fbpx
สัตยาเคราะห์แบบคานธี: การชุมนุมด้วยความรัก และการดื้อแพ่งต่อความอยุติธรรม

สัตยาเคราะห์แบบคานธี: การชุมนุมด้วยความรัก และการดื้อแพ่งต่อความอยุติธรรม

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก เรื่อง

ในทุกวันที่ 15 สิงหาคมของทุกปี ถือเป็นหนึ่งในวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของอินเดีย เพราะในปี 1947 วันนี้ถือเป็นวันที่ชาวอินเดียทุกคนได้รับสิทธิในการปกครองตนเองหลังจากตกอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษมาเป็นเวลายาวนาน

บัณฑิตชวาหะร์ลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดียได้อ่านสุทรพจน์ชิ้นสำคัญในชื่อ “A tryst with destiny” ซึ่งบ่งชี้ถึงความเป็นอิสระและเสรีภาพของประชาชนชาวอินเดียที่ร่วมต่อสู้ด้วยความมุ่งมั่น และความหวังที่จะเห็นเอกราชแห่งชาติ

ชัยชนะในครั้งนี้ไม่ใช่เป็นเพียงประวัติศาสตร์ของชาวอินเดียเท่านั้น หากแต่เป็นประวัติศาสตร์ของโลกที่ได้เห็นว่าแนวทางการต่อสู้แบบไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อเรียกร้องเอกราชของชาวอินเดียนั้นประสบความสำเร็จได้อย่างสง่างาม

หนึ่งในบุคคลประวัติศาสตร์ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการเรียกร้องเอกราชในครั้งนี้ คงหนีไม่พ้นมหาตมะ คานธี หรือบิดาแห่งชาติอินเดีย ผู้ซึ่งนำเสนอแนวคิดว่าด้วยสันติวิธี อหิงสา และสัตยาเคราะห์เพื่อเป็นหมุดหมายให้ชาวอินเดียทั้งประเทศได้ก้าวเดินเพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ

นอกจากแนวคิดและอุดมการณ์นี้จะแพร่หลายในอินเดียแล้ว ยังแผ่กระจายไปทั่วโลกอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงในแอฟริกาใต้ หรือในสหรัฐอเมริกา ครั้งนี้เลยอยากพาทุกคนศึกษาประวัติศาสตร์การเรียกร้องเอกราชของชาวอินเดีย และถอดบทเรียนการเคลื่อนไหวบนแนวทางสันติวิธีที่ทำให้อินเดียไม่มีการนองเลือดและกลายเป็นแนวคิดที่แพร่หลายในการต่อสู้ทั่วทุกมุมโลก

เอาชนะความเกลียดด้วยความรัก

หนึ่งในหลักคิดสำคัญที่เป็นหัวใจของการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชของมหาตมะ คานธี คือความเมตตา การให้อภัย รวมถึงการไม่ใช้กำลัง

หลายคนอาจเข้าใจว่าแนวคิดว่าด้วยสันติวิธีนั้น ถือกำเนิดขึ้นจากการเรียกร้องในประเทศอินเดีย แต่นั่นหาใช่ความจริงไม่ เพราะแนวคิดเหล่านี้ก่อตัวตั้งแต่ครั้งที่คานธีเริ่มเคลื่อนไหวช่วยเหลือคนอินเดียในแอฟริกาใต้ ซึ่งคานธีก็ใช้แนวทางการต่อสู้แบบไม่ใช้กำลังเป็นแนวทางหลักในการต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวอินเดียในแอฟริกาใต้ หรือที่ในเวลาต่อมาเรารู้จักในชื่อแนวคิด ‘สัตยาเคราะห์’ ซึ่งมีความหมายอย่างตรงไปตรงมาว่า ‘แข็งแกร่งหนักแน่นในความจริง’

ในมุมมองของคานธี ‘สัตยาเคราะห์’ ไม่ได้ใช้สำหรับเพียงเพื่อการเคลื่อนไหวในทางการเมืองเท่านั้น แต่ควรถูกปรับใช้ในชีวิตประจำวันของตัวเราเองจนเกิดเป็นนิสัย เพราะหากทุกคนหนักแน่นในความเป็นจริงแล้ว เราก็จะสามารถพิเคราะห์ว่าอะไรคือความยุติธรรมที่แท้จริงในทุกมิติ

ยิ่งไปกว่านั้น ความเมตตาและความรักถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่ผู้ปฏิบัติพึงมี ครั้งหนึ่งระหว่างที่คานธียังเคลื่อนไหวอยู่ในแอฟริกาใต้ มีชาวอินเดียในนิคมฟินิกส์ที่เขาตั้งขึ้นทำความผิดร้ายแรง แทนที่คานธีจะว่ากล่าวตักเตือนคนเหล่านั้น เขาเลือกที่จะรับความผิดนั้นไว้เพราะถือว่าคนเหล่านี้เดินตามแนวทางของเขา คานธีจึงตัดสินใจอดอาหารเพื่อชำระล้างความผิดนี้ของตนเอง และความเมตตาเหล่านี้เองที่สุดท้ายก็กลับใจผู้กระทำผิดให้หันมาเดินตามรอยที่เหมาะที่ควรของคานธี

นับตั้งแต่นั้นตลอดชีวิตของคานธี เมื่อเล็งเห็นว่างานการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชของอินเดียนั้นหยุดลงหรือมีอุปสรรคสำคัญให้ต้องชะงัก เขาก็จะเลือกวิธีการอดอาหารซึ่งเป็นการทรมานตนเอง เพื่อเตือนสติทั้งผู้ปกครองที่ไม่มีใจเป็นธรรม ตลอดจนพรรคพวกของเขาที่ขาดสติไปชั่วขณะหนึ่ง นี่ถือเป็นอีกหนึ่งความรักที่คานธีมักมีให้คนอื่นๆ ที่มีความผิดเสมอ

นอกจากจากความรักที่มีให้คนอื่นแล้ว คานธียังใช้ความรักเพื่อลบเลือนความเกลียดชังอีกด้วย ไม่ว่าฝ่ายตรงข้ามนั้นจะเป็นมิตรหรือศัตรู

ครั้งหนึ่งในแอฟริกาใต้ คานธีได้ชักชวนให้ชาวอินเดียไปลงทะเบียนกับทางการอังกฤษเพื่อให้มีการปล่อยตัวชาวอินเดียที่ถูกดำเนินคดี ทว่ามีชาวอินเดียบางกลุ่ม โดยเฉพาะชาวมุสลิมไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้จนบุกไปทำร้ายคานธีได้รับบาดเจ็บสาหัส แม้ต่อมาตำรวจจะจับคนร้ายได้ แต่คานธีปฏิเสธที่จะแจ้งจับคนเหล่านี้ เพราะเล็งเห็นว่าตอนนี้คนฮินดูและมุสลิมต้องร่วมใจกัน การแจ้งจับคนมุสลิมของท่านจะนำไปสู่ความบาดหมางในอนาคตได้

นี่คือความเมตตาและความรักที่คานธีมักใช้เพื่อจัดการกับความเกลียดชังที่เกิดขึ้นจากฝ่ายตรงข้าม รวมถึงภายในฝ่ายตนเองด้วย และทุกครั้งที่คานธีได้รับความเจ็บปวดไม่ว่าจะทางกายหรือทางใจในการเคลื่อนไหว เขาก็มักจะบอกผู้ติดตามเสมอว่าให้รู้จักอภัยต่อศัตรู แม้ในวันที่คานธีถูกสังหารโดยน้ำมือของชาวอินเดีย คานธีก็ยังเลือกที่จะให้อภัยมือปืนรายนั้นด้วยการกล่าวสรรเสริญพระเจ้า ซึ่งนี่คือหัวใจสำคัญดวงหนึ่งของหลักการ ‘สัตยาเคราะห์’ นั่นเอง

การเอาชนะความอยุติธรรมด้วยการดื้อแพ่ง

นอกจากความรักและเมตตาที่มีต่อผู้อื่นไม่ว่าจะฝ่ายตนหรือต่อฝ่ายตรงข้ามจะเป็นหมุดหมายสำคัญที่คานธีและพวกพ้องยึดถือในการขับเคลื่อนการเรียกร้องเอกราชและความเป็นธรรมในประเด็นต่างๆ แล้ว อีกหนึ่งหลักการสำคัญและถือเป็นหัวใจใหญ่ของการขับเคลื่อนมวลชนของคานธี คือการเอาชนะความอยุติธรรมด้วยการดื้อแพ่ง

ความพยายามในการขับเคลื่อนและผลักดันแนวคิดเพื่อต่อต้านอังกฤษของคานธีเริ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมภายหลังการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ตลอดช่วงสงคราม คานธีพยายามอย่างมากในการสนับสนุนอังกฤษและคาดหวังว่าผลตอบแทนที่จะได้รับคือเอกราชของชาวอินเดีย แต่ความหวังของคานธีก็สิ้นสุดลงเพราะนอกจากอินเดียจะไม่ได้เอกราชแล้ว อังกฤษยังกดขี่ชาวอินเดียอย่างหนักเพื่อนำทรัพยากรไปฟื้นฟูประเทศตัวเอง

แต่สำหรับคานธีการใช้กำลังนั้นไม่ใช่ทางออก ฉะนั้นคานธีจึงหยิบเอาหลัก ‘อหิงสา’ หรือการไม่ใช้กำลังมาใช้และบอกกล่าวแก่ผู้ติดตามทุกคนว่า นี่คือแนวทางหลักในการต่อสู้กับอังกฤษเพื่อเอกราชของคนอินเดียทั้งมวลโดยปราศจากการใช้กำลัง และหนึ่งในการไม่ใช้กำลังเพื่อต่อต้านอังกฤษก็คือการดื้อแพ่ง หรือการปฏิเสธที่จะปฎิบัติตามกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมนั่นเอง

ครั้งหนึ่งคานธีเดินทางไปช่วยชาวนาที่มีปัญหาพิพาทกับเจ้าที่ดินเกี่ยวกับประเด็นเรื่องไร่คราม จนเป็นเหตุให้เขาต้องถูกฟ้องร้องในชั้นศาล และไม่ได้รับอนุญาติให้เดินทางออกนอกพื้นที่ แต่ที่สุดแล้ว คานธีก็ละเมิดข้อคำสั่งของทางตำรวจ และได้ขึ้นให้การกับศาลยอมรับผิดเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว จนเกิดเป็นวาทกรรมอันลือลั่นในชั้นศาล ความตอนหนึ่งว่า

“ที่กระผมไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของทางการตำรวจนั้น มิใช่เป็นเพราะกระผมไม่เคารพกฎหมายของบ้านเมือง แต่เป็นเพราะกระผมต้องการปฏิบัติตามคำสั่งที่สูงยิ่งไปกว่านี้ นั่นก็คือ คำสั่งแห่งความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของตัวกระผมเอง” 1

นอกจากเรื่องนี้แล้ว คานธียังชักชวนให้คนอินเดียทั้งประเทศไม่จ่ายภาษีต่างๆ ที่กดขี่และสร้างความไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งต่อคนอินเดีย และหนึ่งในนั้นก็คือกฎหมายว่าด้วยภาษีเกลือนั่นเอง ที่ท้ายที่สุดแล้วคานธีก็พาชาวอินเดียทั่วทั้งประเทศเดินเท้าเพื่อไปทำเกลือซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายดังกล่าวอย่างชัดเจน แต่นี่ก็คือหลักการสัตยาเคราะห์ของคานธี ที่จะเอาชนะความอยุติธรรมด้วยการดื้อแพ่งและไม่ใช้ความรุนแรง แต่นั่นก็ใช่จะหมายความว่าเขาจะไม่เคารพกฎหมายที่มีอยู่ เพราะสุดท้ายคานธีก็ยอมรับการจับกุมจากทางการอังกฤษอย่างสดุดี

การเดินขบวนประท้วงของนักศึกษาที่ไม่ปิดทุกช่องจราจรเพื่อเคารพสิทธิของผู้ใช้ถนน
การเดินขบวนประท้วงของนักศึกษาที่ไม่ปิดทุกช่องจราจรเพื่อเคารพสิทธิของผู้ใช้ถนน (ภาพโดยผู้เขียน)

สันติวิธี: พูดง่ายแต่ทำยาก

ไม่ว่าจะมีการชุมนุมที่ไหนในมุมโลก คำว่า ‘สันติวิธี’ มักถูกหยิบยกขึ้นมาใช้เสมอ แต่หากเราดูประวัติศาสตร์การชุมนุมทั่วโลกที่ผ่าน มีการชุมนุมไม่กี่ครั้งเท่านั้นที่สามารถเดินตามแนวทางสันติวิธีได้อย่างแท้จริง เพราะหลายครั้งเราได้เห็นว่าสุดท้ายจุดจบของการชุมนุมจำนวนมากสิ้นสุดด้วยความรุนแรงที่เป็นการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐ

นี่คือความยากของการชุมนุมและการเรียกร้องตามคติของคานธี แม้แต่คานธีเองก็ประสบปัญหาลักษณะเช่นนี้ไม่ต่างกัน ในครั้งแรกที่คานธีผลักดันเรื่องสันติวิธีจนมีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก แต่สุดท้ายก็นำไปสู่การใช้ความรุนแรงของผู้ชุมนุม ส่งผลให้คานธีต้องยุติการชุมนุมเป็นเวลานาน และกลับมาทบทวนและทำความเข้าใจหลักสันติวิธีในการชุมนุมกับพรรคพวกเป็นการใหญ่

ต้องไม่ลืมว่าหลักสัตยาเคราะห์ของคานธีนั้น ไม่ใช่เพียงการสงบ ต่อต้านกฎหมายอยุติธรรมด้วยการดื้อแพ่ง การให้ความรักและความเมตตาเท่านั้น แต่มันหมายรวมถึงการไม่ใช้กำลังตอบโต้กลับโดยเด็ดขาด ไม่ว่าตนเองจะได้รับความทุกข์ทั้งทางกายและทางใจมากเพียงใด ถึงขนาดที่ว่าถ้าถูกยิงหรือถูกตีก็ต้องยืนสงบนิ่งอยู่กับที่ให้อีกฝ่ายกระทำเท่านั้น จะวิ่งหรือหนีไปไหนไม่ได้

ฉะนั้นแนวทางสันติวิธีนั้นจึงไม่ใช่สิ่งง่ายที่จะปฏิบัติกันได้ แต่จำเป็นต้องได้รับการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง แน่นอนว่าการต่อสู้ในลักษณะนี้อาศัยเวลายาวนานเพื่อให้บรรลุข้อเรียกร้อง ยิ่งข้อเรียกร้องนั้นทำลายรากฐานและรากแก้วของปัญหามากเท่าใด ระยะเวลาที่ใช้จะยิ่งยาวนานมากเท่านั้น

ดังนั้นหากวันนี้เราคนไทยอยากจะเห็นการแก้ไขปัญหาที่ถึงรากถึงแก่นโดยอาศัยแนวทางสันติวิธีในการเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหา จุดเริ่มสำคัญคือมีเมตตา มีความรัก ต่อทั้งตนเอง และฝ่ายตรงกันข้าม หยุดถ้อยคำแสดงความเกลียดชัง สร้างความตื่นรู้ให้กับสังคมผ่านการกระจายข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องตรงไปตรงมาก และที่สำคัญคือความอดทนอดกลั้น โดยเฉพาะหากมีการใช้ความรุนแรงจากภาครัฐ จงเข้มแข็งในจุดยืนของตนเอง ดั่งแนวทางสัตยาเคราะห์ของคานธี ที่ แข็งแกร่งหนักแน่นในความจริง’ และยอมรับผลแห่งการดื้อแพ่งต่อกฎหมายอยุติธรรมเหล่านั้น จนมันหมดสภาพในการบังคับใช้

และวันหนึ่งดอกผลแห่งสันติวิธีในการเรียกร้องต่อรัฐบาลจะผลิดอกออกผล ดังเช่นเอกราชของชาติอินเดีย ดังความตอนหนึ่งในสุนทรพจน์ของเนห์รู ในวันเอกราช ที่ว่า

“เมื่อนาฬิกาบอกเวลาเที่ยงคืนในวันนี้ ในขณะที่ทั่วโลกกำลังหลับไหล อินเดียจะตื่นด้วยชีวิตและอิสรภาพ ช่วงเวลาที่สำคัญมาถึงแล้ว เรากำลังก้าวจากสิ่งเก่าไปสู่สิ่งใหม่”

 


เอกสารอ้างอิง

1 Gandhi, Mohandas Karamchand. (1993). An autobiography: the story of my experiments with truth. New Delhi: Om Book International

2 เยอร์ทรูด เมอเรย์. (2554). คานธีที่ข้าพเจ้ารู้จัก. (เรืองอุไร กุศลาสัย, ผู้แปล) กรุงเทพ: สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save