fbpx
ล่วงเลย...แต่ไม่เคยผ่านพ้น : ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไร ไม่ให้เหลือเธอ Happy Old Year

ล่วงเลย…แต่ไม่เคยผ่านพ้น : ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไร ไม่ให้เหลือเธอ Happy Old Year

 ‘นรา’ เรื่อง

 

 

Step 1 ทิ้งไปทิ้งไป อย่าเปิดนะ (และควรดูหนังก่อนอ่าน)

Pandora’s box เป็นสำนวนเปรียบเทียบซึ่งมีที่มาจากเทพปกรณัมกรีก หมายถึง สิ่งที่เป็นต้นตอของความเดือดร้อนยุ่งยาก

เรื่องราวในเทพปกรณัมเล่าถึง แพนดอรา ผู้หญิงคนแรกของโลก ที่เหล่าทวยเทพร่วมกันเนรมิตขึ้นมาจากก้อนดินเหนียว ด้วยเจตนาจะลงโทษ (ส่วนจะลงโทษใคร ด้วยสาเหตุใดนั้น ขออนุญาตไม่เล่าถึง มิฉะนั้นเรื่องมันจะยาว) พร้อมทั้งมอบของขวัญหรือคุณสมบัติพิเศษ บางองค์ประทานมนตร์เสน่ห์และความงาม บางองค์ดลบันดาลให้มีความสามารถในการร้องเพลง บางองค์เสกให้มีพรสวรรค์ในการเจรจาโน้มน้าวจิตใจ ฯลฯ

ในบรรดาสิ่งต่างๆ ที่เทพประทานนั้น มี 2 อย่างที่จะส่งผลกระทบในภายหลัง อย่างแรกเป็นกล่องใบหนึ่งที่ไม่รู้ว่ามีอะไรอยู่ภายใน พร้อมทั้งกำชับว่า ห้ามเปิด (คล้ายๆ กับผอบของพระเจ้าตาในเรื่องจันทโครพ) อีกสิ่งหนึ่งคือ นิสัยอยากรู้อยากเห็น ตรงนี้เทพปกรณัมหลายฉบับเล่าไว้ไม่ตรงกัน บ้างระบุว่า ซุส เทพผู้เป็นใหญ่เป็นฝ่ายดลบันดาลให้ เพื่อที่หลุมพรางกับดัก (ในการลงโทษ) จะได้บรรลุผล ขณะที่บางฉบับเล่าต่างออกไปว่า นิสัยดังกล่าวเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นเองในตัวของแพนดอรา แต่ความเป็นไปได้อย่างแรก ดูจะสอดคล้องกับเหตุการณ์โดยรวมมากกว่า

จำเนียรกาลผ่านมาอีกเนิ่นนานหลายปี แพนดอราใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุข จนกระทั่งวันหนึ่ง ความอยากรู้อยากเห็นก็ทำให้อดรนทนไม่ไหว ต้องละเมิดคำสั่ง แอบเปิดกล่องต้องห้าม แล้วพลันพบว่าภายในบรรจุความชั่วร้ายต่างๆ เอาไว้ครบครัน เมื่อหลุดออกมาแล้วก็ส่งผลต่อมนุษย์และโลกสืบต่อมา โดยไม่อาจแก้ไขยับยั้ง

อย่างไรก็ตาม ในห้วงขณะที่ความชั่วร้ายครบชุดหลุดรอดออกมา ด้วยอารามตกใจ แพนดอราจึงรีบปิดกล่อง และกักขังสิ่งชั่วร้ายท้ายสุดเอาไว้ได้ทันท่วงที สิ่งนั้นคือ ‘ความสิ้นหวัง’

ด้วยเหตุนี้ มนุษย์จึงยังคงมีความหวังอยู่เสมอ และเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนให้สามารถก้าวต่อไป (หลังจากอ้อมโลกไปไกล ในที่สุดผมก็หาทาง move on เข้าเรื่องหนังจนได้)

 

Step 2 minimal มันก็พุทธๆ เหมือนการปล่อยวาง

หนังเรื่อง ‘ฮาวทูทิ้ง… ทิ้งอย่างไร ไม่ให้เหลือเธอ’ (ถัดจากนี้ไปตลอดบทความ ผมจะเรียกแค่ว่า ‘ฮาวทูทิ้ง’ เพื่อความสะดวกปากและเป็น minimalism นะครับ) เล่าถึงหญิงสาวชื่อจีน ซึ่งมีความคิดที่จะเปลี่ยนบ้านให้เป็นออฟฟิศ ด้วยปัจจัยเอื้ออำนวยหลายอย่าง ทั้งทำเลที่ตั้งสะดวกกับการเดินทางและที่จอดรถ แต่อุปสรรคสำคัญคือ เธอนิยมชื่นชอบสไตล์การตกแต่งแบบ minimalism เน้นความราบเรียบและโล่งว่างของพื้นที่ ตรงข้ามกับสภาพบ้านที่แน่นขนัดไปด้วยสิ่งของเครื่องใช้ที่เก็บสะสมไว้มากมาย จึงต้องทำการสังคายนาขนานใหญ่ (ฟังดูพุทธๆ นะครับ ใช้คำว่าเก็บกวาดกำจัดทิ้งจะตรงกว่า)

ความยากประการแรกคือ การโน้มน้าวให้คนในครอบครัวเห็นพ้องคล้อยตาม โดยเฉพาะแม่ แต่เมื่อเกิดความขัดแย้งที่ไม่มีข้อยุติ จีนตัดสินใจลุยต่อโดยไม่ฟังอีร้าค่าอีรมใคร

ถัดมาคือ การเลือกว่าจะเก็บอะไร? ทิ้งอะไร? เบื้องต้นนั้นดูจะง่าย เพราะจีนเลือกที่จะทิ้งทุกอย่างที่ขวางหน้า แบบไม่ลังเล กระทั่งกลายเป็นการทำร้ายจิตใจพิงค์ เพื่อนสนิท และโดนตัดพ้อแบบ ‘แทงใจดำ’ จนเกิดความหวั่นไหวสั่นสะเทือน (หรืออาจจะเป็นการฟื้นตื่นขึ้นมาของความรู้สึกผิด)

เรื่องง่ายๆ อย่างการเก็บของต้องทิ้งใส่ถุงดำ เพื่อที่จะไม่รับรู้ว่ามีสิ่งใดอยู่ในนั้น จึงเริ่มจะกลายเป็นยาก เมื่อจีนเปลี่ยนใจยกเลิกการโละทุกอย่างให้พ่อค้าขายของเก่า ย้อนกลับมาพิจารณาทบทวนว่าควรจะจัดการกับข้าวของแต่ละชิ้นอย่างไรบ้าง?

นี่คือ การเปิดกล่องของแพนดอราครั้งที่หนึ่ง ไม่ได้เปิดเพราะความสงสัยใคร่รู้ แต่ด้วยเจตนาจะสะสางเงื่อนปมต่างๆ ให้หมดเรื่องค้างคาใจ หรือพูดอีกแบบเพื่อที่จะได้ ‘ปล่อยวาง’

 

 

Step 3 คนดีย่อมได้รับการให้อภัย

จีนเริ่มแยกแยะสิ่งของทีละชิ้น ส่วนหนึ่งเป็นสมบัติของเพื่อนๆ ที่หยิบยืมมาแล้วไม่คืน บทเรียนจากกรณีของพิงค์ ทำให้เธอตัดสินใจออกตระเวนคืนสิ่งของแก่เพื่อนๆ รวมทั้งชิ้นสำคัญคือ กล้องถ่ายรูปของพี่เอ็ม แฟนเก่าที่เธอเคยจบความสัมพันธ์เมื่อรู้สึกว่าเขาไม่ได้เป็นคนที่ ‘ใช่’ ด้วยการ ‘หายวับ’ ไปจากชีวิตของฝ่ายชายโดยไม่บอกกล่าวอธิบาย ด้วยลักษณาการคล้ายๆ  การดีดนิ้วของธานอสในหนังเรื่อง Avengers

คราวหนึ่งเมื่อพิงค์มาแวะเยือนที่บ้าน พบจีนกำลังนั่งแผ่อย่างเหนื่อยล้า จึงถามว่า ‘ไปทำอะไรมา’ คำตอบของจีนคือ ‘ไปทำตัวเป็นคนดี’

ย้อนถอยไปก่อนหน้านั้นเล็กน้อย เมื่อจีนนำของไปคืนเพื่อน ซึ่งลืมสิ่งนั้นไปแล้ว จีนได้รับคำชมกลับมาทำนองว่า เธอเป็นคนดีจังเลย ภาพตัดฉับถัดมาของหนัง เป็นข้อความบนกระดาษติดไว้บนผนังเขียนว่า ‘คนดีย่อมได้รับการให้อภัย’

ผมคิดว่า หนังใช้ข้อความดังกล่าว บอกเล่าความในใจของจีน อย่างแรกเธอรู้สึกบวกกับการแสดงตนเป็นคนดี อย่างต่อมาเธอปรารถนาการได้รับคำให้อภัย อย่างต่อมาของต่อมา คือเมื่อหวังจะได้รับการปลดเปลื้องยกโทษให้จากผู้อื่น นั่นหมายความว่า เธอต้องเคยกระทำผิดต่อผู้นั้น และอย่างสุดท้าย เบื้องลึกในใจของจีน เธอถูกรบกวนด้วยความรู้สึกผิด

 

Step 4 ถ้ามึงไม่แคร์นะ…

เดิมทีกล้องของพี่เอ็มนั้น จีนไม่ได้นำไปคืนด้วยตนเอง แต่ส่งทางไปรษณีย์แล้วโดนตีกลับ ด้วยเหตุผลว่า ปลายทาง ‘ไม่ยอมรับ’

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เจ้าของเดิมแสดงอาการปฏิเสธไม่ยอมรับ มันเคยเกิดขึ้นมาแล้วกับเพื่อนที่ชื่อแบม ซึ่งไม่ยกโทษให้เมื่อจีนนำเชลโลไปคืน

ถึงตรงนี้ จีนก็โดนย้ำ ‘แผลเก่า’ ให้ความรู้สึกผิดก่อตัวชัดขึ้น จนร่ำๆ ว่าจะเข้าขั้น ‘จีนเหลือทนแล้วนั่น’

ถึงตรงนี้ผมควรจะขัดจังหวะความราบรื่นต่อเนื่องในการอ่านด้วยเช่นกัน โดยหันเหเปลี่ยนไปพูดถึงบุคลิกนิสัยใจคอของจีน

นับจากเริ่มเรื่องเป็นต้นมา ภาพของจีนคือหญิงสาวที่เชื่อมั่นในตนเอง เอาแต่ใจ (หรือพูดให้หนักข้อ คือเห็นแก่ตัว) ไม่ใส่ใจหรือคำนึงถึงหัวอกของผู้อื่น เย็นชา ไร้หัวจิตหัวใจ

พูดง่ายๆ คือ เป็นคนที่ ‘ไม่แคร์’ ต่อผู้คนรอบข้างในชีวิต

ทว่านับตั้งแต่เริ่มจัดบ้าน เกิดกรณีของพิงค์ คำชื่นชมสรรเสริญจากเพื่อน การโดนแบมตัดเพื่อนแบบไม่เหลือเยื่อใย รวมถึงได้รับพัสดุไปรษณีย์ตีกลับมายังผู้ส่ง

ทั้งหมดนี้ สะท้อนชัดว่า จีนหวั่นไหวไปกับทุกท่าทีที่แสดงออกต่อตัวเธอทั้งด้านบวกและด้านลบ รู้สึกดีเมื่อได้รับคำชม รู้สึกแย่เมื่อผลลัพธ์หรือการตอบสนองไม่เป็นไปตามคาด

ในมุมมองของผม จีนเป็นคนที่ ‘แคร์’ ว่าคนอื่นจะคิดจะรู้สึกอย่างไรกับเธอเอามากๆ

ถึงตรงนี้ ตัวละครชื่อพิงค์ก็สนับสนุนความคิดผม (หรือในทางตรงข้าม เธอเป็นฝ่ายทำให้ผมคิดอย่างย่อหน้าที่แล้ว) เมื่อจีนเปรยออกมาประมาณว่า รู้งี้ไม่ส่งกล้องของพี่เอ็มคืนไปเสียตั้งแต่แรก เรื่องคงจะจบๆ ลง ไม่เห็นต้องแคร์อะไรเลย

คำวินิจฉัยของพิงค์ก็คือ ถ้ามึงไม่แคร์จริงๆ นะ เรื่องมันคงจะจบลงตั้งแต่ซาเล้งไปแล้ว

(ผมคิดว่าด้วยความแคร์ ความรู้สึกผิด) จีนจึงตัดสินใจนำของไปคืนพี่เอ็ม ไปโดยแบกพกความรู้สึกกล้าๆ กลัวๆ เอาไว้เต็มบ่า

ผมคิดว่า การเผชิญหน้ากับพี่เอ็ม สามารถนับเนื่องเป็นการเปิดกล่องของแพนดอราอีกแบบได้นะครับ

 

 

Step 5 เราดีใจที่เจอเธอ จะให้เราด่าอะไรล่ะ

ผลลัพธ์ของการที่จีนไปพบพี่เอ็ม ลงเอยด้วยดีเกินกว่าที่คิด คำขอโทษได้รับการให้อภัย แม้จะมีราคาค่างวดที่ต้องจ่ายอยู่บ้าง อย่างการได้พบว่า แฟนเก่ามีคนรักใหม่ แต่การคลี่คลายเงื่อนปมในใจที่รัดแน่น ก็นำมาซึ่งความปลอดโปร่งโล่งอก

เรื่องควรจะจบสวยมีความสุขกันทุกๆ ฝ่าย แต่ก็มีเหตุการณ์สืบเนื่องติดตามมาอีกเล็กน้อย เมื่อพี่เอ็มกับแฟนปัจจุบัน นัดจีนกินข้าว เพื่อนำสิ่งของมาคืน

ครั้งนี้กล่องของแพนดอราเป็นกล่องจริงๆ และหญิงสาวก็เปิดมันออกมาด้วยความสงสัยใคร่รู้ ทั้งๆ ที่ได้ห้ามปรามตนเองแล้ว

แม้ภายในนั้นจะไม่ได้บรรจุสรรพความชั่วร้ายทั้งหลายประดามี แต่สิ่งหนึ่งในนั้น นำพาจีนไปรับรู้ข่าวร้าย

จากข่าวร้ายนั้นก็ต่อโยงไปยังเรื่องร้ายและความเจ็บปวดเสียใจอื่นๆ ติดตามมาเป็นลูกโซ่

ที่สำคัญคือ เรื่องราวถัดจากนี้ไปจนจบ ความเสียหายไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับจีนเพียงคนเดียว แต่เจ็บกันระนาวเป็นหมู่คณะ

 

Step 6 ถุงดำ

หนังเรื่อง ‘ฮาวทูทิ้ง’ มีเหตุการณ์ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการ ‘เก็บ’, ’ทิ้ง’ และ ‘คืน’ สิ่งของระหว่างตัวละคร กระทั่งว่ากินความครอบคลุมไปถึง ‘การจดจำ’ และ ‘อยากลืม’ การเป็นฝ่ายกระทำและเป็นผู้ถูกกระทำ

แต่จุดใหญ่ใจความที่ผมสนใจและรู้สึกสนุกในการไตร่ตรองนึกถึงมากสุด คือ การถามเอง-ตอบเอง ว่าจีนเป็นคนอย่างไร? อะไรคือต้นสายปลายเหตุที่ทำให้เธอมีภาพภายนอกเป็นเช่นนั้น?

โดยวิธีการเล่าของหนัง ส่งผลให้จีนเป็นศูนย์กลางของเรื่องราวทั้งหมด มีรายละเอียดมากเพียงพอที่จะ ‘อ่าน’ ตัวละครได้

ขณะที่ตัวละครรายล้อมอื่นๆ หนังให้พื้นเพแค่บางแง่มุม (เพื่อประกอบร่างและนำไปสู่เรื่องของจีน) แบบเจตนา ‘ละไว้’ ไม่กล่าวถึง ลักษณะเช่นนี้มีอยู่มากมาย ตัวอย่างเช่น สาเหตุที่ทำให้แบมโกรธจีนถึงขั้นตัดเพื่อน สาเหตุที่นำไปสู่ความสัมพันธ์ดังเช่นที่เกิดขึ้นระหว่างพี่เอ็มกับมี่ รวมทั้งสาเหตุที่เกิดขึ้นในครอบครัวระหว่างพ่อกับแม่ของจีน

ผมมองว่า จีนเป็นตัวละครที่มี 2 ด้าน ภายนอกนั้นเป็นคนที่ไม่น่ารัก ไม่น่าคบหา ดังที่ได้เขียนถึงลงรายละเอียดไปแล้ว

ในอีกด้านหนึ่ง ผมมองว่าจีนเป็นตัวละครที่น่าสงสาร น่าเห็นใจ (ซึ่งผมคิดว่า แตกต่างจากการเป็นตัวละครที่ผู้ชมรู้สึกรักและเอาใจช่วยนะครับ) มีความเปราะบาง มีบาดแผลทางใจกรีดลึก อันเกิดจากปัญหาครอบครัวที่หนังไม่ได้เล่าถึงต้นเหตุให้ละเอียดกระจ่างชัด แต่เน้นไปยังผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับชีวิตต่อมาของแม่ พี่ชาย และจีน

ผมเข้าใจอย่างนี้ครับว่า จีนเป็นคนอ่อนไหว ช่างรู้สึกรู้สาเจ็บปวดได้ง่าย และยากจะทนทานแบกรับสิ่งต่างๆ ในทางลบที่เกิดขึ้นกับตนเอง จึงเกิดกลายเป็นกลไกป้องกันตนเอง เพื่อให้สามารถยืนหยัดใช้ชีวิตก้าวต่อไปได้ท่ามกลางชีวิตที่เต็มไปด้วยเรื่องราวโหดร้าย

พูดแบบเปรียบเปรยคือ จีนจัดการกับปัญหาชีวิตคล้ายๆ กับการนำสิ่งของทิ้งไปในถุงดำ เป็นวิธีหลบหนี หลีกเลี่ยง หันหลังให้ปัญหา หรือเอาตัวรอด ด้วยการ ‘รับรู้’ น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ความน่าสะเทือนใจนั้นอยู่ที่ว่า การใช้ถุงดำเพื่อดำเนินชีวิตถี่บ่อยมากเข้า ก็สั่งสมสร้างเปลือกห่อหุ้มกลายเป็นความเย็นชา ไร้น้ำใจ และครุ่นคำนึงถึงแต่ตนเอง

ขั้นหนักหนาสาหัสสุดคือ ด้วยบาดแผลจากการเจ็บเพราะเป็นฝ่ายถูกกระทำ บางหนบางขณะคนที่บอบช้ำแบบจีนก็ข้ามฟากมาชิงลงมือเป็นฝ่าย ‘ทำร้าย’ ผู้อื่นเสียเอง

 

 

Step 7 บ้านนะ ไม่ใช่มิวเซียม

จุดขับเคลื่อนที่ทำให้เกิดเป็นเส้นเรื่อง คือ การที่ตัวละครอยากเปลี่ยนโฉมบ้านให้เป็นออฟฟิศ แล้วในระหว่างดำเนินการนั้นเอง ก็พบว่า บ้านมีความเป็นมิวเซียมส่วนตัว บรรจุสิ่งของและความทรงจำดีร้ายมากมายก่ายกอง

ในท่ามกลางสมบัติที่ลดฐานะเป็นขยะ (ทั้งที่บ้านของจีนและบ้านพี่เอ็ม) มีสิ่งของ 2-3 ชิ้นที่ผมอยากจะชี้ชวนให้ดูกันนาน ๆ หน่อย

ชิ้นแรกเป็น ภาพถ่าย

ภาพที่สำคัญคือ ภาพครอบครัวในวัยเด็ก และภาพขณะที่จีนไปค้นรูปให้เพื่อน ณ บ้านของพี่เอ็ม (เป็นภาพของจีนขณะที่ยังไม่ได้เลิกแบบไม่บอกลากับพี่เอ็ม)

ประการแรกคือ ในภาพถ่ายเหล่านี้ จีนไม่ได้สวมเสื้อขาวเหมือนที่เห็นในหนังตลอดทั้งเรื่อง (แน่นอนครับว่า การสวมเสื้อขาว คือส่วนเสริมให้เห็นถึงความเป็นผู้นิยมใน minimalism) แต่ผลพลอยได้หรือของแถมที่พ่วงมาด้วยก็คือ เมื่อผ่านตาบ่อยๆ เข้า ก็สะสมความรู้สึกแห้งแล้ง เย็นชา ไร้ชีวิตชีวา

ประการต่อมา ในภาพเก่า เราได้เห็นช่วงเวลาที่จีนมีความสุขอย่างแท้จริง เป็น Happy Old Day ตรงตามชื่อภาษาอังกฤษ ได้เห็นจีนหัวเราะแบบปล่อยไปจนสุด (ขณะที่ภาคปัจจุบัน สีหน้าของจีนมักนิ่งเฉย หรือหากจะยิ้มก็ยิ้มไม่เต็ม บางครั้งก็เข้าอีหรอบ ‘หน้าชื่นอกตรม’)

สิ่งของต่อมาเป็นเครื่องดนตรี เท่าที่ปรากฎในหนังมี 2 ชิ้นคือ เชลโลและเปียโน จะเป็นเจตนาของหนังหรือไม่ก็ตาม เครื่องดนตรีทั้ง 2 ชิ้น สื่อนำไปยังบั้นปลายที่เศร้าเจ็บปวด โดยเฉพาะเปียโน ซึ่งหากจะมองหาสิ่งใดเป็นสัญลักษณ์ในหนัง เปียโนนี้มีความเด่นชัดมากสุด

มันจะเกี่ยวโยงหมายถึงอะไรก็เชิญชวนไปดูและตีความกันตามอัธยาศัยนะครับ

สิ่งกระทบใจผมเกี่ยวกับเปียโนดังกล่าว มีอยู่หลายฉาก แต่ที่รู้สึกเป็นพิเศษ คือ ฉากหนึ่งตอนท้ายที่จีนเข้าไปนั่งหน้าเปียโน แล้วบรรเลงเพลง Happy Birthday ซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวตลอดทั้งเรื่อง ที่มีใครสักคนเล่นเปียโนหลังนี้จริงๆ

อีกครั้ง คือ ภาพจบที่ค่อยๆ จับสีหน้าแสดงอารมณ์ความรู้สึกของจีน แล้วตัดสลับไปยังภาพ ห้องที่เคยมีเปียโนในสภาพโล่งว่าง

ผมดูแล้วก็สงสัยอยากรู้นะครับว่า ตอนที่จีนมองไปตรงนั้น เธอมองเห็นหรือไม่เห็นเปียโนตั้งวางอยู่

บนเส้นทางการเปลี่ยนบ้านเพื่อทำเป็นออฟฟิศ แล้วได้พบเจอมิวเซียม ท้ายที่สุด บ้านก็ไม่เป็นบ้านจริงๆ (ทั้งในความหมายถึง การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของพื้นที่ และความเป็นครอบครัวที่แตกร้าวไม่เป็นครอบครัว)

ผมไม่แน่ใจ แต่คิดว่ามีความเป็นไปได้อยู่เยอะทีเดียวว่า บางทีบ้านของจีนอาจจะไม่ได้เป็นบ้านมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว

ตั้งแต่ตอนที่มันยังมีสภาพรกรุงรังเป็นมิวเซียมนั่นแหละ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save