fbpx
การลงทุนในราชวงศ์ : เหตุผลที่คนดูแฮรีกับเมแกน

การลงทุนในราชวงศ์ : เหตุผลที่คนดูแฮรีกับเมแกน


ไม่น่าประหลาดใจ หากคนอังกฤษจะสนใจเรื่องของแฮรีกับเมแกนกันมากมาย เพราะทั้งคู่คือสมาชิกราชวงศ์ของอังกฤษ

แต่หลายคนอาจจะประหลาดใจไม่น้อย ถ้าได้รู้ว่าคนอเมริกันก็สนใจการให้สัมภาษณ์ของแฮรีกับเมแกนในรายการของโอปราห์ วินฟรีย์ เป็นอย่างมากด้วยเช่นกัน

จากข้อมูลของนีลเซน (Nielsen Global Media) องค์กรจัดอันดับเรตติ้งทางโทรทัศน์ (ใช่ – องค์กรนี้ยังอยู่ และปัจจุบันทำหน้าที่จัดอันดับเรตติ้งของสื่อประเภทอื่นๆ อีกหลายอย่างนอกจากรายการโทรทัศน์ด้วย) ระบุว่า มีคนดูการสัมภาษณ์นี้แบบ ‘สด’ ในอเมริกามากถึง 17.1 ล้านวิว ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่หาได้ยากขึ้นมากในโลกยุคออนไลน์ที่สามารถดูรายการย้อนหลังได้

แต่ถ้าถามว่ามากหรือน้อย ก็ต้องเทียบกับรายการอื่นๆ ในช่วงเดียวกัน เช่น การถ่ายทอดสดรายการโทรทัศน์ทองคำที่ออกอากาศไปก่อนหน้าไม่นานมีผู้ชมเพียง 6.9 ล้านคนเท่านั้น หรือถ้านำไปเทียบกับรายการสดที่มีคนดูมากที่สุดในโลก (ที่ไม่ใช่รายการกีฬา) อย่างการถ่ายทอดสดรางวัลออสการ์ ก็จะพบว่าเฉลี่ยแล้วออสการ์มีคนดู 23.6 ล้านคน ซึ่งมากกว่าการให้สัมภาษณ์นี้ไม่มากนัก

การที่มีคนมากขนาดนั้น (และยังไม่นับรวมคนที่มาดูภายหลัง) มานั่งดูคนแค่สามคนคุยกันถึงปัญหาในครอบครัว ถ้ามองลงมาจากสายตาของมนุษย์ต่างดาว อาจต้องถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาด เพราะเรื่องทั้งหมดไม่ได้มีอะไรอื่นสลับซับซ้อนมากไปกว่าเรื่องราวของแม่ผัวลูกสะใภ้ สะใภ้ใหญ่สะใภ้รอง การเข้ากันไม่ได้ของเมียแต่งกับครอบครัวของผัว วงศาคณาญาติที่ต่างคนต่างก็มีความเห็นโน่นนั่นนี่ ทั้งจริงใจ เสแสร้ง เหยียดตรง เหยียดในเหยียด เหยียดแบบยิ้มมุมปาก ฯลฯ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นเรื่องสามัญธรรมดา เกิดขึ้นทั่วทุกหัวระแหง เป็นเรื่องราวของมนุษย์ตดเหม็นธรรมดาๆ ที่ไม่ได้หลุดพ้นเป็นอภิมนุษย์เหนือกว่าใครทั้งนั้น แถมเรื่องราวทั้งหมดก็ยัง ‘น่าเบื่อ’ เพราะเป็นพล็อตซ้ำๆ ที่ดูแล้วดูอีกในละครน้ำเน่าของทุกชาติ ตั้งแต่กรีกโรมันยันโซพโอเปร่าอเมริกัน จนไม่น่าจะมีใครตื่นเต้นกับเรื่องตบตีเบาะแว้งกันของคนพวกนี้ได้อีก

ไม่ว่าคนพวกนี้จะมีสายเลือดของราชวงศ์ไหนแล่นพล่านอยู่ในร่างกายหรือไม่ก็ตาม มันก็ล้วนเป็น story เดิมๆ ที่น่าเหนื่อยหน่ายของความเป็นมนุษย์เหมือนๆ กันทั้งนั้น

มนุษย์ต่างดาวคงเข้าใจเรื่องพวกนี้ไม่ได้ จนหลายคนคงอยากจับตัวมนุษย์ต่างดาวพวกนี้มานั่งอรรถธิบายให้เข้าใจ!

คำอธิบายที่ว่าทำไมมนุษย์อย่างเราๆ ถึงได้ ‘ขี้เสือก’ เรื่องของชาวบ้านเสียจนทำรายได้เป็นกอบเป็นกำมหาศาลให้กับคนที่ตกเป็นขี้ปากการกอสซิพของเรานั้นมีอยู่หลายคำอธิบาย แต่คำอธิบายหนึ่งที่ง่าย ชัด และตรงไปตรงมาที่สุด เป็นคำอธิบายของ เจน ชานีย์ (Jen Chaney) นักเขียนของ vulture.com เธอบอกง่ายๆ เลยว่าเพราะเราได้ ‘ลงทุน’ ไปกับคนพวกนี้มายาวนานแล้วน่ะสิ

ลงทุน? ลงทุนอะไร?

เจนบอกว่าเวลามีคนเมาท์เจ้า มักจะมีคนทำท่าอวดดีอวดรู้ (ซึ่งจริงๆ อาจเป็นมนุษย์ต่างดาวของเราก็ได้) มาบอกว่า ทำไมต้องไปสนใจเรื่องของคนพวกนี้ด้วย มันก็เหมือนเรื่องของคนทั่วไปนั่นแหละ จะราชวงศ์ (อังกฤษ) หรือไม่ใช่ราชวงศ์ (อังกฤษ) มันก็กิน ขี้ ปี้ นอน เหมือนๆ กันไปหมด จะไปแส่เรื่องของเขาทำไมนักหนา คนพวกนี้ไม่ได้มีผลกระทบอะไรต่อสังคมมากนักหรอก

แต่เจนจะเถียงว่า อ้าว! แล้วเธอไม่เคยสนใจคนดังอื่นๆ บ้างหรือไง ทำไมจะไม่มีผลกระทบล่ะ เธอยกตัวอย่างพวกนักกีฬาดังๆ ทั้งหลายแหล่ ทำไมเวลามีข่าวโน่นนั่นนี่ ผู้คนถึงสนใจนักหนาทั้งที่นักกีฬาเหล่านี้ก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อสังคมอะไรมากนักยิ่งกว่าพวกราชวงศ์เหล่านี้เสียอีก

เธอพยายามอธิบายต่อไปว่า ที่มนุษย์อย่างเราๆ (ซึ่งแน่นอนว่าตดเหม็น) ต้องไปสนใจมนุษย์อย่างพวกเขา (ที่ตดไม่ได้หอมหรือเหม็นไปกว่ากันสักเท่าไหร่) ก็เพราะเราได้ ‘ลงทุน’ ใน ‘เรื่องเล่า’ (story) ของพวกเขามายาวนานแล้วนั่นปะไร

คำว่า ‘ลงทุน’ ในที่นี้ เจนไม่ได้หมายถึงควักเงินไปลงทุนอะไรเป็นเรื่องเป็นราวนะครับ แต่เธอหมายถึงการลงทุนไปกับเรื่องที่สนใจและเวลา เช่นถ้าคุณเป็นแฟนทีมฟุตบอลสักทีมมาตั้งแต่เด็กๆ คุณจะต้องคอยเฝ้าติดตาม คอยเชียร์ ทุกครั้งที่ทีมของคุณลงแข่ง คุณจะต้องเปิดโทรทัศน์ดูหรือไม่ก็ดูย้อนหลัง ตัวไปดูไม่ได้ก็ต้องส่งใจไปเชียร์ ซึ่งนี่คือการลงทุนทางใจแบบหนึ่งด้วยการเอา ‘จิต’ ของเราไปฝังไว้กับ story ของสิ่งที่เรายึดเหนี่ยวเอาไว้ เพื่อให้ชีวิตของเราไม่ว่างเปล่ามากจนเกินไป

แต่การลงทุนแบบที่เจนว่า สุดท้ายมันก็นำไปสู่เม็ดเงินอยู่ดีนะครับ ต่อให้เราไม่ได้ซื้อตั๋วเข้าไปชมการแข่งขัน ไม่ได้ซื้อของที่ระลึก ไม่ได้บริจาคเงินให้ แต่รายการถ่ายทอดสดก็มีโฆษณา และเราก็อาจซื้อสินค้าที่ลงโฆษณามาใช้อยู่ดี มันจึงเกิดการสนับสนุนทางอ้อม ทำให้คนเหล่านั้นอยู่ได้และคอยมาเติมเต็มชีวิตอันแล้งไร้แห้งผากไม่มีเป้าหมายในชีวิตของมนุษย์ตดเหม็นที่ยอมรับในความเหม็นของตดตัวเอง เพื่อจะได้สร้าง story ให้มนุษย์อีกจำพวกเพื่อนำมาเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวในชีวิตของเรา โดยหวังว่าตดของมนุษย์เหล่านั้นอย่างน้อยก็น่าจะหอมกว่าตดของคนจน หรือหนักกว่านั้นอีกก็ลืมไปเสียเลยว่ามนุษย์พวกนั้นตดเป็น เจ็บเป็น โง่เป็น ต่ำช้าเป็น ฉลาดเป็น เมตตาเป็น และเป็นอะไรอื่นๆ ได้อีกหลากหลายสลับกันไปมาตามต้นทุนในชีวิตและช่วงเวลาต่างๆ ในแบบที่มนุษย์ทั่วๆ ไปเป็น

การเอาจิตไปฝังไว้กับ story ของคนที่เราเห็นว่า ‘เหนือกว่า’ ตัวเองนี้ ช่วยให้ story ที่ว่ามันดำเนินต่อไปได้ด้วยเม็ดเงินที่เข้าไปหนุน ยิ่งเกิดการ ‘ลงทุนร่วม’ มากเท่าไหร่ แสงก็จะยิ่งส่องไปที่มนุษย์พวกนี้มากขึ้นเท่านั้น เพราะวงการโฆษณารู้ว่ามีคนติดตามคนเหล่านี้เป็นจำนวนมาก สุดท้ายมันจึงเป็นการ ‘ลงทุนร่วมระยะยาว’ (collective long-term investment) ที่คนส่วนใหญ่ใช้อารมณ์ความรู้สึกทุ่มเทไปให้ แต่สุดท้ายก็ contribute เม็ดเงินไปให้คนพวกนี้อยู่ดี ยิ่งในกรณีของราชวงศ์อังกฤษ คนอังกฤษรู้อยู่แล้วว่าราชวงศ์เหล่านี้อยู่ได้ด้วยเงินจากภาษี

แต่ถามว่าแล้วสังคมเลี้ยงคนเหล่านี้ไว้ทำไม คำตอบก็คือเพื่อ story ทำนองนี้นี่แหละ มันคือ story ที่ทำให้เกิดรายได้มหาศาล ไม่ใช่แค่กับตัวของแฮรี เมแกน หรือโอปราห์ วินฟรีย์ เท่านั้น แต่ถ้าลองนับเม็ดเงินที่กระเพื่อมส่งต่อไปยังคนทำงานอื่นๆ ก็น่าจะมีเงินหมุนเวียนเป็นร้อยเท่าพันทวีของเงินที่โอปราห์ได้รับมาจากการจัดรายการ ไม่นับรายได้จากการท่องเที่ยว การรักษาประวัติศาสตร์ สถานที่ ฯลฯ ที่ดึงดูดคนอีกจำนวนมากที่หลงรักใน story นี้ ให้มาเยี่ยมมาเยือนในยามว่าง

คนคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่แสงฉายส่องเอามากๆ ก็คือเจ้าหญิงไดอานา ผู้คนมากมายนับสิบนับร้อยล้านคนทั่วโลกต่าง ‘ลงทุน’ ไปกับเธอ นับตั้งแต่วินาทีที่นักข่าวขับรถไล่ตามเธอสมัยยังเป็นครูสอนเด็กๆ โมเม้นต์ขนลุกเกรียวไปกับพิธีแต่งงานอันยิ่งใหญ่อลังการที่เติมเต็มแฟนตาซีในใจของมนุษย์ตดเหม็นที่รู้ตัวว่าอาจไม่มีแม้กระทั่งปัญญาก้าวเท้าเข้าไปเก็บเศษดอกไม้ที่ร่วงอยู่ตามพื้นในงานนั้น ไล่ไปจนถึงความโศกเศร้ายิ่งใหญ่สะเทือนใจร่วมกันทั่วโลกขึ้นเมื่อไดอานาประสบอุบัติเหตุ ทุกวันนี้ แสงของไดอานายังคงสาดส่องมาสู่ลูกๆ ของเธอต่อ เพราะมันคือ story ร่วมที่ ‘สืบสานต่อยอด’ มายาวนาน ยิ่ง story ของเมแกนกับแฮรีมีบางอย่างซ้อนทับกับ story ของไดอานา ก็ยิ่งทำให้คนนึกย้อนกลับไปถึงการลงทุนเก่าๆ ของตัวเองมากเข้าไปอีก

ใช่ ทั้งหมดนี้คือการ ‘ลงทุน’ ทั้งนั้น และเป็นการลงทุนระยะยาวด้วย

ว่าแต่ว่า ลงทุนไปแล้วได้อะไร?

คำตอบง่ายๆ ก็คือ ลงทุนไปแล้วได้ story กลับมาหล่อเลี้ยงชีวิตให้ดำเนินต่อไปได้ (ร่วมกับ story อื่นๆ อีกหลายชั้นหลายมิติที่ส่วนใหญ่เป็น ‘เรื่องของคนอื่น’ ทั้งนั้น) story ของคนเหล่านี้เป็นเหมือนภาพฝันที่คอยหลอกล่อให้มนุษย์ตดเหม็นอย่างเราๆ มีชีวิตอยู่ได้กับ story ที่เรามีส่วนร่วมถักทอแต่งเติมขึ้น ไม่ว่าจะจริงหรือไม่จริงก็ตาม แต่การได้ถกเถียงกันว่าฉันเป็นทีมเมแกน ฉันเป็นทีมควีน ฉันเป็นทีมเคท หรือฉันเป็นทีมแฮรี ฯลฯ ก็ทำให้เราใช้เวลาที่ดูเหมือนจะมีเหลือเฟือฟายในชีวิตจนไม่รู้จะเอาไปทำอะไรให้หมด มา ‘ลงแรง’ ถกเถียงโต้แย้งกับเรื่องนี้กันเป็นเฟสติวัลขนาดใหญ่ระดับโลก

story เหล่านี้ไม่ได้เพิ่งเริ่มขึ้นในยุคใหม่ แต่มันเกิดมานานแล้ว อย่างไพร่ติดที่ดินสมัยก่อนที่ยอมแม้กระทั่งเสียสละชีวิตตัวเองเพื่อปกป้องเจ้าผู้ปกครองที่ดิน พวกเขาไม่ได้โง่ พวกเขารู้อยู่แล้วว่าถ้าต่อสู้ไปจนตาย สุดท้ายก็ไม่เหลืออะไรในชีวิตอีกแม้แต่ชีวิต แต่พวกเขายอมรับ story เหล่านั้นเพราะพวกเขามีส่วนร่วมในการสร้าง story ขึ้นมาตั้งแต่ต้น ดังนั้น พวกเขาจึงต้องปกปักษ์พิทักษ์รักษา story เหล่านั้นเอาไว้สุดลิ่มทิ่มประตู แม้กระทั่งด้วยชีวิตของพวกเขาเอง

ซึ่งจะว่าไป มันก็ย้อนกลับมาสาสมกับความเป็นมนุษย์ตดเหม็นที่หลงใหลใน story ของเราดีเสียเหลือเกิน

ในปัจจุบัน ยังดีที่มนุษย์ฉลาดขึ้นกว่ายุคฟิวดัลไม่น้อย เราจึงไม่ได้ทุ่มเทสุดตัวเพื่อ story ขนาดยอมสละชีวิตแล้ว (แต่ถ้าจะมีบ้าง ก็พึงพิจารณาความ primitive ของตัวเองดู) โดยทั่วไป เราทำเพียงแค่ถกเถียงกัน อาจมีบ้างบางคนที่อยู่ใกล้การสร้าง story หน่อย (เช่น เพียร์ส มอร์แกน) ที่ถกเถียงอย่างรุนแรงถึงขั้นลาออกจากการทำงานในสถานีโทรทัศน์ แต่คนทั่วไปมักถกเถียงกันเพื่อเติมความสนุกให้ชีวิตว่างเปล่าของตัวเองมากกว่า โดยเฉพาะคนในสังคมไทยที่อยู่ห่างไกลจากสังคมอังกฤษเหลือเกิน และมักถกเถียงกันโดยนำ preconceptions หรือ ‘ต้นทุนแบบไทยๆ’ ไปครอบเรื่องราวของราชวงศ์อังกฤษกันโดยพิสดาร ซึ่งก็อาจพูดแบบขำๆ ได้ว่าเป็นการ ‘ลงทุนข้ามชาติ’ ได้เหมือนกัน

การลงทุนทั้งด้วยจิตและด้วยเงิน (ไม่ว่าจะเป็นค่าตั๋วเข้าชมหรือจ่ายด้วยภาษี ไม่ว่าจะข้ามชาติหรือข้ามภพ) ในตัวมนุษย์แต่ละคนจะมี ‘ความโน้มเอียง’ หรือ ‘ความลาดเท’ ตอนแรกๆ เพียงเล็กน้อย แต่เมื่อ story ดำเนินไป ความโน้มเอียงลาดเทที่ว่าก็จะค่อยๆ แสดงตัวให้เห็นชัด เหมือนกราฟที่ดำเนินออกห่างจากกันมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นที่บางจุด (อย่างเช่นเรื่องแฮรีกับเมแกน) กราฟที่ว่าก็อาจหักชันแยกออกจากกันได้ไกลลิบลิ่วทีเดียว ก่อให้เกิดการถกเถียงที่ต้องใช้จ่ายวันเวลาของชีวิตไปได้สักหนึ่งสัปดาห์หรือกว่านั้น

ซึ่งก็อาจมากพอแล้วสำหรับการให้ความสนใจ ถ้าไม่มีประเด็นใหม่ๆ อะไรเข้ามา เราก็จะคอยมองหา story ใหม่ๆ มาเติมเต็มความว่างเปล่าในตัวเองเพิ่มอีกได้เรื่อยๆ เพื่อให้การมีชีวิตอยู่มันไม่น่าเบื่อจนเกินไป

เรื่องแบบนี้ มนุษย์ต่างดาวคงเข้าใจไม่ได้แน่ๆ

ใช่ ต่อให้อธิบายจนปากจะฉีก พวกมนุษย์ต่างดาวก็คงไม่มีวันเข้าใจ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save