fbpx
รัสเซียบนระเบียบโลกใหม่ กับ กัณฐัศศา พงษ์หิรัญ

รัสเซียบนระเบียบโลกใหม่ กับ กัณฐัศศา พงษ์หิรัญ

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา รัสเซียกำลังกลับมาเป็นผู้เล่นหลักในเวทีโลกอย่างน่าจับตามอง ยิ่งในช่วงระเบียบโลกกำลังปั่นป่วน บทบาทในเวทีการเมืองโลกของรัสเซียยิ่งแหลมคม

กระนั้น ผลประโยชน์ของรัสเซียก็มีความเฉพาะตัว ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกับผู้เล่นหลักค่ายใดในโลก

รัสเซียอยู่ตรงไหนในภูมิศาสตร์การเมืองโลก อะไรคือวิสัยทัศน์ของรัสเซียต่อระเบียบโลกใหม่ และอะไรคือฝันใหญ่ของวลาดิเมียร์ ปูติน

101 เก็บความบางส่วนจากการสนทนากับ ดร.กัณฐัศศา พงษ์หิรัญ โครงการรัสเซียศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

:: ประธานาธิบดีตลอดชีวิต ::

 

รัสเซียบนระเบียบโลกใหม่ กับ กัณฐัศศา พงษ์หิรัญ

ถ้าถามว่าประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ในช่วงปี 2020 ต่างจากก่อนหน้านี้อย่างไร สิ่งที่แตกต่างน่าจะเป็นเรื่องเส้นทางการเลือกอยู่ในตำแหน่งว่าเขาจะอยู่ในลักษณะไหน มีนักวิชาการหลายท่านเคยนำปูตินไปเทียบกับระบอบ ‘ชราธิปไตย’ โดยดูตัวแปรในเรื่องอายุ คือพออยู่ในตำแหน่งมากขึ้น มีอายุส่วนตัวและอายุงานที่มากขึ้น ก็จะส่งผลต่อทิศทางเดิมที่เคยเป็นประชาธิปไตยมาสู่ชราธิปไตย

การดูเรื่องระบอบชราธิปไตย อย่างแรกต้องดูเรื่องอายุ ทั้งอายุของผู้นำและผู้บริหารระดับสูงรอบตัว ถ้าพูดถึงการปกครองแบบชราธิปไตยในสมัยสหภาพโซเวียตก็คือยุคของ Leonid Brezhnev ที่อยู่ในอำนาจจนมีอายุมาก และยังเกิดรูปแบบการปกครอง ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของระบอบชราธิปไตย เพราะเขาใช้ระบอบ Stagnation คือระบอบแช่แข็ง การอับเฉาทางปัญญา การแช่แข็งทางการเมืองและสังคม เมื่อเกิดการแช่แข็งแบบนี้ การปฏิรูปก็ถูกปฏิเสธ เพราะแม้การปฏิรูปจะเกิดผลดีกับคนส่วนใหญ่ แต่ก็จะเกิดผลร้ายกับคนกลุ่มเล็กๆ ที่ปกครองเช่นเดียวกัน Brezhnev จึงปฏิเสธการปฏิรูป เพื่อที่จะให้ตัวผู้นำและกลุ่มโปลิตบูโรสามารถอยู่ในตำแหน่งได้นานที่สุด จึงเกิดเป็นวลีที่ว่า แช่แข็งให้ทุกอย่างหยุดนิ่ง ไม่มีการสร้างแง่มุมใหม่ๆ สมาชิกพรรคหัวก้าวหน้าก็จะต้องอยู่นิ่งๆ ทุกอย่างจะได้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

นักวิชาการหลายท่านมีคำถามว่า ระบอบนี้จะเกิดกับปูตินหรือไม่ ซึ่งก็ทั้งมีโอกาสและไม่มีโอกาสเกิด หรืออาจจะเกิดแค่ส่วนหนึ่ง แต่ปรับรูปแบบไปก็ได้ อย่างไรก็ดี ถ้ามองในเรื่องอายุก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นโมเดลที่ใกล้เคียงกันอยู่ แต่ปูตินอาจจะมองว่านี่ไม่ใช่ยุคโซเวียต การแช่แข็งทางสังคมการเมืองคงเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะปัจจุบันต้องยอมรับว่าเสียงภาคประชาชนมีพลังมาก ถ้ามีการแช่แข็งแค่ส่วนหนึ่งก็ต้องถูกประท้วงแน่นอน ปูตินจึงอาจจะมีวิถีทางแช่แข็งแบบเนียนๆ คืออาจจะไม่ได้ทั้งหมด ต้องมีการเคลื่อนไหวให้คนรู้สึกได้บ้างว่า มันยังมีการเคลื่อนไหวอยู่

ดังนั้น การแช่แข็งในมุมมองของปูตินคงไม่ใช่การหยุดพัฒนา แต่เป็นในแง่อำนาจเสียมากกว่า เพราะเขาก็มองว่ายังต้องมีการบริหารต่อไป แต่ทำอย่างไรปูตินจึงจะอยู่ในอำนาจได้ตลอดจนถึงปี 2036 และเกษียณตัวเองอย่างงดงาม หลายสื่อรวมถึงตัวอาจารย์เองมองว่า เขาอาจเป็นผู้นำตลอดชีวิต โดยดูจากองค์ประกอบและตัวแปรที่ถึงพร้อมหลายอย่าง ตอนนี้เวลาก็ผ่านมา 20 ปีแล้ว เครือข่ายทางอำนาจของปูตินมีความมั่นคงมาก การที่ทุกคนคิดว่า ปูตินจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไปตลอดชีวิตจึงไม่ได้เกินความคาดหมายแต่อย่างใด

:: กระบวนการถ่ายโอนอำนาจของปูติน ::

 

รัสเซียบนระเบียบโลกใหม่ กับ กัณฐัศศา พงษ์หิรัญ

 

การที่ดมิททรี เมดเวเดฟ (Dmitry Medvedev) ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีฮาอิล มีชุสติน (Mikhail Mishustin) ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน ก็เป็นเรื่องที่มีคนคาดเดาไปต่างๆ นานา แต่เท่าที่พิจารณาจากข้อมูลหรือหนทางที่เคยเป็นมา ตรงนี้น่าจะเป็นกลไก กระบวนการ หรือรูปแบบการถ่ายโอนอำนาจของปูติน เราจะเห็นว่าในช่วงปี 2008-2012 ซึ่งปูตินสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ก็มีการสลับให้เมดเวเดฟขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และปูตินไปดำรงตำแหน่งนายกฯ แทน แต่เมดเวเดฟก็เหมือนเป็นประธานาธิบดีใต้เงาปูติน อีกทั้งในช่วงที่เมดเวเดฟดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ยังมีการปรับแก้รัฐธรรมนูญเรื่องการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี จากที่มีวาระ 4 ปีให้เป็น 6 ปี และอยู่ได้ 2 วาระ ซึ่งก็เหมือนเป็นการปูทางอย่างหนึ่ง และพอเมดเวเดฟหมดวาระ ปูตินก็กลับมาเป็นประธานาธิบดีแทน

พอถึงตอนนี้ การที่เมดเวเดฟประกาศลาออกน่าจะเป็นเกมหรือกระบวนการทางการเมืองในการถ่ายโอนหรือโยกย้ายอำนาจอย่างหนึ่ง เพราะเมดเวเดฟได้ไปเป็นรองผู้อำนวยการสภาความมั่นคงแห่งรัฐ ซึ่งประธานสภาฯ ก็คือตัวประธานาธิบดี ตรงนี้จึงน่าจะเป็นลักษณะการถ่ายอำนาจให้ควบคุมได้ง่ายขึ้น

ส่วนเหตุผลที่นายกฯ คนใหม่คือมีชุสติน เพราะเขาถือเป็นเทคโนแครตคนสำคัญที่มีผลงานเข้าตาปูตินในแง่การเก็บภาษีอากรที่มีประสิทธิภาพ และยังเป็นนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่เก่งมากคนหนึ่ง มีซุสตินจึงน่าจะได้รับความไว้วางใจในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของรัสเซียที่ยังลุ่มๆ ดอนๆ อยู่ อีกอย่างหนึ่ง การเลือกเทคโนแครตที่แทบไม่มีฐานอำนาจหรือความนิยมส่วนตนเลยก็จะเข้าทางปูติน คือให้เข้ามาบริหาร แต่ไม่ได้มาแทรกแซงความมั่นคงของประธานาธิบดี

:: ปัญหาด้านดินแดนภายในรัสเซีย ::

 

รัสเซียบนระเบียบโลกใหม่ กับ กัณฐัศศา พงษ์หิรัญ

 

การขยายดินแดนแบบตอนไครเมียอาจจะไม่ได้สร้างความชอบธรรมทางอำนาจในอนาคตให้แก่ปูติน เพราะที่ผ่านมาวิกฤตการณ์ไครเมียก็ไม่ได้ส่งผลดีแต่อย่างใด ซ้ำยังทำให้เศรษฐกิจทรุดจากการถูกคว่ำบาตร เพราะการผนวกดินแดนหรือมีการลงประชามติแบบที่ไม่ได้โปร่งใส 100% หรือมีการแทรกแซงทางวัฒนธรรม ย่อมไม่ก่อให้เกิดผลดีในแง่การสนับสนุนฐานเสียงในอนาคต

ถ้าจะให้มองอนาคตเรื่องการขยายดินแดนของรัสเซีย การไปผนวกดินแดนอื่นน่าจะไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเหมือนตอนไครเมีย แต่สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นคือ รัสเซียต้องใช้ความพยายามในการรักษาดินแดนเดิมที่มีอยู่ตอนนี้ไม่ให้ถูกแยกตัวออกไปมากกว่า สิ่งที่ปูตินต้องระวังคือกระแสชาตินิยมหรือกระแสท้องถิ่นนิยมที่อาจจะเกิดขึ้น เราจะเห็นว่า รัสเซียเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ที่สุดในโลก และยังเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย พูดง่ายๆ คือเป็นพหุวัฒนธรรมและพหุสังคม ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ยังไม่สามารถกลืนไปกับวัฒนธรรมหรือนโยบายจากส่วนกลาง เช่น ในบางท้องที่ของไซบีเรีย หรือในตะวันออกไกล ที่สำคัญคือ หลายท้องถิ่นมีการต่อต้านนโยบายจากส่วนกลางในแง่การกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน และเกิดเป็นกระแส separatism หรือกระแสการแยกตัวเอง แบ่งดินแดนออกมาเป็นอิสระ สามารถปกครองตนเอง ไม่อยู่ใต้รัสเซียอีกต่อไป ถามว่าเรื่องนี้สามารถเกิดขึ้นได้ไหม ก็ต้องบอกว่ามีแนวโน้มสูงที่จะเกิดขึ้น และเป็นสิ่งที่ปูตินต้องระมัดระวังอย่างมาก

เราอาจมองว่ารัสเซียเป็นประเทศที่เข้มแข็ง มั่นคง และดูเป็นเนื้อเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วมีความเปราะบางเยอะมาก เพราะมีพื้นฐานมาจากพหุสังคมและพหุวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นถ้ากระแสชาตินิยมเข้มแข็งมากกว่านโยบายจากส่วนกลาง ก็อาจจะนำมาซึ่งการแยกตัวสำเร็จ และถ้าสำเร็จ สิ่งที่อาจจะเกิดตามมาได้ในอนาคตคือ รัสเซียอาจจะแตกเป็นเสี่ยงๆ เหมือนทฤษฎีโดมิโนตอนที่โซเวียตจะแยกตัวในลักษณะนั้น เพราะปัจจุบัน เทคโนโลยีทำให้โลกไร้พรมแดน แม้จะอยู่ห่างไกลแค่ไหนคุณก็เข้าถึงเทคโนโลยีได้ เทคโนโลยีจะทำให้เรามองย้อนกลับมาว่า เราเป็นใคร และรับรู้ตัวตนของเรา รวมถึงสามารถรักษาและส่งต่อตัวตนของเราได้ เช่น เรื่องสำนึกรักบ้านเกิดหรือวัฒนธรรมท้องถิ่น ตรงนี้จะเป็นกระแสชาตินิยมที่ทำให้รู้สึกว่าเราเป็นเรา ไม่จำเป็นต้องทำตามนโยบายกลางก็ได้ ถ้าความคิดนี้ถูกหลอมรวมเป็นก้อนที่เข้มแข็งมากขึ้น ในอนาคตก็อาจจะเกิดการแยกตัวได้ ดังนั้น ประเด็นที่ปูตินต้องระวังน่าจะไม่ใช่เรื่องการผนวกรวมดินแดนอื่น แต่ต้องระวังดินแดนข้างในของตนเองมากกว่า

:: รัสเซียในระเบียบโลกใหม่ ::

รัสเซียบนระเบียบโลกใหม่ กับ กัณฐัศศา พงษ์หิรัญ

ถ้าเรามองรัสเซียตั้งแต่ช่วงที่ปูตินขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในสมัยแรก อย่างแรกที่ปูตินต้องพยายามแก้ไขคือ เรื่องความกินดีอยู่ดีในประเทศและการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ในช่วงสมัยแรกและวาระแรกของปูติน รัสเซียมีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและเติบโตแบบก้าวกระโดด ตอนนั้นพลังงานมีราคาสูงขึ้นมา ซึ่งรัสเซียก็เป็นผู้ส่งออกพลังงานและมีพลังงานสำรองในประเทศมหาศาล จุดนี้จึงเป็นสปริงที่ดันให้รัสเซียก้าวขึ้นมา และไปต่อยอดกับประเด็นอื่นๆ ได้ เช่น ความมั่นคง ดังจะเห็นว่า จุดที่รัสเซียมักแสดงถึงความเป็นมหาอำนาจ นอกจากเรื่องที่พยายามเข้าไปมีบทบาทในภูมิภาคต่างๆ แล้ว ก็จะเป็นเรื่องความมั่นคง การทหาร ทุกปี เราจะได้ยินข่าวการโปรโมทอาวุธหรือขีปนาวุธใหม่ๆ เสมอ ถึงไม่ได้ตั้งแสดงออกมา ก็อาจจะโชว์ผ่านทางพาเหรดแห่งชัยชนะ (Moscow Victory Day Parade) เหมือนจะบอกเป็นนัยว่า ความมั่นคงของเขาอยู่จุดไหน และเขาอยู่ระดับไหนของเวทีการเมืองโลก

ตอนนี้ถือได้ว่ารัสเซียเป็นมหาอำนาจ แต่ไม่ใช่มหาอำนาจหนึ่งเดียว และอาจจะไม่ได้อยู่ในลำดับที่ 1-2 เพราะการจะเป็นมหาอำนาจต้องมีปัจจัยหลายอย่างเป็นพื้นฐานผลักดัน โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่จะมาคอยสนับสนุน เท่ากับว่าในปัจจุบัน หากรัสเซียพยายามสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้มากขึ้นได้เท่าไหร่ ก็ถือว่าเป็นการสร้างความมั่นคงในการก้าวไปสู่ความเป็นมหาอำนาจได้มากขึ้นเท่านั้น

ขณะที่ในสมการระเบียบโลกใหม่ รัสเซียพยายามจะไม่แสดงตนเป็นปรปักษ์กับใครอย่างชัดเจน คือวางตัวแตกต่างไปจากสมัยสงครามเย็น อย่างเช่นจีน รัสเซียแสดงตนเปิดเผยในฐานะพันธมิตร ซึ่งไม่ใช่แค่พันธมิตรที่คุยกันตามงานประชุมต่างๆ แต่เป็นพันธมิตรแบบผู้ที่เป็นมิตรต่อกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน เราจะเห็นภาพปูตินสอนประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ทำแพนเค้ก Blini ซึ่งเป็นอาหารประจำชาติรัสเซีย และยังดื่มวอดก้าด้วยกัน กิจกรรมพวกนี้แสดงให้เห็นถึงความสนิทชิดเชื้อและความไว้ใจกัน และยังส่งผลให้ประเทศอื่นที่มองอยู่เห็นความใกล้ชิดของรัสเซียและจีนด้วย

ส่วนฝั่งสหรัฐฯ แม้ตอนนี้สหรัฐฯ จะแสดงตัวเหมือนกับที่รัสเซียเคยทำ คือแสดงตนเป็นปรปักษ์ แต่ก็ถือว่าอ่อนลงมาก จนหลายสื่อบอกด้วยซ้ำว่า ทรัมป์กลัวปูตินหรือเปล่า

:: รัสเซียกับสหภาพยุโรป ::

รัสเซียบนระเบียบโลกใหม่ กับ กัณฐัศศา พงษ์หิรัญ

ในช่วงวิกฤตการณ์ไครเมียในปี 2014 สหภาพยุโรป (EU) ประกาศคว่ำบาตรและตัดความร่วมมือทุกประการที่มีกับรัสเซีย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา รัสเซียมองว่าตนไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสหภาพยุโรปอีกต่อไป แต่นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัสเซียมองแบบนี้ เพราะในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 ช่วงวิกฤตการณ์โคโซโวในแถบคาบสมุทรบอลข่าน รัสเซียคิดว่า สหภาพยุโรปมองว่ารัสเซียไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของยุโรป ทั้งที่รัสเซียเคยมองตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของยุโรป

เพราะฉะนั้น ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 2000 เป็นต้นมา มีหลายเหตุการณ์ที่สหภาพยุโรปแสดงจุดยืนว่า พยายามต่อต้านรัสเซียอย่างชัดเจน หรือพยายามทำให้รัสเซียรู้สึกถึงกำแพงกั้นกับสหภาพยุโรป เช่น การที่สหภาพยุโรปพยายามรุกคืบเข้ามาเป็นผู้ส่งออกประชาธิปไตย หรือพยายามขยายประชาธิปไตยเข้ามาในดินแดนต่างๆ ของรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นเขตยุโรปตะวันออกที่เป็นเขตอิทธิพลเดิมที่อยู่ในยูโกสลาเวียเดิม เรื่อยมาจนถึงดินแดนเครือรัฐเอกราชของรัสเซียในปัจจุบันอย่างยูเครนหรือจอร์เจีย ตรงนี้ก็ทำให้รัสเซียมองว่าสหภาพยุโรปเริ่มเป็นภัยคุกคามเข้ามา

:: รัสเซีย – ไทย – อาเซียน ::

 

รัสเซียบนระเบียบโลกใหม่ กับ กัณฐัศศา พงษ์หิรัญ

 

รัสเซียกับไทยยังคงเป็นมิตรที่ดีต่อกัน มีความสัมพันธ์กันยาวนานถึง 123 ปี อย่างไรก็ดี แม้เราจะมีความสัมพันธ์กันยาวนาน แต่หลายคนก็ตั้งคำถามว่า ทำไมความสัมพันธ์ยังไปไม่ถึงไหน และยังมีอุปสรรคหลายอย่าง ตรงนี้อาจเป็นเพราะว่า ทั้งสองฝ่ายขาดความรู้ความเข้าใจซึ่งและกันอย่างดีพอ อย่างในไทย คนที่มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับรัสเซีย โดยเฉพาะเรื่องภาษายังมีน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงเป็นผลทำให้ความเข้าใจที่คนหมู่มากมีต่อรัสเซียน้อยไปด้วย เช่น ความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรม เพราะวัฒนธรรมเป็นเรื่องสำคัญมากในการทำการค้าหรือการมีปฏิสัมพันธ์กัน

แม้ว่าในปัจจุบันคนจะเริ่มมีความรู้เรื่องรัสเซียมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดและไม่ได้เป็นวงกว้าง ดังนั้น ถ้าเรายังขาดการสนับสนุนทรัพยากรบุคคลที่จะสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับรัสเซีย ความสัมพันธ์ก็อาจจะอยู่ในภาวะชะงักงันแบบนี้ต่อไป

ทั้งนี้ แม้ไทยกับรัสเซียจะมีความร่วมมือกันเป็นระยะ เช่น การริเริ่มความร่วมมือด้านพลังงานหรือการทหาร แต่สิ่งหนึ่งที่ยังขาดในความสัมพันธ์ของไทย-รัสเซียคือความไว้เนื้อเชื่อใจอย่างจริงจัง ถ้าเทียบกับเวียดนามที่เป็นอาเซียนเหมือนกัน เขามีความไว้เนื้อเชื่อใจกับรัสเซียในระดับที่สูงมาก ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่า ในช่วงสงครามเย็น เวียดนามร่วมอุดมการณ์กับรัสเซียมาก ส่วนไทยอิงกับฝั่งสหรัฐฯ เสียเยอะ แต่ถามว่าไทยกับรัสเซียมีจุดเริ่มต้นไหม มีเสมอ แต่ปัญหายังอยู่ที่เส้นทางระหว่างการจะไปถึงจุดสำเร็จนั้น

ถ้ามองในภาพกว้างอย่างอาเซียน รัสเซียให้ความสำคัญกับอาเซียนไม่มาก เพราะสถานะของรัสเซียในอาเซียนมีน้อยเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น และรัสเซียให้ความสำคัญกับเวียดนามเป็นอันดับหนึ่ง เพราะมีประวัติศาสตร์ร่วมกันยาวนาน ซึ่งสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจจนเป็นแรงผลักดันให้เกิดความร่วมมือแบบก้าวกระโดดได้ เช่น การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่กับประเทศอื่นในอาเซียน รัสเซียไม่ได้มีผลประโยชน์มากเท่าที่ควรจะเป็น และแม้รัสเซียจะแสดงตัวว่าสนใจอาเซียน แต่ก็ไม่ได้มีการกระทำที่แสดงออกถึงความสนใจชัดเจน เช่น เวลามีการประชุมหรือพบปะกันในระดับผู้นำ รัสเซียก็ไม่ได้ส่งคนระดับผู้นำมาร่วมประชุม แต่อาจจะส่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือตัวแทนมา ตรงนี้มีนัยสำคัญว่ารัสเซียให้ความสำคัญกับอาเซียนมากน้อยแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม อาเซียนก็พยายามต่อยอดเรื่องความสัมพันธ์นี้อยู่ เพราะอย่างน้อย ถ้าในอนาคตโครงการ Belt and Road Initiative ขยายตัวมาจากจีน อาเซียนก็จะพลอยได้ผลประโยชน์ตรงนี้ด้วย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save