fbpx
ใบหน้าของสงคราม : 'กอนซาลู มาบุนดา' ศิลปินโมซัมบิก ผู้ใช้อาวุธสร้างสะพานสันติภาพ

ใบหน้าของสงคราม : ‘กอนซาลู มาบุนดา’ ศิลปินโมซัมบิก ผู้ใช้อาวุธสร้างสะพานสันติภาพ

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

เบญจรัศมี รุจน์รวีหิรัญ แปลจากภาษาโปรตุเกส

โมซัมบิกนองเลือดมาตั้งแต่ปี 1960 เมื่อรัฐบาลโปรตุเกสอยากแสดงความเป็นเจ้าเข้าของ แต่ประชาชนโมซัมบิกไม่งอมืองอเท้ายอมเป็นทาส พวกเขาลุกขึ้นสู้จนขับไล่นักล่าอาณานิคมออกไปได้ในปี 1975

หลังประชาชนประกาศอิสรภาพได้ไม่นาน โมซัมบิกถูกแทรกแซงทางการเมืองจากรัฐบาลคนขาวที่ปกครองแอฟริกาใต้อยู่ในขณะนั้น จนกลายเป็นสงครามกลางเมืองต่อเนื่องอีกยาวนาน

กอนซาลู มาบุนดา (Gonçalo Mabunda) ศิลปินชาวโมซัมบิก เกิดก่อนสงครามกลางเมือง (1977) ปะทุขึ้นในบ้านเกิดตัวเองได้ 2 ปี เขาซึมซับภาพความรุนแรงและความตายมาตั้งแต่ยังเป็นทารกแบเบาะ

อยู่ในบ้านเมืองที่เต็มไปด้วยความรุนแรง เขาต้องกลายเป็นอาชญากรไหม

เปล่า, มาบุนดาไม่เคยสักครั้งที่จับอาวุธไปรบกับใคร ในทางกลับกัน เขาเอาเศษซากอาวุธที่เก็บกู้ได้หลังสงครามกลางเมืองยุติในปี 1992 มาสร้างเป็น ‘ประติมากรรมใบหน้า’ จากจิตใต้สำนึกหลายสิบชิ้น และยังมี ‘บัลลังก์อำนาจ’ ที่สะท้อนภาพมาจากการค้ำจุนความตาย

‘Culture breaking barriers: demining min[e]ds’ หรือ ‘[การแลกเปลี่ยน]วัฒนธรรมทำลายเส้นแบ่งแดน: ปลด[กับดัก]ความคิด’ เป็นนิทรรศการของเขาครั้งแรกในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในวาระเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปี ซึ่งจัดร่วมกันระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาปูโต

‘มาบุนดา’ ได้รับมอบอาวุธที่ปลดประจำการและทุ่นระเบิดที่เก็บกู้ได้โดยศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ มาใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ผลงานชุดนี้

101 มีโอกาสสนทนายาวๆ กับเขา เพื่อให้ผู้อ่านร่วมกันทำความเข้าใจว่าอะไรคือภาพที่เขาจดจำอยู่ใต้เปลือกตามาตั้งแต่วัยเด็ก หัวใจของเขาเต้นเป็นจังหวะแบบไหนเมื่อต้องใช้ชีวิตท่ามกลางสงคามกลางเมือง และว่ากันถึงที่สุด อะไรคือสิ่งที่เขาเชื่อและจะทำ หากว่าจะสามารถยุติสงครามได้

กอนซาลู มาบุนดา
กอนซาลู มาบุนดา : ภาพโดย ธิติ มีแต้ม

บรรยากาศบ้านเมืองที่คุณเห็นตอนเติบโตมาเป็นอย่างไร

ตั้งแต่เด็ก ผมมักได้ยินเรื่องราวของความตายอยู่บ่อยครั้ง แม้ผมจะเกิดและอาศัยอยู่ที่บ้านในเมืองมาปูโต ซึ่งค่อนข้างปลอดภัยกว่าเมืองอื่นๆ แต่ผมก็จำได้ว่ารอบๆ บ้านผมมีทหารติดอาวุธเดินไปเดินมาตลอดเวลา แต่ที่เขารบกันนั้นอยู่ชานเมืองออกไป

ผมมีลูกพี่ลูกน้องที่เป็นทหาร ทุกครั้งที่เขากลับมาบ้าน เขาติดอาวุธมาด้วยเสมอ และสุดท้ายเขาก็เสียชีวิตในเหตุการณ์สงครามด้วยเช่นกัน

เราไม่สามารถเดินไปไหนมาไหนได้ในช่วงกลางคืน เพราะมันอันตรายมาก ในเมืองมาปูโตไม่ได้อันตรายจากการสู้รบ แต่อันตรายเพราะมีทหารจำนวนมากเดินตรวจตราขอดูเอกสาร เนื่องจากพวกกบฏมักแฝงตัวอยู่ในกลุ่มคนทั่วไป และช่วงเวลากลางคืนเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างสุ่มเสี่ยงต่อการถูกลอบโจมตี จึงทำให้ต้องมีการขอตรวจเอกสารอย่างเข้มงวดในช่วงกลางคืน บรรยากาศการเมืองในตอนนั้น เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าใครเป็นใคร ใครเป็นฝ่ายตรงข้าม และใครเป็นฝ่ายรัฐบาล

เวลาคุณนึกย้อนภาพอดีตสงคราม คุณรู้สึกอย่างไร

เศร้า เพราะถึงแม้ผมจะเกิดที่เมืองมาปูโต แต่พ่อแม่ของผมก็มาจากอีกจังหวัดหนึ่งคือเมืองกาซ่า พวกเขามักมาเล่าให้ผมฟังอยู่เรื่อยๆ ว่าจำเพื่อนบ้านคนนั้นได้ไหม เขาตายจากเหตุการณ์ปะทะของสงครามกลางเมืองไปแล้วนะ เรื่องราวเหล่านั้นมักทำให้ผมรู้สึกเศร้าและเจ็บปวด เพราะเหตุการณ์เหล่านี้เป็นเรื่องราวที่ซับซ้อนอยู่เสมอ

การทำงานของ 'กอนซาลู มาบุนดา'
การทำงานของ ‘กอนซาลู มาบุนดา’ ภาพโดย ธิติ มีแต้ม

ผลกระทบของสงครามกลางเมือง มีผลต่อชีวิตของคุณและครอบครัวอย่างไร

แน่นอน, สงครามกลางเมืองส่งผลกระทบถึงตัวผม มีอีกหลายครอบครัวที่เสียชีวิตไปในช่วงสงครามกลางเมือง ช่วงเวลานั้นผมไม่สามารถออกจากเมืองมาปูโตได้ ไม่สามารถไปเยี่ยมลูกพี่ลูกน้องที่อยู่อีกจังหวัดหนึ่งได้ ถ้าจะเดินทางจากเมืองนึงไปอีกเมืองนึงด้วยรถยนต์ ก็เสี่ยงต่อการโดนลอบโจมตีได้

การเดินทางในช่วงสงครามต้องเดินทางไปกับทหาร โดยมีขบวนทหารคอยประกบตามทาง แต่ถึงแม้จะเป็นแบบนั้นมันก็ยังเป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายอยู่ดี

เวลาพ่อผมเดินทางออกนอกมาปูโต ผมมักรู้สึกว่าหัวใจได้หล่นไปอยู่ที่มือ ผมไม่มีทางรู้ว่าพ่อจะกลับมายังไง หรือจะได้กลับมาไหม แต่ทุกครั้งที่พ่อกลับมาได้ ผมก็โล่งใจมากขึ้น มันเหมือนช่วงเวลาที่โกลาหลแห่งความกังวลได้หายวับไป

หากไม่มีสงคราม ผมก็คงได้ออกไปข้างนอก ได้เดินทางท่องเที่ยวมากกว่านี้ คงได้ไปเยี่ยมลูกพี่ลูกน้องให้บ่อยกว่านี้ แต่ก็ไม่มีโอกาส เพราะว่าสงครามมันพรากโอกาสของผมไป

ผมถูกจำกัดให้อยู่ได้แค่ที่เมืองมาปูโตเท่านั้น ผมไม่สามารถไปเยี่ยมคุณปู่คุณย่าได้ ผมไม่สามารถเดินทางออกนอกเมืองได้ พ่อแม่ไม่ยอมให้ผมไป เพราะมันอันตรายมาก

ความน่ากลัวของสงครามสำหรับคุณคืออะไร

มีเหตุการณ์ครั้งหนึ่งเกิดที่มาปูโต ในกองทัพมันมีคนสูบบุหรี่แล้วทิ้งขี้บุหรี่ไปถูกระเบิด จนทำให้เกิดระเบิดเสียงดังไปทั่วเมือง กระจกบ้านเรือนแตกกระจาย เหตุการณ์นั้นทำให้ผู้คนเข้าใจผิดว่าฝ่ายตรงข้ามบุกเข้ามาโจมตีเมืองมาปูโตแล้ว ทุกคนก็หวาดกลัว บ้างก็วิ่งหนี บ้างก็หลบอยู่ใต้เตียง มันเป็นอะไรที่น่ากลัวมาก

แม้ว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดจากอุบัติเหตุ ไม่ใช่การโจมตีจริงๆ แต่มันก็ทำให้คนหวาดกลัวมาก เราไม่มีวันรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป เราไม่รู้ว่าฝ่ายตรงข้ามจะบุกมาเมื่อไหร่ เราจะหนีไปที่ไหน เราไม่รู้จะทำอะไรอย่างไรต่อไป ช่วงเวลานั้นเราเหมือนอยู่กับความกลัวตลอดเวลา

ทุกวันนี้ความขัดแย้งจากสงครามในอดีตยังหลงเหลืออยู่ไหม

ความขัดแย้งทางความคิดในอดีตเกิดจากตอนที่ได้รับอิสรภาพจากโปรตุเกส มีทหารที่ร่วมต่อสู้บางกลุ่ม รู้สึกถูกทอดทิ้ง บวกกับมีรัฐบาลจากต่างประเทศ สนับสนุนทางการเงินให้ลุกขึ้นมาขัดขวางการปกครองของรัฐบาลใหม่

แต่ในปัจจุบันความขัดแย้งเหล่านั้นแทบจะไม่หลงเหลืออยู่แล้ว เพราะได้มีการเจรจาสันติภาพกันไปแล้ว การสนับสนุนทางการเงินที่ฝ่ายตรงข้ามเคยได้รับ ก็ไม่มีในปัจจุบันแล้ว มันไม่มีประโยชน์อะไรที่จะรบกันอีก จริงๆ แล้วคนโมซัมบิกเป็นคนรักสงบ มันคงไม่กลับไปขัดแย้งกันอย่างในอดีตอีก

ทุกวันนี้ประเทศเป็นประชาธิปไตย มีการเปลี่ยนรัฐบาล เป็นรัฐบาลที่ไม่ได้ขึ้นมาโดยอำนาจทหาร มีคนระดับปัญญาชนสามารถขึ้นมาบริหารประเทศได้ ประชาธิปไตยทำให้ไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาลที่มาจากทหารอย่างเดียวเท่านั้น

แต่ความแตกต่างในเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจของคนในสังคมก็ยังดูเป็นปัญหาอยู่ มีกลุ่มคนที่รวยมากกับกลุ่มคนที่จนมาก ทำให้ประชาชนหลายคนเสียความเชื่อมั่นในรัฐบาล แม้ว่าโมซัมบิกเป็นประเทศที่ร่ำรวยในทรัพยากรธรรมชาติ แต่ประชาชนกลับยากจนมาก

ศิลปะจากเศษซากอาวุธสงคราม

ศิลปะจากเศษซากอาวุธสงคราม

แล้วคุณคิดว่าอะไรสามารถยุติความขัดแย้งก่อนที่จะลามไปสู่สงครามได้

การพูดคุย การสนทนา สิ่งที่ทุกคนต้องทำคือการคุยกันและหาทางออกร่วมกัน การสนทนาทำให้ผู้คนเจอทางออกแน่นอน เพราะถึงแม้ว่าผู้คนมีความคิดความอ่านที่แตกต่างกันไป แต่มันสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อพยายามอยู่ร่วมกันได้  ถ้าเราไม่คุยกัน มันไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ มีแต่จะสร้างแต่ความเจ็บปวดมากขึ้นเรื่อยๆ

ผมมองว่าต่อให้เราขัดแย้งกันยังไง เราก็ต้องหาวิธีคุยกันให้ได้อยู่ดี เพื่อหาทางออกไปสู่สิ่งที่ดีกว่า หากเราไม่พูดคุยกัน สุดท้ายมันก็จะจบที่ความรุนแรงอยู่ดี เราควรจะหาหนทางสร้างความสมดุลขึ้นมาให้ได้ เพราะความสมดุลจะสามารถบรรเทาปัญหาต่างๆ ได้

ส่วนตัวคุณมองว่าการทำงานศิลปะจากเศษซากอาวุธสงคราม จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรกับสังคมได้ไหม

ผมคิดว่าเปลี่ยนแปลง เพราะมันเป็นการสร้างผลงานที่ผมอยากทำให้เกิดการคิดทบทวน ไตร่ตรอง โมซัมบิกเป็นประเทศตัวอย่างที่สามารถทำลายอาวุธที่ใช้ในสงครามกลางเมืองได้สำเร็จ ทำให้ศิลปินได้ถ่ายทอดเรื่องราวของสันติภาพ ผ่านอาวุธยุทโธปกรณ์ในช่วงสงครามได้

ผมมีโอกาสนำผลงานไปจัดแสดงเกือบทั่วทุกทวีป ผมเห็นว่ามันไปกระตุ้นกระบวนการคิดของผู้ที่มาเยี่ยมชมผลงาน เวลาพวกเขาเห็นผลงานแล้ว เขาอาจอยากรู้จักว่าประเทศนี้คือประเทศอะไร อาจมีการทบทวนเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับตัวเอง สิ่งนี้แหละที่เป็นสาเหตุให้พวกเราได้มีโอกาสนำผลงานไปแสดงต่อในหลายๆ นิทรรศการ

 

ศิลปะจากเศษซากอาวุธสงคราม

ศิลปะจากเศษซากอาวุธสงคราม

มองอีกมุมหนึ่ง ถ้าไม่มีอาวุธให้คุณสร้างผลงานศิลปะแล้ว จะสะท้อนภาพความรุนแรงจากสงครามได้อย่างไร

การเล่าเรื่องความรุนแรงไม่จำเป็นต้องใช้วัสดุที่เกี่ยวโยงกับมันก็ได้ อย่างเช่นภาพ Guernica ของปีกัสโซ่ ที่พูดถึงสงคราม ก็ไม่ได้ใช้อาวุธในการนำเสนอเรื่องราว มีศิลปินแอฟริกาหลายคนที่นำเสนอภาพความรุนแรงโดยใช้วัสดุอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องนำเสนอความรุนแรงผ่านอาวุธอย่างเดียวเสมอไป

ถ้าไม่ใช้อาวุธ ผมก็ใช้แผ่นเหล็กธรรมดา หรือวัสดุอื่นๆ อย่างวัสดุจากรถยนต์ในการสร้างผลงาน ผมมักใช้วิธีไม่ทาสีแผ่นเหล็ก แต่ใช้สีของตัวมันเอง กล่าวคือ คงสีเดิมของเหล็กไว้ แม้ผมไม่ได้รู้เรื่องราวของแผ่นเหล็กเหล่านั้นว่ามันมาจากรถที่ประสบอุบัติเหตุหรือเปล่า แต่แนวคิดที่ผมใช้ คือผมทำให้แผ่นเหล็กนำเสนอเรื่องราวของตัวมันเองแล้ว

 

ถามแบบไม่เกรงใจ ถ้าโมซัมบิกไม่มีสงคราม คุณจะทำงานศิลปะไหม

ก็คงทำอยู่ดี ผมเคยทำงานที่ Núcleo de Arte ซึ่งเป็นสมาคมศิลปินของมาปูโต โดยผมเริ่มเส้นทางการเป็นศิลปินจากการวาดภาพมาก่อน ไม่ได้เริ่มจากการทำงานกับเหล็กตั้งแต่แรก ผมเริ่มเรียนการทำผลงานศิลปะจากเหล็กกับศิลปินชาวแอฟริกาใต้ ชื่อแอนดรีส์ โบธา (Andries Botha) ในปี 1994 ก่อนที่จะมีโปรเจ็กต์การทำงานจากอาวุธ ในปี 1997

ดังนั้นผมจึงคิดว่า ถึงไม่มีสงคราม ผมก็คงเป็นศิลปินอยู่ดี ผมรู้สึกว่าเส้นทางการเป็นศิลปินของผมมันเกิดจากความบังเอิญ ผมไม่ได้วาดฝันว่าวันหนึ่งผมจะต้องมาเป็นศิลปิน ไม่เหมือนน้องชายของผมที่ผันตัวมาเป็นศิลปินตามผม เพราะเห็นผมประสบความสำเร็จ ซึ่งเขาก็เรียนรู้ทักษะจากผมนี่แหละ

อย่างที่บอกไปแล้ว ผมเคยทำงานที่ Núcleo de Arte ทำให้ได้เห็นพวกศิลปินทำงานกัน ผมก็เลยอยากลองทำดูบ้าง และผมได้เรียนรู้ทักษะทางศิลปะจากการได้อยู่ในพื้นที่ตรงนั้น

ศิลปะจากเศษซากอาวุธสงคราม

 

ถ้าไม่พูดเรื่องสงครามหรือสังคมการเมือง คุณคิดว่าคุณสามารถสร้างผลงานศิลปะแบบอื่นได้ไหม

ได้ ก่อนทำงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับอาวุธ ผมก็ทำงานศิลปะขนาดเล็ก เป็นของที่ระลึกขายให้กับนักท่องเที่ยว ในช่วงนั้นผมทำเพื่อหาเลี้ยงชีพตัวเอง

แต่ตอนนี้ผมรู้สึกว่า งานศิลปะของผมกับเรื่องของสังคมหรือความรุนแรง ไม่สามารถแยกออกจากกันได้แล้ว ด้วยตัววัสดุที่เป็นอาวุธ และเพราะผมรู้สึกว่าผมต้องพูด ต้องสื่อสารอะไรบางอย่างออกไป เหมือนกับว่าสิ่งต่างๆ เหล่านั้นมันเรียกร้องให้ผมต้องพูดมันออกมา สำหรับผมแล้วสังคมเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยผมสร้างสรรค์ผลงานออกมา

 

จำเป็นไหมที่ศิลปินต้องพูดหรือเสนอประเด็นสังคม

จำเป็น ผมมองศิลปินเป็นเหมือนผู้ส่งสาร เพราะว่าศิลปินมีความสามารถที่จะช่วยให้ข้อความไปถึงคนหลายกลุ่ม อะไรหลายอย่างควรถูกพูดผ่านงานศิลปะ เพราะการพูดผ่านศิลปะเป็นเรื่องที่ง่ายกว่า และสามารถสื่อสารกับผู้ชมในอีกระดับที่ล้ำลึกกว่าได้

ศิลปะสามารถอยู่ร่วมกับคนที่จนมากๆ ก็ได้ หรืออยู่กับคนที่รวยมากๆ ก็ได้ สิ่งนี้ทำให้ศิลปินสามารถทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

ผมเคยไปที่สหรัฐอเมริกา และได้มีโอกาสอยู่ท่ามกลางประธานาธิบดีและบุคคลมีฐานะหลายคน แต่ตอนที่ผมเดินทางกลับไปโมซัมบิก สิ่งแรกที่ผมทำคือเอากระเป๋าไปเก็บที่บ้าน แล้วรีบไปหาเพื่อนที่บาร์เพื่อสังสรรค์กัน นี่เป็นสังคมของผม ผมสามารถอยู่ร่วมได้กับคนทั้งสองแบบ ดังนั้นศิลปินก็เหมือนเป็นสะพานเชื่อมระหว่างคนหลายกลุ่ม

 

ถ้าไม่พูดเรื่องสงคราม คุณจะพูดถึงเรื่องอะไรผ่านผลงานศิลปะ

ผมอยากพูดเรื่องสันติภาพ การใช้เวลาว่าง กิจกรรมสันทนาการ เพราะว่าเราก็เป็นมนุษย์อยากใช้ชีวิตที่มีสุนทรีย์เราก็พูดถึงเรื่องเชิงบวกได้เหมือนกัน

 

ผลงานของคุณเกี่ยวข้องกับอาวุธสงคราม ที่ผ่านมาเคยเจอปัญหาคนไม่เข้าใจไหม

ส่วนใหญ่ที่ผมเจอ จะมีปัญหาในด้านการขนส่งผลงานให้กับนักสะสมมากกว่า ผมเคยส่งผลงานไปที่ฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา พอไปถึงสนามบิน ศุลกากรก็กักผลงานของผมไว้ เขาบอกว่าไม่สามารถให้เข้าไปได้ เพราะว่ามันเป็นอาวุธ ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงไม่ให้ผ่าน มันไร้สาระมาก ในเมื่อหลายพิพิธภัณฑ์ที่อเมริกาก็มีผลงานของผมจัดแสดงอยู่แล้ว

ตอนนั้นผมโกรธมาก เพราะเอาเข้าจริงๆ อเมริกาก็เป็นประเทศที่มีอาวุธเยอะ แต่อาวุธที่ถูกดัดแปลงเป็นผลงานศิลปะเขากลับไม่อนุญาตให้เอาเข้า

 

เท่าที่คุณเห็นจากการแสดงงานที่ผ่านมา ผู้ชมมักมีความรู้สึกอย่างไรกับงานของคุณ

มันก็แตกต่างกันไป แต่ส่วนมากจะเริ่มจากความตกใจ และตามมาด้วยความสนใจ อยากรู้ข้อมูลเพิ่มเติม อย่างนิทรรศการที่ผมไปจัดที่ดูไบ เวลาคนเห็น เขาก็สงสัยว่ามันมีอะไร แต่พอมองเข้าไปใกล้ๆ เขาก็ตกใจที่มันเป็นอาวุธจริงๆ มันทำให้ผู้ชมได้ตั้งคำถาม เริ่มถามว่าชิ้นนี้ใช้วัสดุอะไร มีที่มาจากไหน เอามาใช้ได้อย่างไร

วัสดุที่ผมใช้ในการทำงานศิลปะอย่างอาวุธ มันไม่ได้มีน้ำหนักในเชิงกายภาพ แต่มันหนักในเชิงอารมณ์ความรู้สึกและความหมายมากกว่า ทำให้คนเริ่มคิดไตร่ตรอง ตั้งคำถามว่าศิลปินคนนี้มาจากไหน เป็นใคร และทำสิ่งนี้เพื่ออะไรอีกด้วย

 

คุณจะทำงานศิลปะจากอาวุธไปถึงเมื่อไร

ตราบใดที่ยังมีวัสดุในการทำอยู่ ผมก็อยากสร้างสรรค์มันต่อไป มันคงจะดีทำถ้าเราไม่มีอาวุธหลงเหลืออีกต่อไป ซึ่งหากอาวุธหมดไปจริงๆ ก็เหมือนกับว่าประเทศเราได้มาถึงจุดที่ปลอดอาวุธแล้วจริงๆ

 

แล้วคุณเชื่อไหมว่าโลกนี้จะมีสันติภาพได้จริงๆ

ตราบใดที่ยังมีความแตกต่างทางชนชั้น ก็เป็นเรื่องยากที่จะมีสันติภาพได้ แต่ผมเชื่อว่ามันเป็นไปได้นะ

แต่ในโลกนี้มักมีพวกชอบฉวยโอกาสอยู่เสมอ คนพวกนี้เป็นคนที่ใช้ให้คนอื่นไปรบแทน เพื่อเป้าหมายบางอย่าง พวกเขาไม่กล้าไปรบกันเองหรอก ได้แต่หวาดกลัวแล้วหลบอยู่เบื้องหลัง.

ศิลปะจากเศษซากอาวุธสงคราม


หมายเหตุ : นิทรรศการดังกล่าว จัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ถึงวันที่ 9 ธ.ค.นี้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save