fbpx
ทักษะมนุษย์โลก 4.0 : “อ่อน” หรือ ”แข็ง”สยบอนาคต?

ทักษะมนุษย์โลก 4.0 : “อ่อน” หรือ ”แข็ง”สยบอนาคต?

สันติธาร เสถียรไทย เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

คำถามที่เรามักได้ยินบ่อยในยุคที่ปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์ (AI) ดูเหมือนจะเก่งจนแทนที่มนุษย์ได้หมดคือ ระหว่างทักษะแบบ “Hard Skills” และ “Soft Skills” อันไหนจะมีความสำคัญกว่ากันสำหรับโลกอนาคต? ทักษะใดบ้างที่ขาดไม่ได้?

 

“แข็ง-อ่อน” แบ่งไปทำไม

 

Hard Skills แปลตรงตัวทื่อๆ คือทักษะ “แข็ง” แต่มีชื่อแบบทางการว่า “ทักษะด้านความรู้” เช่น ทักษะทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม คณิตศาสตร์ (เรียกสั้นๆ ว่า STEM) โปรแกรมมิ่ง (Programming, Coding) ที่น่าสนใจคือความรู้ทางภาษาต่างประเทศ (พูดได้หลายภาษาไม่ใช่ทักษะด้านสื่อสาร) ที่หลายคนมักคิดว่าเป็น Soft Skills ก็นับเป็น Hard Skills เช่นกัน

ส่วน Soft Skills แปลตรงตัวว่าทักษะ “อ่อน” มีชื่อเรียกแบบทางการว่า ”ทักษะทางสังคม” หรือ “ทักษะทางอารมณ์” เช่น ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการสื่อสารและการทำงานกับผู้อื่น เป็นต้น

แต่ขอสารภาพว่าโดยส่วนตัวแล้วแต่ไหนแต่ไรไม่ค่อยชอบชื่อและคำนิยามแบบเป็นทางการของทักษะสองประเภทนี่เท่าไร และไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมต้องแบ่งประเภท จนไม่นานมานี้ได้คุยกับคนวงการศึกษามากขึ้นจึงได้เข้าใจว่าวิธีขีดเส้นแบ่งทักษะสองกลุ่มที่อาจจะมีประโยชน์กว่าคือดูจาก 3 ปัจจัย 1. วิธีการเรียนรู้ทักษะนั้น 2. วิธีการวัดผล 3. การนำไปใช้ในบริบทต่างๆ

โดย Hard Skills เป็นทักษะที่สามารถเรียนรู้ได้จากระบบการเรียนการสอนและการฝึกฝน มักวัดผลได้ง่ายกว่าและไม่ว่าจะเอาไปใช้ในอุตสาหกรรมใดก็ไม่ค่อยแตกต่างกันนัก ในขณะที่ Soft Skills เป็นทักษะที่สอนกันยากต้องใช้เวลาบ่มและสะสม วัดผลลำบากและการนำไปใช้ก็ยุ่งยากกว่าเพราะขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละองค์กร

 

ทักษะทางภาษา vs ทักษะการสื่อสาร

 

ตัวอย่างที่น่าสนใจคือหากลองเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างทักษะภาษาต่างประเทศและทักษะการสื่อสาร การพูดภาษาต่างประเทศมักจะถูกนับเป็น Hard Skills เพราะสามารถสอนกันได้อย่างที่เห็นโรงเรียนหรือสถาบันสอนภาษามากมาย ในแบบสำรวจเยาวชนอาเซียน 56,000 คนโดยบริษัท Sea และ World Economic Forum พบว่า 63% หรือเกือบสองในสามของคนบอกว่าทักษะทางภาษาที่มีอยู่ส่วนใหญ่ได้มาจากโรงเรียนหรือคอร์สออนไลน์ นอกจากนี้ทักษะทางภาษายังวัดผลไม่ยากนักอย่างที่มีการสอบวัดผลมาตรฐาน เช่น TOEFL สำหรับภาษาอังกฤษที่เราคุ้นกันดี ทั้งยังเป็นทักษะที่เมื่อมีแล้ว สามารถนำไปใช้ในหลายอุตสาหกรรมและองค์กรได้ไม่ยาก

ในทางกลับกันทักษะการสื่อสารถูกนับเป็น Soft Skills เพราะเป็นสิ่งที่สอนกันในโรงเรียนยากกว่ามาก ต้องใช้เวลาบ่มเพาะนาน จากแบบสำรวจพบว่า ไม่ถึงครึ่งของเยาวชนตอบว่าทักษะการสื่อสารที่ตนมีได้มาจากการเรียนในโรงเรียนหรือคอร์สออนไลน์ ส่วนใหญ่ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์และการทำงาน

การวัดผลให้เป็นรูปธรรมทำได้ลำบากต่างจากเรื่องภาษา คนพูดภาษาอังกฤษเก่งสอบคะแนนดีอาจไม่ได้สื่อสารกับคนอื่นรู้เรื่องเท่าไร ในขณะที่คนพูดภาษาต่างประเทศไม่ดีนักอาจสื่อสารกับคนต่างชาติได้มากกว่าที่คิด เพื่อนต่างประเทศผมมักบอกว่าคนไทยอาจจะพูดภาษาอังกฤษได้ไม่เก่งนัก แต่มีความสามารถในการสื่อสารสูงมาก สามารถเดาได้ว่าฝรั่งสื่ออะไร ต้องการสิ่งใด และสามารถเลือกคำประกอบท่าทางสื่อให้คนไม่รู้ภาษาไทยเข้าใจได้ นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พวกเขาชอบมาเที่ยวไทยและมีอุปสรรคทางภาษาไม่หนักหนาเท่าที่คิด

 

แข็ง-อ่อนในยุค AI

 

พวกเราหลายคนเกิดและโตมากับระบบที่ชอบการเรียนรู้ที่สอนได้ วัดผลได้ชัดเจน เป็นนายจ้างก็อยากได้คนที่มี CV ประวัติการเรียนและทำงานที่สวยงามเพราะ ‘ปลอดภัย’ กว่าการจ้างคนที่เราอาจจะสัมผัสได้ว่าเก่ง แต่บนกระดาษ ‘โล่ง’ ไป คนเป็นพ่อแม่ก็อยากเห็นลูกได้คะแนนดี มีใบปริญญาเพื่อให้หางานได้ เป็นอาจารย์ก็ย่อมต้องสอนให้เด็ก ‘เก่ง’ แบบที่พ่อแม่ต้องการ ต่อกันเป็นทอดๆ

แต่ในยุคที่ AI เก่งกาจขึ้นมาก การมีทักษะ Hard Skills ต่างๆ ที่สอนได้ ฝึกได้ วัดได้เริ่มไม่พอเพียง เพราะทักษะที่ AI พัฒนาขึ้นเร็วที่สุดก็คือพวก Hard Skills นี่แหละ เช่นจากตัวอย่างข้างบน เทคโนโลยีด้านภาษาอย่าง Natural Language Processing (NLP) ทำให้การแปลแบบเรียลไทม์แม่นขึ้นทุกที ยิ่งภาษายากๆ เป็นทางการแบบที่พูดกันในที่ประชุมสหประชาชาติยิ่งทำได้ดี แต่สิ่งที่ AI ยังทำได้ไม่ดีเท่าไรกลับเป็นเรื่องง่ายๆ ที่บางทีเด็กยังทำได้เช่น เลือกว่าควรพูดภาษาไหนกับคนไหน อ่านท่าทางความรู้สึกคนจากสีหน้า น้ำเสียง จังหวะการพูด รู้ว่าบางครั้งที่คนไทยยิ้มแล้วพยักหน้าอาจไม่ได้แปลว่าเห็นด้วย แต่เราแค่มีมารยาท!

ดังนั้น หากเรายังยึดแต่สิ่งที่วัดได้สอนได้และไม่บ่มไม่เกลา Soft Skills นับวันอาจยิ่งเสี่ยงต่อการถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์และเทคโนโลยี

 

เยาวชนเห็นความสำคัญของ Soft Skills

 

ที่สำคัญคือผู้ใหญ่เราต้องรับรู้ว่าเยาวชนไทยตระหนักถึงความสำคัญของ Soft Skills พอสมควรแล้ว โดยในแบบสอบถามที่ให้คนเลือกจาก 10 ทักษะว่าอันไหนบ้างที่เขาคิดว่าสำคัญที่สุดสำหรับอนาคต ปรากฎว่าที่เยาวชนไทยเลือก 5 อันดับแรก คือ ภาษา ทักษะทางอารมณ์และการสื่อสาร (Emotional Intelligence and Communication) และ การใช้เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถในการปรับตัว คือส่วนใหญ่เป็น Soft Skills

นอกจากนั้นประเทศไทยยังเป็นแห่งเดียวในอาเซียนที่ให้ ทักษะทางอารมณ์และการสื่อสาร อยู่ในท็อป 3 ของทักษะแห่งอนาคต ขอตั้งข้อสังเกตว่าทั้ง 3 ข้อเป็นทักษะที่สำคัญมากสำหรับภาคบริการเช่น การท่องเที่ยว ที่เป็นอุตสาหกรรมหลักที่กำลังมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศ

 

แข็งเพื่ออ่อน อ่อนเพื่อแข็ง

 

ถ้างั้นสำหรับมนุษย์ในยุค AI “อ่อนสำคัญกว่าแข็ง” หรือเปล่า? คงต้องตอบว่า ไม่ใช่ เพราะการเรียนรู้ Hard Skills และ Soft Skills นั้นมีความเกี่ยวข้องผูกโยงกันอยู่อย่างลึกซึ้ง เรายังจำเป็นต้องเรียนและฝึกฝน Hard Skills อยู่ เพียงแต่ไม่ใช่เพื่อสอบ หรือเอาใบปริญญา แต่เรียนเพื่อให้ได้มาซึ่ง Soft Skills ที่เกี่ยวข้องด้วย

ตัวอย่างเช่น อาจจะเรียนcoding ไม่ใช่เพื่อให้รู้ภาษาคอมพิวเตอร์ แต่เพื่อให้ได้พัฒนาทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์และแก้ปัญหา เรียนภาษาไม่ใช่เพื่อให้พูดได้หลายภาษาเท่านั้น แต่เพื่อฝึกการสื่อสารและทำงานกับคนหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรม หัดเล่นกีฬาไม่ใช่เพื่อให้ต้องเป็นทีมชาติหรือนักกีฬาอาชีพ แต่เพื่อเข้าใจทีมเวิร์ค รู้แพ้ชนะ สร้างความอดทน เพราะ Soft Skills นั้นสอนแล้วฝึกกันตรงๆ ยาก บ่อยครั้งการเรียนรู้ Hard Skills จึงอาจเป็นเสมือนการใส่ ‘ปุ๋ย’ช่วย Soft Skills ให้เบ่งบานได้ เพียงแต่อย่าใส่มากไปโดยไม่เข้าใจจนกลายเป็นทำลายมันเท่านั้นเอง

ในทางกลับกันเมื่อเรามี Soft Skills ที่ดีก็อาจช่วยทำให้การเรียนรู้ Hard Skills ง่ายขึ้น เช่น หากมีความอึดอดทนสูง (Resilience) ก็ย่อมสามารถเรียนรู้ฝึกฝนภาษาต่างประเทศหรือแม้แต่ Coding ได้รวดเร็วขึ้น หากทักษะการสื่อสารดีขึ้นย่อมสามารถเรียนรู้จากการพบปะพูดคุยกับผู้คนได้ง่ายขึ้น เป็นต้น

สุดท้ายจะขอสรุปโดยใช้ภาษาหนังจีนกำลังภายในว่า เคล็ดวิชาพิชิตอนาคตของมนุษย์ในยุค AI อาจไม่ใช่อ่อนหรือแข็งสยบอนาคตแต่เป็นการใช้  “แข็งเพื่อสร้างอ่อน และอ่อนเพื่อสร้างแข็ง” ใช้ Soft และ Hard Skills สร้างเสริมกันและกันเพื่อการเรียนรู้ไร้ขีดจำกัด

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save