อิสระทางเพศคืออิสระแห่งการสร้างสรรค์

อิสระทางเพศคืออิสระแห่งการสร้างสรรค์

ดวงฤทธิ์ บุนนาค เรื่อง

ในวิธีที่คุณมีข้อจำกัดในการแสดงออกทางเพศ เป็นวิธีเดียวกับการที่คุณมีข้อจำกัดในการสร้างสรรค์และการแสดงออกซึ่งตัวตน

เรามีความเชื่อที่งมงายว่าวัฒนธรรมไทยนั้นปิดกั้นการแสดงออกทางเพศ จากรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมและผู้นำในรัฐบาลที่อยากจะดูเป็นคนดี มีศีลธรรม แต่ในบทสนทนาที่ดัดจริตเหล่านั้นทำให้แน่ใจได้ว่า พวกเขาเหล่านั้นไม่เคยอ่านวรรณคดีไทยจากเหล่าบรมครูที่สอดแทรกเรื่องการสมสู่กันทุกๆ 15 หน้าจนเป็นเรื่องปกติ หรือพวกเขาก็คงไม่เคยเดินไปดูภาพเขียนตามผนังวัดพระแก้ว ที่แทรกเรื่องราวแสดงความนิยมในเพศรสคู่ขนานไปกับมหากาพย์รามเกียรติ์อย่างสง่าผ่าเผย ไม่แปลกเลยที่วัฒนธรรมไทยแต่เดิม มีความเบิกบานเมื่อพูดถึงเรื่องเซ็กซ์ และไม่ได้มีความเก็บกดใดในการแสดงออกเรื่องเพศอย่างเป็นอิสระ และสังคมไทยในอดีตก็ปรากฏซึ่งความรุ่งเรืองทางอารยธรรมอย่างชัดเจน มากพอที่จะเป็นรากเหง้าของสังคมไทยอย่างในปัจจุบันได้นั้น ก็มิได้มีความรังเกียจเรื่องเพศอย่างเปิดเผยอย่างเช่นสังคมอำมาตย์อย่างในปัจจุบัน

มีสาเหตุเดียวที่เรียบง่ายที่เราปฏิเสธในการแสดงออกเรื่องเพศก็เพียงเพราะว่าความต้องการที่จะ ‘ดูดี’ ในสายตาของผู้อื่น ซึ่งความพยายามที่จะดูดีนี้เองที่เหมือนจะกลายเป็นสุดยอดปรารถนาในสังคมไทยปัจจุบัน ทุกคนในสังคมเมืองอยาก ‘ดูดี’ ในวิธีที่ได้รับการยอมรับจากสังคมแตกต่างกันไป บ้างก็อยากรวยเพื่อจะดูดี บ้างก็อยากมีชื่อเสียงเพื่อจะดูดี บ้างก็เสแสร้งทำเป็นฉลาดเพื่อจะดูดี รวมถึงการแสดงความรังเกียจว่าการแสดงออกเรื่องเพศเป็นเรื่องสกปรก เลวร้าย เพื่อให้ตัวเอง ‘ดูดี’ ว่าเป็นคนมีศีลธรรมเข้มแข็ง ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นอุดมคติของ ‘ความเสแสร้ง’ หมู่ เพียงเพื่อจะให้ตน ‘ดูดี’ แค่นั้นเอง

คนในสังคมเมืองล้วนลงมือทำทุกๆ สิ่งอยู่ภายใต้บริบทของการดูดีนี้เกือบทั้งสิ้น เรากินเพื่อให้ดูดี เราเลือกที่จะทำงานแบบที่ทำให้เราดูดี เราเลือกมีแฟนแบบที่ทำให้เราดูดี และเราเลือกความเชื่อการเมืองแบบที่ทำให้เราดูดี และโดยที่ไม่รู้สึกตัวความพยายามที่จะ ‘ดูดี’ นี่เองที่กลายเป็นแรงขับเคลื่อนเราในการใช้ชีวิตประจำวัน จนทำให้เราตกอยู่ในกับดักของความเสแสร้งนั่นอย่างเมามัวและถอนตัวไม่ขึ้น

สิ่งที่น่ากลัวคือ เราไม่มีทางสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อะไรได้เลยในความเสแสร้ง และความพยายามที่จะ ‘ดูดี’ เหล่านั้น

การสร้างสรรค์ เริ่มต้นจากการลงมือทำที่ปราศจากความกลัวที่จะ ‘ดูไม่ดี’ เพราะการสร้างสรรค์นั้น มีพื้นฐานมาจากการ ‘สร้าง’ บางสิ่งบางอย่างที่มันไม่เคยมีอยู่ตรงนั้นมาก่อน และแน่นอน คำตอบของผลลัพธ์มันก็จะเป็นความสำเร็จและไม่สำเร็จอย่างละครึ่งเสมอ และในความกังวลทั้งหมดที่มีในความ ‘ไม่สำเร็จ’ นั้น ก็มีอยู่แค่เพียงว่าถ้ามันไม่สำเร็จ เราก็จะ ‘ดูไม่ดี’ ก็แค่นั้นเอง

เราจะเริ่ม ‘สร้าง’ ได้ ก็ต้องก้าวข้ามความกังวลที่จะ ‘ดูไม่ดี’ ซึ่งเป็นวิธีเดียวกันกับที่เราจะกังวลว่าการสร้างนั้นมันจะไม่สำเร็จ นักสร้างสรรค์ทุกคนจึงมักจะมีลักษณะคล้ายๆ กันในความกล้า บ้าบิ่น และไม่กลัวที่จะ ‘ดูไม่ดี’ แต่อย่างไร ในวิธีที่เขามีความกล้าที่จะแสดงออกอย่างมีตัวตนนี่เองที่ทำให้เขาจะได้ลงมือสร้างอะไรบางอย่างจริงๆ ที่ไม่ได้เป็นแค่แนวคิด และเมื่อเขากล้าในสิ่งหนึ่ง เขาก็จะกล้าในทุกๆ ด้านของชีวิต ซึ่งการแสดงออกในเรื่องเพศก็เป็นอีกด้านหนึ่งที่ทำให้เขาเป็นอิสระที่จะแสดงออกในทุกๆ เรื่อง และลงมือสร้างบางสิ่งบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นในด้านศิลปะ ธุรกิจ หรือทั้งสองอย่างรวมกัน

ในขณะที่เรายังงมงายว่าการควบคุมการแสดงออกเรื่องเพศจะทำให้สังคมดีขึ้น เราไม่เคยหันมามองอีกด้านเลยว่าการเป็นอิสระที่จะมีบทสนทนาในเรื่องนี้ จะก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ในสังคมได้มากมายแค่ไหนกัน แต่ก็อย่างว่า ตราบใดที่เรามีชนชั้นปกครองไว้เพียงเพื่อจะให้ตัวเองดูดีและไม่ได้คำนึงถึงความก้าวหน้าของประชาชนและประเทศชาติ เราก็ยังต้องจมปลักตรงนี้ต่อไปอีกนานแสนนาน เช่นเดียวกับวิธีที่เรากดบทสนทนาเรื่องเพศว่าเป็นของต่ำและน่าอับอาย

 

จนกว่าที่เราจะค้นพบว่า ทันทีที่เราปล่อยให้สังคมมีอิสระที่จะแสดงออกเรื่องเพศ เราก็จะอยู่ในสังคมที่สร้างสรรค์ และมีความก้าวหน้าทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในบัดดล

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save