fbpx
ใบหน้าของคน Gen Z : ผู้จะอยู่บนโลกนี้นานกว่ายุทธศาสตร์ชาติ

ใบหน้าของคน Gen Z : ผู้จะอยู่บนโลกนี้นานกว่ายุทธศาสตร์ชาติ

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

ชื่อเรื่องของบทความนี้ชวนให้เข้าใจผิดหลายอย่างนะครับ

แรกสุด พอบอกว่าจะพูดถึง Gen Z ที่จะต้องอยู่นานกว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หลายคนอาจนึกว่าผมจะพูดถึง Gen Z ชาวไทย แต่ต้องออกตัวไว้ตั้งแต่ตรงนี้ว่า สิ่งที่จะเล่าให้ฟัง มาจากการสำรวจของ Pew Research Centre ว่าด้วยมุมมองต่างๆ ของคน Gen Z ในอเมริกานะครับ

แต่ถึงเป็น Gen Z อเมริกัน ก็แน่นอนว่าคนเหล่านี้น่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกนานกว่า 20 ปีแน่ๆ ในขณะที่คนรุ่นไซเลนต์ (Silent Genereation) หรือบูมเมอร์ส (Boomers) นั้น ต้องบอกว่าไม่แน่ว่าจะอยู่กันต่อไปได้อีกกี่ปี แต่ไม่ว่าจะเป็นในอเมริกาหรือในไทย คนไซเลนต์และบูมเมอร์สยังคงมีบทบาทในสังคมค่อนข้างมาก โดยเฉพาะบทบาทในการกำหนดประเด็นและทิศทางต่างๆ ในสังคม

ดังนั้น ในขณะที่ยังไม่มีใครศึกษา Gen Z ในไทยออกมาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ก็เลยอยากชวนคุณไปดู Gen Z ในอเมริกา พร้อมกับลองนึกเทียบเคียง Gen Z มะกันกับ Gen Z ไทย ไปด้วย พร้อมกับลองนึกๆ ดูว่า ถ้า Gen Z ไทย มีมุมมองความคิดแบบเดียวกับ Gen Z อเมริกัน ก็แล้วพวกเขาจะอยู่อย่างไรภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งถ้าจะพูดว่าเป็นการ ‘ลาก’ เข้าความ ก็ยอมรับเลยครับว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น แต่กระนั้น การ ‘ลาก’ สองเรื่องนี้มาเปรียบเทียบกันก็ไม่ใช่จะไร้ความหมายเสียทีเดียว เพราะต้องยอมรับว่า อเมริกามีอิทธิพลต่อไทยในหลายมิติ โดยเฉพาะเรื่องทางสังคมวัฒนธรรม

แต่ก่อนอื่น ขอไปนิยาม Gen Z กันให้ชัดๆ อีกทีหนึ่งได้ไหม

สิ่งที่ชอบในการสำรวจนี้ของ Pew ก็คือ เขาแบ่งคนรุ่นต่างๆ ออกมาชัดเจนมาก แม้เป็นการแบ่งแบบอเมริกัน (และแน่นอนว่ามีลักษณะเหมารวม หรือ stereotype) แต่ถ้าลองเอามาเทียบกับคนไทย จะพบว่ามีการแบ่งคนรุ่นต่างๆ ออกมาได้คล้ายๆ กัน เพียงแต่ช่วงเวลาของคนแต่ละรุ่นอาจจะเหลื่อมกับของคนอเมริกันอยู่บ้าง ซึ่งก็สามารถไปหานิยามของคนรุ่นต่างๆ ในไทยเอาไว้ได้มากมาย ในงานวิจัยหลายชิ้นของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ให้นิยามคนแต่ละรุ่นไว้

สำหรับ Pew เขานิยามเอาไว้ว่า

  • คนรุ่น Silent คือคนที่เกิดช่วงปี 1928 ถึง 1945 : ในปี 2018 มีอายุ 73-90 ปี
  • คนรุ่นบูมเมอร์ส คือคนที่เกิดช่วงปี 1946 ถึง 1964 : ในปี 2018 มีอายุ 54-72 ปี
  • คนรุ่น X คือคนที่เกิดช่วงปี 1965 ถึง 1980 : ในปี 2018 มีอายุ 38-53 ปี
  • คนรุ่นมิลเลนเนียลส์ คือคนที่เกิดช่วงปี 1981 ถึง 1996 : ในปี 2018 มีอายุ 22-37 ปี
  • คนรุ่น Z คือคนที่เกิดหลังจากปี 1996

การสำรวจของ Pew ชิ้นนี้ ทำในหลายมิติ เช่น มิติด้านการเมือง มิติสิ่งแวดล้อม (เช่น สำรวจว่าคนแต่ละรุ่นคิดกับปัญหา ‘โลกร้อน’ แตกต่างกันอย่างไร) มิติเรื่องเพศ (เช่นเรื่องการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน คำนำหน้าชื่อต่างๆ ฯลฯ) มิติเรื่องชาตินิยม (เช่น ความเห็นว่า อเมริกาเป็นประเทศที่ดีที่สุดในโลกหรือเปล่า หรือการมีผู้อพยพเข้ามาอยู่ร่วมด้วย เป็นเรื่องดีหรือไม่ดี ฯลฯ)

แน่นอนว่า คนในรุ่น Z นั้น ยังอายุไม่มากนัก จึงอาจยังเปลี่ยนแปลงแนวคิดต่างๆ ได้อีก แต่ Pew บอกว่า ถ้าดูรวมๆ แล้ว เรื่องที่น่าสนใจก็คือ คนในรุ่น Z กับคนรุ่นมิลเลนเนียลส์นั้น มีแนวคิดทั้งทางการเมือง สิ่งแวดล้อม ประเด็นทางเพศ ชาตินิยม ฯลฯ ที่ไม่แตกต่างกันมากนัก และเอาเข้าจริงก็ไม่ค่อยแตกต่างจากคนในรุ่น X ด้วย แต่มีความแตกต่างอย่างมากกับคนในรุ่นบูมเมอร์สกับไซเลนต์

นั่นทำให้ผมนึกถึงการสำรวจเก่าเมื่อปี 2017 ของ Pew เป็นงานที่สำรวจเรื่องคนรุ่นต่างๆ คล้ายๆ กันนี้ แต่ทำแค่ในคนสี่รุ่น คือไซเลนต์ บูมเมอร์ส เอ็กซ์ และมิลเลนเนียลส์ โดยยังไม่มี Gen Z เข้ามาเกี่ยวข้อง (ดูรายละเอียดได้ที่นี่)

ที่น่าสนใจก็คือ การสำรวจของปี 2017 ให้ผลคล้ายๆ กัน คือเขาบอกว่าสังคมอเมริกานั้นมี ‘ช่องว่างระหว่างวัย’ หรือ Generation Gap ที่ชัดเจนมาก โดยสามารถแบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่มได้อย่างชัดเจน นั่นคือกลุ่ม X กับมิลเลนเนียลส์ ที่มีแนวคิดต่างๆ คล้ายคลึงกัน กับกลุ่มบูมเมอร์สและไซเลนต์ ที่ก็มีแนวคิดต่างๆ คล้ายคลึงกันเช่นกัน

ถ้าดูเรื่องแนวคิดทางการเมือง จะพบว่าคนรุ่นเอ็กซ์และมิลเลนเนียลส์นั้น มีแนวโน้มจะเป็นเดโมแครต คือเป็นเสรีนิยมมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ แต่ตรงกันข้าม กลุ่มไซเลนต์และบูมเมอร์ส มีแนวโน้มจะเป็นรีพับลิกันหรือเป็นอนุรักษนิยมมากกว่า (ซึ่งก็ต้องบอกด้วยนะครับ ว่าเป็นผลที่ได้จากเฉพาะผู้เข้าร่วมสำรวจเท่านั้น)

หลายคนอาจจะบอกว่า ผลแบบนี้ไม่เห็นต้องสำรวจเลย ใครๆ ก็พอเดาได้ แต่ที่น่าสนใจก็คือ ถ้าดูจากระยะเวลาในช่วงปี 2015-2016 (อันเป็นช่วงสำคัญของอเมริกา เพราะทรัมป์เข้ามาบริหารประเทศ) จะพบว่ามีความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญทางสถิติอย่างหนึ่ง นั่นคือในช่วงเวลานี้ คนกลุ่มมิลเลนเนียลส์มีความเป็นเสรีนิยมเพิ่มขึ้นมาก คนกลุ่ม X มีความเป็นเสรีนิยมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่กลับกัน คนกลุ่มบูมเมอร์สและไซเลนต์จะมีความเป็นอนุรักษนิยมมากขึ้น

ฟังดูคล้ายกับว่า ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เกิด ‘แรง’ อะไรบางอย่างขนาดใหญ่ ที่ผลักให้คน 2 กลุ่มนี้แยกห่างออกจากกัน การแยกตัวห่างจากกันนี้ อาจพูดแบบเหมารวมและติดฉลากได้ว่า ‘คนรุ่นเก่า’ กับ ‘คนรุ่นใหม่’ มีความแตกต่าง และ ‘ออกห่าง’ กันมากขึ้นเรื่อยๆ

ก่อนหน้านี้ เคยมีการวิเคราะห์จากบางสำนักข่าวและบางสื่อว่าคนรุ่นหลังมิลเลนเนียลส์ (คือ Z) จะมีลักษณะที่เป็นอนุรักษนิยมมากขึ้น แต่ผลการสำรวจของ Pew ล่าสุดนี้ กลับให้ผลว่า Z ดูน่าจะมีมุมมองหลายด้านคล้ายๆ มิลเลนเนียลส์นั่นแหละ

Pew ยังบอกด้วยว่า ถ้าลองทำเป็นสเปคตรัมของคนรุ่นต่างๆ ออกมา จะพบว่าด้านหนึ่ง (สมมติว่าเป็นด้านขวา) จะมีคนรุ่นไซเลนต์ตั้งวางอยู่ ขยับมาทางซ้ายหน่อยจะเป็นบูมเมอร์ส ตามมาด้วย X ส่วนอีกปลายด้านหนึ่งก็จะเป็นมิลเลนเนียลส์กับ Z โดยกลุ่ม Z นั้น เป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและชาติพันธุ์มากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ นั่นจึงอาจเป็นตัวผลักดันให้ทัศนคติของคนกลุ่มนี้แตกต่างไปจากคนรุ่นก่อนหน้า

ที่น่าสนใจก็คือ แม้ในเป็นกลุ่ม Z ที่เป็นรีพับลิกัน ก็ยังแสดงความเห็นที่มีลักษณะ ‘เสรีนิยม’ มากกว่าคนรุ่นก่อนหน้า เช่น เมื่อถามชาวรีพับลิกันรุ่น Z ว่า คนผิวดำถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในสังคมอเมริกันมากกว่าคนผิวขาวหรือเปล่า พบว่ารีพับลินกันรุ่น Z ตอบว่า ‘ใช่’ มากถึง 43%  ในขณะที่กลุ่มมิลเลนเนียลส์มี 30% รุ่น X มี 23% ส่วนบูมเมอร์สและไซเลนต์นั้นมีอยู่ 20% เท่าๆ กัน นั่นแสดงให้เห็นว่า คน ‘รุ่นใหม่’ มองเห็นปัญหาความไม่เท่าเทียมทางสีผิวมากกว่าคน ‘รุ่นเก่า’

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือมิติเรื่องชาตินิยม

Pew ถามคำถามว่า คิดว่าอเมริกาเป็นประเทศที่ดีที่สุดในโลกหรือเปล่า พบดังนี้

  • ในคนเจน Z มีอยู่ 14% ที่บอกว่าอเมริกาดีที่สุดในโลก 56% บอกว่ามีประเทศอื่นๆ ที่ก็ดีพอๆ กัน และมีถึง 30% ที่บอกว่าไม่ใช่ มีประเทศอื่นที่ดีกว่าอเมริกาอยู่
  • ชาวมิลเลนเนียลส์นั้นมีตัวเลขคล้ายกันกับชาว Z เลย คืออยู่ที่ 13% 58% และ 29% ตามลำดับ
  • สำหรับชาวเอ็กซ์ ตัวเลขคือ 20% 60% และ 20%
  • ชาวบูมเมอร์ส ตัวเลขอยู่ที่ 30%, 57% และ 12%
  • ชาวไซเลนต์ ตัวเลขจะแตกต่างออกไปอย่างมาก คืออยู่ที่ 45% 48% และมีคนที่เห็นว่ามีประเทศอื่นดีกว่าประเทศตัวเองแค่ 5% เท่านั้น

 

ยังมีรายละเอียดอื่นๆ ในผลการสำรวจเหล่านี้อีกมาก แต่โดยรวมแล้วทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่า เป็นไปได้ไหมที่มี ‘พลังทางสังคม’ อะไรบางอย่าง กำลังทำหน้าที่ ‘ขีดเส้น’ กรีดแบ่งคนออกเป็น ‘คนรุ่นเก่า’ กับ ‘คนรุ่นใหม่’ อย่างชัดเจนมากๆ

ซึ่งถ้าให้เดา พลังทางสังคมที่ว่าก็คือการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ทำให้คนรุ่นต่างๆ ได้พบกับความแตกต่างหลากหลาย ได้พบเจอกับวิธีคิด วิธีมองโลก และชีวิตของผู้คนที่ไม่เหมือนกับตัวเอง ดังที่ปรากฏในโลกอินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดียต่างๆ ได้เห็นวิถีชีวิตของคนจากทุกมุมโลกในแวบเดียว ได้แลกเปลี่ยนความคิด ไม่ว่าจะแง่บวกหรือลบกับคนอื่นๆ ในชั่วพริบตา นั่นจึง ‘เปิดโลก’ (หรือจะใช้คำว่า ‘เบิกเนตร’ ก็น่าจะได้) ให้คนทุกวัยได้เห็นโลกในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

แต่คนอายุน้อยกว่าจะซึมซับและปรับเปลี่ยนแนวคิดของตัวเองได้ง่ายกว่า เพราะความคิด บุคลิก และวิธีคิดต่างๆ ยังไม่ ‘เซ็ตตัว’ มากเท่าคนอายุมาก

แน่นอน นี่ไม่ได้แปลว่าคนทุกคนในแต่ละรุ่นจะต้องเป็นแบบเดียวกันทั้งหมด แต่ในขณะเดียวกัน – ก็ไม่ได้แปลว่าปรากฏการณ์ที่คนส่วนใหญ่ในรุ่นนั้นๆ มี ‘ลักษณะร่วม’ บางอย่างที่โดดเด่นและเห็นชัด – จะไม่เป็นความจริง

ในอนาคต หากเรามองย้อนกลับมา ผมเชื่อว่าเราจะเห็นได้ชัดเจนว่า ต้นศตวรรษที่ 21 คือช่วงเวลาของการ ‘กรีดแบ่ง’ ยุคสมัย แบบเดียวกับที่ปฏิวัติอุตสาหกรรมเคยทำกับศตวรรษที่ 18 -19 แต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมน้ันเกิดและแพร่กระจายไปช้ากว่า ผู้คนจึงเปลี่ยนวิธีคิดและวิถีชีวิตช้ากว่า คือใช้เวลาหลายสิบปีในการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่การปฏิวัติเทคโนโลยีดิจิทัลเกิดเร็วและ ‘ลึก’ เหมือนการกรีดของดาบซามูไรที่คมกริบ

คำถามก็คือ โลกที่ถูกยื้อยุดเอาไว้โดยคน ‘รุ่นเก่า’ ด้วยการพยายามร่าง กำหนด และกำกับทิศทางต่างๆ ให้คน ‘รุ่นใหม่’ เดินหน้าต่อไปนั้น จะเป็นโลกที่ใช้การได้จริงในอนาคตหรือเปล่า

มันเหมือนคนยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมออกกฎหมายว่าให้คัดลอกคัมภีร์ด้วยวิธีเดิมๆ ต่อไป ทั้งที่เทคโนโลยีการพิมพ์มาจ่อรออยู่ตรงประตูหน้าบ้านแล้ว

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงออกจะเชื่ออยู่ไม่น้อย ว่าการวางแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ยาวนานถึง 20 ปี ทั้งที่ไม่มีความสามารถจะ ‘เห็น’ ถึงอนาคตเพราะโลกกำลังเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ จึงน่าจะเป็นการวางแผนที่ทำให้คนจากโลกอนาคตหัวเราะขำอยู่ไม่น้อย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save