fbpx
มือปืนป๊อปคอร์นไม่ได้หล่นมาจากฟ้า

มือปืนป๊อปคอร์นไม่ได้หล่นมาจากฟ้า

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง

 

7 พฤศจิกายน 2561 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในคดีมือปืนป๊อปคอร์น ตัดสินให้จำคุกจำเลยเป็นเวลา 37 ปี 4 เดือน จากการที่ใช้อาวุธปืนยิงเข้าไปในศูนย์การค้าไอทีสแควร์ ย่านหลักสี่ เมื่อ พ.ศ.2557 เป็นเหตุให้มีบุคคลได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตาย คำตัดสินนี้ถือว่าเป็นการยุติคดีซึ่งเป็นผลจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นเหตุการณ์หนึ่ง ในห้วงเวลาการแบ่งฝักฝ่ายครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ภายหลังจากคำตัดสินของศาลฎีกา ก็ได้นำมาซึ่งการทบทวนถึงเหตุการณ์ รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ในหลากหลายแง่มุม บางส่วนนำภาพของบุคคลที่เกี่ยวข้องมาแสดง บางส่วนแสดงความชื่นชมต่อคำวินิจฉัย อย่างไรก็ตาม บทความนี้ต้องการชี้ชวนให้ลองพิจารณาแง่มุมบางด้าน ด้วยหวังว่าจะสามารถนำไปสู่การทำความเข้าใจปมประเด็นมือปืนป๊อปคอร์นให้กว้างขวางมากขึ้น

 

มือปืนป๊อปคอร์น และมือปืนที่ไม่ได้ยิง

 

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เสนอความเห็นว่าเมื่อมีบุคคลกระทำความผิดขึ้น จำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อการกระทำดังกล่าว อันหมายถึง “อาชญากรไม่ได้หล่นมาจากฟ้า แต่ผุดขึ้นจากเนื้อนาดินของสังคม”

การทำความเข้าใจในลักษณะดังกล่าว มีจุดยืนทางความคิดอย่างน้อยสองประการ คือ หนึ่ง ความชั่วความดีไม่ได้มาจากกมลสันดานของปัจเจกบุคคลล้วนๆ  สอง สภาพแวดล้อมเป็นส่วนที่มีความสำคัญต่อการผลักดันให้บุคคลแต่ละคน กระทำการหรือไม่กระทำการใดๆ หากต้องการขจัดอาชญากรรมให้ลดน้อยลง ควรต้องให้ความสนใจต่อปัจจัยเหล่านี้พร้อมกันไปด้วย

หากยอมรับและพิจารณาปรากฏการณ์มือปืนป๊อปคอร์น ด้วยแง่มุมในลักษณะดังกล่าว ตัวผู้กระทำก็ไม่ได้หล่นมาจากฟ้า หากแต่เป็นบุคคลคนหนึ่งที่อยู่ในสังคมไทย การทำความเข้าใจต่อบริบทที่ห้อมล้อมเขา ก็อาจทำให้เราสามารถมองเห็นความรุนแรงนี้ได้ชัดเจนมากขึ้น

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงทศวรรษ 2550 การโจมตีให้ร้ายทางการเมืองด้วยการลดทอนความเป็นมนุษย์ เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในการเคลื่อนไหวของฝ่ายหนึ่ง การแปรเปลี่ยนมนุษย์ให้กลายเป็นสัตว์สีแดง, การเรียกร้องทางการเมืองที่กลายเป็น ‘สงคราม’ (ครั้งสุดท้ายอันไม่รู้จบ), การก่นประณามถึงฝ่ายตรงกันข้ามว่าเป็นคนชั่ว เสนียดแผ่นดิน เป็นต้น ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการปลูกฝังความเกลียดชังอย่างรุนแรงให้กับผู้ที่อยู่ภายใต้การปลุกเร้าอย่างต่อเนื่อง และเปิดทางให้กับการใช้ความรุนแรงติดตามมา กระทั่งผู้ที่ลงมือปลิดชีวิตก็ได้รับการยกย่องให้เป็น ‘ฮีโร่’

ดังนั้น ก่อนที่บุคคลซึ่งถูกเรียกขานว่ามือปืนป๊อปคอร์น จะลั่นกระสุนออกไป มีมือปืนจำนวนมากที่ได้ลั่นไกปล่อยกระสุนความเชื่อของตน จนเข้าไปฝังในความคิดของผู้คนในฝ่ายเดียวกันเรียบร้อยแล้ว จึงไม่เป็นที่แปลกใจ ที่จะเห็นอาการอันลิงโลดอย่างออกนอกหน้านอกตาของบรรดาผู้ยืนอยู่ในสีเดียวกัน    

แม้จะไม่ได้เป็นคนปลิดชีพผู้อื่นโดยตรง แต่มือปืนทางความคิดเหล่านี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อการกระตุ้นเร้าให้คนธรรมดาๆ กลายเป็นมือปืนผู้เหี้ยมโหดขึ้นมา คำถามสำคัญก็คือว่า จะมีกลไกใดๆ หรือไม่ในการควบคุมหรือจัดการกับแนวความคิดที่มีส่วนต่อการสร้างอาชญากรรมให้บังเกิดขึ้น

(ควรต้องย้ำว่าการกล่าวเช่นนี้ ไม่ได้ต้องการแก้ต่างว่าการใช้อาวุธปืนกระทำต่อผู้คนเป็นสิ่งที่ปราศจากความผิด การกระทำความรุนแรงต่อร่างกายและชีวิตของคนอื่น ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ในสังคมปัจจุบัน บุคคลที่ลงมือโดยตรง มีสติสัมปชัญญะ ย่อมไม่อาจปฏิเสธความรับผิดได้อย่างแน่นอน)

 

กระบวนการยุติธรรมเชิงเสี่ยงทาย

 

ภายหลังจากคำพิพากษาของศาลฎีกา บางคนบางฝ่ายอาจรู้สึกว่าได้รับความยุติธรรมแล้ว เนื่องจากคนทำความผิดได้รับการลงโทษ ขณะที่บางฝ่ายอาจไม่สู้จะเห็นพ้องกับแนวคำพิพากษานัก

ไม่ว่าจะมีความคิดเห็นไปในทิศทางใดก็ตาม มีข้อสังเกตบางประการก็คือว่า ในคดีมือปืนป๊อปคอร์น คำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ตัดสินลงโทษจำเลย ขณะที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง แต่พอมาในชั้นศาลฎีกาก็ได้กลับคำพิพากษา ด้วยการตัดสินลงโทษจำเลยเช่นเดียวกับศาลชั้นต้น

แน่นอนว่าในกระบวนการทางศาลของสังคมไทย ได้กำหนดให้มีระบบศาลไว้ 3 ชั้นด้วยกัน คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา เพื่อให้เกิดการตรวจสอบและทบทวนการวินิจฉัยของศาล ในกรณีที่คู่กรณีมีความเห็นที่แตกต่างไปจากคำวินิจฉัยของศาลในแต่ละระดับชั้น และการตัดสินของศาลก็วางอยู่บนหลักการเรื่องความเป็นอิสระของศาลในการตัดสิน การตัดสินของศาลชั้นต้นหรืออุทธรณ์ ไม่ได้เป็นผลให้ศาลในระดับสูงกว่าต้องผูกพันตามที่ได้มีคำพิพากษาไว้ก่อนหน้า

หลักการดังกล่าวเป็นสิ่งที่ควรได้รับการยอมรับอย่างไม่อาจปฏิเสธ แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดเป็นคำถามได้เช่นกันว่า ในคำตัดสินของศาลแต่ละระดับชั้น หากเป็นไปตามหลักวิชาหรือตรรกะในทางกฎหมายแล้ว ก็ควรจะต้องมีผลลัพธ์ในลักษณะที่ใกล้เคียง หรือไปในทิศทางเดียวกันใช่หรือไม่ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ แนวคำพิพากษาควรต้องมีความสม่ำเสมอ (consistency) ดำรงอยู่มิใช่หรือ คำตัดสินที่เหวี่ยงไปในคนละทิศทางของแต่ละศาล ย่อมทำให้เกิดคำถามได้ว่ามีหลักการพื้นฐานในการตัดสินอยู่หรือไม่

(อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีคำตัดสินคดีมือปืนป๊อปคอร์น ยังไม่ได้มีการเผยแพร่คำวินิจฉัยเต็มออกมา การวิเคราะห์เหตุผลและหลักการในคำตัดสินจึงยังไม่อาจกระทำได้อย่างชัดเจน จึงยังไม่อาจกล่าวได้ว่าในคดีดังกล่าวนี้ เป็นการตัดสินที่ดำเนินไปโดยปราศจากหลักการพื้นฐานร่วมกัน ประเด็นดังกล่าวคงต้องอาศัยการพิจารณาอย่างละเอียด ซึ่งจะสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อมีคำพิพากษาอย่างเป็นทางการเผยแพร่ออกมา)

กรณีความไม่สม่ำเสมอของแนวคำพิพากษาระหว่างศาลต่างระดับชั้น ไม่ได้ปรากฏเพียงในคดีนี้เท่านั้น หากพบเห็นได้อย่างกว้างขวาง มีคำพิพากษาในหลายคดีที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไปในทิศทางหนึ่ง ศาลอุทธรณ์มีความเห็นไปอีกทาง จบท้ายด้วยความเห็นของศาลสูงที่อาจเหมือนกับศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ก็ได้

คำตัดสินในศาลแต่ละระดับชั้นที่มีผลลัพธ์แตกต่างกันไปในทิศทางที่แตกต่างกันอย่างไพศาล ย่อมทำให้เกิดคำถามได้ว่ากระบวนการยุติธรรมในลักษณะดังกล่าวนี้ อาจมีความสุ่มเสี่ยงที่ไม่แตกต่างไปจากการโยนเหรียญที่พร้อมจะออกเป็นด้านหัวหรือก้อยก็ได้ หากวันใดที่กาละ/เทศะเอื้ออำนวย คำวินิจฉัยก็จะโน้มเอียงเข้ามาหาฝ่ายที่ตนยืนหรือเห็นพ้อง หากวันใดที่กาละ/เทศะไม่เอื้ออำนวย คำวินิจฉัยก็จะเอียงออกไปในทิศทางอื่น

กระบวนการยุติธรรมในลักษณะเช่นนี้ เป็นสิ่งที่จะสามารถสร้างคำตัดสินอันเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในสังคมได้กระนั้นหรือ

 

ไพร่ราบก็กลายเป็นเหยื่อ

 

แม้บุคคลที่ใช้ความรุนแรงสังหารผู้คนที่ย่านหลักสี่ จะถูกตัดสินลงโทษจำคุกเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน อย่างไรก็ตาม พึงตระหนักว่าบุคคลที่ถูกกระบวนการยุติธรรมลงโทษในที่นี้ เป็นเสมือน ‘ไพร่ราบ’ (หรืออาจเปรียบเปรยได้ว่าเป็นเหมือน foot soldier ซึ่งก็คือ บรรดาชาวบ้านที่ถูกติดอาวุธให้ไปทำการรบ แต่ไม่ใช่ทหารอาชีพ) โดยบุคคลเหล่านี้ไม่ได้มีตำแหน่งแห่งที่อันสำคัญในโครงสร้างของอำนาจรัฐ

ใช่หรือไม่ว่า ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้การใช้กระบวนการทางกฎหมายในการดำเนินการและลงโทษบุคคลเหล่านี้ จึงสามารถบังเกิดขึ้นได้

หากลองเปรียบเทียบกับ ‘วิสามัญมรณะ’ หรือการเสียชีวิตของบุคคลที่เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ก็จะพบว่าการสอบสวนเพื่อค้นหาความจริง กลับดำเนินไปอย่างยากลำบาก แม้ว่าหลายคนอาจระลึกถึงเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเมื่อ พ.ศ.2553 ซึ่งกระบวนการทางกฎหมายเป็นไปอย่างล่าช้าและสลับซับซ้อน แม้มีผู้คนสูญเสียชีวิตเป็นจำนวนมากก็ตาม

แต่ความสูญเสียที่เกี่ยวข้องกับน้ำมือของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ได้จำกัดเอาไว้เฉพาะในฝักฝ่ายทางการเมืองฝ่ายใดฝ่ายเดียวเท่านั้น กรณีการเสียชีวิตของนักเรียนเตรียมทหาร, ทหารเกณฑ์ในหลายคดี, เยาวชนชาติพันธุ์อย่าง ชัยภูมิ ป่าแส, ผู้ต้องสงสัยภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ, ผู้ต้องสงสัยจากคดีค้ายาบ้า ฯลฯ เหตุการณ์จำนวนมากก็ล้วนแต่ไม่มีความคืบหน้าอย่างชัดเจนบังเกิดขึ้น

ความยุ่งยากของกรณีวิสามัญมรณะ โดยเฉพาะเมื่อมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการตระหนักถึง เพราะเป็นอำนาจที่รุนแรงและไม่สามารถตรวจสอบได้ด้วยกระบวนการตามกฎหมายที่มีอยู่ ทั้งหมดนี้เป็นรากฐานที่สำคัญของการส่งเสริม ‘วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด’ ของผู้มีอำนาจให้เบ่งบานในสังคมแห่งนี้อย่างมาก

อาชญาวิทยาแนววิพากษ์ (Critical Criminology) สำนักหนึ่ง ได้เสนอว่ากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มิใช่กลไกในการจัดการความขัดแย้งระหว่างผู้คนอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม หากเป็นเพียงเครื่องมือของชนชั้นนำในการกำกับควบคุมผู้คนที่อยู่ภายใต้อำนาจปกครอง การบัญญัติความผิดทางกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายในความเป็นจริง จะเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นก็เฉพาะกับสามัญชนทั่วไป แต่ขณะที่การกระทำในลักษณะเดียวกันของบุคคลที่มีอำนาจในกลไกของรัฐ อาจไม่เป็นความผิด หรือไม่มีการบังคับใช้กฎหมายเกิดขึ้นก็ได้

การใช้แนวคิดอาชญาวิทยาแนววิพากษ์ มาทาบวัดกับปรากฏการณ์มือปืนป๊อปคอร์น และเหตุการณ์วิสามัญมรณะที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในสังคมไทย อาจช่วยให้เรามองเห็นการฆ่าคนที่จะถูกลงโทษและไม่ถูกลงโทษได้ควบคู่กันไป มิใช่ทุกคนที่ใช้ความรุนแรงกับคนอื่นแล้วจะได้รับโทษทัณฑ์เสมอไป

 

บทยุติที่ยังเคลื่อนไหวต่อไป

 

แม้ดูราวกับว่าปรากฏการณ์มือปืนป๊อปคอร์น จะเกิดขึ้นในท่ามกลางความขัดแย้ง และยุติลงด้วยคำตัดสินของศาลฎีกา แต่ในบางแง่มุมเหตุการณ์นี้ยังคงสืบเนื่องต่อมา ปัจจัยแวดล้อมที่มีผลอย่างสำคัญต่อความรุนแรง กระบวนการยุติความขัดแย้งที่น่าสงสัย ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่อาจจำเป็นต้องมีการตระหนักถึง เพื่อนำไปสู่การคลี่ปมให้เห็นแง่มุมซึ่งต้องนำมาสู่การจัดการกับแนวความคิด สถาบัน และกระบวนการยุติธรรม

และสิ่งเหล่านี้อาจสำคัญไม่น้อยไปกว่าความยินดีปรีดา หรือการแสดงความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม เพราะปัจจัยที่ว่ามานี้พร้อมจะนำมาซึ่งความรุนแรงได้อีกเสมอ ไม่ใช่เพียงในยามที่สถานการณ์ทางการเมืองแหลมคมขึ้นเท่านั้น หากยังรวมถึงในวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนแต่ละคนด้วย

MOST READ

Politics

31 Jul 2018

30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (1) : ความเป็นมา อภิมหาเรื่องเล่า และนักการเมืองชื่อเปรม

ธนาพล อิ๋วสกุล ย้อนสำรวจระบอบเปรมาธิปไตยและปัจจัยสำคัญเบื้องหลัง รวมทั้งถอดรื้ออภิมหาเรื่องเล่าของนายกฯ เปรม เพื่อรู้จัก “นักการเมืองชื่อเปรม” ให้มากขึ้น

ธนาพล อิ๋วสกุล

31 Jul 2018

Politics

12 Sep 2018

ความจริง ความเชื่อ และความเจ็บป่วยของ ‘สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล’

อายุษ ประทีป ณ ถลาง เขียนถึงชะตากรรมของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในฐานะนักวิชาการผู้ยืนหยัดในอุดมการณ์มาร่วม 40 ปี แต่กลับต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย (และล้มป่วย) อยู่ในต่างแดน

อายุษ ประทีป ณ ถลาง

12 Sep 2018

Politics

14 Jul 2020

การเกิดอีกครั้งของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ธนาพล อิ๋วสกุล เขียนถึงการเปลี่ยนความหมายของจอมพล ป. พิบูลสงครามจาก ‘ผู้ร้ายในประวัติศาตร์การเมืองไทย’ มาเป็นนายทหารฝ่ายคณะราษฎรที่สามารถกำราบฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติอย่างราบคาบ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแหลมคมการเมืองร่วมสมัยของไทย

ธนาพล อิ๋วสกุล

14 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save