาที่ลีบเล็ก แต่ความที่ไม่อยากให้ใครรู้ว่ามีลูก เธอจึงเก็บตัวเงียบๆอยู่ในห้องกับลูกสองคน แต่เมื่อเธอต้องออกไปทำงานหาเงิน จึงจำเป็นต้องปล่อยลูกไว้คนเดียว ก่อนไปทำงานเธอจะชงนมไว้ให้ 2 ขวด วางไว้ข้างๆ ที่นอนลูกเพราะคิดว่าจะหยิบกินเองได้ พอกลับห้องมาพบว่าลูกสำลักนมหมดสติไป เลยตัดสินใจจะหนีไปฆ่าตัวตายตามเพราะกลัวความผิด แต่ตำรวจตามตัวเจอเสียก่อน

ข้ามอารมณ์ของถ้อยคำก่นประณามพิพากษาแม่เด็กไปก่อน แต่ภาพเด็กที่นอนตายคาจุกนมนั้นเกินกว่าที่เราจะจินตการถึงความหดหู่ในบ้านเมืองนี้

ลูกลองหลับตานึกภาพวันที่ลูกร้องเรียกแม่แต่ไม่มีใครได้ยินสิ แค่ช่วงเวลาสั้นๆ ที่น้ำตาอาบแก้มมันก็ชวนให้เราวางอุเบกขาไม่ค่อยทันแล้ว แต่กับเด็กสาวที่ตายไปโดยไม่มีใครได้ยินเสียงวิงวอนล่ะ!

ลำพังสะใจกับคำประณามว่าแม่เด็กใจไม้ไส้ระกำนั้นเพียงพอหรือ ถ้าถือเอาตามสำนวน “กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่” “กรุงเทพฯ ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว” เป็นสัจจะ เราคงต้องสำรวจจิตใจตัวเองกันใหม่แล้วว่าเมืองที่น่าอยู่แบบไหนกันถึงปล่อยให้มีเด็กตายคาขวดนมโดยที่ไม่มีใครใยดีตั้งแต่วันที่เด็กเกิดจนกระทั่งตายได้เลย

บางทีคำพิพากษาว่าแม่ใจยักษ์นั้นเอาเข้าจริงมันก็เสียดแทงไปถึงเราๆ กันทั้งนั้น บางครั้งเอามือลูบหน้าอกข้างซ้ายแล้วคลับคล้ายว่าอาจเป็นทะเลทรายด้วยซ้ำไป

บ้านเมืองเรามีเสียงที่ถูกทิ้งขว้างมากมายเหลือเกิน กับบางเสียงที่ได้ยินถึงหูผู้นำ เสียงนั้นก็ดูมีความหมาย เช่น เรื่องของ ‘สมศรี จันต๊ะ’ ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงปี 1992 – 1993 ช่วงเวลานั้นเพิ่งผ่านพ้นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬไปไม่นาน มีคนตายและคนเจ็บจากการกระทำของทหารเป็นสิบเป็นร้อยคน

สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิแรงงานเคยบอกเราว่า กรณีสมศรีเป็นหมุดหมายของการปรับปรุงกฎหมายลาคลอด ทุกวันนี้แทบไม่มีใครรู้ว่าที่แม่ที่เป็นลูกจ้างบริษัทมีสิทธิลาคลอดเพื่อเลี้ยงดูลูกได้ 90 วันนั้นมาจากการเรียกร้องให้มีการแก้กฎหมาย

สมศรีเป็นสาวโรงงาน ชีวิตยากจน หลังคลอดลูกเธอตัดสินใจทิ้งลูกไว้ที่โรงพยาบาลเพื่อกลับไปทำงานหาเงิน แต่ความโหยหาคิดถึงลูกทำให้เธอกลับมารับลูกที่โรงพยาบาลไปเลี้ยงดู แต่ความจนและงานที่หนักหน่วงก็ทำให้เธอตัดสินใจใหม่ด้วยการฆ่าลูกทิ้งเพื่อปลดภาระชีวิต

เรื่องจะเกิดขึ้นเงียบๆ ไปโดยไม่มีใครรู้เลย ถ้าหลังจากนั้นไม่มีข่าวการตามหาเด็กหายไปจากโรงพยาบาลของพ่อกับแม่คู่หนึ่ง การสืบสวนของตำรวจพบว่าเด็กที่สมศรีฆ่าไปนั้นไม่ใช่ลูกของเธอ แต่เป็นลูกของพ่อกับแม่ที่ประกาศตามหาจนเป็นข่าว และวันที่สมศรีกลับมารับลูกไปเลี้ยงนั้น ปรากฏว่าทางโรงพยาบาลสลับเด็กผิดคนให้กับเธอไป

ความผิดพลาดนั้นเกิดขึ้นแน่นอน ไม่ว่าจะมาจากทางโรงพยาบาลหรือตัวสมศรีเอง แต่ลุงสมยศไม่ได้เล่าว่าหลังจากนั้นมีการรับผิดชอบกันอย่างไร เพียงแต่บอกว่าประเด็นความยากจนและสิทธิในการลาคลอดนั้นถูกหยิบขึ้นมาพูดจนกลายเป็นคลื่นภาคประชาชนให้มีการแก้กฎหมายจากแค่ 30 วัน เป็น 90 วัน เป็นไปได้ว่านอกจากสมศรีจะยากจนและเวลาที่จะเลี้ยงดูลูกมีน้อยเกินไป ทำให้การตัดสินใจของเธอกลายเป็นโศกนาฏกรรม

ทั้งคดีขนิษฐาและสมศรีห่างกันร่วม 27 ปี ยุคสมัยที่ต่างกันไม่ได้การันตีว่าเรื่องชวนหดหู่แบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก

 

ภาพโดย Joel Bernstein จาก www.snapgalleries.com

หลังจากที่เราจมหม่นอยู่กับข่าวความตายของเด็กน้อยรุ่นราวคราวเดียวกับลูก เราพยายามปรับสภาพจิตแบบสั้นและหยาบที่สุดด้วยการเปิดเพลงจากคอมพิวเตอร์ โดยไม่ได้เลือก เพลง Heart of gold ของ Neil Young ศิลปินโฟล์คร็อคชาวแคนนาเดียน วัย 73 ปี ก็ขับกล่อมขึ้นมาโดยอัตโนมัติ

เพลงของนีล ยัง อยู่ในใจคนหลายล้านคนทั่วโลกมานานแล้ว รวมถึงเราด้วย ไม่แปลกที่เพลงแทร็คที่ 4 side 1 ในอัลบั้ม Harvestนี้จะติดอันดับหนึ่งของ U.S. Billboard ทันทีที่บทเพลงถูกเผยแพร่ในปี 1972

 

เพลง Heart of gold และอัลบั้ม Harvest นี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่นีล ยัง อายุ 25 ปี ถูกอาการปวดหลังรุนแรงคุกคาม และเป็นๆ หายๆ อยู่มาทั้งชีวิต อาจสืบเนื่องจากที่ตอนวัยเด็กเขาเคยติดเชื้อโปลิโอจากการไปเล่นน้ำในคลองแถวบ้าน ทำให้อัมพาตนอนรักษาที่โรงพยาบาลอยู่เกือบสัปดาห์

แม้ว่าเขาจะเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินไม่น้อย แต่เรากลับมองว่าลูกๆ ของนีล ยัง เป็นแรงบันดาลใจให้ตัวเขาเองด้วย เขามีลูกทั้งหมด 3 คน

Zeke ลูกคนแรก เกิดกับแฟนสาวดาราฮอลลิวูดชื่อ Carrie Snodgress ความสัมพันธ์ของพวกเขาปรากฏอยู่ในเพลง A Men Need a maid อัลบั้ม Harvest ส่วนลูกอีกสองคน Ben และ Amber เกิดกับแฟนคนที่สองชื่อ Pegi Young เธอเป็นนักแต่งเพลงและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม

ที่เรามองว่าลูกๆ เป็นแรงบันดาลใจให้ตัวเขา เพราะลูกสองคนแรกมีอาการพิการทางสมอง ส่วนลูกคนสุดท้ายเป็นโรคลมชัก

“เบนสอนให้ผมไม่ยอมแพ้ เราพูดไม่ได้หรอกว่ามันยากเกินไป มันยากเกินไปไม่ได้ มีเด็กมากมายที่ต้องเจออุปสรรค แต่เขายังพยายาม เพราะฉะนั้นเวลาที่มีความยากเข้ามาในชีวิตเรา เราจะคิดถึงเขา” นีล เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับลูกของเขา

นอกจากนั้นเขาสนับสนุนให้ Pegi เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิ Bridge School เพื่อคนพิการทางสมอง และจัดคอนเสิร์ตการกุศลเป็นประจำตั้งแต่ปี 1987-2016 ที่ Mountain View แคลิฟอร์เนีย โดยมีศิลปินชื่อดังเข้าร่วมงานการกุศลมากมาย

ยังไม่นับที่เขาร่วมก่อตั้งคอนเสิร์ต Farm Aid ในปี 1985 ร่วมกับ Willie Nelson และ John Mellencamp เพื่อระดมทุนช่วยเหลือเกษตรกรในอเมริกาที่ประสบวิกฤตหนี้สินและสิ่งแวดล้อมด้วย

แม้ว่าเพลง Heart of gold จะไม่ได้ทำหน้าที่ชวนเปลี่ยนแปลงสังคมแบบเพลงของศิลปินขบถรุ่นราวคราวเดียวกับนีล ยัง แต่มันทำหน้าที่เสมือนจอบที่เขามอบให้ผู้ฟังขุดค้นลงไปในใจตัวเอง เป็นไปได้หรือไม่ว่ายิ่งเราขุดลงไปลึกขึ้น เราอาจได้ยินเสียงที่มักไม่ได้ยินมากขึ้น

ในแง่นี้ต่อให้วันหนึ่ง Neil Young จะตายไป แต่เพลงของเขาคงจะ Forever young เสมอ

“เวลา” ลูกรัก พ่อเขียนถึงลูกช่วงที่ลูกอายุครบ 2 ขวบมาไม่นาน เหตุการณ์เด็กตายจุกนมคาปากยังสะเทือนใจเราอยู่ มันคงคอยตอกย้ำให้เราคิดถึงชีวิตที่ดีกว่าเดิม

อย่างน้อยก็ดีกว่าเดิม ถ้าผู้ปกครองของเรารู้จักฟังเสียงประชาชนบ้าง และเราต่างหวังว่าเมื่อถึงวันนั้นคงไม่มีใครตายไปอย่างโดดเดี่ยวไร้ความใยดี.

 

____________________________
อ่านคอลัมน์เมื่อเวลามาถึงทั้งหมดต่อที่นี่ 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save