fbpx
FUTURE BABY ทารกแห่งอนาคต : ในนามแห่ง ‘บุตร’ ในสายตาของคนรุ่นใหม่

FUTURE BABY ทารกแห่งอนาคต : ในนามแห่ง ‘บุตร’ ในสายตาของคนรุ่นใหม่

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

ณัฎฐา ไพศาลศรีสมสุข, อัษฎาวุธ มั่นคง ภาพ

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

ลองจินตนาการกันเล่นๆ ว่าหากวันหนึ่งมนุษย์เข้าใกล้ความเป็นพระเจ้าเข้าไปเรื่อยๆ ที่ไม่ใช่แค่สร้างวัตถุล้ำยุค แต่พวกเราสามารถสร้าง ‘มนุษย์’ ขึ้นมาได้เองในห้องแล็บ และปรับรหัสชีวิตจน ‘ออกแบบลูก’ ของเราได้ คำถามทางจริยธรรมและโครงสร้างทางสังคมคงถูกสั่นคลอนจนต้องมาคุยกันใหม่ว่า ครอบครัวคืออะไร และความหมายของคำว่า ‘แม่’ คืออะไร

เรื่องเหล่านี้ไม่ได้อยู่แค่ในหนังไซ-ไฟ แต่เกิดขึ้นจริงแล้วบนโลกของเรา

ปัจจุบันมีเด็กหลอดแก้ว (เด็กที่เกิดการปฏิสนธินอกร่างกาย – IVF (In-vitro Fertilization)) ที่ดำรงชีวิตบนโลกแล้วกว่า 7 ล้านคน เมื่อปีที่แล้วในประเทศไทยมีทายาทของเด็กหลอดแก้วกำเนิดอย่างปลอดภัย และไม่ได้เป็นมนุษย์กลายพันธุ์อย่างที่ในอดีตเคยกังวลใจกัน

ยังไม่นับว่าโลกขยับมาอีกขั้นด้วยเทคโนโลยีที่สามารถออกแบบทารกเกิดใหม่ ให้ปราศจากโรคทางพันธุกรรมและอาจไปไกลถึงขั้นกำหนดรูปลักษณ์ภายนอกและความฉลาดได้

คำถามก็คือเมื่อวิทยาศาสตร์ทลายรูปแบบเดิมในการกำเนิดมนุษย์ เราจะรับมือและต่อรองอย่างไร และเราต้องการไปไกลแค่ไหน

ในโครงการสื่อสารกับเยาวชนเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านภาพยนตร์ ที่จัดโดย สวทน. ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Thai National Commission for UNESCO ชวนเด็กอายุ 15-24 ปีมาตอบคำถามเหล่านี้ ในงานฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘FUTURE BABY’ ผลงานของ Maria Arlamovsky ผู้กำกับชาวออสเตรีย

หลังจากรับชมหลายแง่มุมเกี่ยวกับเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ของมนุษย์ ความหวังของพ่อแม่ในอนาคต การเผชิญกับความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ในการวิจัยการพัฒนาตัวอ่อนของมนุษย์แล้ว ทีมงานชวนเหล่าคนรุ่นใหม่มาถกเถียงและสรุปออกมาเป็นการอภิปรายผลแต่ละกลุ่ม

คำตอบที่ได้มาน่าสนใจ ไม่ใช่เพราะเด็กรุ่นใหม่เข้าใจวิทยาศาสตร์มากแค่ไหน หากแต่พวกเขาเข้าใจโลก เข้าใจมนุษย์ เชื่อมโยงกลไกทางสังคม กฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนได้อย่างน่ารับฟัง

 

 

ในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง FUTURE BABY พาเราไปรู้จักประเด็นเกี่ยวกับการกำเนิดหลักๆ 3 รูปแบบ คือ

1. การอุ้มบุญ

2. แม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีลูกด้วยการรับบริจาคอสุจิ

3. การวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมระยะก่อนการฝังตัว (PGD) การเลือกเพศของตัวอ่อน และ Designer Baby

หนังฉายภาพผ่านกรณีศึกษาที่หลากหลาย พาเข้าไปดูห้องแล็บ พูดคุยกับหมอและทีมนักวิจัย ถ่ายขยายให้เห็นวินาทีที่สเปิร์มเจาะเข้าไปในเซลล์ไข่ด้วยการควบคุมของมนุษย์เอง

ตัวหนังมีหลายประโยคที่สั่นสะเทือนหัวใจ และชวนให้เราตั้งคำถามว่ามนุษย์มีสิทธิ์ในตัวเองแค่ไหน เช่น เรื่องราวของ Noa Shida ลูกของแม่เลี้ยงเดี่ยวที่รับบริจาคอสุจิในเมืองเทล อาวีฟ เมื่อโตขึ้นเธอกล่าวถึง ‘ชีวิต’ ของเธอเองว่า “การที่ฉันไม่รู้จักพ่อของฉัน คือการที่ฉันไม่รู้รากเหง้าครึ่งหนึ่งของตัวเอง”

หรือการที่นักชีวจริยธรรม Carmel Shalev ตั้งคำถามว่า “เมื่อเราบอกว่าเรามีสิทธิในการเป็นพ่อแม่ มันแปลว่าด้วยวิธีใดก็ได้งั้นเหรอ”

ท่ามกลางคลื่นคำถามที่หลากหลาย เหล่าเด็กรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมกิจกรรมแบ่งกันเป็น 5 กลุ่ม รับข้อมูลจากสถานการณ์ที่ดัดแปลงมาจากในภาพยนตร์ แล้วระดมความคิดออกมาได้ตามประเด็นดังนี้

 

การอุ้มบุญ

 

การตั้งคำถามเกี่ยวกับการอุ้มบุญครั้งนี้ เกี่ยวโยงไปยังเรื่อง ‘การอุ้มบุญเชิงพาณิชย์ (แบบมีค่าตอบแทน)’ โดยผู้ที่อุ้มบุญให้ไม่จำเป็นต้องมีสายเลือดเกี่ยวพันกับคู่ที่อยากมีบุตร ซึ่งกฎหมายในไทยยังไม่รองรับการอุ้มบุญเชิงพาณิชย์ ยังห้ามรับตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้าอยู่

กลุ่มที่ 1 ที่เข้าร่วมอภิปรายครั้งนี้ได้รับโจทย์จากสถานการณ์ในภาพยนตร์ว่า

มีคู่รักคู่หนึ่งที่มีฐานะร่ำรวยต้องการมีลูก แต่ไม่สามารถมีลูกด้วยวิธีธรรมชาติได้ เนื่องจากฝ่ายหญิงไม่สามารถตั้งท้องได้ พวกเขาจึงตัดสินใจที่จะใช้อสุจิของฝ่ายชายปฏิสนธิกับเซลล์ไข่ที่รับบริจาคจากนางแบบนิรนามคนหนึ่ง และจ้างผู้หญิงที่มีฐานะยากจนอีกคนหนึ่งเพื่ออุ้มบุญลูกของพวกเขา

ผู้หญิงที่รับจ้างอุ้มบุญคนนี้มีบุตรแล้วหนึ่งคนและกำลังตกงานอยู่ ค่าจ้างในการอุ้มบุญครั้งนี้ถือว่ามากสำหรับเธอ และจะช่วยให้เธอและลูกของเธอมีชีวิตที่สบายขึ้น เธอทำสัญญากับคู่รักที่จ้างเธอว่าจะส่งมอบเด็กที่เกิดมาหลังจากคลอด

ผลการอภิปราย พวกเขาวิเคราะห์ความแตกต่างของการอุ้มบุญออกมาว่า การอุ้มบุญทางสายเลือด มีข้อดีคือ ได้รับรู้เห็นความเป็นไปของการเลี้ยงดูเด็กในครรภ์ แต่มีข้อเสียคือ เสี่ยงต่อโรคทางพันธุกรรมหากตระกูลมีโรคสืบเนื่องกันมาอยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน การอุ้มบุญทางพาณิชย์ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ แต่ต้องมีการวางกฎหมายควบคุมเป็นระบบ โดยมีสัญญาระหว่างผู้อุ้มบุญกับบุคคลที่อยากมีบุตร เกี่ยวกับข้อตกลงเรื่องค่าอุ้มบุญและกฎระเบียบอื่นๆ

“ทุกคนล้วนมีสิทธิ์ในการมีลูกด้วยวิธีนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนโสด คู่รักต่างเพศ หรือคู่รักเพศเดียวกัน เพียงแค่สามารถดูแลลูกได้” คือหนึ่งในคำตอบของมุมมองที่มีต่อการอุ้มบุญ แต่ในปัจจุบันกฎหมายประเทศไทยยังกำหนดว่าผู้มีสิทธิ์ว่าจ้างบุคคลอื่นตั้งครรภ์แทนได้จะต้องเป็นคู่สมรสไทยที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย หรือคนไทยที่สมรสกับชาวต่างชาติและจดทะเบียนสมรสมาแล้วอย่างน้อย 3 ปีเท่านั้น

นอกจากประเด็นเรื่องคู่สมรส กลุ่มที่ 1 มองว่าควรมีกฎระเบียบและการจัดการเข้าถึงเทคโนโลยีด้วยการประเมินสุขภาพ ร่างกาย จิตใจ สภาพทางการเงิน อายุของคนที่ต้องการเข้าถึงบริการนี้

สิ่งหนึ่งที่เด็กรุ่นใหม่ให้ความสำคัญคือเรื่องการมีลูกของคู่รักเพศเดียวกัน ซึ่งอาจส่งผลต่อเด็กเมื่อโตขึ้นและต้องรับมือกับสังคม พวกเขาจึงเสนอให้มีการปรับระบบการศึกษาและทัศนคติของคนในสังคมเกี่ยวกับเรื่องเพศของพ่อแม่ ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นแค่ หญิง-ชาย เสมอไป เพื่อรองรับรูปแบบการมีบุตรแบบอุ้มบุญที่หลากหลายขึ้น มีมิติของครอบครัวที่ไม่ใช่แบบในขนบเดิมอีกต่อไป

 

 

แม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีลูกด้วยการรับบริจาคอสุจิ

 

สถานการณ์ที่กลุ่มที่ 2 และ 3 ได้รับคือ

ผู้หญิงโสดคนหนึ่งต้องการจะมีลูก แต่เธอไม่ต้องการที่จะมีสามีและตัดสินใจใช้อสุจิที่ได้รับบริจาคในการปฏิสนธิกับเซลล์ไข่ของเธอแทน อสุจิที่ได้รับบริจาคนั้นเป็นของชายนิรนามที่ไม่ต้องการมีลูกและไม่ต้องการได้รับการติตต่อจากเด็กที่จะเกิดจากการใช้อสุจิของเขา

เด็กผู้หญิงที่เกิดมาถูกเลี้ยงโดยแม่เลี้ยงเดี่ยว แต่เมื่อเธอโตขึ้นมา เธอเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวตนของเธอและต้องการทราบเกี่ยวกับพ่อโดยสายเลือดของเธอ อย่างไรก็ตามข้อมูลที่เธอมีเกี่ยวกับพ่อโดยสายเลือดของเธอนั้นเป็นแค่ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะภายนอก เช่น ส่วนสูง สีผม และสีตา

เธอรู้สึกอึดอัดและไม่สบายใจที่ไม่สามารถติดต่อหรือเรียนรู้เกี่ยวกับเขาได้ เธอคิดว่าไม่ยุติธรรมที่ข้อมูลที่เธอต้องการทราบถูกปกปิดไว้และรู้สึกว่าบางส่วนของเธอได้ขาดหายไป

ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือสิทธิของลูกในการรับรู้ข้อมูลของผู้บริจาคอสุจิ ซึ่งกลุ่มที่ 2 มองว่า บุตรควรได้รับรู้ลักษณะภายนอก และข้อมูลอื่นเท่าที่ผู้บริจาคอยากให้รู้ ซึ่งเป็นสิทธิที่ควรระบุไว้ในสัญญา

พวกเขามองว่าทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการบริจาคอสุจิ แต่ก็ยังมีข้อกังวลใจว่า ในกรณีของแม่เลี้ยงเดี่ยว ลูกที่เกิดมาอาจมีปัญหาเนื่องจากมีความรู้สึกว่าไม่มีพ่อแม่ตามธรรมชาติ ควรมีการจัดการอย่างเป็นระบบเพื่อรองรับคุณภาพชีวิตของเด็กที่จะเกิดมา เช่น ต้องมีทรัพย์สินที่เพียงพอในการดูแลลูก ต้องปรึกษาจิตแพทย์ถึงความพร้อม รวมถึงตรวจสุขภาพร่างกาย และควรจำกัดการมีลูกโดยคำนึงถึงความพร้อมในการดูแล

ในขณะที่กลุ่มที่ 3 มองว่าคนโสดอาจจะเลี้ยงลูกลำบากกว่าคู่รัก จึงสนับสนุนให้คู่รัก ทั้งต่างเพศและเพศเดียวกันเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากกว่า เพราะเชื่อว่าจะสามารถดูแลลูกได้ดีกว่า ทั้งยังเสนอว่าในประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำ รัฐควรเข้ามาช่วยให้เข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้นในราคาที่ไม่สูงนัก

ประเด็นที่น่าสนใจจากแนวคิดของทั้ง 2 กลุ่มคือ เด็กรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับความอบอุ่นและความพร้อมในการเลี้ยงดูของครอบครัว มากกว่าเรื่องเพศของพ่อแม่ที่รับบริจาคอสุจิ เป็นที่น่าสังเกตว่าพวกเขายังกังวลกับภาวะครอบครัวแบบแม่เลี้ยงเดี่ยว ว่าอาจไม่สามารถรองรับชีวิตของเด็กที่จะเกิดมาได้ดีพอ

 

การวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมระยะก่อนการฝังตัว (PGD) การเลือกเพศของตัวอ่อน และ Designer Baby

 

ในกลุ่มที่ 4 และ 5 ได้รับสถานการณ์ดังนี้

สามีภรรยาคู่หนึ่งต้องการมีลูกคนที่สองแต่ไม่สามารถตั้งท้องได้จึงตัดสินใจทำเด็กหลอดแก้ว พวกเขามีลูกสาวอยู่แล้วหนึ่งคน ประวัติครอบครัวของฝ่ายสามีนั้นมีโรคทางพันธุกรรมซึ่งเทคโนโลยี PGD สามารถคัดกรองตัวอ่อนก่อนการฝังตัวได้

นอกจากนี้ คู่สามีภรรยานี้ต้องการได้ลูกชายและขอให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเลือกตัวอ่อนเพศชายเพื่อทำการฝังตัวให้ อย่างไรก็ตาม แพทย์คนนี้พบว่าตัวอ่อนเพศชายส่วนใหญ่ของคู่สามีภรรยาคู่นี้มีโอกาสที่จะมีโรคทางพันธุกรรมสูง ในขณะที่ตัวอ่อนเพศหญิงดูเหมือนจะสมบูรณ์และปราศจากโรคทางพันธุกรรม (แพทย์ไม่สามารถรับประกันได้)

คำถามที่น่าสนใจคือพ่อแม่มีสิทธิ์แค่ไหนในการเลือกเพศและลักษณะทางพันธุกรรมให้ลูก

กลุ่มที่ 4 มองว่าควรมีเทคโนโลยีการตรวจคัดกรองความผิดปกติของตัวอ่อน เพื่อลดความเสี่ยงของโรคเพื่อให้ได้เด็กที่เติบโตมาสุขภาพแข็งแรง แต่ก็ยังกังวลว่าอาจเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้มีรายได้น้อยกับรายได้มาก ในการเข้าถึงเทคโนโลยีนี้

ในประเด็นการเลือกเพศลูก อาจทำให้เกิดจำนวนที่ไม่สมดุลระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง พวกเขาไม่เห็นด้วยกับการเลือกลักษณะที่นอกเหนือความจำเป็นทางการแพทย์ เพราะจะทำให้ไม่มีความหลากหลายในสังคม

“เราจะเอาณเดชน์ 20 คนไปทำไมครับ” หนึ่งในสมาชิกกลุ่มอธิบายเหตุผลที่ว่าทำไมจึงไม่เห็นด้วยกับการเลือกลักษณะรูปร่างหน้าตา ก่อนให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า ในสังคมควรมีความหลากหลาย เราไม่ควรให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์มากจนเกินไป ขณะเดียวกันก็ไม่ควรจำกัดความฉลาดไว้แค่รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

“ความฉลาดมีได้หลายแบบ” พวกเขากล่าวทิ้งท้าย

ส่วนกลุ่มที่ 5 ก็มีมุมมองคล้ายกันว่าจำเป็นที่จะมีการตรวจคัดกรองความผิดปกติของตัวอ่อนก่อนกระบวนการตั้งครรภ์ เพราะจะช่วยให้โรคทางพันธุกรรมลดลง ซึ่งเทคโนโลยีนี้ควรเป็นสวัสดิการรัฐ และทุกคนควรเข้าถึงได้โดยไม่จำเป็นต้องแต่งงาน แต่ต้องกำหนดความพร้อมในด้านต่างๆ ของผู้เข้ารับบริการนี้ เช่น อายุ ภาวะจิตใจ ฐานะทางการเงิน ฯลฯ

ส่วนในประเด็นการเลือกเพศของลูก ให้ขึ้นอยู่กับพ่อแม่ แต่เมื่อก้าวไปสู่การเลือกลักษณะที่นอกเหนือความจำเป็นทางการแพทย์ เช่น รูปร่างหน้าตา ความฉลาด ฯลฯ แล้ว พวกเขามองว่าไม่ควรให้เลือกได้ เพราะคิดว่าจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี

“ถ้าเราเลือกได้ว่าให้ลูกออกมามีผิวขาว ผิวดำ ก็ส่งผลเสียแล้ว อย่างแรก การที่เราจะรักลูกของเรา ต้องไม่ใช่เพราะว่าลูกหน้าตาสวยน่ารัก แต่เรารักลูกเพราะเป็นความรับผิดชอบของเรา เพราะเราตั้งใจจะมี เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของเราที่จะรักและดูแลลูก

“สอง ในสังคมเราไม่ควรจะให้ความสำคัญกับลักษณะหน้าตาภายนอกมากกว่านิสัยข้างใน การที่เราให้คนมาเลือกว่าลักษณะนี้ดี อยากได้ หรือลักษณะนี้ไม่อยากให้ลูกของเรามี ก็เหมือนเป็นการบอกว่าลักษณะไหนด้อยกว่าลักษณะไหน มันส่งเสริมการเหยียดในสังคม ทำให้สังคมแย่ลงในท้ายที่สุด” คือเหตุผลของพวกเขาที่ฟังแล้วชวนกระตุกใจ

 

 

โลกในสายตาคนรุ่นใหม่

 

เด็กที่เข้าร่วมงานส่วนมากเป็นเด็กมัธยมปลาย มีจากทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด หลากหลายบุคลิกภาพ แต่มีความสนใจเดียวกันคือเรื่องวิทยาศาสตร์ ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็มีความเข้าใจเกี่ยวกับสังคม กฎหมาย ความสัมพันธ์ของผู้คน เชื่อเรื่องความเท่าเทียม และเข้าใจว่าความหลากหลายคือธรรมชาติของมนุษย์

เราพูดคุยกับเด็กหลายคน พวกเขามีความหวังต่อสังคมข้างหน้า และมีภาพฝันกับสังคมที่พวกเขาต้องอยู่อีกนาน

มายด์ – ณัชพร นำศิริกุล จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กล่าวถึงความสำคัญที่ว่ารัฐบาลควรนำเทคโนโลยีทางการแพทย์มาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนได้

“เราต้องยอมรับว่ามีช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน แต่หน้าที่ของรัฐบาลก็คือการลดช่องว่างให้น้อยลง สิ่งที่รัฐบาลควรทำก็คือทำให้เทคโนโลยีการวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมฯ ไปสู่คนที่มีฐานะน้อยกว่า ให้เขาเลือกได้ว่าจะไม่ให้ลูกเกิดมามีโรคหรือมีชีวิตที่ลำบาก”

ไม่ต่างกันกับ นน หรือเทวัญ เอกมลกุล เด็กหนุ่มอายุ 17 จากโรงเรียนสารสาสน์พิทยา ผู้ใฝ่ฝันอยากเรียนวิศวรรมศาสตร์ ที่มองว่าเทคโนโลยีควรเข้ามาช่วยยกระดับสังคมได้

“ในฐานะเด็กรุ่นใหม่ ผมอยากให้สังคมมองเกี่ยวกับทางด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมมากกว่านี้ เพราะถ้าเราเอาวิทยาศาสตร์กับนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาประเทศ นึกสภาพว่าเมืองไทยสามารถผลิตอุปกรณ์ใช้เองได้โดยที่ไม่ต้องไปซื้อต่อมาจากต่างประเทศ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายและสร้างรายได้เพื่อพัฒนาประเทศต่อได้ขนาดไหน”

 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Youth Engagement in Science and Technology

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save