fbpx
แล้วฉันเลือกอะไรได้มั้ย เลือกให้เธอออกไปได้รึเปล่า

แล้วฉันเลือกอะไรได้ไหม (เลือกให้เธอออกไปได้รึเปล่า)

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

กาแฟหมดแก้วแล้ว แต่เรายังลุกไปไหนไม่ได้  เสียงฝนกระทบสังกะสีดังสนั่น ร่มสีเขียววางเอียงอยู่บนพื้นปล่อยให้เม็ดฝนสาดกระหน่ำอยู่อย่างนั้น ควันบุหรี่ลอยผสมกับไอน้ำกลายเป็นหมอกบางเบา กลิ่นหอมดอกไม้รวมกับกับกลิ่นดินฝนอบอวล เมื่อไม่มีทางเลือก เราจึงต้องนั่งคุยกันรอฝนหยุดตกไปเรื่อยๆ

 

“เคยฟังเพลงนี้มั้ย เขาเขียนเนื้อเพลงไว้ดีมาก” จู่ๆ ฉันก็โพล่งออกไป

“ว่า” เธอตอบ

“เขาบอกว่าฟ้าร้องไห้ออกมาเป็นน้ำฝน อยากรู้นัก ฟ้าที่เบื้องบน ต้องมาร้องไห้เพราะใคร — คิดได้ไง ฟ้าร้องไห้ออกมาเป็นน้ำฝน” ฉันฮัมทำนอง แล้วมองออกไปข้างนอก

“ชื่อเพลงอะไร” เธอถาม

“น้ำตาฟ้า — ถ้าจำไม่ผิดนะ”

เรานั่งคุยกันอยู่นาน เทวดาก็ยังไม่มีทีท่าว่าน้ำตาจะหยุดไหล

“อยากนั่งฟังเสียงกบตรงนี้ตลอดไป ถ้าไม่ต้องกลับไปทำงานนะ” ฉันคร่ำครวญ

“ถ้าชีวิตเลือกได้ขนาดนั้นก็ดีสิ” เธอว่า

ยังไม่ทันต้องรอคำตอบว่าชีวิตเลือกได้ขนาดไหน เข็มนาฬิกาก็บอกเราว่าควรฝ่าน้ำตาฟ้ากลับไปทำงาน ก็ชีวิตมันเลือกไม่ได้ขนาดนั้นนี่นะ

 

-1-

“ชีวิตที่มีสิทธิเลือก คือชีวิตของคนรวยเท่านั้นแหละว่ะ” เพื่อนเคยพูดติดตลกกับฉันบ่อยๆ

“แต่คนรวยก็ซื้อเบียร์เซเว่นหลังเที่ยงคืนไม่ได้นะ” ฉันแย้ง

“มึงอย่าเพ้อ เขาก็ซื้อไวน์เก็บไว้กินที่บ้านสิ จะมาซื้อเบียร์เซเว่นกินทำไม”

ฉันเชื่อในการมีทางเลือก เช่น ทางเลือกในการนอนดูซีรีส์มากกว่าจะลุกขึ้นมาทำงาน แต่เราทำได้จริงหรือ เพราะความรับผิดชอบค้ำคอ ไหนจะเงินเดือน ไหนจะต้องเก็บเงินไปเที่ยว ไหนจะไม่อยากโดนหัวหน้าด่า ไหนจะค่าห้อง ไหนจะต้องทำเป็นโอนเงินให้พ่อแม่ เพื่อให้เขาสบายใจว่าเราดูแลตัวเองได้ เมื่อคิดสะระตะรวมกันแล้ว การตัดสินใจทำงานดูจะเป็นทางเลือกที่สมเหตุสมผลกว่ามาก

ชีวิตเรามักต้องอยู่กับการเลือกเสมอ ไปทางซ้ายหรือขวา ใส่เสื้อสีอะไร กินข้าวกับอะไร หรือไปจนกระทั่งเรื่องใหญ่ๆ เช่น เลือกแฟน จะแต่งงานตอนไหน จะกลับไปอยู่บ้านกับพ่อแม่ หรือจะดวลออกโลกกว้าง จะเรียนต่อดีไหม จะทำมาหากินอะไรดี ฯลฯ แต่ทั้งหมดเป็นการเลือกแบบมีข้อจำกัด ต้องคิดข้อดีข้อเสีย ประเมินศักยภาพ ดูความคิดในสังคมและอื่นๆ จนสุดท้ายกลายเป็นว่าเราแทบไม่ได้เลือกอะไรเอง

ฉันเคยผ่านตาแนวคิด governmentality ของมิเชล ฟูโกต์มาบ้าง และกระทบใจมากในช่วงกำลังหาความหมายของชีวิต ฟูโกต์บอกว่า เราต่างเชื่อว่าเราสามารถทำอะไรก็ได้ตามแต่ใจปรารถนา แต่เราไม่เคยรู้เลยว่า วิธีคิดและพฤติกรรมของมนุษย์ล้วนแต่ถูกกำกับไว้แล้ว มีคนควบคุม สร้างครรลองคลองธรรมตามที่เครือข่ายอำนาจต่างๆ อยากให้เป็น

ทุกการตัดสินใจ เป็นการทำตามกรอบที่ถูกวางไว้แล้วทั้งนั้น และทุกการกระทำจะต้องมีคนใดคนหนึ่งได้หรือเสียประโยชน์

อ่านจบแล้ว ก็ได้แต่ร้องว่า อะไรกัน ความคูลไม่มีจริง ชีวิตอันแสนเสรีมีคนชักใยอยู่เบื้องหลังหรือนี่ นึกว่าตัวเองจะเป็นพวกประเภททำอะไรตามใจตัวเองได้แท้ๆ  เราต่างถูกชักใยด้วยมือที่มองไม่เห็น แล้วคิดว่าเดินด้วยขาของตัวเอง

เอาจริงๆ ถ้ามองแบบนี้ การกินกะเพราไข่ดาวมื้อต่อไปคงไม่อร่อยอีกแล้ว ก็เราไม่ได้เลือกเองเสียหน่อย ระบบกลไกต่างหากที่บอกเราว่ามีเงินในกระเป๋าแค่นี้ ก็กินได้แค่กะเพราไข่ดาวไปก่อน

มันเศร้าเกินไป ทารุณเกินไป และทำลายความสุขในการเกิดมาเป็นมนุษย์เกินไป

เราควรจะกินกะเพราไข่ดาว เพราะเราอยากกินกะเพราไข่ดาว และตราบใดที่ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน เราก็ควรได้ทำสิ่งที่เราอยากทำและมีความสุข เช่น การสั่งไข่ดาวยางมะตูมมาแกล้มกะเพราด้วย เป็นต้น

แม้ทางเลือกจะมีจำกัด แต่เราก็ควรได้เลือก

 

-2-

เราถูกสอนให้เลือกมาตั้งแต่เด็ก เช่น เลือกหัวหน้าห้อง ประธานสี ประธานนักเรียน และหัวหน้าหมู่ลูกเสือ ฯลฯ เพื่อส่งเสริมสังคมประชาธิปไตยในโรงเรียน เด็กๆ น่ารักน่าชังยกมือเลือกเพื่อนที่เรียนเก่งและเรียบร้อยที่สุดให้เป็นหัวหน้าห้อง เพื่อมาจดชื่อพวกเขาส่งอาจารย์ตอนคุยกันเสียงดัง

แต่พอโตขึ้น ฉันกลับได้เลือกตั้งแค่ครั้งเดียว ในประเทศประชาธิปไตยแห่งนี้

คนอายุต่ำกว่า 24 ตอนนี้ น่าจะไม่เคยได้เลือกตั้งเลย เพราะโตไม่ทันตอนเลือกตั้งปี 2554 และยังคงต้องรอต่อไป อย่างน้อยๆ ถ้าจะมีใครมาจดชื่อพวกเขาส่งอาจารย์เมื่อทำความผิด ก็ควรจะเป็นหัวหน้าห้องที่พวกเขาเลือกมาเอง

เหมือนการได้กินกะเพราไข่ดาวที่ไม่อร่อย ก็ควรจะเป็นร้านที่เราเลือกเอง

ถ้าเป็นไปตามกลไก คนรุ่นใหม่ควรจะได้เตรียมตัวเลือกพรรคการเมืองที่จะมาพัฒนาประเทศของพวกเขา ได้เลือกรัฐบาลที่จะส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตพวกเขาดีขึ้น แต่คนที่ไม่เคยเลือกตั้ง แทบจะไม่ได้สัมผัสกับความรู้สึกนี้เลย

พวกเขาจะเหี่ยวเฉาหรือเปล่า จะเกิดความเฉยชาทางการเมืองไหม จะยอมถูกควบคุมโดยไม่ตั้งคำถามหรือไม่ เมื่อเป็นแบบนี้ เด็กรุ่นใหม่ที่ควรจะมีพลังและเลือกชีวิตของตัวเอง จะกลายเป็นคนที่ชาชินกับการไม่ได้เลือก และทนได้กับภาวะจำยอมแบบนี้ไปเรื่อยๆ

ดอกไม้ที่ควรจะเบ่งบาน จะกลายเป็นเหี่ยวเฉาโรยรา ในประเทศที่ควรจะเบิกบานแจ่มใส

 

-3-

เราเข้าสู่เดือนมิถุนายนด้วยพายุฝน ทุกเช้าจะมีเสียงฝนดังต้อนรับ เบาบางจากไปตอนสาย แล้วกลับมาโหมอีกครั้งในตอนเที่ยง ช่วงบ่ายฟ้าเป็นสีเขียวครึ้ม ก่อนจะกระหน่ำไม่ลืมหูลืมตาอีกครั้งตอนกลางคืน เรานอนหลับไปพร้อมสายฝน และตื่นมาเจอพายุอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า

สายฝนทำให้เราเปียกปอน เปลี่ยวเหงา และป่วยไข้ แม้ในบางครั้งจะทำให้เราชุ่มฉ่ำหัวใจ หอมกลิ่นฝนและดอกไม้ หรือดื่มกาแฟอร่อยขึ้นก็ตาม

แต่คนเราก็ควรได้เจอแดด

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save