fbpx
Gender - Neutral Design

Gender – Neutral Design : การออกแบบในโลกที่เพศไม่ได้ถูกจำกัดแค่สอง และข้าวของไม่ได้มีแค่สีฟ้ากับชมพู

บทความชวนดูงานศิลปะและนวัตกรรมจากโลกที่หนึ่งที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคนผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill

“เป็นผู้ชาย ทำไมชอบสีชมพู” 

เสียงพูดในหัวตามด้วยเสียงหัวเราะกล้อมแกล้มของผู้ใหญ่ ที่ชวนให้ไม่แน่ใจระหว่างความเอ็นดูและการเยาะเย้ย คือความทรงจำที่เด็กผู้ชายคนไหนก็ตามที่ชอบสีชมพู เล่นของเล่นสีชมพู ใส่เสื้อสีชมพู กินขนมสีชมพูเป็นต้องเจอ คนอายุ 25 ปีขึ้นไปเรียกได้ว่าเติบโตมาในโลกที่แผนกเด็กในห้างแบ่งด้วยสีฟ้ากับสีชมพู โลกที่ต้องเลือกว่าจะใส่เสื้อรูปไดโนเสาร์หรือลายหัวใจ กินรสช็อกโกแลตหรือรสสตรอว์เบอร์รี เล่นสวมบทเป็นซูเปอร์แมนหรือเล่นบาร์บี้

สิบกว่าปีก่อนเคยมีผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตบาร์ยี่ห้อหนี่ง บนฉลากมีป้ายขีดฆ่าสัญลักษณ์รูปผู้หญิง และมีสโลแกนพาดใหญ่ๆ ว่า IT’S NOT FOR GIRL ขายด้วยคำโฆษณาว่า NOT AVAILABLE IN PINK! เพื่อจะบอกว่าขนมนี้มันของผู้ชายโว้ย ใครที่รู้ตัวว่าแมนก็ซื้อไปกินซะ !

ถึงวันนี้ เมื่อมองกลับไปยังโลกใบนั้น มันกลายเป็นโลกดึกดำบรรพ์ราวกับยุคไดโนเสาร์ ในวันที่ความเท่าเทียมทางเพศและความลื่นไหลของตัวตนกลายเป็นเรื่องที่ทั้งโลกกำลังให้ความสำคัญ ในวันที่วัยรุ่น 59% ในอเมริกามองว่าแบบฟอร์มใดๆ ควรมีตัวเลือกให้ติ๊กมากกว่าแค่ชายกับหญิง  1 ใน 4 ของวัยรุ่นเจนซี (Generation Z – คนที่อายุ 8-20 ปีในปี 2564) เชื่อว่าตัวเองมีโอกาสเปลี่ยนคำนิยามทางเพศอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต และเกือบครึ่งเชื่อในแบรนด์ที่ไม่พยายามจำแนกพวกเขาเป็นเพศใดเพศหนึ่ง ในวันนี้หากมีช็อกโกแลตบาร์ที่ออกมาพูดกับผู้บริโภคด้วยน้ำเสียงอย่างว่า คงโดนตอกกลับมาว่า ‘เสร่อ’ และเผลอๆ อาจขึ้นเทรนด์อันดับหนึ่งในทวิตเตอร์ โชคดีที่ปัจจุบันแพ็กเกจถูกเปลี่ยนไปแล้ว

ในวันที่แนวคิดที่ว่า ‘เพศคือสิ่งหลากหลายและลื่นไหล’ กลายเป็นสิ่งที่ต้องมีในทุกองค์กรและแบรนด์ยามจะผลิตอะไรใหม่ออกมาให้โลกได้ยลโฉม

‘การออกแบบ’ จึงมีบทบาทสำคัญในการเป็นสะพานเชื่อมเพื่อทำความเข้าใจผู้คนในยุคที่นิยามเพศไม่ได้จำกัดแค่สอง

ไม่มีเพศวิถีที่แท้จริง

Brian Goldner ซีอีโอของบริษัท Hasbro ผู้ผลิตของเล่นม้ายูนิคอร์นสีรุ้ง ‘My Little Pony’ บอกว่า บริษัทถึงกับต้องรื้อภาพที่เคยมีเกี่ยวกับเพศทิ้งไปหมด หลังจากพบว่าลูกค้าของแบรนด์กว่า 30% เป็นเด็กผู้ชาย ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ไม่เคยอยู่ในสายตาของแบรนด์มาก่อน

‘Post demographic consumerism’ คือคำเรียกยุคสมัยที่การกำหนดกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดไม่ได้ผูกติดอยู่กับเพศ อายุ หรือถิ่นฐานอีกต่อไป ในวันที่เราเชื่อมต่อกันผ่านออนไลน์ วิถีชีวิตของใครบางคนไม่ได้ผูกติดกับประเทศที่เขาอาศัยอยู่อีกต่อไป กลุ่มในเฟซบุ๊กและห้องพูดคุยในคลับเฮาส์สร้างชุมชนของคนที่หลงใหลในสิ่งเดียวกัน โดยแต่ละคนอาจอยู่กันคนละซีกโลก เช่นเดียวกับ ‘เพศ’ ที่ไม่ได้เป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตหรือพฤติกรรมของใครคนใดคนหนึ่งเหมือนเช่นในอดีต

ในกระบวนการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ มีสิ่งที่เรียกว่า ‘User Persona’ หรือการสร้างตัวตนผู้ใช้จำลอง โดยทำการศึกษาวิจัยพฤติกรรมของกลุ่มผู้ใช้จริง ก่อนจะนำมาสรุปเป็นข้อมูลเพื่อเป็นจุดตั้งต้นทางความคิดให้นักออกแบบรู้ว่าจะออกแบบไปเพื่อใคร และเขาคนนั้นมีความต้องการแบบไหน ในอดีต ‘เพศ’ คือสิ่งจำเป็นอันดับต้นๆ ที่จะต้องระบุลงไปในตัวตนจำลองเพื่อให้นักออกแบบวาดภาพในจินตนาการถึงวิถีชีวิตที่ ‘น่าจะเป็น’ ของเพศนั้น

ยกตัวอย่างเช่น ‘แนน’ เป็นผู้หญิง จึงมีแนวโน้มจะสนใจกีฬาอย่างโยคะมากกว่าชกมวยหรือเล่นสเก็ตบอร์ด ในขณะที่ ‘บอย’ ซึ่งเป็นผู้ชาย ก็ไม่น่าจะอุดหนุนน้ำผักหรือเมนูเพื่อสุขภาพ แต่เรื่องเหล่านี้ใช้ไม่ได้อีกแล้วในยุคนี้ ‘เพศ’ ไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับ User Persona อีกต่อไป เพราะในยุคที่เรามีเด็ก 8 ขวบบอกว่า ตัวเองคือเพศลื่นไหลหรือ Gender Fluid มีผู้หญิงไถสเก็ตบอร์ดพอๆ กับผู้ชาย และมีบอยที่สนใจฝึกโยคะมากมายเต็มไปหมด สิ่งที่นักออกแบบหันมาสนใจระบุเข้าไปในการสร้างตัวตนผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์หรือบริการหนึ่งมากขึ้นคือ ลักษณะตัวตน หรือ Archetype ของคนคนนั้นจริงๆ เช่น ‘นักวางแผน’ ‘คนทำงานเป็นทีม’ ‘คนใส่ใจสุขภาพ’ ฯลฯ แทนการใช้เพศแบ่งอย่างหยาบๆ เช่นในอดีต

สลายป้ายชายหญิง

ลูกค้า Gen Z ของแบรนด์อย่าง Levi’s จำนวนเกือบ 1 ใน 3 บอกว่า ตัวเองซื้อเสื้อผ้าโดยไม่ได้สนใจว่ามันแขวนอยู่ในโซนเสื้อผ้าผู้หญิงหรือผู้ชาย นั่นเป็นเหตุให้แบรนด์ต้องออกคอลเลกชันอย่าง ‘Unlabeled’ ที่ออกแบบเสื้อผ้าแต่ละชิ้นให้ดูดีไม่ว่าจะอยู่บนร่างกายของใคร ภาพถ่ายแฟชั่นของคอลเลกชันนี้ไม่ได้มีแค่ ‘นางแบบ’ หรือ ‘นายแบบ’ แต่มีแบบที่เป็นทั้งทรานส์เจนเดอร์หรือครอบครัวเลสเบียน ในขณะที่แบรนด์แฟชั่นใหญ่ๆ ในโลกอีกหลายแบรนด์ เช่น Gucci ก็มีการออกแคมเปญ ‘The Future is Fluid’ สารคดีเกี่ยวกับความลื่นไหลทางเพศของคนทั่วโลก ให้พื้นที่ของเสื้อผ้าและสุนทรียะที่เป็นกลางทางเพศในรันเวย์หรือภาพถ่ายแฟชันมากขึ้น นอกจากนี้ยังเกิดพื้นที่สำหรับโมเดลหรืออินฟลูเอนเซอร์ที่ไม่ระบุเพศขึ้น เช่น ‘Bangkok Naughty Boo’ – Virtual Model หรือ Cyber Influencer คนแรกในประเทศไทยที่เป็น Non-Binary หรือผู้ที่ปฏิเสธว่าเพศในโลกนี้มีแค่หญิงชาย

ในอนาคตโลกของเรากำลังจะเต็มไปด้วยครอบครัวที่อาจประกอบด้วยทรานส์เจนเดอร์กับผู้ชาย ผู้หญิงกับเกย์ เลสเบียนกับนอนไบนารี่ และอื่นๆ อีกมากมายเป็นเรื่องปกติ ห้องน้ำ ห้องนอน หรือตู้เสื้อผ้าของเราจะไม่ได้ถูกแบ่งด้วยข้าวของสำหรับผู้ชายหรือผู้หญิง แต่ทุกคนสามารถใช้ของชิ้นเดียวกันหรือของที่เหมาะกับตัวตนโดยไม่ต้องระบุตามเพศอีกต่อไป

Kön คือแบรนด์กางเกงชั้นในที่มีเพียงรุ่นเดียว แบบเดียว แตกต่างแค่ขนาดและสี เพราะออกแบบมาให้อยู่บนร่างกายของเพศใดก็ได้ และเชื่อว่าผู้ซื้อสามารถบอกได้เองว่าผลิตภัณฑ์ชิ้นไหนเป็นของตัวเอง เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณอย่าง Aesop หรือ ASARAI ที่ไม่แบ่งอีกต่อไปว่าผลิตภัณฑ์ไหนสำหรับคุณผู้หญิงหรือคุณผู้ชาย แต่เน้นไปที่การตอบสนองความต้องการของสภาพผิวที่แตกต่างกันของแต่ละคน โดยทุกผลิตภัณฑ์มีขวดและดีไซน์แบบเดียว ซึ่งผลพลอยได้ตามมาของการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ไม่จำเพาะเจาะจงสำหรับเพศใดเพศหนึ่ง คือลดปริมาณสินค้าที่จะผุดขึ้นมาบนชั้นวางในห้าง ลดปริมาณการผลิต รวมถึงลดขยะที่จะเกิดแก่โลกในอนาคตอีกด้วย

นอกจากการออกแบบผลิตภัณฑ์จะเปลี่ยนไป การออกแบบการบริการ หรือ service design ก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ในวันที่เราไม่สามารถตัดสินและให้ชื่อกับลูกค้าหรือผู้ใช้บริการว่าเป็นแค่ ‘คุณผู้หญิง’ หรือ ‘คุณผู้ชาย’ อีกต่อไป และไม่มีใครอยากถูกตัดสินจากคำนำหน้า ผู้ให้บริการสินเชื่อบัตรเครดิต Mastercard เลยออกแบบบัตรเครดิตรุ่น ‘True Name’ ที่ให้ลูกค้าเลือกที่จะไม่พิมพ์คำนำหน้าชื่อลงบนบัตร และสามารถเลือกใช้ชื่อที่ตัวเองอยากถูกเรียก โดยไม่ต้องใช้ชื่อตามบัตรประชาชนหรือทะเบียนบ้าน  

ในขณะที่ระบบผู้ช่วยส่วนตัวในรูปแบบเสียง (Voice Assistant) บนโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์เทคโนโลยีในบ้านอย่าง Siri หรือ Alexa ถูกตั้งค่าให้มีตัวตนและเสียงแบบเพศหญิง เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่ชวนให้เราอดตั้งคำถามเสียไม่ได้

‘Q’ จึงถูกออกแบบขึ้น ในฐานะตัวตนและเสียงของ AI คนแรกบนโลกที่ไม่ระบุเพศ เพราะในอนาคต แม้แต่ตัวตนของปัญญาประดิษฐ์ก็ไม่ควรถูกจำกัดอยู่แค่กรอบของหญิงชายเช่นกัน เสียงของ Q เป็นอย่างไร ลองฟังดูได้ใน Genderless Voice

Gender – Neutral Attitude

“อย่าให้มันเป็นแค่เทรนด์หรือมาร์เก็ตติง” ความคิดเห็นของหลายคน รวมถึง Ryan Sherman ครีเอทีฟผู้สร้างสรรค์ตัวตนและเสียงของ Q กล่าวถึงแนวความคิดที่มีต่อเรื่อง Gender – Neutral

การให้ความสำคัญกับความหลากหลายและลื่นไหลทางเพศไม่ควรเป็นเพียง ‘หีบห่อ’ ที่สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่แบรนด์หรือองค์กร (เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับคำว่า ‘กรีน’ หรือ ‘รักษ์โลก’ ในวันที่คนเริ่มให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน) แต่ ‘Gender – Neutral Attitude’ ควรเป็นทัศนคติที่อยู่ในหัวใจของคนทำงาน วัฒนธรรมองค์กร การรับและดูแลพนักงาน ไปจนถึงกระบวนการออกแบบและการผลิตทุกขั้นตอน สิ่งนี้ถือเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าแคมเปญใดๆ เพราะคนกลุ่มแรกที่ควรได้รับประโยชน์และเสริมพลังจากทัศนคติเรื่องความเสมอภาคทางเพศคือคนในองค์กรเอง 

เราจึงมีองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอย่าง Reimagine Gender ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อทำภารกิจช่วยเหลือองค์กร ผู้ขับเคลื่อนนโยบาย โรงเรียน ไปจนถึงครอบครัวให้มีความตระหนักรู้และสร้างความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับเพศโดยเฉพาะ เพื่อเตรียมรับมือโลกที่ผู้คนมีความคิดเกี่ยวกับเพศเติบโตขึ้นทุกวัน

ท้ายที่สุด ทัศนคติที่เปิดกว้างทางเพศควรถูกปลูกฝังในตัวคนคนหนึ่งให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดีที่สุดคือตั้งแต่คนคนนั้นยังเป็นเด็ก ในโลกที่เต็มไปด้วยสื่อการสอนและของเล่นที่แบ่งแยกเพศออกเป็นสอง เรากำลังต้องการงานออกแบบที่ช่วยสลายเส้นกั้นให้เด็กเห็นความเป็นไปได้ที่หลากหลายของตัวเอง

ของเล่นอย่าง ‘Geemo’ โดย Cas Holman เปิดให้เด็กๆ จับคู่ชิ้นส่วนยางยืดสีขาวโดยไม่ชี้นำด้วยสีสันหรือรูปทรงชิ้นใด ไม่บอกว่าชิ้นส่วนไหนต่อกันได้หรือไม่ได้ เด็กๆ จะเป็นผู้ค้นพบมันจากการทดลอง และก่อร่างรูปทรงของตัวเองขึ้นมาโดยไม่มีคู่มือหรือข้อจำกัด

Eyedropperfill

หรือจะเป็น ตุ๊กตาอย่าง Barbie ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกครหาว่าเป็นของเล่นที่ปลูกฝังทัศนคติทางเพศที่มีแค่สองและค่านิยมความงามที่มีแบบเดียว เริ่มปรับเปลี่ยนทิศทางด้วยการออกตุ๊กตาอย่าง ‘Mattel’ ตุ๊กตาหลากรูปร่าง หลายสีผิว แต่ละตัวไม่ระบุนิยามเพศ ในกล่องยังมีเสื้อผ้าและทรงผมให้เลือกโดยไม่แบ่งแยกว่าชิ้นไหนควรเป็นของเพศใด เพราะตัวตนของตุ๊กตาคือภาพสะท้อนของเด็กๆ มันจึงควรลื่นไหลและสามารถปรับเปลี่ยนไปพร้อมๆ กับตัวตนของเด็กได้

และเมื่อเร็วๆ นี้ ในประเทศไทยมีหนังสือนิทานภาพที่สอนให้เด็กๆ เข้าใจและเคารพความหลากหลาย อย่าง ‘จั๊กกะจิ่งจิ่ง’ นิทานเล่มนี้ไม่ได้เล่าเรื่องราวของอัศวินหนุ่มกับเจ้าหญิงเหมือนนิทานเล่มอื่นๆ ที่เคยผ่านตา แต่เล่าผ่านตัวละครที่ปรับเปลี่ยนรูปร่าง สีสัน และตัวตนไปตลอดเวลา พร้อมทั้งโยนคำถามชวนคิดว่า จริงๆ ตัวเรามีสีอะไร ตัวเรามีหน้าตาเป็นแบบไหน สิ่งใดที่จำกัดเรา ฯลฯ เพื่อบอกเด็กๆ ว่า “เราทุกคนไม่จำเป็นต้องเป็นแค่แบบใดแบบหนึ่ง”

เพราะในที่สุด ความเข้าใจและเคารพตัวตนอันหลากหลายของตัวเราเอง คือจุดเริ่มในการเข้าใจและเคารพความหลากหลายของคนอื่น และนั่นคงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ใครคนหนึ่งเรียนรู้ว่า ‘มนุษย์ทุกคนล้วนมีคุณค่าเท่าเทียมกัน’

อ้างอิง :

The future is fluid: is the age of gender neutral marketing upon us?

From Pink VS Blue to Gender-Neutral Design: is the of design and advertising genderless?

3 Ways to Remove Gender Bias from Early UX Design Phases

Companies Can’t Ignore Shifting Gender Norms

Kön designs gender-neutral underwear made from cellulose fibres

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save