fbpx
Green Stimulus Package : การฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิดแบบ 2 เด้ง

Green Stimulus Package : การฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิดแบบ 2 เด้ง

ก่อนอื่นต้องแสดงความยินดีกับประเทศไทยที่ได้ติดอันดับ 2 จาก 189 ประเทศในการฟื้นตัวจากโควิด-19 จากข้อมูลดัชนีโควิด-19 ระดับโลก (Global COVID-19 Index) ความสำเร็จนี้ต้องชื่นชมระบบสาธารณสุข เครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และความร่วมมือจากประชาชน แม้สงครามด้านสาธารณสุขจะเริ่มเบาลงแล้วแน่นอนว่าด้านเศรษฐกิจยังเหลืออีกมากที่เราจะต้องทำ

เมื่อพูดถึงนโยบายการคลังเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม มาตรการที่เรานึกถึงคือ พ.ร.ก. กู้เงินแก้ปัญหาโควิด-19 1 ล้านล้านบาท ซึ่งถูกแบ่งเป็น 1. งบ 6 แสนล้านบาท ใช้จัดทำแผนงานด้านสาธารณสุขและแผนงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ 2. งบ 4 แสนล้านบาท ใช้สำหรับแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม

งบประมาณในส่วนที่ 2 ได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่ง ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐที่ขอใช้งบและภาคประชาสังคมที่คอยจับตาการใช้งบประมาณ ข้อมูลล่าสุดจากทางสภาพัฒน์ หน่วยงานรับผิดชอบ มีโครงการที่ถูกเสนอ 34,263 โครงการ รวมมูลค่า 841,269 ล้านบาท เกินงบที่ตั้งไว้กว่าเท่าตัว โดยโครงการมีมูลค่าตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักแสนล้านบาท

จากข้อมูลวิเคราะห์ของนักวิชาการ โครงการที่เน้นเรื่องของการสร้าง ‘สิ่งของ’ เช่น ถนนหรืออาคาร มีถึง 19,419 โครงการ หรือตามคีย์เวิร์ดจากเว็บไซต์ ThaiME มีคำว่า ‘ถนน’ มากถึง 12,182 โครงการ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าการใช้งบประมาณในโครงการต่างๆ เหล่านี้อยู่บนฐานคิดใหญ่เชิงนโยบายอย่างไร และมีความคุ้มค่าหรือเป็นประโยชน์ที่สุดหรือไม่

บทความนี้เสนอถึงอีกแนวทางในการใช้งบ 4 แสนล้านบาทเพื่อให้มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ที่สุดสำหรับสังคมไทย แนวทางนี้คือการใช้มาตรการ ‘Green Stimulus Package’ หรือแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจสีเขียวที่ทั้งเป้าถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและระบบนิเวศไปพร้อมๆกัน

(แม้การเสนอโครงการสู่สภาพัฒน์จะเสร็จแล้วแต่การยื่นโครงการชุดแรกสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังมีเวลาถึง 7 ก.ค. ที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวคิดนี้)

Green Stimulus Package’ คืออะไร?

‘Green Stimulus Package’ คือการใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตั้งเป้าไปที่การลงทุนในโครงการหรืออุตสาหกรรม ‘สีเขียว’ ที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม แผนนี้ไม่แตกต่างจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วไปที่ยึดกับหลัก 3T – Targeted (ถูกเป้า) Timely (ถูกเวลา) และ Temporary (ชั่วคราว) แต่มีการเพิ่มสมการว่าถ้ารัฐบาลจะต้องใช้เงินระดับมหาศาลอยู่แล้ว ทำไมไม่หาวิธีใช้ที่จะแก้ทั้งปัญหาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน

แนวคิด green stimulus อยู่บนฐานคิดที่ว่า โจทย์สำคัญของการพัฒนาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาคือ การต้องยอมแลกระหว่างเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสร้างปัญหามากมาย  และวันนี้คือเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการจินตนาการและออกแบบระบบเศรษฐกิจใหม่ที่จะสามารถก้าวกระโดดออกจากจุดนี้ไปได้ กลุ่มนักคิดและผู้กำหนดนโยบายที่สนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียวจึงเสนอให้ เพิ่มอีกหนึ่ง T เข้าไปในสมการนั่นคือ ‘Twin’ หรือ ‘การเติบโตแบบคู่ขนาน’

หัวใจของ ‘Green Stimulus Package’ ไม่ได้หมายถึงแค่การให้เงินกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและตรงเป้าอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการควบคุมและยกระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมให้ในทุกๆ อุตสาหกรรม โดยใช้เงินช่วยเหลือของรัฐบาลเป็นสร้างแรงจูงใจให้อุตสาหกรรมเปลี่ยนพฤติกรรม โดยรัฐบาลสามารถใส่เงื่อนไข หรือ ‘strings attached’ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิ่งแวดล้อมเข้าไปในการต่อรองก่อนที่จะออกมาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมเหล่านั้น

หนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจคือการกอบกู้กิจการ (bail out) ของสายการบิน Air France-KLM มูลค่า 9,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากรัฐบาลฝรั่งเศส ที่ระบุว่าทางสายการบินจะต้องลดปริมาณของเที่ยวบินระยะสั้น (short-haul flights) เพื่อที่จะผลักดันให้ประชาชนหันมาใช้รถไฟมากขึ้น ซึ่งปริมาณการปล่อย CO2 ต่อหัวของการเดินทางทางอากาศนั้นสูงกว่าทางรถไฟอย่างมาก

นอกเหนือจากผลกระทบเชิงบวกต่อระบบนิเวศ นักวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่าผลลัพธ์ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของ ‘Green Stimulus Package’ นั้นมีประสิทธิภาพกว่าแผนอื่นๆ ในปี 2562 รายงานจาก Brookings Institute พบว่ารายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงของแรงงานในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดของสหรัฐอเมริกาสูงกว่ารายได้เฉลี่ยของประเทศ 8%-19% แถมพบว่าแรงงานที่มีรายได้ต่ำของอุตสาหกรรมเหล่านี้ยังได้ค่าตอบแทนที่สูงกว่างานประเภทอื่นถึง 5-10 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อชั่วโมง

หากมองจากมุมเศรษฐศาสตร์การเมือง ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจเกิดวิกฤตอย่างรุนแรงเช่นในปัจจุบัน รัฐบาลจะมีอำนาจต่อรองเพิ่มมากขึ้นโดยเปรียบเทียบ ดังนั้น จึงควรใช้โอกาสนี้สร้างเศรษฐกิจใหม่ที่ตอบโจทย์แห่งอนาคตมากกว่าที่จะทำให้ทุกอย่างกลับมาเป็นเหมือนเดิม

วิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ กับ ‘Green Stimulus Package’

แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจสีเขียวนี้มีตัวอย่างมากมายจากประเทศอื่นๆ ที่เราสามารถศึกษาได้ทั้งในอดีตและปัจจุบัน จากตัวอย่างเหล่านี้เราสามารถเห็นผลลัพธ์ของนโยบายต่อเศรษฐกิจของประเทศที่ได้ใช้ และเปรียบเทียบได้ว่าตรงกับที่นักวิชาการเสนอไว้หรือไม่

ประเทศแรกที่ได้ใช้แผนนี้อย่างเต็มที่คือสหรัฐอเมริกาหลังจากวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ปี 2551 ในต้นปี 2552 ประธานาธิบดีโอบามาได้ลงนามในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ 787,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (The American Recovery and Reinvestment Act of 2009 หรือ ARRA)  โดยมีการระบุว่า 90,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะต้องถูกใช้สำหรับอุตสาหกรรมและโครงการพลังงานทดแทนโดยเฉพาะ

หนึ่งในช่องทางหลักของการใช้งบ 90,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คือการให้สินเชื่อสีเขียว โดยประธานาธิบดีโอบามาได้ใช้สำนักงานสินเชื่อสังกัดกระทรวงพลังงานเป็นกลไกหลัก ในช่วงเวลาดังกล่าวสำนักงานแห่งนี้ได้สร้างชื่อเสียงเรื่องความกล้าในการลงทุนกับอนาคตและมีมุมมองที่แตกต่างจากองค์กรภาครัฐอื่นๆ ที่ทำหน้าที่การปล่อยสินเชื่อเช่นกัน จนหลายคนสังเกตว่าการทำงานมีความคล้ายคลึงกับ Venture Capital (VC) (ซึ่งประเด็นที่มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย)

จากงบที่ได้รับจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโอบามาปี 2552 ทางสำนักงานสินเชื่อสังกัดกระทรวงพลังงานนี้มีผลงานที่น่าจดจำ  2  เรื่อง

1. เป็นผู้ให้สินเชื่อกับธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ที่อยู่ในช่วงตกต่ำและกำลังจะทยอยปิดกิจการ ให้สามารถอยู่ต่อได้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนให้วิเคราะห์ว่า โครงการนี้มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนอุตสาหกรรมแสงอาทิตย์ที่ไม่สามารถแข่งขันกับพลังงานฟอสซิลได้ในช่วงนั้น มาเป็นพลังงานที่มีต้นทุนต่ำที่สุดในปัจจุบัน และมีบทบาทในการช่วยลดมลพิษจากภาคพลังงานไฟฟ้าอย่างมหาศาล

2. เป็นผู้ที่ให้สินเชื่อมูลค่า 465 ล้านดอลลาร์สหรัฐกับบริษัท Tesla ของ Elon Musk ที่กำลังประสบปัญหาอย่างมาก ในช่วงเวลาดังกล่าว Tesla มีผลผลิตเพียงแค่รถสปอร์ตหรูสำหรับเศรษฐี ซึ่งราคาสูงถึง 109,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพียงอย่างเดียว และทางบริษัทไม่มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอที่จะสามารถผลิตรถยนต์มูลค่าปานกลางที่จะขายให้กับคนจำนวนมากตามแผนที่วางไว้ สินเชื่อนี้มีส่วนสำคัญในการกอบกู้ให้แผนไม่ถูกยกเลิก เปิดโอกาสให้ทางบริษัทแปรรูปเป็นบริษัทมหาชนและคืนหนี้ได้ก่อนกำหนด จนในที่สุดทำให้ Tesla สามารถออกโมเดลใหม่ๆ ที่สามารถแข่งขันกับรถยนต์ทั่วไปได้ ปัจจุบัน Tesla ได้แซง Toyota ขึ้นมาเป็นบริษัทรถยนต์ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก มี market cap หรือมูลค่ารวมของบริษัทตามราคาตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ 190,121 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แถมจ้างงานมากกว่า 20,000 คนในโรงงานที่ Bay Area

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยจำนวนมากที่ศึกษาการลงทุนสีเขียนและพบว่า  การเจาะจงการลงทุนไปที่อุตสาหกรรมเขียวนั้นไม่ได้เกิดประโยชน์แค่เฉพาะภายในอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจภาพรวมด้วย เช่น 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐที่ลงทุนกับโครงการขนส่งมวลชนได้สร้างชั่วโมงการทำงาน (job hour) มากถึง 2 เท่าเมื่อเทียบลงทุนในการสร้างทางด่วนในงบประมาณที่เท่ากัน

ในด้านกลับ งานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการใช้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนชี้ให้เห็นว่า การอัดฉีดงบประมาณมหาศาลที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจเหนือกว่ามิติอื่นๆ อย่างชัดเจนกลับไม่ได้คุ้มค่ามาก การฟื้นฟูจากวิกฤตการเงินซับไพรม์ในปี 2551 จีนใช้งบประมาณทั้งหมด 560,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นการสร้างสนามบิน หรือทางด่วน ที่ล้วนเพิ่มความต้องการของซีเมนต์กับเหล็ก (คล้ายๆ โครงการของไทยในวันนี้) และช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมหนักโดยการลดความเข้มงวดของการกำกับมลพิษ ผลออกมาคือการปล่อยมลพิษที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลนำไปสู่ปัญหามลภาวะทางอากาศในหลายๆ เมือง หรือ ‘Air-Pocalyse’ ในปี 2555-2556

วิกฤตโควิด19 กับ ‘Green Stimulus Package’

จากบทเรียนและความสำเร็จของทางสหรัฐฯ วิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ หลายประเทศจึงเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ของมาตรการ ‘Green Stimulus Package’ สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากโควิด-19

สหภาพยุโรป (EU) คือหัวหอกสำคัญที่ให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งก่อนโควิด โดยปลายปี 2019 สหภาพยุโรปมาได้ประกาศแผน ‘Green Deal’ ที่ตั้งเป้าให้การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (carbon neutral) ภานในปี 2593 แม้วิกฤตโควิด-19 จะสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อสหภาพยุโรปอย่างรุนแรง แต่สหภาพยุโรปก็ยืนยันว่าว่าในงบฟื้นฟู 826,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะยังให้ความสำคัญกับแนวทาง ‘Green Deal’ เป็นหลัก พร้อมกับระบุอย่างชัดเจนว่า การใช้เงินงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องอยู่ในกรอบของแผนดังกล่าวเท่านั้น

ด้านฝั่งเอเชีย เกาหลีใต้ได้ระบุแนวทางนี้เข้าไปในแผนฟื้นฟู 110,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในแผนนี้มีการเจาะจงถึงการลงทุนในพลังงานทดแทน มาตรการภาษีคาร์บอน และการถอนเงินภาครัฐจากโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งในและต่างประเทศ

สองมิติแห่งความ ‘เขียว’ ของจีน

ในหลายปีที่ผ่านมา จีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้หันมาเป็นผู้นำทางด้านการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) แทนที่ของสหรัฐฯ ที่ได้ทิ้งเรื่องนี้ตามนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยในแผนยุทธศาสตร์ Made in China 2025 การสนับสนุนอุตสาหกรรมสีเขียว เช่นรถยนต์ไฟฟ้า หรือแผงโซล่าเซลล์ นั้นถูกระบุเป็นหนึ่งในสิบอุตสากรรมที่จีนตั้งเป้าจะเป็นผู้นำของโลก

ด้วยเหตุนี้ หลายคนจึงคาดหวังว่าจะเห็น ‘Green Stimulus Package’ ของจีนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 ชนิดที่ว่าจะทำให้ประเทศอื่นต้องตกตะลึง แต่ความเป็นจริงแล้วกลับไม่ใช่อย่างนั้นเลย

แม้จีนจะหันเหไปจากการสร้างสนามบินและถนนเหมือนที่เคยทำมา และนำเสนอแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจสีเขียวขนาดใหญ่ เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแบบใหม่ หรือ ‘new infrastructure’ ซึ่งคลอบคลุม เครือข่าย 5G ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) หรือ สายส่งไฟฟ้าแรงดันสูง (ultra-high voltage (UHV) power transmission) โดยเสนองบลงทุนมูลค่ากว่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับปี 2563-2568 แต่แผน 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นแค่ด้านเดียวของเรื่องนี้ ด้านที่นักสิ่งแวดล้อมกังวลอย่างยิ่งคือ การที่รัฐบาลหันกลับไปสนับสนุนพลังงานถ่านหินที่เป็นประเภทเชื้อเพลิงที่สกปรกที่สุด และเป็นสิ่งที่ประเทศจีนพยายามจะลดการใช้มานานหลายปี โดยเหตุผลเบื้องหลังของนโยบายนี้คือ แรงกดดันด้านเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 เพราะถึงที่สุดแล้ว พลังงานถ่านหินมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ถูก

ต้นปี 2020 รัฐบาลจีนได้ลดเกณฑ์ที่กำกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อที่จะกระตุ้นการลงทุนในธุรกิจนี้ ทำให้ปริมาณไฟฟ้าที่อยู่ในช่วงการวางแผนและก่อสร้างเพิ่มขึ้นเป็น 206 กิกะวัตต์ (GW) แถมรัฐบาลกลางยังลดแรงกดดันที่จะให้รัฐบาลท้องถิ่นรีบปิดเหมืองถ่านหินเก่าและประสิทธิภาพต่ำ

ยังไม่สายไปสำหรับ ‘Green Stimulus Package’ ของไทย

ข้อเสนอว่าด้วย ‘Green Stimulus Package’ ไม่ได้เป็นแค่ข้อเสนอของนักวิชาการ แต่ได้มีการเอาไปประยุกต์ใช้จริง อีกทั้งยั้งมีการถอดบทเรียนในอดีต และมองหาความเป็นไปได้ใหม่ในอนาคตอย่างจริงจัง ประเทศไทยสามารถศึกษาในเชิงลึกว่ารายละเอียดของแผนประเทศต่างๆ เป็นอย่างไร และเอามาปรับเป็นแนวทางที่เหมาะสมกับบริบทของเรา

ผู้เขียนเห็นว่า มีหลักการ 3 ข้อที่เป็นจุดเรื่มต้นในการคิดเรื่อง ‘Green Stimulus Package’ ในสังคมไทย

1. กรอบความหมายของ ‘สีเขียว’ ต้องกว้าง แผนนี้ต้องไม่จำกัดแค่การช่วยเหลือให้กลุ่มที่ ‘ทำดี’ อยู่แล้วทำดีขึ้น เช่นสนับสนุนผู้ผลิตแผงโซลาเซลล์ให้เก่งขึ้น แต่มองไปไกลถึงกลุ่มที่ ‘ทำไม่ดี’ ให้ทำไม่ดีน้อยลง เช่น ถ้าผู้ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหินเปลี่ยนมาเป็นก๊าซธรรมชาติได้ (coal-to-gas switching) ปริมาณของมลพิษจะลดลงอย่างมหาศาลทั้งๆ ที่ก๊าซธรรมชาติก็เป็นฟอสซิลเช่นกัน

2. ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม เวลาพูดถึงอุตสาหกรรมสีเขียว ส่วนมากเราจะนึกพลังงานทดแทนจากลมหรือแสงอาทิตย์ ไม่ก็รถยนต์ไฟฟ้า แต่จริงๆแล้วมีส่วนอื่นมากมายที่ต้องมีการสนับสนุน ถ้าดูจากปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 ต่อภาคอุตสาหกรรม (carbon emission by industry) เราจะเห็นว่ามีหลายอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาคพลังงาน (31%) ภาคการเกษตรและการใช้ที่ดิน (19%) ภาคอุตสาหกรรม (18%) ขนส่ง (16%) อาคารและตึก (6%) ดังนั้น การสนับสนุนครั้งนี้ต้องลงถึงทุกภาคส่วน

3. ท้องถิ่นต้องมีบทบาท แนวทางที่สามารถเพิ่มบทบาทของท้องถิ่นได้คือการสร้างการแข่งขันระหว่างแต่ละท้องถิ่น การแข่งขันในที่นี้หมายถึงการมีงบส่วนหนึ่งที่เปิดให้แต่ละท้องถิ่นยื่นเสนอโครงการต่างๆ โดยการพิจารณาความเหมาะสมและปริมาณงบที่ได้จะต้องขึ้นอยู่กับว่าโครงการต่างๆ นั้นได้คำนึงถึงและส่งเสริมเรื่องสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน

เงินกู้ 4 แสนล้านบาทสำหรับแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมไม่เพียงแต่มีมูลค่ามหาศาลเท่านั้น หากแต่ยังเป็นเงินก้อนสำคัญที่ ‘ชี้เป็น ชี้ตาย’ เศรษฐกิจไทยในยุคโควิด-19  ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมไทยจะต้องมีการถกเถียงและระดมความคิดอย่างเข้มข้น เพื่อที่จะหาแนวทางที่ดีที่สุดต่อประเทศ มาตรการ ‘Green Stimulus Package’ หรือแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจสีเขียวเป็นหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ ทั้งในมิติของการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในมิติของการเติบโตแบบ 2 เด้งที่ส่งเสริมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save