fbpx
มิตรภาพยืนยาว แค้นคิดสั้น

มิตรภาพยืนยาว แค้นคิดสั้น

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

 

ถ้าใครสักคนฆ่าคนที่คุณรัก คุณจะทำอย่างไร 

เลือดล้างด้วยเลือด? ชีวิตแลกด้วยชีวิต? ให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม? ทำใจ? ให้อภัย?

ลองหลับตาหายใจลึกๆ ใคร่ครวญคำตอบที่พุ่งปรี่เข้ามาในใจ

แน่นอน, ถ้าถามวัยรุ่นเลือดร้อน ร้อยทั้งร้อยโดยไม่รีรอ ชีวิตก็ต้องแลกด้วยชีวิต แต่ประเด็นคือการเอาชีวิตคืนเป็นคำตอบสุดท้ายเสมอไปหรือไม่ 

ใช่, ก็อาจจะเป็นคำตอบสุดท้าย ถ้าจะเลือกทางนั้น แต่ไม่ใช่สำหรับทุกคน บางคนเลือกทางนั้นแล้วก็เปลี่ยนใจเลือกทางใหม่ได้ 

ย้ำอีกครั้งว่าเลือกได้จริงๆ อย่างน้อยก็เรื่องราวระหว่าง ‘ใหญ่’ วัชระมงคล ธัญญะเจริญ กับ ‘เล็ก’ ธนากร อาจรักษา สองหนุ่มวัยฉกรรจ์จากคู่อาฆาตสู่มิตรภาพชั่วนิรันดร์

 

‘ใหญ่’ วัชระมงคล ธัญญะเจริญ 'เล็ก’ ธนากร อาจรักษา มิตรภาพ
(ซ้าย) ‘ใหญ่’ วัชระมงคล ธัญญะเจริญ กับ (ขวา) ‘เล็ก’ ธนากร อาจรักษา

 

1

 

ปี 2546 เล็กอายุ 15 ปี เขาเพียงแต่ทะเลาะกับคนข้างบ้าน แต่มันก็ลุกลามไปสู่การเอาชีวิต

“วันนั้นพวกเขามากินเลี้ยงกันที่บ้านซึ่งอยู่ข้างบ้านผม แต่พวกเขาดันมานั่งดื่มขวางหน้าบ้าน ผมไม่ได้คิดอะไรเพราะมันเกิดขึ้นเป็นปกติประจำ พอตกค่ำพ่อผมก็เมากลับมาจากข้างนอก ระหว่างเดินเข้าบ้านผ่านคู่กรณีก็ถูกพวกเขาด่าไล่ว่าให้ไปเดินทางอื่น ผมก็เอะใจว่าทำไมเขาพูดแบบนั้น ทั้งที่พ่อผมแค่เดินเข้าบ้านตัวเอง 

“พอประมาณสามทุ่ม วงเหล้าข้างบ้านก็เริ่มเมาและส่งเสียงดังโวยวาย ผมก็ออกไปบอกว่าพี่อย่ามายุ่งกับผมเลย เขาก็สวนกลับมาว่ามึงจะทำไมไอ้เด็กเหี้ย” เล็กย้อนความไปวินาทีก่อนชีวิตจะพลิกผัน

อารมณ์ของเล็กตอนนั้นไม่อยากแม้แต่จะคิดไปสู่ความหายนะ แต่ชั่วพริบตาเดียวที่เหตุการณ์ทวีความร้อนขึ้นราวกับน้ำเดือด ความคิดของเล็กก็สายไปเสียแล้ว

“สี่ทุ่มระหว่างที่เมากัน เขาเอาปืนอัดลมมายิงบานเกล็ดบ้านผมแตก ผมนอนอยู่ในบ้าน ทนไม่ไหว ก็ออกมาถามว่าพี่ทำอะไรของพี่ เขาตอบว่าแล้วมึงจะทำไม ตอนนั้นผมเห็นมีดของเขาวางอยู่ใต้โต๊ะวงเหล้า ผมก็เข้าไปหยิบมีดในบ้านออกมา สุดท้ายก็ตะลุมบอนกัน ผมแทงฝ่ายเขาตายสองคน คือคนที่ยิงบานเกล็ด และอีกหนึ่งคนคือพ่อของใหญ่”

เล็กเล่าว่าเขาไม่รู้มาก่อนว่าคนตายอีกคนเป็นพ่อของใหญ่ เขาพุ่งเข้าไปในกองไฟแบบไม่คิดชีวิต เจาะจงคนที่หาเรื่อง แต่ความโกลาหลของอาชญากรรม มีดในมือเล็กจึงพลั้งจบลมหายใจพ่อของใหญ่ไปด้วย

คนตายนอนแน่นิ่งไร้ลมหายใจ เล็กถูกใส่กุญแจมือพาขึ้นโรงพัก และถูกศาลตัดสินให้ต้องโทษจำคุกเยาวชน 7 ปี

 

2

 

“ตอนนั้นผมอยู่ที่บ้าน มารู้ข่าวว่าพ่อเสียจากย่า ผมรีบตามไปที่โรงพัก ก่อนนั้นยังไม่รู้ว่าเป็นใครทำ พอจะขึ้นไปที่โรงพักก็เจอตำรวจห้ามไว้ เพราะกลัวผมแก้แค้น จนเห็นเล็กจึงจำได้ว่าเคยเห็นหน้ากันมาตั้งแต่เด็ก เพราะอยู่ในชุมชนเดียวกันแต่อยู่คนละแก๊งค์ จากนั้นผมก็ตามเพื่อจะเอาคืนให้ได้” ใหญ่เล่าถึงวันเวลาในการตั้งปณิธานแห่งความอาฆาต

เล็กบอกว่าใหญ่ให้คนตามตลอด แม้แต่ตอนขึ้นศาลเยาวชนและครอบครัว ใหญ่ก็ยังให้คนตามขึ้นไปเพื่อฝากบอกว่าใหญ่รอเอาคืน 

จนกระทั่งเล็กไปอยู่ในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านมุทิตา ใหญ่ก็ยังฝากเพื่อนที่มีเหตุต้องเข้าไปให้บอกเล็กให้รู้ตัวเสมอว่า “เดี๋ยวเจอกัน” 

คดีของเล็กเกิดขึ้นเดือนตุลาคม 2546 ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2547 ใหญ่ต้องคดีปล้นทรัพย์ ถูกจับเข้าบ้านกรุณา ส่วนเล็กได้รับคัดเลือกย้ายไปที่บ้านกาญจนาภิเษก

“ผมสืบตลอดว่าเล็กอยู่ที่ไหน เพราะผมมีเพื่อนอยู่ทุกที่ ผมจำชื่อเล็กได้ และเขียนใส่กระดาษฝากเพื่อนไปตามตลอด พอผมรู้ว่าเล็กอยู่บ้านกาญจนา ผมก็วางแผนขอย้ายตามไปเจอเขา เพราะโทษผมเหลือแค่สี่เดือน 

“ผมสนิทกับเจ้าหน้าที่พอสมควร เขาบอกว่าให้ทำตัวดีๆ จะได้ย้ายไปบ้านกาญจนา ผมนิ่งมาก ไม่ทำอะไรผิดเลย ไม่มีแอบสูบยา ทำทุกอย่างให้เจ้าหน้าที่ไว้ใจเพราะอยากย้ายไปเจอเล็ก ผมไม่ได้ใส่ใจว่าต้องอยู่ที่ไหน แค่อยากไปเจอ ผมไม่ได้มาเพื่อให้อภัย พอย้ายเข้าไปวันแรกก็เจอกัน เจ้าหน้าที่ให้เด็กเก่าจับมือกับเด็กใหม่ ผมก็จับมือเล็กแล้วถามเขาว่าสบายดีนะ” ใหญ่เล่าเสียงราบเรียบ

“พอตกกลางคืนผมก็ให้เพื่อนหาเหล็กแหลมให้ ผมไม่ได้ต้องการมาแค่กระทืบเล็กแล้วถูกย้ายไปที่อื่น ผมต้องการชีวิตเขา” ใหญ่บอก

ตอนนั้นเขายังอารมณ์ร้อน ครุ่นคิดหาอาวุธ แต่คนหนุ่มในบ้านกาญจนาฯ ไม่มีใครสนับสนุนแนวทางเลือดแลกด้วยเลือด ระหว่างที่รอช่วงเวลาแห่งการเอาคืน ใหญ่โทรไปบอกย่าว่าเขาเจอเล็กแล้ว และลั่นวาจาออกราวกับสร้างพันธะแห่งชีวิตว่า “เดี๋ยวใหญ่จัดการเอง”

วันที่เล็กพบหน้าใหญ่ในบ้านกาญจนา เขาบอกว่าไม่ได้ตกใจกลัวแต่อย่างใด เพราะรู้พื้นเพใหญ่มาอยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร

“ผมขึ้นไปคุยกับป้ามล (ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาฯ) บอกป้ามลว่าโจทก์ผมมาแล้ว เขาเป็นลูกของคนที่ผมทำร้าย ป้ามลก็ตกใจจนต้องเรียกครูไปประชุมกัน”

 

‘ใหญ่’ วัชระมงคล ธัญญะเจริญ กับ 'เล็ก’ ธนากร อาจรักษา, มิตรภาพ

 

3

 

จากวันแรกถึงวันที่สอง เล็กตัดสินใจเดินไปคุยกับใหญ่สองต่อสอง เขาเข้าไปหาเพื่อเล่าให้ฟังว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร

“ผมก็บอกว่าสิ่งที่ผมทำไปนั้น ผมไม่รู้จริงๆ ถ้าผมรู้ ผมจะไม่ทำเด็ดขาด และถ้าวันนั้นผมไม่ทำ ผมก็ตาย ถ้าเป็นใหญ่ ใหญ่ก็ต้องเลือก ใหญ่บอกว่าเขาก็รู้ ผมพยายามจะคุยเพื่อสมานแผล แต่ใหญ่บอกว่าอยู่ใครอยู่มันแล้วกัน” เล็กเล่าให้ฟังถึงบันไดขั้นแรกของการปลอบประโลม

แต่ใหญ่ยอมรับตรงๆ ว่าวันนั้นเขาแทบไม่ได้สนใจว่าเล็กพูดอะไร ถ้าเกิดมีมีดวางอยู่ข้างๆ เล็กคงไม่รอด

“ถ้าใหญ่ลงมือวันนั้น ผมก็ไม่สู้นะ พ่อใครใครก็รัก ผมคิดในใจว่าถ้าเขาลงมือ ผมก็รับสภาพไป” เล็กบอก

“ผมหามีดไม่ได้ เพราะไม่มีเพื่อนคนไหนหาให้” ใหญ่บอกและว่าช่วงแรกที่บ้านกาญจนาฯ เริ่มมีกระบวนการสร้างความไว้ใจกับเด็กๆ เขาไม่เชื่อแม้แต่นิดเดียว

“ผมจำได้ วันนั้นป้ามลยืนอยู่บนสะพานกลางน้ำ ป้าเข้ามาคุยกับเด็กๆ ว่าบ้านนี้ไม่มีความรุนแรงนะ ผมคิดในใจว่าป้ามลสร้างภาพ ไม่จริงหรอกคนแบบนี้ รับราชการมาก็แค่กินเงินเดือน ไม่ได้มาดูแลอะไรจริงๆ ผมถามป้ามลว่าผมไม่เข้าใจว่าทำไมคนที่ฆ่าพ่อผมถึงได้อยู่บ้านชนะใจ (สำหรับเด็กประพฤติดีจะได้อยู่บ้านชนะใจ) ผมพูดจบก็เดินหนีเลย”

ใหญ่มาถึงบ้านกาญจนาฯ ด้วยการวางแผนอาฆาต เพราะพ่อของเขาตายด้วยน้ำมือของเล็ก แต่ใหญ่กลับต้องพบความสับสนว่าทำไมที่บ้านกาญจนาฯ ถึงไม่เอื้อให้เขาลงมือได้สำเร็จ

“กับที่อื่นมันต่างกัน การใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ อ่อนแออยู่ลำบาก แต่บ้านกาญจนาฯ มองว่าการใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องผิดปกติ วันนั้นมันน่าอึดอัด ถ้าเป็นที่บ้านอื่นเมื่อเด็กก่อปัญหา เขาก็ใช้ความรุนแรงสั่งสอน มึงผิดกูตี แต่ที่นี่ผมถูกขัดเกลาใหม่”

 

4

 

เมื่อวันขอขมามาถึง ซึ่งผ่านไปกว่าสิบวันหลังจากที่ใหญ่เข้าไป

ย่าของใหญ่มาร่วมงานด้วยโดยที่เขาไม่รู้มาก่อน สำหรับใหญ่ ย่าเป็นเสมือนแม่ เพราะเป็นคนที่เลี้ยงดูใหญ่มาตลอดตั้งแต่เด็ก ย่านั่งบนเก้าอี้ ที่ปลายเท้ามีมือพนมของเล็กกราบใกล้สนิท ใหญ่มองด้วยแววตาของเด็กหนุ่มที่เต็มไปความคลั่งแค้นและปนเปไปด้วยความสับสนอลหม่านจากความเป็นจริง

“ผมกราบขอขมาย่าของใหญ่ ขอขมาด้วยใจ แล้วไม่ใช่ผมคนเดียวที่ทำ พ่อผมก็ขอขมาด้วย ย่าบอกว่าไม่เป็นไร สิ่งที่ผิดพลาดแล้วให้แล้วไป” เล็กเล่า

“ผมไม่รู้ความคิดของย่า แต่ผมมีย่าเหมือนเป็นแม่ ถ้าย่าผมที่เป็นคนคลอดพ่อผมมายังให้อภัยได้ แล้วทำไมผมจะให้อภัยไม่ได้ เวลานั้นผมสับสนตัวเองมาก ผมเข้าใกล้จุดที่จะฆ่าเล็กได้แล้ว ผมทรมานกับความคิดตัวเอง และผมก็ถูกขัดเกลาใหม่

“ความรู้สึกผมเบาลง ผมค่อยๆ ถูกขัดเกลาใหม่ สี่เดือนที่บ้านกาญจนาฯ พูดไปก็เหมือนผมโดนป้ามลล้างสมอง” ใหญ่พูดพลางยิ้ม เขาบอกอีกว่าตั้งแต่เด็กมาเขาไม่เคยเจอคนแบบป้ามล ใหญ่ยอมรับว่าเคยคิดว่าคนแบบป้ามลแค่ผักชีโรยหน้า

“มันมีเหรอวะคนแบบป้ามล เวลาเราทำผิด เขาร้องไห้ ราวกับเขามองเราเป็นลูกหลาน เขากล้าจับมือเรา กล้ากอดเรา ไม่รังเกียจเรา ผมเคยคิดว่าผมเป็นน้ำเน่า และน้ำที่มันเน่าแล้วไม่ใช่ว่าเอาสารส้มมาแกว่งแล้วมันจะใสทันที ผมเข้าใจว่าผมได้รับการดูแลที่ดี”

ใหญ่บอกว่าเขาไม่รู้ว่าความแค้นในใจหายไปตอนไหน แต่เหมือนกับคำว่า ‘การให้อภัย’ เป็นเสียงที่สะท้อนในหูซ้ำๆ จนใหญ่รู้สึกและบอกตัวเองได้ว่าถ้าให้อภัยไปแล้ว เขาจะกลับไปอาฆาตอีกไม่ได้ เมื่อลั่นวาจาว่าให้อภัยแล้วนั่นแปลว่าใจสงบแล้ว

“ถ้าผมอภัยแล้วก็ต้องไปให้สุด ไม่ใช่พูดแต่ปาก แบบนั้นไม่ใช่สัจจะ สู้อภัยแล้วเอาผลบุญนี้ยกให้พ่อไปดีกว่า”

 

‘ใหญ่’ วัชระมงคล ธัญญะเจริญ กับ 'เล็ก’ ธนากร อาจรักษา, มิตรภาพ

 

5

 

พ้นผ่านคืนวันอันหน่วงหนักมาแค่ไหน ไฟในอกที่กำลังจะเผาไหม้จิตใจตัวเองมอดดับไปอย่างไร ใหญ่บอกว่าเพราะบ้านกาญจนาใช้จิตวิทยาเด็ก เขาไม่รู้ตัวว่าจู่ๆ ต้องจำนนให้ทางเลือกใหม่ได้อย่างไร ทางเลือกที่ทำให้ใจโปร่งเบา ไม่ต้องแบกน้ำหนักแห่งความแค้นไว้บ่นบ่าอีกต่อไป

“บ้านกาญจนาฯ เขาให้ความอบอุ่น ที่เคยเชื่อว่าไม่มีที่ไหนไม่ใช้ความรุนแรง และโลกมีแค่คนถูกกระทำกับคนกระทำคืน ผมก็เปลี่ยนความคิด รู้ว่าเราเลือกได้ ชีวิตมีทางเลือก เราไม่ต้องฆ่ากันก็ได้” ใหญ่หย่อนหัวใจดวงใหม่ลงแทนที่หัวใจดวงเก่าด้วยน้ำเสียงสงบ

เล็กอธิบายว่าบ้านกาญจนาฯ จะให้เด็กๆ วิเคราะห์ข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ แล้วตั้งคำถามว่าถ้าเราเป็นผู้ถูกกระทำจะเป็นอย่างไร จะทำอย่างไร เมื่อลองเอาความรู้สึกผู้เสียหายมาทบทวน เล็กบอกว่าไม่มีเด็กคนไหนในบ้านกาญจนาฯ ที่ยืนยันว่าจะเป็นคนร้ายตลอดเวลา

 

6

 

15 ปีที่แล้วเล็กกับใหญ่ยังไม่รู้จักโซเชียลมีเดีย โลกออนไลน์ยังไม่งอกเงยในสังคมไทย ทั้งคู่เติบโตมาแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน แต่เมื่อเวลาผ่านมาถึงวินาทีปัจจุบัน เขาคิดอ่านอย่างไรเมื่อเห็นน้ำเสียงคอมเม้นท์ท้ายข่าวอาชญากรรมจากคนส่วนใหญ่ที่สถาปนาตัวเองขึ้นราวกับเป็นผู้พิพากษาศาลเตี้ย

ถ้าย้อนกลับไปวันที่เล็กเผลอลงมือ และวันนั้นผู้คนใช้เฟซบุ๊กกันสนุกมือ แทนที่เขาจะได้เข้าบ้านกาญจนาฯ ไปขัดเกลาใหม่ ก็อาจจะถูกประหารจากความคิดของผู้คนไปก่อนแล้ว

“โลกโซเชียลเหมือนภาพสะท้อนว่าสังคมทำตามๆ กันไป มึงพิมพ์ กูพิมพ์ แต่โลกมันมาไกลแล้ว มันไม่ใช่ยุคที่เราจะตัดหัวเสียบประจานกันอีกต่อไป” เล็กอธิบาย

“เหมือนผมเลี้ยงปลาไว้หลายตัวในอ่าง แล้วมีบางตัวที่ไปกัดปลาตัวอื่นตาย เต็มที่ผมก็แยกตัวนั้นออกมา ผมคงไม่ไปฆ่าตัวที่มีพฤติกรรมแบบนั้น เพราะปลามันอยู่ด้วยกัน ห้ามมันกัดกันไม่ได้ ไม่อย่างนั้นผมคงต้องฆ่าปลาทุกตัว” ใหญ่เสริมและอธิบายอีกว่า ถ้าลองมองย้อนกลับมาเป็นคนที่เรารัก ถ้าเขาเผลอไปก่ออาชญากรรม เราจะกล้าพูดเต็มปากไหมว่าอยากให้เขาถูกประหาร

อดีตมืออาฆาตยังบอกอีกว่า หลังจากพ้นคดีมา วันนี้เขามีครอบครัว มีลูกสาววัยกำลังตั้งไข่หัดยืน ใหญ่มองว่าวันเวลาทำให้เขาโตเป็นผู้ใหญ่ เป็นหัวหน้าครอบครัว เมื่อมองย้อนกลับไป ความรู้สึกให้อภัยได้ ไม่ได้ทำให้เขาเป็นพระ

“ถ้ามีคนมาฆ่าคนที่ผมรักอีก ผมก็คงโกรธ แต่ผมรู้แล้วว่าถ้าผมฆ่าใครกลับคืน มันก็ต้องฆ่ากันต่อไปอีกไม่รู้จบ”

เล็กเสริมว่า “จริงๆ ผมไม่มีสิทธิพูดอะไร และด้วยธรรมชาติ พอคนมันโตขึ้น เลิกต่อยตีกัน เขาจะเข้าใจเวลาในการทำมาหากิน และทุกวันนี้ใหญ่กับผมก็เป็นเพื่อนกัน”

ทุกวันนี้ ใหญ่หาค่านมลูกด้วยการขายของแฟชั่นวัยรุ่นทางออนไลน์ ส่วนเล็กขายรองเท้ามือสองตามตลาดนัด พ้นจากเวลางาน เล็กจะมานั่งเล่นที่บ้านของใหญ่ และอุ้มหลาน-ลูกเพื่อนเล่น

ราวกับพวกเขาผนึกเป็นครอบครัวเดียวกัน

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save