fbpx
ดาวเคราะห์น้อย ที่ลอยอยู่บนอวกาศ

ดาวเคราะห์น้อย ที่ลอยอยู่บนอวกาศ

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

 

“ถ้าเราเป็นจุดศูนย์กลาง มันไม่เจ็บปวดหรอก แต่ถ้าเราเป็นแค่ดาวเคราะห์น้อยที่วนรอบตัวเขา โคตรจะรู้สึกไม่มีค่าเลย” เพื่อนพูดขึ้นมากลางวงสนทนาว่าด้วยเรื่อง polygamy หรือ การมากรัก คบใครทีละหลายๆ คน

เรานั่งอยู่บนดาดฟ้า เสียดายที่ร้านเอาร่มมากางปิด ทำให้ฉันมองหาดาวไม่เจอ

“แม่งเศร้าตรงที่ไม่มีแสงสว่างในตัวเองด้วย” อีกคนพูดขึ้น ฉันขำ จะเปรียบเทียบทั้งที ให้เป็นดาวฤกษ์หน่อยก็ไม่ได้

“เราเชื่อว่ามนุษย์รักได้ทีละหลายคน” พี่ใหญ่ในวงพูดอย่างเชื่อมั่น พร้อมจิบคราฟต์เบียร์ลิมิเตดอิดิชั่น ยืนยันความจริงจัง

“มีคนนึงทำได้ พี่เบิร์ดไง” ฉันว่า ทุกคนในวงหัวเราะ และดูเหมือนจะยังไม่มีข้อสรุปของเรื่องนี้

 

1

 

ฉันกลับมาคิดว่า ‘โคตรจะรู้สึกไม่มีค่าเลย’ นั้น เป็นคีย์เวิร์ดแห่งยุคสมัยนี้หรือไม่ ยิ่งโดยเฉพาะกับวัยที่ต้องพิสูจน์ตัวเองในที่ทำงาน ใช้ชีวิตหลุดจากอ้อมอกพ่อแม่ และอยู่ในวัยที่ฮอร์โมนความเปลี่ยวเหงาหลั่งออกมามากเกินไป

การที่เรารู้สึกมีค่าเมื่อได้อยู่กับใคร มีความหมายต่อหัวใจและชีวิต เพราะอย่างน้อยๆ เราก็ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว

ขณะเดียวกันตัวเลขการแต่งงานของคนรุ่นเจนวายก็ดิ่งลง ผลวิจัยว่าคนรุ่นใหม่อยากอยู่เป็นโสดมากขึ้น เป็นตัวของตัวเอง ไม่ชอบอยู่ในเงื่อนไข และมีอิสระทางความคิด แต่ถ้ามาดูในความเป็นจริง ความอิสระก็มีราคาต้องจ่าย ความเหงาเป็นหนึ่งในนั้น

การอยู่คนเดียวส่งผลให้เราคิดเรื่องของตัวเองมากขึ้น ถ้าไม่นับการเจอเพื่อนในที่ทำงาน และถ้าไม่ได้อยู่บ้าน สังคมของเราแทบจะอยู่ในหน้าจอโทรศัพท์ทั้งหมด

เราเห็นเพื่อนไปโผล่ที่เชิงเขาแถบยุโรป บางคนถ่ายคลิปลูกเดินได้ เห็นบางคนซื้อรถคันใหม่ เพื่อนวัยประถมไปเรียนต่อปริญญาเอกที่ลอนดอน บางคนบ่นเหงา บางคนก่นด่าสังคม หรือกับบางคนที่โพสต์มุกตลกทั้งวันทั้งคืน ฯลฯ

ตอนที่เราสไลด์หน้าจอ เหมือนมีเพื่อนพี่น้องมาบอกเราทีละคน ว่ากำลังทำอะไร เป็นอะไร ไปได้ไกลแค่ไหนแล้ว กำลังมีสุขหรือทุกข์ เรารับรู้ข้อมูลมหาศาลเหล่านี้ โดยที่เราไม่ได้เจอหน้ากัน และเราก็ตัดสินว่าผู้คนเป็นอย่างไร จากข้อมูลที่พวกเขาเลือกนำเสนอให้

ฉันยอมรับว่ามีอิจฉาบ้าง ในขณะที่เพื่อนแช่ออนเซ็นอย่างเป็นสุข เรากลับต้องมานั่งทำงานงกๆ และคิดว่าสิ้นเดือนจะต้องจ่ายค่าอะไรบ้าง แต่ก็แหงละ ไม่ใช่ทุกคนที่จะมาโพสต์ตอนตัวเองทำงานหรือลำบาก การเปรียบเทียบทั้งหมดของชีวิตตัวเอง กับบางเสี้ยวของชีวิตคนอื่น จึงได้รับการยืนยันแล้วว่าไม่น่าเวิร์ก

ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่เราจะอยู่ในสังคมโดยไม่เปรียบเทียบ และยิ่งกับสังคมที่ทุกคนวิ่งทะยานขึ้นไปบนยอดเขา อยากหาที่ทางของตัวเอง การทำให้ตัวเองรู้สึกมีค่าอยู่เสมอ จึงเป็นเหมือนยาที่ชุบชูให้เรามีกำลังใจเดินต่อ

 

2

 

ถ้าจะมีเทคโนโลยีสักอย่างที่เปลี่ยนโลก ฉันว่า ‘กล้องหน้า’ ที่ติดมากับโทรศัพท์ควรติดเป็นอันดับต้นๆ

นับตั้งแต่คนเราสามารถถ่ายรูปตัวเองไปด้วย มองหน้าตัวเองไปด้วยได้ หรือที่เรียกว่า ‘เซลฟี่’ ในโซเชียลเน็ตเวิร์กก็มีภาพหน้าคนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อประมาณ 3-4 ปีที่แล้ว มีข่าวฮือฮาว่า จิตแพทย์ออกมาเป็นห่วงกลัวว่าวัยรุ่นไทยจะเซลฟี่มากเกินไป จนทำให้ขาดความมั่นใจ ถ้าไม่ได้ยอดไลค์ตามที่ต้องการ เขามองว่า การเซลฟี่เกินขนาด เป็นสัญญาณบอกถึงการขาดความมั่นใจในตัวเอง อนาคตอาจกลายเป็นคนโลเล จับผิดคนอื่น ขี้อิจฉา และยากที่จะพัฒนาตนเอง ท้ายที่สุดแล้ว อาจถึงขั้นต้องเข้าบำบัดกันเลยทีเดียว

ในความเป็นจริง โลกอาจไม่ยากและร้ายแรงขนาดนั้น แต่ก็ต้องยอมรับว่า การที่เรามีกระจกสะท้อนตัวเองได้ตลอดเวลา ทำให้หลายครั้งเราเผลอพยายามจะเป็นในสิ่งที่เราไม่ได้เป็น และนั่นทำให้ชีวิตเหนื่อยหนักโดยไม่มีเหตุผล

 

3

 

ถ้าว่าตามชื่อหนังสือของวรพจน์ พันธุ์พงศ์ ฉันก็เห็นด้วยในเรื่อง ‘เราต่างมีแสงสว่างในตัวเอง’

“เป้าหมายชีวิตของกูคือการได้ยิ้มตอนตาย” พี่ชายคนหนึ่งพูดกับฉัน ก่อนหน้านี้เราถกเถียงกันเรื่องเป้าหมายของชีวิต เขาบอกว่า เพราะเรานึกไม่ออกว่าโลกที่ไม่ใช่ทุนนิยมเป็นแบบไหน เราจึงรู้สึกผิดหากเราเป็นคนขี้เกียจ ไม่ทำงานเป็นฟันเฟืองหนึ่งของสังคม ไม่ขยัน และสร้างตัวเองให้เป็นคนมาตรฐาน ทั้งที่ความจริงเรามีสิทธิที่จะขี้เกียจ และควรขี้เกียจอย่างเต็มภาคภูมิ

ว่าแล้วก็เปิดซิปโป้จุดไฟวาบตรงปลายบุหรี่ ฉันเห็นแสงสว่างในความเอื่อยเฉื่อยนั้น

 

ไม่ว่าเราจะรักคนทีละคน หรือหลายคน หรือไม่มีใครมารักเลย ไม่ว่าเราจะได้ทำงานที่รักหรือไม่ มีเงินพอใช้หรือเปล่า ไม่ว่าเพื่อนกี่คนจะมีชีวิตที่งดงามสวยหรูแค่ไหน ไม่ว่าเราจะเป็นดาวเคราะห์น้อยหรือใหญ่ หรือดาวฤกษ์ หรือหลุมดำ ไม่ว่าเราจะลอยเคว้งคว้างไม่มีที่ยึดเหนี่ยวขนาดไหน

สิ่งเดียวที่พอจะทำได้คือ ให้หันมามองตัวเองด้วยสายตาที่เป็นจริง แล้วรักตัวเองให้มากๆ

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save